ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง

ข้อคิดดีๆ จากจีน

<< < (7/9) > >>

sithiphong:
นิทานเซน : ได้อย่างเสียอย่าง
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 มกราคม 2554 08:57 น.
 
 《禅言过失》
       
       ยังมีชายหนุ่มผู้หนึ่งที่นับได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เขาพยายามศึกษาหาความรู้ในศาสตร์หลายๆ แขนง แต่ทว่าในอาชีพการงานกลับมีความสำเร็จเพียงระดับหนึ่ง ไม่สามารถที่จะเจริญก้าวหน้าไปถึงยังจุดที่ตนเองหวังไว้ได้ เขาขบคิดไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงได้ไปขอคำชี้แนะจากอาจารย์เซน
       
       เมื่ออาจารย์เซนได้รับฟังปัญหาของชายหนุ่ม กลับไม่เอื้อนเอ่ยอันใดออกมา เพียงแต่เชื้อเชิญให้ชายหนุ่มรับประทานอาหารเจด้วยกันที่วัด บนโต๊ะเรียงรายไว้ด้วยอาหารเจละลานตานับร้อยชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ชายหนุ่มไม่เคยพบเห็นมาก่อน เขาจึงได้พยายามลิ้มลองอาหารเหล่านั้นให้ครบทุกอย่าง ต่อเมื่อรับประทานครบ จึงค่อยวางตะเกียบและรู้สึกว่าตนเองอิ่มเกินไป
       
       อาจารย์เซนถามว่า "อาหารที่ท่านรับประทานลงไปนั้นมีรสชาติเช่นไรบ้าง?"
       ชายหนุ่มตอบด้วยความลำบากใจว่า "มีรสชาติร้อยพัน ยากที่จะจำแนกแยกแยะ สุดท้ายรู้สึกแค่เพียงว่ากระเพาะขยายอย่างยิ่ง"
       อาจารย์เซนถามต่อไปว่า "เช่นนั้นแปลว่าท่านรู้สึกสบายดีและพอใจใช่หรือไม่?"
       ชายหนุ่มตอบว่า "มิใช่ กลับทรมานอย่างยิ่ง"
       เมื่ออาจารย์เซนได้ฟัง ก็เพียงแต่ยิ้มเล็กน้อย ไม่พูดจา
       
       วันต่อมาอาจารย์เซนชวนชายหนุ่มปีนขึ้นไปบนยอดเขา แต่เมื่อทั้งสองปีนขึ้นไปถึงกลางทาง ชายหนุ่มได้พบกับหินคริสตัลสีสดสวยแวววาวมากมาย จึงเกิดความอยากได้ และเก็บหินเหล่านั้นใส่ย่ามของตนจนเต็มแน่น แต่น้ำหนักของหินที่มากเกินไปทำให้เขาไม่สามารถปีนขึ้นไปต่อได้ ขณะเดียวกันก็ไม่อาจตัดใจทิ้งคริสตัลเหล่านั้น
       
       ขณะที่ยืนลังเลอยู่กลางทางนั้นเอง อาจารย์เซนจึงได้กล่าวขึ้นว่า "ท่านควร "วางลง" ได้หรือยัง? มิเช่นนั้นจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดได้อย่างไร?"
       
       เมื่อชายหนุ่มได้ฟัง ก็พลันกระจ่างแจ้งในใจ สองมือวางก้อนหินเหล่านั้นลง พลางป่ายปีนขึ้นไปถึงยอดภูสูงได้สำเร็จ จากนั้นจึงกราบลาอาจารย์เซนเดินทางกลับ เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายปี ชายหนุ่มก็ประสบความสำเร็จดังที่มุ่งหวังไว้
       
       ปัญญาเซน : รับประทานอาหารก็ดี ปีนเขาก็ดี การศึกษาหาความรู้ก็ดี ขณะที่ได้มาซึ่งสิ่งใด ย่อมต้อง สูญเสียสิ่งหนึ่งไปเสมอ บนเส้นทางชีวิตมนุษย์ไม่สามารถครอบครองทุกอย่าง ยังคงมีหลายอย่างที่จำต้องยอมสละละทิ้งเพื่อให้ได้มาซึ่งบางสิ่ง เมื่อเรียนรู้ที่จะ "วางลง" จึงค่อยเข้าใจถึงความสุข จึงค่อยรู้ซึ้งเมื่อ "ได้รับ"
       
       ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版》, 慕云居 เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12, ISBN 7-5028-2995-4


http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9540000003558

แก้วจ๋าหน้าร้อน:
 :45: อนุโมทนาครับ ขอบคุณครับพี่หนุ่ม

sithiphong:

นิทานเซน : มิใช่คณโฑ
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 19 มกราคม 2554 06:57 น.
 
 《灵佑踢瓶》
       อาจารย์เซนนามซือหม่า ต้องการคัดเลือกพระลูกวัดไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสยังวัดแห่งหนึ่งบนภูเขาต้าเหวย และเพื่อคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดจึงได้ลั่นระฆังเรียกพระมารวมตัวกันยังลานวัด จากนั้นถามคำถามข้อหนึ่งให้ทุกคนตอบ
       
       อาจารย์เซนชูคณโฑน้ำขึ้นมาใบหนึ่ง จากนั้นกล่าวว่า “สิ่งนี้ไม่ใช่คณโฑน้ำ แต่เป็นอะไร?”
       
       บรรดาพระลูกวัดต่างจ้องมองด้วยความงงงวย ไร้ซึ่งคำตอบ เนื่องเพราะสิ่งที่อาจารย์เซนถืออยู่นั้นชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นคณโฑน้ำ หากไม่ให้ตอบว่าคณโฑน้ำ ก็มิทราบจะตอบอย่างไรดี
       
       ขณะนั้นเอง มีพระรูปหนึ่งนามว่า หลิงโย่ว ซึ่งทำหน้าที่ผ่าฟืน จุดไฟ หุงอาหารภายในวัดกล่าวโพล่งขึ้นมาว่า “ขอให้ศิษย์ลองตอบดูสักครั้ง” บรรดาพระรูปอื่นๆ เห็นพระรูปนี้ท่าทางทึ่มทื่อ จึงพากันหัวเราะขบขัน
       
       พระหลิงโย่วก้าวออกมาข้างหน้า รับเอาคณโฑน้ำมาจากอาจารย์เซน แล้ววางลงบนพื้น จากนั้นพลันเตะคณโฑน้ำจนกระเด็นกระดอนหายลับจากกำแพงวัดไป อาจารย์เซนเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า “เจ้าสมควรรับตำแหน่งเจ้าอาวาสแห่งวัดต้าเหวย”
       
       บรรดาพระลูกวัดยังคงขบคิดไม่เข้าใจ อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า “ในเมื่อมิใช่คณโฑน้ำ ก็จงเตะทิ้งไปเสีย ที่แท้เป็นสิ่งใดล้วนไม่จำเป็นต้องไถ่ถามให้มากความ”
       
       ปัญญาเซน : ในชีวิตคนเราล้วนเผชิญกับปัญหา หรือทางเลือกที่ยากจะตัดสินใจมากมาย ทั้งที่แท้จริงแล้ว “การเลือก” นั้นง่ายดาย เพียงเตะสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิตของตนเองออกไปให้พ้นทาง ย่อมพบคำตอบที่ถูกต้องในที่สุด
       
       ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版》, 慕云居 เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12, ISBN 7-5028-2995-4

http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9540000007098
.


.




sithiphong:
นิทานเซน : ค่าของคน
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 มกราคม 2554 07:13 น.
 
 



《圆满报身》

ยังมีศิษย์เซนผู้หนึ่ง เฝ้าพร่ำถามอาจารย์เซนทุกวันว่า “สิ่งใดคือคุณค่าที่แท้จริงของคนเรา?”

วันหนึ่ง อาจารย์เซนเดินออกมาจากห้องพร้อมกับก้อนหินหนึ่งก้อน จากนั้นเอ่ยกับศิษย์เจ้าปัญหาว่า “เจ้าจงเอาก้อนหินก้อนนี้ไปเร่ขายยังท้องตลาด แต่ไม่จำเป็นต้องขายออกไปจริงๆ เพียงแค่ทำให้มีผู้มาเสนอราคาขอซื้อก็เพียงพอแล้ว ลองดูสิว่าตลาดจะให้ราคาของก้อนหินก้อนนี้เท่าไหร่”

ศิษย์เซนนำก้อนหินไปเร่ขายยังท้องตลาด มีคนเห็นว่าหินก้อนนี้ทั้งใหญ่และเรียบสวย จึงให้ราคา 2 ตำลึง อีกผู้หนึ่งเห็นว่าหินก้อนนี้น่าจะนำไปทำเป็นลูกกลิ้งหรือลูกตุ้มถ่วงน้ำหนักได้อย่างดี จึงให้ราคาถึง 10 ตำลึง หลังจากนั้น แม้ว่าจะมีผู้แวะเวียนเข้ามาชมดูก้อนหินมากมาย แต่ราคาที่สูงสุดที่ได้จากท้องตลาดคือ 10 ตำลึง

เมื่อศิษย์เซนนำก้อนหินกลับมายังวัด ก็ถ่ายทอดเรื่องราวที่ตนเร่ขายก้อนหินธรรมดาๆ จนได้ราคาถึง 10 ตำลึงให้อาจารย์ฟังด้วยความยินดียิ่ง

เมื่อฟังจบ อาจารย์เซนเพียงแต่กล่าวว่า “เจ้าจงนำหินก้อนนี้ไปเร่ขายอีกครั้ง ยังตลาดค้าทอง”

ศิษย์เซนจึงเดินทางไปยังตลาดค้าทอง จากนั้นนำก้อนหินออกมาเร่ขาย คราวนี้เพียงแค่เริ่มต้นก็มีผู้เสนอราคาก้อนหินถึง 1 พันตำลึง จากนั้นราคาก็ขึ้นมาเป็น 1 หมื่นตำลึง และสุดท้ายจบลงที่ราคา สิบหมื่นตำลึง

เมื่อศิษย์เซนเห็นผลลัพท์เกินความคาดหมายถึงเพียงนั้น จึงรีบกลับมารายงานอาจารย์เซน ทว่าอาจารย์เซนเพียงกล่าวว่า “พรุ่งนี้เจ้าจงนำก้อนหินก้อนนี้ไปเร่ขายยังตลาดค้าเพชรพลอย ซึ่งเป็นตลาดระดับสูงที่สุดดู”

เมื่อศิษย์เซนนำก้อนหินไปเร่ขายตามคำสั่งของอาจารย์ พบว่าราคาของก้อนหินขึ้นพรวดพราดไปเรื่อยๆ จากสิบ หมื่นตำลึง ยี่สิบหมื่นตำลึง สามสิบหมื่นตำลึง จนกระทั่งมีผู้เข้าใจว่าที่ศิษย์เซนยังไม่ยอมตกลงใจขายก้อนหินเป็นเพราะยังไม่ได้ราคาเหมาะสม จึงเสนอให้ตั้งราคาขึ้นมาเองตามใจชอบอย่างไม่อั้นได้เลยว่าจะขายที่ราคาเท่าไหร่ ศิษย์เซนได้แต่อธิบายต่อผู้คนที่สนใจซื้อก้อนหินว่าตนทำตามคำสั่งอาจารย์ มิอาจขายก้อนหินออกไปจริงๆ ได้ จากนั้นจึงเดินทางกลับวัด พร้อมทั้งบอกอาจารย์เซนว่าตอนนี้ราคาของก้อนหินพุ่งขึ้นไปถึงหลักสิบหมื่นตำลึงแล้ว”

เมื่ออาจารย์เซนฟังจบ จึงกล่าวว่า “นั่นก็ใช่แล้ว ที่ข้าไม่อาจสั่งสอนเจ้าได้ว่าชีวิตมีคุณค่าเพียงใด ก็เพราะนั่นจะเป็นการตีราคาชีวิตของเจ้าโดยผ่านมุมมองภายนอกไม่ต่างจากการตีราคาก้อนหิน ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วคุณค่าของมนุษย์ทุกคนล้วนต้องกระจ่างอยู่ภายในจิตใจของคนผู้นั้นเอง จงมีสายตาแหลมคมดั่งนักค่าเพชรพลอยเสียก่อน จึงจะสามารถเห็นซึ้งถึงคุณค่าที่แท้จริงของคนเรา”

ปัญญาเซน : มนุษย์ทุกคนล้วนมีคุณค่าอยู่ในตัวเอง จงตระหนักในคุณค่าแห่งตน ยอมรับตนเอง ฝึกฝนตนเอง ให้ช่องว่างกับตัวเองได้เติบโต ทุกคนล้วนสามารถกลายเป็นสิ่งมีค่าอันประเมินมิได้ ทุกขวากหนาม ทุกความเจ็บปวด ทุกความพ่ายแพ้ล้วนแล้วแต่มีความหมายอย่างยิ่งต่อชีวิตของคนเรา

ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版》, 慕云居 เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12, ISBN 7-5028-2995-4


.

China - Manager Online -

[url]http://www.manager.co.th/China/ViewN...=9540000010560

sithiphong:
นิทานเซน : ชาวนาซื้อที่ดิน
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 กุมภาพันธ์ 2554 12:40 น.
 
 
《农夫买地》
       
       คนผู้หนึ่ง เอ่ยถามอาจารย์เซนว่า "สิ่งใดน่ากลัวที่สุดในโลก?"
       
       อาจารย์เซนตอบว่า "ความอยาก"
       
       คนผู้นั้นยังคงไม่เข้าใจ อาจารย์เซนจึงเล่าเรื่องๆ หนึ่งให้เขาฟัง ใจความดังนี้
       
       "ยังมีชาวนาผู้หนึ่ง ต้องการหาซื้อที่ดินสักหนึ่งผืน เขาได้ยินมาว่ามีคนต้องการขาย จึงได้เดินทางไปพบเพื่อติดต่อขอซื้อ เมื่อไปถึง ชาวนาจึงได้เอ่ยถามคนผู้นั้นว่า "ที่ดินของท่านขายอย่างไร?"
       
       ผู้ที่ต้องการขายที่ดินตอบว่า "ขอเพียงท่านมอบเงินให้ข้า 1000 ตำลึงเท่านั้น จากนั้นให้เวลาท่านหนึ่งวันเต็มๆ นับจากพระอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งพระอาทิตย์ตก ให้ท่านออกเดินเท้าไปรอบๆ ที่ดิน หากท่านสามารถเดินวนไปได้ไกลเท่าไหร่ ที่ดินเหล่านั้นล้วนนับเป็นของท่าน แต่หากว่าท่านเดินทางกลับมายังจุดเริ่มต้นไม่ทันพระอาทิตย์ตกดิน ท่านจะไม่ได้ที่ดินแม้แต่ตารางนิ้วเดียว"
       
       ชาวนาได้ฟังดังนั้นในใจก็คิดว่า "เช่นนี้ก็ไม่เลว ข้ายอมลำบากหนึ่งวัน เดินให้เร็วที่สุด ไกลที่สุด เพื่อที่จะได้ที่ดินกว้างใหญ่ การซื้อขายนี้ช่างคุ้มค่ายิ่งนัก" ดังนั้นเขาจึงตกลงทำสัญญากับผู้ขายที่ดินรายนั้น
       
       วันรุ่งขึ้น เมื่อพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า ชายชาวนาก็เร่งฝีเท้าจ้ำเดินออกไปทันที เมื่อถึงยามเที่ยงวัน เขาหันหลังกลับมามองก็พบว่าเขามาไกลจนมองไม่เห็นจุดเริ่มต้นแล้ว จึงค่อยเลี้ยงโค้งเพื่อเดินวนไปอีกด้านหนึ่ง พร้อมทั้งก้าวเดินต่อไปโดยไม่ยอมหยุดพัก แม่ว่าจะหิวโหยและเหนื่อยอย่างยิ่งก็ตาม เขาก้าวเดินต่อไป ต่อไป จนกระทั่งพบว่าพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้าแล้ว ในใจเขาจึงร้อนรนขึ้นมาเพราะเกรงว่าหากกลับไปไม่ทันพระอาทิตย์ตกจะหมดสิทธิ์ครอบครองที่ดินทั้งหมด เขาจึงรีบหันหลังกลับเพื่อเดินไปยังจุดเริ่มต้น แต่พระอาทิตย์ก็ใกล้จะลาลับฟ้าเต็มที เขาที่ทั้งเหน็ดเหนื่อย ตื่นเต้น และหิวโหยพยายามเร่งฝีเท้าก้าวเดินไปข้างหน้า จนกระทั่งเหลือเพียงสองก้าวจะถึงจุดเริ่มต้น ทว่าเรี่ยวแรงทั้งหมดที่เขามีได้ถูกใช้หมดสิ้นไปแล้ว สุดท้ายได้แต่ล้มลง ณ ที่นั้น ขณะล้มลงมือทั้งสองพลันทาบทับไปที่จุดเริ่มต้นพอดีกับที่พระอาทิตย์ลาลับฟ้า พร้อมกับชายชาวนาที่ล้มหายใจขาดห้วง สิ้นใจไปในลักษณะนั้น
       
       ที่ดินผืนกว้างใหญ่มหาศาลตกเป็นของชาวนาตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่จะมีความหมายอันใด ในเมื่อเขาไม่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้แล้ว"
       
       เมื่อจบเรื่องราวที่อาจารย์เซนเล่า เหล่าศิษย์ก็กระจ่างในใจ เข้าใจว่าเหตุใด "ความอยาก" จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในโลก
       
       ปัญญาเซน : กิเลส ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น คือจุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดของมวลมนุษย์
       
       ที่มา : หนังสือ 《菩提树下听禅的故事》, 惟真 เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 中国华侨出版社, 2004.08, ISBN 7-80120-851-X

http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9540000013225

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version