จตุธาตุววัฏฐาน ๔
สำหรับวันนี้ จะขอพูดเรื่องสมถภาวนาจนจบ คำว่าจบในที่นี้หมายความว่าจะเว้นอรูปฌานทั้ง ๔ เสีย เพราะถือว่าไม่มีความจำเป็น สำหรับวันนี้ก็จะพูดเรื่องจตุธาตุววัฏฐานสี่ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า ธาตุ ๔ สำหรับกรรมฐานบทนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา ไม่ใช่กรรมฐานภาวนา คำว่าภาวนาหมายความว่า จับคาถาบทใดบทหนึ่งเข้ามาภาวนาให้จิตทรงตัว
แต่ว่าสำหรับกรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา เป็นกรรมฐานที่เหมาะสำหรับท่านที่เป็นพุทธจริต คำว่าพุทธจริตเป็นอารมณ์รู้ หมายถึงว่าคนทุกคนก็มีด้วยกันทุกคน เวลาใดที่มีอารมณ์ปลอดโปร่งเห็นว่าโลกเป็นทุกข์ อัตภาพร่างกายมีสภาพเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงเป็นท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด เห็นว่าเป็นอนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้ เป็นทุกขังเป็นความทุกข์ อนัตตามันจะสลายตัว
ถ้าอารมณ์ของเราเกิดขึ้นอย่างนี้ เห็นว่าร่างกายไม่เป็นเรื่องเป็นราว มีความตายไปในที่สุด ชื่อว่าเวลานั้นอารมณ์จิตเราเป็นพุทธจริต เป็นจิตที่ตกอยู่ในความฉลาด
ฉะนั้นกรรมฐานบทหนึ่งในพุทธจริตที่เรายังไม่ได้พูดกันมาก็เหลือจตุธาตุววัฏฐานสี่ คือท่านให้พิจารณาว่า ร่างกายของเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ เอามาผสมกันเข้าเป็นเรือนร่าง แล้วก็มีอากาศธาตุ มีวิญญาณธาตุเข้ามาสิงรวมเป็นธาตุ ๖ ประการด้วยกัน เนื้อแท้เดิมจริงๆ มันมี ๔
ธาตุดินได้แก่ของที่แข็ง มีหนัง มีเนื้อ มีกระดูก เป็นต้น
ธาตุน้ำได้แก่น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น
ธาตุไฟได้แก่ความอบอุ่นในร่างกาย
ธาตุลมได้แก่การที่พัดไปมาในร่างกาย มีลมหายใจเป็นต้น
รวมความว่าร่างกายนี้ต้องมีธาตุ ๔ ประกอบกัน ทั้งธาตุแต่ละธาตุก็ต้องมีความแข็งแรงสม่ำเสมอกัน ร่างกายของเราจึงจะมีความสมบูรณ์พูนสุข อันการที่ร่างกายป่วยไข้ไม่สบายแสดงว่าธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งมันบกพร่อง มีการทรงตัวไม่เสมอกัน เหมือนกับเรามีโต๊ะ ๔ ขา แต่ขาหนึ่งมันหักหรือมันร่อยไปเสียก็แสดงว่าตั้งไม่สนิท ถ้ามันร่อยลงไป ๒ ขา ก็แสดงว่าเอียงลงไปแล้ว
แม้แต่ก้านกล้วยมันก็หนัก ร่างกายของเราก็เหมือนกัน มีความสมบูรณ์แข็งแรงปกติใช้งานได้สะดวก ก็ได้แก่ธาตุทรงตัวสม่ำเสมอกัน เมื่อธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งมีความทรุดโทรมเรียกว่าพอเสื่อมตัวลงไป ร่างกายก็ต้องแสดงถึงการทรุดโทรมให้ปรากฏ แล้วในที่สุดธาตุแต่ละธาตุทั้ง ๔ ธาตุนี้มันก็จะต้องสลายตัวไป
ถึงเวลาตายเราจึงว่าธาตุลมหายไป
ธาตุไฟหายไป เหลือ ๒ ธาตุ คือธาตุน้ำกับธาตุดิน
ในเมื่อมีดินกับน้ำ ไม่มีความอบอุ่นเข้าประคับประคอง น้ำก็ละลายดิน ดินก็เกิดอาการยุ่ย เกิดอาการอืดพองขึ้นมา หนังเปื่อยเนื้อเปื่อย เน่า ทว่าไม่เน่าเปล่ามีการส่งกลิ่นเหม็น แล้วก็ค่อยสลายตัวไปทีละน้อยละน้อย
ธาตุน้ำแห้งไป ธาตุดินก็ยุบตัวลงสลายไป
เป็นอันว่าร่างกายของเราประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความเสื่อมไปลดน้อยถอยลงไปทีละน้อยๆ เราจะเห็นว่าความเป็นเด็กเกิดขึ้น เรามีการเจริญขึ้นด้วยธาตุ จนถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวแสดงว่าธาตุ ๔ ประกอบสมบูรณ์
พออายุมากลงความสมบูรณ์กับเวลาที่เสื่อมลงไปยามแก่มาถึง สิ่งที่เข้าไปปรนเปรอไม่พอกับสิ่งที่เสื่อมสลายตัวไป ของที่เต็มอยู่มันก็พร่องคือว่าเนื้อหนัง เนื้อมันน้อยลงหนังก็เริ่มเหี่ยว ความเปล่งปลั่งไม่ปรากฏ มีการสลายตัวของธาตุดินมองเห็นชัด
..
..
แล้วในที่สุดธาตุดินก็สลายตัวทรงไม่ได้ กายทรงตัวอยู่ไม่ได้ นี่มันตาย มานั่งพิจารณาดู ร่างกายเราเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ขณะใดที่ธาตุทั้ง ๔ ไม่สามัคคีกันเมื่อไหร่ก็พังเมื่อนั้น
แล้วมาดูการพิจารณาดูธาตุ ๔ เพื่อประโยชน์อะไร พิจารณาเพื่อตัดความเมาในธาตุคือร่างกายเสีย ว่าเราจะไปนั่งเมามันในร่างกายของเราว่า มันจะทรงตัวนั้นมันไม่มี เราจะหาความผ่องใสในร่างกายตลอดกาลตอลดสมัยมันก็ไม่มี หาความแข็งแรงหาการคล่องตัวตลอดไปมันก็ไม่มี
เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้มันจะทรงตัวความแข็งแรงไม่เสมอกัน มันจะพร้อมเพรียงกันก็อยู่ชั่วขณะหนึ่ง สักวันหนึ่งปีหนึ่งอาจจะหลายครั้งที่มีธาตุบางอย่างกะพร่องกะแพร่งร่อยหรอไปเสื่อมตัวลงไป อาหารป่วยมันก็เกิด นี่มองเห็นสภาวะของธาตุมันไม่ดี มันไม่ทรงตัว
แล้วก็มองดูต่อไปด้วยว่าธาตุนี้มันเกิดมาแล้วมันไม่ทรงตัว ในที่สุดมันเป็นอย่างไร มันก็พังสลายตัวไปในที่สุด แล้วเราจะไปนั่งมัวเมาในธาตุเพื่อประโยชน์อะไร ธาตุ ๔ ไม่ทรงตัว ธาตุของเราไม่ทรงตัว ธาตุของบุคคลอื่นก็ไม่ทรงตัว การปรารถนาในการมีคู่ครองก็เพราะว่าเรามีโมหจริต คือ ความโง่ไม่ได้คิดถึงความเป็นจริง
เพราะการมีคู่ครองนี้สร้างความเป็นห่วงให้เกิดขึ้น มีอารมณ์ยึดถือให้เกิดขึ้น ความจริงเราปรารถนาจะเปลื้องความทุกข์ แต่การแสวงหาร่างกายของบุคคลอื่นๆ มาคู่กับร่างกายเรา หวังจะเป็นคู่ครองซึ่งกันและกัน มันไม่ใช่เปลื้องทุกข์มันเพิ่มทุกข์ ต้องรับภาระร่างกายของเราเองด้วย รับภาระร่างกายของบุคคลอื่นด้วย ทีแรกเราก็ทุกข์แต่ตัวเรา
เมื่อเอาบุคคลอื่นเข้ามาเราก็ทุกข์ เพื่อบุคคลอื่นอีกทุกข์เพราะอยู่เป็นคนคู่ไม่พอ ความโง่ยังสร้างต่อไป อยากจะมีลูก อยากจะมีลูกผู้หญิง อยากจะมีลูกผู้ชาย อยากจะมีหลาน นี่มันเป็นอาการของความโง่ไม่มีที่สิ้นสุด สร้างความห่วง สร้างอุปาทาน สร้างความยึดมั่นผูกพันในสิ่งที่ไม่ทรงตัว ฉะนั้นในความทุกข์ไม่มีถึงที่สุด หาที่จบก็ไม่ได้
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบรรลุอภิเสกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จพระประทีบแก้วเห็นโทษของการมัวเมาอยู่ในธาตุ ๔ มัวเมาในธาตุของตัวหรือว่าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วย คนเมาแต่ธาตุของตัวยังพอดี เรียกว่าทุกข์น้อย ถ้าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วยเรียกว่าทุกข์หนักขึ้นไป ถ้ายิ่งเมาอยากจะมีลูก เมาอยากจะมีหลาน เมาอยากจะมีเหลนก็ยิ่งหนักเข้าไปอีกเท่าตัว
พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ภาระหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งหาเป็นภาระอันหนัก แต่เพียงธาตุ ๔ ของเราประกอบเข้าเรียกว่าขันธํห้า เท่านี้ก็ปรนเปรอมันไม่ไหวอยู่แล้ว ไปเลี้ยงมันทั้งวันมันก็ไม่รู้จักอิ่ม มันก็ไม่รู้จักพอ ปรนเปรอมันตลอดกาลตลอดสมัย มันก็ไม่มีความหยุดยั้งในความต้องการ บำรุงร่างกายขนาดไหนก็ดีมันก็ไม่วายจะทรุดโทรม ประคับประคองเท่าไรก็ตามมันก็ไม่พ้น ที่จะตายไม่พ้นที่จะพัง นี้คือร่างกายของเราคนเดียว
พระพุทธเจ้าท่านก็บอกหนักแสนหนัก มันแบกจะไม่ไหวอยู่แล้ว ต้องไปแบกร่างกายของบุคคลอื่นเข้า เราจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาด มันเพิ่มทุกข์ แสดงว่าอารมณ์โง่มันเกิดขึ้น
การที่จะตัดความโง่ตัวนี้ได้ก็ต้องปลดร่างกายของคนอื่นทิ้ง แล้วก็หาทางมาปลดร่างกายของเรา มานั่งนึกดูว่าเราคนเดียวเราก็ยังแย่ หาที่สุดของความทุกข์ไม่ได้ ถ้าเราไปแบกเข้าอีกขันธ์ห้าหนึ่งก็หนักอีกเท่าตัว เพียงแต่ตัวของเราก็เอาชีวิตไม่รอด
เดิมทีเราถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ เวลาที่อายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุนี้แล้วความเสื่อมมันก็ปรากฏ องค์สมเด็จพระบรมสุคตบอกวางร่างกายของบุคคลอื่นเสียเป็นปัจจัยของความทุกข์ เห็นเรามาแบกแต่ร่างกายของเราแต่ผู้เดียว
..
..
เมื่อต้องมาแบกร่างกายของเราคนเดียวก็นั่งมองดูว่ามันหนักหรือมันเบา มันหนักไปด้วยภาระทั้งปวงต้องหาอาหารมาให้อิ่ม เวลานี้จะกินอย่างนี้ เวลาโน้นจะกินอย่างโน้น เวลานั้นต้องกินอย่างนั้น ความอยากของมันไม่สิ้นสุด
หนักเฉพาะการกินก็หนักแย่อยู่แล้ว เครื่องประดับประดาเครื่องแต่งตัวมันก็อยากจะได้ไอ้นั่น มันก็อยากได้ไอ้นี่ อาหารแต่ละชิ้น ผ้าแต่ละชิ้นที่จะได้ก็ได้มาด้วยความทุกข์ความเหนื่อยยาก เอามาหนักเท่านี้ก็ยังไม่พอ ประเดี๋ยวก็ป่วยโน่นประเดี๋ยวก็ป่วยนี่ ป่วยอย่างนั้น ป่วยอย่างนี้ ต้องรักษาพยาบาลมัน อาการป่วยก็เป็นทุกข์
การจะหาเงินมารักษาก็แสนจะทุกข์ แสนจะเหนื่อยยาก นั่นก็เป็นอาการของความทุกข์ของร่างกาย มันดีตรงไหน และถึงแม้จะประคับประคองประการใดก็ดี จะรักษาอย่างไรก็ดี บำรุงอย่างไรก็ดี ในที่สุดมันก็ตาย
ในเมื่อมันจะต้องตายแบบนี้ เราจะไปแบกมันทำไมต่อไป ถ้าเรายังจะต้องเกิดอีกเราก็แบกมันรูปนี้ตลอดไป เราเลิกแบกมันเสียดีกว่า โยนมันทิ้งไป การที่โยนมันทิ้งก็ไม่ได้หมายความว่า จะไปเชือดคอตาย ผูกคอตายโยนทิ้ง ไม่ใช่อย่างนั้น โยนมันออกไปเสียจากใจจะได้ไม่ต้องห่วงมันมากนัก ถือว่ามันเป็นที่อาศัยชั่วคราว
ขณะใดที่เรายังอาศัยมันอยู่ ก็ประคับประคองมันตามหน้าที่ ให้มีความรู้สึกว่านี่เราทำตามหน้าที่เท่านั้น เราไม่ได้รักมันเราไม่ได้ห่วงมัน ขณะที่เรายังอาศัยมันอยู่ ถ้ามันทรุดโทรมมากเกินไปแบบเดียวกับบ้านที่อาศัย ปล่อยให้หลังคารั่วปล่อยให้พื้นผุ
ผลที่สุดเราเองก็เป็นผู้ลำบากมากเกินไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าบ้านมันเก่าอยู่ทุกวัน หลังคารั่วพอฝนมันรั่วแดดส่อง หาอะไรมาปกปิดกันความร้อนชั่วขณะ พื้นมันผุก็หาสิ่งของเท่าที่จะซ่อมแซมได้มาซ่อมแซมมัน ประคับประคองมันไว้ แต่ว่าไม่ได้รักมัน
กำหนดจิตว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากกันเมื่อไร เราก็จะไม่ห่วงใยขันธ์ห้านี้เป็นอันขาดและเราก็ไม่ต้องการมันอีก เพราะเราไปพบมันอีกเมื่อไรก็จะพบกับความทุกข์แบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
วิธีที่เราไม่ต้องการจะพบมันก็พิจารณาสักกายทิฏฐิ พิจารณาว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา ธาตุ ๔ มันเป็นเรือนร่างที่เราอาศัยชั่วคราว เราไม่เห็นว่ามันสวยที่ไหน ไม่เห็นว่ามันดีที่ไหน มันเต็มไปด้วยความทุกข์
ขึ้นชื่อว่าธาตุแบบนี้เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการธาตุ ๔ เป็นเรือนร่างต่อไป ขึ้นชื่อว่าความเกิดที่มีธาตุ ๔ ไม่มีสำหรับเรา
และแล้วต้องหาทางอ้อมต่อไปว่า ถ้าเราจะไม่ต้องมาเกิดจะทำอย่างไร
อันดับแรกเราต้องตัดโลภะความโลภ โดยการให้ทาน อย่างนี้ต้องมีอารมณ์เป็นปกติ ไม่ใช่จะมานึกว่าจะไม่เกิด จะไม่เกิด มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราต้องตัดมัจฉริยะ ความตระหนี่ ตัดโลภะความโลภ อย่าให้มันข้องอยู่ในใจ อย่าทะเยอทะยานเกินไปจะมีความผูกพันในทรัพย์สินเกินไป ตายแล้วไม่มีใครเอาไปได้ เมื่อตัดความโลภ โดยการให้ทานโดยการบริจาค จิตจะได้มีความเบา
เราต้องตัดโทสะ ความโกรธ โดยการทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ เราต้องตัดตัวยึดถือ คืออุปาทานในขันธ์ห้าเสีย ได้แก่การพิจารณาพบความจริงของร่างกายว่ามันเป็นทุกข์ ความผูกพันมันจึงจะไม่มี
นี่ถ้าเราพิจารณาแบบนี้ชื่อว่าพิจารณาทั้งด้านสมถะและวิปัสสนาร่วมกัน สมถภาวนาจำจะต้องมีอยู่เสมอ แต่สมถะจะทรงตัวได้ต้องอาศัยวิปัสสนาญาณประคับประคอง วิปัสสนาญาณจะติดอยู่กับจิตใจของเราได้ตลอดกาลตลอดสมัยก็ต้องมีสมถะเป็นเครื่องสนับสนุน ทั้ง ๒ อย่างนี้แยกกันไม่ออก ถ้าแยกกันเหลือส่วนใดส่วนหนึ่ง เราก็ซวยเต็มที เพราะความดีมันจะไม่ทรงตัว
..
..
การพิจารณาธาตุ ๔ เราควรจะเห็นว่าถ้าเราพิจารณาแล้วก็ควรจะน้อมเข้าไปสู่อสุภกรรมฐานในตัวด้วย เพราะธาตุ ๔ นอกจากมันจะไม่ทรงตัวเป็นปกติ ยังมีความไม่เที่ยงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์มีการสลายตัวไปในที่สุด และยังเต็มไปด้วยความสกปรกโสมมอีกด้วย เป็นของน่าเกลียดของโสโครก นี่มองกรรมฐานจุดใดจุดหนึ่งแล้วอ้อมลงไปหาจุดจบเพื่อเป็นการทำลายจิตที่ผูกพันไว้ได้ ฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานจึงจำเป็นจะต้องรู้กรรมฐานหมดทั้ง ๔๐ อย่าง ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องศึกษาให้ครบแล้วก็รู้จักวิธีใช้พร้อมๆ กันไป จิตใจก็ควรจะตัดอุปาทานขันธ์ห้าได้ ตอนนี้ก็จบเพียงเท่านี้
ต่อไปสำหรับท่านที่ปรารถนาจะเจริญพระกรรมฐานเพื่อฝึกทิพจักขุญาณ โดยใช้บทภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ บทนี้สำคัญมากถ้าใช้เป็นทิพจักขุญาณจะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ ในตอนต้นก็ขอให้ทุกท่านให้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยเสียก่อน
การพิจารณาในสมถะบทใดก็ตามนั้นและวิปัสสนาญาณก็ดีเป็นของดีมากถ้ายังทรงจิตอยู่ได้ จิตไม่วอกแวกไม่คลาดเคลื่อนไปให้พิจารณาไปเสมอๆ จะเป็นการตัด ถ้าเราเจริญกรรมฐานเราต้องการตัดกิเลสจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ถ้าตัดได้ตัดให้มันหมดไป
เมื่อเห็นว่าพิจารณาจิตมันจะซ่านเกินไปก็จับคำภาวนา รักษาอารมณ์ให้ทรงตัว ในอันดับแรกเราเคยภาวนาว่าอย่างไรให้ทรงตัว ก็ภาวนาอย่างนั้นเสียก่อนจนกว่าจิตจะสบายถึงที่สุด
เมื่อมีความอิ่มของจิตดีเรียบร้อยแล้ว จิตเรียบเป็นระเบียบดีจึงจับคำว่า นะ มะ พะ ทะ ภาวนาต่อไปแทน แต่เมื่อภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ ไม่ใช่จะอยากเห็นโน่น อยากเห็นนี่ อยากให้ปรากฏความสว่าง ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีผล ให้รักษาอารมณ์ตน
โดยเฉพาะ ใช้คำภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว จะมืดจะสว่างอย่างไรก็ช่าง อะไรจะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ช่าง ไม่สนใจ สนใจรักษาคำว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว พอจิตเป็นสมาธิทรงตัวดีแล้ว ถึงขั้นอุปจารสมาธิอารมณ์จิตจะสว่างไสว หลับตาจะมีความรู้สึกเหมือนว่าเรานั่งอยู่ในเวลากลางวัน มันมีความสว่างทั่วตัว
ถ้าบังเอิญจิตเป็นทิพจักขุญาณเห็นภาพใดๆ ตามที่เราต้องการ จะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ เห็นชัดแม้แต่ผมแต่หนวดเส้นเล็กๆ ก็สามารถจะมองเห็นได้ คุณประโยชน์ของการเจริญกรรมฐานกองนี้ก็เพื่อว่าจะได้ทรงวิชชาสาม สามารถค้นคว้าพิจารณาหาความจริงในหลักเกณฑ์ของพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง
ต่อจากนี้ไปขอให้บรรดาภิกษุสามเณร พุทธบริษัทชายหญิงพากันตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาต่อไป จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
ที่มา หนังสือ กรรมฐาน 40 ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ