นิ่งเหวยอี้ว์ซุ่ย,ปู้เหวยหว่าฉวน: ยอมเป็นหยกแหลกลาญไม่ขอเป็นกระเบื้องสมบูรณ์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 สิงหาคม 2553 13:46 น.
《宁为玉碎,不为瓦全》
宁(nìng) อ่านว่า นิ่ง แปลว่า ยอม
为(wéi) อ่านว่า เหวย แปลว่า เป็น
玉(yù) อ่านว่า อี้ว์ แปลว่า หยก
碎(suì) อ่านว่า ซุ่ย แปลว่า แตกสลาย
不(bù) อ่านว่า ปู้ แปลว่า ไม่
瓦(wǎ) อ่านว่า หว่า แปลว่า กระเบื้อง
全(quán) อ่านว่า ฉวน แปลว่า เต็ม สมบูรณ์
ภาพจาก sucaitianxia.com
ในสมัยคริสตศักราชที่ 550 ยุคราชวงศ์เหนือ อัครเสนาบดี “เกาหยาง” กุมอำนาจเด็ดขาดในราชสำนักแผ่นดินเว่ยตะวันออก (ตงเว่ย) จึงบีบให้กษัตริย์ “เสี้ยวจิ้งตี้ (หยวนซ่าน)” สละราชบังลังก์ แล้วตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์แทน สถาปนาราชวงศ์ฉีเหนือ (เป่ยฉี) ขึ้นมา
เกาหยางเป็นคนโหดเหี้ยมทารุณ เพื่อกำจัดเสี้ยนหนามที่อาจจะกลับมาทิ่มแทงในอนาคต จึงตัดสินใจสังหารเสี้ยวจิ้งตี้พร้อมทั้งราชโอรสทั้งสามไปในปีคริสตศักราชที่ 551 ทว่าการก่อกรรมทำชั่วอย่างมากมายเช่นนั้น ทำให้ในใจของเกาหยางอัดแน่นไปด้วยความหวาดกลัว
ครั้งหนึ่งเกาหยาง เอ่ยถามคนสนิทว่า "ยุคปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ซีฮั่น) ครั้งที่พระญาตินาม “หวังหมั่ง” แย่งชิงอำนาจมาจากตระกูลหลิวสำเร็จ เหตุใดภายหลังจึงปล่อยให้ “หลิวซิ่ว (ฮั่นกวงอู่)” ช่วงชิงอำนาจกลับไปได้สำเร็จ?" คนสนิทของเกาหยางไม่ทราบเหตุผลอันใด เพียงแต่ตอบเพื่อเอาใจนายเหนือหัวว่า "เป็นเพราะหวังหมั่งไม่ขุดรากถอนโคน กวาดล้างราชนิกูลตระกูลหลิวไปให้หมดสิ้นในคราวเดียว" เมื่อเกาหยางได้ฟังก็เห็นว่าคำกล่าวนี้มีเหตุผล จึงได้นำมาใช้ โดยออกคำสั่งให้กวาดล้างสังหารพระญาติราชนิกูลตระกูลหยวน ของเสี้ยวจิ้งตี้ ให้สิ้นซากจากแผ่นดิน ไม้เว้นแม่แต่เฒ่าชราหรือทารก ส่งผลให้คนตระกูลหยวนระส่ำระสาย รู้สึกหวาดกลัว เพราะไม่รู้ว่าวันใดตนจะถูกฆ่าตาย จึงได้จัดการพบปะในหมู่เครือญาติเพื่อหารือ
ในการหารือของตระกูลหยวน มีคนผู้หนึ่งเสนอว่า ทางที่ดีควรจะเปลี่ยนชื่อสกุลใหม่ จาก หยวน (元) เป็น เกา (高) แต่พระญาตินาม “หยวนจิ่งห้าว” คัดค้านความคิดนี้อย่างหัวชนฝา โดยกล่าวว่า "ลูกผู้ชายยอมเป็นหยกแหลกลาญ ไม่ขอเป็นกระเบื้องสมบูรณ์ ยอมตายอย่างกล้าหาญ ดีกว่ามีชีวิตอยู่อย่างอัปยศอดสู"
ภายหลัง หยวนจิ่งห้าว ถูกทางการสังหารไปในที่สุด ส่วนเกาหยางเองนั้นป่วยหนักเสียชีวิตไปภายหลังจากนั้นไม่นาน ราชวงศ์ฉีเหนือจึงสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วในคริสตศักราชที่ 577
สำนวน "ยอมเป็นหยกแหลกลาญ ไม่ขอเป็นกระเบื้องสมบูรณ์" เดิมใช้ในความหมายว่า ยอมตายไม่ยอมเสียศักดิ์ศรี ภายหลังมักใช้หมายถึงการยึดมั่นในหลักความเชื่อ-อุดมการณ์ของตนอย่างแน่วแน่ แม้จนตัวตายก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
ที่มา baike.baidu.com