แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

พระสูตรเว่ยหล่าง พุทธทาสภิกขุ แปล

<< < (10/21) > >>

ฐิตา:



เมื่อได้อยู่ที่นั่นมาประมาณเก้าเดือนเศษ  ศัตรูผู้ปองร้ายท่าน  ก็ได้ติดตามมา  และคอยพยายามจองล้างจองผลาญท่านอีก  เนื่องด้วยเหตุนี้ท่านได้ไปหลบซ่อนยังภูเขาใกล้ๆกัน คนโหดร้ายเหล่านั้นได้จุดไฟเผาป่าซึ่งท่านได้ไปหลบซ่อนอยู่  แต่ท่านหนีรอดไปได้ด้วยหลบไปซ่อนอยู่บนชะง่อนฝา  ชะง่อนผาแห่งนี้  ซึ่งต่อมาเรียกว่า  "ภูเขาแห่งความปลอดภัย"  นั้น  ยังมีรอยคุกเข่าของพระสังฆปริณายกปรากฏอยู่  และยังมีรอยเป็นลายเนื้อผ้าแห่งเครื่องนุ่งห่มของท่านปรากฏติดอยู่บนแผ่นหินนั้นด้วย

        เมื่อท่านระลึกได้ถึงคำเตือน  ของพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า  ผู้เป็นครูของท่าน ที่ได้เคยสั่งไว้ว่า  "จงหยุดที่ตำบลเวย  แล้วซ่อนอยู่ผู้เดียวที่ตำบลวุย"  ดังนี้  ท่านจึงได้เอาตำบลทั้งสองนี้ เป็นที่หนีร้อน  และเวียนไปเวียนมา

        ภิกษุฟัตห่อย  ช่าวบ้านฮุกกองแห่งชิวเจา  เมื่อทำการสนทนากับพระสังฆปริณายกเป็นครั้งแรก  ได้ถามถึงความหมายของกระทู้ธรรมที่คนทุกคนสนใจบทหนึ่งที่ว่า "ใจคือสิ่งใด  พุทธะคือสิ่งนั้น"  พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า การไม่ปล่อยให้ความคิดที่ผ่านไปแล้วกลับเกิดขึ้นมาอีก นี่คือ  "ใจ" การไม่ปล่อยให้ความคิดที่กำลังจะเกิด ถูกทำลายไปเสีย  นี่คือ  "พุทธะ"  การแสดงออกซึ่งปรากฏการณ์ทุกชนิด นี่คือ  "ใจ"  การเป็นอิสระจากรูปธรรมทั้งปวง(คือการู้เท่าถึงความลวงตาของปรากฏการณ์ทั้งหลาย) นี่คือ  "พุทธะ" แต่ถ้าข้าพเจ้าจะต้องอธิบายแก่ท่านให้ครบถ้วนทุกกระบวนความ  เรื่องที่จะต้องนำมาพูดก็จะไม่จบสิ้นลงไปได้  แม้ว่าข้าพเจ้าจะใช้เวลาอธิบายสักกัลป์หนึ่ง  ดังนั้น จงฟังโศลกของข้าพเจ้าจะดีกว่า:-



ปรัชญา (ปัญญา) คือ  "สิ่งที่ใจเป็น"
สมาธิ คือ  "สิ่งที่พุทธะเป็น"
ในการบำเพ็ญปรัชญาและสมาธิ  ต้องให้แต่ละอย่างลงจังหวะกันและกัน
แล้วความคิดของเราก็จะบริสุทธิ์

คำสอนข้อนี้เข้าใจได้ ก็แต่โดยการ  "ประพฤติดูจนช่ำชอง"
ที่ว่าสมาธิตั้งมั่นนั้น   ที่จริงมิใช่สมาธิอะไรเลย
คำสอนที่ถูกต้องนั้นคือ ให้บำเพ็ญปัญญา คู่กันไปกับสมาธิโดยไม่แยกกัน


ฐิตา:

น้ำตกไนแองการ่า
เมื่อได้ฟังดังนั้น  ภิกษุฟัตห่อยมีความส่ว่างไสวในธรรมในขณะนั้นเอง เธอได้กล่าวสรรเสริญคุณพระสังฆปริณายกด้วยโศลกดังต่อไปนี้:-

ใจคือสิ่งใด  พุทธะคือสิ่งนั้น นี่เป็นความจริงเสียจริงๆ

แต่ข้าพเจ้ามัวไปปราบพยศของตัวเอง ทั้งที่ไม่เข้าใจในมัน

บัดนี้ข้าพเจ้ารู้จักเหตุอันเป็นประธานของปรัชญาและสมาธิ

ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ข้าพเจ้าจักบำเพ็ญเพื่อเปลื้องตัวเสียจากรูปธรรมทั้งหลาย




    พระภิกษุฟัตตัต  ชาวเมืองฮุงเจา  ผู้เข้ามาบรรพชาในพระศาสนา  ตั้งแต่อายุพึ่งได้ 7 ปี  มีปรกติสาธยายสัทธรรมปุณฑริกสูตรอยู่เป็นนิจ  เมื่อท่านผู้นี้มาแสดงความเคารพต่อพระสังฆปริณายก  ท่านไม่ได้กราบให้ศีรษะจรดพื้น ท่านทำความเคารพอย่างขอไปที  พระสังฆปริณายกได้ตำหนิว่า ถ้าท่านรังเกียจที่จะทำความเคารพให้ศีรษะจรดพื้นแล้ว  การไม่ทำความเคารพเสียเลยจะมิดีกว่าหรือ  ต้องมีอะไรอยู่ในใจของท่านสักอย่างหนึ่ง  ซึ่งทำให้ท่านมีความทะนงเช่นนั้น  ขอถามว่า ท่านทำอะไรประจำหรือวัน?

        ภิกษุฟัตตัตได้ตอบว่า  กระผมสาธยายสัทธรรมปุณทริกสูตร  กระผมท่องตลอดทั้งสูตร สามพันครั้งแล้ว
พระสังฆปริณายก ได้เตือนว่า ถ้าท่านจับใจความของพระสูตรนี้ได้ ท่านจะไม่มีการถือตัวเช่นเลย  แม้ท่านจะถึงกับเคยท่องพระสูตรนี้มาถึงสามพันครั้งแล้ว ถ้าท่านจับความหมายของพระสูตรนี้ได้จริงๆ ท่านก็จะต้องได้เดินอยู่ในทางๆ เดียวกันกับข้าพเจ้า  สิ่งที่ท่านเรียนสำเร็จ ได้ทำให้ท่านกลายเป็นคนหยิ่งไปเสียแล้ว  และหยิ่งกว่านั้น  ดูเหมือนท่านไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไป  ว่าการที่เป็นเช่นนี้เป็นของผิด  ท่านจงฟังโศลกของข้าพเจ้าเถิด:-

ก็เมื่อความมุ่งหมายของระเบียบวินัยต่างๆเป็นไปเพื่อปราบปรามความทะลึ่งแล้ว

ทำไมท่านไม่กราบให้ศีรษะจดพื้น?

"การยึดถือในตัวตน" เป็นมายาแห่งบาป

แต่  "การถือว่าการได้บรรลุธรรมหรือผลใดๆ ก็ตาม เป็นเพียงของลมๆแล้งๆ"
นี้เป็นทางมาแห่งกุศลอันใหญ่หลวง
       จบแล้ว  พระสังฆปริณายกได้ไต่ถามถึงชื่อของท่านผู้นี้  เมื่อได้ฟังว่าชื่อฟัตตัต (ซึ่งแปลว่าผู้เข้าใจในธรรม)  พระสังฆปริณายกจึงได้กล่าวต่อไปว่า ท่านชื่อฟัตตัตก็จริง แต่ท่านยังไม่เข้าใจในธรรมเลย  แล้วท่านได้สรุปความด้วยโศลกต่อไปอีกว่า:-

ฐิตา:


ชื่อของท่านว่า ฟัตตัด

ท่านสาธยายพระสูตรอย่างพากเพียรไม่ท้อถอย

การท่องพระสูตรด้วยปาก เป็นแต่การออกเสียงล้วนๆ

ส่วนผู้ที่มีใจสว่างไสวเพราะจับใจความได้  นั่นคือโพธิสัตว์แท้

เพราะเป็นเรื่องปัจจยาการ  อันอาจสืบสาวไปถึงภพก่อนๆ

ข้าพเจ้าจะอธิบายความข้อนี้แก่ท่าน

ถ้าท่านเพียงแต่เชื่อว่า  พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอะไร  แม้แต่คำเดียว

เมื่อนั้น  ดอกบัวจะบานขึ้นในปากของท่านเอง
เมื่อได้ฟังโศลกนี้  ภิกษุฟัตตัตรู้สึกสลดใจ  และขออภัยต่อพระสังฆปริณายก เธอได้กล่าวต่อไปว่า แต่นี้ต่อไป กระผมจะเป็นคนสุภาพและถ่อมตนในทุกโอกาส  เนื่องจากกระผมไม่มีความเข้าใจในความหมายของพระสูตรที่ท่องนั้นอย่างถูกต้อง  กระผมก็ฉงนในการตีความหมายอันแท้จริงของพระสูตรนั้น ใต้เท้ามีความรู้และปัญญาอันลึกซึ้งที่สุด ขอได้โปรดอธิบายโดยสรุปแก่กระผมเถิด

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า  ฟัตตัตเอ๋ย  พระธรรมเป็นของกระจ่าง เต็มที่อยู่เสมอ  ใจของท่านต่างหากซึ่งไม่กระจ่าง  พระสูตรนั้นไม่มีข้อความที่น่าฉงนเลย แต่ใจของท่านต่างหาก  ที่ทำให้พระสูตรนั้น เป็นของชวนฉงนไป  ในการสาธยายพระสูตรนั้น  ท่านทราบถึงความมุ่งหมายอันสำคัญ  ของพระสูตรนั้นหรือเปล่า?

        ภิกษุฟัตตัดได้ตอบว่า  กระผมจะทราบได้อย่างไร  ในเมื่อกระผมมีแต่ความมืดมัวทึบอยู่เช่นนี้  เท่าที่กระผมทราบก็คือท่องอย่างไรจึงจะว่าปากเปล่าต่อกันไปได้เท่านั้น

        พระสังฆปริณายกได้กล่าวต่อไปว่า  ท่านจงสาธยายพระสูตรออกมาเถิด ฉันอ่านเองไม่ได้  แล้วฉันจะอธิบายความหมายให้ฟัง

        ภิกษุฟัตตัตได้สาธยายพระสูตรนั้นขึ้น  ครั้นมาถึงบทอันมีชื่อว่า "นิยายเป็นเครื่องอุปมา"*38 พระสังฆปริณายกได้บอกให้หยุด  แล้วกล่าวว่า ความ
หมายของพระสูตรๆ นี้ ก็คือเพื่อแสดงให้ปรากฏถึงความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์  ของการที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาบังเกิดขึ้นในโลกนี้นั่นเอง  แม้ว่านิยายและภาพความหมายจะมีมาก  ในข้อความแห่งพระสูตรนี้  ก็ไม่มีเรื่องใดหรือภาพใดที่มุ่งหมายจะแสดงอะไรขึ้น  นอกไปจากจุดประสงค์อันสำคัญนี้  ทีนี้อะไรเล่า คือ วัตถุประสงค์?  อะไรเล่า คือ ความมุ่งหมายดังที่กล่าวมานั้น?  ข้อความในพระสูตรกล่าวว่า  "เพื่อวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว  เพื่อความมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว  เป็นวัตถุประสงค์อันสูงสุดจริงๆ เป็นความมุ่งหมายอันสูงสุดจริงๆ  ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบังเกิดขึ้นในโลกนี้"  ในเรื่องนี้ วัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว  ความมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว  อันเป็นวัตถุประสงค์อันสูงสุด เป็นความมุ่งหมายที่สูงสุด  ที่กล่าวถึงในพระสูตร ก็คือ "การเห็น" ซึ่งพุทธธรรม*39


*38 คือบทที่3 ของพระสูตร ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 27 บท นิยานนั้นมีว่า พ่อเอาตุ๊กตาเครื่องเล่นล่อลูกเล็กๆ ให้วิ่งออกมาเสียจากเรือนที่กำลังถูกไฟไหม้ จนปลอดภัย  เปรียบกับพระพุทธองค์ในข้อที่พระพุทธองค์มียานต่างชนิดต่างขนาด สำหรับขนสัตว์ข้ามสังสารวัฏ. ผู้แปลไทย พุทธทาส

*39เอาใจความว่า  พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกนี้ ก็เพื่อทำให้เกิดมี "การเห็น ธรรมชนิดที่ทำผู้เห็นให้เป็นพุทธะ" ขึ้นได้ในโลกนั่นเอง  คือช่วยทำให้เกิดโอกาสแก่ "พุทธภาวะ"  ที่มีอยู่ในทุกๆคน แสดงตัวปรากฏออกมา ผู้แปลไทย พุทธทาส

ฐิตา:



คนธรรมดาสามัญทั่วไป  ทำตัวให้ติดพันอยู่กับวัตถุในภายนอก, ส่วนภายในก็จมอยู่ในความเห็นผิดเรื่อง "ความว่างเปล่า" เมื่อใดเขาสามารถเปลื้องตนเองออกมาเสีย  จากความผูกพันอยู่กับวัตถุต่างๆ ที่เขาได้ประสบ  และเปลื้องตัวเองออกมาเสียจากความเห็นผิด  เรื่องความขาดสูญ  อันเกี่ยวกับคำสอน เรื่อง "ศูนยตา"   เมื่อนั้น เขาจะเป็นคนอิสระจากอวิชชาความหลงผิดในภายใน  และจากสิ่งอันเป็นมายาในภายนอก  บุคคลที่เข้าใจแจ่มแจ้งในความจริงอันนี้  และใจของเขาสว่างไสวออกไปในทันที  นี่แหละควรเรียกว่า  ผู้ที่ได้เปิดตาของเขาแล้ว  เพื่อการเห็นแจ้งซึ่งพุทธธรรม

คำว่า  "พุทธภาวะ"  นี้ มีความหมายเท่ากับคำว่า
"การตรัสรู้"
 ซึ่งควรจะถูกกำหนดไว้ภายใต้หัวข้อ (ดังที่กำหนดไว้ในสูตร)
 4 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

เปิดตาขึ้นเพื่อการเห็นแจ้ง  "ธรรม อันเป็นเหตุ ให้ ตรัสรู้"
แสดงความเห็นแจ้งใน "ธรรม อันเป็นเหตุ ให้ ตรัสรู้" นั้น ให้ปรากฏ
ตื่นขึ้นเพื่อการเห็นแจ้งใน  "ธรรม อันเป็นเหตุ ให้ ตรัสรู้"
เป็นผู้ตั้งมั่นใน  "ธรรม อันเป็นเหตุ ให้ ตรัสรู้"
เมื่อได้รับการสั่งสอนแล้ว  ถ้าเราสามารถจับฉวย  และเข้าใจโดยทั่วถึง  ในคำสอนอันว่าด้วย  "ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้"  เมื่อนั้นแหละคุณสมบัติอันประจำอยู่ภายใน  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมชาติอันแท้จริง อันได้แก่ "ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้"  นั้นก็จะมีโอกาสแสดงตัวออกมาให้ปรากฏ  ท่านไม่ควรตีความหมายในตัวพระสุตรอย่างผิดๆ แล้วลงมติเสียในที่สุดว่า  พุทธธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีไว้สำหรับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ  ไม่เป็นของทั่วไปสำหรับเราทั้งหลายด้วย  โดยที่เผอิญไปพบข้อความในสูตรที่กล่าวไว้ว่า  "เปิดตาขึ้นเพื่อการแจ้งในพุทธธรรม  แสดงความเห็นแจ้งในพุทธธรรมให้ปรากฏ ฯลฯ" ดังนี้  การตีความหมายผิดเช่นนี้  จะถึงกับเป็นการป้ายร้ายให้แก่พระพุทธเจ้าและเป็นการแช่งด่าพระสูตรนั้นเอง ทุกๆคำที่ตนพูด เพราะเขาก็เป็นพุทธะด้วยคนหนึ่ง เขาจึงมีโพธิธรรมอันนี้มาด้วยพร้อมแล้ว  แต่ไม่มีโอกาสสำหรับเขาเอง  ที่จะเปิดตาออกดูสิ่งอันนั้น  เพราะฉะนั้น  ท่านควรจะรับเอาการตีความหมายที่ว่า พุทธธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพุทธะ) นั้น คือ พุทธธรรมของใจเราเอง  หาใช่ของพระพุทธเจ้าอื่นใดที่ไหนไม่

        เมื่อถูกทำให้หลงรักโดยอารมณ์อันยั่วยวน  และปิดกั้นตัวเองเสียจากแสงสว่างของตัวเอง  ด้วยเหตุอันนั้น  สัตว์ทั้งปวงซึ่งระทมทุกข์อยู่เพราะอารมณ์ภายนอก  และความเร่าร้อนภายในจึงได้ตกเป็นเหมือนทาสแห่งตัณหาของตนเองโดยหมดสิ้น  เมื่อทรงเห็นเหตุการณ์อันนี้  พระพุทธองค์ของเรา  จึงได้ทรงลุกออกจากสมาธิ  เพื่อเร้าใจสัตว์เหล่านั้นด้วยพระโอวาทอันเป็นเครื่องกระตุ้นมีประการต่างๆ ให้ย่ำยีตัณหาของตนเอง  และเว้นขาดเสียจากการแสวงสุขจากอารมณ์ภายนอก  เพื่อว่าเขาจะได้เป็นผู้เสมอกันกับพระพุทธเจ้า เพราะเหตุอันนี้เอง  ข้อความในตัวสูตรจึงมีว่า "เปิดตาขึ้น  เพื่อเห็นแจ้งพุทธธรรม ฯลฯ"



ฐิตา:



ข้าพเจ้าได้ตักเตือนคนทั่วไปอยู่เสมอ ให้เปิดตาของตนเอง  เพื่อเห็นแจ้งพุทธธรรมในภายในใจของตนเอง  แต่ด้วยอำนาจความผิดปรกติของคนเหล่านั้นเขาพากันทำบาปภายใต้อวิชชาและความโง่เขลา ปากของเขาว่ากรุณา  แต่ใจของเขาโหดร้าย  เขาเป็นคนตะกละ มุ่งร้าย ริษยา คดโกง สอพลอ เข้าข้างตัว  รุกรานคนอื่น  เป็นผู้ทำลายกระทั่งสิ่งที่ไม่มีชีวิต  ดั่งนั้น  จึงชื่อว่าเขาเปิดตาของเขาขึ้นเพื่อ "ปุถุชนธรรม"   ถ้าเขากลับใจของเขาเสีย ในลักษณะที่ปัญญาปรากฏตัวอยู่ตลอดกาล  ใจก็จะมีความเห็นแจ้งในภายในอยู่เป็นปกติ  การทำชั่วก็จะมีการทำดีเข้ามาแทนที่  แล้วเขาก็จะลากตัวเองเข้ามาในทางแห่งพุทธธรรมได้ด้วยเหตุนั้น

        เพราะฉะนั้น  ท่านควรจะเปิดตาของท่านอยู่ทุกๆ ขณะ มิใช่เพื่อปุถุชนธรรม  แต่เพื่อพุทธธรรม ซึ่งเป็นสิ่งอยู่เหนือวิสัยโลก  ในเมื่อปุถุชนธรรมเป็นของอย่างโลกๆ  อีกอย่างหนึ่งถ้าหากท่านติดแน่นอยู่แต่ในความคิดเห็นของตนเอง  ว่าเพียงแต่สาธยายพระสูตรเป็นประจำวันอย่างเดียว ก็เป็นการดีเพียงพอเสียแล้วดังนี้  ท่านจะหลงรักมันเหมือนจามรีหลงรักพวงหางของมันเอง (จามรีนั้น  เป็นสัตว์ที่รู้กันอยู่แล้วว่ามีความหวงแหนอย่างแรงกล้าในหางของมัน)

       ในขณะนั้น  ภิกษุฟัตตัดได้ถามขึ้นว่า  ถ้าเป็นดังนั้น  เราเพียงแต่รู้ความหมายของพระสูตรก็พอแล้ว  ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องสาธยายข้อความนั้นๆถูกไหมขอรับ?

       พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า  ไม่มีอะไรเป็นของผิดอยู่ในพระสูตร  จนถึงท่านจะต้องเลิกการสาธยายเสียเลย  การสาธยายพระสูตร จะช่วยให้ท่านตรัสรู้ธรรมได้หรือไม่ จะเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านหรือไม่ ข้อนั้นทั้งหมด มันเนื่องอยู่ที่ตัวท่านเอง  ผู้ที่ท่องพระสูตรอยู่ด้วยปาก และเอาข้อความไปปฏิบัติอยู่เสมอด้วยใจ  คนนั้นชื่อว่า "พลิก" พระสูตร  ส่วนผู้ที่ท่องพระสูตรด้วยปาก  ปราศจากการปฏิบัติแต่อย่างใด ผู้ใดชื่อว่า  "ถูกพลิกเสียแล้ว" โดยพระสูตรที่เขาท่องนั้นเอง ท่านจงฟังโศลกโคลงของข้าพเจ้าดังต่อไปนี้:-



เมื่อใจของเราตกอยู่ภายใต้อวิชชา  สัทธรรมปุณฑริกสูตร "พลิกเรา"
เมื่อมีใจสว่างไสวในธรรม  เมื่อนั้นเรากลับ  "พลิก" สัทธรรมปุณฑริกสูตร

การสาธยายสูตรนับไม่ถ้วนครั้ง  โดยไม่ทราบความหมาย นั้น
ย่อมแสดงว่า ท่านเป็นแขกแปลกหน้าต่อใจความของพระสูตร

วิธีที่ถูกต้องสำหรับการสาธยายสูตรก็คือ อย่ายึดถือตามความเห็นของตัว
มิฉะนั้นแล้ว มันจะต้องพลาด
ผู้ที่อยู่เหนือ  "การรับ" และ  "การปฏิเสธ"
ย่อมนั่งอยู่เนืองนิจ บนเกวียนวัวขาว (กล่าวคือพุทธยาน)
เมื่อได้ฟังโศลกนี้จบลงแล้ว  ภิกษุฟัตตัต  เกิดความสว่างไสวในธรรมและมีน้ำตาไหล ได้ร้องขึ้นว่า  เป็นความจริง  ที่ก่อนหน้านี้  ข้าพเจ้าไม่สามารถจะ "พลิก" พระสูตร  แต่เป็นข้างพระสูตรเสียเองมากกว่า ที่ "พลิก" ข้าพเจ้า


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version