ผู้เขียน หัวข้อ: ชัมบาลา : บทที่ ๔ ความกลัวกับความไม่หวาดหวั่น    (อ่าน 79 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

บทที่ ๔ ความกลัวกับความไม่หวาดหวั่น

" การยอมรับถึงความกลัวใช่ว่าจะทำให้รู้สึกหดหู่
หรือท้อแท้ เพราะด้วยเหตุที่เรามีความกลัวเช่นนี้อยู่
เราจึงยังมีศักยภาพที่จะเข้าถึงความไม่หวาดหวั่น
อยู่ในตัวด้วย ความไม่หวาดหวั่นที่แท้จริงนั้นมิใช่การ
ลดทอนความกลัวลง แต่เป็นการขึ้นอยู่เหนือความกลัวนั้น "

 
......ในการที่จะเข้าถึงความไม่หวาดหวั่นได้ จำเป็นที่จะต้องประสบกับความกลัวเสียก่อน แก่นของความขลาดอยู่ตรงที่การไม่ยอมรับการมีอยู่จริงของความกลัว ความกลัวนั้นอาจปรากฎขึ้นในหลายรูปแบบ โดยมีเหตุผลแล้ว เรารู้ว่าเราไม่อาจมีชีวิตอยู่ชั่วกาลนาน เรารู้ว่าเราจะต้องตายสักวันหนึ่ง ดังนั้นเราจึงรู้สึกกลัว เราหวาดหวั่นต่อความตาย ในอีกระดับหนึ่งเรากลัวว่าเราจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาของโลกนี้ได้ ความกลัวชนิดนี้แสดงออกมาในความรู้สึกด้อย รู้สึกว่าตนเองไม่เก่ง เรารู้สึกว่าชีวิตของเรานี้ไร้หวัง และการต้องเผชิญกับโลกทั้งโลกยิ่งเป็นสิ่งพรึงเพริด ซึ่งอุบัติขึ้น เมื่อมีสถานการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นกับชีวิตอย่างกะทันหัน เมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถจัดการกับมัน เราก็เต้นแร้งเต้นกาหรือไม่ก็สั่นสะท้าน บางครั้งความกลัวก็สำแดงออกมาในรูปของความกระวนกระวาย ขีดเขียนอะไรเล่นในแผ่นกระดาษ ประสานมือไขว้นิ้วเล่นหรือนั่งอยู่ไม่เป็นสุขบนเก้าอี้ เรารู้ว่าเราต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เหมือนดังเครื่องรถยนต์ ลูกสูบเครื่องที่ขึ้น-ลง ขึ้น-ลง ตราบใดที่ลูกสูบเคลื่อนที่ เราก็รู้สึกมั่นคงปลอดภัย มิเช่นนั้นเราก็คงกลัวลนลาน และอาจหัวใจวายตายไปตรงนั้น
 
......มีกลวิธีอยู่มากมายที่เราใช้เพื่อดึงใจออกจากความกลัว บางคนก็ใช้ยาระงับประสาท บางคนก็ทำโยคะ บางคนก็ดูโทรทัศน์หรืออ่านนิตยสารหรือไปดื่มเบียร์ที่ร้านเหล้า จากทัศนะของคนขลาด ความเบื่อหน่ายเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะเมื่อเรารู้สึกเบื่อเราจะเริ่มรู้สึกวิตกกังวล เราเริ่มเขยิบเข้าใกล้ความกลัวเข้าไปทุกที สิ่งบันเทิงใจต่าง ๆ ล้วนได้รับการต้อนรับ และความคิดใดๆ เกี่ยวกับความตายล้วนเป็นสิ่งพึงหลีกเลี่ยง ดังนั้นคนขลาดจึงพยายามใช้ชีวิตอยู่ดังประหนึ่งว่าความตายนั้นเป็นสิ่งไม่มีอยู่ มีบางยุคสมัยในประวัติศาสตร์ซึ่งมีคนอยู่ไม่น้อยผู้แสวงหายาอายุวัฒนะ เนิ่นนานก่อนที่เขาจะมีอายุครบพันปี เขาอาจจะพากันฆ่าตัวตายไปเสียก่อน และถึงแม้ว่าคุณอาจมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์คุณก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงสัจจะแห่งมรณะ และความทุกข์ของผู้คนที่แวดล้อมคุณอยู่
 
......ความกลัวเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ เราจำเป็นต้องประจักษ์ถึงความกลัวของเราและเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับมัน เราจะต้องสำรวจดูตัวเองว่าเราเคลื่อนไหวอย่างไร พูดคุยอย่างไร ประพฤติปฎิบัติเช่นไร กัดเล็บอย่างไรและบางครั้งก็เอามือล้วงกระเป๋าโดยไม่จำเป็น เมื่อนั้นเราจะค้นพบว่าความกลัวสำแดงตนออกมาอย่างไรในรูปของความกระวนกระวาย เราจะต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าความกลัวนั้นห้อมล้อมชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลาและในทุกสิ่งที่เรากระทำ
 
......อีกนัยหนึ่ง การยอมรับถึงความกลัวใช่ว่าจะทำให้รู้สึกหดหู่หรือท้อแท้ เพราะด้วยเหตุที่เรามีความกลัวเช่นนี้อยู่ เราจึงยังมีศักยภาพที่จะเข้าถึงความไม่หวาดหวั่นอยู่ด้วยในตัว ความไม่หวาดหวั่นที่แท้จริงนั้น มิใช่การลดทอนความกลัวลง แต่เป็นการขึ้นอยู่เหนือความกลัวนั้น ทว่าโชคร้ายที่ในภาษาอังกฤษนั้นเราไม่มีคำเฉพาะซึ่งหมายถึงสิ่งนี้ คำว่า "fearlessness" นับว่ามีความหมายใกล้เคียงที่สุด แต่โดยคำว่า "fearless" เรามิได้หมายถึงว่า "กลัวน้อย" (less fear) หากหมายถึง "อยู่เหนือความกลัว" (beyond fear)
 
......การขึ้นอยู่เหนือความกลัวเริ่มขึ้นเมื่อเราพิจารณาดูความกลัวของเรา เฝ้าดูความวิตกกังวล ความทุรนทุราย และความกระวนกระวายของตน ถ้าเราจ้องมองเข้าไปในความกลัว ถ้าเรามองทะลุลงไปใต้พื้นผิวของมัน สิ่งแรกที่เราพบก็คือความเศร้า ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ใต้ความทุรนทุรายนั้น ความทุรนทุรายนั้นเป็นอาการผิดปกติ มันดำเนินไปและสั่นไหวอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราทำตัวให้เนิบช้าลง เมื่อเราผ่อนคลายจากความกลัว เราจะพบความเศร้าซึ่งสงบและอ่อนโยนยิ่ง ความเศร้านี้สะเทือนใจคุณ และร่างกายก็ขับน้ำตาออกมา ก่อนที่คุณจะร้องไห้มีความรู้สึกวูบอยู่ในทรวงอก ครั้นแล้วคุณก็หลั่งน้ำตาออกมา คุณแทบจะหลั่งมันออกมามากมายดังสายฝนหรือธารน้ำตกทีเดียว คุณรู้สึกเศร้าและเหงาหงอยยิ่งขณะเดียวกันก็รู้สึกโรแมนติคด้วย นั่นคือเงื่อนปมรกของความไม่หวาดหวั่นและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นนักรบที่แท้ คุณอาจคิดเอาเองว่า เมื่อคุณเข้าถึงความไม่หวาดหวั่น คุณคงจะได้ยินเสียงซิมโฟนีหมายเลข 5 ของปีโทเวน หรือ ได้เห็นระเบิดก้องในท้องฟ้า แต่อัศจรรย์เหล่านั้นจะไม่มีอุบัติขึ้น ตามแนวทางของซัมบาลา การค้นพบถึงความไม่หวาดหวั่นย่อมอุบัติขึ้นจากการกระทำการร่วมกับความอ่อนโยนในหัวใจของมนุษย์
 
......กำเนิดของนักรบนั้นคล้ายดั่งเขากวางเรนเดียร์ที่เพิ่งงอก หะแรกเขาของมันที่นุ่มนิ่มดั่งยาง มีขนอ่อนขึ้นอยู่บนนั้นด้วย นั่นยังมิใช่เขาแต่เป็นเพียงปุ่มปมที่มีเลือดหล่อเลี้ยงอยู่ในนั้น ครั้นพอกวางเรนเดียร์มีอายุมากขึ้น เขาก็แข่งแกร่งขึ้นตามวัย แตกกิ่งออกสี่กิ่งบ้างจนถึงสี่สิบก็มี ความไม่หวาดหวั่นนั้นเริ่มแรกคล้ายดังเขาอ่อนนุ่ม ๆ เหล่านั้น มันดูคล้ายเขาก็จริงแต่ไม่สามารถใช้มันเป็นอาวุธต่อสู้ได้ เมื่อกวางเริ่มงอกเขาอ่อน มันก็ไม่รู้ว่าจะใช้เขานั้นทำอะไร คุณคงต้องรู้สึกเคอะเขินมากที่เดียวที่ต้องมีปุ่มปมนุ่ม ๆ งอกอยู่บนหัว แต่ในไม่ช้ากวางจะเริ่มตระหนักได้ว่ามันจะต้องมีเขาและเขานั้นเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของการเป็นกวาง ในทำนองเดียวกันเมื่อมนุษย์เริ่มให้กำเนิดแก่ดวงใจอันอ่อนโยนของนักรบเป็นคราแรก เขา(ไม่ว่าชายหรือหญิง) ย่อมรู้สึกเคอะเขินอย่างบอกไม่ถูก เต็มไปด้วยความไม่แน่ใจว่าจะสัมพันธฺกับความไม่หวาดหวั่นชนิดนี้อย่างไร แต่แล้วเมื่อคุณได้สัมผัสรับรู้ถึงความเศร้าชนิดนี้มากขึ้นเป็นลำดับ คุณจะประจักษ์แจ้งแก่ใจว่ามนุษย์นั้นควรจะต้องมีความอ่อนโยนและเปิดกว้าง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่คุณจะต้องรู้สึกอายหรือเคอะเขินต่อความเป็นคนอ่อนโยนเลย แท้ที่จริงความอ่อนโยนของคุณเริ่มจะกลายเป็นความกรุณาไปเสียแล้ว คุณเริ่มอยากที่จะเข้าหาผู้อื่นและสื่อสารกับเขา
 
......เมื่อความอ่อนโยนพัฒนาไปตามแนวทางนั้น เมื่อนั้นแหละที่คุณอายแลเห็นคุณค่าของโลกรอบ ๆ ตัวอย่างแท้จริง สัมผัสและการรับรู้กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง คุณได้กลายเป็นความอ่อนโยนและความเปิดกว้างไปเสียแล้ว จนคุณต้องเปิดออกสู้สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวไปโดยปริยาย เมื่อคุณเห็นสีแดงหรือเขียว เหลืองหรือดำ คุณก็ตอบสนองออกไปจากก้นบึ้งของหัวใจ เมื่อคุณเห็นใครบางคนร้องไห้หรือหัวเราะหรือหวาดกลัว คุณก็ตอบสนองไปอย่างเหมาะสม จากจุดนี้เอง ความไม่หวาดหวั่นในระดับรากฐานก็ได้คลี่คลายไปสู่ความเป็นนักรบ เมื่อคุณเริ่มรู้สึกที่จะเป็นคนอ่อนโยนและสุภาพอย่างปล่อยวางตามสบาย เขากวางเรนเดียร์ของคุณก็จะมิใช่เขาอ่อนที่มีขนอยู่อีกต่อไป หากมันได้กลายเป็นเขาที่แท้จริง สภาพการณ์ต่าง ๆ กลับกลายเป็นของจริงและจริงยิ่ง อีกแง่มุมหนึ่งก็กลับเป็นสิ่งธรรมดาสามัญยิ่งเช่นกัน ความกลัวคลี่คลายมาเป็นความไม่หวาดหวั่นโดยธรรมชาติ เป็นไปอย่างง่าย ๆ และตรงไปตรงมายิ่ง
 
......อุดมคติของความเป็นนักรบก็คือจะต้องมีใจเศร้าและอ่อนโยนและด้วยเหตุนั้นเอง นักรบจึงองอาจกล้าหาญยิ่ง หากปราศจากใจเศร้าเช่นนั้นแล้ว ความกล้าหาญก็จะกลับกลายเป็นสิ่งเปราะบางยิ่ง เหมือนดังถ้วยกระเบื้อง ถ้าคุณทำตก มัานก็จะแตกกระจายหรือบิ่นร้าว แต่ความกล้าของนักรบนั้นเปรียบประดุจดังถ้วยเขิน ซึ่งมีไม้เป็นแกนเคลือบด้วยยางรัก ถ้าทำถ้วยเขินตก มันก็จะกระดอนแทนที่จะแตก มันมีทั้งความอ่อนนุ่มยืดหยุ่นและแข็งแกร่งในขณะเดียวกัน


ความกลัวกับความไม่หวาดหวั่น | ชัมบาลา หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ EP.4 : เชอเกียม ตรุงปะ

<a href="https://www.youtube.com/v//lJfpI9YqwTc" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//lJfpI9YqwTc</a>

https://youtu.be/lJfpI9YqwTc?si=GZwa_QKncNcvhbDQ

Playlist เพิ่มเติม https://youtube.com/playlist?list=PLV8Tyvuuh60Gzj63YdX_62gwt2EMxIPT4&si=4LTvpZqW_OjXvOr9
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...