ผู้เขียน หัวข้อ: องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๑. สัมมาทิฏฐิ)  (อ่าน 13526 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #20 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 12:57:06 pm »

เมื่อมีญาณทัสสนะ คือการรู้การเห็นประจักษ์แล้ว จึงไม่ต้องมีศรัทธา คือไม่ต้องเชื่อต่อผู้ใดอื่น ดังนั้น พุทธสาวกที่บรรลุคุณวิเศษต่างๆ จึงรู้และกล่าวถึงสิ่งนั้นๆ โดยไม่ต้องเชื่อต่อพระศาสดา เช่น ได้มีคำสนทนาถามตอบระหว่างนิครนถนาฏบุตร กับจิตตคฤหบดี ผู้เป็นพุทธสาวกฝ่ายอุบาสกที่มีชื่อเสียงเชี่ยวชาญในพุทธธรรมมาก ว่า

 นิครนถ์: แน่ะท่านคฤหบดี ท่านเชื่อพระสมณะโคดมไหมว่า สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารได้ มีอยู่
?
 จิตตคฤหบดี: ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามิได้ยึดถือด้วยศรัทธา ต่อพระผู้มีพระภาคว่า สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารได้ มีอยู่ ฯลฯ ข้าพเจ้านี้ ทันทีที่มุ่งหวัง...ก็เข้าปฐมฌานอยู่ได้...เข้าทุติย-ฌานอยู่ได้...เข้าตติยฌานอยู่ได้...เข้าจตุตถฌานอยู่ได้  ข้าพเจ้านั้น รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จึงไม่ยึดถือด้วยศรัทธา ต่อสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดๆ ว่า  สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีอยู่  ความดับแห่งวิตกวิจารได้ มีอยู่

 ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ พระอรหันต์ซึ่งเป็นผู้มีญาณทัสสนะถึงที่สุด จึงมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งว่า “อัสสัทธะ”  ซึ่งแปลว่า ผู้ไม่มีศรัทธา คือ ไม่ต้องเชื่อต่อใครๆ ในเรื่องที่ตนรู้เห็นชัดด้วยตนเองอยู่แล้ว อยู่เหนือศรัทธา หรือไม่ต้องอาศัยศรัทธา เพราะรู้ประจักษ์แล้ว ดังจะเห็นได้จากพุทธดำรัสสนทนากับพระสารีบุตรว่า

 พระพุทธเจ้า: สารีบุตร เธอเชื่อไหมว่า สัทธินทรีย์ที่เจริญแล้ว กระทำได้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่หมาย มีอมตะเป็นที่สิ้นสุด วิริยินทรีย์...สตินทรีย์...สมาธินทรีย์...ปัญญินทรีย์ (ก็เช่นเดียวกัน) ?

พระสารีบุตร: ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มิได้ยึดถือด้วยศรัทธา ต่อพระผู้มีพระภาค... แท้จริง  คนเหล่าใด ยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังไม่ทราบ ยังไม่กระทำให้แจ้ง ยังไม่มองเห็นด้วยปัญญา ชนเหล่านั้น จึงจะยึดถือด้วยศรัทธาต่อคนอื่นในเรื่องนี้...ส่วนคนเหล่าใด รู้ เห็น ทราบ กระทำให้แจ้ง มองเห็นสิ่งนี้ด้วยปัญญาแล้ว คนเหล่านั้นย่อมไม่มีความสงสัย ไม่มีความแคลงใจในเรื่องนั้น...

 ก็ข้าพระองค์ได้รู้ เห็น ทราบ กระทำให้แจ้ง มองเห็นสิ่งนี้ด้วยปัญญาแล้ว ข้าพระองค์จึงเป็นผู้ไม่มีความสงสัย ไม่มีความแคลงใจในเรื่องนั้นว่า สัทธินทรีย์...วิริยินทรีย์...สตินทรีย์...สมาธินทรีย์...ปัญญินทรีย์ ที่เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว  ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่หมาย มีอมตะเป็นที่สิ้นสุด

 พระพุทธเจ้า: สาธุ สาธุ สารีบุตร ฯลฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #21 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 01:35:02 pm »
เพื่อสรุปความสำคัญและความดีเด่นของปัญญา ขออ้างพุทธพจน์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเจริญ เพราะกระทำให้มาก ซึ่งอินทรีย์กี่อย่างหนอ ภิกษุผู้ขีณาสพจึงพยากรณ์อรหัตตผล รู้ชัดว่า

“ชาติสิ้นแล้ว...สิ่งอื่นที่จะต้องทำเพื่อเป็นอย่างนี้ ไม่มีเหลืออยู่อีก” ?

 เพราะเจริญ เพราะกระทำให้มาก ซึ่งอินทรีย์อย่างเดียว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลได้...
อินทรีย์อย่างเดียวนั้น ก็คือ ปัญญินทรีย์

 สำหรับอริยสาวกผู้มีปัญญา ศรัทธาอันเป็นของคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงตัวอยู่ได้
วิริยะ...สติ...สมาธิ อันเป็นของคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงตัวอยู่ได้
 
 อินทรีย์อื่นๆ (คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ) ลำพังแต่ละอย่างๆ ก็ดี หรือหลายอย่างรวมกัน
แต่ขาดปัญญาเสียเพียงอย่างเดียว ก็ดี ไม่อาจให้บรรลุผลสำเร็จนี้ได้ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ

 สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรค ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิบัติธรรม หรือพูดตามแนวไตรสิกขา ว่า เป็นขั้นเริ่มแรกในระบบการศึกษาแบบพุทธ และเป็นธรรมที่ต้องพัฒนาให้บริสุทธิ์ แจ้งชัด เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นการตรัสรู้ในที่สุด ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นการสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

มีพุทธพจน์แสดงหลักการสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิไว้ดังนี้

 ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ มี ๒ อย่างดังนี้ คือ ปรโตโฆสะ และ โยนิโสมนสิการ

๑. ปรโตโฆสะ = “เสียงจากผู้อื่น” คำบอกเล่า ข่าวสาร คำชี้แจงอธิบาย การแนะนำชักจูง การสั่งสอน การถ่ายทอด การได้เรียนรู้จากผู้อื่น (hearing or learning from others)

๒. โยนิโสมนสิการ = “การทำในใจโดยแยบคาย” การพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า การใช้ความคิดสืบสาวตลอดสาย การคิดอย่างมีระเบียบ การรู้จักคิดพิจารณาด้วยอุบาย การคิดแยกแยะออกดูตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ โดยไม่เอาความรู้สึกด้วยตัณหาอุปาทานของตนเข้าจับ (analytical reflection, critical reflection, systematic attention)

 ปัจจัยทั้งสองอย่างนี้ ย่อมสนับสนุนซึ่งกันและกัน

 สำหรับคนสามัญ ซึ่งมีปัญญาไม่แก่กล้า ย่อมอาศัยการแนะนำชักจูงจากผู้อื่น และคล้อยไปตามคำแนะนำชักจูงที่ฉลาดได้ง่าย แต่ก็จะต้องฝึกหัดให้สามารถใช้ความคิดอย่างถูกวิธีด้วยตนเองได้ด้วย จึงจะก้าวหน้าไปถึงที่สุดได้

 ส่วนคนที่มีปัญญาแก่กล้า ย่อมรู้จักใช้โยนิโสมนสิการได้ดีกว่า แต่กระนั้นก็อาจต้องอาศัยคำแนะนำที่ถูกต้องเป็นเครื่องนำทางในเบื้องต้น และเป็นเครื่องช่วยส่งเสริมให้ก้าวหน้าไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในระหว่างการฝึกอบรม

 การสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิ ด้วยปัจจัยอย่างที่ ๑ (ปรโตโฆสะ) ก็คือ วิธีการที่เริ่มต้นด้วยศรัทธา และอาศัยศรัทธาเป็นสำคัญ เมื่อนำมาใช้ปฏิบัติในระบบการศึกษาอบรม จึงต้องพิจารณาที่จะให้ได้รับการแนะนำชักจูงสั่งสอน อบรมที่ได้ผลดีที่สุด คือ ต้องมีผู้สั่งสอนอบรมที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ มีความสามารถ และใช้วิธีการอบรมสั่งสอนที่ได้ผล

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #22 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 02:12:37 pm »
ดังนั้น ในระบบการศึกษาอบรม จึงจำกัดให้ได้ปรโตโฆสะที่มุ่งหมายด้วยหลักที่เรียกว่า
กัลยาณมิตตตา คือความมีกัลยาณมิตร

 ส่วนปัจจัยอย่างที่ ๒ (โยนิโสมนสิการ) เป็นแกนหรือองค์ประกอบหลักของการพัฒนาปัญญา
ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าควรใช้ความคิดให้ถูกต้องอย่างไร

เมื่อนำปัจจัยทั้งสองมาประกอบกัน นับว่า

 กัลยาณมิตตตา (=ปรโตโฆสะที่ดี) เป็นองค์ประกอบภายนอก และ
 โยนิโสมนสิการ เป็นองค์ประกอบภายใน


ถ้าตรงข้ามจากนี้ คือ ได้ผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร ทำให้ประสบปรโตโฆสะที่ผิดพลาด
และใช้ความคิดผิดวิธี เป็นอโยนิโสมนสิการ ก็จะได้รับผลตรงข้าม คือ เป็นมิจฉาทิฏฐิไปได้


 มีพุทธพจน์แสดงปัจจัยทั้งสองนี้ ในภาคปฏิบัติของการฝึกอบรม พร้อมทั้งความสำคัญที่ควบคู่กัน ดังนี้

 ๑. สำหรับภิกษุผู้ยังต้องศึกษา (เสขะ) ... เรามองไม่เห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นใด
มีประโยชน์มาก เท่าความมีกัลยาณมิตรเลย

 ๒. สำหรับภิกษุผู้ยังต้องศึกษา (เสขะ) ... เรามองไม่เห็นองค์ประกอบภายในอื่นใด
มีประโยชน์มาก เท่าโยนิโสมนสิการเลย
 ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัย ๒ อย่างนี้ โดยย่อ

๑. ความมีกัลยาณมิตร

กัลยาณมิตร มิได้หมายถึงเพียงแค่เพื่อนที่ดีอย่างในความหมายสามัญ แต่หมายถึง บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่จะสั่งสอน แนะนำ ชี้แจง ชักจูง ช่วยเหลือ บอกช่องทาง ให้ดำเนินไปในมรรคาแห่งการฝึกศึกษาอย่างถูกต้อง ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ยกตัวอย่างไว้ เช่น พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ครู อาจารย์ และท่านผู้เป็นพหูสูตทรงปัญญา สามารถสั่งสอนแนะนำเป็นที่ปรึกษาได้ แม้จะอ่อนวัยกว่า

 ในกระบวนการพัฒนาปัญญา ความมีกัลยาณมิตรนี้ จัดว่าเป็นระดับความเจริญปัญญาในขั้นศรัทธา
 ส่วนในระบบการศึกษาอบรม ความมีกัลยาณมิตร มีความหมายครอบคลุมถึงตัวบุคคลผู้อบรมสั่งสอน เช่น ครู อาจารย์ เป็นต้น คุณสมบัติของผู้สอนนั้น หลักการ วิธีการ และอุบายต่างๆ ในการสอน ตลอดจนการจัดดำเนินการต่างๆ ทุกอย่าง ที่ผู้มีหน้าที่เอื้ออำนวยการศึกษาจะพึงจัดทำ เพื่อให้การศึกษาได้ผลดี เท่าที่เป็นองค์ประกอบภายนอกในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจนำไปบรรยายได้เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #23 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 02:27:52 pm »
ในที่นี้ จะยกพุทธพจน์แสดงคุณสมบัติของกัลยาณมิตร มาเป็นตัวอย่างเพียงชุดหนึ่ง ได้แก่ กัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นมิตร ที่ควรเสวนา ควรคบหา แม้จะถูกขับไล่ ก็ควรเข้าไปนั่งอยู่ใกล้ๆ กล่าวคือ เป็นผู้น่ารักน่าพอใจ ๑ เป็นผู้น่าเคารพ ๑ เป็นผู้น่ายกย่อง ๑ เป็นผู้รู้จักพูด ๑ เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ๑ เป็นผู้กล่าวแถลงถ้อยที่ลึกซึ้งได้ ๑ ไม่ชักนำในเรื่องที่เหลวไหลไม่สมควร ๑ …

 จากนี้ จะแสดงเพียงความสำคัญ และคุณประโยชน์ ของการมีกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา) ไว้ พอให้เห็นฐานะของหลักการข้อนี้ในพุทธธรรม

 ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตร ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค

 ดูกรอานนท์  ความมีกัลยาณมิตร... เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด ทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตร...พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ เขาจักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค

อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากมรณะ  ผู้มีโสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  และอุปายาส เป็นธรรมดา  ย่อมพ้นจาก โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส

 ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงเงินแสงทองเป็นบุพนิมิตมาก่อน ฉันใด ความมีกัลยาณมิตร ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของโพชฌงค์ ๗ แก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งโพชฌงค์ ๗

 เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือยังอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เสื่อมไป เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย เมื่อบุคคลมีกัลยาณมิตร กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป

 เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่  ...ที่เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม  เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย

 โดยกำหนดว่าเป็นองค์ประกอบภายนอก เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย

 สำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอย่างอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่มีประโยชน์มาก เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้น

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #24 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 02:57:28 pm »
ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร...พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ

๑. จักเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ สมบูรณ์ด้วยอาจาระและ  โคจร ฯลฯ
 ๒. จักเป็นผู้ (มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้ร่วมสนทนาอย่างสะดวกสบาย) ตามความปรารถนา ในเรื่องต่างๆ ที่ขัดเกลาอุปนิสัย ชำระจิตใจให้ ปลอดโปร่ง คือ เรื่องความมักน้อย ฯลฯ เรื่องการบำเพ็ญเพียร  เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ
 ๓. จักเป็นผู้ตั้งหน้าทำความเพียร เพื่อกำจัดอกุศลธรรม และเพื่อบำเพ็ญกุศลธรรมให้เพียบพร้อม  จักเป็นผู้แข็งขัน  บากบั่นมั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
 ๔. จักเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นอริยะ หยั่งรู้ถึงความเกิดความดับ ชำแรกกิเลส นำไปสู่ความสูญสิ้นแห่งทุกข์”


๒. โยนิโสมนสิการ

 โยนิโสมสิการ เป็นการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี ตามความหมายที่กล่าวมาแล้ว
 เมื่อเทียบในกระบวนการพัฒนาปัญญา โยนิโสมนสิการ อยู่ในระดับที่เหนือศรัทธา เพราะเป็นขั้นที่เริ่มใช้ความคิดของตนเองเป็นอิสระ

 ส่วนในระบบการศึกษาอบรม โยนิโสมนสิการเป็นการฝึกการใช้ความคิด ให้รู้จักคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ รู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างตื้นๆ ผิวเผิน เป็นขั้นสำคัญในการสร้างปัญญาที่บริสุทธิ์เป็นอิสระ ทำให้ทุกคนช่วยตนเองได้ และนำไปสู่จุดหมายของพุทธธรรมอย่างแท้จริง

 ความสำคัญ และคุณประโยชน์ ของโยนิโสมนสิการ พึงเห็นได้ตามตัวอย่างพุทธพจน์ต่อไปนี้

 ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค

 ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงเงินแสงทอง เป็นบุพนิมิตมาก่อน ฉันใด โยนิโสมนสิการก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของโพชฌงค์ ๗ แก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งโพชฌงค์ ๗

 เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือให้อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนโยนิโสมนสิการเลย เมื่อมีโยนิโสมนสิการ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป

 เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักอย่าง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ ... ที่เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม  เหมือนโยนิโสมนสิการเลย


 โดยกำหนดว่าเป็นองค์ประกอบภายใน เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบอื่น แม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #25 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 03:09:14 pm »
สำหรับภิกษุผู้เสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยม เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอย่างอื่น แม้สักอย่าง ที่มีประโยชน์มาก เหมือนโยนิโสมนสิการเลย ภิกษุผู้ใช้โยนิโส-มนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้น

 เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิ ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือให้สัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย เมื่อมีโยนิโสมนสิการ สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และสัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น

 เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือให้โพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย เมื่อมีโยนิโสมนสิการ โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีความเจริญเต็มบริบูรณ์

 เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกกำจัดได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย

เมื่อโยนิโสมนสิการอสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ราคะที่เกิดแล้ว ก็ถูกละได้ เมื่อโยนิโสมนสิการเมตตาเจโตวิมุตติ โทสะที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น โทสะที่เกิดแล้ว ก็ถูกละได้ เมื่อโยนิโสมนสิการ (โดยทั่วไป) โมหะที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น และโมหะที่เกิดแล้ว ก็ถูกละได้

 เมื่อโยนิโสมนสิการ …(นิวรณ์ ๕)… ที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกกำจัดได้ …(โพชฌงค์ ๗)… ที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์


ธรรม ๙ อย่างที่มีอุปการะมาก ได้แก่ ธรรม ๙ อย่าง ซึ่งมีโยนิโสมนสิการเป็นมูล กล่าวคือ เมื่อโยนิโสมนสิการ ปราโมทย์ย่อมเกิด เมื่อปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อมีใจปีติ กายย่อมผ่อนคลายสงบ (ปัสสัทธิ) เมื่อกายผ่อนคลายสงบ ย่อมได้เสวยสุข ผู้มีสุข จิตย่อมเป็นสมาธิ ผู้มีจิตเป็นสมาธิ ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง เมื่อรู้เห็นตามเป็นจริง ย่อมนิพพิทาเอง เมื่อนิพพิทา ก็วิราคะ เพราะวิราคะ ก็วิมุตติ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #26 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 04:15:54 pm »


   ตามนัยพุทธพจน์นี้ เขียนให้ดูง่าย เป็น
   โยนิโสมนสิการ-ปราโมทย์-ปีติ-ปัสสัทธิ-สุข-สมาธิ-ยถาภูตญาณทัสสนะ-นิพพิทา-วิราคะ-วิมุตติ
   กล่าวโดยสรุป สำหรับคนทั่วไป ผู้มีปัญญายังไม่แก่กล้า ยังต้องอาศัยการแนะนำชักจูงจากผู้อื่น การพัฒนาปัญญา นับว่าเริ่มต้นจาก องค์ประกอบภายนอก คือ ความมีกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา) สำหรับให้เกิดศรัทธา (ความมั่นใจด้วยเหตุผลที่ได้พิจารณาเห็นจริงแล้ว) ก่อน

   จากนั้น จึงก้าวมาถึงขั้น องค์ประกอบภายใน เริ่มแต่นำความเข้าใจตามแนวศรัทธาไปเป็นพื้นฐาน ในการใช้ความคิดอย่างอิสระ ด้วยโยนิโสมนสิการ ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และทำให้ปัญญาเจริญยิ่งขึ้น จนกลายเป็นญาณทัสสนะ คือ การรู้การเห็นประจักษ์ในที่สุด

   เมื่อกระจายลำดับขั้นในการพัฒนาปัญญาตอนนี้ออกไป จึงตรงกับลำดับอาหารของวิชชาและวิมุตติ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  คือ
   การเสวนาสัตบุรุษ-การสดับเล่าเรียนสัทธรรม-ศรัทธา-โยนิโส-มนสิการ ฯลฯ
   เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเจริญเข้าสู่จุดหมายด้วยการอุดหนุนขององค์ประกอบต่างๆ อย่างพุทธพจน์ที่ว่า

   ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิ อันองค์ประกอบ ๕ อย่างคอยหนุน (อนุเคราะห์) ย่อมมีเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ เป็นผลานิสงส์ องค์ประกอบ ๕ อย่างนั้น คือ

๑. ศีล  (ความประพฤติดีงาม สุจริต)
 ๒. สุตะ (ความรู้จากการสดับ เล่าเรียน อ่านตำรา การแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติม)
 ๓. สากัจฉา (การสนทนา ถกเถียง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบค้นความรู้)
 ๔. สมถะ (ความสงบ การทำใจให้สงบ การไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ การเจริญสมาธิ)
 ๕. วิปัสสนา (การใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาวะของมัน คือตามที่มันเป็นจริง)


 โดยสรุป สัมมาทิฏฐิ ก็คือความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง หรือตามที่มันเป็น
 การที่สัมมาทิฏฐิจะเจริญขึ้น ย่อมต้องอาศัยโยนิโสมนสิการเรื่อยไป เพราะโยนิโสมนสิการช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ แต่ช่วยให้มองแบบสืบค้นแยกแยะ ทั้งในแง่การวิเคราะห์ส่วนประกอบที่มาประชุมกันเข้า และในแง่การสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย ตลอดจนมองให้ครบทุกแง่ด้าน ที่จะให้เห็นความจริง และถือเอาประโยชน์ได้ จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบหรือเกี่ยวข้อง

 การมองและคิดพิจารณาด้วย โยนิโสมนสิการ ทำให้ไม่ถูกลวง ไม่กลายเป็นหุ่นที่ถูกยั่วยุ ปลุกปั่น และเชิด ด้วยปรากฏการณ์ทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และคตินิยมต่างๆ จนเกิดเป็นปัญหาทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่ทำให้มีสติสัมปชัญญะ เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง คิดตัดสินและกระทำการต่างๆ ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นขั้นที่สัมมาทิฏฐิส่งผลแก่องค์มรรคข้อต่อๆไป เริ่มทำลายสังโยชน์ อันมีสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส เป็นต้น
จบ ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
หัวข้อที่ ๑. สัมมาทิฏฐิ


องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๒.สัมมาสังกัปปะ)
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,7785.0.html
องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา(๓.สัมมาวาจา ๔.สัมมากัมมันตะ ๕.สัมมาอาชีวะ)
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,7866.0.html


                     
: http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8195/
อ้างอิง หนังสือพุทธธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
                 อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 21, 2015, 08:22:45 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ (〃ˆ ∇ ˆ〃)

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 328
  • พลังกัลยาณมิตร 199
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #27 เมื่อ: กรกฎาคม 29, 2010, 04:06:10 pm »
อนุโมทนาสาธุค่ะพี่แป๋ม  :13:

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #28 เมื่อ: กรกฎาคม 29, 2010, 09:33:19 pm »
 :13: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~