แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์
มิลินทปัญหา
ฐิตา:
องค์ ๕ แห่งอากาศ
" ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งอากาศได้แก่สิ่งใด? "
" ขอถวายพระพร ธรรมดา อากาศ ไม่มีใครจับถือเอาได้ฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรให้กิเลสยึดถือฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งอากาศ
ธรรมดาอากาศ ย่อมเป็นที่เที่ยวไปแห่ง ฤาษี ดาบส ภูต สัตว์มีปีก ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้ใจสัญจรไปในสังขารทั้งหลายว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งอากาศ
ธรรมดาอากาศ ย่อมเป็นที่เกิดแห่งความสะดุ้งกลัวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำให้ใจสะดุ้งกลัวต่อการเกิดในภพทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งอากาศ
ธรรมดาอากาศ ย่อมไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้มีสีลาจาวัตร ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีปริมาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งอากาศ
ธรรมดาอากาศ ย่อมไม่ติด ไม่ข้อง ไม่ตั้ง ไม่พัวพันอยู่ในสิ่งใดฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรข้อง ไม่ควรติด ไม่ควรตั้งอยู่ ไม่ควรผูกพันอยู่ในตระกูล หมู่คณะ ลาภ อาวาส เครื่องกังวล ปัจจัย และกิเลสทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งอากาศ
ข้อนี้สมกับที่ทรงสอน พระราหุล ไว้ว่า
" ดูก่อนราหุล อากาศย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ใดได้ฉันใด เธอจงอบรมจิตใจให้เสมอกับอากาศฉันนั้น เพราะเมื่อเธออบรมจิตใจให้เสมอกับอากาศได้แล้ว อารมณ์ที่มากระทบอันเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ย่อมไม่ครอบงำจิตใจได้" ดังนี้ ขอถวายพระพร "
ฐิตา:
องค์ ๕ แห่งดวงจันทร์
" ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งดวงจันทร์ได้แก่อะไร? "
" ขอถวายพระพร ธรรมดา ดวงจันทร์ ย่อมขึ้นในเวลาข้างขึ้น แล้วเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นในอาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติ อาคม (พระปริยัติธรรม ) อธิคม ( มรรคผล ) ความสงัด ความสำรวมอินทรีย์ ความรู้จักประมาณในโภชนะ ความเพียรฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งพระจันทร์
ธรรมดาพระจันทร์ ย่อมเป็นอธิบดียิ่งอย่างหนึ่งฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีฉันทาธิบดีอันยิ่งฉันนั้น อันนี้จัดเป็นองค์ที่ ๒ แห่งพระจันทร์
ธรรมดาพระจันทร์ ย่อมเที่ยวไปในกลางคืนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเที่ยวไปด้วยวิเวกฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที ๓ แห่งพระจันทร์
ธรรมดาพระจันทร์ ย่อมมีวิมานเป็นธงชัยฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีศีลเป็นธงชัยฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งพระจันทร์
ธรรมดาพระจันทร์ ย่อมมีผู้อยากให้ตั้งขึ้นมาฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเข้าไปสู่ตระกูล ด้วยมีผู้นิมนต์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งพระจันทร์
ข้อนี้สมกับประพันธ์พุทธภาษิตใน สังยุตตนิกาย ว่า
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเข้าไปสู่ตระกูล ด้วยอาการเหมือนดวงจันทร์ อย่าทำกายใจให้คดงอในตระกูล อย่าคะนองกายใจในตระกูล " ดังนี้ ขอถวายพระพร "
ฐิตา:
องค์ ๗ แห่งดวงอาทิตย์
" ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๗ แห่งดวงอาทิตย์ได้แก่อะไร? "
" ขอถวายพระพร ธรรมดา ดวงอาทิตย์ ย่อมทำพืชทั้งปวงให้เหี่ยวแห้งฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำกิเลสทั้งปวงให้แห้งฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งดวงอาทิตย์
ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมกำจัดความมืดฉันใด พระโยคาวจรก็ควรกำจัดความมืดทั้งปวง คือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งดวงอาทิตย์
ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมเที่ยวไปเนือง ๆ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรกระทำโยนิโสมนสิการเนือง ๆ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งดวงอาทิตย์
ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมมีรัศมีเป็นมาลา ( ระเบียบ ) ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีรัศมีคืออารมณ์เป็นมาลาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งดวงอาทิตย์
ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมทำให้หมู่มหาชนร้อนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำให้โลกนี้กับทั้งเทวโลกร้อนด้วยอาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ สติปัณฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งดวงอาทิตย์
ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมกลัวภัย คือราหูฉันใด พระโยคาวจรได้เห็นบุคคลทั้งหลายที่รกรุงรังไปด้วยทุจริต และทุคติ สวมด้วยเครื่องขนานคือทิฏฐิ เดินไปผิดทาง ก็ควรทำให้ใจสลดด้วยความกลัวสังเวช อันนี้เป็นองค์ที่ ๖ แห่งดวงอาทิตย์
ธรรมดาดวงอาทิตย์ ย่อมทำให้เห็นของดีของเลวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำตนให้เห็น โลกิยธรรม โลกุตตรธรรม ด้วยอินทรีย์ พละ โพชฌงค์ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๗ แห่งดวงอาทิตย์
ข้อนี้สมกับคำของ พระวังคีสะเถระ ว่า
" เมื่อดวงอาทิตย์ตั้งขึ้น ย่อมทำให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ทั้งสะอาดไม่สะอาด ดีเลว ฉันใด พระภิกษุผู้ทรงธรรม ก็ทำให้หมู่ชนอันถูกอวิชชาปกปิดไว้ ให้ได้เห็นทางธรรมต่าง ๆ เหมือนกับดวงอาทิตย์ที่ตั้งขึ้นมาฉันนั้น" ดังนี้ขอถวายพระพร "
ฐิตา:
องค์ ๓ แห่งท้าวสักกะ
" ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งท้าวสักกะได้แก่อะไร? "
" ขอถวายพระพร ธรรมดา ท้าวสักกะ ย่อมเพียบพร้อมด้วยสุขอย่างเดียวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรยินดีในสุข อันเกิดจากวิเวกอย่างเยี่ยมฝ่ายเดียวกันฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งท้าวสักกะ
ธรรมดาท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพทั้งหลาย ได้เห็นเทพยเจ้าทั้งหลายแล้วก็ทำให้เกิดความร่าเริงฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำใจให้เกิดความร่าเริงไม่หดหู่ ไม่เกียจคร้านในกุศลธรรมทั้งหลายฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งท้าวสักกะ
ธรรมดาท้าวสักกะ ย่อมไม่เกิดความเบื่อหน่าย ไม่เกิดความรำคาญฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรให้เกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่สงัดฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งท้าวสักกะ
ข้อนี้สมกับคำของ พระสุภูติเถระ ว่า
" ข้าแต่มหาวีรเจ้า นับแต่ข้าพระองค์ได้บรรพชาในศาสนาของพระองค์ ย่อมไม่รู้สึกว่า มีสัญญาสักอย่างเดียว อันเกี่ยวกับกามารมณ์เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์เลย" ดังนี้ ขอถวายพระพร "
ฐิตา:
องค์ ๔ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ
" ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๔ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิได้แก่อะไร? "
" ขอถวายพระพร ธรรมดา พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมทรงสงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรสงเคราะห์ ควรประคอง ควรอนุเคราะห์ ควรทำให้ร่าเริงแก่บริษัท ๔ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ
ธรรมดาในแว่นแคว้นพระเจ้าจักรพรรดิย่อมไม่มีโจรผู้ร้ายฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรให้มีโจรผู้ร้าย คือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ
ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า
" ผู้ใดยินดีในการระงับวิตก อบรมอสุภะ มีสติทุกเมื่อ ผู้นั้นจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ จะตัดเครื่องผูกแห่งมารได้" ดังนี้
ธรรมดาพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมเสด็จเลียบโลก เพื่อทรงพิจารณาดูคนดีคนเลวทุกวันฉันใด พระโยคาวจรก็ควรพิจารณา กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทุกวันแล้วทำให้บริสุทธิ์ ด้วยคิดว่า วันคืนของเราผู้ไม่ข้องอยู่ด้วยฐานะทั้ง ๓ นี้ ได้ล่วงเลยไปแล้วอย่างไร อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าจักรพรรดิ
ข้อนี้ สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ อังคุตตรนิกาย ว่า
" บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่าวันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่" ดังนี้
ธรรมดาพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมทรงจัดการรักษาให้ดี ทั้งภายในภายนอกฉันใดพระโยคาวจรก็ควรตั้งนายประตู คือสติให้รักษากิเลสทั้งภายในภายนอกฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ
ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีนายประตู คือสติ ย่อมละอกุศล อบรมกุศลละสิ่งที่มีโทษ อบรมสิ่งที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์ " ดังนี้ ขอถวายพระพร "
จบจักกวัตติวรรคที่ ๓
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version