แสงธรรมนำใจ > วัชรยาน
คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต : [The Tibetan Book of the Dead] ช่วงแรก
มดเอ๊กซ:
* คนเขียนคำนิยม บวชแล้ว เป็น ภิกษุณีธัมมนันทา
คำนิยม
" คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต " นั้นเป็นคัมภีร์ที่มีเอกลักษณ์ในตนเอง ทำให้นักวิชาการไทยให้ความสนใจแปลถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทย มาหลายสิบปีแล้ว เล่มล่าสุดเป็นฉบับแปลของ ผศ. ดร. ภัทรพร สิรกาญจน แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับฉบับนี้มี ความแตกต่างกันไป คือเป็นฉบับที่ถ่ายทอดมาทาง อาจารย์กรรมะ ลิงปะ และอาจารย์จอกยัม ทรุงปา เป็นผู้รจนาอรรกถาประกอบ
สำหรับชาวพุทธในอเมริกานั้นการแนะนำท่านจอกยัม ทรุงปา ริมโปเช เป็นสิ่งไม่จำเป็น เพราะท่านเป็นบุคคลที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ชาวพุทธในอเมริกามีหลายสาย ทั้งเถรวาท และมหายาน แบบจีน ญี่ปุ่น และธิเบต ในสายธิเบตนั้นท่านจอกยัม ทรุงปา เป็นอาจารย์ที่มี ลูกศิษย์มากที่สุดคนหนึ่ง ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นอาจารย์เก่าของธิเบตที่กลับชาติมาเกิดเพื่องานพระศาสนา เดิมบวชเป็นพระภิกษุใน พุทธศาสนา ต่อมาเมื่อเดินทางออกมาจากประเทศธิเบต ได้ออกมาอยู่ที่อังกฤษ และลาสิกขา แต่ยังคงเป็นอาจารย์สอนธรรมะ
ในบรรดาอาจารย์ผู้าสอนธรรมะทั้งหลายในตะวันตกนั้น จอกยัม ทรุงปา เป็นเลิศในการอธิบายธรรมะให้เป็นที่เข้าใจแก่ชาวตะวันตก งานประพันธ์ของท่านอาจารย์ได้สร้างแรงบันดาลใจในการปฏิบัติธรรมให้แก่ชาวพุทธเป็นอย่างมาก แต่ในชีวิตส่วนตัวนั้นท่านพร้อมไปด้วย สุรานารี ในชีวิตส่วนนี้ท่านอาจารย์ก็มิได้เคยปิดบังแก่สานุศิษย์ จึงเป็นเรื่องที่กล่าวขานกันยิ่งในบรรดาชาวพุทธทั้งหลาย ท่านอาจารย์สิ้นชีวิต ลงในวัยเพียง ๔๗ ปี ในวันที่บรรดาสานุศิษย์มาประชุมพร้อมกันเพื่อปลงศพของท่านนั้น ระหว่างพิธีพระอาทิตย์ทรงกลดชัดเจน
ด้วยความเป็นเลิศในความสามารถในการอธิบายพระธรรม การรจนาอรรถกถาฉบับนี้ จึงเป็นงานอีกเล่มหนึ่งที่ทำให้ชาวพุทธได้เข้าใจใน " คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต " ได้ดียิ่งขึ้น
ในชีวิตทั่วไปแล้วดูเหมือนมนุษย์ปุถุชนทั่วไปจะพยายามหลีกเลี่ยงความตาย ทั้งนี้เพราะความตายเป็นเรื่องลี้ลับไม่มีผู้ใดรู้ผู้ใดเห็น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองทรงเตือนพระอานนท์ให้เจริญมรณานุสสติเป็นนิจ เพื่อมิให้ประมาท เรามักจะใช้เวลาเตรียมตัวกับการทำนั่นทำนี่ แต่จะมีสักกี่คนที่สนใจที่จะเตรียมตัวตายอย่างสมบูรณ์ และถูกต้อง
พุทธศาสนาฝ่ายธิเบต เป็นสายเดียวที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องความตาย จนรวบรวมความรู้จากประสบการณ์นี้ขึ้นเป็นคัมภีร์เพื่อเป็นลายแทง นำทางให้พวกเราได้รู้จักมรรควิถีแห่งความตายที่ถูกต้อง เมื่อเวลานั้นมาถึงเราจึงไม่ตื่นตระหนกและสามารถไปได้อย่างถูกทาง
คัมภีร์ฉบับนี้ เป็นคัมภีร์อีกฉบับหนึ่งที่นำแสงสว่างทางปัญญามาสู่สังคมชาวพุทธเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์
ขอโมทนาแก่ผู้แปลที่ทำให้โลกหนังสือของไทยมีหนังสือที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเล่ม ส่วนผู้สามารถนำไปปฏิบัติได้ก็ย่อมเป็นกุศล สองฝ่าย คือทั้งผู้แปลและผู้ปฏิบัติ
ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
มดเอ๊กซ:
คำนำของผู้แปล
เมื่อราว ๒ ปีที่ผ่านมา คุณปู่ของข้าพเจ้าได้ล้มป่วยลงด้วยโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษาได้ สำหรับคนรุ่นใหม่อย่างข้าพเจ้า ที่กิจกรรมในสังคม เป็นไปตามความคาดหวังและการจัดวางอย่างสูตรสำเร็จ ความรู้สึกสูญเสียเช่นนี้ได้บ่มเพาะความจริงบางประการที่ข้าพเจ้าไม่ได้แลเห็น มาเสียนาน ความไม่แน่แท้และความสิ้นหวังที่จะยึดมั่นอยู่ในสิ่งเราควบคุมไม่ได้ แม้ข้าพเจ้าจะได้สูญเสียน้องชายและคุณยายไปในเวลา ไล่เลี่ยกัน แต่ก็เป็นไปในปัจจุบันทันด่วนเต็มที พิธีกรรมทั้งหลายที่มีก็จัดขึ้นในเวลารวดเร็วและหมดจดยิ่งนัก ในฐานะของญาติสนิท แห่งผู้วายชนม์ ข้าพเจ้ามีสิทธิพิเศษแค่การชำระเงิน และปฏิบัติตามกำหนดการพิธีกรรมเท่านั้น
แต่ในกรณีหลัง การเสื่อมสลายลงอย่างเชื่องช้า และการค่อย ๆ จากไป ทำให้ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจแปลหนังสือเล่มนี้ขึ้น ด้วยหวังจะให้ ทันการได้อ่านในพิธีกรรมของคุณปู่ แต่ก็หาได้ลุล่วงดังใจหวัง ถึงอย่างนั้นก็ตาม เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ได้ก่อให้ข้าพเจ้าได้เกิดสติ เล็งเห็นถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ความตายไม่ใช่เรื่องปวดร้าว เป็นอาการอ่อนโยนของการยินยอมให้ร่างกายและสังขารที่เหนื่อยล้ามานาน ได้พักพิงอย่างสันติ เป็นช่วงเวลาอันมหัศจรรย์ที่เราจักได้ผ่านเข้าไปสู่โลกที่คุณไม่รู้จัก โลกที่เคลือบแคลง อย่างอาจหาญ การจัดการกับ ความตายเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ หากยังไม่รู้วิธีที่จะดำรงชีวิตอยู่ ที่จะเรียนรู้ความเป็นไปต่าง ๆ รอบตัวเราในขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่
ข้าพเจ้าหวังว่าหนังสือเล่มนี้คงมีประโยชน์ต่อผู้เป็นมากกว่าผู้วายชนม์ ต่อผู้อยู่มากกว่าผู้จาก เป็นแรงบันดาลใจของการเผชิญหน้ากับ ทุกสถานการณ์อย่างไม่หวาดหวั่น ข้าพเจ้ากราบขอบพระคุณ พระไพศาล วิสาโล ที่ทั้งได้มอบหนังสือเล่มนี้ให้และยังได้สอบทาน หลังการแปลเสร็จ ทั้งที่ท่านมีภาระมาก รวมทั้งคุณฐิติมา คุณติรานนท์ ผู้ประสานงานให้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
อนุสรณ์ ติปยานนท์
มดเอ๊กซ:
* ภาพ อาจารย์ตรุงปะ
คำนำ
คัมภีร์มรณศาสตร์ เป็นหนึ่งในบรรดาคำสอนว่าด้วยการหลุดพ้นหกประเภท อันได้แก ่การหลุดพ้นโดยอาศัยการระลึกได้ การหลุดพ้นโดยอาศัยการลิ้มรส การหลุดพ้นโดยอาศัยการสัมผัส คำสอนเหล่านี้ถูกรจนาขึ้นโดยท่านคุรุปัทมสมภพ และต่อมาภรรยาของท่านนามเยเซ ซอกยุง ได้จดจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกับคัมภีร์สาธนา อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพสันติสี่สิบสององค์ และเทพพิโรธห้าสิบแปดองค์
คุรุปัทมสมภพฝังคัมภีร์เหล่านี้ไว้ในเทือกเขากัมโป ใจกลางประเทศธิเบต ต่อมาท่านกัมโปปะคุรุท่านหนึ่ง ก็ได้จัดตั้งอารามของท่านขึ้นที่นั่น คัมภีร์และวัตถุศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากจะถูกฝังไว้ทั่วธิเบตและได้รับการขนานนามว่า " มหาสมบัติที่ซ่อนเร้น " ท่านคุรุปัทมสมภพจักถ่ายทอดพลังอำนาจในการค้นพบคัมภีร์เหล่านี้แก่ศิษย์เอกจำนวนยี่สิบห้าท่านด้วยกัน คัมภีร์เล่มนี้ถูกค้นพบโดยท่าน กรรมะ ลิงปะ เป็นหนึ่งในศิษย์ กลุ่มดังกล่าวของคุรุปัทมสมภพที่กลับชาติมาเกิด
คำว่าการหลุดพ้นในที่นี้หมายความว่า บุคคลใดก็ตามที่ได้รับรู้ถึงคำสอนเหล่านี้ แม้จะมีภาวะจิตอันเคลือบแคลงสงสัยหรือเปิดกว้าง ย่อม สัมผัสกับประพิมประพายแห่งการตรัสรู้ โดยผ่านอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุอยู่ในคัมภีร์เล่มนี้
กรรมะ ลิงปะ เป็นคุรุในนิกายนยิงมา ทว่าสานุศิษย์ของเขาทั้งหมดสังกัดอยู่กับนิกายกาคิว เขาถ่ายทอดคำสอนเหล่านี้ให้แก่ โดกุล ดอร์จี ศิษย์ของเขาเป็นครั้งแรก
บรรดาผู้ศึกษาคำสอนเหล่านี้ จะทำการฝึกฝนสาธนา และทำความเข้าใจกับเทพทั้ง ๒ กลุ่ม ( มณฑล ) อย่างครบถ้วน จนกลายเป็น ประสบการณ์ของตนเอง ข้าพเจ้าเองได้รับการถ่ายทอดคำสอนนี้เมื่ออายุได้แปดขวบ และถูกฝึกฝนโดยวิปัสสนาจารย์ประจำตัวข้าพเจ้า อาจารย์จะพาข้าพเจ้าไปเยี่ยมเยียนผู้กำลังจะสิ้นใจเสมอประมาณ ๔ ครั้งต่อหนึ่งสัปดาห์ การทำการติดต่อสัมพันธ์กับกระบวนการแห่ง ความตายเช่นนี้ โดยเฉพาะการเฝ้ามองเพื่อนรักและญาติสนิทค่อย ๆ จากเราไปนั้น ย่อมมีความสำคัญต่อผู้ฝึกฝนคำสอนนี้มาก ทั้งนี้เพื่อให้ ความคิดในเรื่องของอนิจจังภาวะ กลายมาเป็นประสบการณ์ชีวิตแทนที่จะเป็นแต่ความนึกคิดทางปรัชญา
หนังสือเล่มนี้พยายามจะประยุกต์คำสอนดังกล่าวให้เข้ากับผู้สนใจ และบรรดานักศึกษาพุทธธรรมในโลกตะวันตก ข้าพเจ้าหวังว่า คัมภีร์สาธนาจะได้รับการแปลออกมาในกาลต่อไป เพื่อที่ว่าคำสอนแนวนี้ จะได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างครบถ้วน
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
มดเอ๊กซ:
บทนำ
โดยอาศัยการอธิบายเค้าโครงย่อ ๆ ของแนวคิดทางพุทธธรรมที่มีอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ย่อมก่อประโยชน์ในการเข้าใจถึงรายละเอียดที่มีอยู่ใน ภาคอรรถาธิบาย การยึดมั่นในตัวตนของเรา ( ตัวกูของกู ) จักถูกวิเคราะห์ในระบบของขันธ์ห้า คำว่าขันธ์ แปลว่ารวมความได้ว่า กลุ่มหรือออกอง แต่ความหมายจริง ๆ ของมันคือ " องค์ประกอบทางจิต "
องค์ประกอบแรกได้แก่รูป อันเป็นจุดเริมของความเป็นปัจเจกและการดำรงอยู่อย่างแยกตัวออกมาและจัดแจงประสบการณ์ออกเป็นทั้ง อัตวิสัยและภววิสัย บัดนี้มีตัวตนแต่เดิมที่ใช้รับรู้โลกภายนอก ทันทีที่การรับรู้นี้บังเกิดขึ้น ก็จะบังเกิดปฏิกิริยาตอบโต้อันเป็นขันธ์ที่สอง นามว่า เวทนา เวทนาเป็นอารมณ์ที่ยังไม่อิ่มตัวเต็มที่ เป็นเพียงความรู้สึกรักชอบ หรือไม่แบ่งแยกเราเขา ตามสัญชาตญาณนั้น ๆ แต่แล้วมันเริ่มซับซ้อนขึ้น เมื่อเจ้าตัวตนนี่เริ่มประเมินตัวเอง โดยการเปลี่ยนสภาพจากผู้รับรู้เป็นผู้ลงมือกระทำ อันเป็นสถานะขันธ์ที่สาม นามว่าสัญญา หรือการรับรู้ เป็นความรู้สึกอันเต็มเปี่ยม เมื่อเจ้าตัวตนได้ตระหนักถึงแรงกระตุ้นและทำการตอบโต้โดยพลันต่อสิ่งต่าง ๆ องค์ประกอบที่สี่ได้แก่ สังขาร หรือการปรุงแต่ง อันจะครอบคลุมกิจกรรมทางอารมณ์และกิจกรรมทางปัญญาที่เฝ้าแปลความหมายที่ ตามติดการรับรู้ องค์ประกอบนี้จะผูกองค์ประกอบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และเริ่มสร้างบุคลิกลักษณะและกรรม ขั้นสุดท้ายจะเป็นวิญญาณ ที่ได้ผสมรวมทุกสัมผัสรับรู้และจิตใจเข้าด้วยกัน บัดนี้เจ้าตัวตนได้กลายเป็นสากลจักรวาลซึ่งแทนที่มันจะรู้โลกดังที่เป็นอยู่ มันกลับก่อ จินตนาการต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
คำสอนพื้นฐานในหนังสือเล่มนี้ได้แก่การทำความเข้าใจถึงการที่บุคคลได้เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนและถอนออกจากความรู้สึกดังกล่าว เมื่อทำได้เช่นนั้น ส่วนประกอบขันธ์ทั้งห้าของจิตซึ่งสับสนหรืออวิชชาจะกลายเป็นปัจจัยแห่งการตรัสรู้ องค์ประกอบทั้งห้าจะกลับสู่ ภาวะอันบริสุทธิ์ ซึ่งจะปรากฏในระหว่างห้าวันแรกของบาร์โดหรืออันตรภพ
ในระหว่างประสบการณ์ดังกล่าว ภูมิทั้งหกได้ปรากฏขึ้นด้วยเป็นภาวะจิตซึ่งมีอวิชชา ซึ่งจะได้รับการพรรณาอย่างละเอียดในคำสอนนี้ แต่ละภพจะปรากฏขึ้นพร้อมกับทางเลือกอื่น ๆ อันเป็นโอกาสละทิ้งซึ่งความปรารถนาเฉพาะอย่าง ละเลิกการยึดเพื่อความมั่นคงแห่งตัวตน แต่กลับปลดปล่อยตนเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับปัญญาซึ่งได้ปรากฏเป็นรูปลักษณ์ที่สอดคล้องกับแต่ละภพ
ปัญญาดังกล่าวเหล่านี้ได้แก่อาณาจักรแห่งตถาคตทั้งห้า คำว่า ตถาคต หมายถึงผู้ไปแล้วด้วยดี ซึ่งอาจให้ความหมายเทียบเคียงได้ว่า เป็นผู้ที่เป็นหนึ่งเดียวกับแก่นสารสาระแห่งสัจธรรมอันเป็นความหมายใกล้เคียงกับคำว่า พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และชินะ ผู้ทรงชัย ตถาคตทั้งห้า เป็นพลังห้าแบบใหญ่ ๆ ของพุทธภาวะ อันหมายถึงปัญญาที่ได้ตื่นขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์ ตถาคตเป็นรูปปรากฏของปัญญาห้าประการ ทว่าในสังสารวัฏ อันหมายถึงโลกหรือภาวะแห่งจิตที่เราอาศัยอยู่ พลังงานเหล่านี้ปรากฏในรูปของอกุศลหรืออารมณ์อันสับสนทั้งห้า ทุกสิ่งในโลกหล้า ทั้งสัตว์สถานที่และสิ่งของต่าง ๆ ล้วนมีคุณลักษณ์โดดเด่นที่ข้องเกี่ยวกับหนึ่งในพลังงานทั้งห้า ดังนั้น นามอันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปจึงได้แก่ ปัญจสกุล
ตถาคตองค์ที่หนึ่ง ที่สถิตอยู่ ณ ใจกลางแห่งมณฑล ได้แก่พระไวโรจนพุทธ พระองค์เป็นตัวแทนแห่งอกุศลพื้นฐาน อันได้แก่อวิชชา เป็นความโง่งมที่ระมัดระวังตั้งใจอันเป็นที่มาของอกุศลอื่น ๆ พระองค์ยังเป็นปัญญาแห่งธรรมธาตุ อันได้แก่ อากาศอันไม่มีขอบเขต ที่ซึ่งทุกอย่างได้บังเกิดขึ้น เป็นด้านหักล้างแห่งอวิชชา ความที่พระองค์ทรงเป็นต้นเค้าและเป็นศูนย์กลาง สกุลของพระองค์จึงเป็น ที่รู้จักกันในนามของตถาคตหรือพุทธะเป็นด้านตรงข้ามกับอวิชชา
ตถาคตองค์ที่สอง ได้แก่ พระอักโษภยพุทธ สถิตอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งมณฑล ตามคติของชาวอินเดียจะอยู่ด้านล่างสุด ในบางคัมภีร์ พระอักโษภยพุทธอาจปรากฏอยู่ศูนย์กลางมณฑล โดยมีพระไวโรจนพุทธสถิตอยู่ทางทิศตะวันออกแทน อาจทำให้เกิดการสับเปลี่ยนคุณลักษณะพื้นฐานบางประการ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสีขาวและสีครามจึงปรากฏในวันที่หนึ่งและวันที่สอง และมักเกิดความสับสน ในแบบแผนของมณฑล พระอักโษภยพุทธเป็นผู้ปกครองวัชรสกุล อกุศลประจำองค์ได้แก่ความก้าวร้าวและความเกลียดชัง อันได้รับ การแปรเปลี่ยนเป็นปัญญาญาณที่แจ่มใสดุจกระจกเงา ที่สะท้อนทุกสิ่งอย่างแจ่มชัดไม่บิดเบือน
ในทางทิศใต้แห่งมณฑล ค่อนมาทางซ้าย พระรัตนสัมภวพุทธ ผู้ปกครองรัตนสกุล รัตนะ หมายถึงเพชร และในบางกรณีหมายถึง มณีล้ำค่าที่สนองตอบความต้องการ ดังนั้นยาพิษในที่นี้จึงไก่ มานะ อันเป็นผลมาจากการครอบครองความมั่งคั่งในทุกรูปแบบ ด้านหักล้างของมันได้แก่ปัญญาญาณแห่งความเท่าเทียม และวางเฉย หรืออุเบกขา
ในทางทิศตะวันตก พระอมิตาภพุทธ อันอยู่ในสกุลปัทมะหรือดอกบัว พระองค์เป็นสัญลักษณ์ของความใคร่และกระหายต้องการเสพทุกสิ่งทุกอย่าง ปัญญาญาณ อันตรงข้ามอกุศลได้แก่ ความไม่แบ่งเขาแบ่งเรา อันก่อให้เกิดความสงบรำงับ และการปล่อยวางต่อความปรารถนา จนเปลี่ยนเป็นการุณย์แทน
ลำดับสุดท้าย ณ ทิศเหนือ หรือด้านขวาแห่งมณฑล พระอโฆสิทธิพุทธแห่งกรรมสกุล กรรมหมายถึง การกระทำ มีสัญลักษณ์คือดาบหรือ วัชรไขว้ ความริษยาเป็นอกุศลที่ข้องเกี่ยวกับผลกรรม อุบัติจากความทะยานอยากที่ไม่ได้รับการตอบสนองอันก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ นานาติดตามมา กุศลตรงข้ามได้แก่ ปัญญาที่ยังกิจสำเร็จในการณ์ทั้งปวง
ตถาคตทั้งห้ายังมีคุณลักษณ์อื่นอีกมากมาย ซึ่งได้พรรนาแลอธิบายไว้ในภาคอรรถาธิบาย นอกจากนี้ ตถาคตทั้งห้าแต่ละองค์ยังมาคู่กับ อิตถีภาวะและประกายฉายฉานแห่งโพธิสัตว์ด้วย
ในขณะที่พระพุทธองค์ทั้งหลายเป็นรูปธรรมของการตรัสรู้ที่ไปพ้นความสับสนวุ่นวายของชีวิต พระโพธิสัตว์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่ง การบำเพ็ญกิจอย่างแข็งขันเพื่อประโยชน์แห่งสรรพสัตว์ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายคือกิจกรรมภายนอกของปัญญาทั้งห้าร่วมกับพลังงาน แห่งอิตถีภาวะ ที่มอบความอุดมพรั่งพร้อม อันทำให้กิจสำเร็จและปรากฏออกมาอย่างเต็มที่ เหล่าทวยเทพดังกล่าวที่ปรากฏในหนังสือ เล่มนี้ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกของโลกในท่ามกลางความเป็นจริง เทพเหล่านี้เป็นรูปปรากฏของพลังงานที่แตกต่างกันออกไป อันเราจักประสบอยู่เสมอทั้งใจ กาย จิต และอารมณ์ ถึงแม้ว่าเราจะไม่พินิจชีวิตของเราในแง่ของพลังงาน แต่ผลกระทบของมันก็บังเกิด ขึ้นกับเราตลอดเวลา ในภาคอรรถาธิบาย ท่าน เชอเกียม ตรุงปะ ได้ตีความพลังงานเหล่านี้โดยใช้ภาษาที่เราจดจำได้ง่าย ๆ ได้แก่ อารมณ์ คุณสมบัติ สภาพแวดล้อม วิถีชีวิต การกระทำและเหตุการณ์
ดังนั้น ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเขียนขึ้นสำหรับผู้ตายโดยเฉพาะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันก็เป็นเรื่องของชีวิตด้วยเช่นกัน พระพุทธองค์ มิได้ทรงหยิบยกถกเถียงว่าภายหลังจากดับจากโลกนี้ไปจะมีอะไรบังเกิดขึ้นกับเรา นั่นเป็นเพราะว่าปัญหาดังกล่าวหาประโยชน์มิได้ในการแสวงหาสัจธรรมในปัจจุบันขณะ ทว่าแนวคิดเกี่ยวกับการกลับชาติมาเกิด การดำรงอยู่ในภพทั้งหก และสภาวะระหว่างภพ ล้วนเกี่ยว ข้องกับชีวิตนี้เป็นอย่างยิ่ง ส่วนมันจะเกี่ยวพันกับชีวิตหลังความตายหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง การตระหนักว่า จุดประสงค์ของการอ่าน คัมภีร์มรณศาสตร์ให้ผู้ตายก็คือการเตือนใจเขาให้ระลึกถึงสิ่งที่เขาได้กระทำยามมีชีวิตอยู่ หนังสือเกี่ยวกับความตายเล่มนี้สามารถบอกเรา ได้ว่าเราควรจะดำรงชีวิตอยู่อย่างไรในปัจจุบันขณะ
ฟรานเชสก้า เฟอร์แมนเดิ้ล
มดเอ๊กซ:
อรรถาธิบาย
โดย เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
ถ้อยความแห่งคัมภีร์
ดูเหมือนจะมีปัญหาพื้นฐานบางประการที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันเป็นเบื้องแรกเมื่อเราพูดถึงคัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต หากผู้อ่านศึกษา คัมภีร์เล่มนี้โดยเทียบเคียงกับคัมภีร์ศพแห่งอียิปต์ ในด้านของตำนานและเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับบุคคลผู้ล่วงลับไป อาจทำให้เราคลาดออก จากประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นที่ข้องเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานในเรื่องของการเกิดและการตายอันดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในชีวิตเรา ซึ่งอาจทำให้เราขนานนามคัมภีร์เล่มนี้ว่าเป็นคัมภีร์ชาตศาสตร์ได้ด้วยเช่นกัน คัมภีร์เล่มนี้ไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่การสิ้นชีพเพียงอย่างเดียว แต่กลับมีมุมมองเกี่ยวกับความตายที่แตกต่างไปจากธรรมดามากทีเดียว มันเป็นคัมภีร์เกี่ยวกับช่องว่างเป็นช่องว่างระหว่างการเกิดและการตาย เป็นภาวะแวดล้อมที่ซึ่งเราจักปฏิบัติหายใจแสดงกิริยาอาการ เป็นสถานที่ที่ก่อแรงบันดาลใจให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้น
วัฒนธรรมบอนที่ดำรงอยู่ก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนาในธิเบต มีคำชี้แนะอย่างละเอียดว่าสมควรจักปฏิบัติต่อพลังจิตที่ถูกละทิ้งไว้โดย ผู้ตายอย่างไรดี สิ่งที่ผู้ตายหลงเหลือไว้นั้น ได้แก่ รอยเท้า ระดับอุณหภูมิ อันทำให้คาดคิดได้ว่าทั้งวัฒนธรรมบอนและวัฒนธรรมอียิปต์ ต่างก็มีรากฐานจากประสบการณ์ดังกล่าว คำแนะนำดังกล่าวเป็นในแง่ว่าจะทำอย่างไรดีกับรอยเท้า มากกว่าจะมุ่งความสนใจไปยัง มโนวิญญาณของผู้ตาย ทว่าหลักการสามัญที่ข้าพเจ้าจะพูดถึงในที่นี้นั้น ได้แก่บรรดาความไม่แน่นอนที่ปรากฏในสภาวะเปี่ยมสติและ ความคลุ้มคลั่ง
คำว่าบาร์โดนั้นหมายถึง ช่องว่าง แต่กลับมิได้หมายเอาถึงช่วงพักในภายหลังการจบชีวิตของเราเท่านั้น หากยังหมายถึงช่องว่าง ในสถานการณ์ชีวิตประจำวันด้วย การแตกดับนั้นปรากฏในสภาวะการดำเนินชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลา ประสบการณ์บาร์โดเป็นส่วนหนึ่ง จากการปรุงแต่งทางจิตวิทยาโดยพื้นฐานของเรา ความจริงแล้วประสบการณ์แห่งบาร์โดทุกประเภทอุบัติกับของเรา ทั้งความหวาดระแวง และความไม่แน่นอนแห่งชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่นความไม่แน่ใจในสภาพความเป็นอยู่ของเรา เราไม่รู้ว่า ตนกำลังแสวงหาสิ่งใดหรือ มุ่งสู่สิ่งใด ด้วยเหตุนี้คัมภีร์เล่มนี้จึงมิใช่เป็นเพียงถ้อยความสำหรับผู้ที่กำลังจะตายหรือได้ดับสิ้นลงไปแล้ว หากยังเป็นสารสำหรับบุคคล ที่ได้ถือกำเนิดแล้วอีกโสตหนึ่งด้วย การเกิดและการดับเกิดขึ้นกับทุกผู้คนในทุก ๆ ขณะภาวะ
ประสบการณ์บาร์โดภพสามารถแยกพิจารณาได้เป็นเรื่องราวแห่งภูมิหก แห่งการคุมขังที่เราต้องเผชิญผ่าน เป็นภูมิหกแห่งสภาวะทางจิตใจ ของเรา ในรูปของภูติผีเทวาต่าง ๆ กัน ดังได้พรรณาบรรยายในคัมภีร์เล่มนี้ ในช่วงสัปดาห์แรกหลังการตายเราจะประสบกับเทพชั้นสูง ส่วนในสัปดาห์สุดท้าย จักปรากฏตถาคตทั้งห้าและเทพเฮรุกามากมาย และหมู่เการิศอันเป็นผู้เชิญสารแห่งตถาคตทั้งห้า เหล่าภูติผีปีศาจ เหล่านี้จักปรากฏตนในรูปแบบน่าหวาดกลัวและแปลกตายิ่งนัก รายละเอียดที่กล่าวถึงในที่นี้เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุดในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้หาใช่อาการจิตหลอนหรือนิมิตที่ปรากฏหลังการตายเท่านั้น หากยังเป็นแง่มุมในสถานการณ์แห่งชีวิตที่เราต้องเผชิญหน้า
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาพนิมิตมายาเหล่านี้อาจหมายถึงสิ่งที่ปรากฏในการฝึกฝนสมาธิภาวนา อันเป็นกระบวนการที่จะไม่มีใครช่วยเหลือ เกื้อกูลเราได้ ทุกสิ่งถูกทอดทิ้งให้เป็นเรื่องเฉพาะตัวอย่างโดดเดี่ยว เป็นการเผชิญหน้าในสิ่งที่เราเป็น อาจเป็นได้ที่คุรุหรือกัลยาณมิตร เป็นผู้ปลุกเร้าส่วนนั้น แต่โดยพื้นฐาน พวกเขาหามีส่วนร่วมด้วยไม่
แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจริงภายหลังการตายของเรา มีใครเคยกลับมาจากเชิงตะกอนหรือหลุมศพและบอกเล่าถึง ประสบการณ์ที่เขาพานพบมาหรือ ทว่ารอยประทับเหล่านี้กลับทรงพลังมาก จนบุคคลที่เพิ่งถือกำเนิดมาใหม่จักมีความทรงจำในช่วงเวลา ระหว่างการเกิดและการตายอันใหม่สด ทว่าเมื่อเราเติบโตขึ้นเราจักตกอยู่ใต้อิทธิพลแห่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคม อีกทั้งเรายังตกอยู่ ใต้แบบแผนการเลี้ยงดูอันแตกต่างกันไป ดังนั้นรอยประทับอันลึกล้ำจักลบเลือนไป เว้นแต่ในบางครั้งบางคราที่มันจะผุดขึ้นชั่วพริบตา เมื่อนั้นแลเราจักสงสัยใคร่รู้ในประสบการณ์เยี่ยงนั้น และเราจักเริ่มหวาดหวั่นที่จะสูญเสียสิ่งที่จับต้องได้อันได้แก่การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ จนทำให้เราปฏิเสธหรือลังเลต่อสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ การพิจารณาเรื่องราวเหล่านี้จากแนวคิดที่ว่ามีสิ่งใดปรากฏขึ้นภายหลังการตายของเรา ดูออกจะคล้ายกับการศึกษาเรื่องราวในตำนาน แต่จริงแล้วเราจำเป็นต้องมีประสบการณ์บางอย่างในภาวะบาร์โด
เรื่องราวเหล่านี้เป็นประสบการณ์ขัดแย้งแห่งกายและวิญญาณ ประสบการณ์ต่อเนื่องระหว่างการเกิดและการตาย ประสบการณ์บาร์โดแห่งธรรมดา แสงสุกใส ประสบการณ์ใกล้จุติ บิดามารดาในอนาคตหรือภูมิที่เราจะไปจุติ เราย่อมได้พบเห็นนิมิตแห่งเทพสันติและเทพพิโรธ ซึ่งปรากฏอย่างต่อเนื่องในเวลานั้น หากเราหาญกล้าและเข้มแข็งเพียงพอเราย่อมเฝ้ามองทุกสิ่งอย่างองอาจ ครั้นแล้วประสบการณ์แห่งความ ตายและสภาวะบาร์โดก็จะไม่เป็นเพียงตำนานหรือเรื่องราวที่น่าตื่นตระหนกอีกต่อไป เพราะว่าเราได้เตรียมตัวอย่างพร้อมมูลและ ทำความคุ้นเคยกับทุกสิ่งไว้ก่อนหน้าแล้ว
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version