ผู้เขียน หัวข้อ: องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๑. สัมมาทิฏฐิ)  (อ่าน 13648 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา

เรื่องความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา หรือเรียกง่ายๆ ว่า
องค์มรรค นี้ จะยกขึ้นกล่าวเฉพาะในแง่ที่น่าสนใจ
และควรทำความเข้าใจโดยทั่วไป ตามลำดับเป็นข้อๆ

• ๑. สัมมาทิฏฐิ
• ๒. สัมมาสังกัปปะ
• ๓. สัมมาวาจา
• ๔. สัมมากัมมันตะ

• ๕. สัมมาอาชีวะ
• ๖. สัมมาวายามะ
• ๗. สัมมาสติ
• ๘. สัมมาสมาธิ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 25, 2012, 03:47:55 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2010, 09:25:45 am »




๑. สัมมาทิฏฐิ
ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ
 ภิกษุทั้งหลาย  บรรดาองค์มรรคเหล่านั้น  สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำอย่างไร ?   (ด้วยสัมมาทิฏฐิ) จึงรู้จักมิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้จักมิจฉาสังกัปปะ ว่าเป็นมิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะ ว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ รู้จักมิจฉาวาจา...สัมมาวาจา...มิจฉากัมมันตะ...สัมมากัมมันตะ ฯลฯ

   ข้อที่ภิกษุจักทำลายอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งซึ่งนิพพานได้ ด้วยทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ ด้วยมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบ นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นั่นเป็นเพราะเหตุใด ? ก็เพราะตั้งทิฏฐิไว้ชอบแล้ว
   เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย

คำจำกัดความของสัมมาทิฏฐิ
   คำจำกัดความที่พบบ่อยที่สุด คือ ความรู้ในอริยสัจ ๔ ดังพุทธพจน์ว่า
   ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาทิฏฐิ คืออะไร ? ความรู้ในทุกข์ ความรู้ใน ทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ

คำจำกัดความนอกจากนี้ ได้แก่
   รู้อกุศลและอกุศลมูล กับ กุศลและกุศลมูล เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศล...อกุศลมูล...กุศล...และกุศลมูล ด้วยเหตุเพียงนี้ เธอชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง ประกอบด้วยความเลื่อมใสแน่วแน่ในธรรม เข้าถึงสัทธรรมนี้แล้ว
   เห็นไตรลักษณ์ ภิกษุเห็นรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง  ความเห็นของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเห็นชอบ ก็หายชิดชื่น เพราะความเริงใจสิ้นไปก็สิ้นการย้อมติด เพราะสิ้นการย้อมติดก็สิ้นความเริงใจ เพราะสิ้นความเริงใจและหายย้อมติด จิตจึงหลุดพ้น เรียกว่า พ้นเด็ดขาดแล้ว
   ภิกษุเห็นจักษุ...โสตะ...ฆานะ...ชิวหา...กาย...มโน...รูป...เสียง...กลิ่น....รส....โผฏฐัพพะ....ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ

   เห็นปฏิจจสมุปบาท: คำจำกัดความแบบนี้ เป็นแบบที่มีมากแบบหนึ่ง และไม่จำเป็นต้องนำพุทธพจน์มาอ้าง เพราะเคยอ้างถึงมาแล้ว พุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง แยกความหมายของ สัมมาทิฏฐิ เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับที่เป็นสาสวะ กับ ระดับโลกุตตระ
   ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ? เรากล่าวว่า สัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ ซึ่งจัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์ อย่างหนึ่ง กับ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ และเป็นองค์มรรค อย่างหนึ่ง

 สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดอยู่ในฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์ เป็นไฉน ? คือความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การบำเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล กรรมที่ทำไว้ดีและชั่วมีผลมีวิบาก โลกนี้มี ปรโลกมี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้และปรโลกให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง มีอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์

 สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน? คือองค์มรรค ข้อสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ ของผู้มีจิตเป็นอริยะ มีจิตไร้อาสวะ ผู้พร้อมด้วยอริยมรรค ผู้กำลังเจริญอริยมรรคอยู่
นี้แล สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค สัมมาทิฏฐิในมรรคาแห่งการปฏิบัติ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 27, 2012, 08:34:59 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2010, 12:58:11 pm »



ขอบคุณที่มาภาพจากน้องต้องค่ะ

ก) ลำดับขั้นของการพัฒนาปัญญา
   เท่าที่กล่าวมา เห็นได้แล้วว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นตัวนำ ในการดำเนินตามมรรคาแห่งมัชฌิมาปฏิปทา และเป็นตัวยืนที่มีบทบาทอยู่ตลอดเวลาทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ

 อย่างไรก็ดี ระหว่างการดำเนินมรรคาตลอดสายนี้ สัมมาทิฏฐิ มิใช่เพียงเป็นที่อาศัย หรือเป็นตัวสนับสนุนองค์มรรคข้ออื่นๆ ฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ตัวสัมมาทิฏฐิเอง ก็ได้รับความอุดหนุนจากองค์มรรคข้ออื่นๆ ด้วย ยิ่งการดำเนินตามมรรคก้าวหน้าไปเท่าใด สัมมาทิฏฐิก็ยิ่งอบรมบ่มตัวให้แข็งกล้าชัดเจนมีกำลังบริสุทธิ์มากขึ้นเพียงนั้น และในที่สุดก็กลายเป็นตัวการสำคัญที่นำเข้าถึงจุดหมายปลายทางของมรรคา จนกล่าวได้ว่า สัมมาทิฏฐิเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและปลายสุดของมรรคา

 การที่สัมมาทิฏฐิเจริญคลี่คลายขยายตัวมาตามลำดับในระหว่าง มรรคาเช่นนี้ ส่องความในตัวว่า สัมมาทิฏฐิในลำดับหรือขั้นตอนต่างๆ ของการปฏิบัตินั้น มีความแตกต่างกันโดยคุณภาพ ตามลำดับหรือตามขั้นตอนนั้นๆ สัมมาทิฏฐิที่มีเมื่ออยู่ ณ จุดเริ่มต้น ย่อมมีคุณภาพต่างจากสัมมาทิฏฐิที่มีเมื่อถึงปลายทาง

 สัมมาทิฏฐิที่จุดเริ่มต้นทีเดียวก็ดี ที่สุดทางก็ดี อาจมีลักษณะจำเพาะตัวที่แตกต่างจากลักษณะทั่วไปของสัมมาทิฏฐิตามความหมายทั่วไป กล่าวคือ
 - สัมมาทิฏฐิที่จุดเริ่มต้น อาจยังมีลักษณะไม่พร้อมสมบูรณ์ ที่จะควรนับว่าเป็นสัมมาทิฏฐิเต็มตามความหมายของคำ และ
 - สัมมาทิฏฐิที่สุดทาง อาจมีคุณสมบัติแปรเปลี่ยนพิเศษออกไป จนควรเรียกชื่อเป็นอีกอย่างหนึ่งต่างหาก

 การแยกคำเรียกจึงมีประโยชน์ในกรณีนี้ และโดยที่สัมมาทิฏฐิเป็นลักษณะหนึ่งของปัญญา คำรวมที่เหมาะในที่นี้จึงควรได้แก่คำว่า “ปัญญา” ซึ่งหมายความว่า ปัญญาเจริญขึ้นตามลำดับของการฝึกอบรมในมรรคานี้

   ปัญญาที่เจริญตามลำดับขั้นนี้ แต่ละขั้นตอนที่สำคัญมีลักษณะและชื่อเรียกพิเศษอย่างไร ควรพิจารณาต่อไปสักเล็กน้อย
   กล่าวตามระบบมัชฌิมาปฏิปทา พอจะวางลำดับสังเขปของ “การเจริญปัญญา” ได้ว่า
   สำหรับคนสามัญทั่วไป ที่ต้องเรียนรู้ด้วยอาศัยคำแนะนำสั่งสอนจากผู้อื่น กระบวนการฝึกอบรมจะเริ่มต้นด้วยความเชื่อในรูปใดรูปหนึ่งก่อน ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ศรัทธา

   ศรัทธานี้ อาจเป็นความเชื่อเพราะพอใจในเหตุผลเบื้องต้นของคำสอนนั้น และหรือความเชื่อในความมีเหตุผล หรือลักษณะอันสมเหตุสมผลน่าไว้วางใจของตัวผู้สอนเอง

 จากนั้น จึงมีการรับฟังคำสอน การศึกษาอบรม เกิดความเข้าใจเพิ่มพูนขึ้น มองเห็นเหตุผลที่ถูกต้องด้วยตนเอง
ซึ่งเรียกคร่าวๆ ว่า สัมมาทิฏฐิ เมื่อความเห็นความเข้าใจนี้ เพิ่มพูน และแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้นตามลำดับ ด้วยการลงมือปฏิบัติ หรือพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ จนกลายเป็นการรู้การเห็นประจักษ์ ก็นับว่าปัญญาได้เจริญมาถึงขั้นที่เรียกว่าเป็น สัมมาญาณ ซึ่งเป็นขั้นที่พ้นจากความเชื่อ (ศรัทธา) และพ้นจากความเข้าใจด้วยเหตุผล (ทิฏฐิ) ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นขั้นสุดทาง และเข้าถึงจุดหมาย คือความหลุดพ้นเป็นอิสระ ซึ่งเรียกว่า สัมมาวิมุตติ

   ลำดับความเจริญของปัญญานี้ อาจเขียนให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
    ศรัทธา-สัมมาทิฏฐิ-สัมมาญาณ   - สัมมาวิมุตติ

   ตามกระบวนธรรมนี้ เริ่มแรกทีเดียว ปัญญามีอยู่เพียงในรูปแฝง หรือเป็นตัวประกอบของศรัทธาก่อน แล้วเจริญเป็นตัวเองขึ้นตามลำดับ จนเมื่อถึงขั้นสุดท้าย เป็นสัมมาญาณ ปัญญาจะเด่นชัดบริสุทธิ์เป็นตัวแท้ ส่วนศรัทธาจะไม่เหลืออยู่เลย เพราะถูกปัญญาแทนที่โดยสิ้นเชิง เมื่อถึงขั้นนี้เท่านั้น การตรัสรู้หรือการหลุดพ้นจึงมีได้ กระบวนการนี้ จะได้เห็นต่อไปตามลำดับ

   ข้อน่าสังเกตเป็นพิเศษ คือ ศรัทธาที่ปรากฏเข้ามาในกระบวนธรรมนี้ หมายถึง ศรัทธาเพื่อปัญญา หรือศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา จึงต้องเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา หรือเชื่อเพราะมีความเข้าใจในเหตุผลเป็นมูลฐาน (เป็นอาการวตีศรัทธา หรือ ศรัทธาญาณสัมปยุต) มิได้หมายถึงความเชื่อแบบมอบใจปลงปัญญาให้ไป โดยไม่ต้องพิจารณาเหตุผล (อมูลิกาศรัทธา หรือ ศรัทธาญาณวิปยุต)

 เรื่องศรัทธา ที่เข้ามาเป็นส่วนประกอบในกระบวนธรรมนี้ อาจถูก เข้าใจสับสนกับ
ความเชื่อหรือศรัทธาอย่างที่เข้าใจกันในศาสนาทั่วๆ ไป จึงต้องศึกษาเป็นพิเศษ ณ ที่นี้ด้วย

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 27, 2012, 09:07:55 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2010, 02:47:13 pm »

    ข) หลักศรัทธา

•- สรุปข้อควรเข้าใจเกี่ยวกับศรัทธา
•- สรุปคุณสมบัติและหน้าที่ของศรัทธาที่ถูกต้อง
•- พุทธพจน์แสดงหลักศรัทธา



- สรุปข้อควรเข้าใจเกี่ยวกับศรัทธา

โดยสรุป ลักษณะที่ควรกล่าวถึงเพื่อเข้าใจความหมาย บทบาท และความสำคัญของศรัทธาในระบบของพุทธธรรม มีดังนี้ :-

 ๑. ศรัทธาเป็นเพียงขั้นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาปัญญา และกล่าว
ได้ว่าเป็นขั้นต้นที่สุด

 ๒. ศรัทธาที่ประสงค์ ต้องเป็นความเชื่อความซาบซึ้งที่เนื่องด้วย เหตุผล คือมีปัญญารองรับ และเป็นทางสืบต่อแก่ปัญญาได้ มิใช่เพียงความรู้สึกมอบตัวมอบความไว้วางใจให้สิ้นเชิง โดยไม่ต้องถาม หาเหตุผล อันเป็นลักษณะทางฝ่ายอาเวค (emotion) ด้านเดียว

๓. ศรัทธาที่เป็นความรู้สึกฝ่ายอาเวคด้านเดียว ถือว่าเป็นความเชื่อที่งมงาย เป็นสิ่งที่จะต้องกำจัดหรือแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนความรู้สึกฝ่ายอาเวคที่เนื่องอยู่กับศรัทธาแบบที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในกระบวนการปฏิบัติธรรมให้เป็นประโยชน์ได้มากพอสมควรในระยะต้นๆ แต่จะถูกปัญญาเข้าแทนที่โดยสิ้นเชิงในที่สุด

๔. ศรัทธาที่มุ่งหมายในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น อาจให้ความหมายสั้นๆ ว่า เป็นความซาบซึ้งด้วยมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนมองเห็น คือมั่นใจตนเองโดยเหตุผลว่า จุดหมายที่อยู่เบื้องหน้านั้นเป็นไปได้จริงแท้ และมีค่าควรแก่การที่ตนจะดำเนินไปให้ถึง เป็นศรัทธาที่เร้าใจให้อยากพิสูจน์ความจริงของเหตุผลที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้านั้นต่อๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นบันไดขั้นต้นสู่ความรู้ ตรงข้ามกับความรู้สึกมอบใจให้แบบอาเวค ซึ่งทำให้หยุดคิดหาเหตุผลต่อไป

๕. เพื่อควบคุมศรัทธาให้อยู่ในความหมายที่ถูกต้อง ธรรมหมวดใดก็ตามในพุทธธรรม ถ้ามีศรัทธาเป็นส่วนประกอบข้อหนึ่งแล้ว จะต้องมีปัญญาเป็นอีกข้อหนึ่งด้วยเสมอไป  และตามปรกติศรัทธาย่อมมาเป็นข้อที่หนึ่ง พร้อมกับที่ปัญญาเป็นข้อสุดท้าย แต่ในกรณีที่กล่าวถึงปัญญา ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงศรัทธาไว้ด้วย  ปัญญาจึงสำคัญกว่าศรัทธา ทั้งในฐานะเป็นตัวคุม และในฐานะเป็นองค์ประกอบที่จำเป็น แม้ในแง่คุณสมบัติของบุคคล ผู้ที่ได้รับยกย่องสูงสุดในพระพุทธศาสนา ก็คือผู้มีปัญญาสูงสุด เช่น พระสารีบุตรอัครสาวก เป็นต้น ศรัทธาแม้แต่ที่ถูกต้อง ก็ถือเป็นธรรมขั้นต้น

๖. คุณประโยชน์ของศรัทธา เป็นไปใน ๒ ลักษณะ คือ ในแนวหนึ่ง ศรัทธาเป็นปัจจัยให้เกิดปีติ ซึ่งทำให้เกิดปัสสัทธิ  (ความสงบเยือกเย็น) นำไปสู่สมาธิและปัญญาในที่สุด

    อีกแนวหนึ่งศรัทธาทำให้เกิดวิริยะ คือความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติ ทดลองสิ่งที่เชื่อด้วยศรัทธานั้น ให้เห็นผลประจักษ์จริงจังแก่ตน ซึ่งก็นำไปสู่ปัญญาในที่สุดเช่นกัน

     คุณประโยชน์ทั้งสองนี้ จะเห็นว่าเป็นผลจากความรู้สึกในฝ่ายอาเวค แต่มีความตระหนักในความต้องการปัญญาแฝงอยู่ด้วยตลอดเวลา

๗. ศรัทธาเป็นไปเพื่อปัญญา ดังนั้น ศรัทธาจึงต้องส่งเสริมความคิดวิจัยวิจารณ์ จึงจะเกิดความก้าวหน้าแก่ปัญญาตามจุดหมาย นอกจากนี้ แม้ตัวศรัทธานั่นเอง จะมั่นคงแน่นแฟ้นได้ ก็เพราะได้คิดเห็นเหตุผลจนมั่นใจ หมดความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ

    โดยนัยนี้ ศรัทธาในพุทธธรรมจึงส่งเสริมการค้นคิดหาเหตุผล การขอร้องให้เชื่อก็ดี การบังคับให้ยอมรับความจริงตามที่กำหนดก็ดี การขู่ด้วยภัยแก่ผู้ไม่เชื่อก็ดี เป็นวิธีการที่เข้ากันไม่ได้เลยกับหลักศรัทธานี้

๘. ความเลื่อมใสศรัทธาติดในบุคคล ถือว่ามีข้อเสียเป็นโทษได้ แม้แต่ความเลื่อมใสติดในองค์พระศาสดาเอง พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ละเสีย เพราะศรัทธาที่แรงด้วยความรู้สึกทางอาเวค กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อความหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ ในขั้นสุดท้าย

๙. ศรัทธาไม่ถูกจัดเป็นองค์มรรค เพราะตัวการที่จำเป็นสำหรับการดำเนินก้าวหน้าต่อไปในมรรคานี้ คือปัญญาที่พ่วงอยู่กับศรัทธานั้นต่างหาก และศรัทธาที่จะถือว่าใช้ได้ก็ต้องมีปัญญารองรับอยู่ด้วย นอกจากนี้ ท่านที่มีปัญญาสูง เช่น องค์พระพุทธเจ้าเอง
และพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงเริ่มมรรคาที่ตัวปัญญาทีเดียว ไม่ผ่านศรัทธา เพราะการสร้างปัญญาไม่จำต้องเริ่มที่ศรัทธาเสมอไป (ดูเหตุเกิดสัมมาทิฏฐิข้างหน้า) ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ความหมายในขั้นศรัทธาจึงถูกรวมเข้าไว้ในองค์มรรคข้อแรกคือสัมมาทิฏฐิ ไม่ต้องแยกไว้ต่างหาก

๑๐. แม้แต่ศรัทธาที่พ้นจากภาวะเป็นความเชื่องมงายแล้ว ถ้าไม่ดำเนินต่อไปถึงขั้นทดลองปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความจริงประจักษ์แก่ตน ก็ไม่นับว่าเป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามความหมายแท้จริง เพราะเป็นศรัทธาที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามความหมายของมัน จัดเป็นการปฏิบัติธรรมผิดพลาด เพราะปฏิบัติอย่างขาดวัตถุประสงค์

๑๑. แม้ศรัทธาจะมีคุณประโยชน์สำคัญ แต่ในขั้นสูงสุด ศรัทธาจะต้องหมดไป ถ้ายังมีศรัทธาอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่บรรลุจุดหมาย เพราะตราบใดที่ยังเชื่อต่อจุดหมายนั้น ก็ย่อมแสดงว่ายังไม่ได้เข้าถึงจุดหมายนั้น ยังไม่รู้เห็นจริงด้วยตนเอง และตราบใดที่ยังมีศรัทธา ก็แสดงว่ายังต้องอิงอาศัยสิ่งอื่น ยังต้องฝากปัญญาไว้กับสิ่งอื่นหรือผู้อื่น ยังไม่หลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ โดยเหตุนี้ศรัทธาจึงไม่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ ตรงข้าม พระอรหันต์กลับมีคุณลักษณะว่า เป็นผู้ไม่มีศรัทธา (อัสสัทธะ) ซึ่งหมายความว่า ได้รู้เห็นประจักษ์ จึงไม่ต้องเชื่อต่อใครๆ หรือต่อเหตุผลใดๆ อีก

๑๒. โดยสรุป ความก้าวหน้าในมรรคานี้ ดำเนินมาโดยลำดับ จากความเชื่อ (ศรัทธา) มาเป็นความเห็นหรือเข้าใจโดยเหตุผล (ทิฏฐิ) จนเป็นการรู้การเห็น (ญาณทัสสนะ) ในที่สุด ซึ่งในขั้นสุดท้ายเป็นอันหมดภาระของศรัทธาโดยสิ้นเชิง

๑๓. ศรัทธามีขอบเขตความสำคัญและประโยชน์แค่ไหนเพียงใด เป็นสิ่งที่จะต้องรู้เข้าใจตามเป็นจริง ไม่ควรตีค่าสูงเกินไป แต่ก็ไม่ควรดูแคลนโดยเด็ดขาด เพราะในกรณีที่ดูแคลนศรัทธา อาจกลายเป็นการเข้าใจความหมายของศรัทธาผิด เช่น ผู้ที่คิดว่าตนเชื่อมั่นในตนเอง แต่กลายเป็นเชื่อต่อกิเลสของตน ในรูปอหังการมมังการไป ซึ่งกลับเป็นผลร้ายไปอีกด้านหนึ่ง

๑๔. ในกระบวนการแห่งความเจริญของปัญญา (หรือการพัฒนาปัญญา) อาจกำหนดขั้นตอนที่จัดว่าเป็นระยะของศรัทธาได้คร่าวๆ คือ

๑) สร้างทัศนคติที่มีเหตุผล ไม่เชื่อหรือยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงเพราะฟังตามๆ กันมา เป็นต้น (ตามแนวกาลามสูตร)

 ๒) เป็นผู้คุ้มครองหรืออนุรักษ์สัจจะ (สัจจานุรักษ์) คือ พูดจำกัดขอบเขตของตนให้ชัดว่า เท่าที่ตนรู้เห็นเข้าใจคือแค่นั้น เป็นอย่างนั้นๆ ไม่เอาความรู้เห็นเข้าใจของตนไปผูกขาดความจริง และยินดีรับฟังหลักการ ทฤษฎี คำสอน ความเห็นต่างๆ ของทุกฝ่ายทุกด้าน ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสินสิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เห็นว่าเป็นเท็จ ไม่ยืนกรานยึดติดแต่สิ่งที่ตนรู้เท่านั้นว่าถูกต้องเป็นจริง

 ๓) เมื่อรับฟังทฤษฎี คำสอน ความเห็นต่างๆ ของผู้อื่นแล้ว พิจารณาเท่าที่เห็นด้วยปัญญาตนว่าเป็นสิ่งมีเหตุผล และเห็นว่าผู้แสดงทฤษฎี คำสอน หรือความเห็นนั้นๆ เป็นผู้มีความจริงใจ ไม่ลำเอียง มีปัญญา จึงเลื่อมใส รับเอามาเพื่อคิดหาเหตุผลทดสอบความจริงต่อไป

 ๔) นำสิ่งที่ใจรับมานั้น มาขบคิดทดสอบด้วยเหตุผล จนแน่แก่ใจตนว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องแท้จริง อย่างแน่นอน จนซาบซึ้งด้วยความมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนมองเห็นแล้ว พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติพิสูจน์ทดลองให้รู้เห็นความจริงประจักษ์ต่อไป

 ๕) ถ้ามีความเคลือบแคลงสงสัย รีบสอบถามด้วยใจบริสุทธิ์ มุ่งปัญญา มิใช่ด้วยอหังการมมังการ พิสูจน์เหตุผลให้ชัดเจนเพื่อให้ศรัทธานั้นมั่นคงแน่นแฟ้น เกิดประโยชน์สมบูรณ์ตามความหมายของมัน



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 27, 2010, 05:27:49 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2010, 05:21:26 pm »


- สรุปคุณสมบัติและหน้าที่ของศรัทธาที่ถูกต้อง

 ศรัทธาเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคนทั่วไป ที่จะเข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา จึงเป็นธรรมสำคัญที่จำเป็นต้องเน้นให้มาก ว่าจะต้องเป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามหลักที่จะเป็นสัมมาทิฏฐิ ในที่นี้ จึงขอสรุปคุณสมบัติและการทำหน้าที่ของศรัทธาที่จะต้องสัมพันธ์กับปัญญา ไว้เป็นส่วนเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง ว่า

๑. ศรัทธาต้องประกอบด้วยปัญญา และนำไปสู่ปัญญา
 ๒. ศรัทธาเกื้อหนุนและนำไปสู่ปัญญา โดย


 ก) ช่วยให้ปัญญาได้จุดเริ่มต้น เช่น ได้ฟังเรื่องหรือบุคคลใด แสดง
  สาระ มีเหตุผล น่าเชื่อถือหรือน่าเลื่อมใส เห็นว่าจะนำไปสู่
  ความจริงได้ จึงเริ่มศึกษาค้นคว้าจากจุดหรือแหล่งนั้น

 ข) ช่วยให้ปัญญามีเป้าหมาย

 ค) ช่วยให้ปัญญามีพลัง หรือช่วยให้การพัฒนาปัญญาก้าวไปอย่าง
  เข้มแข็ง คือ เมื่อเกิดศรัทธามั่นใจว่าจะได้ความจริง ก็มีกำลังใจ
  เพียรพยายามศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง วิริยะก็มาหนุน

 ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักความเสมอกัน หรือหลักความสมดุลแห่งอินทรีย์ ที่เรียกว่า อินทริยสมตา  ไว้ โดยให้ผู้ปฏิบัติทั่วๆ ไป มีศรัทธาที่เข้าคู่สมดุลกับปัญญา ให้ธรรมสองอย่างนี้ ช่วยเสริมกันและคุมกันให้พอดี

 (เช่นเดียวกับวิริยะคือความเพียร ที่จะต้องเข้าคู่สมดุลกับสมาธิ เพื่อให้วิริยะไม่เป็นความเพียรที่พลุ่งพล่านร้อนรน และสมาธิไม่กลายเป็นนิ่งเฉยหรือเกียจคร้านเฉื่อยชา แต่ให้เป็นการก้าวไปอย่างเรียบรื่นและหนักแน่นมั่นคง ทั้งนี้โดยมีสติเป็นตัวกำกับ จัด ปรับ และรักษาความสมดุลนั้นไว้ ถ้าพูดกว้างๆ ก็ถือว่าทั้ง ๕ อย่าง คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ต้องสมดุลกันทั้งหมด)

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2010, 06:08:42 pm »


- พุทธพจน์แสดงหลักศรัทธา


•1- ทัศนคติตามแนวกาลามสูตร
•2- ท่าทีแบบอนุรักษ์สัจจะ
•3- สร้างศรัทธาด้วยการใช้ปัญญาตรวจสอบ
•4- ศรัทธาแม้จะสำคัญ แต่จะติดตันถ้าอยู่แค่ศรัทธา
•5- เมื่อรู้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ก็ไม่ต้องเชื่อด้วยศรัทธา



             


1- ทัศนคติตามแนวกาลามสูตร

 สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือทฤษฎี ลัทธิ หรือ คำสอนอันใดอันหนึ่งอยู่แล้ว หรือยังไม่นับถือก็ตาม มีหลักการตั้งทัศนคติที่ประกอบด้วยเหตุผล ตามแนวกาลามสูตร  ดังนี้

 พระพุทธเจ้าเสด็จจาริก ถึงเกสปุตตนิคมของพวกกาลามะ ในแคว้นโกศล ชาวกาลามะได้ยินกิตติศัพท์ของพระองค์ จึงพากันไปเฝ้า แสดงอาการต่างๆ กัน ในฐานะยังไม่เคยนับถือมาก่อน และได้ทูลถามว่า

 พระองค์ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมาสู่เกสปุตตนิคม ท่านเหล่านั้นแสดงเชิดชูแต่วาทะ (ลัทธิ) ของตนเท่านั้น แต่ย่อมกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกดวาทะฝ่ายอื่น ชักจูงไม่ให้เชื่อ สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็มาสู่เกสปุตตนิคม ท่านเหล่านั้น ก็แสดงเชิดชูแต่วาทะของตนเท่านั้น ย่อมกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกดวาทะฝ่ายอื่น ชักจูงไม่ให้เชื่อ พวกข้าพระองค์ มีความเคลือบแคลงสงสัยว่า บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ ?

 กาลามชนทั้งหลาย เป็นการสมควรที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลง สมควรที่จะสงสัย ความเคลือบแคลงสงสัยของพวกท่านเกิดขึ้นในฐานะกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย

- อย่าปลงใจเชื่อ โดยการฟัง (เรียน) ตามกันมา (อนุสสวะ)
 - อย่าปลงใจเชื่อ โดยการถือสืบๆ กันมา (ปรัมปรา)
 - อย่าปลงใจเชื่อ โดยการเล่าลือ (อิติกิรา)
 - อย่าปลงใจเชื่อ โดยการอ้างตำรา (ปิฏกสัมปทาน)
 - อย่าปลงใจเชื่อ โดยตรรก (ตักกะ)

 - อย่าปลงใจเชื่อ โดยการอนุมาน (นยะ)
 - อย่าปลงใจเชื่อ โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (อาการปริวิตักกะ)
 - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน (ทิฏฐินิชฌานักขันติ)
 - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ (ภัพพรูปตา)
 - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (สมโณ โน ครูติ)

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 04:19:14 am »

เมื่อใด ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครยึดถือปฏิบัติถ้วนถึงแล้ว จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสีย ฯลฯ

 เมื่อใด ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครยึดถือปฏิบัติถ้วนถึงแล้ว จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงถือปฏิบัติบำเพ็ญ (ธรรมเหล่านั้น)

 ในกรณีที่ผู้ฟังยังไม่รู้ไม่เข้าใจและยังไม่มีความเชื่อในเรื่องใดๆ ก็ไม่ทรงชักจูงความเชื่อ เป็นแต่ทรงสอนให้พิจารณาตัดสินเอาตามเหตุผลที่เขาเห็นได้ด้วยตนเอง เช่น ในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับชาตินี้ชาติหน้าในแง่จริย-ธรรม ก็มีความในตอนท้ายของสูตรเดียวกันนั้นว่า

 กาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ผู้มีจิตปราศจากเวรอย่างนี้ มีจิตปราศจากความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ ย่อมได้ประสบความอุ่นใจถึง ๔ ประการ ตั้งแต่ในปัจจุบันนี้แล้ว คือ

 ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วมีจริง การที่ว่า เมื่อเราแตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๑ ที่เขาได้รับ

 ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วไม่มี เราก็ครองตนอยู่ โดยไม่มีทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขอยู่แต่ในชาติปัจจุบันนี้แล้ว นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๒ ที่เขาได้รับ

 ก็ถ้าเมื่อคนทำความชั่วก็เป็นอันทำไซร้ เรามิได้คิดการชั่วร้ายต่อใครๆ ที่ไหนทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้มิได้ทำบาปกรรมเล่า นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๓ ที่เขาได้รับ

 ก็ถ้าเมื่อคนทำความชั่ว ก็ไม่ชื่อว่าเป็นอันทำไซร้ ในกรณีนี้ เราก็มองเห็นตนเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสองด้าน นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๔ ที่เขาได้รับ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 04:31:40 am »

สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้นับถือในลัทธิศาสนาหรือหลักคำสอนใดๆ พระองค์ จะตรัสธรรมเป็นกลางๆ เป็นการเสนอแนะความจริงให้เขาคิด ด้วยความปรารถนาดี เพื่อประโยชน์แก่ตัวเขาเอง โดยมิต้องคำนึงว่าหลักธรรมนั้นเป็นของผู้ใด โดยให้เขาเป็นตัวของเขาเอง ไม่มีการชักจูงให้เขาเชื่อหรือเลื่อมใสต่อพระองค์ หรือเข้ามาสู่อะไรสักอย่างที่อาจจะเรียกว่าศาสนาของพระองค์

 พึงสังเกตด้วยว่า จะไม่ทรงอ้างพระองค์ หรืออ้างอำนาจเหนือธรรมชาติพิเศษอันใด เป็นเครื่องยืนยันคำสอนของพระองค์ นอกจากเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ให้เขาพิจารณาเห็นด้วยปัญญาของเขาเอง เช่น เรื่องใน อปัณณกสูตร  ซึ่งแสดงให้เห็นเหตุผลที่ควรประพฤติธรรม โดยไม่ต้องใช้วิธีขู่ด้วยการลงโทษและล่อด้วยการให้รางวัล ดังนี้ :-

 พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ สาลา พวกพราหมณ์คหบดีชาวหมู่บ้านนี้ ได้ทราบกิตติศัพท์ของพระองค์ จึงพากันไปเฝ้า แสดงอาการต่างๆ ในฐานะอาคันตุกะที่ยังมิได้นับถือกัน พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า
 คหบดีทั้งหลาย พวกท่านมีศาสดาท่านใดท่านหนึ่งที่ถูกใจ ซึ่งท่านทั้งหลายมีศรัทธาอย่างมีเหตุผล (อาการวตีสัทธา) อยู่บ้างหรือไม่ ?

 ครั้นพวกพราหมณ์คหบดีทูลตอบว่า “ไม่มี” ก็ได้ตรัสว่า
 เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่ได้ศาสดาที่ถูกใจ ก็ควรจะถือปฏิบัติหลักการที่ไม่ผิดพลาดแน่นอน (อปัณณกธรรม) ดังต่อไปนี้ ด้วยว่าอปัณณกธรรมนี้ เมื่อถือปฏิบัติถ้วนถึงแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน
หลักการที่ไม่ผิดพลาดแน่นอนนี้ เป็นไฉน ?

 สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิว่า : ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบำเพ็ญทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี ปรโลกไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี ฯลฯ ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิที่เป็นข้าศึกโดยตรงกับสมณ-พราหมณ์พวกนั้นทีเดียวว่า : ทานที่ให้แล้วมีผล การบำเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล ฯลฯ ท่านทั้งหลายเห็นเป็นไฉน ? สมณพราหมณ์เหล่านี้ มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันมิใช่หรือ ?

 เมื่อพราหมณ์คหบดีทูลตอบว่า “ใช่อย่างนั้น” ก็ตรัสต่อไปว่า
 ในสมณพราหมณ์ ๒ พวกนั้น พวกที่มีวาทะ มีทิฏฐิว่า : ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบำเพ็ญทานไม่มีผล ฯลฯ สำหรับพวกนี้ เป็นอันหวังสิ่งต่อไปนี้ได้คือ พวกเขาจะละทิ้งกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต อันเป็นกุศลธรรมทั้ง ๓ อย่างเสีย แล้วจะยึดถือประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้ง ๓ อย่าง ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุใด ? ก็เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มองเห็นโทษ ความทราม ความเศร้าหมอง แห่งอกุศลธรรม และอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นคุณฝ่ายสะอาดผ่องแผ้วของกุศลธรรม

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 04:50:33 am »

อนึ่ง  (หาก)เมื่อปรโลกมี  เขาเห็นว่าปรโลกไม่มี  ความเห็นของเขา ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ (หาก)เมื่อปรโลกมี เขาดำริว่าปรโลกไม่มี ความดำริของเขาก็เป็นมิจฉาสังกัปปะ (หาก)เมื่อปรโลกมี เขากล่าวว่าปรโลกไม่มี วาจาของเขาก็เป็นมิจฉาวาจา (หาก)เมื่อปรโลกมี เขากล่าวว่าปรโลกไม่มี เขาก็ทำตนเป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ผู้รู้ปรโลก (หาก)เมื่อปรโลกมี เขาทำให้คนอื่นพลอยเห็นด้วยว่าปรโลกไม่มี การทำให้พลอยเห็นด้วยนั้น ก็เป็นการให้พลอยเห็นด้วยกับอสัทธรรม และด้วยการทำให้คนอื่นพลอยเห็นด้วยกับอสัทธรรม เขาก็ยกตนข่มคนอื่น โดยนัยนี้ เริ่มต้นทีเดียว เขาก็ละทิ้งความมีศีลดีงาม เข้าไปตั้งความทุศีลเข้าไว้เสียแล้ว มีทั้งมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกกับอริยชน การชวนคนให้เห็นด้วยกับอสัทธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น บาปอกุศลธรรมอเนกประการเหล่านี้ ย่อมมีขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย

 ในเรื่องนั้น คนที่เป็นวิญญู ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า “ถ้าปรโลกไม่มี ท่านผู้นี้  เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไป  ก็ทำตนให้สวัสดี (ปลอดภัย) ได้ แต่ถ้าปรโลกมี ท่านผู้นี้เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เอาเถอะ ถึงว่าให้ปรโลกไม่มีจริงๆ ให้คำของท่านสมณ-พราหมณ์เหล่านั้นเป็นความจริงก็เถิด ถึงกระนั้น บุคคลผู้นี้ก็ถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันนี้เองว่า  เป็นคนทุศีล  มีมิจฉาทิฏฐิ  เป็นนัตถิกวาท ก็ถ้าปรโลกมีจริง บุคคลผู้นี้ก็เป็นอันได้แต่ข้อเสียหายทั้งสองด้าน คือ ปัจจุบันก็ถูกวิญญูชนติเตียน แตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อีกด้วย” ฯลฯ

 สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นไม่มี” ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งซึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิที่เป็นข้าศึกโดยตรงกับสมณพราหมณ์พวกนั้น กล่าวว่า “ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่” ฯลฯ

 ในเรื่องนั้น คนที่เป็นวิญญู ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ที่ท่านสมณ-พราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นไม่มี” นี้ เราก็ไม่ได้เห็น แม้ที่ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่จริง” นี้ เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน ก็เมื่อเราไม่รู้ไม่เห็นอยู่ จะกล่าวยึดเด็ดขาดลงไปว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จ ดังนี้ ย่อมไม่เป็นการสมควรแก่เรา

 ก็ถ้าคำของพวกสมณพราหมณ์ที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นไม่มี” เป็นความจริง การที่เราจะไปเกิดในหมู่เทพผู้ไม่มีรูป เป็นสัญญามัย   ซึ่งก็ไม่เป็นความผิดอะไร   ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้  ถ้าคำของพวกสมณพราหมณ์ที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่” เป็นความจริง การที่เราจะปรินิพพานได้ในปัจจุบัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

 แต่ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ฝ่ายที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นไม่มี” นี้ ใกล้ไปข้างการมีความย้อมติด ใกล้ไปข้างการผูกพัน ใกล้ไปข้างการหลงเพลิน ใกล้ไปข้างการหมกมุ่นสยบ ใกล้ไปข้างการยึดมั่นถือมั่น ส่วนทิฏฐิของท่านสมณพราหมณ์ฝ่ายที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นมีจริง” นั้น ใกล้ไปข้างการไม่มีความย้อมติด ใกล้ไปข้างการไม่มีความผูกมัดตัว ใกล้ไปข้างการไม่หลงเพลิน ใกล้ไปข้างไม่หมกมุ่นสยบ ใกล้ไปข้างไม่มีการยึดมั่นถือมั่น เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธ แห่งภพทั้งหลายเป็นแท้"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 05:58:01 am »


-2 ท่าทีแบบอนุรักษ์สัจจะ


พุทธพจน์ต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่า ความรู้ความคิดเห็นในระดับที่ยังเป็นความเชื่อและเหตุผล ยังเป็นความรู้ความเห็นที่บกพร่อง มีทางผิดพลาด ยังไม่ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงความจริง

 แน่ะท่านภารทวาช ธรรม ๕ ประการนี้ มีวิบาก ๒ ส่วนในปัจจุบัน ทีเดียว คือ

๑. ศรัทธา   - ความเชื่อ
 ๒. รุจิ    - ความถูกใจ
 ๓. อนุสสวะ   - การฟัง (หรือเรียน) ตามกันมา
 ๔. อาการปริวิตักกะ - การคิดตรองตามแนวเหตุผล
 ๕. ทิฏฐินิชฌานักขันติ - ความเข้ากันได้กับ (การเพ่งพินิจด้วย)ทฤษฎีของตน


 ก็สิ่งที่เชื่อสนิททีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อเลยทีเดียว แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี

 ถึงสิ่งที่ถูกกับใจชอบทีเดียว  กลับเป็นของเปล่า  เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้ถูกกับใจชอบเลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี

 ถึงสิ่งที่เรียนต่อกันมาอย่างดีทีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เรียนตามกันมาเลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นไปเลยก็มี

 ถึงสิ่งที่คิดตรองอย่างดีแล้วทีเดียว กลับเป็นของเปล่าเป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เป็นอย่างที่คิดตรองเห็นไว้เลย แต่กลับเป็นของจริงแท้ ไม่เป็นอื่นไปเลยก็มี

 ถึงสิ่งที่เพ่งพินิจไว้เป็นอย่างดี (ว่าถูกต้องตรงตามทิฏฐิทฤษฎีหลักการของตน) กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เป็นอย่างที่เพ่งพินิจเห็นไว้เลย แต่กลับเป็นของจริงแท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี

 จากนั้น ทรงแสดงวิธีวางตนต่อความคิดเห็นและความเชื่อของตน และการรับฟังความคิดเห็นและความเชื่อของผู้อื่น ซึ่งเรียกว่าเป็นทัศนคติแบบอนุรักษ์สัจจะ (สัจจานุรักข์ แปลเอาความว่า คนรักความจริง) ว่า

 บุรุษผู้เป็นวิญญู เมื่อจะอนุรักษ์สัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า  “อย่างนี้เท่านั้นจริง  อย่างอื่นเหลวไหล  (ทั้งนั้น)”

 ถ้าแม้นบุรุษมีความเชื่อ  (ศรัทธา อยู่อย่างหนึ่ง)  เมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้” ยังชื่อว่าเขาอนุรักษ์สัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปเป็นอย่างเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งนั้น)” ไม่ได้ก่อน

 ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ชื่อว่ามีการอนุรักษ์สัจจะ และคนผู้นั้นก็ชื่อว่าอนุรักษ์สัจจะ อีกทั้งเราก็บัญญัติการอนุรักษ์สัจจะด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการหยั่งรู้สัจจะ