ผู้เขียน หัวข้อ: อัคคิวัจฉโคตตสูตร ว่าด้วยทิฏฐิ ๑๐ อย่าง  (อ่าน 1119 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

พระพุทธเจ้า พร้อมพระสงฆ์จำนวน 500 องค์ เสด็จโปรด เมือง สาวัตถี คราวที่เกิดโรค ห่า ( อหิวาต์ )

อัคคิวัจฉโคตตสูตร
เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร

[๒๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ปริพาชกวัจฉโคตร
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ทิฏฐิ ๑๐ อย่าง
[๒๔๕] ปริพาชกวัจฉโคตร นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูล
ถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

1. โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

2. โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.
ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

3. โลกมีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.
ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

4. โลกไม่มีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.
ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

5. ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.
ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

6. ชีพก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.
ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

ุ7. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.
ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

8. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.
ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

9. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.
ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

10. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ.
ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.

[๒๔๖] พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่าน
พระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ
ก็ตรัสตอบว่า ดูก่อนวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น ฯ ล ฯ

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า
ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า

สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ดังนี้หรือ
ก็ตรัสตอบว่า ดูก่อนวัจฉะ.เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น
ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นโทษอะไรหรือ
จึงไม่ทรงเข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้.

[๒๔๗] ดูก่อนวัจฉะ
ความเห็นว่า
โลกเที่ยง . . . โลกไม่เที่ยง . . .
โลกมีที่สุด. . . โลกไม่มีที่สุด. . .
ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น. . . ชีพก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง . . .
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่. . .
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี . . . สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้

ดังนี้นั้น
เป็นความเห็น ที่ รกชัฏ
เป็นความเห็น อย่าง กันดาร
เป็นความเห็น ที่เป็น เสี้ยนหนาม
เป็นความเห็น ที่ กวัดแกว่ง
เป็นความเห็น เครื่องผูกสัตว์ไว้

เป็นไปกับด้วยทุกข์
เป็นไปกับด้วยความลำบาก
เป็นไปกับด้วยความคับแค้น
เป็นไปกับด้วยความเร่าร้อน

ไม่เป็นไป
เพื่อความหน่าย
เพื่อความคลายกำหนัด
เพื่อดับสนิท
เพื่อสงบระงับ
เพื่อความรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน .

ดูก่อนวัจฉะ
เราเห็นโทษนี้แล จึงไม่เข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้.

ก็ความเห็นอะไร ๆ ของท่านพระโคดม มีอยู่บ้างหรือ.
ดูก่อนวัจฉะ
ก็คำว่า ความเห็น ดังนี้ ตถาคตกำจัดเสียแล้ว

ดูก่อนวัจฉะ
ก็ตถาคตเห็นแล้วว่า
ดังนี้ รูป
ดังนี้ ความเกิดแห่งรูป
ดังนี้ ความดับแห่งรูป

ดังนี้ เวทนา
ดังนี้ ความเกิดแห่งเวทนา
ดังนี้ ความดับแห่งเวทนา

ดังนี้ สัญญา
ดังนี้ ความเกิดแห่งสัญญา
ดังนี้ ความดับแห่งสัญญา

ดังนี้ สังขาร
ดังนี้ ความเกิดแห่งสังขาร
ดังนี้ ความดับแห่งสังขาร

ดังนี้ วิญญาณ
ดังนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณ
ดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณ

เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า
ตถาคต พ้นวิเศษแล้ว

เพราะ ความสิ้นไป
เพราะ คลายกำหนัด
เพราะ ดับสนิท
เพราะ สละ
เพราะ ปล่อย
เพราะ ไม่ถือมั่น

ซึ่ง ความสำคัญ ทั้งปวง
ซึ่ง ความต้องการ ทั้งปวง
ซึ่ง ความถือ ว่าเรา ว่าของเรา และ ความถือตัว นอนอยู่ใน สันดาน ทั้งปวง.

ปัญหาว่าด้วยผู้หลุดพ้น
[๒๔๘] ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะ
เกิดในที่ไหน.
ดูก่อนวัจฉะ คำว่า จะเกิดดังนี้ ไม่ควรเลย.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น จะไม่เกิดขึ้นหรือ.
ดูก่อนวัจฉะ คำว่า ไม่เกิดดังนี้ ก็ไม่ควร.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มี ไม่เกิดก็มีหรือ.
ดูก่อนวัจฉะ คำว่า เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ดังนี้ ก็ไม่ควร.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ.
ดูก่อนวัจฉะ คำว่า เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร.

[๒๔๙]
พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ก็ตรัสตอบว่า
ดูก่อนวัจฉะ คำว่าจะเกิดดังนี้ไม่ควร ฯ ล ฯ

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้นเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ ก็ตรัสตอบว่า
ดูก่อนวัจฉะ คำว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร
ข้าแต่ท่านพระโคดม
ในข้อนี้ข้าพเจ้าถึงความไม่รู้ ถึงความหลงแล้ว
แม้เพียง ความเลื่อมใสของข้าพเจ้าที่ได้มีแล้ว
เพราะวาจาที่ตรัสไว้ในเบื้องแรกของท่านพระโคดม บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว.

[๒๕๐] ดูก่อนวัจฉะ
ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง
เพราะว่า ธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก
ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้
สงบระงับ ประณีต
ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วยความตรึก ละเอียด
บัณฑิตจึงจะรู้ได้

ธรรมนั้น อันท่านผู้
มี ความเห็น เป็นอย่างอื่น
มี ความพอใจ เป็นอย่างอื่น
มี ความชอบใจ เป็นอย่างอื่น
มี ความเพียร ในทางอื่น
อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น รู้ได้โดยยาก

ดูก่อนวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้
ท่านเห็นควรอย่างใด ก็พึงพยากรณ์อย่างนั้น

ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ถ้า ไฟ ลุกโพลง อยู่ต่อหน้าท่าน
ท่านจะพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ลุกโพลงต่อหน้าเรา.

ข้าแต่ท่านพระโคดม
ถ้าไฟลุกโพลงต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา.

ดูก่อนวัจฉะ
ถ้าใคร ๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกเล่า ท่านถูกถามอย่างนี้แล้วจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร.

ข้าแต่ท่านพระโคดม
ถ้าใคร ๆ ถามข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุก ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ไฟ ที่ ลุกโพลง อยู่ต่อหน้าเรานี้ อาศัยเชื้อ คือ หญ้าและไม้จึงลุกอยู่.

ดูก่อนวัจฉะ ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่าไฟนี้ดับ ไปต่อหน้าเราแล้ว.

ข้าแต่ท่านพระโคดม
ถ้าไฟนั้นดับไปต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว.

ดูก่อนวัจฉะ ถ้าใคร ๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า
ไฟที่ดับไปแล้วต่อหน้าท่านนั้น
ไปยังทิศไหนจากทิศนี้ คือ ทิศบูรพา ทิศปัศจิม ทิศอุดร หรือทิศ
ทักษิณ
ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร.

ข้าแต่ท่านพระโคดม
ข้อนั้นไม่สมควร เพราะ ไฟนั้น อาศัยเชื้อ คือ หญ้าและไม้จึงลุก
แต่เพราะ เชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้น
จึงถึงความนับว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว

การละขันธ์ ๕
[๒๕๑] ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ
บุคคล เมื่อบัญญัติ ว่าเป็น สัตว์
พึงบัญญัติ เพราะ รูปใด
รูปนั้น ตถาคตละได้แล้ว
มีมูลรากอันขาดแล้ว
ทำให้เป็นดุจตาลยอด้วน
ถึงความไม่มี
มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา
ตถาคต พ้นจากการนับว่า รูป
มีคุณอันลึก อันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก
เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น

ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่า ไม่เกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี
ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้

บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติ
เพราะเวทนาใด. . .
เพราะสัญญาใด. . .
เพราะสังขารเหล่าใด. . .
เพราะวิญญาณใด. . .

วิญญาณ นั้นตถาคตละได้แล้ว
มีมูลรากอันขาดแล้ว
ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน
ถึงความไม่มี
มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา
ตถาคต พ้นจากการนับว่าวิญญาณ
มีคุณอันลึก อันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก
เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น

ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่า ไม่เกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี
ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้.

ปริพาชกวัจฉโคตรถึงสรณคมน์
[๒๕๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว
ปริพาชกวัจฉโคตรได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่ท่านพระโคดม

เปรียบเหมือนต้นสาละใหญ่ ในที่ใกล้บ้านหรือนิคม กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้ ของต้นสาละใหญ่นั้น จะหลุดร่วง กะเทาะไป เพราะเป็นของไม่เที่ยง
สมัยต่อมา ต้นสาละใหญ่นั้นปราศจาก กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้แล้ว คงเหลืออยู่แต่แก่นล้วน ๆ ฉันใด

พระพุทธพจน์ของท่านพระโคดม ก็ฉันนั้น
ปราศจากกิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้
คงเหลืออยู่แต่คำ อันเป็นสาระล้วน ๆ.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือน บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือตามประทีบในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด

ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
ฉันนั้นเหมือนกัน

ข้าพระองค์นี้ถึง ท่านพระโคดม พระธรรมและภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ
ขอท่านพระโคดม จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.
จบอัคคิวัจฉโคตตสูตรที่ ๒

ที่มา
http://www.tripitaka91.com/91book/book20/401_450.htm
http://www.tripitaka91.com/91book/book20/451_500.htm

โพธิ นิรันดร์ยะภาค https://www.facebook.com/skch.sokocho
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 13, 2015, 01:07:02 pm โดย ฐิตา »