แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

ธรรมซีรี่ย์... สัญลักษณ์แห่งความดีงาม [ดอกบัว]

<< < (4/8) > >>

ฐิตา:



อย่างไรก็ตาม ดอกบัวไม่จำเป็นต้องเกิดในสระโบกขรณีเสมอไป แม้ในสระอื่นก็อาจมีดอกบัวเกิดขึ้นได้ เช่น มีคำบรรยายว่า บริเวณที่ไม่ไกลจากอาศรมของพระเวสสันดร๖๙ มีสระบัวอีกสระหนึ่ง ชื่อว่า “สระมุจลินท์” ซึ่งหมายถึงสระที่มีต้นจิกล้อมรอบ ในสระนี้ก็มีดอกบัวขึ้นมากมายเช่นกัน ดังคำบรรยายว่า


                         

ดอกปทุมสีขาวดังผ้าโขมพัสตร์ สระนั้นชื่อสระมุจลินท์ ดารดาษไปด้วยอุบลขาว จงกลนี และผักทอดยอด อนึ่ง ปทุมชาติในสระนั้นมีดอกบานสะพรั่ง ปรากฏเหมือนไม่มีกำหนดประมาณ บานในคิมหันตฤดูและเหมันตฤดูแผ่ไปในน้ำแค่เข่า เหล่าปทุมชาติงามวิจิตรชูดอกสะพรั่งส่งกลิ่นหอมฟุ้ง หมู่ภมรบินว่อนร่อนร้องอยู่รอบ ๆ เพราะกลิ่นหอมแห่งบุปผชาติ สระโบกขรณีบริเวณภูเขาหิมพานต์นี้ มีชื่อเรียกว่า สระฉันทันต์ สระมันทากินี สระคัคครา ๒ สระแรกเป็นสระบัวขนาดใหญ่ กว้างยาว ๕๐ โยชน์ มีคำบรรยายว่า

สระฉัททันต์นั้น ทั้งส่วนยาวส่วนกว้างประมาณ ๕๒ โยชน์ ตรงกลางลึกประมาณ ๑๒ โยชน์ ไม่มีสาหร่าย จอกแหน หรือ เปือกตมเลย เฉพาะน้ำขังอยู่ มีสีใสเหมือนก้อนแก้วมณี ถัดจากนั้นมีกอจงกลนีแผ่ล้อมรอบ กว้างได้หนึ่งโยชน์ ต่อจากกอจงกลนีนั้น มีกออุบลเขียวตั้งล้อมรอบกว้างได้หนึ่งโยชน์ ต่อจากนั้น ที่กว้างแห่งละหนึ่งโยชน์ มีกออุบลแดง อุบลขาว ปทุมแดง ปทุมขาว และโกมุท ขึ้นล้อมอยู่โดยรอบ อนึ่ง ระหว่างกอบัว ๗ แห่งนี้ มีกอบัวทุกชนิด เป็นต้นว่า จงกลนีสลับกันขึ้นล้อมรอบ มีปริมณฑลกว้างได้หนึ่งโยชน์เหมือนกัน


ฐิตา:

สระโบกขรณีมันทากินีนี้เป็นสระใหญ่ นอกจากจะมีดงแหนอยู่รอบสระแล้ว ยังมีป่าบัวล้อมรอบอีกหลายป่า ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสถานที่นี้ พระอัญญาโกณฑัญญะซึ่งเป็นสาวกองค์แรก เป็นหนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ ได้ทูลลาพระพุทธเจ้าและพักอาศัยอยู่ฝั่งสระมันทากินี้เป็นเวลา ๑๒ ปี และได้ปรินิพพาน ณ ที่นี้

.....สระโบกขรณีมันทากินี มีประมาณ ๕๐ โยชน์ เนื้อที่ประมาณ ๒๕ โยชน์ของสระนั้น ไม่มีสาหร่ายหรือแหนเลย มีแต่น้ำสีเหมือนแก้วผลึกเท่านั้น อนึ่ง ถัดจากนั้นไป ในน้ำลึกประมาณสีข้างของช้างทั้งหลาย กว้างครึ่งโยชน์ เป็นป่าเสตปทุมตั้งล้อมรอบน้ำนั้น ต่อจากนั้นไปเป็นป่ารัตตปทุมใหญ่เท่านั้นเหมือนกัน ต่อจากนั้นไปเป็นป่ารัตตกุมุท ต่อจากนั้นไปเป็นป่าเสตกุมุท ต่อจากนั้นไปเป็นป่านีลุบล ต่อจากนั้นไปเป็นป่ารัตตอุบล....”

     
                  กกุฏฐานที

สระโบกขรณีดังกล่าว คือ สระฉัททันต์ สระมันทากินี และสระเทวทหะ เป็นสระที่เกิดเองตามธรรมชาติ ในบาลีมีกล่าวถึงสระโบกขรณีที่บุคคลขุดขึ้นมาด้วยเจตนาต่าง ๆ กัน กล่าวคือ มีผู้นิยมขุดสระบัวเพื่อตกแต่งสถานที่ให้เป็นที่น่าพักผ่อนหย่อนใจ หรือใช้อาบกิน เช่น สระคัคคราเป็นสระโบกขรณีแห่งหนึ่งที่มีความสวยงาม เหตุที่สระโบกขรณีนี้ชื่อว่า คัคครา เพราะพระมเหสีของพระราชาทรงพระนามว่าคัคคราทรงขุดไว้ โดยรอบฝั่งสระนั้นมีป่าต้นจัมปาใหญ่ ประดับประดาด้วยดอกไม้ ๕ สี มีสีเขียวเป็นต้น

ฐิตา:

พระอรรถกถาจารย์ได้เปรียบสระโบกขรณีกับการปฏิบัติธรรมจนถึงพระนิพพานไว้ ดังนี้

พึงเห็นอริยมรรค เหมือนสระโบกขรณี พึงเห็นการปฏิบัติในส่วนเบื้องต้นเหมือนทางไปสระโบกขรณี พึงเห็นบุคคลพร้อมพรั่งด้วยการปฏิบัติเหมือนบุคคลขึ้นสู่ทาง พึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีทิพยจักษุ เหมือนบุรุษผู้มีจักษุพึงเห็นนิพพาน

ทรงรู้บุคคลผู้บำเพ็ญปฏิปทา กำหนดนามรูป กระทำการกำหนดปัจจัย กระทำการงานด้วยวิปัสสนาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์ว่า บุคคลนี้บำเพ็ญปฏิปทานี้แล้ว ยังอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป เข้าถึงผลสมาบัติที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้อยู่ ในกาลส่วนอื่น บุรุษนั้น เห็นบุคคลนั้นอาบน้ำในสระโบกขรณีนั้นแล้ว เข้าไปสู่ราวป่าแล้วนั่งหรือนอนเสวยเวทนาอันมีความสุขโดยส่วนเดียวฉันใด ในกาลส่วนอื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นบุคคลนั้นบำเพ็ญปฏิปทา เจริญมรรค กระทำให้แจ้งซึ่งผลบรรลุผลสมาบัติ ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ อันถึงการนอนที่ประเสริฐ คือ นิโรธ เสวยเวทนาอันมีสุขโดยส่วนเดียวฉันนั้นเหมือนกัน

ขุ.ชา. (ไทย) ๒๘/๑๙๙๖/๔๙๕


ฐิตา:




ในมโหสถชาดก มีคำบรรยายว่า ครั้งเมื่อมโหสถ..
..สร้างบรรณศาลาประจำหมู่บ้าน ก็มีความเห็นว่า
หมู่บ้านใดไม่มีสระบัวประกอบ จะทำให้หมู่บ้านนั้นหมดความงามไป
จึงได้สร้างสระโบกขรณีให้มีคดลดเลี้ยวนับด้วยพัน
ให้มีท่าลงนับด้วยร้อยโดยความคิดของตน สระโบกขรณีนั้นดารดาษด้วย
ปทุมชาติ ๕ ชนิด  ทำให้ศาลานั้น..
..เป็นที่น่าพักผ่อนหย่อนใจของคนที่ผ่านไปมายิ่งขึ้น


จากการศึกษาพบว่า มีผู้ขุดสระบัวเพื่อกิจการอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ใช้เป็นที่สาธารณะเหมือนสระโบกขรณีทั่วไป เช่น สระโบกขรณีแห่งหนึ่งในราชสำนักไพสาลี ขุดขึ้นมาเพื่อประสงค์ใช้น้ำในสระประกอบพิธีงานอภิเษกแห่งคณะราชตระกูล ดังคำบรรยายว่า การอารักขาสระโบกขรณีนี้แข็งแรงทั้งภายในและภายนอก เบื้องบนเขาขึงตาข่ายโลหะ แม้นกก็ไม่มีโอกาสเข้าไป

 

ในเวสสันดรชาดก มีเหตุการณ์ที่พระชาลีราชกุมารและพระกัณหาราชกุมารี  ชอบไปเล่นในสระโบกขรณี เมื่อชูชกขอพระราชกุมารและพระราชกุมารีจากพระเวสสันดร ในขณะที่พระนางมัทรีออกไปหาผลไม้ในป่า และพระเวสสันดรประทาน ๒ กุมารให้ตามที่ชูชกขอ แต่ได้ตั้งค่าตัวของชาลีกุมารเป็นทอง ๑,๐๐๐ แท่ง ส่วนกัณหากุมารีนั้นตั้งค่าตัวเป็น ทาสชาย ๑๐๐ หญิง ๑๐๐ ช้าง ๑๐๐ ม้า ๑๐๐ โคอสุภะ ๑๐๐ ทองคำแท่ง ๑๐๐ แท่ง เมื่อพระราชกุมารทั้งสองพระองค์ทรงทราบเหตุแห่งการมาของชูชก ด้วยความกลัว จึงหนีไปหลบซ่อนยังสระโบกขรณีเพราะคิดว่าจะไม่มีผู้ใดหาพบได้ ดังคำบรรยายว่า เมื่อไม่สามารถจะดำรงอยู่ ณ ที่ไร ๆ ก็วิ่งไปแต่ที่นี้บ้างที่โน้นบ้าง เลยเสด็จไปถึงสระโบกขรณีสี่เหลี่ยม ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้มั่น ตกพระทัยกลัว ลงสู่น้ำ เอาใบบัววางไว้บนพระเศียร เอาน้ำบังองค์ประทับยืนอยู่




ฐิตา:

สระบัวในโลกสวรรค์

พระอรรถกถาจารย์กล่าวถึงสระบัวในโลกสวรรค์ว่า โลกสวรรค์แต่ละชั้นซึ่งเป็นที่อยู่ของทวยเทพทั้งหลาย มีสระโบกขรณีสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอยู่ภายในสวน
เช่น คำบรรยายดังนี้ว่า

ในท่ามกลางพระนครสุทัสสนะ มีปราสาทเวชยันต์ อันเป็นที่อยู่ของท้าวสักกะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร มีสวนดอกไม้ชื่อว่า สวนนันทวัน กว้างพันโยชน์ ภายในสวนมีสระโบกขรณีอยู่ ๒ สระ ชื่อ มหานันทา สระหนึ่ง ชื่อ จูฬนันทา สระหนึ่ง รอบบริเวณสระกับขอบสระปูลาดด้วยแผ่นศิลา เป็นที่สำหรับพักผ่อน แผ่นศิลาที่ปูรอบอยู่บริเวณสระใด ก็เรียกแผ่นศิลานั้นไปตามชื่อของสระนั้น

ทางทิศตะวันตกมีสวนชื่อว่าจิตรลดา กว้าง ๕๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณีอยู่ ๒ สระ ชื่อว่า วิจิตรา สระหนึ่ง จูฬจิตรา สระหนึ่ง
ทางทิศเหนือมีสวนชื่อว่า สวนมิสสกวัน กว้าง ๕๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณีอยู่ ๒ สระ ชื่อว่า ธัมมา สระหนึ่ง สุธัมมา สระหนึ่ง
ทางทิศใต้มีสวนชื่อว่า สวนผารุสกวัน กว้าง ๗๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณีอยู่ ๒ สระ ชื่อว่า ภัททา สระหนึ่ง สุภัททา สระหนึ่ง
สวนทั้ง ๔ นี้ เป็นสถานที่สำหรับเที่ยวพักผ่อนรื่นเริงของเทวดาทั้งหลายที่อยู่ในชั้นดาวดึงส์



นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version