ผู้เขียน หัวข้อ: ศาสนาในฐานะพลังทางนิเวศวิทยา พระไพศาล วิสาโล  (อ่าน 1376 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

ศาสนาในฐานะพลังทางนิเวศวิทยา
พระไพศาล วิสาโล


เมื่อพูดถึงปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือนิเวศวิทยา ส่วนใหญ่แล้วผู้คนมักนึกถึงแต่เฉพาะในแง่กายภาพ เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพ หรือการแก้ไขด้วยเทคโนโลยีและมาตรการทางเศรษฐกิจ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีมิติทางด้านจิตวิญญาณมาเกี่ยวข้องด้วยไม่ต่างจากปัญหาอื่น ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จำต้องคำนึงในการถกเถียงทางด้านนิเวศวิทยา นั่นคือการนำมิติทางด้านจิตวิญญาณหรือศาสนามาเชื่อมโยงกับมุมมองทางด้านนิเวศวิทยา
ความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์มักจะมาควบคู่กับการเหินห่างและแปลกแยกจากธรรมชาติมากขึ้น จนถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ ดังปรากฏให้เห็นเด่นชัดในยุคปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความสัมพันธ์ในลักษณะปฏิปักษ์ดังกล่าวนับว่าแตกต่างอย่างมากกับท่าทีของมนุษย์เมื่อครั้งยังอยู่ในป่าเขาและล้าหลังทางเทคโนโลยี เผ่ามิสตัสซินี ครีในอเมริกาเหนือ อะบอริจิ้นในออสเตรเลีย ไอนุในญี่ปุ่น และโคยุคอนในอลาสก้า มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน ได้แก่ความเคารพในธรรมชาติ แม้กระทั่งกับสัตว์ที่ตนล่ามาเป็นอาหาร ก็ต้องเคารพด้วยการปฏิบัติตามพิธีกรรมอย่างเคร่งครัดทั้งก่อนและหลังการล่า การล่าสัตว์มิอาจแยกจากพิธีกรรมทางศาสนารวมทั้งการ “ชำระตน”ให้บริสุทธิ์ ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือการมองว่าสัตว์ที่ถูกล่านั้นมอบตัวเองเป็น “ของขวัญ”แก่ผู้ล่า เนื้อที่ได้มาจึงมิได้เกิดจากความสามารถของมนุษย์ หากเป็นความกรุณาของสัตว์หรือเทพที่แปลงร่างเป็นสัตว์

เมื่อมนุษย์ก้าวหน้าในทางสติปัญญาจนพัฒนาศาสนาที่ซับซ้อนขึ้น สายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ก็ยังดำรงอยู่ พุทธศาสนาถือว่าสัตว์ทั้งหลายไม่เพียงเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ในวัฏสงสารเท่านั้น หากยังมีสายสัมพันธ์ฉันญาติพี่น้องอย่างน้อยก็ในชาติก่อน ๆ เพราะมนุษย์และสัตว์สามารถเลื่อนภพภูมิหรือกลับมาเกิดใหม่ข้ามพันธุ์กันได้ แต่ทัศนะดังกล่าวได้ลางเลือนไปในปัจจุบันโดยเฉพาะเมื่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้นำเอาแนวคิดแบบวัตถุนิยมเข้ามาแพร่หลายจนเป็นกระแสหลัก ถึงตอนนี้ธรรมชาติได้แปรสภาพเป็นสินค้าและวัตถุสำหรับสนองความต้องการของมนุษย์อย่างเดียว ผลคือความเสื่อมโทรมทางด้านสิ่งแวดล้อมจนเป็นวิกฤตของโลก

ท่ามกลางวิกฤตดังกล่าว ขบวนการนิเวศวิทยาได้เติบใหญ่ขึ้น ด้านหนึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เห็นธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุที่มีขึ้นเพื่อปรนเปรอมนุษย์เท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับศาสนาดั้งเดิม ชีวิตและผลงานของบุคคลที่ยืนหยัดอย่างโดดเด่น อาทิ เฮนรี เดวิด ธอโร, จอห์น มูร์ และอัลโด ลีโอโปลด์ เป็นต้น เป็นรากฐานสำคัญให้แก่ขบวนการนิเวศวิทยาร่วมสมัย ไม่ว่าขบวนการสิทธิสัตว์ ขบวนการนิเวศวิทยาแนวลึก ขบวนการกรีนพีซและเอิร์ธเฟิสต์ และขบวนการสตรีนิเวศนิยม ทั้งหมดนี้ได้สร้างความหลากหลายและรุ่มรวยให้แก่ขบวนการนิเวศวิทยาในปัจจุบัน ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงขบวนการนิเวศวิทยาในตะวันออก เช่น ขบวนการชิปโกในอินเดีย

การเกิดขึ้นของขบวนการนิเวศวิทยาแนวลึก ซึ่งไม่เพียงเคารพสิทธิของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น หากยังเคารพสิทธิของแม่น้ำ ป่าเขา ทะเล และระบบนิเวศทั้งมวล ขณะที่ขบวนการสตรีนิเวศนิยมสนับสนุนการบูชาเทพีซึ่งเป็นตัวแทนของธรรมชาติ ปรากฏการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะบอกเราว่าหลังจากที่มนุษย์วิวัฒน์พัฒนาจนห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดเราก็อาจจะหวนกลับมาสู่จุดเดิมที่เคารพธรรมชาติและนับเอาสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มาเป็นเครือญาติกับมนุษย์ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วเส้นทางวิวัฒนาการของมนุษย์คงไม่กลับมาบรรจบที่จุดเดิม หากก้าวไปสู่จุดใหม่โดยอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นพื้นฐาน

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสังคมพอ ๆ กับปัญหาทางจิตวิญญาณ นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้ว เราจำต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตสำนึกควบคู่ไปด้วย ดังนั้นศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญมากในการพามนุษย์พ้นจากวิกฤตทางนิเวศวิทยา

อย่างไรก็ตามคำถามหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นมาในใจก็คือ ทั้ง ๆ ที่ศาสนากระแสหลักส่วนใหญ่มีท่าทีที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ แต่เหตุใดจึงไม่สามารถต้านทานแนวคิดหรือกระแสที่มุ่งครอบงำและทำร้ายธรรมชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม บริโภคนิยม หรือวิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยม ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมฟ้องว่าศาสนากระแสหลักนั้นอ่อนพลังลงไปมาก ในขณะเดียวกันเมื่อมองไปยังขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เรากลับพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับศาสนาน้อยมาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าขบวนการเหล่านี้เป็นขบวนการทางโลกล้วน ๆ เพราะเมื่อพิจารณาลงไปถึงรากฐานทางปรัชญาของขบวนการเหล่านี้ เราจะพบแนวคิดทางด้านจิตวิญญาณ อย่างชัดเจน ดังขบวนการกรีนพีซ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบรหัสยนัยของอินเดียนแดง อาทิ ความเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนมีจิตใจที่มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารได้ และโลกเป็นส่วนหนึ่งของ “ร่างกาย” ของเรา หากรักตัวเรา ก็ต้องรักปลาวาฬ แมวน้ำ ป่าเขา และทะเลด้วย

กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้จะไม่ใช่ขบวนการศาสนา แต่ก็ใช่ว่าจะไร้มิติทางด้านจิตวิญญาณ ในทางตรงกันข้ามแม้เป็นขบวนการศาสนา แต่ก็อาจไร้มิติทางจิตวิญญาณก็ได้ นั่นหมายความว่า ศาสนากับมิติทางจิตวิญญาณไม่จำต้องเป็นเรื่องเดียวกันเสมอไป ในยุคโลกาภิวัตน์ เราได้พบขบวนการจำนวนมากที่ไม่มีรูปลักษณ์ทางด้านศาสนาเลย แต่มีมิติทางด้านจิตวิญญาณอย่างเด่นชัด อันแสดงออกด้วยการเสียสละอุทิศตนเพื่อเพื่อนร่วมโลก ชนิดที่ไปพ้นเส้นแบ่งทางด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา เผ่าพันธุ์ หรือแม้กระทั่งชนิดพันธุ์ (species) ด้วยซ้ำ (ตรงกันข้ามกับขบวนการทางศาสนาจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดที่คับแคบ และรังเกียจเดียดฉันท์หรือเลือกปฏิบัติเพียงเพราะความต่างทางศาสนา ภาษา เชื้อชาติ หรือผิวสี จนเป็นสาเหตุแห่งความรุนแรงนานาชนิดในปัจจุบัน)

ในขณะที่ศาสนาซึ่งไร้มิติทางจิตวิญญาณกำลังมีบทบาทเด่นชัดโดยเฉพาะในด้านลบ อาทิ การเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการก่อการร้ายทั้งในรูปขบวนการก่อการร้ายและการก่อการร้ายโดยรัฐ สิ่งท้าทายสำหรับศาสนาที่ยังมีมิติทางจิตวิญญาณอยู่ก็คือ จะฟื้นตัวจากความอ่อนแอและกลับมีพลังในการสร้างสรรค์โลกได้อย่างไร นิมิตดีก็คือ ขบวนการทางนิเวศวิทยาที่ทรงพลังในปัจจุบัน หลายขบวนการได้รับแรงบันดาลใจทางจิตวิญญาณจากศาสนาดั้งเดิม นั่นหมายความว่าศาสนาที่มีจิตวิญญาณ กำลังฟื้นตัวขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างประโยชน์แก่โลกอีกครั้งหนึ่ง

 :19: http://www.visalo.org/article/NatureSasana.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...