ผู้เขียน หัวข้อ: ศาสดา โลกและชีวิตในวิถีแห่งธรรม :พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ)  (อ่าน 6189 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ศาสดา โลกและชีวิตในวิถีแห่งธรรม


:พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ)

อันเนื่องในวันวิสาขบูชา : ศ า ส ด า

พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ)
วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

ในพระพุทธศาสนามีความเป็นมาอย่างไร
ตำแหน่งศาสดาในพระพุทธศาสนา
เป็นตำแหน่งที่เปิดกว้างที่คนทุกคน
ถ้าสามารถปฏิบัติพัฒนาตนไปถึงจุดที่ทำให้เป็นศาสดาได้
ท่านผู้นั้นก็สามารถเป็นองค์ศาสดาในพระพุทธศาสนาได้

เพราะตำแหน่งองค์ศาสดาในพระพุทธศาสนา
เป็นผลสืบเนื่องมากการพัฒนาปัญญา
จนถึงปัญญาที่ทำให้ตรัสรู้

การเป็นพระศาสดาจึงสืบเนื่องมาจากการตรัสรู้ของพระองค์
และจากจุดนี้เองทำให้เราพบว่า

ในโลกนี้ชีวิตหลายชีวิตที่พัฒนาตน
จนถึงจุดเป็นพระพุทธเจ้าในยุคสมัยของท่าน
พระพุทธเจ้าหรือศาสดาในพระพุทธศาสนา
จึงมีมาแล้วในอดีตกาลเป็นจำนวนมาก

แม้ในอนาคตกาลนานไกล
เมื่อพระพุทธศานาในยุคนี้เลื่อมหายไปจากโลก
จะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน แต่นานไกลอีกมากนัก

แม้แต่คำว่าพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า
พระศรีอริยเมตตไตร ที่นำมาพูดกล่าวอ้าง
สมอ้างเสมอตลอดกาลยาวนานนั้น

ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว
เป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธเจ้าสองพระองค์
จะบังเกิดร่วมกันในจักรวาลเดียวกัน

ยามที่ใดที่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม
ปรากฏเผยแผ่ มีการศึกษา และมีการปฏิบัติอยู่
จะไม่มีพระพุทธเจ้าอีกพระองค์เกิดขึ้น

หากจะมีพระอรหันต์เกิดขึ้น
ท่านจะเป็นพระอรหันตสาวกหรืออนุพุทธเท่านั้น
และจะต้องเข้าใจว่า แม้แต่พระปัจเจกพระพุทธเจ้า
ก็จะไม่อาจเกิดขึ้นในยุคที่
พระพุทธศาสนาปรากฏอยู่ในจักรวาลใดก็ตาม

จะอย่างไรก็ตามพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
เป็นพระพุทธเจ้าด้วยการตรัสรู้ดี ตรัสรู้ชอบ ด้วยพระองค์เอง
ในยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสดาปรากฏในโลก
จะต่างเพียงขั้นตอนที่ท่านเริ่มดำเนินไป
บนเส้นทางเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าคือ

บางท่านจะเน้นที่ปัญญาเป็นหลัก
บางท่านจะเน้นที่ศรัทธาเป็นหลัก
บางท่านจะเน้นที่ความเพียรเป็นหลัก
หมายความว่า
เมื่อธรรมอย่างหนึ่งเป็นหลัก ธรรมองค์อื่นเป็นตัวหนุน

พระพุทธเจ้าของเรานั้น
เป็นพระพุทธเจ้าประเภทที่ทรงใช้ ปัญญา เป็นหลัก
ในการพัฒนาพระทัยมาตามลำดับ
โดยผ่านขั้นตอนในการสร้างบารมีตามลำดับดังนั้น คือ

• จ า ก อ ดี ต ก า ล อั น น า น ไ ก ล
ท่านจะมีความพอใจในการเป็นพระพุทธเจ้า
ตามปกติแล้วเกิดได้จากการได้เกิดในยุคสมัย
ที่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งก่อน
การได้พบเห็น การได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า
ทำให้ท่านอยากเป็นพระพุทธเจ้า

อาจจะเริ่มจากความพอใจ ชอบใจ
ความรู้สึกเช่นนั้นสะสมมากขึ้น
ภายในจิตมีความเข้มข้นสูงขึ้น
จนเปล่งวาจาปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า

ความรู้สึกแนวนั้นได้ผ่านกรรม
และสงสารวัฏมาตามลำดับจนถึงจุดหนึ่ง

สำหรับพระพุทธเจ้าของเราท่านบอกว่า
ย้อนอดีตไป ๔ แสนอสงไขย กับ ๑ แสนกัปป์
ท่านได้เกิดในยุคสมัยที่มีพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ทีปังกร

จากการได้พบพระพุทธเจ้าในคราวแรก
แทนที่จะพอใจในการฟังธรรมเพียงอย่างเดียว
แต่เพราะจิตสันดานมีการสะสมความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า
ตลอดกาลยาวนานมาตลอดชีวิต
ทำให้ตั้งความปรารถนาเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าอย่างพระพุทธเจ้าทีปังกร

แต่การตั้งความปรารถนานั้น ใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไปไม่
สำคัญว่าใครเป็นคนตั้งความปรารถนา
เหมือนเด็ก ป.๖ ต้องการจบปริญญาภายในเวลา ๕ ปี
ทำอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าเธอสอบ ม.๖ ได้แล้ว ปรารถนาจบปริญญาภายใน ๔ ปี
หากเธอจะตั้งใจศึกษาดีจริงก็จะได้ตามต้องการ
และอาจจะได้ปริญญาตรีก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ

ดังนั้น คนที่ต้องการเป็นพระพุทธเจ้า
ตั้งความปรารถนาแล้วจะประสบความสำเร็จตามความต้องการ
จะต้องมีการพัฒนาทางปัญญา จนบารมีคือความดีเหล่านั้น
ทำหน้าที่สร้าง รักษา พัฒนาท่านให้สมบูรณ์
ด้วยคุณสมบัติคุณธรรม หลัก ๘ ประการ
ที่ท่านเรียกว่า “ธรรมสโมธาน” นั่นคือ

๑. มนุสสมบัติ
การได้อัตภาพร่างกายที่เป้นมนุษย์ที่สมบูรณ์มาทั้งกายและใจ

๒. ลิงคสมบัติ
เป็นบุรุษเพศที่มีความสมบูรณ์ของความเป็นชายจริงๆ

๓. เหตุสัมปทาสมบัติ
มีวาสนาบารมีแก่กล้ามากพอที่จะออกบาวช
แล้วบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ได้ในชาตินั้น
เพราะได้ผ่านการสร้างความดีมาถึงขั้นสาวกบารมีภูมิ
คือมีพระบารมีมากพอที่จะเป็นพระอรหันตสาวกดังกล่าว
ท่านบอกว่าคนระดับพระอรหันต์สร้างบารมีเพียง ๑ อสงไขย กับแสนกัปป์

๔. สัตถุทัสสนสมบัติ
ได้พบเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง
ในกรณีนี้คือได้พบพระทีปังกรพระพุทธเจ้า
ขณะพบนั้นเอง ได้ตั้งจิตอธิษฐาน
ขอให้ท่านได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างพระทีปังกรด้วย

๕.   บรรพชาสมบัติ
ในขณะที่ตั้งความปรารถนาเพื่อเป็นพระพุทธเจ้านั้น
ต้องอยู่ในเพศของนักบวช
และต้องมีความเห็นชอบในกฏแห่งกรรม และสังสารวัฏด้วย

๖. คุณสมบัติ
ความเป็นนักบวชของท่านมิใช่เป็นเพียงรูปแบบ
แต่ต้องเป็นนักบวชที่ผ่านการปฏิบัติพัฒนาจิต
มาถึงระดับสมาธิ ฌาน สมาบัติ เป็นต้น
แต่ไม่ใช่จิตระดับพระอริยบุคคลมีพระโสดาบัน เป็นต้น

๗.   อธิการสมบัติ
คือ ผ่านการบำเพ็ญความดีอย่างยิ่งยวด
มาในระดับที่สามารถสละชีวิตตนเองเป็นทาน
หรือมหาบริจาคมาแล้ว

๘. ฉันทตาสมบัติ
มีความพอใจในการเป็นพระพุทธเจ้าเหนืออะไรทั้งหมด
ยอมสละทุกอย่างขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าของเราทรงสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ ๘ ข้อ
สมัยที่ทรงกำเนิดเป็นพราหมณ์มานพนามว่า สุเมธ
เป็นลูกโทนของตระกูลที่สืบต่อกันมาถึง ๗ ชั่วคน
ทรัพย์สมบัติจากรุ่นบรรพชนถึงพ่อหลั่งไหลมารวมกันที่ท่านคนเดียว

หลังจากบิดาท่านตายลง
เจ้าหน้าที่นำบัญชีทรัพย์สินมาแสดง
มากจนไม่รู้จะนับกันอย่างไร

แต่แทนที่ใจท่านจะมีความพอใจยินดี
กลับจุดประกายความคิด
จนนำไปสู่การกระทำที่ยากนักจักทำได้สำหรับคนทั่วไป

ลำดับความคิดของท่านเกี่ยวกับทรัพย์คน คือ

ขณะนี้ทรัพย์แก่ปรากฏสายตา
แต่เจ้าของทรัพย์เล่าตายหมดแล้วไม่มีใครปรากฏอยู่
ท่านเหล่านั้นไม่ฉลาดเลย
ที่ทิ้งทรัพย์สมบัติเอาไว้ให้เป็นปัญหาแก่เราต่อไป
แทนที่จะนำติดตนไปด้วย

หากเราจะรับมรดกเหล่านี้
ทำตามอย่างที่ท่านเคยทำ
ทรัพย์เจ้าของทรัพย์ก็จะอยู่ฐานะเดิม

เราจะไม่รับทรัพย์เหล่านี้อย่างที่ท่านเคยรับมา
แต่จะนำติดตัวเราไปด้วย
เพราะนอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว
การครอบครองทรัพย์จะเพิ่มบาป
ในการบริหาร การจัด มีการฆ่า ทำลายคน
สัตว์ ธรรมชาติอีกเป็นอันมาก
ที่ล้วนแต่เป็นบาป

จากความคิดดังนี้
ท่านจึงได้บริจาคทรัพย์ให้เป็นทานในหลายลักษณะ

เช่น การแจกจ่ายให้แก่ข้าทาส
ปลดปล่อยคนเหล่านั้นเป็นอิสระ มีฐานะทางเศรษฐกิจ
ช่วยเหลือแจกจ่ายแก่ญาติ คนจน คนอนาถา
มอบถวายให้แก่บ้านเมืองจนหมดสิ้น

แล้วจึงออกบวชจนมีคุณสมบัติพร้อม ๘ ประการ
และได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร
ว่า ท่านจะได้เป็นพระพุทธเจ้า
หลังจากนั้นอีก ๑ อสงไขยกับแสนกัปป์ ดังกล่าว

จากจุดนั้นเป็นต้นมา ได้บำเพ็ญสิ่งที่เรียกว่า “บารมี”
คือการเก็บการสะสมความดี
ทำลายความชั่วร้ายที่เรียกว่า “อาสวะ”
มาตามลำดับบารมีเหล่านั้น
ท่านกระจายออกไปเป็น บารมี ๑๐ ประการ คือ

ทาน การให้ ศีล การรักษาวาจาให้เรียบร้อย ไม่มีโศก
เนกขัมมะ การออกบวชเป็นนักบวชประเภทมีความเป็นชอบ
ปัญญา มีการพัฒนา การรักษา การใช้ปัญญาเป็นหลักในชีวิติ
มีความ วิริยะ ความเพียรพยายามทำไปด้วยความกล้าหาญ
ขันติ มีความอดกลั้น อดทน ทนทาน อดออม
สัจจะ มีความซื่อสัตย์อย่างยิ่งยวด
อธิษฐาน มีความหนักแน่นมั่นคง มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว
เมตตา มีความรักความหวังดีต่อตนเอง คนอื่น
และ อุเบกขา สามารถทำใจเป็นกลางไม่อ่อนไหวไปด้วยอคติ
จนถึงอุเบกขาระดับที่เป็นฌาน

ในการบำเพ็ญบารมีนี้เอง
แต่ละข้อทรงทำอย่างเด็ดเดี่ยวยากที่สามัญชนจะทำได้
เช่น การให้ทาน สามารถทำได้ ๓ ระดับ

คือ การให้วัตถุสิ่งของจากธรรมดาจนประณีตสุดก็ให้ได้
ให้ได้แม้แต่อวัยวะของตน
และแม้แต่ชีวิตก็พร้อมที่จะทำให้แก่คน สัตว์ ด้วยความกรุณา

(มีต่อค่ะ :จากราชกุมารสู่ความเป็นพระพุทธเจ้า)
>>> ลานธรรมจักร  >> กุหลาบสีชา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 10, 2014, 12:23:53 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



• จ า ก ร า ช กุ ม า ร สู่ ค ว า ม เ ป็ น พ ร ะ พุ ท ธ เ จ้ า
พระพุทธเจ้าในแง่ความเป็นจริง คือ คนสามัญที่ไม่สามัญ
ทรงเปลี่ยนแปลงพระองค์ จากความเป็นตัวตนระดับฐานันดรสูง
คือ พระราชกุมาร กลายเป็นนักบวชเร่ร่อนค่ำไหนนอนนั่น
จนกลายเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
อันเป็นสถานะที่สูงสุดเหนือเทวดา และมนุษย์ มาร พรหมทั้งหลาย
แต่พระองค์กลับสามัญยิ่ง

ดังนั้น แม้ว่าเราจะมีการศึกษาเรื่องราวพระพุทธประวัติ
ของพระองค์ท่านกันมาหลายลักษณะแล้วก็ตาม
แต่เพื่อเชื่อมเรื่องให้เห็นความเป็น พระศาสดา ในพระพุทธศาสนา
ว่า มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างไรบ้างนั่นคือ

พระพุทธเจ้า ก็คือ พระสิทธัตถะกุมาร
ทรงเป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา
ปรากฏการณ์ต่างๆ ก่อนประสูติ แสดงว่า
พระราชกุมารพระองค์นี้ไม่ธรรมดา
ขนาดแสดงให้เห็นเป็นภาพแก่สายตาของคนในที่ประสูติ
คือคนที่ตามเสด็จ พระนางสิริมหามายา

ทุกคนเห็นว่าทรงประสูติพิเศษมากคือ เอาเท้าออก
ขณะที่พระชนนีประทับยืน พระวรกายไม่แปดเปื้อนมลทิน
มีธารน้ำหลั่งออกมาสนานพระวรกาย
สามารถเดินด้วยพระบาทได้ ๗ ก้าว
กลับสั่งข้อความยืนยันพระสถานะของพระองค์
คนตรงนั้นเห็นและได้ยินร่วมกัน แต่เป็นระยะสั้นมาก
จากนั้นก็คงคืนกลับเป็นพระราชกุมารที่เพิ่งประสูติเหมือนเดิม

จากจุดนี้จะสังเกตเห็นว่า บารมีที่ทรงทำมานั้น
ทำหน้าที่สร้างสิ่งดีงาม ทั้งตระกูล ครอบครัว รูปร่างหน้าตา
ยุคสมัยที่ไม่มีมใครเสมอเหมือนให้แก่พระองค์เป็นพิเศษ
แม้พระอนุชาของพระองค็ยังห่างไกลกัน
และนั่นคือหลักที่กล่าวในตอนต้นๆ ที่ว่า

สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม
กรรมเป็นผู้จำแนกแบ่งแยกให้คนเราแตกต่างกัน
อันเป็นความแตกต่างมาจากสถานที่เกิด ตระกูลครอบครัว เป็นต้น ดังกล่าว

ในพระชาติที่เป็นสิทธัตถะราชกุมาร
ท่านเรียกว่า พระโพธิสัตว์ ประเภท นิยตโพธิสัตว์
คือต้องสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้แน่นอน
เพียงแต่ยังต้องศึกษาค้นคว้ากันอีกนานพอสมควรเท่านั้น

โลกกับชีวิต มีความเกี่ยวเนื่องถึงกัน
คนแต่ละคนเกิดมาในโลกย่อมสัมผัสโลกในลักษณะเดียวกัน
ตามปกติธรรมดาของโลก
แต่ละประเด็นสำคัญคือ เขามีท่าทีต่อสิ่งที่เขาสัมผัสอย่างไร

หากเรามองไปที่เด็กเล็กๆ อายุ ๘ ขวบ
ในขณะที่คนเขาสนุกสนานกัน น่าจะสนุกตามประสาเด็ก
แต่เด็กคนนั้นกลับใช้โอกาสที่คนอื่นสนใจเรื่องอื่น
มาสนใจกับจิตตนเอง ทำความสงบจนบรรลุปฐมฌานระยะสั้นๆ
..
วิญญูชนต้องตื่นเต้นกับเด็กคนนั้น
และยากที่จะหยั่งรู้ว่า เด็กคนนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร
เด็กคนนั้นคือเข้าชายสิทธัตถะ
ได้แสดงให้คนที่พบเห็นพบเห็นทึ่งกันมาแล้ว
ในคราววัปปมงคลแรกนาขวัญของพระเจ้าสุทโธทนะ
ขณะที่พระองค์ทรงมีพระชันษาเพียง ๗ พรรษาเท่านั้น

ขณะที่ทรงเจริญพรรษามาถึง ๗ ปี
ได้รับการศึกษาในสำนักของ อาจารย์วิศวามิตร
และอาจารย์ท่านอื่นแม่จะไม่ปรากฏชื่อก็ตาม แต่ต้องมีเป็นรรมดา
ทรงศึกษาศิลปวิทยาการถึง ๑๘ สาขา
จนมีความแตกฉานยิ่งกว่าอาจารย์ของท่านเสียอีก
แต่กลับทรงใช้เวลาเพียง ๘ ปีเท่านั้น
แปลกไหม อัศจรรย์ไหม

และนี่คือแสดงให้เห็นว่าคนเรามีเบื้องหลังของตนเองคือ
ความดี ความชั่วในอดีตอยู่ทุกคน
เพียงแต่อะไรมากกว่าอะไรเท่านั้น
..
..
พลังแห่งเมตตากรุณาทรงมีมากพอ
จนยอมขัดแย้งกับพระญาติของพระองค์ที่ฆ่าหงส์ แต่ไม่ตาย

ทรงใช้สถานะผู้ช่วยชีวิตต่อสู้เพื่อชีวิตหงส์จนได้ชัยชนะ
แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้แก่พระเทวทัต
จนเรื่องมาบานปลายขึ้นในตอนหลัง
ในขณะที่แยกเจ้าชายสองพระองค์ให้ห่างไกลกันจนไม่มีจุดบรรจบ
คือ เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเป็น พระพุทธเจ้า
ในขณะที่พระเทวทัตตกนรกอเวจี

แม้จะทรงได้รับการปรนเปรอเป็นอย่างดีภายในพระราชวัง
โดยมุ่งหวังที่จะทรงให้เป็นพระราชาครองแผ่นดิน
แต่ยามที่เสด็จออกเยี่ยมเยียนประชาชน
ในรูปแบบของการปรุงแต่งประดับประดาให้เห็นเฉพาะส่วนที่ดี

แต่กลับทรงมองความจริงผ่านสภาพผักชีโรยหน้า
ที่นิยมใช้กันตลอดโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ทำให้ทรงพบเห็นโลกกับชีวิตความเป็นจริงอย่างที่เป็นอยู่ในฐานะนั้นๆ

พลังแห่งเมตตาธรรมของพระองค์นั้น
ท่านเล่าไว้ว่า ยามไปเที่ยวในป่าด้วยกันกับเจ้าชายอานนท์ พระอนุชา
ปรากฏการณ์ที่อัศจรรย์คือ
สัตว์ป่าสารพัดชนิดแสดงความไม่ตื่นตกใจกลัว ไม่หนี
กลับเดินตามเจ้าชายไปเหมือนทรงเป็นเจ้าของสัตว์เหล่านั้น

แม้จะทรงจบการศึกษาเหนือกว่าพระราชกุมารทั้งหลาย
แต่กลับทรงวางพระองค์ปกติ ไม่อวดดี
ไม่แสดงให้เห็นว่าเก่งอย่างไร
ไม่แสดงความรู้ความสามารถอวดใคร

พระราชวงศ์ ประชาชน
พบเห็นการแสดงความสามารถทางวิชาการ
ของพระองค์เพียงครั้งเดียว
คือตอนประลองกำลังแข่งขันกัน
เพื่อครอบครอง เจ้าหญิงยโสธรา
และเป็นการแสดงตามคำขอร้องค่อนไปทางบังคับ
ของ พระเจ้าสุทโธทนะ
จากนั้นไม่ปรากฏว่าทรงแสดงอีกเลย

ภาพธรรมดาที่ปรากฏในส่วนต่างๆของโลกนั้น
ที่สามารถพบเห็นได้ตามปกติธรรมดา
เช่น อีกาแย่งอาหาร กับสุนัขแย่งอาหารกัน
พอไปแย่งไม่ได้ก็จิกตีทำลายกัน
พออาหารหมดไปก็เลิกแย่งกัน
อันเป็นอาการเดียวกัน ทั้งของอีกา สุนัข คน

แม้สัตว์เหล่าอื่น ทำให้ทรงมองเห็นภัยเป็นเหตุอันตราย
ที่เกิดจากการแก่งแย่งแข่งดีกันของคน ของสัตว์ว่า
เป็นเหตุนำทุกข์สารพัดมาให้

ทำให้มีแรงผลักดันให้ทรงคิดค้นทางช่วยคนจากการเบียดเบียนกัน
คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เป็นภาพธรรมดามาก
แต่เจ้าชายกลับทรงมองเห็นเป็นกระบวนการของชีวิต
ที่หมุนจนหาจุดจบไม่ได้

จึงทรงเบื่อหน่ายในการที่ต้องยึดติดอยู่กับชีวิต
ที่ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายทั้งของพระองค์และของคนอื่น

การที่ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจที่จะต้องเลือกระหว่างชีวิต
ที่ต้องเสี่ยงทุกลักษณะ กับความสุขสำราญ
ที่ต้องมีการจัดการปรุงแต่งประดับประดาจนกลายเป็นการบำเรอ
แทนที่จะเป็นการบำรุงที่คนทั่วไปพอใจยินดี
แต่เจ้าชายทรงมองเห็นโทษของการใช้ชีวิตในลักษณะนั้น

ประเด็นสำคัญในจุดนี้ก็คือ
การตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในเมื่อคนเราสามารถเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
เจ้าชายสิทธัตถะทราบกันแล้วว่าท่านมีคติเป็นสอง
คือสามารถเลือกได้ระหว่างการเป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับ พระเจ้าจักรพรรดิ์

นี่คือยอดคนทางศาสนจักร และอาณาจักร
เป็นคนประเภทหายากที่สุดในโลกด้วยกัน

ในกรณีของเจ้าชายสิทธัตถะ
ทรงมีภูมิหลังดังกล่าวแล้วว่า
ทรงสร้างบารมีมาเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า
..
..
แต่จากคำทำนายของพราหมณ์ ๘ คน
ทำให้เราทราบว่าบารมีนั้น

เมื่อถึงจุดหนึ่งสามารถเปิดโอกาสให้ท่านผู้นั้น
เลือกเอาได้อย่างไรอย่างหนึ่ง
คงมีลักษณะคล้ายคนที่มีเงินมาก
มีความรู้ ความสามารถมาก
ทำให้เป็นคนมีโอกาสเลือกได้มาก

หลักการในการเลือกของ เจ้าชายสิทธัตถะ
สามารถใช้เป็นแบบในการตัดสินใจเลือกระหว่างสองสถานะ

จะพบว่าช่วงสั้นๆ
พระพุทธเจ้า กับ พระเจ้าจักรพรรดิ์
มีความสำคัญใกล้เคียงกัน

แต่ถ้าถามว่า ผลประโยชน์ที่ชาวโลกจะได้รับจากพระพุทธเจ้า
กับพระเจ้าจักรพรรดิ์จะได้จากใครมากกว่า
ยืนนานกว่า แพร่ขยายออกไปได้มากกว่า
และสามารถอำนวยผลระดับสูงสุดมากกว่า

พอมาถึงจุดนี้ พระเจ้าจักรพรรดิ์
จะไม่สามารถเทียบเคียงกับ พระพุทธเจ้า ได้

แม้แต่สถานะของพระเจ้าจักรพรรดิ์เองเล่า
ท่านคือสามัญชนธรรมดาที่อาจจะต้องทำบาปอีกมาก
เพื่อสถาปนาสถานะ รักษาพระสถานะ พระราชอำนาจ
พระราชอาณาจักรของพระองค์

ในขณะที่ความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
ทรงหลุดพ้นจากอวิชชา พ้นจากทุกข์ด้วยประการทั้งปวง
พ้นแม้
จากการเกิดในกำเนิดใดกำเนิดหนึ่ง


พระเจ้าจักรพรรดิ์กลับต้องผจญกับ
ความทุกข์ ศัตรู อันตราย ต้องทำบาปอีกมาก
ทิวงคตแล้ว อาจจะตกนรกก็ได้

การตัดสินใจเลือกของเจ้าชายสิทธัตถะ
จึงสามารถใช้เป็นแบบในการคิด
ตัดสินใจเลือกอะไรก็ตาม ที่สามารถเลือกได้เพียงอย่างเดียว

ตามปกติคนทั่วไปมักใช้การพูด การทำ แบบขาดความรับผิดชอบ
หรือบางคนอาจพูดโดยไม่ได้คิด

แต่ลำดับการทำงานของคนระดับพระโพธิสัตว์
ท่านจะเรียงเป็นลำดับ คือ กล้าคิด
กล้าตัดสินใจ ทำการพิสูจน์ ทฤษฎีที่ตนคิด
พร้อมกับ คิดค้น ไปเรื่อยๆ

ในขณะนั้น จะไม่มีการพูด
จะกล้าพูดต่อเมื่อได้สัมผัสความจริงของสิ่งนั้นชัดเจน
ไม่เป็นอย่างอื่น ที่เรียกว่า สัจธรรม

ตราบเท่าที่ยังไม่บรรลุความจริงที่แท้จริง
จะไม่มีการยึดติดว่า
จะต้องทำอย่างนี้เท่านั้น ทำอย่างอื่นไม่ได้
ที่เคยสร้างปัญหาแก่คนมาตลอดกาลยาวนาน


การตัดสินใจทำอะไรลงไปแล้ว
หากยังไม่ได้ลงมือทำหรือพิสูจน์
จะไม่มีการเปลี่ยนความตั้งใจ
ในขณะที่ เมื่อได้ผลพิสูจน์ ทดสอบ ไปถึงที่สุดแล้ว
แม้ จะได้ผล ระดับใดก็ตาม
หากผลนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจริงๆ
จะไม่หยุดการ แสวงหา

มีต่อค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 10, 2014, 12:25:34 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ขัอนี้พึงดูตัวอย่าง
ตอนที่ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวช
แม้จะมีการล่อด้วยสมบัติพระเจ้าจักรพรรดิ์ว่าจะได้ภายใน ๗ วัน
การมอบราชสมบัติให้กี่งหนึ่งของ พระเจ้าพิมพิสาร
ขอเพียงอย่าผนวชเท่านั้น
พระองค์ก็ไม่ทรงสนพระทัย ทรงปฏิเสธ

จนกลายเป็นแรงผลักดันให้ พระเจ้าพิมพิสาร มีความเชื่อว่า
เจ้าชายสิทธัตถะ จะต้องได้เป็น พระพุทธเจ้า
ถึงกับอาราธนาขอให้มาโปรดพระองค์หลังจากได้ตรัสรู้แล้ว

ชีวิตของคนเราแต่ละคนไม่มีใครมีความสมบูรณ์พร้อม
แม้คนระดับพระโพธิสัตว์
เอาเข้าจริงก็ต้องลองผิดลองถูกอีกมาก
แต่จากพื้นฐานความเชื่อมั่นว่า

คนเราสามารถศึกษาค้นคว้า จนสามารถตรัสรู้เองได้
เพียงแต่จะตรัสรู้ได้ด้วยวิธีใดเท่านั้น

ก่อนที่จะพิสูจน์ทดสอบด้วยพระองค์เอง
จะไม่ทรงปฏิเสธสถานะของสิ่งเหล่านั้น
อะไรก็ตามที่ทรงพิสูจน์แล้ว ปฏิบัติแล้วทดสอบแล้ว
ผลเกิดมาอย่างไรทรงรับรอง
เพียงแต่ว่าไม่ใช่ผลที่พระองค์ต้องการเท่านั้น

การศึกษาค้นคว้าเพื่อการตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์นั้น
เป็นแบบฉบับของผู้แสวงหาของผู้แสวงหาทั้งหลายในโลก
จากพื้นฐานความคิด คือ เพื่อได้ เพื่อมี เพื่อเป็น

ในขณะที่วิถีชีวิตของชาวโลกมีลักษณะย้อนศรกันอยู่
จนนำไปสู่ปัญหาความไม่รับผิดชอบตามสมควรแก่ฐานะ
นั่นคือ ความได้ ความมี ความเป็น
เป็นผลซึ่งเกิดมาจากเหตุ
คือการสร้างเหตุเพื่อให้เกิดผลตามที่ตนต้องการ


แบบหลักตรงนี้คือ สุเมธามาณพ
มีความประทับใจในบุคลิกภาพอันไพศาลของ พระทีปังกรพุทธเจ้า
และพุทธกิจที่ทรงทำต่อโลก
ชาวโลกได้รับประโยชน์อย่างไพศาล
จึงมีความต้องการที่จะเป็นพระพุทธเจ้า

แต่เมื่อตรวจตัวท่านดูปรากฏว่า
คุณสมบัติของความเป็นพระพุทธเจ้าของพระองค์ไม่มีในขณะนั้น
ถ้าต้องการเป็นให้ได้ก็ต้องสร้างเหตุเช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าในอดีต
ทรงสร้างจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าให้ดูแล้ว

จากนั้นจึงทรงตั้งความปรารถนา
จนได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นเครื่องมือเสริมความเชื่อมั่นเท่านั้น
ความสำเร็จหาเกิดเพียงเพราะเหตุนี้เท่านั้นไม่

การบำเพ็ญบารมีดังกล่าว
คือการสร้างเหตุเพื่อให้มีเหตุมากพอ
จนได้เป็นพระพุทธเจ้า ตามที่ตั้งใจไว้
และตามที่ได้ทรงพยากรณ์ของพระทีปังกรพระพุทธเจ้า
..
..
ในพระชาติที่เป็น เจ้าชายสิทธัตถะ
ก็ทรงทำงานอย่างเดียวกันคือ
การสร้างเสริมพัฒนาคุณสมบัติจนกว่าจะมีความสมบูรณ์
ด้วยการได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
อย่างพระทีปังกรพระพุทธเจ้า

หลังจากทรงตรัสรู้เป็น พระพุทธเจ้า
แสดงว่านั่นคือผลของการกระทำ
สร้างคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า จนสำเร็จเป็น พระพุทธเจ้า

ภารกิจต่อไปคือต้องทำหน้าที่ต่อจากที่ได้เป็น พระพุทธเจ้า
ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์กันของคำสามคำ
ที่ต้องหมุนวนหนุนช่วยกันตลอดกาลยาวนานของชีวิต
แม้จะอยู่ในช่วงสุดท้ายของการหมุนวนในสังสารวัฏ
เราจะเห็นความสมบูรณ์พร้อมของคำสามคำนั้น หนุนเนื่องกันอยู่นั่น คือ

เมื่อท่านต้องการได้ ต้องการมี ต้องการเป็นอะไร
จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ
เพื่อความมี เพื่อความเป็น ที่ตนต้องการว่า
ในขณะนั้นเรามีคุณสมัติพร้อมที่จะเป็นหรือไม่

ถ้ามีก็ต้องพยายามเป็นให้ได้
หากยังไม่มีก็ต้องพยายามสร้างคุณสมบัติก่อน
และเมื่อได้เป็นแล้วต้องทำหน้าที่ของผู้เป็น
ในรูปแบบการพยายามทำหน้าที่ให้ได้ ทำหน้าที่ดี ทำหน้าที่ให้เป็น

การหมุนวนของคำสองสามคำคือ
ทำ มี เป็น, มี เป็น ทำ, ทำ เป็น มี
คุณลักษณะตรงนี้เราสามารถมองเห็น
บนเส้นทางชีวิตของพระโพธิสัตว์ทุกๆ ชาติ


การศึกษาค้นคว้าในฐานะของผู้แสวงหา
คือการสร้างคุณสมบัติเพื่อความเป็น พระพุทธเจ้า
จนกว่าจะทรงคุณสมบัติสมบูรณ์นั้น

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การมองหาประโยชน์จากสิ่งนั้น
มากกว่าที่จะมองว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร
คือมอง คิด เห็นว่า ทำอย่างไรจึงเกิดประโยชน์ก็ทำไปตามนั้น

หลังจากที่ทรงบำเพ็ญทุกขกริยา
คือการทรมานพระวรกาย
ด้วยการเอาฟันกับฟันมากดกัน
เอาลิ้นมาดันกับเพดาน
ผ่อนกลั้นลมหายใจเข้าออก
และอดอาหารตามลำดับ จนมาเสวยเลยนั้น

หากขืนก้าวต่อไป
โลกคงไม่ได้พบเห็นพระพุทธเจ้าแน่
แต่ลำบากขนาดนี้พระองค์ยังทรงบำเพ็ญเพียรถึง ๖ ปี
อันเป็นเหตุให้พระวรกายเสื่อมโทรม

จาก หนังสือประทีปแห่งทวีปเอเชีย
ท่านได้บอกว่าพระองค์สดับเพลงขับแถวนั้น
พรรณนาการดีดพิณ เป็นใจความว่า

“ดีดพิณจับระบำ จำทำสายให้พอดี
ตึงนักสายมักขาด เพลงพินาศหมดเสียงใส
หย่อนนักสายหมดไป จงทำสายให้พอดี”

บทเพลงเหล่านี้ ไม่ต้องไปสนใจว่าใครร้อง ร้องเพื่ออะไร
แต่ทรงมองไปที่ประโยชน์ที่จะได้จากการคิด
จากเสียงพิณที่ทรงชานิชำนาญมาก่อน
กับการปฏิบัติของพระองค์ในขณะนั้น
ทรงเห็นว่าเป็นเหมือนสายพิณที่ตึงจัดไป
ที่ขืนดีดต่อไปก็ขาด

และไม่ใช่ขาดเพราะพระพุทธเจ้า
แต่กลับทำลายเจตนารมย์จากอดีตกาลนานไปอีกด้วย
ซึ่งก็หมายความว่า

โลกจะถูกปล่อยทิ้งให้เข้าสู่กระแสแห่งอวิชชา
ความกลัว ความสับสนต่อไป
..
..
ในขณะที่ทรงปฏิบัติทางจิต
ที่ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว
คือการดำเนินไปตามหลักของ ไตรสิกขา นั่นเอง

มาถึงขั้นของสมาธิมีปัญหาที่การรักษาจิตอันเป็นสมาธิไม่ได้
ก็ทรงแก้ไขจนผ่านไปได้
จิตกลับไปไม่ยอมแยกจากกามคุณารมณ์
แม้จะเป็น อย่างละเอียด ก็ตาม


แรงผลักดันไม่ให้ทรงคิดคือ
ท่อนไม้ที่วางอยู่ใกล้ๆ นั่นเอง
โดยทรงนำจิตเข้าเทียบเคียงกับท่อนไม้
โดย อวิชชาเทียบกับยางของไม้ จิตเหมือนต้นไม้
เอาชีวิตที่องค์ประกอบร่วมของกายกับจิต
มาเป็นหลักในการคิด พิจารณาหาทางแก้ปัญหา

ข้อความตรงนี้มีความไพเราะมาก ว่า

๑. สมณะพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
กายก็ยังไม่พรากจากกาม
ใจก็ยังพัวพันหมกมุ่นครุ่นคิดถึงกามอยู่

สมณพราหมณ์นั้น
จะใช้ความพยายามสาหัสอย่างไรก็ตาม
หาช่วยให้บรรลุคุณพิเศษที่พึงประสงค์ได้ไม่

เปรียบเหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยางทั้งวางอยู่ในน้ำ
คนต้องการไฟนำไม้นั้นมาสีกันเพื่อให้เกิดไฟ
จะไม่อาจทำให้เกิดไฟขึ้นมาได้

๒. สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ที่แม้ในส่วนกายเขาออกจากกามแล้ว
แต่ใจยังกลับหมกหมุ่นครุ่นคิดถึงกามอยู่

สมณพราหมณ์เหล่านั้น
แม้จะใช่ความเพียรพยายามให้สาหัสอย่างไรก็ตาม
หาสามารถบรรลุคุณวิเศษได้ไม่
เปรียบเสมือนไม่สดที่ชุ่มอยู่ด้วยยาง
แม้จะวางไว้บนบกแล้ว
แต่คนที่ต้องการไฟ นำไม้นั้นมาสีไฟก็อาจหาได้เกิดไฟขึ้นได้ไม่

๓.สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ที่กายเขาก็ออกมาจากกามแล้ว
ใจเขาก็ไม่พัวพันอยู่ในกามแล้ว

สมณพราหมณ์เหล่านั้น
เมื่อใช้ความเพียรพยายามไปถูกต้อง
จะสามารถบรรลุคุณพิเศษได้
จิตใจของเขาเปรียบเหมือนไม้แห้งที่ปราศจากยาง และวางไว้บนบก
คนที่ต้องการไฟนำไม้มาสีกันให้ถูกต้อง
ก็จะสามารถให้เกิดไฟขึ้นมาได้

มีต่อค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 10, 2014, 12:27:02 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



จากการที่ทรงพิจารณาแยกแยะออกไปเช่นนี้
ทำให้เห็นสถานะของพระองค์ในขณะนั้นคือ ประเภทที่ ๓
ทำให้ทรงเชื่อมั่นว่าพระองค์จะต้องประสบกับความสำเร็จ
ก่อนที่จะเสด็จประทับ ณ ต้นไม้อัสสัตถพฤกษ์
คือต้นพระศรีมหาโพธิ์ในกาลต่อมา

เราเห็นพลังของ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
ประสานสัมพันธ์มีความเข้มข้นใกล้สมบูรณ์
จากการอธิษฐานพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยว
ตามที่รับสั่งเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังในกาลต่อมาว่า

ภิกษุทั้งหลาย เราตั้งความเพียรว่า
หนัง เอ็น กระดูกจักเหลืออยู่
เนื้อและเลือดในสรีระจะแห้งไปก็ตามที
เมื่อยังไม่บรรลุประโยชน์อันบุคคลจะพึงบรรลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ
ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว
จักหยุดความเพียรนั้นเสียไม่มีเลย

การตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวในลักษณะนี้
ทางออกเพียงทางเดียวเท่านั้นคือ สิ้นพระชนม์ กับตรัสรู้
ไม่มีทางที่สามให้เลือกแล้ว

จากนั้นทรงประสบปัญหาสารพัด ที่ท่านสรุปเป็นมารผจญ
พระทัยของพระองค์ก็เดินไปบน อริยมรรค ๘ ประการ
ในขณะนั้นยังไม่ได้เรียกชื่ออย่างนั้น

มารที่มายั่วยวนเป็นหลักในคราวนั้น
เป็น มารประเภทเทวปุตตรมาร
คือเทวดาที่ทำตนเป็นศัตรูขัดขวางการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ทรงปฏิบัติมาจนถึงจุดที่พระทัยของพระองค์
มีลักษณะตามที่รับสั่งเล่าแก่พระภิกษุ ในตอนหลังว่า

เรานั้น เมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลส
จิตเป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน
มีความไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่เช่นนั้น
ได้น้อมจิตไปเพราะ อาสวักขยะญาณ
คือพระญาณที่ทำอสาวะที่ทำวิชชาเป็นมูลราก
เรารู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า

นี้ทุกข์ นี้คือเหตุแห่งทุกข์ให้เกิดทุกข์
นึ้คือความดับทุกข์
นี้คือทางให้ถึงความดับโดยไม่แห่งทุกข์
และนี้เป็นอาสาวะทั้งหลาย
นี้ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะทั้งหลาย

เมื่อเรารู้อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้
จิตก็พ้นจาก กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ
ครั้นจิตพ้นแล้วก็เกิดญาณรู้ว่า
เราพ้นแล้ว เรารู้ชัดว่า ชาติ ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้ไม่มีอีก

วิชชาที่ ๓ ที่เราได้บรรลุแล้วในยามสามแห่งราตรี
อวิชชาถูกทำลายลงแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
ความมืดถูกทำลายแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแทนแล้ว
เช่นเดียวกับที่เกิด แก่บุคคลผู่ไม่ประมาท
มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วและอยู่โดยควร
..
..
จากที่กล่าวข้างต้นว่า โลกและชีวิต
โดยเฉพาะชีวิตเป็นผลผลิตจากอวิชชากับกรรม
ปัญหาสารพัดที่ชาวโลก สัตว์โลกประสบ
ล้วนเนื่องมาจากอวิชชาเป็นสำคัญ

หลักการสำคัญในทางพระพุทธศาสนา
หากต้องการชีวิตที่ทีคุณภาพ คุณค่า
จนถึงอุดมชีวิตจะต้องลดอวิชชาลงไปตามลำดับ
จนกว่าจะหมดอวิชชาลงไปในที่สุด
ท่านก็จะหลุดลอยจากโลก
แม้จะอยู่ในโลกก็จะอยู่อย่างรู้แจ้งโลก

แต่ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว

อวิชชา ที่ทรงเปรียบเป็นความมืด
ในที่นี้สิ่งที่จะขจัดเขาได้คือแสงสว่าง
คนมีหน้าที่เข้าหา หรือหาแสงสว่างมา
แล้วแสงสว่างเหล่านั้นจะขจัดความมืดให้เอง
ผลดีความดีทั้งหลายที่จะติดตามในภายหลัง
ล้วนสืบเนื่องมาจากแสงสว่างนั้นคือโลก

แต่สำหรับชีวิต การพัฒนาปัญญาหรือวิชชา
อันมีฐานะเช่นเดียวกับแสงสว่าง
คือมีหน้าที่ขจัดความมืด คือ อวิชชา ออกไป
สิ่งดีงามทั้งหลายก็จะเกิดขึ้นติดตามมา

เพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ทำให้พระองค์เหนือกว่าเทวดา มนุษย์ทั้งหลาย
ใน ๓ เรื่องใหญ่ คือ
..
..
• ท ร ง ส ม บู ร ณ์ เ ต็ ม ที่ ด้ ว ย พ ร ะ ปั ญ ญ า คุ ณ
อันเป็นเหตุให้ทรงกอปรด้วยพระบริสุทธิคุณจาก อวิชชา
โลกทรรศน์ของพระพุทธเจ้าเปลี่ยนจากชาวโลกแบบพลึกหน้ามือเป็นหลังมือ
นั่นคือ ชาวโลกมีความเป็นเราเป็นเขา
แม้แต่เป็นเรากับพวกเราก็ยังเบียดเบียนกัน

แต่พระพุทธเจ้ากลับมองโลกในรูปของสภาพปัญหาที่น่าสงสาร
จึงทรงกอปรด้วยพระกรุณาต่อชาวโลก
ทำให้พระพุทธเจ้าที่ตามปกติแล้วทรงอุบัติขึ้นในโลก
จากที่ย้อนอดีตให้ดูมาแต่ต้นว่า
เป็นเจตนารมย์ของมหาบุรุษผู้มีความกรุณาจนเปี่ยมล้นต่อชาวโลก
ต้องการความช่วยเหลือของโลกให้คงความสมบูรณ์ด้วยความสุขเป็นเป้าหมาย

ท่านจึงแสดงการเกิดของพระพุทธเจ้าไว้ว่า
เอกบุคคล เมื่อบังเกิดขึ้นในโลก
ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เอกบุคคลนั้น คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา
ความเป็นพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นด้วยปัญญาของพระองค์

ในขณะที่ศาสนาประเภทเทวนิยม
ที่ใช้ศรัทธาเป็นหลักนำตนนำคนอื่นไปยึดโยงกับเทพเจ้า
ทำนองเป็นศาสนาของเทพเจ้าหรือโองการจากสวรรค์
ที่นำมาควบคุมความประพฤติของมนุษย์
เพื่อนำมนุษย์ไปขึ้นตรงกับเทพเจ้า ตามความเชื่อถือของตน

พระพุทธศาสนากลับเป็นศาสนาของมนุษย์
ศึกษา ค้นคว้า พบ นำมาแสดงเพื่อมนุษย์
แต่เพราะมีความกรุณาไร้ขอบเขต
ทำให้ทรงแสดงแก่สรรพชีวิตทั้งหาย
จนได้นามว่า ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

แต่จากพระมหากรุณาภายในพระทัยของพระองค์
พระองค์กลับมองโลกอย่างใกล้ชิดยิ่งกว่า
ทรงเป็น “โลกนาถ” ที่พึ่งของชาวโลก
“โลกนายก” ทรงเป็นผู้นำของชาวโลก
เพราะทรงเป็น “โลกเชษฐ” พี่ชายคนโตของชาวโลก
ที่ก่อนหน้านั้นต่างก็ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชามาด้วยกัน

เป็นเหมือนลูกไก่ที่อยู่ในฟองไข่มาด้วยกัน
และฟองไข่นั้นเองที่ทำให้ลูกไก่มองอะไรไม่เห็น
พระพุทธเจ้าจึงทรงเป็นไก่ตัวแรก
ที่ทำลายกระเปาะฟองคืออวิชชาออกมาได้
จึงทรงเหมือนไก่ตัวพี่

เพราะทำลายกะเปาะฟองออกมาได้ก่อนน้องๆ
จึงต้องเป็นที่พึ่งของน้องๆ ต้องนำน้องๆ
เพื่อช่วยให้น้องๆ ได้สัมผัสอย่างที่ทรงสัมผัสมาก่อน

พระพุทธเจ้าท่านนิยามความหมายเต็มรูปไว้ว่า
คือ ท่านผู้ตรัสรู้ดีตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองแล้ว
ทางสอนบุคคลอื่นให้ตรัสรู้ตามพระองค์ด้วย
แสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงเข้าถึงชีวิตที่สมบูรณ์แล้ว

ทรงมีความกรุณาต้องการให้ชาวโลก
อาศัยการศึกษา ปฏิบัติตาม ได้หลักในการดำเนินชีวิต
จนสามารถสัมผัสดีงามโดยเสด็จตามกำลังความสามารถของแต่ละคน

แต่ในหลักความเป็นจริงที่สมบูรณ์
ความเป็นพระพุทธเจ้าหาได้หมายเอา
พระรูปร่างกายของพระองค์เป็นหลักไม่
แต่ท่านหมายเอาพระธรรมะ ที่สำคัญคือพระพุทธคุณ

ข้อนี้ทรงรับสั่งแก่พระวักกลิ ที่บวชมาด้วยความพอใจ
ที่ติดตามดูพระพุทธสรีระของพระองค์
จนไม่นำพาต่อการศึกษาและปฏิบัติตามคำสอน
เพื่อให้ท่านได้ตระหนักถึงภารกิจที่ต้องทำตามหน้าที่

ได้ทรงรับสั่งความว่า
วักกลิภิกขุจงถอยออกไป จะมาดูใย
ร่างกายตถาคตเป็นของเปื่อยเน่า

ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม
..
..
พระพุทธคุณที่ควรตระหนักในที่นี้
คือ พระพุทธคุณ ๙ ประการ ที่สาธุชนทั่วไปนำมาสวดสาธยาย
สืบต่อจากสมัยพระพุทธกาล
จนถึงสมัยปัจจุบันและคงต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป
พระพุทธคุณ ๙ บทนั้น แปลเป็นใจความว่า

แม้เพราะเหตุนี้   
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์
ทรงตรัสรู้ของด้วยพระองค์เอง
ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว
ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
ทรงเป็นสารถีผู้ฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
ไม่มีสารถีอื่นจะเป็นยิ่งไปกว่า
ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ทรงจำแนกแจกจ่ายธรรม ทรงมีโชคและกอปรด้วยภคธรรม

พระพุทธคุณเหล่านี้สามารถสรุปรวมเป็น
พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ

ที่บางครั้งท่านสรุปด้วยบท นโม ตสฺส
หรือแม้บทสวดอื่นๆ
ก็ล้วนแต่เป็นการสะท้อนพระคุณ ๓ ประการ

ในบทสรรเสริญพระพุทธคุณดังกล่าวนั้น พระพุทธคุณบทว่า

สัมมาสัมพุทโธ แปลว่า ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพะองค์เอง
คือทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ
ตามลำดับพระญาณ ๓ ประการ ที่กล่าวไว้ในตอนต้น
เป็นพระปัญญาคุณ

วิชชาจรณสัมปันโน
แปลว่า ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาความรู้
และจรณะความประพฤติ วิชชาเป็นพระปัญญาคุณ
ในขณะที่จรณะความประพฤติ เน้นที่พระบริสุทธิคุณ

อรหํ แปลว่า ทรงหักกรรมเป็นสารจักร คือทำลาย กิเลส
กรรมที่เรียกว่าเต็มที่ว่า อวิชชา ความไม่รู้ ตัณหา
ความดิ้นรนทะเยอทะยานอยาก
อุปาทานมีความยึดมั่นถือมั่น

กรรม คือการทำดีทำชั่ว
ทำให้ทรงไม่ทำบาปแม้ว่าจะเป็นที่ลับ
เพราะทรงไกลจากความชั่ว
เหตุนี้ทำให้พระพุทธเจ้า
เป็นผู้ที่ควรแก่การบูชาของคนทั้งหายผู้ต้องการบุญ

อรหํ จึงเป็นพระบริสุทธิคุณ สุโต เสด็จไปดีแล้ว
เป็นพระมหากรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ
โลกวิทู เป็นพระปัญญาคุณ
อนุตฺตโรปุริสทมฺมารถิ เป็นพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ
สตฺถาเทว มนุสฺสานํ เป็นพระมหากรุณาธิคุณ

พุทฺโธ ที่แปลว่า รู้ ตื่น เบิกบาน
จึงครบทั้ง ๓ พระคุณ
ภควา มีคุณลักษณะของพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการ
ตามคำแปลที่มีกรอบกว้างขวางมาก

จากการที่ทรงสมบูรณ์ด้วยพระคุณทั้ง ๓ ประการดังกล่าว
และการอุบัติของพระพุทธเจ้า
เป็นการอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
ตลอดกาลยาวนาน ๔๕ พรรษา

พระพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยพระพุทธจริยา
คือการดำเนินงานในฐานะทรงอนุเคราะห์ต่อชาวโลก
ทรงสัมผัสชาวโลกด้วยพระมหากรุณา
ทรงทำหน้าที่ตรงนี้ได้สมบูรณ์

ก่อนเสด็จดับขันธปรนิพพาน ได้รับสั่งว่า
กิจใดที่ศาสดาพึงเห็น ดู
จะพึงทำต่อเธอทั้งหลายผู้สาวก
ตถาคตได้ทำสมบูรณ์แล้ว

(มีต่อค่ะ :พระพุทธจริยา ๓ ประการ)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 10, 2014, 12:28:22 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



พระพุทธจริยา ๓ ประการ คือ
๑. โลกกัตถจริยา
ทรงทำประโยชน์ต่อชาวโลก ในฐานะที่ทรงเป็นสมาชิกคนหนึ่งในโลกนี้
พระองค์ได้สด็จไปในนิคมในชนบทราชธานีต่างๆ เป็นอันมาก
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อสรรพสัตว์

ในแต่ละปีพระพุทธเจ้าจะประทับประจำที่เฉพาะในพรรษาปีหนึ่ง ๓-๔ เดือน
นอกจากนั้น ๗-๘ เดือนจะเสด็จไปพบประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ
ทรงประกาศ ชี้แจงแสดงธรรม อันเป็นประโยชน์มีลักษณะเกื้อกูล
และสามารถอำนวยความสุขแก่ผู้ฟังตามสมควรแก่ฐานะ

ตามปกติคนที่เสด็จไปพบพระพุทธเจ้านั้น
ส่วนมากจะไม่นับถือพระพุทธศาสนามาก่อน
แต่หลังจากที่ได้พบปะ สนทนา ฟังเทศน์จากพระองค์
คนส่วนมากจะกล่าวสรรเสริญการแสดงธรมของพระพุทธเจ้าว่า

เป็นเหมือนทรงหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
และส่องประทีปในที่มืดให้คนตาบอดไม่บอดสามารถเห็นแสงสว่างได้

พระพุทธจริยาข้อนี้นำไปสู่พระพุทธกิจหลักในแต่ละวัน
ที่ทรงทำมาตลอดเวลา ๔๕ ปีทรงทำอย่างนี้ทุกวันคือ

๑.   ตอนเช้าเสด็จออกบิณฑบาต โปรดให้ช่าวบ้านได้บำเพ็ญความดีด้วยการถวายทาน
๒.   ตอนเย็นทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คนที่เข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ
๓.   ตอนหัวค่ำทรงประทานโอวาทแก่พระภิกษุ สามเณร
๔.   ตอนเที่ยงคืนทรงตอบปัญหาแก่เทวดาที่มาเฝ้ากราบทูลถามปัญหา
๕.   ตอนใกล้รุ่งของทุกคืน ทรงตรวจดูโลกด้วยทิพยจักษุ คือ พระเนตรทิพย์

มีใครปรากฏในข่ายพระญาณก็จะเสด็จไปโปรด
โดยทรงรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคนที่จะเสด็จไปโปรด
ทรงทราบเป็นการล่วงหน้าว่าหลังจากจบพระธรรมเทศนา
คนเหล่านั้นได้รับผลจากธรรมะระดับใด

๒. ญาตัถจริยา
ทรงทำประโยชน์แก่พระประยูรญาติ
ในฐานะที่ทรงเป็นลูกหลานของราชสกุลศากยะ โกลยะ
ในฐานะความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด
บางครั้งพระญาติทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าก็สด็จไปโปรด
แม้พระญาติเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เสด็จไปดูแล

สำหรับพระเจ้าสุทโธทนะ
พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้วสอนอีก
จนถึงการดูแลรักษาพยาบาลไปทรงแนะนำธรรมไป
จบลงด้วยทรงบรรลุเป็นพระอรหันต์
แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน
โดยพระพุทธเจ้าทรงอำนวยการจัดงานถวายพระเพลิงด้วยพระองค์เอง

นี่คือการทำหน้าที่ของลูกหลานของตระกูล ครอบครัว
ให้คนได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง
อันเป็นการทำดีให้ลูกๆ ทั้งหลายได้ดูว่า
ลูกหลานที่ดีควรทำหน้าที่ต่อครอบครัวตระกูลวงศ์อย่างไร

๓. พุทธัตถจริยา
ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า
ที่จะต้องทำต่อศาสนิกหรือสาวกของพระองค์
ทรงวางพระองค์เป็นกัลยาณมิตรของพุทธบริษัท

บางครั้งทรงเป็นเหมือนพี่ บางครั้งเป็นเหมือนครู
บางครั้งทรงเป็นหมือนพ่อ
พุทธบริษัททั้งฝ่ายนักบวชและชาวบ้าน
เข้าใกล้พระพุทธเจ้าแล้วรู้สึกสงบเย็น

สำนวนบาลีท่านใช้คำว่า สุขฉายา
คือ เข้าใกล้แล้วได้รับความสุข

ยุคที่ทรงพระชนม์อยู่ สังคมชาวพุทธเป็นสังคมที่อบอุ่น เป็นสุข
มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูงมาก

การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้น
แสดงว่าชาวโลกได้รับสิ่งสูงสุดเหนือรัตนะทั้งหลาย
แต่ว่าการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
พุทธบริษัทก็ได้สูญเสียพระองค์ไปในส่วนพระรูปกายตลอดนิรันดร
แต่กลับทรงดำรงอยู่ด้วยพระคุณโดยมี พระธรรมวินัย
ที่ทรงแสดงบัญญัติไว้แก่พุทธบริษัททั้งหลายทำหน้าที่องค์พระศาสดาแทน

ชาวพุทธมีความคุ้นเคยกับพุทธดำรัส
ที่ตรัสแก่พุทธบริษัททั้งหลายผ่านพระสงฆ์ทั้งปวง
ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานความว่า

ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้ทราบไว้
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงทำประโยชน์ตนให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด
องค์พระพุทธเจ้าทรงบรรลุความเป็นผู้ไม่ประมาทที่สมบูรณ์ให้เป็นตัวอย่างแล้ว
..
..
ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงอุดมชีวิตอย่างพระพุทธเจ้าก็คือ
การที่ทรงทำประโยชน์ส่วนพระองค์
และประโยชน์ส่วนคนอื่นได้อย่างสมบูรณ์
จนไม่มีใครจะทำได้ทัดเทียมกับพระองค์

ในพระพุทธคุณ ๓ บทนั้นเอง พึงสังเกตว่า
•   พระปัญญาคุณ กับ
•   พระบริสุทธิคุณ
เป็นพระคุณส่วนพระองค์
หมายความว่า ปัญญาก็ดี ความบริสุทธิ์ก็ดี
ใครต้องการให้เกิดขึ้นในชีวิต ก็เป็นกระบวนการของกรรม
ที่ทุกคนจะต้องลงมือสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง

แต่ที่ต้องสร้างจริงๆ คือปัญญาอันเป็นเหมือนแสงสว่าง
ความบริสุทธิ์นั้นในแง่ของความจริงแล้ว
คือปราศจากอวิชชาความมืดนั่นเอง
สิ่งที่ขจัดความมืดคือแสงสว่าง
ความบริสุทธิ์จึงเป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญญา
อันเป็นลักษณะของเมื่อสว่างก็คือไม่มืด

สถานะทั้งสองนี้จะอยู่ร่วมกันจุดเดียวกันขณะเดียวกันไม่ได้
พระคุณส่วนนี้ท่านเรียกว่า อัตถคุณ หรือ อัตตสมบัติ
แปลว่าคุณส่วนพระองค์เอง หรือสมบัติส่วนของตนเอง

•   กรุณาคุณ
ในแง่ของความจริงแล้วเป็นอาการต่อเนื่องมาจากปัญญา
ความบริสุทธิ์จากการที่พระทัยบริสุทธิ์จากสรรพกิเลส
ที่สืบเนื่องมาจากอวิชชา

ทำให้โลกทรรศน์ของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์
อยู่ตรงข้ามกับชาวโลกทั่วไปที่มากไปด้วยอวิชชา
อันนำไปสู่การเบียดเบียนกัน
จึงเกิดขึ้นเปี่ยมล้นภายในพระทัยของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้หลาย
ที่พระบาลีเรียกว่า

•   กรุณามหณฺณโว
คือทรงกรุณาดุจท้องมหาสมุทร
ทรงสัมผัสโลกด้วยพระมหากรุณา
จนมีพระทัยเสมอกันหมดไม่ว่ากับใครก็ตาม
เพราะทรงมองคนสัตว์ด้วยกรุณาเพียงอย่างเดียว
ขนาดพระเทวทัตซึ่งทำตัวเป็นศัตรูกับพระพุทธเจ้ามาตลอดกาลยาวนาน
ก่อนจะตายยังประกาศแก่คนทั้งหลายว่า
พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อคนสัตว์ทั้งหลายเสมอกันหมด

โดยท่านยกตัวอย่างคนสัตว์ที่สร้างปัญหา
ให้แก่พระพุทธเจ้ากับพระราหุลพุทธิชิโนรส
เช่น นายขมังธนูที่ไปซุ่มเพื่อฆ่าพระพุทธเจ้า
โจรองคุลิมาลที่ไล่ล่าพระพุทธเจ้าเพื่อฆ่าตัดนิ้ว
ช้างนาฬาคิรีที่พระเทวทัตมอมเหล้ายามตกมัน
เพื่อให้มาฆ่าพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยกอปรด้วยพระมหากรุณาต่อคนสัตว์เหล่านั้น
และสรรพสัตว์ทั้งปวงเสมอกัน

ที่เราสามารถทำความเข้าใจได้
แม้ด้วยการคิดจากศีลข้อแรก
คือ เจตนางดเว้นจากการทำสิ่งมีชีวิตให้ตาย เท่านั้น

มีต่อค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 10, 2014, 12:29:44 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



สังคมไทยเรามีการเน้นย้ำเรื่องพระพุทธคุณด้วยนัยยะเป็นอันมาก
สมัยที่ยังเยาว์ท่านกำหนดเป็นคำกลอนสอนให้นำมาสวดสาธยาย
เพื่อสริมสร้างสำนึกเห็นพระคุณของพระองค์ เช่น

• องค์ใดพระสัมพุทธ์ สุวิสุทธิสันดาน
ตัดมูลกิเลสมาร บ่ มิหม่น มิหมองมัว

• หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว
ราคี บ่ พันพัว    สุวคนธกำจร

• องค์ใดประกอบด้วย   พระกรุณาดังสาคร
โปรดหมู่ประชากร มละโอฆกันดาร

• ชี้ทางบรรเทาทุกข์   และชี้สุขเกษมสานติ์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย

• พร้อมเบญจพิธจัก   เจิดจรัสวิมลใส
เห็นเหตุที่ใกล้ไกล ก็เจนจบประจักษ์จริง

• กำจัดน้ำใจหยาบ สันดานบาปทั้งชายหญิง
สัตว์โลกได้พึ่งพิง    มละบาปบำเพ็ญบุญ

• ข้าขอประณตน้อม ศิรเกล้าบังคมคุณ
สัมพุทธการุณ    ยะภาพนั้นนิรันดร

ในบททำวัตรเช้าสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
ท่านก็สรุปพระพุทธคณที่พรรณนาไว้ ๓ ประการไว้ว่า

พระพุทธเจ้าพระองค์ใดเป็นผู้หมดจดดีแล้ว
มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ
มีพระปัญญาหมดจดโดยส่วนเดียว
ทรงฆ่าบาปและอุปกิเลสแห่งโลก
ข้าพระพุทธเจ้าขอไหว้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นต้น

แม้พระพุทธเจ้าจะทรงสมบูรณ์ด้วยพระคุณมากอย่างไรก็ตาม
แต่พระคุณนั้นเป็นสิ่งสัมผัสส่วนพระองค์
แม้จะทรงกรุณาต่อสรรพสัตว์ไม่จำกัดว่าใครเป็นใคร
แต่การที่ชาวโลกจะได้รับประโยชน์จากพระองค์
ก็ต้องอาศัยการปรับสภาพจิตของตนให้เกิดความยอมรับนับถือ
ศรัทธา เชื่อฟัง และทำตามพระองค์เป็นฐานจิตที่สำคัญ

เพราะแม้จะทรงเป็นลักษณะแห่งความดี
ที่สะท้อนออกมาได้ทุกลักษณะ

เช่น การสอนในรูปแบบต่างๆ
การเคลื่อนไหวทุกอย่าง
ที่เป็นการสะท้อนพระคุณออกมาเป็นพุทธลีลา
ที่สามารถยึดถือเป็นแบบในการดำเนินชีวิต
ของคนที่ศรัทธาได้การครองชีวิตตลอดกาลยาวนาน
..
..
ไม่ว่าจะมองจากสมัยที่ทรงบำเพ็ญบารมีในภพชาติ
จากเรื่องชาดก การครองชีวิต โลกทรรศน์

การตัดสินใจเลือกสิ่งที่ทรงสัมผัส
ขณะที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนเสด็จออกผนวช
ขณะครองเพศเป็นนักบวช จนถึงการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ทรงดำเนินพระองค์ พุทธจริยา ๓ ประการ ดังกล่าวเป็นต้น
ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นคุณค่าของธรรมหรือพระพุทธคุณได้ตลอด

แต่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธจริยาจากพระมหากรุณา
คล้ายฝนหลั่งจากฟ้าเป็นสำคัญ
คุณลักษณะเหล่านี้ท่านสะท้อนออกมาเป็นคำกลอนว่า

อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
เป็นความดีสองชั้นพลันปลื้มใจ แด่ผู้ให้และผู้รับสมถวิล

เมื่อมองจากฝนที่กำลังตก
กับคนที่จะได้ประโยชน์จากการตกของฝน แบบถาวร ยั่งยืน
กลับไปอยู่ที่สถานะท่าทีของคนเหล่านั้นว่า
สถานะของเขาเป็นเสมือนภาชนะประเภทใดใน ๔ ประเภท คือ

•   ภาชนะที่คว่ำไว้
•   ภาชนะที่ก้นทะลุแม้จะหงายรับน้ำ
•   ภาชนะที่ไม่ทะลุจริงแต่กลับปิดฝาไว้
•   ภาชนะที่ไม่ทะลุเปิดฝารับน้ำฝนไว้เต็มที่

แม้จะมีภาชนะ ๔ ประเภทนี้ก็จริง
แต่ภาชนะที่รับน้ำเก็บไว้ได้
ได้รับประโยชน์จากน้ำนั้นตามความต้องการ
คงมีเพียงพวกเดียว คือ
ภาชนะที่ไม่ทะลุ เปิดฝารองรับน้ำไว้เท่านั้น

เรามีการพูดถึงใจคน ๒ ประเภทหลักว่า
ใจบอด หรือ ใจไม่บอด

หากใจบอดคือไม่เห็นอะไร
มีพระคุณของพระพุทธเจ้าเป็นต้น
เขาก็คงไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากพระรัตนตรัย
..
..
หมายเหตุ : บทความเรื่องนี้เขียนไว้เมื่อครั้งที่ พระธรรมเมธาภรณ์
ยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ)



(ที่มา :ศาสดา ใน “โลกและชีวิตในวิถีแห่งธรรม”
:พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ)
วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร รวบรวมและเรียบเรียง;

ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
จัดพิมพ์เพื่อแสดงมุทิตาจิตต่อพระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ)
ในวโรกาสที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพดิลก
เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
ครบ ๖ รอบนักษัตร ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒, หน้า ๑๖-๔๔)
-http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=21921&start=15