ผู้เขียน หัวข้อ: ธาตุบรรพ จาก หนังสือ ธรรมะปกิณกะ ๒  (อ่าน 2385 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ธาตุบรรพ
จาก หนังสือ ธรรมะปกิณกะ ๒

ข้อที่ว่าด้วยธาตุ  ๔   ในมหาสติปัฏฐานนี่ท่านเรียกว่า    ธาตุบรรพ   หมายความว่า  ฉบับที่ประกอบไปด้วยธาตุ  ๔  ถ้าหากว่า   เราเรียกตามวิสุทธิมรรค  ก็เรียกว่า   จตุธาตุฐาน  นี่เป็นอันว่าในมหาสติปัฏฐานสูตรก็ดี  หรือว่าในวิสุทธิมรรคก็ดี   พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแตกต่างกัน  เว้นไว้แต่ว่าความรู้ในวิสุทธิมรรคพระพุทธเจ้าสอนจนจบ  มี  ๔  แบบ  คือว่า  สุกขวิปัสสโก  เตวิชโช  ฉฬภิญโญ  ปฏิสัมภิทัปปัตโต  บอกว่า  ในมหาสติปัฏฐานสูตรพระพุทธเจ้าสอนเฉาพะสุกขวิปัสสโก   ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะใช้การพิจารณาตามแบบจตุธาตุฐาน  ๔  การเจริญพระกรรมฐานนี้   ถ้าจะเจริญได้ดี  ไม่ต้องเปิดหนังสือ  เอาหนังสือวางไว้  ไม่ใช่เวลาเปิดหนังสือ   เวลานี้เป็นเวลาจำ  การเจริญพระกรรมฐาน  แบบในวิสุทธิมรรคก็ดี  ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็ดี   เราอย่าทิ้งต้นไม่ได้   นี่หมายถึงการปฏิบัติ   เพื่อบรรลุมรรคผล

อย่างในตอนต้นพระพุทธเจ้าสอนให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก   หรือว่าอานาปานุสสติกรรมฐาน   ก่อนที่เราจะใช้อารมณ์พิจารณาในจตุธาตุฐาน  ๔  ก็ดี  ในปฏิกูลบรรพที่เราเรียนแล้วก็ดี   หรือว่าในอริยาบทก็ดี   อันดับแรกเราใช้อานาปานุสสติกรรมฐานควบคุมให้อยู่ในอารมณ์สมาธิเสียก่อน   อันว่าอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานพื้นฐานใหญ่  ถ้าเราทรงกำลังใจเป็นสมาธิแล้ว  จิตเป็นสมาธิ   สบายมีอารมณ์เยือกเย็น  เป็นอุเบกขารมณ์ในระยะนั้นเราก็ใช้อารมณ์จิตมาพิจารณาในปฏิกูลบรรพ   หรือว่าจตุธาตุววัฏฐาน  ๔  ผลมันจึงจะเกิดเพราะการพิจารณานี้    เราใช้จิตที่เคลื่อนอยู่ตลอดเวลา  การใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน  เป็นการใช้อารมณ์ให้ทรงอยู่  การใช้อารมณ์  อารมณ์ทรงอยู่ก็ดีจิตเป็นอุเบกขาก็ดี

   เอาอารมณ์เป็นสมาธิมาพิจารณาปฏิกูลบรรพ  ในอาการ  ๓๒  หรือว่าจตุธาตุฐาน    ถ้าพิจารณาไปแล้ว  ปรากฏว่าจิตเคลื่อนออกไป  มีอารมณ์นอกเข้ามาแทรก   อย่างนี้แสดงว่าจิต เราพลาดจากสมาธิ  เมื่ออาการฟุ้งซ่านเกิดขึ้น   ให้ทิ้งอารมณ์พิจารณาเสีย   กลับมาจับลมหายใจเข้าออกใหม่   เพื่อทำจิตให้เป็นสมาธิ   เมื่อจิตทรงอารมณ์เป็นสมาธิดีแล้ว  จิตมีอาการทรงตัวดีแล้ว  จึงค่อยไปพิจารณาใหม่   การกระทำแบบนี้สลับกันไปสลับกันมา   ปัญญาจะเกิดและปัญญาจะมีกำลังกล้า   สามารถตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน

       คำว่าสมุจเฉทปหาน  หมายความว่า   ฆ่าให้ตายไปเลย    ไม่ให้กลับพื้นขึ้นมา   การปฏิบัติพระกรรมฐานถ้าจะให้ได้ดี   นี่เขาทำกันแบบนี้    คือไม่ใช่ว่าเราจะตั้งหน้าตั้งตาทรงแต่สมาธิอย่างเดียว   ถ้าเรามีความประสงค์ในการทรงสมาธิอย่างเดียว   ผลที่พึงได้ก็คือฌานโลกีย์   และปรากฏว่าเป็นฌานที่ง่อนแง่นคลอนแคลน   ทำลายตัวเองได้ง่าย   ฌานไม่ทรงอยู่ได้นาน   ถ้าหากว่าเรา จะใช้แต่ปัญญาพิจารณาขันธ์  ๕  อย่างเดียว    หรือส่วนใดส่วนหนึ่งอย่างเดียว  โดยไม่ใช้อารมณ์สมาธิควบคุม   มันก็ทำไม่ได้เหมือนกัน   ที่ว่าไม่มีผล  ฉะนั้น  พระกรรมฐานทั้ง  ๒  ประการ  คือสมถกรรมฐาน  และวิปัสสนากรรมฐาน   เราจะแยกกันไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสมถกรรมฐาน  มีทั้งอารมณ์ดับและอารมณ์ทรงฌาน   และมีอารมณ์พิจารณาอย่างที่พูดว่า   เรื่องอาการ  ๓๒  ที่เรียกว่าปฏิกูลบรรพนั่นเป็นอารมณ์พิจารณา  หรือว่าที่จะพูดในวันนี้ก็เป็นธาตุ  ๔   ก็เป็นอารมณ์พิจารณาเหมือนกัน     จงอย่าลืมว่าการเจริญพระกรรมฐานที่พระทุกองค์หรือว่าท่านทุกท่านที่ปฏิบัติได้ตรง     ก็ต้องพยายามสลับกันไปสลับกันมา   ระหว่างอารมณ์สมาธิ   ความตั้งใจกับการพิจารณา

ต่อจากนี้ไปก็จะขอพูดถึงมหาสติปัฏฐานข้อต่อไป  คือ  ธาตุบรรพ  คำว่า  ธาตุบรรพ  หมายถึง  ฉบับว่าเฉพาะ  คือธาตุ  ๔   ถ้าฝ่ายวิสุทธิมรรคมีแต่จตุธาตุฐานนี่ต้องทราบเหมือนกัน   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   จตุธาตุฐานนี้องค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสไว้เฉพาะพวกพุทธจริต  คือเป็นอามรณ์ของคนฉลาด     เมื่อวานนี้เราพูดกันถึงอาการ  ๓๒  เป็นเรื่องของการระงับราคะจริต   วันนี้เป็นกรรมฐานที่ส่งเสริมจริตของคนฉลาด   แต่ว่าในมหาสติปัฏฐานสูตร เขาจัดไว้เป็นแบบนั้น    ท่านกล่าวไว้โดยลำดับ    ฉะนั้น  เมื่อเราพิจารณากรรมฐานในอาการ  ๓๒  ที่เรียกว่า  ปฏิกูลบรรพ   เห็นว่าร่างกายของเราเต็มไปด้วยความสกปรกร่างกายของบุคคลอื่นก็เหมือนกัน   วัตถุธาตุอื่น ๆ  ก็เหมือนกัน    นี่เราจะกล่าวว่ามีความสะอาดนั้นมีอะไรที่จะสะอาด   ความจริงของทุกสิ่งในโลกเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม    หาอะไรเป็นของสะอาดจริง ๆ ไม่ได้   ที่เราคิดว่าสะอาดก็เพราะว่าเราหลอกตัวเอง   นี่เราใช้ปัญญาของเรา  โกหกตัวเรา   เพราะว่ามันไม่สะอาด   เราก็ไปแต่งตั้งยกยอปอปั้นว่าสะอาด  แต่ความจริงมันคงความสกปรก  เป็นปกติ  มันไม่กลัวเรา   มันไม่เชื่อฟังคำสั่งเรา

วันนี้จะกล่าวถึงจตุธาตุฐาน   พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า   ร่างกายของคนและสัตว์ที่มีร่างกายขึ้นมาได้ก็อาศัยธาตุ  ๔  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ   อันการที่ปรากฏว่ามีความแข็งในร่างกาย  เป็นเนื้อก็ดี  อันนี้พระพุทธเจ้าเรียกว่า  ธาตุดิน  ความอบอุ่นในร่างกายจัดเป็นไฟ    อาการพัดไปมาในร่างกายมีลมหายใจ  เป็นต้นเรียกว่า  ธาตุลม  ของเหลวที่ปรากฏในร่างกายมีน้ำลาย  น้ำเลือด  น้ำเหลือง  น้ำหนอง  ปัสสาวะ  เหล่านี้เป็นธาตุน้ำ    นี้ร่างกายของคนและสัตว์ประกอบไปด้วยธาตุ  ๔  เข้ามาประชุมกันชั่วคราว   ธาตุ  ๔  นี้ในมหาสติปัฏฐานสูตรท่านเปรียบเทียบไว้ว่า    คล้าย ๆ  กับคนฆ่าโคหรือฆ่ากระบือ  เวลาที่เขาฆ่าโค   ฆ่ากระเบือแล้ว   เขาเอาเนื้อไปวางไว้ส่วนหนึ่ง  เอาหนังไปวางไว้ส่วนหนึ่ง   เอากระดูกไปวางไว้ส่วนหนึ่ง  ตับ  ไต  ไส้  ปอด  ไปวางไว้ส่วนหนึ่ง  ส่วนทั้งหลายเหล่านี้ประกอบกันเรียกว่าธาตุดิน    ส่วนที่หลั่งไหลออกไปมีน้ำเป็นต้น   น้ำเลือด  น้ำหนอง  เรียกว่าธาตุน้ำ   การแยกแบบนี้ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าแยกธาตุของกาย   ความจริงไม่ใช่ให้แยก   ให้รู้ตามความเป็นจริง   ว่าร่างกายเรา   ประกอบด้วยธาตุ  ๔

  ให้รู้ตามความเป็นจริง มีประโยชน์อย่างไร
   สำหรับนักเจริญพระกรรมฐาน   เรามานั่งหาประโยชน์ ประโยชน์ที่พึงจะได้  คือ พระพุทธเจ้าให้สร้างความฉลาดขึ้นมาในใจ    และยอมรับนับถือกฎของความจริง   เพราะพวกเราทั้งหมด  เกิดมาในคราวแรกเราแบกความฉลาดมาพอ ฉลาดแบบไหนล่ะ   เขาต้องฉลาดแบบอบายภูมิ   เรามานั่งคิดดูว่า   ร่างกายของเรานี่มันจะไม่แก่    มันยังหนุ่มอยู่    เราเกิดมาแล้วเราไม่เคยคิดว่าร่างกายของเราจะแก่    เวลายามปกติเราไม่เคยคิดว่าร่างกายของเราจะป่วย    ทั้ง ๆ  ที่เคยป่วยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน     พอร่างกายสมบูรณ์   บริบูรณ์ขึ้นมาปราศจากโรคได้ไม่นาน   เราก็ลืมอาการป่วยของร่างกาย  แล้วเห็นชาวบ้านเขาตายกันได้     แต่เราไม่เคยคิดว่าเราจะตาย    นี่เราแบกเอาความฉลาดจากอบายภูมิเข้าไว้    ไอ้ความฉลาดแบบนี้นี่นะ   ที่เขาพากันไปเกิดในนรก   เพราะเขาฉลาดแบบนี้   ถ้าหากว่าเราสามารถจะทำบุพเพนิวาสานุสสติญาณให้เกิดขึ้นกับใจ   ถามตัวเองว่าเคยลงนรกไหม    น่ากลัวจะจดไม่ไหว    ที่จดไม่ไหวก็เพราะเราเป็นคนประมาท    เราไม่ยอมรับนับถือความเป็นจริงของขันธ์  ๕  ที่เรียกว่าร่างกาย

ร่างกายนี่พระพุทธเจ้าตรัสว่า    ประกอบขึ้นมาด้วยธาตุ  ๔  คือ  ธาตุน้ำ  ธาตุดิน  ธาตุลม  ธาตุไฟ    ว่ากันถึงธาตุใหญ่ ๆ  ที่เราเรียกกันว่า  มหาภูตรูป  ถ้าจะว่ากันถึง   อุปทานรูปมีเยอะแยะ   พูดแล้วก็กลุ้มใจเปล่า ๆ   ไอ้ธาตุ  ๔  ที่มันประกอบเป็นกายนี้   มันทรงตัวอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยรึเปล่า   ว่าธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม   ธาตุไฟ    ที่มันแบ่งร่างกายเราอยู่นี่เรามานั่งนึกหาความจริงกัน   เราพูดแบบนี้นะ   บอกให้ท่านทราบว่าพระพุทธเจ้าท่านรู้แล้วร่างกายไม่ทรงสภาพไม่ตรงตามความเป็นจริง   คือมันไม่มีการทรงตัว   ความจริงคือความเกิดขึ้นในเบื้องต้น   ความเสื่อมย่อมมีอยู่ทุกขณะ   แล้วในที่สุดมันก็สลายตัว   ความเกิดขึ้นในเบื้องต้นของเราและของคนอื่น   แต่ว่า   ความเกิดของเราเรามองไม่เห็นตามความเป็นจริงคือมันไม่มีการทรงตัว   พูดกันง่าย ๆ ว่าเรามีความโง่เป็นปัจจัย

พระพุทธเจ้าก็บอกว่า   เราเกิดกันมานานแล้ว   เรามาเลิกโง่กันเสียทีได้ไหม  มานั่งดูตัวเรามานั่งคิดว่าเราเกิดมาใหม่ ๆ  มีสภาพเป็นอย่างไร  แล้วเวลานี้เราอายุเท่าไหร่   ร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน   แล้วต่อไปเราคิดบ้างไหมว่า   ร่างกายเราจะพัง  นี่ท่านสอนเรื่องธาตุ  ๔  เพื่อให้เข้าใจ   ก็เพราะว่าธาตุ  ๔   นี่ขณะถ้ามันยังสามัคคีกันอยู่  ธาตุน้ำ  ธาตุดิน  ธาตุลม  ธาตุไฟ     ถ้ามันยังสามัคคีอยู่กันเพียงใด      เราก็สามารถทรงกายในความเป็นคนในความเป็นสัตว์ได้สมบูรณ์บริบูรณ์        ธาตุ  ๔  อย่างใดอย่างหนึ่งมันเกิดย่อหย่อนความสามัคคี   สมมติว่าธาตุดินก็ดี  ธาตุน้ำก็ดี  ธาตุลมก็ดี   ไม่สามัคคีกลมเกลียวกัน   แต่ว่าธาตุไฟหย่อนกำลังลงไป   ความอบอุ่นในร่างกายมีน้อย   คราวนี้ทำอย่างไรล่ะ

   ร่างกายที่เคยแข็งแรงก็ลดกำลังลง   เคยต่อสู้กับความหนาวได้   ความเย็นได้   มันก็เริ่มจะทนไม่ไหว  กลายเป็นคนขี้หนาว    เมื่อธาตุ  ๔  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหย่อนกำลังลงแล้ว    ร่างกายก้เริ่มทุพพลภาพกลายเป็นร่างกายที่หาความดี   หาความสุขสมบูรณ์ไม่ได้      นี่มันแค่หย่อนลงไปนะ    นี้ต่อมาถ้าบังเอิญธาตุ  ๔  มันเกิดไม่สามัคคีเสียเลยสักธาตุหนึ่ง      สมมติว่าร่างกายเรามีธาตุอยู่  ๔  ธาตุ    ถ้าหากว่าธาตุลมมันไม่ทำงาน   เสียงอย่างเดียว  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ   แกเก่งแกก็เชิญอยู่ซิ   ฉันธาตุลมฉันไม่เอากับแก   ลมที่ร่างกายไม่พัด   ลมหายใจไม่ปรากฏ  จะไปไหน  ถ้าธาตุน้ำ  ธาตุดิน  ธาตุไฟ   มันยังทำงานบ้าง  ไม่ทำงานบ้าง  แต่ธาตุลมทำงานปกติยังไม่ตาย  ยังไม่เป็นผี  ถ้าธาตุลมไม่ทำงานเสียอย่างเดียวละก้อเป็นผี

นี่องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงแนะนำว่า   ไอ้ธาตุทั้งหลายนี่นะ   กฎธรรมดาของมันมีอยู่       คำว่าธรรมดานี่เป็นสิ่งที่เราผืนไม่ได้เหมือนกับประเพณี     ประเพณีของพระเณรทางเหนือ   สมัยก่อนโน้นเขาฉันข้าวตอนเวลาเย็นกันได้   ถ้าพระภาคกลาง  ภาคใต้  ทำไม่ได้เพราะยอมรับนับถือพระธรรมวินัย   การจัดสรรให้พระเณรฝ่ายเหนือสมัยก่อนนั้น   สมัยนี้อาจหมดไปแล้ว   เข้าไปห้ามปรามไม่ให้ฉันข้าว   ชาวบ้านก็โกรธ    เพราะว่าของเขาเคยปฏิบัติกันแบบนั้นมานาน   เขาถือว่าไม่เป็นไร    หากว่าใครไปฝืนเข้าอันตรายจะพึงมี     อย่างนี้พระแก้กันมานาน    เวลานี้หมดหรือไม่หมดก็ไม่ทราบ    รวมความว่า    ประเพณีนี่เราต้องแก้ได้ยากฉันใด    แต่ว่าธรรมดานี่ยิ่งแก้ไม่ได้ใหญ่เลย     ประเพณีนี่เราอาจจะหาหนทางแก้ได้     แก้ทีละน้อย ๆ มาเข้าระบบเสมอกัน    แต่ว่ากฎธรรมดาไม่มีใครแก้ได้

    แม้แต่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า    พระองค์ก็ไม่กล้าแก้   เพราะแก้ไม่ได้  ถ้าหากว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าจัดว่าเป็นอัจฉริยะ   เป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดในโลกทั้ง  ๓  มนุษย์โลก  เทวโลก  พรหมโลก    ไม่มีใครเสมอพระองค์   หากว่าพระองค์แก้ธรรมดาได้ละก้อ   พระองค์ไม่แก่   การป่วยไข้ไม่สบายของพระองค์  ก็ไม่มี     ในที่สุดร่างกายของพระองค์ก็ไม่พัง    นี่เป็นอันว่ากฎธรรมดา     แม้แต่พระพุทธเจ้าเองเป็นอัจฉริยมนุษย์    ก็ไม่สามารถจะแก้ได้ฉันใด    มาพวกเราคนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส    พูดอย่างนี้ผิดหรือถูกก็ไม่รู้นะ     คนที่มานั่งอยู่นี่บางทีเขาไม่มีกิเลส    ถ้าใครไม่มีกิเลสของอภัยด้วยนะ   พวกเรานี่หนาแน่นไปด้วยกิเลส  กิเลสน้อยก็ตาม   หนาแน่นก็ตาม   ปรากฏอยู่เพียงใดก็ชื่อว่าเป็นคนมีกิเลส   เมื่อเรายังมีกิเลสอยู่   เรายังเป็นทาสกิเลส  ตัณหา  อุปทาน   และอกุศลกรรม   เราจะไปบังคับกฎธรรมดาให้มันอยู่ใต้อำนาจของเราได้อย่างไร    นี่เราทำไม่ได้

การที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำแล้วว่า     ร่างกายนี่ประกอบด้วยธาตุ  ๔   เท่านั้น  ธาตุ  ๔  นี่มีอันที่ต้องสลายตัวไป     มันทรงอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยไม่ได้     แล้วก็สอนว่าเราจะหลงร่างกายเพื่ออะไร     ความจริงร่างกายเรานี่ไม่แก่หรือ    ถ้าจริงมันทรงความแข็งจริงแต่ว่าแข็งไม่นาน   พออายุผ่านไปมากเข้า  มากเข้า  ก็ชักจะเริ่มไม่สะดวก   ธาตุน้ำในร่างกายมีความอุดมสมบูรณ์ทำให้ร่างกายชุ่มชื่น    อวัยวะภายในร่างกายเครื่องจักรกลทั้งหลาย   อ่อนกำลังลง   ธาตุน้ำก็น้อยลง  เรื่องธาตุไฟ  ธาตุลมก็เหมือนกัน   ธาตุลมนี่น่ากลัว   จะคุยนานหน่อยเพราะเป็นธาตุตัวใหญ่  อย่าลืมว่า   เมื่อธาตุทั้ง  ๔  มีการประชุมกันได้   ก็มีการสลายตัวได้    พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ว่าร่างกายมีธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ   เพื่อให้บรรดาพวกเราทั้งหลายไม่เมาในร่างกาย   เราจะไปคิดว่าร่างกายของเราวิเศษ

เราก็นั่งนึกดูดินซิ  ดินน่ะ   เราเห็นว่ามันวิเศษแค่ไหน   เดินเหยียบเสียก็ได้   ถ่ายอุจจาระ  ปัสสาวะ  รดเสียก็ได้    เป็นอันว่าธาตุดินมีสภาพสกปรกอยู่ตลอดเวลา    สกปรกอย่างเดียวไม่พอ   ก็มีการเสื่อมตัวด้วย   ธาตุน้ำก็เหมือนกัน   ธาตุน้ำก็มีสภาวะ  เต็มไปด้วยความสกปรก   และก็มีการสลายตัวเสื่อมตัวเป็นปกติ   ถ้าเราถามกันว่า  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ  ที่เกิดเป็นร่างกายของเรานี่   มันมาเกิดได้อย่างไร   ถ้าเราจะตอบว่าอาศัยปัจจัยสำคัญคือบิดาและมารดาเป็นผู้ให้เกิด   อย่างนี้ผมก็ไม่ปฏิเสธ     แต่ความจริงบิดาและมารดาทั้ง  ๒  ท่าน เป็นผู้ให้เกิดจริง ๆ ไม่ได้   เพราะว่าสัตว์ไม่ปฏิสนธิลงสู่ครรภ์มารดา   ท่านจะทำยังไงมันก็ไม่เกิด   ถ้าบิดามารดาเป็นผู้บังคับให้เกิดได้    ถ้าบางคนอยากได้ลูกหญิง   บางคนอยากได้ลูกชายคนที่ไม่มีลูกเลยอยากได้ลูก  บิดา  มารดา  บันดาลให้เกิดได้    เขาก็ต้องมีลูกสมความปรารถนาเป็นผู้หญิงก็ได้  เป็นชายก็ได้   ความปรารถนามันไม่สมหวัง  ก็ชื่อว่า   การเกิดของเราก็ต้องอาศัยปัจจัยอันหนึ่ง   คือวิญญาณและจิตของเด็กเข้ามาปฏิสนธิ  ในครรภ์มารดา

การที่จิตจะเข้ามาปฏิสนธิในครรภ์มารดา   มาเพื่อประโยชน์อะไร   ใครเป็นคนให้มานี่เราจะมาแบบนี้นี่   ความจริงเราไม่ได้มาหาความสุข   เรามาหาความทุกข์กัน  ความเกิดเป็นปัจจัยของความทุกข์แต่แล้วมันต้องมีหิว   มีกระหาย  มีหนาว  มีร้อน   มีความเหน็ดเหนื่อย   มีความขัดข้อง  ไปด้วยอารมณ์ต่าง ๆ  เกิดมาแล้วเมื่อมีความทุกข์แบบนี้    ทำไมเราจึงต้องเกิด   เดินถอยหลังเข้าไปหาเจ้านายตัวที่บันดาลให้เกิด    เจ้านายที่บันดาลให้เกิด  คือกิเลส   ความเศร้าหมองของจิต    รวมความว่าการที่เรามีอารมณ์จิตเลวนั่นเอง     สร้างให้เกิดตัณหา   ความทะยานอยาก   คิดว่าความเกิดเป็นของดี    เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วคิดว่ามันจะทรงตัว  ทรัพย์สินที่เรามีก็คิดว่านั่นเป็นเราเป็นของเรา     เราคิดว่าเราจะไม่พลัดพรากจากมัน   แต่เวลาตายเข้าแล้วอารมณ์อุปทาน    อารมณ์ของการยึดมั่นมีอยู่ว่านั่นก็ของกู    นี่ก็ของกู   ไอ้ตัวนี้แหละมันเป็นเจ้านายบันดาลให้มาเกิด   เพราะว่าเราโง่เกินไปยอมเป็นทาสของมัน   รวมความว่าการที่เราจะมาเกิดได้   นี่ก็เพราะว่าเราไม่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดามาก่อน    แล้วก็ยึดกฎของโลกทั้งหลาย   ว่านั่นเป็นเรา  นี่เป็นของเรา

ฉะนั้นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงสอนในตอนท้ายว่า      ความจริงมหาสติปัฏฐานนี่พระพุทธเจ้าสอนทั้งสมถะและวิปัสสนา    การพิจารณาเห็นว่าร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ  ๔  เข้ามาประชุมกันเป็นของที่ไม่คงทนถาวร    นี่เป็นสมถภาวนา    ถ้าเราเดินไปไหนก็ตั้งอารมณ์ใจไว้ว่า    ร่างกายเราเป็นธาตุ  ๔  นึกเข้าไว้  เห็นคน  เห็นสัตว์  ก็นึกว่านี่ดินมันเดินมาแล้ว    ไฟมันเดินมา   ลมมันเดินมา   น้ำมันเดินมา    อย่าไปคิดว่าเป็นคน  เป็นสัตว์  เป็นบุคคล  เป็นตัวเรา  เป็นเขา   พอมันเกิดขึ้นแล้วทำยังไงล่ะ   ตกอยู่ในอำนาจของธรรมดาซิ    ธรรมดาก็บั่นทอนความสุข   เกิดมาแล้วสร้างความหิว   สร้างความกระหาย  สร้างความหนาว  สร้างความร้อน   สร้างความป่วยไข้ไม่สบาย    สร้างความแก่เฒ่า   สร้างการพลัดพรากจากของรัก  ของชอบใจ  ทำลายตัวเอง    มาตอนท้ายพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า

   ท่านทั้งหลาย   เมื่อพิจารณารู้ว่าร่างกายของเรามีธาตุ  ๔  ประชุมกัน       เธอทั้งหลายจงคิดว่าร่างกายเป็นเพียงสิ่งสักแต่ว่าเราพึงเห็นเท่านั้น    ร่างกายนี้เราจึงสักแต่ว่าเรากำหนดรู้เท่านั้น  จงอย่ายึดถือว่าร่างกายนี้เป็นเรา   เป็นของเรา  ให้ทราบว่า  ร่างกายก็ดี  หรือทรัพย์สินทั้งหลายในโลกทั้งหมดก็ดี   ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของเรา   ท่านว่าอย่างนั้น   ท่านพูดอย่างนี้   ว่าจงอย่ายึดถืออะไรทั้งหมดในโลก      ก็จะพูดใหม่ว่า  จงอย่ายึดถือว่าอะไรทั้งหลายในโลกเป็นของเรา   ถ้าเรานึกว่ามันเป็นเรา  เป็นของเรา  เราก็ยึดถือมันตลอดไป   ร่างกายที่เรามีอยู่ก็จงรู้ว่านี่มันไม่ใช่เรา  ไม่ใช่ของเรา  ถ้ามันเป็นเราจริงมันเป็นของเราจริง   เราไม่ต้องการให้มันแก่มันก็ต้องไม่แก่   เราไม่ต้องการให้มันป่วยไข้มันก็ต้องไม่ป่วยไข้ไม่สบาย   เราไม่ต้องการให้มันตายมันก็ต้องไม่ตาย    ใครบังคับได้ไหม

เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ทุกท่าน ไม่ยึดถือ   ต้องทำอารมณ์จิตอย่างนี้  เราจะอยู่เฉพาะตัวเราก็ด  เดินไปพบใครก็ตาม  พบคนหนุ่ม  คนสาว  คนมีกำลังมาก   คนมีกำลังน้อย   มีฐานะเช่นใดก็ตาม    คนทั้งหลายเหล่านี้    ตายหมดไม่เหลือ   เราเองก็ตาย   มาคิดถึงทรัพย์สินทั้งหลายที่เขามอบให้ก็ดี    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดเราจึงคิดว่า   มันไม่มีอะไรเป็นของเรา   เพราะถ้าเราตายเสียอย่างเดียว    เราก็พกอะไรไปไม่ได้เลย    เคยเห็นคนตายแบกนามีไหม  ถ้าเราคิดว่าเราเอาไปได้  ก็จงคิดว่า  สมบัติในโลกทั้งหมดไม่มีอะไรเป็นเรา   เป็นของเราและสิ่งที่เราต้องการเอาไปก็คือ  จิตบริสุทธิ์

๑.  ทิ้งความโลภไว้ในโลก  เราไม่มีความโลภ
๒.  ทิ้งความโกรธไว้ในโลก
๓.  ทิ้งความหลงไว้ในโลก

เมื่อเราทิ้งของทั้ง  ๓  อย่างนี้แล้ว     ก็ไม่ต้องถามว่าไปไหน    ทางที่จะไปมีทางเดียวคือพระนิพพาน   เอาละสำหรับจตุธาตุววัฏฐาน  ๔ ที่องค์เด็จพระมหามุนีตรัส    ก็มีเท่านี้นะ

                  tree relief print
-http://www.luangporruesi.com/867.html

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: จตุธาตุววัฏฐาน ๔
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2015, 10:00:51 pm »


จตุธาตุววัฏฐาน ๔
   
สำหรับวันนี้ จะขอพูดเรื่องสมถภาวนาจนจบ คำว่าจบในที่นี้หมายความว่าจะเว้นอรูปฌานทั้ง ๔ เสีย เพราะถือว่าไม่มีความจำเป็น สำหรับวันนี้ก็จะพูดเรื่องจตุธาตุววัฏฐานสี่ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า ธาตุ ๔  สำหรับกรรมฐานบทนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา ไม่ใช่กรรมฐานภาวนา คำว่าภาวนาหมายความว่า จับคาถาบทใดบทหนึ่งเข้ามาภาวนาให้จิตทรงตัว

 แต่ว่าสำหรับกรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา เป็นกรรมฐานที่เหมาะสำหรับท่านที่เป็นพุทธจริต คำว่าพุทธจริตเป็นอารมณ์รู้ หมายถึงว่าคนทุกคนก็มีด้วยกันทุกคน เวลาใดที่มีอารมณ์ปลอดโปร่งเห็นว่าโลกเป็นทุกข์ อัตภาพร่างกายมีสภาพเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงเป็นท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด เห็นว่าเป็นอนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้ เป็นทุกขังเป็นความทุกข์ อนัตตามันจะสลายตัว

ถ้าอารมณ์ของเราเกิดขึ้นอย่างนี้ เห็นว่าร่างกายไม่เป็นเรื่องเป็นราว มีความตายไปในที่สุด ชื่อว่าเวลานั้นอารมณ์จิตเราเป็นพุทธจริต เป็นจิตที่ตกอยู่ในความฉลาด

   ฉะนั้นกรรมฐานบทหนึ่งในพุทธจริตที่เรายังไม่ได้พูดกันมาก็เหลือจตุธาตุววัฏฐานสี่ คือท่านให้พิจารณาว่า ร่างกายของเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ เอามาผสมกันเข้าเป็นเรือนร่าง แล้วก็มีอากาศธาตุ มีวิญญาณธาตุเข้ามาสิงรวมเป็นธาตุ ๖ ประการด้วยกัน เนื้อแท้เดิมจริงๆ มันมี ๔

   ธาตุดินได้แก่ของที่แข็ง มีหนัง มีเนื้อ มีกระดูก เป็นต้น
   ธาตุน้ำได้แก่น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น
   ธาตุไฟได้แก่ความอบอุ่นในร่างกาย
   ธาตุลมได้แก่การที่พัดไปมาในร่างกาย มีลมหายใจเป็นต้น

   รวมความว่าร่างกายนี้ต้องมีธาตุ ๔ ประกอบกัน ทั้งธาตุแต่ละธาตุก็ต้องมีความแข็งแรงสม่ำเสมอกัน ร่างกายของเราจึงจะมีความสมบูรณ์พูนสุข อันการที่ร่างกายป่วยไข้ไม่สบายแสดงว่าธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งมันบกพร่อง มีการทรงตัวไม่เสมอกัน เหมือนกับเรามีโต๊ะ ๔ ขา แต่ขาหนึ่งมันหักหรือมันร่อยไปเสียก็แสดงว่าตั้งไม่สนิท ถ้ามันร่อยลงไป ๒ ขา ก็แสดงว่าเอียงลงไปแล้ว

แม้แต่ก้านกล้วยมันก็หนัก ร่างกายของเราก็เหมือนกัน มีความสมบูรณ์แข็งแรงปกติใช้งานได้สะดวก ก็ได้แก่ธาตุทรงตัวสม่ำเสมอกัน เมื่อธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งมีความทรุดโทรมเรียกว่าพอเสื่อมตัวลงไป ร่างกายก็ต้องแสดงถึงการทรุดโทรมให้ปรากฏ แล้วในที่สุดธาตุแต่ละธาตุทั้ง ๔ ธาตุนี้มันก็จะต้องสลายตัวไป

   ถึงเวลาตายเราจึงว่าธาตุลมหายไป
   ธาตุไฟหายไป เหลือ ๒ ธาตุ คือธาตุน้ำกับธาตุดิน
   ในเมื่อมีดินกับน้ำ ไม่มีความอบอุ่นเข้าประคับประคอง น้ำก็ละลายดิน ดินก็เกิดอาการยุ่ย เกิดอาการอืดพองขึ้นมา หนังเปื่อยเนื้อเปื่อย เน่า ทว่าไม่เน่าเปล่ามีการส่งกลิ่นเหม็น แล้วก็ค่อยสลายตัวไปทีละน้อยละน้อย

   ธาตุน้ำแห้งไป ธาตุดินก็ยุบตัวลงสลายไป
   เป็นอันว่าร่างกายของเราประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความเสื่อมไปลดน้อยถอยลงไปทีละน้อยๆ เราจะเห็นว่าความเป็นเด็กเกิดขึ้น เรามีการเจริญขึ้นด้วยธาตุ จนถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวแสดงว่าธาตุ ๔ ประกอบสมบูรณ์

   พออายุมากลงความสมบูรณ์กับเวลาที่เสื่อมลงไปยามแก่มาถึง สิ่งที่เข้าไปปรนเปรอไม่พอกับสิ่งที่เสื่อมสลายตัวไป ของที่เต็มอยู่มันก็พร่องคือว่าเนื้อหนัง เนื้อมันน้อยลงหนังก็เริ่มเหี่ยว ความเปล่งปลั่งไม่ปรากฏ มีการสลายตัวของธาตุดินมองเห็นชัด
..
..
   แล้วในที่สุดธาตุดินก็สลายตัวทรงไม่ได้ กายทรงตัวอยู่ไม่ได้ นี่มันตาย มานั่งพิจารณาดู ร่างกายเราเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ขณะใดที่ธาตุทั้ง ๔ ไม่สามัคคีกันเมื่อไหร่ก็พังเมื่อนั้น

   แล้วมาดูการพิจารณาดูธาตุ ๔ เพื่อประโยชน์อะไร พิจารณาเพื่อตัดความเมาในธาตุคือร่างกายเสีย ว่าเราจะไปนั่งเมามันในร่างกายของเราว่า มันจะทรงตัวนั้นมันไม่มี เราจะหาความผ่องใสในร่างกายตลอดกาลตอลดสมัยมันก็ไม่มี หาความแข็งแรงหาการคล่องตัวตลอดไปมันก็ไม่มี   

     เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้มันจะทรงตัวความแข็งแรงไม่เสมอกัน มันจะพร้อมเพรียงกันก็อยู่ชั่วขณะหนึ่ง สักวันหนึ่งปีหนึ่งอาจจะหลายครั้งที่มีธาตุบางอย่างกะพร่องกะแพร่งร่อยหรอไปเสื่อมตัวลงไป อาหารป่วยมันก็เกิด นี่มองเห็นสภาวะของธาตุมันไม่ดี มันไม่ทรงตัว

   แล้วก็มองดูต่อไปด้วยว่าธาตุนี้มันเกิดมาแล้วมันไม่ทรงตัว ในที่สุดมันเป็นอย่างไร มันก็พังสลายตัวไปในที่สุด แล้วเราจะไปนั่งมัวเมาในธาตุเพื่อประโยชน์อะไร ธาตุ ๔ ไม่ทรงตัว ธาตุของเราไม่ทรงตัว ธาตุของบุคคลอื่นก็ไม่ทรงตัว การปรารถนาในการมีคู่ครองก็เพราะว่าเรามีโมหจริต คือ ความโง่ไม่ได้คิดถึงความเป็นจริง

เพราะการมีคู่ครองนี้สร้างความเป็นห่วงให้เกิดขึ้น มีอารมณ์ยึดถือให้เกิดขึ้น ความจริงเราปรารถนาจะเปลื้องความทุกข์ แต่การแสวงหาร่างกายของบุคคลอื่นๆ มาคู่กับร่างกายเรา หวังจะเป็นคู่ครองซึ่งกันและกัน มันไม่ใช่เปลื้องทุกข์มันเพิ่มทุกข์  ต้องรับภาระร่างกายของเราเองด้วย รับภาระร่างกายของบุคคลอื่นด้วย ทีแรกเราก็ทุกข์แต่ตัวเรา

เมื่อเอาบุคคลอื่นเข้ามาเราก็ทุกข์ เพื่อบุคคลอื่นอีกทุกข์เพราะอยู่เป็นคนคู่ไม่พอ ความโง่ยังสร้างต่อไป อยากจะมีลูก อยากจะมีลูกผู้หญิง อยากจะมีลูกผู้ชาย อยากจะมีหลาน นี่มันเป็นอาการของความโง่ไม่มีที่สิ้นสุด สร้างความห่วง สร้างอุปาทาน สร้างความยึดมั่นผูกพันในสิ่งที่ไม่ทรงตัว ฉะนั้นในความทุกข์ไม่มีถึงที่สุด หาที่จบก็ไม่ได้

   องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงบรรลุอภิเสกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จพระประทีบแก้วเห็นโทษของการมัวเมาอยู่ในธาตุ ๔ มัวเมาในธาตุของตัวหรือว่าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วย คนเมาแต่ธาตุของตัวยังพอดี เรียกว่าทุกข์น้อย ถ้าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วยเรียกว่าทุกข์หนักขึ้นไป ถ้ายิ่งเมาอยากจะมีลูก เมาอยากจะมีหลาน เมาอยากจะมีเหลนก็ยิ่งหนักเข้าไปอีกเท่าตัว

พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ภาระหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งหาเป็นภาระอันหนัก แต่เพียงธาตุ ๔ ของเราประกอบเข้าเรียกว่าขันธํห้า เท่านี้ก็ปรนเปรอมันไม่ไหวอยู่แล้ว ไปเลี้ยงมันทั้งวันมันก็ไม่รู้จักอิ่ม มันก็ไม่รู้จักพอ ปรนเปรอมันตลอดกาลตลอดสมัย มันก็ไม่มีความหยุดยั้งในความต้องการ บำรุงร่างกายขนาดไหนก็ดีมันก็ไม่วายจะทรุดโทรม ประคับประคองเท่าไรก็ตามมันก็ไม่พ้น ที่จะตายไม่พ้นที่จะพัง นี้คือร่างกายของเราคนเดียว

พระพุทธเจ้าท่านก็บอกหนักแสนหนัก มันแบกจะไม่ไหวอยู่แล้ว ต้องไปแบกร่างกายของบุคคลอื่นเข้า  เราจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาด มันเพิ่มทุกข์ แสดงว่าอารมณ์โง่มันเกิดขึ้น

   การที่จะตัดความโง่ตัวนี้ได้ก็ต้องปลดร่างกายของคนอื่นทิ้ง แล้วก็หาทางมาปลดร่างกายของเรา มานั่งนึกดูว่าเราคนเดียวเราก็ยังแย่  หาที่สุดของความทุกข์ไม่ได้ ถ้าเราไปแบกเข้าอีกขันธ์ห้าหนึ่งก็หนักอีกเท่าตัว เพียงแต่ตัวของเราก็เอาชีวิตไม่รอด

เดิมทีเราถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ เวลาที่อายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุนี้แล้วความเสื่อมมันก็ปรากฏ องค์สมเด็จพระบรมสุคตบอกวางร่างกายของบุคคลอื่นเสียเป็นปัจจัยของความทุกข์ เห็นเรามาแบกแต่ร่างกายของเราแต่ผู้เดียว
..
..
   เมื่อต้องมาแบกร่างกายของเราคนเดียวก็นั่งมองดูว่ามันหนักหรือมันเบา มันหนักไปด้วยภาระทั้งปวงต้องหาอาหารมาให้อิ่ม เวลานี้จะกินอย่างนี้ เวลาโน้นจะกินอย่างโน้น เวลานั้นต้องกินอย่างนั้น ความอยากของมันไม่สิ้นสุด

หนักเฉพาะการกินก็หนักแย่อยู่แล้ว เครื่องประดับประดาเครื่องแต่งตัวมันก็อยากจะได้ไอ้นั่น มันก็อยากได้ไอ้นี่ อาหารแต่ละชิ้น ผ้าแต่ละชิ้นที่จะได้ก็ได้มาด้วยความทุกข์ความเหนื่อยยาก เอามาหนักเท่านี้ก็ยังไม่พอ ประเดี๋ยวก็ป่วยโน่นประเดี๋ยวก็ป่วยนี่ ป่วยอย่างนั้น ป่วยอย่างนี้ ต้องรักษาพยาบาลมัน อาการป่วยก็เป็นทุกข์

การจะหาเงินมารักษาก็แสนจะทุกข์ แสนจะเหนื่อยยาก นั่นก็เป็นอาการของความทุกข์ของร่างกาย มันดีตรงไหน และถึงแม้จะประคับประคองประการใดก็ดี จะรักษาอย่างไรก็ดี บำรุงอย่างไรก็ดี ในที่สุดมันก็ตาย

   ในเมื่อมันจะต้องตายแบบนี้ เราจะไปแบกมันทำไมต่อไป ถ้าเรายังจะต้องเกิดอีกเราก็แบกมันรูปนี้ตลอดไป เราเลิกแบกมันเสียดีกว่า โยนมันทิ้งไป การที่โยนมันทิ้งก็ไม่ได้หมายความว่า จะไปเชือดคอตาย ผูกคอตายโยนทิ้ง ไม่ใช่อย่างนั้น โยนมันออกไปเสียจากใจจะได้ไม่ต้องห่วงมันมากนัก ถือว่ามันเป็นที่อาศัยชั่วคราว

ขณะใดที่เรายังอาศัยมันอยู่ ก็ประคับประคองมันตามหน้าที่ ให้มีความรู้สึกว่านี่เราทำตามหน้าที่เท่านั้น เราไม่ได้รักมันเราไม่ได้ห่วงมัน ขณะที่เรายังอาศัยมันอยู่ ถ้ามันทรุดโทรมมากเกินไปแบบเดียวกับบ้านที่อาศัย ปล่อยให้หลังคารั่วปล่อยให้พื้นผุ

ผลที่สุดเราเองก็เป็นผู้ลำบากมากเกินไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าบ้านมันเก่าอยู่ทุกวัน หลังคารั่วพอฝนมันรั่วแดดส่อง หาอะไรมาปกปิดกันความร้อนชั่วขณะ พื้นมันผุก็หาสิ่งของเท่าที่จะซ่อมแซมได้มาซ่อมแซมมัน ประคับประคองมันไว้ แต่ว่าไม่ได้รักมัน

กำหนดจิตว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากกันเมื่อไร เราก็จะไม่ห่วงใยขันธ์ห้านี้เป็นอันขาดและเราก็ไม่ต้องการมันอีก เพราะเราไปพบมันอีกเมื่อไรก็จะพบกับความทุกข์แบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

   วิธีที่เราไม่ต้องการจะพบมันก็พิจารณาสักกายทิฏฐิ พิจารณาว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา ธาตุ ๔ มันเป็นเรือนร่างที่เราอาศัยชั่วคราว เราไม่เห็นว่ามันสวยที่ไหน ไม่เห็นว่ามันดีที่ไหน มันเต็มไปด้วยความทุกข์ 

ขึ้นชื่อว่าธาตุแบบนี้เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการธาตุ ๔ เป็นเรือนร่างต่อไป ขึ้นชื่อว่าความเกิดที่มีธาตุ ๔ ไม่มีสำหรับเรา

   และแล้วต้องหาทางอ้อมต่อไปว่า ถ้าเราจะไม่ต้องมาเกิดจะทำอย่างไร
   อันดับแรกเราต้องตัดโลภะความโลภ โดยการให้ทาน อย่างนี้ต้องมีอารมณ์เป็นปกติ ไม่ใช่จะมานึกว่าจะไม่เกิด จะไม่เกิด มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราต้องตัดมัจฉริยะ ความตระหนี่ ตัดโลภะความโลภ อย่าให้มันข้องอยู่ในใจ อย่าทะเยอทะยานเกินไปจะมีความผูกพันในทรัพย์สินเกินไป ตายแล้วไม่มีใครเอาไปได้ เมื่อตัดความโลภ โดยการให้ทานโดยการบริจาค จิตจะได้มีความเบา

   เราต้องตัดโทสะ ความโกรธ โดยการทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ เราต้องตัดตัวยึดถือ คืออุปาทานในขันธ์ห้าเสีย ได้แก่การพิจารณาพบความจริงของร่างกายว่ามันเป็นทุกข์ ความผูกพันมันจึงจะไม่มี

   นี่ถ้าเราพิจารณาแบบนี้ชื่อว่าพิจารณาทั้งด้านสมถะและวิปัสสนาร่วมกัน สมถภาวนาจำจะต้องมีอยู่เสมอ แต่สมถะจะทรงตัวได้ต้องอาศัยวิปัสสนาญาณประคับประคอง วิปัสสนาญาณจะติดอยู่กับจิตใจของเราได้ตลอดกาลตลอดสมัยก็ต้องมีสมถะเป็นเครื่องสนับสนุน ทั้ง ๒ อย่างนี้แยกกันไม่ออก ถ้าแยกกันเหลือส่วนใดส่วนหนึ่ง เราก็ซวยเต็มที เพราะความดีมันจะไม่ทรงตัว
..
..
   การพิจารณาธาตุ ๔ เราควรจะเห็นว่าถ้าเราพิจารณาแล้วก็ควรจะน้อมเข้าไปสู่อสุภกรรมฐานในตัวด้วย เพราะธาตุ ๔ นอกจากมันจะไม่ทรงตัวเป็นปกติ ยังมีความไม่เที่ยงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์มีการสลายตัวไปในที่สุด และยังเต็มไปด้วยความสกปรกโสมมอีกด้วย เป็นของน่าเกลียดของโสโครก นี่มองกรรมฐานจุดใดจุดหนึ่งแล้วอ้อมลงไปหาจุดจบเพื่อเป็นการทำลายจิตที่ผูกพันไว้ได้ ฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานจึงจำเป็นจะต้องรู้กรรมฐานหมดทั้ง ๔๐ อย่าง ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องศึกษาให้ครบแล้วก็รู้จักวิธีใช้พร้อมๆ กันไป จิตใจก็ควรจะตัดอุปาทานขันธ์ห้าได้ ตอนนี้ก็จบเพียงเท่านี้

   ต่อไปสำหรับท่านที่ปรารถนาจะเจริญพระกรรมฐานเพื่อฝึกทิพจักขุญาณ โดยใช้บทภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ บทนี้สำคัญมากถ้าใช้เป็นทิพจักขุญาณจะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ ในตอนต้นก็ขอให้ทุกท่านให้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยเสียก่อน

การพิจารณาในสมถะบทใดก็ตามนั้นและวิปัสสนาญาณก็ดีเป็นของดีมากถ้ายังทรงจิตอยู่ได้ จิตไม่วอกแวกไม่คลาดเคลื่อนไปให้พิจารณาไปเสมอๆ จะเป็นการตัด ถ้าเราเจริญกรรมฐานเราต้องการตัดกิเลสจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ถ้าตัดได้ตัดให้มันหมดไป

เมื่อเห็นว่าพิจารณาจิตมันจะซ่านเกินไปก็จับคำภาวนา รักษาอารมณ์ให้ทรงตัว ในอันดับแรกเราเคยภาวนาว่าอย่างไรให้ทรงตัว ก็ภาวนาอย่างนั้นเสียก่อนจนกว่าจิตจะสบายถึงที่สุด

เมื่อมีความอิ่มของจิตดีเรียบร้อยแล้ว จิตเรียบเป็นระเบียบดีจึงจับคำว่า นะ มะ พะ ทะ ภาวนาต่อไปแทน แต่เมื่อภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ ไม่ใช่จะอยากเห็นโน่น อยากเห็นนี่ อยากให้ปรากฏความสว่าง ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีผล ให้รักษาอารมณ์ตน

โดยเฉพาะ ใช้คำภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว จะมืดจะสว่างอย่างไรก็ช่าง อะไรจะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ช่าง ไม่สนใจ สนใจรักษาคำว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว พอจิตเป็นสมาธิทรงตัวดีแล้ว ถึงขั้นอุปจารสมาธิอารมณ์จิตจะสว่างไสว หลับตาจะมีความรู้สึกเหมือนว่าเรานั่งอยู่ในเวลากลางวัน มันมีความสว่างทั่วตัว

ถ้าบังเอิญจิตเป็นทิพจักขุญาณเห็นภาพใดๆ ตามที่เราต้องการ จะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ เห็นชัดแม้แต่ผมแต่หนวดเส้นเล็กๆ ก็สามารถจะมองเห็นได้ คุณประโยชน์ของการเจริญกรรมฐานกองนี้ก็เพื่อว่าจะได้ทรงวิชชาสาม สามารถค้นคว้าพิจารณาหาความจริงในหลักเกณฑ์ของพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง

   ต่อจากนี้ไปขอให้บรรดาภิกษุสามเณร พุทธบริษัทชายหญิงพากันตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาต่อไป จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

ที่มา หนังสือ กรรมฐาน 40 ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 19, 2017, 06:10:34 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: การพิจารณา"ธาตุกรรมฐาน"
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2015, 10:11:41 pm »


จตุธาตุววัฏฐาน

จตุธาตุววัฏฐาน หรือเรียกว่า ธาตุกรรมฐาน หมายความว่า การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่ปรากฏในร่างกายจนกระทั่งเห็นเป็นแต่เพียงกองแห่งธาตุ โดยปราศจากความจำว่าเป็นหญิง ชาย เรา เขา สัตว์ บุคคลใดๆ เสีย องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในมหากุศลจิต มหากิริยาจิต

คำว่า ธาตุ หมายถึง การธำรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมหาภูตรูป เพราะเป็นรูปใหญ่ เป็นประธาน เป็นที่รองรับรูปทั้งหมดที่เหลือ คือ เพราะการรวมกันของธาตุดิน ความแข็งจึงเกิดได้ เพราะการรวมกันของธาตุน้ำ ความเอิบอาบจึงเกิดได้ เพราะการรวมกันของธาตุไฟ ความร้อนจึงเกิดได้ และเพราะการรวมกันของธาตุลม ความเบาแห่งการเคลื่อนไหวจึงเกิดได้

การกำหนดจตุธาตุววัฏฐานนี้ ผู้เจริญจะต้องพิจารณาธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายในตน ธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายตนนี้ มี ๔๒ คือ ธาตุดิน ๒๐ ธาตุน้า ๑๒ ธาตุไฟ ๔ ธาตุลม ๖


วิธีการกำหนดโดยความเป็นธาตุ มีดังนี้

๑. การกำหนดธาตุโดยไม่แยกกัน
- พึงพิจารณาว่า ปฐวีธาตุเหล่านี้ ถูกเกาะกุมไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ อาโป เตโช วาโย) ถูกรวมเข้าด้วยกันอย่างนี้

- อาโปธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี เตโช วาโย) ถูกยึดไว้ด้วยกันรวมกันได้อย่างนี้

- เตโชธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี อาโป วาโย) ถูกทำให้อุ่นอย่างนี้

- วาโยธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี อาโป เตโช) ถูกค้ำจุนไว้อย่างนี้
      - ธาตุ ๓ (น้ำ ไฟ ลม) อาศัยปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ธาตุ ๓ จึงไม่กระจัดกระจาย
      - ธาตุ ๓ (ดิน น้ำ ลม) อุ่นโดยเตโชธาตุ จึงไม่มีกลิ่น
      - ธาตุ ๓ (ดิน น้ำ ไฟ )ค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ จึงดำเนินไปและอยู่รวมกันได้ ไม่แตก กระจัดกระจาย

สรุป ธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

๒. การกำหนดธาตุโดยเหตุและปัจจัย
- พิจารณาโดยเหตุ ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นปัจจัยสร้างธาตุขึ้นมา

เหตุ ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร
- ธาตุทั้ง ๔ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกรรม กรรมนี้แหละทำให้มีการเกิดด้วยอำนาจของชนกกรรม ทำ
ให้กรรมและวิบากของกรรมเป็นไป และทำให้เกิดปัจจัยต่างๆที่เข้าไปอุดหนุนเกื้อหนุนให้ธาตุ ๔ เป็นไป

- ธาตุ ๔ นี้ เกิดมาจากจิต ทำให้ปัจจัยต่างๆ เป็นไป ปฏิสนธิจิตทำให้รูป คือ ธาตุทั้ง ๔ เกิดพร้อม
กันกับจิต
 
- ธาตุ ๔ นี้ ตั้งอยู่ได้ไม่เน่าเสียไป ก็ด้วยการอุปการะของ อุตุ คือไออุ่นที่หล่อเลี้ยงธาตุทั้ง ๔

- ธาตุ ๔ นี้ มีอาหารเป็นผู้หล่อเลี้ยงให้ตั้งอยู่และเจริญได้

๓. การกำหนดธาตุโดยลักษณะ
- ลักษณะของปฐวีธาตุ คือ ความแข็ง
- ลักษณะของอาโปธาตุ คือ การซึมซาบ
- ลักษณะของเตโชธาตุ คือ ความเย็น ร้อน
- ลักษณะของวาโยธาตุ คือ ไหว เคลื่อนไปมา

   เมื่อสิ่งใดปรากฏชัดในการรับรู้ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะก็ให้ระลึกรู้โดยความเป็นเพียงธาตุเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวิต เป็นเพียงแต่สภาวะของธรรมชาติ คือ ธาตุดิน น้ำไฟ ลม 
..
..
๔. การกำหนดธาตุโดยความเสมอกันและไม่เสมอกัน
- ปฐวีธาตุและอาโปธาตุ เสมอกันเพราะความมีน้ำหนัก
- ส่วนเตโชธาตุและวาโยธาตุ เสมอกันเพราะความเบา
- อาโปธาตุและเตโชธาตุ ไม่เสมอกัน อาโปธาตุสามารถกำจัดความแห้งของเตโชธาตุได้
- ปฐวีธาตุและวาโยธาตุ ไม่เสมอกัน เพราะปฐวีธาตุขัดขวางการออกไปของวาโยธาตุ วาโยธาตุก็สามารถทำลายปฐวีธาตุได้

๕. การกำหนดธาตุโดยความเป็นหุ่น
- เปรียบเหมือนการทำหุ่นจำลองเป็นมนุษย์สตรี บุรุษ แล้วมีเชือกสาหรับชักเพื่อให้หุ่นนั้น เดิน ยืนนั่ง นอน เต้นรำ

   หุ่นนี้ คือ ร่างกาย ผู้ทำหุ่นคือ กิเลสในอดีต ที่เป็นเหตุให้กายนี้ถูกสร้างขึ้นจนสมบูรณ์ เชือก คือ เส้นเอ็น ดินเหนียว คือ เนื้อ สีที่ทำ คือ ผิวหนัง ช่องทั้งหลายคืออากาศ เพราะอาศัยอาภรณ์ เครื่องประดับต่างๆ จึงได้ชื่อว่าบุรุษหรือสตรี การเคลื่อนไหวไปได้ของหุ่นก็ด้วยวาโยธาตุที่เกิดจากจิตที่คิดจะเดิน ยืน คู้เข้า เหยียดออก สนทนาพูดจำได้

   มนุษย์หุ่นเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับวิญญาณธาตุ ตกอยู่ในอำนาจความโกรธ ความโศกเศร้า ความทุกข์ เพราะอวิชชา พวกเขาหัวเราะสนุกสนานหรือเล่นด้วยกันได้ มีอาหารรักษาหุ่นเหล่านี้ไว้ และชีวิตินทรีย์รักษาไว้ ทำให้หุ่นเหล่านี้เดินไป ที่สุดแห่งชีวิตทำให้หุ่นแตกกระจัดกระจาย และเมื่อกรรมและกิเลสยังมีอยู่ หุ่นใหม่ก็จะเกิดขึ้นอีก การเกิดขึ้นครั้งแรกของหุ่นนั้นไม่สามารถรู้ได้ จุดสุดท้ายของหุ่นนั้นใครๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดกายนี้โดยเปรียบกับหุ่นว่าอาการเหล่านี้ กิจกรรมเหล่านี้ว่า “ไม่มีสัตว์ ไม่มีชีวะ เป็นเพียงแต่สภาวะ”

๖. พิจารณาธาตุโดยความเป็นอารมณ์
- เมื่อพิจารณาธาตุ ๔ โดยประการต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาโดยความเป็นนามและรูป คือ ธาตุทั้งหลายเป็นรูป จิตพร้อมเจตสิกต่างๆ ที่พิจารณารูปเหล่านั้นโดยความเป็นจริง เป็นนาม แล้วพิจารณาต่อไปอีกว่า นามรูปเป็นทุกข์ เป็นตัณหา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ แล้วกำหนดรู้ว่า ความดับทุกข์ได้ต้องดับที่ตัณหา มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นหนทางไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง

นิมิต ภาวนา และ มรรค ผล ที่ได้จากการเจริญจตุธาตุววัฏฐาน
   การเจริญจตุธาตุววัฏฐานนี้ ไม่มีอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต คงมีแต่บริกรรมนิมิตอย่างเดียว คือธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในร่างกายตนนั้นเอง

   ส่วนภาวนานั้นได้ ๒ อย่าง คือ บริกรรมภาวนาและอุปจารภาวนา สำหรับอัปปนาภาวนาอันเป็นตัวฌานนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้เป็นสภาวะล้วนๆ ผู้เจริญต้องใช้ปัญญาอย่างแรงกล้า จึงจะรู้เห็นในสภาวะเหล่านี้ได้ เหตุนี้สมาธิของผู้เจริญจึงไม่มีกาลังพอที่จะถึงฌาน

   ดังนั้น หากว่าการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในกายตน โดยมีปัญญาเป็นประธานนี้ทำให้พิจารณาธาตุ ๔ โดยความเกิดดับ ก็จะทำให้ผู้ที่เจริญธาตุ ๔ นั้นสามารถสำเร็จมรรคผลได้

อานิสงส์ของจตุธาตุววัฏฐาน
๑. เห็นความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตลักษณะ)
๒. ละความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ชาย หญิงได้
๓. ไม่กลัวภัยต่างๆ
๔. สามารถตัด ระงับ ความพอใจและไม่พอใจได้ มีจิตมั่นคงไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา
๕. ทำให้เป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง
๖. เข้าถึงพระนิพพาน
๗. ถ้าไม่เข้าถึงพระนิพพานในภพนี้ ก็จะไปสู่สุคติ

   จบจตุธาตุววัฏฐาน



อ้างอิง
บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๙ สมถกรรมฐาน ตอนที่ ๓
บรรณานุกรม
๑) ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรชั้นมัชฌิมอภิธรรมิกะโท : พระสัทธัมมโชติกะ : อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : โรงพิมพ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพยวิสุทธิ์ ; พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๙
๒) วิมุตติมรรค พระอุปติสสเถระ รจนา
พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ
๓) วิสุทธิมรรค ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
๔) พระสูตร และ อรรถกถา แปลขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาคที่ ๑- ๒
๕) การเจริญสมาธิ ตามแนวทางพระพุทธศาสนา BUDDHIST MEDITATION ผศ.ดร.นฤมล มารคแมน
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๔

- http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.0