เผื่อแผ่ความรัก และ ความเมตตา ด้วยการสร้างแมนดาล่าทราย พระเชนรีซิกตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา แม่ชีธุบเท็น ซังโม แม่ชีล็อบซัง ดรอลมา แม่ชีธุบเท็น ลับดอน และแม่ชีซังเย โชดรอน ผู้เป็นคณะชีอาวุโส 4 ท่านจากสำนักชีโกปัน คาโช คยากิล ลิง ประเทศเนปาล ได้ออกตระเวนไปทั่วสหรัฐอเมริกา ฮอลแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย เยอรมัน ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ ทางแถบยุโรป เกือบจะทุกๆ ปี เพื่อแผ่กระจายพลังงานที่ดีและความเมตตาไปสู่ทุกทวีป ผ่านทางการสร้างแมนดาล่าทรายพระเชนรีซิก
ผู้ที่จะได้รับคัดเลือกให้รับช่วงสืบทอดธรรมเนียมการทำแมนดาล่าทรายจะต้องเป็นแม่ชีที่มีความสนใจเป็นพิเศษและมีไหวพริบเท่านั้น โดยแม่ชีชั้นอาวุโสผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแมนดาล่าทรายจะเป็นผู้คัดเลือกเอง เนื่องจากแมนดาล่าแต่ละแบบมีความซับซ้อน ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วแม่ชีจึงมักจะมีความเชี่ยวชาญในการสร้างแมนดาล่าเพียงหนึ่งหรือสองแบบเท่านั้น แม่ชีผู้ถูกคัดเลือกจะได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นเป็นเวลาถึงสองปี ซึ่งในช่วงเวลาเหล่านั้น แม่ชีเหล่านี้ก็จะต้องทำแมนดาล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะจำลวดลายทั้งหมดได้ขึ้นใจ แม่ชีเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นผู้ฝึกปฏิบัติผู้ชำนาญเท่านั้น แต่ท่านยังได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีเกี่ยวกับธรรมเนียมซึ่งเป็นศิลปะในการสร้างแมนดาล่าทรายสีที่ซับซ้อนนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์และวิจิตรสวยงามที่สุดในเชิงพุทธศิลป์และธรรมเนียมปฏิบัติอีกด้วยและในปีนี้ก็นับเป็นโชคดีอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ที่คุณไอรีน ออง แห่ง WOFS ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับแม่ชีแห่งพุทธศาสนาสายทิเบตกลุ่มนี้ ให้มาสร้างแมนดาล่าทรายขึ้นที่วัดธรรมปัญญาราม จ.นครปฐม โดยคณะแม่ชีจะเริ่มประกอบพิธีสร้างแมนดาล่าทรายในวันที่ 31 มีนาคม 2551 และจะใช้เวลาพำนักอยู่จนกว่าการสร้างแมนดาล่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์โดยประมาณ แมนดาล่าทรายที่เสร็จสมบูรณ์นี้จะได้รับการเก็บรักษาให้ผู้ศรัทธาเข้าชมเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนที่จะทำลายทิ้งตามขนบธรรมเนียม และจะทำการแจกจ่ายทรายแมนดาล่าบางส่วนแก่ผู้เข้าร่วมพิธี และส่วนที่เหลือจะนำไปโปรยทิ้งในแหล่งน้ำเพื่อเป็นการแผ่กระจายพรศักดิ์สิทธิ์แห่งการบำบัดรักษาของแมนดาล่า
แมนดาล่าคืออะไรคำว่า “แมนดาล่า” ในภาษาทิเบตคือ “kyil-khor” มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า “ซึ่งล้อมรอบจุดศูนย์กลาง” โดยทั่วไปแล้ว แมนดาล่าจะถูกแสดงไว้เป็นรูปแบบสองมิติ ซึ่งโดยปกติก็จะทำจากกระดาษ สิ่งทอ และผงทรายย้อมสี และโดยเฉพาะสำหรับแมนดาล่าทรายจะมีชื่อเรียกว่า dul-tson-kyil-khor ในภาษาทิเบต ซึ่งแปลว่า “แมนดาล่าที่ทำจากผงสี”
แมนดาล่าคือการแสดงออกแห่งสภาวะของการรู้แจ้งอย่างถ่องแท้ และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องช่วยในการทำสมาธิ กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ แมนดาล่าแสดงให้เห็นวิมานสวรรค์อันศักดิ์สิทธิ์ของผู้รู้แจ้งอย่างชัดเจน และในกรณีนี้ก็คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งความเมตตาอันเป็นสากล ที่รู้จักกันในนามว่า “เชนรีซิก” ในภาษาทิเบต พระอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤต และกวนอิมในภาษาจีน (สำหรับประเทศไทย ก็จะเป็นพระไภษัชยคุรุ) อย่างไรก็ตาม ในระดับที่เป็นนัยขึ้นไปอีก แมนดาล่าจะเป็นสัญลักษณ์ของสภาวะอันบริสุทธิ์แห่งจิตใจเรา ซึ่งสมมติไว้ในรูปแบบของวิมานสวรรค์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยที่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะในเนื้อแท้ของเราจะสถิตอยู่ที่ใจกลางของวิมานในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง
จากมุมมองทางพุทธศาสนา ความเมตตาและปัญญาคือสองปัจจัยซึ่งเป็นแก่นสำคัญในการปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากพันธนาการแห่งความทุกขเวทนาทั้งปวง และทำให้เราบรรลุถึงสภาวะแห่งความสุขที่จริงแท้และยืนนาน
ในระหว่างการสร้างแมนดาล่าทรายของพระเชนรีซิก ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา แมนดาล่าจะค่อยๆ ก่อรูปขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาหลายวันที่ทุ่มเทไปพร้อมกับสมาธิอันแรงกล้าและงานทรายที่ต้องใช้ความอุตสาหะ ในที่สุดแมนดาล่าซึ่งอยู่ภายในจิตใจนี้ก็จะแปรเปลี่ยนไปสู่งานศิลป์สำหรับให้ทุกคนได้เห็นและชื่นชม
แมนดาล่ายังถูกสร้างขึ้นสำหรับพิธีกรรมรับเข้าที่อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงจะเป็นผู้อนุญาตให้ศิษย์ชั้นสูงเข้าร่วมในการฝึกสมาธิตามแนวตันตระ ทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ ณ ใจกลางแมนดาล่า และตัวแมนดาล่าเองล้วนได้รับการยอมรับว่าเป็นรูปแบบการแสดงออกอันบริสุทธิ์ของจิตใจที่รู้แจ้งอย่างเต็มเปี่ยมของพระพุทธเจ้า ในเชิงสัญลักษณ์แล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์คือผู้ให้การยอมรับ ส่วนแมนดาล่าก็คือสถานที่ซึ่งประกอบการยอมรับ ตลอดพิธีกรรมยอมรับนี้ เมล็ดพันธุ์แห่งความรู้แจ้งจะถูกปลูกฝังไว้ภายในจิตใจแต่ละบุคคล และจากนั้นก็จะได้รับการหล่อเลี้ยงโดยกระบวนการอันทรงพลังของการประจักษ์ถึงและการพิจารณาแมนดาล่า
นอกจากนี้ แมนดาล่าพระเชนรีซิกยังจัดเป็นแมนดาล่าแห่งพระพุทธเจ้าทุกองค์ที่มาจากปทุมวงศ์ อย่างเช่น อมิตภพุทธะ และทาราอีกด้วย
แมนดาล่าทราย – ศิลปะหรือการฝึกปฏิบัติทางจิตใจ?ในทางพุทธศาสนาสายทิเบต พระสงฆ์และชีจะสร้างแมนดาล่าที่สลับซับซ้อนด้วยทรายสีที่ทำจากหินพลอยอ่อนบดละเอียด (หินอ่อน) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกปฏิบัติทางจิต การสร้างแมนดาล่าทรายจะต้องใช้เวลานานนับชั่วโมงและเป็นเวลาหลายวันกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ แมนดาล่าแต่ละชิ้นประกอบด้วยสัญลักษณ์มากมายที่จะต้องทำขึ้นซ้ำใหม่อย่างสมบูรณ์แบบทุกๆ ครั้งที่มีการทำแมนดาล่า เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว พระสงฆ์หรือชีก็จะชุมนุมกันในพิธีกรรมที่เต็มไปด้วยสีสัน ท่องบทสวดด้วยเสียงทุ้มลึกไปพร้อมๆ กับกวาดแมนดาล่าใส่ไว้ในเหยือก แล้วนำไปเททิ้งลงสู่น้ำเพื่อเป็นการอวยพร การปฏิบัติเช่นนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ถึงวงจรแห่งชีวิตด้วย
ตามธรรมเนียมแล้ว แมนดาล่าทรายซึ่งทำขึ้นจากหินล้ำค่าหรือหินอ่อนตกผลึกที่ถูกนำมาบดละเอียด จะถือเป็นวัสดุที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะองค์ประกอบอันล้ำค่าที่นำเข้ามารวมไว้เหล่านี้ และความชำนาญขั้นสูงล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างรายละเอียดอันวิจิตรงดงามของแมนดาล่า เนื่องจากเม็ดทรายแต่ละเม็ดทำหน้าที่เป็นพรในขั้นตอนของพิธีกรรม แมนดาล่าทรายทั้งหมดจะรวมกันเป็นคลังแห่งพลังทางจิตวิญญาณอันกว้างใหญ่ไพศาล
แมนดาล่าทรายไม่ได้เป็นรูปแบบทางศิลปะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทุกๆ ขั้นตอนของการเตรียมการและการสร้างแมนดาล่าล้วนมีความหมายสำคัญ หรืออธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ พระพุทธเจ้าสามารถมองเห็นและออกแบบวิมานสวรรค์ ซึ่งก็คือแมนดาล่าของพวกท่านขึ้นมาได้ ในขณะที่เราไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจิตใจของเราถูกบดบังอย่างหนาหนักไปด้วยกรรมที่ไม่ดีและการมองเห็นที่ไม่บริสุทธิ์ ในการที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างภาพที่บริสุทธิ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และแมนดาล่าของท่านได้ พระพุทธเจ้าได้บอกเราไว้ในคัมภีร์เกี่ยวกับสมบัติต่างๆ ของแมนดาล่าของท่าน เพื่อว่าเราจะได้ทำสมาธิบนแมนดาล่าเหล่านั้น เพื่อสร้างภาพอันบริสุทธิ์และการประจักษ์แจ้งที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นแสดงออกมา ด้วยจุดประสงค์นี้เองจึงเป็นที่มาของการบรรยายอันละเอียดและซับซ้อนของโครงสร้างของแมนดาล่า อันได้แก่ ทวารทั้งสี่ทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ฯลฯ สีสัน และเครื่องประดับประดามากมายที่นำมาตกแต่งทั้งส่วนภายในและภายนอกแมนดาล่า แต่ละส่วนเหล่านี้มีความหมายเฉพาะในตัวมันเอง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการฝึกปฏิบัติของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เฉพาะองค์ที่สถิตอยู่ในแมนดาล่านั้นๆ
แมนดาล่าทำจากอะไร?แมนดาล่าอาจสร้างขึ้นจากเพชรล้ำค่า ดอกไม้ เมล็ดข้าวแห้ง หินสี หรือทรายสีก็ได้ สำหรับการสร้างแมนดาล่าทราย ทรายนับพันเม็ด ตั้งแต่แบบที่ละเอียดที่สุดไปจนถึงหินทรายเม็ดหยาบ จะถูกทำขึ้นจากหินอ่อนตกผลึกสีขาวที่ได้รับการคัดสรรอย่างพิถีพิถัน และจะถูกนำไปบดให้มีความหยาบต่างๆ กัน จากนั้นผงทรายเหล่านี้ก็จะนำไปผ่านกระบวนการย้อมสี โดยจะมีทั้งสิ้นห้าสี แต่ละสีแทนถึงปัญญาเฉพาะอย่างในการบรรลุถึงการเป็นผู้รู้แจ้ง ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้า แต่ละขั้นตอนในการเตรียมการนี้ต้องผ่านการปฏิบัติอย่างตั้งใจและได้รับการปลุกเสกในกระบวนการก่อนที่ผงทรายย้อมสีจะถูกนำมาใช้สร้างแมนดาล่าบนแท่นพื้นเรียบ
กรวยโลหะที่ใช้นั้นเรียกว่า chak-pu เมื่อกรวยที่มีลักษณะแคบและยาวนี้ถูกนำมาถูกับชิ้นเขาสัตว์ ทรายสีที่บรรจุอยู่ภายในกรวยก็จะไหลออกมาในจังหวะที่สม่ำเสมอ เครื่องขูดที่ทำจากไม้หรือที่เรียกว่า shing-ga ถูกนำมาใช้จัดขอบให้ตรงและจัดเม็ดทรายที่กระจัดกระจายให้สะอาดเรียบร้อย ความจำเป็นที่ต้องใช้ทั้งกรวยและเขาสัตว์โดยจะขาดสิ่งใดไปไม่ได้ในกระบวนการเหล่านี้ช่วยเตือนให้เราไม่ลืมว่า ไม่มีสิ่งได้ที่คงอยู่ได้โดยไม่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นจากการพึ่งพากันบนความหลากหลายของเหตุปัจจัย
ผงทรายย้อมสี ซึ่งมีทั้งสีน้ำเงิน ขาว เหลือง แดง เขียว ดำ น้ำตาล ส้ม ฟ้า เหลืองอ่อน แดง และเขียวอ่อน จะถูกนำมาใช้ ในการฝึกปฏิบัติตามแนวตันตระ สีขาว เหลือง แดง และน้ำเงินอมดำจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการกระทำอันสันติ เพิ่มพูน ทรงอำนาจ และดุร้าย ตามลำดับ การกระทำดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว แต่มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตอื่นๆ
อัตราส่วนที่แน่นอนและรายละเอียดทั้งหมดในการสร้างแมนดาล่าทรายถูกกล่าวไว้ในตำราโบราณทางพุทธศาสนา แม่ชีจะทำตามภาพประติมานวิทยาทางศาสนาอย่างพิถีพิถัน เพราะทุกๆ ส่วนของแมนดาล่าสื่อสัญลักษณ์ถึงแง่มุมที่แตกต่างกันของคำสอนและการตระหนักถึงผู้ตรัสรู้ประจำแมนดาล่านั้นๆ
ขั้นตอนในการสร้างแมนดาล่าทรายก่อนที่จะเริ่มทำการสร้างแมนดาล่า แม่ชีจะต้องรวบรวมหินปูนสีขาวหรือไม่ก็หินอ่อนที่เป็นผลึกใส นำมาบดให้เป็นทราย จากนั้นจึงนำไปร่อนด้วยตะแกรงเพื่อให้ได้ผงทรายสามระดับคือ ละเอียด กลาง และหยาบ จากนั้นทรายเหล่านี้ก็จะถูกนำไปล้างอย่างพิถีพิถันและนำไปผึ่งให้แห้งก่อนที่จะนำไปย้อมด้วยสีย้อม
จากนั้นแม่ชีจะเริ่มการทำงานด้วยการลากเส้นเค้าโครงของแมนดาล่าบนแท่นยกพื้นที่เป็นไม้ แต่ละเส้นเป็นสัญลักษณ์ถึงปัญญาแห่งความสำนึกรู้ โดยทั่วไปขั้นตอนนี้จะกินเวลาที่เหลือของวัน ส่วนในวันต่อๆ มา แม่ชีจะวางทรายสี ซึ่งเกิดขึ้นโดยการเททรายออกจากกรวยโลหะแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า chak-pu แม่ชีแต่ละคนจะถือ chak-pur ไว้ในมือหนึ่ง ในขณะที่เลื่อนท่อนโลหะบนผิวกรวยด้านนอกที่เป็นรูตะแกรง การสั่นสะเทือนทำให้ทรายไหลลงมาเหมือนกับของเหลว
ตามธรรมเนียมแล้ว แมนดาล่าทรายส่วนใหญ่จะถูกทำลายไม่นานหลังจากที่สร้างเสร็จแล้ว สิ่งนี้คือการเปรียบเทียบถึงความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต ทรายจะถูกกวาดและนำไปใส่ไว้ในโถ และเพื่อความสมบูรณ์ในการให้การบำบัดรักษา ครึ่งหนึ่งของทรายนี้จะถูกแจกจ่ายไปยังกลุ่มผู้ร่วมงานเมื่อจบพิธี ในขณะที่ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปทิ้งลงสู่แหล่งน้ำที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง จากนั้นน้ำก็จะนำเอาพรแห่งการบำบัดรักษาไปสู่มหาสมุทร และจากจุดนั้นก็จะแพร่กระจายไปทั่วโลกเพื่อการบำบัดรักษา กฎแห่งการสูญสลายนี้สะท้อนให้เห็นถึงแก่นคำสอนทางพุทธศาสนาที่ว่า สิ่งใดก็ตามที่มีขึ้นด้วยเหตุและปัจจัย ย่อมไม่จีรังยั่งยืน การสูญสลายของแมนดาล่าทรายที่สวยงามและเปราะบางซึ่งเกิดจากผลของการทำงานที่ประณีตและพิถีพิถันเป็นเวลาหลายชั่วโมง จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นความเข้าใจในเรื่องความไม่จีรังยั่งยืน และการไม่ยึดมั่นถือมั่นในจิตใจ
กำหนดขั้นตอนของพิธีกรรมสำหรับแมนดาล่าทรายที่จะสร้างขึ้นภายในวัดธรรมปัญญารามจะได้รับการเก็บรักษาไว้ ณ แท่นยกพื้นเดิม โดยจะครอบไว้ในกรอบกระจกเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนที่จะทำลายทิ้งตามธรรมเนียมปฏิบัติ
1) พิธีกรรมเริ่มต้นการปลุกเสก
แม่ชีเริ่มพิธีด้วยการปลุกเสกพื้นที่จะใช้ในการวาดแมนดาล่าทราย
2) ทำการร่างลายเส้นวิมานสวรรค์
ภายหลังจากพิธีปลุกเสก แม่ชีก็จะเริ่มร่างลวดลายของแมนดาล่าทันที โดยปกติขั้นตอนนี้จะใช้เวลาอย่างน้อยสามชั่วโมงจึงจะแล้วเสร็จ
3) การสร้างแมนดาล่าทรายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ตลอดช่วงเวลาที่สร้างแมนดาล่านี้ แม่ชีจะเทเม็ดทรายนับล้านเม็ดจากกรวยโลหะแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า chak-pur แมนดาล่าที่เสร็จสมบูรณ์แล้วจะมีขนาดประมาณ 5x5 ฟุต และใช้เวลาสามถึงห้าวันเต็มๆ ในการทำงาน
4) การสร้างแมนดาล่าให้เสร็จสมบูรณ์
การสร้างแมนดาล่าทรายจะเสร็จสิ้นลงโดยแม่ชีจะทำพิธีปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง และหลังจากนั้นแมนดาล่าทรายก็จะถูกเก็บรักษาไว้เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีสำหรับให้ผู้มาเข้าชมและเพื่อเป็นการฝึกปฏิบัติทางจิตใจ
ประโยชน์ของแมนดาล่าทรายการมองไปที่แมนดาล่าทรายจะก่อให้เกิดรอยประทับที่ดีและทรงพลังในจิตใจ แมนดาล่าทรายคือวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างสมคุณความดีและความบริสุทธิ์ขึ้นจากพลังในตัวแมนดาล่าเอง ทั้งยังสร้างสมบุญให้แก่ผู้ทำแมนดาล่าทราย ผู้สนับสนุนการสร้างแมนดาล่า และผู้ที่ได้เห็นแมนดาล่าด้วย
เพียงแค่ได้เห็นแมนดาล่าก็จะก่อให้เกิดคลังอันยิ่งใหญ่แห่งพลังงานที่ดี และทำให้จิตใจของเราสงบสุขผ่องใส การทำความเข้าใจแมนดาล่าก็หมายถึงการทำความเข้าใจหนทางทั้งหมดในการไปสู่ความรู้แจ้ง แต่ละส่วนของแมนดาล่าเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ และย้ำเตือนผู้ปฏิบัติสมาธิถึงความเข้าใจอันถ่องแท้ สภาวะแห่งจิตใจ และความรู้สึกที่เรากำลังพยายามที่จะบรรลุให้ถึง
ท่านลามะ โซปา รินโปเช กล่าวไว้ว่าเพียงแค่เห็นภาพของแมนดาล่าทราย ก็เป็นพลังอันเหลือเชื่อในการชำระกรรมไม่ดีทั้งห้าที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องได้
กรรมชั่วที่ต่อเนื่องทั้งห้าได้แก่ การฆ่าบิดา การฆ่ามารดา การทำให้พระพุทธเจ้าเลือดตกยางออก การฆ่าพระอรหันต์ การสร้างเหตุให้หมู่สงฆ์แตกแยก แม้แต่กรรมชั่วอันหนักหนาเหล่านี้ที่ทำให้เราต้องทุกข์ทรมานนานชั่วกัปชั่วกัลป์ในโลกันตรนรกก็ยังสามารถชำระให้บริสุทธิ์ได้ ดังนั้นการกระทำที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรมทั้งสิบ ซึ่งก็คือกรรมไม่ดีในชีวิตประจำวัน เช่นการนินทาว่าร้าย ความโลภ และอื่นๆ ก็ย่อมสามารถชำระล้างได้อย่างไม่ต้องสงสัย
จาก
http://www.mahayan.com/th/index.php/religious-place/mandala