ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมชาวภูฏานนับถือท่านกูรูรินโปเช ท่านคุรุปัทมะสัมภวะ ดั่งพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2  (อ่าน 1122 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



วันนี้แอดมินขอมาเล่าเรื่องของบุคคลสำคัญที่สุดของประเทศภูฏาน ท่านก็คือ ท่านกูรูรินโปเช (Guru Rinpoche) หรือท่านคุรุปัทมะสัมภวะ (Guru Padmasambhava) คนภูฏานจะเรียกว่า กูรูรินโปเช

ความหมายของคำว่า กูรู + รินโปเช

ก่อนอื่นขอขยายความคำว่า กูรู + รินโปเช ก่อนนะคะ

คุรุ (สันสกฤต: गुरु) หรือ กูรู (อังกฤษ: guru) หมายถึง ครู หรือ อาจารย์

ถ้าแยกศัพท์ออกมาแล้ว จะมีสองคำ คือ คำว่า คุ ซึ่งแปลว่า แสงสว่าง (เป็นผู้ชี้ทางแสงสว่าง) และคำว่า รุ แปลว่า ความมืดมน (เป็นผู้ขจัดความเขลาที่มืดมน) ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู และพุทธ นั้นมีที่มาจากปรัชญาความเชื่อในความสำคัญของการเข้าถึงความรู้ โดยมี คุรุ หรือ อาจารย์เป็นผู้ชักนำไปสู่จุดสูงสุด

คำว่า รินโปเช(Rinpoche)  แปลว่า “น่าเคารพยกย่องอย่างยิ่ง” (High in value , esteem)

คำว่าริมโปเชหมายถึงครูผู้ประเสริฐ สำหรับที่ภูฏาน รินโปเชทุกองค์ คือพระเถระผู้ใหญ่ผู้กลับชาติมาเกิดแล้วจะต้องมีศีลาจารวัตร และภูมิธรรมภูมิปัญญาสูง เป็นที่ยกย่องด้วย
โดยทั่วไปพระลามะที่กลับชาติมาเกิด มักจะได้การรับรองตั้งแต่เด็กๆและเรียนหนังสือ อบรมอย่างเข้มงวด เพื่อปูพื้นฐานให้เป็นครูผู้ประเสริฐช่วยเหลือสรรพชีวิตให้บรรลุธรรม
คำว่ารินโปเช มักจะใช้ในพุทธศานามหายานแบบทิเบต หรือเรียกอีกชื่อว่า วัชรยาน หรือ ตันตระยาน
ท่านรินโปเชที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เช่น ท่านพักชกรินโปเช ท่านดุงเซ่ การับ รินโปเช เป็นต้น
แต่คำว่า กูรูรินโปเช หรือ คุรุปัทมะสัมภวะ หรือ คุรุปัทมสมภพ มีองค์เดียวเท่านั้น

ประวัติของท่านกูรูรินโปเช

   กูรูรินโปเช ชาวพุทธทิเบตถือว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 พระองค์ทรงเป็นวัชรนิรมาณกายของพระอมิตาภะพุทธเจ้า วัชรธรรมกายของพระองค์คือวัชรธรรมกายของพระพุทธเจ้าทั้งปวง พระองค์เป็นผู้นำพุทธศาสนาเข้าสู่ทิเบตและดินแดนในแถบหิมาลัย

___________________________________________________________

หมายเหตุ

ฝ่ายพระพุทธศาสนานิกายมหายาน มีแนวความคิดในเรื่องกายของพระพุทธเจ้าว่ากายของพระพุทธเจ้านั้น แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

           ๑. นิรมาณกาย หมายถึงกายของพระพุทธเจ้า ที่ยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ ยังมีการเกิด แก่ เจ็บและตายเหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไป นิรมาณกายนี้มหายานเชื่อว่า เป็นการเนรมิตขึ้นมาจากสัมโภคกาย เพื่อเป็นอุบายในการสั่งสอนสัตว์โลก
           ๒. สัมโภคกาย หมายถึง กายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า กายนี้จะไม่มีการแตกดับ อยู่ในสภาวะที่เป็นทิพย์ชั่วนิรันดร์สามารถแสดงตนให้ปรากฏแพระโพธิสัตว์ได้ และสามารถรับรู้คำอ้อนวอนสรรเสริญจากผู้ทีเลื่อมใสได้ สัมโภคกายนี้เองที่เนรมิตตนลงมาเป็นนิรมาณกายในโลกมนุษย์เพื่อการสั่งสอน ดังนั้น แม้ในปัจจุบันนี้ พระพุทธเจ้าที่เคยอุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ทุก ๆ พระองค์ ก็ยังดำรงอยู่ในสภาวะแห่งสัมโภคกายนี้มิได้สูญหายไปไหน
           ๓. ธรรมกาย อันหมายถึง สภาวะอันเป็นอมตะเป็นสิ่งไร้รูป ไม่อาจรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส

           ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ทั้งไม่มีจุดกำเนิดและผู้สร้าง ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง แม้จักรวาลจะว่างเปล่าปราศจากทุกสิ่ง แต่ธรรมกายจะยังดำรงอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด มหายานชื่อว่า ธรรมกายนี้เองที่แสดงตนออกมาในรูปของสัมโภคกายบนภาคพื้นสวรรค์ และสัมโภคกายก็จะแสดงตนออกมาในรูปของนิรมาณกายทำหน้าที่สั่งสอนสรรสัตว์ในโลมนุษย์
___________________________________________________________

ในพระสูตรวัชรยาน ได้บันทึกไว้ ว่าพระพุทธศากยะมุนีพุทธเจ้าได้สั่งพระอานนท์เถระเจ้าไว้ว่าหลังพระองค์ปรินิพาน 8 ปี ให้พระอานนท์รับบุรุษผู้หนึ่งจากแคว้นอุทยานเป็นศิษย์ให้ถ่ายทอดธรรมทั้งสิ้นให้ ด้วยว่าท่านผู้นั้นจะเป็นผู้จรรโลงพุทธศาสนาต่อไปจนถึงยุดสุดท้าย ท่านก็คือ “องค์คุรุปัทมสมภพ”หรือกูรูรินโปเช่นั่นเอง

   ในช่วงเวลา 800ปี ในอินเดียบางช่วงท่านก็ปรากฏขึ้น บางช่วงท่านก็หายไป จนกระทั่งก่อนจะเข้าทิเบตจากการเชื้อเชิญจากกษัตริย์ไตรซองเดสเซน ตามคำแนะนำพระศานตรักษิตะ ท่านบรรลุมรรคผลอย่างสมบุรณ์ทรงความรู้ความสามารถ อิทธิปาฏิหาริย์ในพุทธตันตระยานอย่างถ่องแท้ หลังจากที่ท่านได้เข้าทิเบตแล้ว ทำให้ประชาชนในทิเบตและในแถบเทือกเขาหิมาลัยหันมาเป็นชาวพุทธ

   คุรุปัทมสมภพหรือกูรูริมโปเช พระผู้เป็นศูนย์รวมแห่งกาย วาจา ใจ ลับของพระอมิตาภะพุทธเจ้า พระอวโลกิเตศวรและพระศากยมุนีพุทธเจ้า หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวบังเกิดเป็นมหาศักดา วัชรนิรมานกาย ท่านทรงเป็นพระผู้สยบเหล่ามารให้รู้แจ้งในสันดานชั่วแห่งตน ทำให้บังเกิดศรัทธาธรรม ทรงปรากฏเป็นวัชรกายหกภูมิเพื่อโปรดสรรพชีวิตในแต่ละภูมิให้ได้บรรลุวิมุตติถึงการหลุดพ้นเด็ดขาด

   เมื่อพระศากยมุนีพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานผ่านไป 8ปี ในวันที่ 10 เดือน 7 ตามจันทรคติทิเบต คุรุปัทมสมภพท่านได้ถือกำเนิดเองบนดอกบัว 5 สี กลางทะเลสาบธนโกษะ แคว้นอุฑิยาน ในอินเดียตะวันตก ท่านกำเนิดจากการแบ่งภาคของพระอมิตาภพุทธเจ้า มิได้กำเนิดจากครรภ์ของสตรีใด

   พระราชาอินทรโพธิผู้ครองแคว้นอุฑิยาน ได้สถาปนาให้เป็นพระโอรส สืบทอดพระราชบังลังก์ เมื่อเติบโตขึ้นได้รับการเตือนจากพระวัชรสัตต์โพธิสัตว์ จึงสละราชสมบัติ ออกบรรพชา มอบตนเป็นศิษย์ในพระอานนท์เถระ ได้รับการถ่ายทอดธรรมตามคำบัญชาของพระพุทธเจ้าที่เคยสั่งพระอานนท์เถระไว้ล่วงหน้า

   ในขณะรับสิกขาบทจากพระอานนท์นั้น พระบริรักษ์ธรณีพุทธมารดาได้เสด็จมาถวายไตรจีวร สรรพพุทธทั่วทศทิศสำแดงกายปกปักษ์คุ้มครอง ร่วมอนุโมทนาสาธุการ ได้เข้าปฏิบัติสมาธิ ณ วนาโกษะ เพื่อศึกษาพุทธสูตรธรรมแล้วจึงเหาะเหินเข้าสู่พุทธเกษตรแห่งพระสมัตรภัทรพุทธเจ้า เพื่อรับการถ่ายทอดอทิพุทธตันตระธรรม พระวัชรสัตต์โพธิสัตว์ทรงเสด็จมาถ่ายทอดมหาโยคะตันตระธรรม

   องค์กูรูรินโปเช สามารถบรรลุสูตรธรรมและตันตรธรรม กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวจนรู้แจ้งสำเร็จซึ่งพระอมิตายุสตถาคต อนุตตรสัมโพธิญาน กูรูรินโปเช ด้วยประสงค์ที่จะปราบปรามสรรพชีวิตที่มีทิฐิอันแข็งแกร่งยากที่จะโปรดให้บรรลุธรรมได้ ทำให้ต้องสำแดงกายดุร้ายที่มีเดชะบารมีแกร่งกล้า เหล่ามารร้ายนอกศาสนาต่างสยบยอมสาวามิภักดิทั้งสิ้น

   ท่านถ่ายทอดพระธรรมโปรดสรรพชีวิตทั้งหลายในอินเดีย เนปาล เป็นเวลาถึงแปดร้อยกว่าปี ด้วยพระปัญญาและพระเมตตาควบคู่กัน ต่อมาภายหลังได้รับการอัญเชิญจากกษัตริย์ ฑิโซงเดเชนให้เสด็จไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในทิเบตในราว พ.ศ.1300

   กูรูรินโปเชทรงมีบทบาทสำคัญในการสยบมารร้ายที่คอยขัดขวางการเผยแพร่พระธรรม ทรงให้พรและปลุกเสกสถานที่ต่างๆในทิเบต จนพระพุทธศาสนาสามารถประดิษฐานและรุ่งเรืองสุดขีดถึงปัจจุบัน ชาวทิเบตต่างสักการะท่านเสมือนหนึ่งพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง

   องค์กูรูรินโปเชได้กล่าวไว้ว่า “อาตมามิได้ไปหรือมา ผู้ที่มีศรัทธาอาตมาจะสำแดงให้เห็นตรงเบื้องหน้าและถ่ายทอดพระธรรมให้ ทุกเดือนวันที่ 10 อาตมาจะมาสอดส่องดูแลเหล่าสาวกทั้งหลาย” (ซึงก็คือช่วงที่มีการจัดงานเซชู หรือ ระบำธรรมะ หรือ ระบำหน้ากาก ในภูฏานนั่นเอง) เนื่องจากพระองค์ ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระอมิตาภพุทธเจ้าและพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ การปฏิบัติบูชาพระองค์จะทำให้ผู้นั้นพัฒนาจิตสู่การหลุดพ้นได้อย่างรวดเร็ว

การเข้ามาในภูฏานของท่านกูรูรินโปเช

       ไปที่ไหนๆ ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประเภทอาราม สถูป หรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะพิเศษในภูฏานที่เรียกว่าซอง หรือซองก์ (dzong) ต่างๆ ก็จะมีรูปเคารพของท่านประดิษฐานอยู่เคียงข้างพระพุทธรูปแบบพุทธวัชรยาน

       กูรูรินโปเชนั้นเปรียบเสมือนเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 ท่านเป็นพระอริยสงฆ์จากทิเบตที่เดินทางมาภูฏานในปี ค.ศ. 747 ตามตำนานมีปาฏิหาริย์มากมาย โดยเฉพาะสถานที่ที่ท่านขี่เสือบินมานั่งสมาธิในถ้ำบนหุบเขาสูงชานเมืองพาโรที่เดียวนี้กลายเป็นมหาวิหารทักซัง (Taktsang) หรือรู้จักกันในนาม Tiger Nest ภาพสัญลักษณ์ของประเทศภูฏานที่เราพบเห็นได้ทั่วไป

   ประวัติในภูฏานจะออกแนวตำนานอภินิหาร แต่หากได้ศึกษาลงไปอย่างลึกๆแล้ว จริงๆอภินิหารเหล่านั้นล้วนแฝงไว้ซึ่งคำสอนและหลักปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา เพียงแต่เดิมนั้นภูฏานเป็นดินแดนในป่าอันห่างไกล นับถือภูตผีปีศาจ จึงมีการเล่าขานประวัติทางพุทธศาสนาในรูปแบบของอำนาจเหนือธรรมชาติ แต่ก็เป็นอุบายที่ทำให้ชาวภูฏานในขณะนั้นหันมาเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา

   เวลาที่ไปเที่ยวภูฏาน ท่านจึงได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ภูฏาน ซึ่งสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประวัติทางศาสนา ในรูปแบบของตำนานเชิงอภินิหารนั่นเอง

   ช่วง พ.ศ. 1200 พระเจ้าจักกยาลโป สู้รบกับพระเจ้านวเช ทางตอนใต้ของภูฏาน ทำให้พระโอรสของพระเจ้าจักกยาลโปสิ้นพระชนม์ในสนามรบ พระองค์จึงเลิกบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่ช่วยชีวิตพระโอรสของพระองค์ไว้ จากนั้นพระองค์ก็ประชวร เนื่องจากหัวหน้าภูติผีปีศาจจับวิญญาณของพระองค์ไว้ ท่านกูรูรินโปเช ได้เดินทางมาจากเนปาลเพื่อช่วยปราบผีให้ โดยท่านขอ “ซุงมา” หรือตันตระเทวี ช่วยเหลือท่านในการปราบผี พระเจ้าจักกยาลโปจึงได้พระราชทานพระธิดาผู้มีลักษณะแห่ง “ฑากิณี” 21 ประการ จากนั้นท่านกูรูรินโปเชจึงนำนางไปยังวัชรคูหา เพื่อทำพิธี 21 วัน ต่อมานางก็ได้ชื่อว่า “มาซิกพุมเดน” คือพระแม่องค์เดียวที่สามารถจะช่วยท่านบำเพ็ญศาสนกิจได้เป็นอย่างดี ดังนั้นพุทธศาสนาในภูฏาน จึงเป็นวัชรยาน เนื่องจากได้รับจากทิเบตโดยตรง

   เมื่อเสร็จพิธีแล้ว พระเจ้าจักกยาลโปก็หายจากอาการพระประชวร จึงนิมนต์ให้ท่านกูรูรินโปเชพำนักที่เมืองบุมธัง และปวารณาทุกอย่างที่ท่านต้องการ แต่ท่านปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าอยู่ประจำไม่ได้ เพราะโลกทั้งโลกเป็นที่อยู่ของท่าน ก่อนจากก็ให้กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกันด้วยอำนาจตันตระ แล้วให้รับพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จากนั้นท่านก็ได้จาริกในภูฏาน 20 แห่ง ประทับรอยบาทไว้เป็นปูชนียสถานของประเทศ  ท่านกูรูรินโปเชเผยแผ่ด้วยการต่อสู้กับปีศาจร้ายจนตายหมด ที่เหลือก็เป็น “ธรรมบาล 8 ตน” ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาแล้วปกป้องคุ้มครองศาสนาด้วย

   สถานที่ที่ท่านกูรูรินโปเชได้เสด็จไปบำเพ็ญเพียรวิปัสสนานั้น ต่างก็กลายมาเป็นสถานที่สำคัญขชาวภูฏานในการออกจาริกแสวงบุญตามรอยท่านกูรูรินโปเช เช่น จุดที่ศักดิ์สิทธิ์และโด่งดังที่สุดก็คือวัดทักซัง วัดอันศักดิ์สิทธิ์ในเมืองพาโร

ปางทั้ง 8 ของท่านกูรูรินโปเช



ในงานเซชู หรือ งานระบำธรรมะ หรือ งานระบำหน้ากาก จะเป็นวันที่ท่านกูรูรินโปเชจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ชาวภูฏานจะจัดพิธีและจบลงด้วยพิธีคลี่ผ้าทงเดรลที่มีรูปท่านกูรูรินโปเช



จาก http://www.globaltourplanner.com/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%8F%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99-1905/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...