“เทศนาพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร” บนยอดเขาคิชกูฏ คติสำคัญของฝ่ายมหายาน
.
.
.
คงจำกันได้นะครับว่า “พระมหาโพธิสัตว์” ในคติมหายาน/วัชรยาน นั้น จะมีอานุภาพ ฤทธิ์เดชและอภินิหาร แต่ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ของฝ่ายสถวีรวาทิน (มูลสรรวาสสติวาท)/เถรวาท) พระโพธิสัตว์คือผู้บำเพ็ญบุญตามแบบโยคะ (โยคาจารย์) 500 พระชาติ (พระโพธิสัตว์แบบพุกาม 550 พระชาติ ) จนได้มาประสูติเป็นพระสมณโคดมพุทธเจ้า ตามคติฝ่ายนี้ พระโพธิสัตว์ไม่ได้มีมากมายแบ่งชั้นแบ่งคอนโดกันในแต่ละมันดารา (พุทธเกษตร) ตามแบบของนิกายวัชรยานครับ
.
ตามคติความเชื่อของฝ่ายมหายาน/วัชรยาน นั้น ถือว่า พระธรรมของฝ่ายเถรวาทนั่นเป็นพระธรรมแบบเด็ก ๆ พื้น ๆ พระพุทธเจ้าสอนมนุษย์ได้แค่ไหน มนุษย์ก็รับได้แค่นั้นแหละ เพราะรับได้ยาก เข้าใจก็ยาก แต่พระธรรมของฝ่ายมหายานนั้น เป็นพระธรรมชั้นสูงและมีเทคนิควิธีการในการบรรลุนิพพาน / หรือโพธิญาณได้เร็ว ไปกันเป็นหมู่ ส่งต่อบุญวาสนากันได้ และสามารถ “ปฏิบัติ” เพื่อเข้าสู่การเป็น (มานุษิยะ)โพธิสัตว์/พุทธะได้ตามประสงค์ ในขณะที่ตัวเองยังมีชีวิตหรือสิ้นชีวิตไปแล้ว
.
เรื่องราวสำคัญของฝ่ายมหายาน ที่สืบเนื่องต่อมาถึงลัทธิวัชรยาน ได้สร้างวรรณกรรมแบบ “พุทธประวัติ” ที่กล่าวถึงการเทศนาพระสูตรสำคัญที่พระพุทธเจ้า (ศากยมุนี – กายเนื้อที่เป็นมนุษย์ หรือพระอมิตาภะ) ได้สั่งสอน “พระสัทธรรมปุณฑริกสูตร” ไว้แก่เหล่าเทพยดา โพธิสัตว์ (มหาโพธิสัตว์ 80,000 องค์) พุทธบริษัทและสัตว์โลกทั้งสามภพ บนยอดเขาคิชกูฏ (เขาแร้งใกล้กรุงราชคฤห์ ) โดยมี “พญานาคนันทะ” และ “อุปนันทะ” รองรับก้านแห่ง “ปัทม – รัตนบัลลังก์ ไว้
.
“พญานาคนันทะ” และ “อุปนันทะ” จึงเป็นต้นทางสำคัญของคติและงานศิลปะ ที่กลายมาเป็น "มนุษย์นาค" ในคติพุทธเถรวาทลังกา ในช่วงเวลาต่อมา
.
ในการเทศนาพระธรรมสูตรขั้นสูงแก่ 3 โลกนี้ ยังเปิดให้เหล่าพระโพธิสัตว์บนมันดารา ได้พบกับอดีตพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เข้าสู่พระนิพพานไปแล้วด้วย ปรากฏเป็นรูปของพระสถูป หรือรูปอดีตพระพุทธจ้าเอง เรียงรายอยู่ด้านหลังในงานศิลปะทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะงาน “พระพิมพ์ดินเผา” (Votive Tablets - Terracotta Tablets) ในยุควัฒนธรรมทวารวดีหลายรูปแบบครับ
.
เรื่องราวของการเทศนาธรรมอันเป็นคติสำคัญของฝ่ายมหายาน บนพระพิมพ์ดินเผาทั้งเก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่ง เป็นพระพิมพ์แบบทรงกลมคล้ายตราประทับ อายุในยุคคุปตะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 ปรากฏรูปรอยของบุคคลในช่องที่แบ่งช่องออกเป็น 9 ช่องตาราง รายล้อมบุคคลสำคัญตรงกลางหมายถึง “พระอมิตาภะ” (พระพุทธเจ้าในกัลป์ปัจจุบัน) กำลังแสดงธรรมขั้นสูง ยกพระหัตถ์ขึ้นแสดงวิตรรกะมุทราทั้งสองข้างบนปัทมะ - รัตนะบัลลังก์ รายล้อมด้วยพระมหาธยานิโพธิสัตว์ทั้ง 8 (ตัวแทนเลข 8 คือผู้ปกปักษ์ทิศทั้งแปด แปดกลีบบัว 80,000 พระโพธิสัตว์จากแต่ละมันดารา มรรค 8 อาไร ๆ ที่มงคล ๆ ก็เป็นเลข 8 ครับ)
.
ด้านบนสุด อาจหมายถึง “สมันตภัทรโพธิสัตว์” (พระผู้ดูแลรอบด้าน) ธยานิโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าไวโรจนะ ประทับในท่านั่งสมาธิ แสดงมุทราประทานพร ถัดมาองค์ที่สองตามแนวเข็มนาฬิกา ควรยกให้เป็น “พระโพธิสัตว์วัชรปาณี” (มหาสถามปราปตะ) ในคติมหายานเดิม ถัดลงมา คือ “พระโพธิสัตว์เมไตรย” (ผู้จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต แต่ในคติวัชรยานจะวางรูปของพระองค์ไว้ที่ด้านซ้ายของพระอมิตาภะ)
.
ตามด้วยเป็นพระมหาโพธิสัตว์ “สรรวนิสรณวิษกัมภิณ” ถัดลงมาทางด้านล่าง อยู่ในท่าลลิตาสนะ เป็น”มัญชูศรีโพธิสัตว์” ขวาล่างเป็น “อากาศครรภโพธิสัตว์” ด้านซ้ายเป็น”พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” (วัชรยานวางรูปไว้ด้านขวาของพระอมิตาภะเช่นเดียวกับมหายาน) วนเข็มนาฬิกาครบที่ พระมหาโพธิสัตว์“กษิติครรภโพธิสัตว์”
.
ทั้งหมด จะรวมเรียกว่า “พระอัษฎางคมหาโพธิสัตว์” ครับ
..
ถึงฝ่ายมหายาน จะมี “พระโพธิสัตว์” แต่นิกาย “วัชรยาน” นั้น ก็มีพระโพธิสัตว์ แต่มีเยอะกว่าและยังทำหน้าที่แบบโหด ๆ (เช่นปราบพวกเทพเจ้าฮินดู) มีพุทธเทวะเป็นเพศหญิง (รับอิทธิพลมาจากคติศากตะ – ศักติ) มีคาถาและมนตราตามแบบฮินดู สาปแช่งก็ได้นะ.. มีรหัสลับเป็นอุบายในการเข้าถึงจุดหมาย (กายรหัส มโนรหัส วจีรัส) ดูนับถือง่าย แต่กลับไม่ได้รับความนิยมในยุคต่อมา ด้วยเพราะขาดตรรกะเหตุผลในการปฏิบัติอย่างฝ่ายพุทธเถรวาท มีแต่พวกพวก “พระ” หมอผีจอมขมังเวทย์ เสกคาถาอาคม (ยังหลงมาในปัจจุบันก็เยอะ) ครับ
.
.
.
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
จาก
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=359658881165487&id=100013641335044