ผู้เขียน หัวข้อ: คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2  (อ่าน 6928 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
« เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2010, 08:32:03 pm »



คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2




อหังการ

บุญ เป็นเครื่องที่ทำให้เกิดกิเลสในจิตฟูขึ้นจึงกลายเป็นความถือดีอวดดี ทำให้จิตหลงทางได้ง่ายที่สุด กุศล เป็นเครื่องตัดกิเลสมิให้ฟูขึ้น เพราะฉะนั้นจึงแสวงหาได้จากธรรมญาณ ซึ่งเป็นเรื่องภายใน ผู้สร้างบุญมิอาจตัดความยะโสโอหังได้เพราะเป็นสิ่งภายนอกที่ยั่วย้อมให้จิตหลงใหลลืมตัวและเป็นเรื่องที่สร้างได้ง่ายดายนัก ส่วนกุศลเป็นเรื่องที่ต้องค้นพบธรรมญาณแห่งตนจึงเป็นเรื่องยาก

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "การเห็นแจ้งในธรรมญาณเรียกว่า "กง"

ส่วนการที่สามารถกระทำให้คงที่สม่ำเสมอเรียกว่า "เต๋อ"

และเมื่อใดจิตที่เคลื่อนไหวแคล่วคล่องตามภาวะที่แท้จริง พร้อมทั้งทำหน้าที่อย่างประหลาดลี้ลับของใจเราเอง เมื่อนั้นได้ชื่อว่าเข้าถึงซึ่ง กงเต๋อ"

คำว่า "กงเต๋อ" มีความหมายว่า คุณธรรม หรือ กุศลกรรม เพราะการค้นพบธรรมญาณของตนเองเป็นการงานที่ต้องจัดการปัดกวาดกิเลสนานาประการออกไปให้หมดและสภาวะแห่งธรรรมญาณปรากฎจึงเรียกว่าคุณธรรม
 
การอธิบาย "กงเต๋อ" จึงมิใช่เรื่องยาก แต่การกระทำให้ปรากฏขึ้นมาจนเป็นธรรมชาติจึงเป็นเรื่องยากนัก พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "การระวังจิตภายในให้คงอยู่ในภาวะที่ปราศจากอหังการจึงเป็น "กง" แต่ที่เป็นภายนอกเกี่ยวกับการวางตัวไว้ในสภาพที่เหมาะสมทุกวิถีทางจึงเป็น "เต๋อ" การที่ว่าทุกสิ่งที่แสดงออกจากธรรมญาณ จึงเรียกว่า "กง" และรู้ว่าส่วนที่เป็นประธานของจิตซึ่งเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงจึงเรียกว่า "เต๋อ" การที่ไม่ปล่อยให้จิตวิ่งเตลิดไปจาก ธรรมญาณ จึงเรียกว่า "กง" แต่การที่ใช้จิตให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่เผลอทำให้จิตมืดมัวเสียก่อนจึงเรียกว่า "เต๋อ"

สภาวะของจิตที่มีกุศลธรรรมจึงล้วนกระทำออกไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างแท้จริงเพราะยอมรับว่าทุกคนล้วนแต่มีสภาวะแห่งธรรมญาณเหมือนกันหมด และคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนจึงเปรียบได้เช่นน้ำพร่องแก้วสามารถเติมน้ำได้ตลอดเวลา แต่คนที่ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นเช่นน้ำล้นแก้ว ไม่อาจเพิ่มเติมน้ำได้อีก ผู้ที่ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงไม่อาจสร้างบุญกุศลใดๆ ได้เลยเพราะมีแต่ยโสโอหังดูแคลนผู้อื่นว่าต่ำกว่าตนเสมอ



พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "ถ้าแสวงหากุศลภายในธรรมกายและทำตามที่ได้กล่าวนี้จริงๆ กุศลที่ได้รับย่อมเป็นกุศลจริงผู้ปฏิบัติเพื่อกุศลจะไม่หมิ่นผู้อื่น  และในทุกที่ทุกโอกาสเขาปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความยำเกรงนับถือ ผู้ที่ดูหมิ่นผู้อื่นเป็นปกตินิสัยย่อมไม่สามารถขจัดมานะอหังการออกไปได้แสดงให้เห็นว่าเขาขาดซึ่ง "กง" ดังนั้น เขาจึงไม่อาจแจ้งต่อธรรมญาณของตนเองส่อสำแดงให้เห็นว่าเขายังขาด "เต๋อ" คำกล่าวของท่านฮุ่ยเหนิงย่อมชี้ให้เห็นชัดเจนถึงภาวะจิตของคนที่มีกุศลธรรมคือ "กงเต๋อ" ย่อมเป็นคนที่มีมารยาทยกย่องผู้อื่น คนเหล่านี้ย่อมได้รับการยกย่องนับถือตอบกลับคืนไป แต่คนที่เย่อหยิ่งจองหองล้วนได้รับความดูหมิ่นหรือตอบแทนด้วยความรังเกียจของชนทั้งปวง

คนสมัยนี้ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะเทคโนโลยีที่เจริญกลายเป็นกิเลสทำให้เขาลืมตัวว่าเก่งกาจกว่าใครๆ ที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ คนเหล่านี้จึงเจริญด้วย อหังการ เพราะฉะนั้นคนในยุคที่เจริญด้วยเทคโนโลยีจึงเป็นผู้ที่อวดดีโดยปราศจากความดีและไร้มารยาทและพร้อมที่จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและกลายเป็นผู้ที่ประจบสอพลอต่อผู้ที่มีความรู้เหนือกว่าเขา โลกจึงตกต่ำและตกอยู่ในอันตรายเพราะ "คุณธรรม" มิได้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอีกต่อไป แต่อำนาจแห่ง "อหังการ" ครอบงำโลกเอาไว้




ผู้ที่บ้าคลั่งแต่เทคโนโลยีจึงกลายเป็นคนหลงอย่างแท้จริงเพราะเขาเกิดความเข้าใจผิดว่าการครอบครองเทคโนโลยีจึงกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจอันแท้จริงสามารถบงการชีวิตของผู้อื่นได้ ความจริงเขาเหล่านั้นแม้ชีวิตของตนเองยังไม่อาจบงการได้เลย และวิทยาศาสตร์เจริญก้าวล้ำหน้าไปเท่าไรแต่ก็ยังไม่สามารถสร้างต้นหญ้าจริงๆ หรือแม้แต่มดตัวน้อยสักตัวหนึ่งได้ มนุษย์ตกอยู่ในอำนาจของวิทยาศาสตร์จึงเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะแห่งความมืดมนอย่างแท้จริงและน่าสงสารนัก

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงสรุปเกี่ยวกับ "กงเต๋อ" ว่า "เมื่อใดความเป็นไปแห่งจิตทำหน้าที่โดยไม่มีติดขัดเมื่อนั้นเรียกว่ามี "กง" เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่โดยตรงแน่ว เมื่อนั้นเรียกว่ามี "เต๋อ" เพราะฉะนั้น กุศล จึงเป็นเรื่องของการแสวงหาภายในจิตเดิมแท้หรือธรรมญาณ และหาไม่ได้ด้วยการโปรยทาน ถวายภัตตาหารเจ  จึงต้องแยกแยะให้ออกระหว่างความปิติอิ่มใจกับกุศลกรรมอันแท้จริง" การสร้างบุญกับ แสวงหากุศลจึงไม่เหมือนกันจริงๆ





ที่มาภาพจาก : Google
ที่มาของพระสูตรท่านเว่ยหล่าง: http://www.baanjomyut.com/main.html

Credit by: http://www.sanyasi.org/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=6&Category=sanyasiorg&No=288051
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 02, 2010, 06:07:24 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2010, 08:34:52 pm »



ดินแดนแห่งอมิตาภะ


พระพุทธองค์ตรัสย้ำให้ทรงปฏิบัติแต่ปัจจุบันกาลมากกว่าอดีตแลอนาคตกาล  เพราะทั้งสองกาลเวลานั้นหาได้เกิดประโยชน์โภคผลแต่ประการใดไม่   รู้อดีตก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อนาคตที่มาถึงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ปัจจุบันกาลจึงเป็นตัวกำหนดอนาคตที่แท้จริง  เพราะฉะนั้นการเอาใจใส่ต่อปัจจุบันจึงเป็นผู้ไม่ประมาท

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ตอบปัญหาของข้าหลวงอุ๋ยที่สงสัยว่าบรรพชิตและฆราวาสต่างเอ่ยพระนามของพระอมิตาภะโดยหวังว่าจะไปบังเกิดในดินแดนทางทิศตะวันตกอันเป็นดินแดนบริสุทธิ์ได้หรือไม่ว่า "เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสพระสูตรที่กรุงสาวัตถีเป็นที่กระจ่างชัดแล้วว่า แดนบริสุทธิ์นั้นมิได้อยู่ไกลไปจากที่นี่เลย เพราะถ้าติดตามระยะทางเป็นไมล์ก็ได้ 108,000 ไมล์เท่านั้น ซึ่งความหมายที่แท้จริงของระยะทางนี้คือ อกุศล 10 และ มิจฉัตตะ 8 ภายใน ตัวเรานั่นเอง สำหรับพวกที่มีใจต่ำมันย่อมอยู่ไกลแสนประมาณ แต่สำหรับพวกมีใจสูงอยู่ใกล้นิดเดียว"

อกุศล 10 ประการนั้นเกิดจาก จิต ถึงสามประการคือ โลภ โกรธ หลง
เกิดจากวาจา มีถึงสี่ประการคือ โกหก หยาบ นินทา และเพ้อเจ้อ
และกายกระทำชั่ว สามอย่างคือ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมยและผิดในกามตัณหา


ส่วนมิจฉัตตะหมายถึงหนทางที่ตรงกันข้ามกับ มรรคมีองค์แปดคือมิจฉาปัญญา มิจฉาสมาธิ มิจฉาสติ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวาจา เป็นต้น เพราะฉะนั้นในขณะที่คนมีปัญญาชำระใจของตนเองให้บริสุทธิ์เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า "เมื่อใจบริสุทธิ์ดินแดนแห่งพระพุทธเจ้าก็บริสุทธิ์พร้อมกัน" แต่คนที่ไร้ปัญญาต่างพากันออกนามพระอมิตาภะและอ้อนวอนขอไปเกิดในแดนบริสุทธิ์ย่อมเป็นไปมิได้

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้อธิบายอย่างแยบยลว่า "แม้เป็นชาวตะวันออก ถ้าใจบริสุทธิ์ก็ย่อมเป็นคนไม่บาป  แต่ต่อให้ชาวตะวันตกเสียเองแต่ใจโสมมก็ไม่อาจช่วยให้เป็นคนหมดบาปได้ ถ้าในกรณีที่เป็นคนตะวันออกทำบาปแล้วออกนามพระอมิตาภะแล้วอ้อนวอนเพื่อให้ไปเกิดทางทิศตะวันตก แต่ถ้าคนบาปนั้นเป็นชาวตะวันตกเสียเอง เขาจะอ้อนวอนให้ไปเกิดที่ไหนอีกเล่า"





"คนสามัญและคนโง่ไม่เข้าใจในธรรมญาณ และไม่รู้จักว่าแดนบริสุทธิ์มีอยู่พร้อมแล้วในตัวของตัวเอง ดังนั้นจึงปรารถนาไปเกิดทางทิศตะวันออกบ้าง ทางทิศตะวันตกบ้าง แต่สำหรับคนที่มีปัญญาแล้วที่ไหนๆก็เหมือนกันทั้งนั้น ตามที่พระพุทธองค์ ตรัสเอาไว้ว่า "เขาจะไปเกิดที่ไหนไม่สำคัญเขาคงมีความสุขและบันเทิงรื่นเริงอยู่เสมอ" พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "เมื่อใจบริสุทธิ์จากบาป ทิศตะวันตกก็อยู่ไม่ไกลจากที่ตรงนี้แต่มันลำบากอยู่ที่คนใจโสมมต้องการไปเกิดที่นั่น"

"สิ่งที่ควรทำเป็นข้อแรกก็คือ จัดการกับอกุศล 10 ประการเสียให้หมดสิ้นเมื่อนั้น ก็เป็นอันว่าเราได้เดินทางเข้าไปแล้ว 100,000 ไมล์ขั้นต่อไปเราจัดการกับมิจฉัตตะ 8 เสียให้เสร็จสิ้นก็เป็นอันว่าหนทางอีก 8,000 ไมล์นั้นเราได้เดินผ่านทะลุไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้แดนบริสุทธิ์จะหนีไปไหน ถ้าเราสามารถเห็นแจ้งชัดในธรรมญาณอยู่เสมอ และดำเนินการตรงแน่วอยู่ทุกขณะแล้ว พริบตาเดียวเราก็ไปถึงแดนบริสุทธิ์ได้และพบอมิตาภะอยู่ที่นั่น"

พระวจนะตรงนี้น่าจะเป็นเครื่องยืนยันว่าการเข้าถึงดินแดนอันบริสุทธิ์ถูกต้องนั้นอยู่ที่การบำเพ็ญให้เห็นแจ้งชัดในธรรมญาณของตนเองเพียงสถานเดียวจึงเป็นการที่ตนเองอย่างแท้จริงตรงตามพระพุทธวจนะที่กล่าวว่า ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ความเข้าใจของสาธุชนในสมัยปัจจุบันเชื่อว่า ผู้อื่นสามารถพาเราไปยังแดนบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นจึงคลั่งไคล้ใหลหลงต่อผู้ที่มีวัตรปฏิบัติแปลกประหลาดมหัศจรรย์มากกว่าที่หันมาบำเพ็ญตนเอง โดยหวังว่าผู้วิเศษเหล่านั้นจักนำพาเข้าไปสู่แดนสวรรค์โดยที่ตนเองมิต้องบำเพ็ญปฏิบัติแต่อย่างใด พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "ถ้าท่านทั้งหลายเพียงแต่ประพฤติกุศล 10 ประการเท่านั้นท่านก็หมดความจำเป็นที่จะต้องไปเกิดที่นั่น ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าท่านไม่จัดการกับอกุศล 10 ประการให้เสร็จสิ้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ไหนเล่าที่จะพาท่านไปที่นั่น 

ถ้าท่านเข้าใจหลักธรรมอันกล่าวถึงธรรมชาติที่ไม่มีการเกิด ก็จะพาท่านไปให้เห็นทิศตะวันตกได้ในอึดใจเดียว แต่ถ้าท่านไม่เข้าใจ ท่านจะไปถึงที่นั่นด้วยลำพังการออกนามพระอมิตาภะได้อย่างไรกันหนอเพราะหนทาง 108,000 ไมล์นั้นมันไกลไม่ใช่เล่น" หลักธรรมอันกล่าวถึงการไม่เกิดนั้นเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง  ร่างกายสังขารมีวันเกิดจากพ่อแม่ แต่ธรรมญาณของเราซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงนั้นไม่มีวันเกิดเพระฉะนั้นจึงไม่มีวันดับ ความเข้าใจเช่นนี้ย่อมทำให้เข้าใจถึงการเวียนว่ายตายเกิดและหักวงจรของการเวียนว่ายเช่นนี้เสียได้ การหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายจึงมิได้อยู่ที่การทำบุญแต่อยู่ที่การปฏิบัติตนเองให้พบสภาวะแห่งธรรมญาณอันเป็นธรรมชาติแท้ที่ไม่เกิดดับ และที่ตรงนั้นในตัวเราจึงเป็นดินแดนแห่งอมิตาภะซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอมตะนิรันดรนั่นเอง




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2010, 08:37:08 pm »


มนุษย์นคร

ความว่างก่อกำเนิดสรรพสิ่ง ถ้าปราศจากความว่างเสียแล้วสรรพสิ่งมิอาจถือกำเนิดขึ้นมาได้เลย เพราะฉะนั้นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ดาวน้อยใหญ่ในจักรวาลนี้ล้วนมีความว่างเป็นปัจจัยสำคัญ จึงกำเนิดขึ้นมาและดำรงอยู่ได้ ธรรมญาณของมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน เพราะมีความว่างจึงสามารถปรุงแต่งสรรพสิ่งได้มากมายจนมิอาจประมาณได้เลย ใครสามารถเข้าถึงความสามารถเดิมแท้แห่งธรรมญาณได้ก็จักเข้าใจจักรวาลนี้เช่นเดียวกัน เพราะอำนาจการปรุงแต่งมิได้แตกต่างไปจากความว่างอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเลย

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเปรียบเทียบเอาไว้อย่างน่าศึกษาว่า "ตัวของเรานี้เป็นนครแห่งหนึ่ง ตา หู จมูก ลิ้น เป็นเฉกเช่นประตูเมือง ประตูนอกมี 4 ประตู ซึ่งเป็นอำนาจการปรุงแต่งสำหรับนึกคิด ใจนั้นเป็นแผ่นดิน ส่วนธรรมญาณเป็นเช่นพระเจ้าแผ่นดินอาศัยอยู่ในมณฑลแห่งใจ ถ้าธรรมญาณยังอยู่ข้างในก็หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินยังอยู่ กายและใจของเราก็ยังคงอยู่ แต่เมื่อธรรมญาณออกไปเสียแล้วซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินมิได้อยู่ กายและใจของเราก็แตกสลายสาบสูญไป"

ถ้อยความเปรียบเทียบเช่นนี้ย่อมเห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เป็นตัวตนแท้ที่จริงของมมนุษย์นั้นคือ ธรรมญาณ ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอันแท้จริงตามธรรมชาติเดิมแท้และมีความบริสุทธิ์สะอาดชัดเจนชนิดที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกเลย แต่เพราะตกอยู่ในอำนาจของความดีชั่ว มืดสว่างแห่งโลกนี้ กิเลสทั้งปวงที่วิ่งเข้าสู่ประตูทั้ง 4 จึงก่อให้เกิดการปรุงแต่งไม่มีที่สิ้นสุด จนลืมเลือนธรรมญาณอันแท้จริงของตนเองไปเสียสิ้น พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "เราต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นพุทธะในภายในธรรมญาณและจักไม่แสวงหาธรรมญาณในที่อื่นนอกจากตัวเราเอง ผู้ที่ถูกความเขลาครอบงำมองไม่เห็นธรรมญาณนั้นจัดเป็นคนสามัญปุถุชน

ผู้ที่มีความสว่างมองเห็นธรรมญาณของตนเองจัดเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

ผู้ที่มีความเมตตากรุณาย่อมเป็นพระอวโลกิเตศวร

ผู้ที่มีความเพลินเพลินในการโปรยทานย่อมเป็นพระมหาสถามะอันเป็นพระโพธิสัตว์อีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งคู่กับพระโพธิสัตว์กวนอิม

ผู้ที่สามารถทำให้ชีวิตบริสุทธิ์ก็คือพระศากยมุนีพุทธเจ้า

ผู้ที่มีความสม่ำเสมอตรงแน่วคือพระอมิตาภะ"

อานุภาพแห่งธรรมญาณที่เปล่งประกายออกมาเช่นนี้ย่อมดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งพระพุทธพระโพธิสัตว์โดยแท้จริง แต่ถ้าตกอยู่ในอำนาจการปรุงแต่งทางด้านอบายคติย่อมกลับกลายเป็นภัยอันใหญ่หลวงของตนเอง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงเปรียบเทียบว่า "ผู้ที่ติดอยู่ในตัวตนและความมีความเป็น คือเขาพระสุเมรุ ใจที่สามานต่ำช้าได้แก่ มหาสมุทร มีกิเลสเป็นระลอกคลื่นมีความชั่วเป็นเช่นมังกรร้าย ความเท็จคือผีห่า อารมณ์ภายนอกเป็นเช่นสัตว์น้ำต่างๆ  ความโลภและโกรธคือ นรกโลกันต์ อวิชชาและความมัวเมาทั้งปวงคือสัตว์เดรัจฉานทั่วไป"

อำนาจการปรุงแต่งจึงมีกำลังอยู่สองประการคือ ร้ายกับดี เพราะฉะนั้นขณะที่มีกายอยู่จึงมิต้องแสวงหา สวรรค์ นรก นอกกายเลย แต่จงค้นหาภายในจิตของตนเอง ครั้งหนึ่งมีนายพลท่านหนึ่งสะพายดาบเข้าไปหาพระอาาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งชอบแสดงธรรมเกี่ยวกับนรกสวรรค์ โดยกล่าวกับพระอาจารย์ท่านนั้นว่า "วันนี้หลวงพ่อต้องแสดง นรก สวรรค์ ให้ชัดเจนมิเช่นนั้นจักต้องได้เห็นดีกันแน่แท้"

"เธอหรือคือนายพล รูปร่างอ้วนพีดั่งหมูตัวหนึ่งแล้วจักสำแดงฝีมือขับไล่ศัตรูได้อย่างไร"

นายพลได้ยินพระอาจารย์กล่าวดังนี้ บันดาลโทสะเพราะถูกสบประมาท จึงชักดาบออกจากฝัก พระอาจารย์ยกมือขึ้นแล้วกล่าวว่า "อมิตาพุทธ ประตูนรกเปิดแล้วเชิญท่านเดินเข้าไปได้" นายพลได้สติหากฆ่าฟันพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพย่อมมีนรกเป็นที่ไปจึงสอดดาบกลับคืนสู่ฝัก พระอาจารย์จึงกล่าวต่อไปว่า "อมิตาพุทธ ประตูสวรรค์เปิดแล้ว เชิญท่านก้าวเข้าไปได้"

นิทานเรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นความจริงว่า ตราบใดกายสังขารยังอยู่ นรกย่อมอยู่ในอกสวรรค์ย่อมอยู่ในใจ อาการที่จิตสำแดงออกมานั้นเป็นไปตามความเคยชินแห่งการอาศัยอยู่ในนรกและสวรรค์อย่างแท้จริง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "ถ้าประพฤติในกุศล 10 ประการอย่างมั่นคง แดนสุขาวดีก็ปรากฏแก่ตัวเราทันที  เมื่อขจัดความเห็นแก่ตัวตนและปรุงแต่งเป็นนั่นเป็นนี่ทิ้งไปเสียภูเขาพระสุเมรุก็พังทลายลงมา เมื่อใดจิตพ้นไปจากความชั่วน้ำในมหาสมุทรย่อมเหือดแห้งไปสิ้น เมื่อเป็นอิสระอยู่เหนือกิเลสทั้งปวงคลื่นลมทั้งหลายก็สงบเงียบ เมื่อใดความชั่วมิกล้าเผชิญหน้า เมื่อนั้นปลาร้ายมังกรร้ายก็ตายสิ้น" ผู้มีปัญญาจึงแสวงหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์ภายในธรรมญาณของตนเองแต่เพียงสถานเดียว




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2010, 08:40:51 pm »


แสงแห่งพระพุทธะ

มนุษย์ปุถุชนซึ่งถูกกิเลสครอบงำ "ธรรมญาณ" อย่างหนาแน่นจึงไม่อาจพบแสงแห่งพระพุทธะได้ บุคคลเหล่านี้จึงมีแต่ศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เมื่อเห็นสิ่งใดที่ตัวเองปฏิบัติไม่ได้ แต่ผู้อื่นกระทำได้จึงพากันกราบไหว้อ้อนวอนให้ผู้นั้นปกปักรักษา เขาจึงกลายเป็นผู้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปโดยสิ้นเชิง   ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน สาธุคุณจิม โจนส์ เจ้าลัทธิวิปริตแห่งสหรัฐอเมริกา เผยแพร่วันสิ้นสุดของโลกจนได้สาวกมากมายและกำหนดหมายให้สาวกทั้งปวงฆ่าตัวตาย เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าปรากฏว่ามีผู้ยอมฆ่าตัวตายหลายพันคน

ความหลงที่ปิดบัง "ธรรมญาณ" แห่งตนได้ก่อให้เกิดการกระทำที่น่าหัวเราะเยาะมากมาย เช่น ผู้คนพากันเช่ารถบัสมุ่งหน้าไปที่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้เพราะข่าวเล่าลือว่าหมาออกลูกเป็นคนต่างจึงกราบไหว้บูชาเพียงเพื่อขอเลขแทงหวย ทั้งๆ ที่ลูกหมานี้พิการมีสองขาหน้าแบนๆ และตายแล้ว ข่าวเช่นนี้ปรากฏขึ้นบ่อย บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หมูออกลูกเป็นหมาหรือเป็นช้าง ต้นไม้แปลกประหลาดพิสดาร ล้วนเครื่องชี้ให้เห็นว่าความหลงมิได้เหือดแห้งไปจากโลกนี้ แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่นับถือตัวเองชนิดหลงใหลในความดีงามหรือความสามารถที่เหนือผู้อื่น บุคคลเหล่านี้ก็มีพฤติกรรมไม่ต่างไปจากผู้หลงสิ่งอื่นเช่นกัน เขาเหล่านั้นจักสร้างบาปเวรกรรมอย่างประมาณมิได้

มีแต่ผู้พบ "ธรรมญาณ" เท่านั้นจึงมีความเสมอภาคเพราะเห็นผู้อื่นมีทุกอย่างเหมือนตนเอง พระพุทธองค์ทรงยืนยันถึงความเสมอภาคของเวไนยสัตว์ว่ามิได้มีอะไรแตกต่างกันเลย เพราะแต่เดิมมา "ธรรมญาณ" มีแหล่งกำเนิดที่เดียวกันแลมีสภาวะ คุณสมบัติเหมือนกันทุกประการ พระอริยเจ้ากล่าวว่า "วางมีดลงจึงเป็นพระพุทธะ"

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงให้คำอธิบายเกี่ยวกับ "ความรู้แจ้ง" เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "ภายในธรรมญาณย่อมมีองค์ตถาคตแห่งความตรัสรู้ ซึ่งสามารถส่องแสงอันแรงกล้าออกมาทำความสว่างที่ประตูภายนอกทั้งหกประตูและควบคุมมันให้บริสุทธิ์" พระวจนะนี้มีความหมายว่าทุกคนมีความสามารถรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง ควบคุมความเคลื่อนไหวแห่งจิตมิให้เกิดกิเลสคือความสกปรกมาทำลายความบริสุทธิ์แห่งพุทธจิต ประตูทั้งหกซึ่งเปรียบเสมือนมหาโจรคือ ตา หู จมูก ปาก กาย และจิต ซึ่งเป็นหนทางพาให้ความโลภ โกรธ หลง ไหลวนเวียนเข้าไปในธรรมญาณจนกลายเป็นคนหลง อายตนะทั้งหกประการนี้ล้วนเป็นต้นกำเนิดก่อให้เกิดอารมณ์สามระดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด แล้วแต่อำนาจการปรุงแต่งของจิตญาณที่สั่งสมเอาไว้มากมาย ทั้งปัจจุบันชาติและอดีตชาติ จิตที่ปรุงแต่งอารมณ์ทั้งปวงและสั่งสมจนกลายเป็นอนุสัยนอนเนืองอยู่ในขันธสันดานได้กลายเป็นวาสนาบารมีติดตามไปชาติแล้วชาติเล่าแม้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว วาสนาบารมีก็ติดตามมา


เช่น พระสารีบุตร ครั้งหนึ่งมีเศรษฐีท่านหนึ่งเกิดจิตศรัทธาใคร่ถวายผ้าจีวรสามผืนแด่พระสารีบุตร จึงนิมนต์ให้พระสารีบุตรไปรับประเคนที่บ้านของตนระหว่างทางต้องข้ามท้องร่อง พระสารีบุตรกระโดดข้ามด้วยความว่องไวเศรษฐีรู้สึกขัดใจจึงคิดว่า สมณะรูปนี้ไม่สำรวมเลย "เราจักถวายผ้าเพียงสองผืนเท่านั้น" เศรษฐีคิดในใจ เมื่อเดินทางผ่านท้องร่องที่สอง พระสารีบุตรก็ยังคงกระโดดข้ามอีก เศรษฐีจึงกำหนดหมายว่าจักถวายผ้าเพียงผืนเดียวเท่านั้น แต่พอผ่านมาถึงท้องร่องที่สาม พระสารีบุตรไม่กระโดดข้ามกลับเดินอ้อมไปอย่างสำรวม เศรษฐีจึงถามด้วยความแคลงใจว่า "ทำไมท้องร่องนี้พระคุณเจ้าจึงไม่กระโดดเล่า ขอรับ" "อ้าว ถ้าอาตมากระโดดข้ามท้องร่องนี้โยมก็ไม่ได้ถวายผ้า น่ะซี" พระสารีบุตรในอดีตชาติได้ถือกำเนิดเป็นวานร เพราะฉะนั้นนิสัยกระโดดโลดเต้นจึงติดตัวมา แม้ในปัจจุบันชาติสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วยังไม่อาจตัดวาสนาแห่งวานรได้อย่างหมดจด

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึงแสงแห่งการตรัสรู้ว่า "แสงนี้แรงมากพอที่จะผ่านสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้งหก และเมื่อมันย้อนกลับเข้าไปภายในธรรมญาณมันจะกลับธาตุอันเป็นพิษทั้งสามประการให้หมดไป และชำระล้างบาปที่ทำให้ตกนรกหรืออบายภูมิและทำความสว่างไสวให้เกิดขึ้นแก่เราภายใน ภายนอก จนกระทั่งไม่มีอะไรแตกต่างจากพวกที่เกิดในแดนบริสุทธิ์ ทางทิศตะวันตก แต่ถ้าไม่ฝึกตัวเสียแล้วเราจักบรรลุถึงแดนบริสุทธิ์นั้นได้อย่างไร"

ความหมายที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวไว้เช่นนี้เพราะการรู้แจ้งธรรมญาณแห่งตนเปรียบประดุจดังการตรัสรู้ และตัดการเวียนว่ายตายเกิด หกช่องทาง ได้เด็ดขาด แม้พิษร้ายสามประการอันได้แก่ โลภ โกรธ หลง ก็ขจัดให้หมดสิ้น การเกิดในแดนบริสุทธิ์ทิศตะวันตกนั้นได้กำหนดหมายเอาไว้ว่าเป็นดินแดนแห่งพุทธเกษตร แต่พระธรรมาจารย์ได้ชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริงถ้าไม่พบธรรมญาณของตนเอง มณฑลแห่งจิตของตนเองก็มืดมิดมิใช่พุทธเกษตร ให้กราบไหว้พระพุทธเจ้ากี่แสนพระองค์ก็ไม่อาจพบพุทธภูมิ พิษร้ายสามประการและการเวียนว่ายทาง หู ตา จมูก ปาก สะดือ และกระหม่อม จึงเป็นหนทาง หลง ซึ่งไม่มีผู้วิเศษใดสามารถดลบันดาลให้ พ้น ไปได้เลย



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2010, 08:43:16 pm »


บำเพ็ญในครัวเรือน

การบำเพ็ญธรรมที่ติดอยู่ในรูปแบบได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและปฏิบัติผิดกันมาจนกลายเป็นวิถีชีวิตสองแบบกล่าวคือ ผู้บำเพ็ญธรรมต้องบวชและอยู่ในอารามเฉพาะส่วน แยกออกจากชาวบ้านอย่างหนึ่ง  กับชีวิตชาวบ้านที่อาศัยคำสอนของนักบวชเหล่านั้นมาปฏิบัติซึ่งก็เชื่อกันว่าวิถีชีวิตของปุถุชนเต็มไปด้วยบาปไม่มีทางพ้นจากนรก อีกอย่างหนึ่ง วิถีชีวิตในครัวเรือนเป็นเรื่องของชาวโลกีย์เพราะฉะนั้นครัวเรือนจึงเป็นเสมือนหนึ่งสะพานทอดเดินไปสู่นรกสถานเดียว ชาวพุทธจึงเชื่อว่าผู้ครองเรือนไม่อาจบำเพ็ญธรรมได้

ความเชื่อเช่นนี้เป็นมิจฉาทิฐิคือ ความเห็นผิดโดยแท้ เพราะธรรมะมิใช่ของนอกตัว แต่มีอยู่ในตัวทุกคน พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนเมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้วว่า "ผู้ใดอยากบำเพ็ญธรรมหรือปฏิบัติทางจิต จะทำอยู่ที่บ้านก็ได้ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในสังฆาราม พวกที่ปฏิบัติตนอยู่กับบ้านนั้น อาจเปรียบได้กับชาวบ้านทางทิศตะวันออกที่ใจบุญ  ส่วนพวกที่อยู่ในสังฆารามแต่ละเลยปฏิบัติธรรมก็ไม่แตกต่างอะไรกับชาวบ้านที่อยู่ทางทิศตะวันตกแต่ใจบาป   เพราะฉะนั้นไม่ว่า อยู่ที่ใด ถ้าจิตบริสุทธิ์ ณ ที่นั้นก็เป็นแดนบริสุทธิ์ทางทิศตะวันตก ซึ่งหมายถึง ธรรมญาณ ของบุคคลนั้นเอง" ความหมายแห่งวจนะของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงย่อมเป็นที่สอดรับกับความเป็นจริงว่า การปฏิบัติบำเพ็ญธรรมมิได้อยู่ที่รูปแบบและสถานที่

เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ มาถึงแม่น้ำอโนมาก็เพียงเปลื้องเครื่องทรงของกษัตริย์ออกและตัดพระเมาฬีและนำผ้าห่อศพมาพันพระวรกาย และมุ่งหน้าหาความรู้เพื่อพ้นจากทะเลทุกข์ การดำรงชีพของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ บัดนี้ไม่ต่างอะไรกับขอทานปราศจากเครื่องอำนวยความสะดวกและผู้คนทั้งปวง เหตุไฉนจึงต้องทรงปฏิบัติเช่นนี้ เพราะเป็นไปตามกาลกำหนดของเบื้องบนและความผันแปรของธรรมกาลซึ่งแบ่งออกเป็นสามยุค ยุคแรก เป็นยุคเขียว ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ ฮ่องเต้ ซึ่งได้ชื่อว่าโอรสสวรรค์   ยุคสอง เป็นยุคแดง ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ อริยะบุคคล ซึ่งได้ชื่อว่า ปราชญ์ เมธี   ยุคสาม เป็นยุคขาว ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ สาธุชน ซึ่งได้ชื่อว่า นักธรรม

พระพุทธองค์ทรงมีพระภารกิจตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อนำพาเวไนยสัตว์ทั้งปวงให้ข้ามพ้นไปจากทะเลทุกข์ ในครั้งนั้นสังคมของชมพูทวีปยังแบ่งแยกออกเป็นวรรณะชั้นแตกต่างกันไม่ยอมมีสังคมร่วมกันคือ กษัตริย์ พราหมณ์ ไวทยะ ศูทร และ วรรณะ ที่ต่ำสุดอันเกิดจากการผสมข้ามวรรณะกันก็ได้ลูกออกมาเป็นจัณฑาลจึงเป็นความจำเป็นที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดรูปแบบใหม่ให้ทุกวรรณะสามารถหลอมละลายกลายเป็นชนชั้นเดียวกันได้

รูปแบบนักบวชของพระพุทธองค์ทรงมีความหมายเช่นนี้มิได้มีไว้เพื่อติดยึดแต่ประการใด แต่ในชั้นหลังต่างไม่เข้าใจความมุ่งหมายแต่กลับกลายเป็นรูปแบบที่ยึด และเชื่อกันว่าการสำเร็จธรรมต้องอยู่ในรูปแบบของนักบวช และสัจธรรมก็แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์พยานว่า แม้อยู่ในรูปแบบของนักบวชแต่ไม่ปฏิบัติบำเพ็ญยังต้องจรลีลงนรกโลกันต์มากมายสุดคณานับ ข้าหลวงอุ๋ยได้กราบเรียนถามพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงว่า "พวกเราทั้งลายที่เป็นคฤหัสควรฝึกอย่างไร เมื่ออยู่ที่บ้านจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ"

ครั้งนั้นพรระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบว่า

"อาตมาจะสอนโศลกว่าด้วยนิรรูปให้สักหมวดหนึ่ง ถ้าท่านทั้งปวงเก็บเอาไปศึกษาและนำข้อความเหล่านี้ออกมาปฏิบัติแล้ว ก็จักเป็นเช่นเดียวกับพวกที่อาศัยอยู่กับอาตมาเนืองนิตย์   เหมือนกันในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ปฏิบัติท่านก็หาความเจริญทางจิตไม่ได้ แม้ว่าท่านจะโกนหัวสละบ้านเรือนออกแสวงหาบุญ"   

เมื่อการบำเพ็ญธรรมติดอยู่ที่รูปแบบมิได้ค้นคว้าสนใจปฏิบัติที่จิตความฟั่นเฝือผิดเพี้ยนจึงเกิดขึ้นมากมาย เพราะรูปแบบมิได้อยู่ที่การมองเห็นจับต้องได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รูปแบบที่จิตสร้างขึ้นยังมีอีกมากมายจนประมาณมิได้ ผู้บำเพ็ญปฏิบัติจึงเดินผิดหนทางไปตามที่อาจารย์ต่างๆ ได้กำหนดแบบ   และเหมาเอาว่าเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้ นักบวชฉลาดแต่งตัวประหลาดกว่าคนอื่นๆ ก็กลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จึงแห่แหนกันไปกราบไหว้บูชา นักบวชแสดงวัตรปฏิบัติเคร่งแต่รูป ส่วนจิตใจสกปรกคนก็แห่แหนกันไปกราบกราน อาการผิดเพี้ยนทางพระพุทธศาสนาปรากฏขึ้นมากมายจนหนทางแห่งการพ้นทุกข์ก็ลบเลือนไป มีแต่หนทางสร้างลาภยศสรรเสริญกันสถานเดียว เพราะมิได้ปฏิบัติกันที่จิตอันถูกต้อง  นักบวชจึงหันมาเอาแบบอย่างของฆราวาสจนศาสนาได้เหลือแต่เพียงรูปแบบ กลายเป็นพุทธพาณิชย์สร้างความร่ำรวยและกิเลสกองท่วมทับพุทธศาสนิกชน การบำเพ็ญธรรมจึงต้องหันมาที่ตัวเองและในครัวเรือน

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2010, 08:46:34 pm »



ถือศีลแต่ตกนรก


ปุถุชนบำเพ็ญธรรมมักมีความเข้าใจผิดจึงปฏิบัติผิดๆ ต่อการรักษาศีลโดยเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสมาทานขอศีลจากพระภิกษุสงฆ์จึงเกิดความบริสุทธิ์และเป็นบุญกุศล บางรายขณะที่ตั้งจิตรับศีล ถ้าเห็นว่าข้อใดปฏิบัติมิได้ก็ไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าการไม่รับแล้วไปปฏิบัติในสิ่งที่พระพุทธองค์ห้ามเอาไว้ไม่เป็นความผิด ความจริงพระพุทธองค์บัญญัติศีลห้ามิได้กำหนดสิ่งใหม่นอกเหนือสัจธรรมเลย ศีลห้าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของธรรมญาณ เพราะฉะนั้นใครจะรับ หรือไม่รับถ้าปฏิบัติผิดต่อสัจธรรมย่อมได้รับบาปเช่นเดียวกัน

 ท่านบรมปราชญ์ขงจื๊อกล่าวเอาไว้ว่า คุณธรรมสามัญของมนุษย์มีอยู่แล้วห้าประการคือ เมตตา มโนธรรม จริยธรรม ปัญญาธรรม และสัตยธรรม ในกรณีที่เรานั่งรถไปข้างคนขับรถและหมาขี้เรือนวิ่งตัดหน้าเราจะรีบบอกคนขับทันที "อย่าทับ อย่าทับ" วาจาที่เปล่งออกมาโดยตกใจลืมตัว จึงเป็นภาวะของธรรมญาณแท้ๆ ที่มีเมตตาอยู่แล้ว แต่หมาขี้เรื้อนตัวเดิมไปคาบไก่ที่บ้าน เราจะวิ่งไล่ตีเพราะอารมณ์โลภไก่ไปบิดบังเมตตาจนหมดสิ้น

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวโศลกเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นจริงในข้อนี้ว่า "ผู้มีใจเที่ยงธรรม การรักษาศีลไม่เป็นสิ่งจำเป็น" ความหมายประโยคนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีใจเยี่ยงเดียวกับฟ้าดินไม่จำเป็นต้องรักษาศีล เพราะใจเช่นนี้เป็นจิตใจที่มีเมตตาต้องการโอบอุ้มทุกชีวิตเอาไว้เช่นเดียวกับฟ้า และมีความอดทนยอมรับความไม่ดีทั้งปวงได้จึงเหมือนดิน


เพราะฉะนั้นผู้มีใจตรงต่อธรรมชาติเดิมแท้ แม้ไม่เคยได้ยินศีลจากภิกษุองค์ใดเลย เขาย่อมไม่ปฏิบัติผิด แต่ผู้ที่เห็นศีลเป็นของนอกกายต้องรับจากผู้อื่น ขณะที่รับศีลมาต้องปฏิบัติเคร่งครัดอย่างยิ่งยวด แต่พอสิ้นเวลาของการสมาทานจึงปล่อยตัวปล่อยกายกระทำความชั่วเต็มตามอารมณ์กิเลสทั้งปวง เพราะฉะนั้นถือศีลจึงมีโอกาสตกนรกได้มากกว่า สู้คนที่ไม่รู้จักศีลแต่ปฏิบัติต่อฟ้าดิน สัจธรรมด้วยความจริงใจมิได้ บางรายยังไม่ลงจากศาลาวัดก็แย่งกันนินทาหรือบางครั้งถึงขนาดตบตีหึงหวงกันวุ่นวายไปหมด บางรายหยาบคายร้ายกาจขาดสำรวม ที่เป็นดังนี้เพราะเห็นศีลเป็นของนอกกาย ถือได้วางได้ ศีลจึงมิได้เป็นเครื่องมือที่ขัดเกลากิเลสทั้งปวง แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการอวดถือเคร่งกว่ากันและกลายเป็นศีลอวดกันเท่านั้นเอง

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า "ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว การปฏิบัติในทางฌานมันมีมาเองแม้เราไม่ตั้งใจทำเพื่อให้ได้ฌาณ" ผู้ที่สามารถปฏิบัติได้ตรงแน่วย่อมต้องมีจิตใจตรงต่อสัจธรรมเสมอ ความสงบไม่หวั่นไหวของจิตจึงเกิดขึ้นได้ซึ่งโดยธรรมชาติเดิมแท้ของ "ธรรมญาณ" มีความสงบเป็นฌานอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการบังควรที่หลับตาภาวนาเพื่อให้ได้ฌานเลย

ผู้ที่ปฏิบัติไม่ตรงต่อสัจธรรมจึงเป็นผู้ที่วุ่นวายสับสนหาความสงบได้ยาก เพราะความฟุ้งเฟ้อแห่งจิตที่วิ่งไปตามอายตนะทั้งหกไม่หยุดหย่อน ผู้ที่ไม่พบธรรมญาณ จึงถูกหลอกลวงด้วยอำนาจจิตของตนเองโดยไม่รู้ตัว เพราะเขาประพฤติปฏิบัติแบบลวงโลกและยึดถือสิ่งลวงเป็นสิ่งจริง

อำนาจจิตสามารถสร้างรูปมากมายโดยที่ตนเองหารู้ไม่ว่ารูปเหล่านั้นเป็นมายากลับยึดถือเอาไว้และการแสดงออกย่อมผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติแท้ของธรรมญาณ การปฏิบัติที่ตรงต่ออารมณ์ความชอบของตนเองย่อมเบี่ยงเบนไปจากสัจธรรม ความคิดจึงเป็นอย่างหนึ่ง การกระทำจึงเป็นไปอีกอย่างหนึ่งไม่ตรงต่อความคิด วาจากลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าใครที่มีภาวะเป็นเช่นนี้ความสับสนและความทุกข์ย่อมครอบงำธรรมญาณ จนห่างไกลไปจากหลักของสัจธรรมตกไปสู่วัฏจักร์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป

คำกล่าวของพระอริยเจ้า เหลาจื๊อ แสดงให้ประจักษ์ชัดมานานนับเป็นพันๆ ปีว่า "ธรรมแท้ ไม่อาจกล่าวออกมาเป็นวาจาได้ ที่กล่าวออกมาจึงมิใช่ธรรมะ" การแสดงออกทั้งปวงที่ที่ปรุงแต่งออกมาจากจิตจึงผิดเพี้ยนไปจากธรรมะเพราะฉะนั้นฌาน ตามธรรมชาติของธรรมญาณ จึงไม่อาจปรากฏออกมาได้ ญาณ ที่กำหนดขึ้นด้วยจิตของตนเอง ย่อมผิดแผกไปจาก ฌานที่มีอยู่แล้วในธรรมญาณ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติบำเพ็ญที่กำหนดญาณด้วยแรงภาวนาของตนเองจึงเป็น ฌาน เกิดขึ้นได้และเสื่อมได้เช่นกัน เพราะเป็นฌาน%3

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2010, 08:54:12 pm »


ไหว้พระในบ้าน

ปุถุชนผู้หลงงมงายชอบไหว้แต่พระนอกบ้านด้วยความเคารพและคลั่งไคล้ เพราะเชื่อว่าสามารถพึ่งพาความศักดิ์สิทธิ์

โดยแท้จริง "พระในบ้านสององค์คือใคร" ถาม "พระพ่อกับพระแม่ ยังไง" ตอบ แม้พระพุทธองค์ก็ทรงยกย่องพ่อแม่ว่าเป็นพระอรหันต์ของลูกเพราะมีพระคุณล้นเหลือ จนยากที่จะหาสิ่งใดมาทดแทนพระคุณอันหาขอบเขตที่สิ้นสุดมิได้เลย แต่ปุถุชนมองข้ามความสำคัญของพ่อแม่เพราะไม่เห็นเป็นพระแต่เห็นเป็นคนเช่นเดียวกัน ปุถุชนจึงยึดถือรูปแบบมากกว่า นามธรรม เขาเหล่านั้นจึงเป็นคนอกตัญญู แต่กลับขยันไปไหว้พระและรับใช้พระนอกบ้านอย่างสุดหัวใจ ส่วนพระในบ้านกลับทอดทิ้งและดูถูกดูแคลน

ผู้ที่ปฏิบัติพระในบ้านเช่นนี้ แม้ไปไหว้พระนอกบ้านสักหมื่นแสนองค์ก็หาความเจริญรุ่งเรืองหรือปลอดภัยให้แก่ตนเองมิได้เลย ผู้ที่ปฏิบัติต่อพระในบ้านด้วยความเคารพสูงสุด เอาใจใส่ดูแลด้วยความจริงใจเขาย่อมประสบแต่ความสุขความเจริญและเป็นสง่าราศรีแก่ตนเอง ชีวิตมีความปลอดภัย ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้

ในสมัยโบราณผู้ที่เป็นทหารออกศึกมิได้แขวนพระเครื่องแต่เอาผ้าถุงของแม่โพกหัวไป ปรากฏว่าปลอดภัยกลับมาทุกคน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นคนที่กตัญญูต่อบิดามารดาของตนเองย่อมเป็นที่สรรเสริญของเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง แม้ไม่ต้องกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นพระองค์ก็อดไม่ได้ที่จะต้องอำนวยชัยให้พรและคุ้มครอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกพระองค์ในสมัยที่เป็นมนุษย์พระองค์มีความกตัญญูจึงย่อมสะเทือนถึงฟ้าดินสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงมีคำกล่าวว่า "ผู้มีความกตัญญูอันแท้จริงแม้ไม่ปฏิบัติธรรมยังได้อริยะฐานะ" ความกตัญญูจึงเป็นธรรมอันสูงสุดที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ในครัวเรือน และความสันติสุขจักเกิดขึ้นในบ้านของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระองค์ใดมาปกปักรักษา

แท็กซี่คนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งตอนดึกแล้วรับผู้โดยสารเป็นวัยรุ่น 4 คนไปส่งในที่เปลี่ยวพอรถไปจอดส่งเท่านั้นแหละ วัยรุ่นคนหนึ่งก็สำแดงความชั่วร้ายออกมาทันทีโดยชักมีดปลายแหลมจี้เพื่อปลดทรัพย์สิน ขณะที่ตกใจกลัวอยู่นั้นก็ได้สติรำลึกถึงพ่อแม่ว่า "คุณพ่อ คุณแม่ช่วยลูกด้วย" สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดทันที เพราะวัยรุ่นเหล่านั้นเดินลงจากรถไปโดยไม่แตะต้องทรัพย์สินหรือชีวิตของโซเฟอร์เลย

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงได้ให้พระวจนะในเรื่องนี้ว่า "สำหรับหลักแห่งการกตัญญูกตเวที เราจักเลี้ยงดูรับใช้ท่านอย่างฐานลูก" ความหมายแห่งคำกล่าวนี้ลึกล้ำนัก ถ้าพิจารณาตามตัวอักษรหามีความหมายพิเศษแต่ประการใดไม่ แต่สมควรนำคำกล่าวของพระศาสดาแห่งศาสนาปราชญ์คือ ท่านขงจื๊อมาพิจารณากัน เพราะท่านได้กำหนดกฏเกณฑ์แห่งการกตัญญูเอาไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนลึกซึ้งถึง 5 ข้อ

1. อยู่กับพ่อแม่หรือ พ่อแม่อยู่กับเรา ต้องให้ความเคารพ
2. เลี้ยงดูต้องให้ได้รับความสุข

3. เมื่อพ่อแม่ป่วยไข้ต้องห่วงใยกังวล

4. เมื่อพ่อแม่สิ้นไปต้องอาลัยโศกเศร้า
5. บูชาเซ่นไหว้ให้สมฐานะ

คนสมัยนี้จิตใจตกต่ำเพราะความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาหลอกลวงจิตให้ใฝ่ต่ำจนเห็นพ่อแม่ของตนเองโง่กว่า เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่กับพ่อแม่หรือพ่อแม่อยู่ด้วย คนส่วนใหญ่ก็มิได้ให้ความเคารพ บางรายกลับใช้พ่อแม่เยี่ยงคนใช้ชั้นดี เพราะพ่อแม่แก่แล้วไม่มีทางไปไหน จึงให้เฝ้าบ้านจึงเลี้ยงลูกของตนเอง ทำครัว ซักเสื้อผ้า คนที่ปฏิบัติต่อพ่อแม่เช่นนี้ถือว่าขาดความเคารพอย่างแท้จริงและในที่สุดความตกต่ำเสื่อมทรามก็จะมาเยือนตนเอง

สมัยโบราณมีฮ่องเต้พระองค์หนึ่งทรงนามว่าโจวอุ๋นอ๋อง พระองค์ได้รับการเฉลิมพระเกียรติว่า ทรงบารมีคุณอันยิ่งใหญ่ ปกแผ่ถึงลูกหลานยาวนานถึง 837 ปี พระอริยาวัตรอันสำคัญยิ่งของพระองค์คือ ความกตัญญู จนได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ที่มีความกตัญญูอันยิ่งใหญ่ ทุกวันสามเวลา พระองค์ทรงเอาใจใส่ต่อพระบิดา พระมารดาสม่ำเสมอด้วยความเคารพและนอบน้อมจริงใจ พระองค์สังเกตการเสวยพระกระยาหารของพระบิดามารดาจึงรู้ว่าสิ่งใดทรงโปรดเสวยหรือไม่ แม้เจ็บไข้ก็ทรงดูแลใกล้ชิดมิได้ห่างไกลเลย "บารมีคุณนี้จึงได้รับการจารึกเอาไว้ชั่วกาลนาน" แต่คนสมัยนี้ พ่อแม่ รู้ว่าเราชอบกินอะไร แต่ถ้าถามกลับว่าพ่อแม่ของเราชอบกินอะไร คำตอบที่ได้ก็คือ "ไม่ทราบ" กตัญญุตาธรรม จึงเป็นธรรมคู่กับมนุษย์โดยแท้จริง ใครไม่ปฏิบัติเขาจึงมีค่าต่ำกว่า สัตว์เดรัจฉาน เสียอีก



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2010, 08:56:47 pm »





ความเป็นธรรม


มนุษย์มีความเสมอภาคกันด้วยดวงธรรมญาณเพราะเวลาทิ้งกายสังขารไม่ว่ารวยล้นฟ้าก็มิได้เขียนเช็คติดมือไปเลย ยาจกเห็นใจตายก็มิได้ถือกะลาติดมือไปด้วย ต่างต้องลงไปตัดสินความดี ความชั่ว กันในนรกเยี่ยงเดียวกัน แต่มนุษย์มาเหยียดหยามแบ่งแยกชนชั้นกันด้วยสิ่งจอมปลอมนอกกายทั้งสิ้น ใครมีเงินมากกว่าถือว่าดีกว่า ใครมีความรู้มากถือว่าเก่งกว่า ความรู้ในโลกมิอาจช่วยให้ตัวเองพ้นไปจากนรกได้เลย เพราะฉะนั้นความรู้จึงเป็นเพียงสัญญาที่หลงมัวติดยึดเอามาแบ่งแยกเหยียดหยามกันเท่านั้นเอง ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจึงมองเห็นทุกคนเสมอกันโดยมีทุกข์ร่วมกันเพราะฉะนั้นจึงมีเมตตาต่อกันได้และความเป็นธรรมที่แท้จริงปรากฏขึ้น

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวโศลกเอาไว้ว่า "สำหรับหลักของความเป็นธรรมนั้น ผู้ยิ่งใหญ่กับผู้ต่ำต้อยยืนเคียงข้างอาศัยซึ่งกันและกันได้ในยามคับขัน" เมื่อถึงภาวะที่ไม่อาจช่วยตัวเองได้เพราะตกอยู่ในภัยพิบัติ ความรู้สึกของการแบ่งแยกเหยียดหยามย่อมมลายไปเพราะต่างปรารถนาหาหนทางรอดพ้นจากความตายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผู้บำเพ็ญปฏิบัติที่รู้ความเป็นจริงแห่งสัจธรรมย่อมไม่แบ่งแยกชนชั้น แต่บรรดาผู้ที่ตั้งตัวเป็นอาจารย์ด้วยสำคัญตนว่าเป็นผู้ที่เหนือกว่าชนทั้งหลายล้วนแต่ไม่เคยปฏิบัติความเป็นธรรมให้เป็นจริงขึ้นมาได้เลย ผู้ที่รู้ธรรมญาณเท่านั้นจึงเห็นมนุษย์มีความเท่าเทียมกัน

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งญาณไปพบหญิงชราผู้ยากจนอยู่ในกระท่อมใกล้ถึงกาลมรณะแล้ว พระพุทธองค์ทรงเมตตาจึงเสด็จไปหน้ากระท่อมของหญิงชราแล้วตรัสว่า

"เธอจงทำบุญกับตถาคตแล้วสุคติจักเป็นที่หมาย"

"ข้าพระองค์ยากจนเข็ญใจนักไม่มีสิ่งใดจักถวายแด่พระสมณะได้เลย"   

 "เธอมีน้ำมิใช่หรือ จงตักน้ำใส่บาตรตถาคตเถิด"   

หญิงชรานั้นมีความศรัทธาปสาทะในกุศลผลบุญครั้งนี้ยิ่งนัก  เมื่อตักน้ำถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็ถึงกาลมรณะจึงได้ไปบังเกิดเป็นเทพธิดาบนสรวงสวรรค์ พระพุทธองค์ทรงยืนเคียงข้างเวไนยสัตว์ด้วยเมตตาพร้อมฉุดช่วยให้พ้นไปจากอบายภูมิ แต่บัดนี้การบำเพ็ญของเหล่าศากยบุตรล้วนผิดแผก  และหลงติดอยู่ในความจอมปลอมของนอกกายทั้งสิ้น ใครเป็นเศรษฐีมีโอกาสได้ใกล้ชิด  ส่วนคนยากจนเข็ญใจไม่มีโอกาสได้รับเมตตาเลย เพราะฉะนั้นนับวันศาสนาก็กลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่เรียกร้องต้องการเงินมากกว่าการแจกจ่ายพระธรรมคำสอนเพื่อให้ชนทั้งปวงพ้นทุกข์   บางวัดจึงตั้งเป้าของการหาเงินเข้าวัดเป็นร้อยล้านพันล้านเพียงเพื่อเสริมสร้างฐานะยกย่องตนเองอยู่สูงส่งจนขาดความเป็นธรรม เพราะมิได้ยืนอยู่เคียงข้างศาสนิกชนอีกต่อไป แต่ยืนเคียงข้างคนรวยเพียงพวกเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้นการเผยแพร่ศาสนาบางแห่งจึงขาดความปรารถนาดีต่อศาสนิกชนของตน เลือกที่รักมักที่ชังจนเห็นกันชัดเจน พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวโศลกว่า

"สำหรับหลักแห่งการปรารถนาดีต่อกันผู้อาวุโสกับผู้อ่อนอาวุโสต้องสมัครสมานกัน"

ในวงการของผู้ปฏิบัติธรรมย่อมมีผู้อาวุโสและอ่อนอาวุโสซึ่งในทางธรรมย่อมไม่เพ่งเล็งที่อายุแต่อาศัยการเป็นผู้ปฏิบัติก่อนรู้ก่อนย่อมเป็นผู้อาวุโส และทั้งสองฝ่ายสามารถสมัครสมานกันด้วยคุณธรรมของทั้งสองฝ่ายคือ อาวุโส ต้องเมตตาต่อผู้อ่อนอาวุโส ส่วนผู้อ่อนอาวุโสต้องอ่อนน้อมถ่อมตนและเคารพผู้อาวุโสการสมัครสมานจึงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติให้เป็นจริงได้ และทั้งสองฝ่ายย่อมต้องอดทนซึ่งกันและกัน

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวโศลกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

"สำหรับหลักของขันติ เราไม่ให้มีการทะเลาะกัน แม้อยู่ท่ามกลางของหมู่ศัตรูอันกักขฬะ"

ในหมู่ของผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งยังไม่พบธรรมญาณย่อมต้องอาศัยขันติคือ ความอดทนเป็นที่ตั้ง  แต่สำหรับผู้ที่พบธรรมญาณความอดทนย่อมเป็นสิ่งว่างเปล่าเพราะเขาเห็นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็น อนัตตา แม้ตัวตนของตนก็ว่างเปล่า  เพราะฉะนั้นแม้ตกอยู่ท่ามกลางศัตรูอันหยาบช้านักปฏิบัติธรรมก็ไม่จำเป็นต้องทะเลาะแบะแว้งกับใคร ผู้เข้าถึงธรรมญาณ สภาวะแห่งความเป็นฟ้าอันกว้างใหญ่หาขอบเขตมิได้ย่อมปรากฏขึ้น เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทะเลาะกันกับใครเลย ดังคำกล่าวที่ว่า "แม้เราแหงนหน้าด่าฟ้าอย่างไร ฟ้าก็มิเคยตอบโต้เลย" แต่เมื่อใดความไม่เป็นธรรมปรากฏ เมื่อนั้น ลมพายุร้ายย่อมเป็นสาเหตุสำคัญของภัยพิบัติทั้งปวง เฉกเช่นเดียวกับจิตใจที่ปรวนแปรนั่นแล


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 21, 2012, 03:01:45 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2010, 08:58:29 pm »



บัวสีแดงเหนือตมสีดำ


ผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการหลับหูหลับตาย่อมมองไม่เห็นสัจธรรม  มีแต่พบความผิดของผู้อื่นตลอดกาล  แต่ไม่เคยค้นพบความผิดของตนเอง  จึงถือว่าเป็นผู้หลงทางอันแท้จริง

สมัยหนึ่งพระเยซูได้อัญเชิญมาตัดสินคดีความหญิงคบชู้นางหนึ่งซึ่งชาวบ้านได้มัดไว้กลางลานรอคำพิพากษาจากพระเยซู เมื่อพระเยซูเสด็จมาถึงจึงตรัสแก่หมู่ชนเหล่านั้นว่า "นางผู้นี้สมควรได้รับโทษทัณท์สถานหนักตามประเพณีโดยใช้หินขว้างจนตายไป แต่ขอถามหน่อยว่า ใครคิดว่าตนเองบริสุทธิ์ไม่มีความผิดบาปเลย จงหยิบหินก้อนแรกปาไปที่นางคนนี้เถิด" พระวจนะเพียงเท่านี้ได้เปิดให้จิตใจของคนขณะนั้นได้รู้สำนึกทันทีว่าแท้ที่จริงเรามีผิดบาปด้วยกันทั้งนั้นต่างจึงถอยหนีไปไม่มีใครกล้าหยิบก้อนหินปาแม้แต่คนเดียว หญิงผู้นั้นจึงรอดตายไปด้วยปัญญาอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้า

สมัยนั้นการศึกษามิได้เจริญเช่นสมัยนี้ และพระเยซูมิได้รับการศึกษาไม่ว่าจะเป็นศิลปศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ แต่เหตุไฉนปัญญาของพระองค์จึงมีอานุภาพเช่นนี้ ถ้าไม่เป็นเพราะพระองค์ทรงได้รับศีลจุ่มจากนักบุญโยฮัน ณ แม่น้ำจอร์แดน ก็ยากที่จะหาคำอธิบายถึงปัญญาอันประเสริฐนี้ได้เลย

การได้รับศีลจุ่มในขณะนั้น พระเยซูได้เปล่งพระวาจาออกมาว่า "ทันใดนั้นท้องฟ้าก็เบิกกว้างขึ้น พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมารวดเร็วดั่งนกพิราบเข้ามาสถิตในพระองค์" พระผู้เป็นเจ้าก็คือ "ธรรมญาณ" ของตนเองและมีจุดกำเนิดมาแต่เบื้องบนซึ่งทุกคนมีเหมือนกันหมดและทรงอานุภาพเท่าเทียมกันเพียงแต่ว่าใครค้นพบความมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ของตนได้เท่านั้นเอง ถ้าปัญญาอันเกรียงไกรนี้มีแต่เฉพาะพระเยซูเท่านั้น บรรดาชนทั้งปวงฟังพระวจนะจะไม่มีปัญญาแยกแยะได้เลยว่า ตนเองนี้ล้วนมีผิดบาปเฉกเช่นหญิงคบชู้รายนั้น ชนทั้งปวงก็ไม่สะเทือนใจและคิดว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ พระวจนะของพระเยซูย่อมไร้ความหมายอย่างแน่นอน

ท่านฮุ่ยเหนิง พระธรรมาจารย์จึงกล่าวเอาไว้ในโศลกว่า "ถ้าเรามีความเพียรรอคอยจนได้ไฟซึ่งเกิดจากการเอาไม้มาสีกัน เมื่อนั้นบัวสีแดงอันเป็นพุทธภาวะก็จะโผล่ออกมาเองจากตมสีดำ"

ความหมายแห่งพระวจนะนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าภาวะแห่งการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานจนกิเลสมีอยู่แล้วในทุกตัวตน ไม่ว่าผู้นั้นจักต่ำต้อยด้วยฐานะแห่งกายสังขารหรือปัญญาญาณเพียงแต่ว่า ผู้นั้นมีความเพียรพยายามขัดสีให้ กิเลส ทั้งปวงหลุดออกไปจากธรรมญาณก็สามารถใช้ปัญญาอันยิ่งยงได้เท่าเทียม เพราะต่างมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์เท่ากัน การขัดสีเพื่อให้กิเลสลดน้อยลงไปย่อมต้องอาศัยผู้อื่นเป็นสะพาน  เพื่อให้เห็นถึงความผิดบาปของตนเองอันเป็นความมืดบอดทางปัญญาเสมือนหนึ่งเมฆหมอกปิดบังความสว่างไสวของดวงอาทิตย์ ดังนั้นคำตักเตือนหรือแม้แต่คำตำหนิของผู้อื่นจึงเป็นประโยชน์มหาศาลในอันที่จะขจัดกิเลสของตนเอง

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "สิ่งที่เป็นรสขมย่อมถูกใช้เป็นยาที่ดี   สิ่งที่ฟังแล้วไม่ไพเราะหูนั้น คือคำเตือนอันจริงใจของผู้เตือนที่แท้จริง เพื่อแก้ไขความผิดให้กลับเป็นของถูก เราย่อมได้สติปัญญา แต่การต่อสู้เพื่อรักษาความผิดของตัวเองไว้ เราได้แสดงความหมายแห่งความมีจิตผิดปกติออกมา" คนในโลกนี้ต่างมีความต้องการเหมือนกันคือ คำสรรเสริญและเสียงตำหนิว่ากล่าวผู้อื่นเสมอ แต่ผู้บำเพ็ญปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นหนทางแห่งการรู้แจ้งในธรรมญาณย่อมต้องปฏิบัติตรงข้ามกับปุถุชนคือความยินดีในเสียงตำหนิตนเอง และเสียงสรรเสริญผู้อื่น

เสียงตำหนิว่ากล่าวของผู้อื่นย่อมเป็นเฉกเช่น ยาชำระล้างความสกปรกภายในจิตญาณ แต่เสียงยกย่องเป็นเช่นยาพิษ เพราะทำให้กลายเป็นผู้ที่ยะโสโอหังได้ง่ายที่สุด เห็นตนเองอยู่ในฐานะเหนือกว่าผู้อื่นจึงกลายเป็นผู้หลงทางอย่างแท้จริง เมื่อมีผู้มาชี้ให้เห็นความผิดเรามักป้องกันตัวด้วยการโต้ตอบด้วยอาการรุนแรงเกินปกติ เพราะฉะนั้นบรรดาชนที่เชื่อว่าตนเองบริสุทธิ์ จึงพยายามประกาศความบริสุทธิ์และป้ายสีความสกปรกให้แก่ผู้อื่นเสมอไป  เขาเหล่านี้จึงเป็นเช่นคนผิดปกติ ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคมทุกวันนี้ เพราะไม่เคยชำระล้างความสกปรกเลอะเทอะของตนเอง แต่กลับนำเอาความสกปรกเหล่านั้นไปป้ายให้ผู้อื่น พระพุทธองค์ได้ประทานพระวจนะอันยิ่งใหญ่ไว้ว่า "ผู้ที่โทษเรา จึงเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์อันประเสริฐ" ความผิดบาปที่เราหลงสร้างเอาไว้ล้วนเป็นการกระทำที่ไม่รู้ด้วยกันทั้งนั้น   ถ้ารู้ก็เป็นความหลงที่คิดว่าเป็นคนดีและความถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงกระทำและสั่งสมผิดบาปเอาไว้มากมายโดยไม่เคยชำระล้าง  แต่เมื่อใดที่ได้น้อมฟังคำเตือนจากผู้อื่นแล้วนำมาพิจารณาด้วยตนเองปัญญาที่แยกแยะออกย่อมเป็นเสมือนหนึ่ง ดอกบัวสีแดงที่โผล่พ้นมาจากตมสีดำ นั่นเอง





ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนของท่านเว่ยหล่าง 2
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2010, 09:00:50 pm »



เงินบังโพธิปัญญา


มนุษย์ผู้หนาแน่นไปด้วยความหลง จึงเชื่อว่าเงินคือพระเจ้าที่สามารถดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้เราได้ เพราะฉะนั้นจึงพากันหลงหาเงินจนไม่มีเวลาแม้แต่จะรู้จักตัวเองสักนิดหนึ่ง ผู้หลงเงินจึงทุ่มทั้งชีวิตเพื่อแสวงหาเงินตราโดยไม่เชื่อว่า เงินไม่อาจติดสินบนลดหย่อนโทษของตนในนรกได้เลย เงินยิ่งทำให้คนสร้างบาปเวรกรรมได้รวดเร็วและร้ายแรงจนประมาณไม่ได้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "เงินคืองูพิษ" แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครเชื่อพระพุทธองค์ จึงทุ่มเทหาเงินเพื่อซื้อความสุข และเพิ่มพูนกิเลสจนกลายเป็นการทำร้ายตัวเองมากมาย และตกนรกหมกไหม้เพราะอำนาจของเงินตรานี่เอง

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงประทานพระวจนะเอาไว้ในโศลกหนึ่งว่า

" ในวันหนึ่งๆ ที่ชีวิตล่วงไป เราควรปฏิบัติความไม่เห็นแก่ตัวอยู่เสมอ เพราะพุทธภาวะ ไม่มีหวังที่จะได้มาจากการให้เงินเป็นทาน"

ความหมายที่แท้จริงเพื่อให้เราได้รู้ว่าการปฏิบัติให้ถึงซึ่งพุทธภาวะนั้นมิได้อาศัยเงินตราเป็นผู้ดลบันดาลแต่ประการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีเงินตราล้วนแต่ถูกเงินตราหลอกล่อให้สูญเสียสภาวะแห่งความเป็นพุทธะกลายเป็น"อสุรกาย" เพราะเขาจักเป็นผู้ที่ทำบุญและมากไปด้วยอารมณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคนที่มีนิสัย ยโสโอหังมมังการ ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนโดยสิ้นเชิง บุญกริยาทั้งปวงจึงกลายเป็นอกุศลกรรม   คนมีเงินมักทำบุญเพราะต้องการชื่อเสียง มีหน้ามีตาจึงเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวและได้รับเสียงสอพลอจากผู้ที่นับถือเงินตราเป็นพระเจ้าเช่นเดียวกัน ประการสำคัญผู้ที่มีเงินตราไม่ได้สำนึกว่า แท้ที่จริงแล้วเงินตราเหล่านี้ล้วนเป็นผลบุญที่ตนเองเคยสร้างมาเอาไว้ในอดีตชาติด้วยความนอบน้อมและศรัทธา  แต่คนหลงเงินตราจึงกลายเป็นศัตราวุธประหารความศรัทธา และความนอบน้อมไปจนหมดสิ้น  เพราะเขาเชื่อว่าสวรรค์วิมานสามารถใช้เงินตราซื้อมาได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นและผู้พ้นจากกองกิเลส อำนาจเงินตราดลบันดาลให้ได้ ผู้ที่ถูกอำนาจเงินตราครอบงำจึงเป็นเพียงผู้สร้างชื่อเสียงในหมู่คนเอาไว้เพียงชาตินี้เท่านั้น ชาติต่อไปจึงกลายเป็นผู้ยากจนเข็ญใจและโง่เขลาเบาปัญญา




พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้ในโศลกว่า

"โพธิปัญญานั้น หาพบได้ภายในใจของเราเอง และไม่มีความจำเป็นเสาะแสวงหาความจริงอันเด็ดขาดของสัจธรรมจากภายนอก"   

สัจธรรมล้วนอยู่ในใจของเราทุกคน แต่คนที่เห็นแก่ตัวและละโมบในบุญ จึงเป็นผู้ที่พ้นไปจากหนทางแห่งสัจธรรม เพราะเขาไม่ชอบปฏิบัติจิตเพื่อชำระล้างคราบไคลแห่งความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเพียรพยายามฝืนความเคยชินของกายสังขารซึ่งต้องชำระล้างด้วยตนเอง ไม่อาจใช้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นแทนได้เลย

เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากราชสมบัติพระองค์ได้สลัดตัดทิ้งทรัพย์สินเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งปวงโดยสิ้นเชิง  และเผชิญหน้าต่อความยากลำบากด้วยพระองค์เอง  เพื่อฝึกฝนกำราบความเคยชินของความสุขสบายทั้งปวง   ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงมีแต่กายสังขารที่ห่อหุ้มด้วยผ้าห่อศพ และมีผืนดินโคลนต้นไม้เป็นที่อาศัยพักพิงจึงเป็นผู้ที่ยากจนเข็ญใจที่สุด ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระองค์ประสงค์แสวงหาหนทางแห่งจิต มิได้ต้องการอาศัยหนทางแห่งกายสังขารเพื่อเสพสุข

หนทางแห่งกายและจิต สวนทางกันเสมอ  กายมีความสุขสบาย  จิตใจตกต่ำและลุ่มหลง แต่จิตใจสูงส่งขึ้นเมื่อไร กายย่อมไม่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยปัจจัยต่างๆ อีกต่อไป   เมื่อพระองค์ทรงค้นพบ "ธรรมญาณ" พระวรกายย่อมสดใสและพ้นไปจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง พระธรรมญาณ ควบคุมกายสังขาร หนทางแห่งการบำเพ็ญของพระพุทธองค์จึงกล่าวได้ว่าพระองค์อาศัยพระวรกายบำเพ็ญเพื่อค้นหาหนทางแห่ง "ธรรมญาณ"   แต่บรรดาผู้ที่หลงใหลต่อทรัพย์สินทั้งปวงล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในอำนาจของความโลภ ความหลง ความโกรธ อย่างเอกอุ  เพราะปรนเปรอความสุขให้แก่กายจึงทำให้สภาวะแห่ง "พุทธะ" หายไปจาก ธรรมญาณ ความสุขสบายของกายจึงกลายเป็นอุปสรรคที่ไม่อาจค้นพบ "ธรรมญาณ" ได้เลย

ในคัมภีร์ใบเบิลแห่งศาสนาคริสต์ ในมัดธาย บทที่ 24 ได้กล่าวเอาไว้ว่า "ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามา ให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเองและรับกางเขนของคนแบกตามเรามา...ผู้นั้นจะได้ชีวิตรอด"

การเอาชนะตนเองจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝืนต่อความเคยชินของกายสังขาารโดยแท้ เพราะฉะนั้นตั้งแต่บรรพกาลมาแล้ว ผู้บำเพ็ญล้วนเป็นผู้ที่ต้องละทิ้งเครื่องผูกมัดของทรัพย์สินทั้งปวงจึงจักพบพุทธภาวะของตนเอง แต่การแสวงหาหนทางเช่นนี้ย่อมยากลำบากนัก ล้วนอาศัยเงินตราสร้างบุญ จึงเป็นเรื่องง่ายดาย  เพราะฉะนั้นผู้ที่แสวงหาแต่หนทางแห่งความง่ายจึงหลงใหลต่อทรัพย์สมบัติทั้งปวงและเชื่อว่าการทำบุญด้วยเงินมหาศาลย่อมนำพาจิตญาณของตนเข้าสู่พุทธภูมิได้ ถ้าความจริงเป็นเช่นนี้ฟ้าดินย่อมไร้สัจธรรมเพราะคนรวยย่อมขึ้นสวรรค์ตลอดกาล คนจนย่อมตกนรกไม่สิ้นสุด