ภาคที่ 2 มรรคาแห่งศาสนาตะวันออก
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่มาถึงประเทศจีนในช่วงศตวรรษแรกของคริสตกาล ก็ได้ปะทะสังสรรค์กับวัฒนธรรมซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าสองพันปี ในวัฒนะธรรมโบราณนี้ความคิดเชิงปรัชญาได้ถึงจุดสมบูรณ์สุดยอดในปลายราชวงศ์โจว ซึ่งนับเป็นยุคทองของปรัชญาจีน และก็ยังเป็นที่นับถืออย่างสูงสุดเรื่อยมา ตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียวที่ปรัชญาจีนมีสองลักษณะที่เสริมซึ่งกันและกัน เนื่องจากชาวจีนเป็นผู้นิยมการปฏิบัติและมีสำนึกทางสังคมสูง ดังนั้นปรัชญาทุกสำนักของจีนจึงสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในสังคม มนุษยสัมพันธ์ คุณค่าทางศีลธรรมและรัฐบาลในทางใดทางหนึ่ง อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นส่วนคำสอนที่ลึกซึ้ง ซึ่งชี้แนะว่าจุดหมายสูงสุดของปรัชญานั้นอยู่เหนือสังคมโลกและชีวิตประจำวัน คือการเข้าสู่สภาวะจิตที่สูงส่ง ซึ่งเป็นระดับของนักปราชญ์ผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ผู้บรรลุถึงความเป็นเอกภาพของจักรวาล อย่างไรก็ตามนักปราชญ์ของจีนนั้นมิได้ดำรงอยู่เฉพาะในภูมิแห่งจิตที่สูงส่งเท่านั้น ทว่ายังคงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางโลกอยู่เท่า ๆ กันในตัวท่านมีทั้งด้านที่เป็นปัญญาญาณและความรู้แห่งการปฏิบัติ ความสงบระงับ และปฏิบัติการทางสังคม คุณลักษณะเช่นนี้ได้ปรากฏในคุณลักษณะของนักปราชญ์และพระจักรพรรดิ จางจื้อ กล่าวไว้ว่ามนุษย์ผู้รู้แจ้งอย่างสมบูรณ์นั้น “เมื่อสงบนิ่งอยู่ท่านคือปราชญ์ หากเมื่อเคลื่อนไหวท่านคือจักรพรรดิ” ในระหว่างศตวรรษที่ 6 ก่อนคริศตกาล ปรัชญาจีนในสองลักษณะดังกล่าวได้พัฒนาสู่ปรัชญาสองสำนักที่แยกกันชัดเจนคือ ลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื้อเป็นลัทธิที่จัดการองค์กรทางสังคม เป็นปรัชญาแห่งสามัญสำนึกและความรู้ในการดำเนินชีวิต ลัทธิขงจื้อได้เป็นรากฐานของระบบการศึกษาของสังคมจีนและค่านิยมในทางศีลธรรมจรรยาที่แข็งแกร่ง ความมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งคือการวางรากฐานทางจริยธรรมสำหรับระบบครอบครัวของจีน ด้วยคำสอนซึ่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อนและพิธีกรรมการบูชาบรรพบุรุษ ในทางตรงกันข้าม ลัทธิเต๋ามุ่งการสังเกตธรรมชาติและการค้นหาวิถีของธรรมชาติ หรือเต๋า ความสุขของมนุษย์ในทัศนะของเต๋าเกิดจากการที่มนุษย์ดำเนินตามกฎของธรรมชาติ กระทำการต่าง ๆ สอดคล้องกับธรรมชาติอย่างเป็นไปเอง และเชื่อมั่นในญาณปัญญา
7.1 ขงจื้อกับเต๋า
สองแนวคิดนี้ได้แทนขั้วตรงกันข้ามในปรัชญาจีน แต่ในประเทศจีนถือว่าเป็นขั้วเดียวกัน ดังนั้นจึงอยู่ในฐานะที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยทั่วไปลัทธิขงจื้อจะเน้นที่การศึกษาของเยาวชน ซึ่งจะต้องเรียนรู้กฎระเบียบและค่านิยมที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคม ในขณะที่ลัทธิเต๋าจะมีผู้สูงอายุยึดถือปฏิบัติ มุ่งที่จะแสวงหาและพัฒนาความเป็นไปเองตามธรรมชาติในชีวิตซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว แต่ได้ถูกทำลายไปโดยค่านิยมทางสังคม ในศตวรรษที่ 11 และ 12 ลัทธิขงจื้อแนวใหม่ได้พยายามที่จะสังเคราะห์ลัทธิขงจื้อ พุทธศาสนา และลัทธิเต๋าเข้าด้วยกัน ก่อกำเนิดเป็นปรัชญาของจูสีร์ นักคิดผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของจีน จูสีร์เป็นนักปราชญ์ที่สำคัญซึ่งรวมเอาความเป็นนักศึกษาของขงจื้อเข้ากับการเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้งตามแนวพุทธและเต๋าสังเคราะห์ขึ้นเป็นปรัชญาของตน ลัทธิขงจื้อตั้งชื่อตามท่าน กังฟูจื้อ หรือ ขงจื้อ ผู้เป็นครูเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงและมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นจำนวนมาก ขงจื้อมีเป้าหมายหรือหน้าที่ประการสำคัญในการถ่ายทอดมรดกแห่งวัฒนธรรมโบราณแก่ลูกศิษย์ของตน อย่างไรก็ตาม ขงจื้อได้ปฏิเสธวิธีการถ่ายทอดความรู้ที่สืบกันมาแบบปรัมปรา โดยตีความประเพณีต่าง ๆ ตามความคิดทางศีลธรรมของตนเอง คำสอนของขงจื้อมีรากฐานอยู่บนคัมภีร์สุดยอดทั้งหก ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณอันบรรจุอยู่ด้วยปรัชญา พิธีกรรม กวีนิพนธ์ ดนตรี และประวัติศาสตร์ ถือเป็นมรดกทางจิตใจและวัฒนธรรมของนักปราชญ์ของจีนในอดีต ตามธรรมเนียมของจีนเชื่อกันว่าขงจื้อเป็นผู้ประพันธ์ ผู้วิจารณ์ และผู้จัดทำคัมภีร์เหล่านี้ แต่นักศึกษาสมัยใหม่ไม่ยอมรับเช่นนั้น ความคิดของขงจื้อเองเริ่มเป็นที่รู้จักกันในคัมภีร์ ลุ่นอวี้ (Lun Yu) หรือคัมภีร์หลักลัทธิขงจื้อ ซึ่งรวบรวมสรุปคำสอนต่างๆโดยลูกศิษย์บางคนของขงจื้อ ผู้เป็นปรมาจารย์ของลัทธิเต๋าก็คือ เหล่าจื้อ ชื่อของท่านมีความหมายว่า “อาจารย์ผู้เฒ่า” ท่านเป็นคนร่วมสมัยกับขงจื้อ ทว่ามีอายุมากกว่า เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เหลาจื้อเป็นผู้รจนาคัมภีร์สั้น ๆ ซึ่งรวมคำสอนสำคัญของเต๋าเอาไว้ ในประเทศจีนโดยทั่วไปเรียกคัมภีร์เล่มนี้ว่า เหลาจื้อ และในตะวันตกเรียกคัมภีร์เล่มนี้ว่า เต๋าเตอจิง แปลว่า “จินตกวีนิพนธ์แห่งวิถีทางและอำนาจ” ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันภายหลัง ข้าพเจ้าได้เอ่ยถึงวิธีการเขียนที่ผกผันผิดธรรมดาและสำนวนภาษาที่ทรงพลังในท่วงทำนองของกวีนิพนธ์ของคัมภีร์เล่มนี้ ซึ่งโจเซฟนีแดรมถือว่าเป็น “งานที่ลึกซึ้งและงดงามที่สุดในภาษาจีน” คัมภีร์สำคัญอันดับสองของเต๋าคือคัมภีร์ จางจื้อ ซึ่งใหญ่กว่าเต๋าเตอจิงมาก ผู้รจนาคือจางจื้อ ซึ่งมีชีวิตอยู่ราวสองร้อยปีหลังเหลาจื้อ อย่างไรก็ตามนักศึกษาสมัยใหม่เห็นว่า ทั้งคัมภีร์จางจื้อและเหลาจื้อมิใช่งานของผู้ประพันธ์เพียงคนเดียว แต่เป็นคัมภีร์ที่รวมบทประพันธ์เต๋าของผู้ประพันธ์หลาย ๆ คนในระยะเวลาต่าง ๆ กัน
7.2 มุ่งหมายสิ่งเดียวกัน
ทั้งคัมภีร์หลักลัทธิขงจื้อและคัมภีร์เต๋าเตอจิง ประพันธ์ขึ้นในท่วงทำนองที่เสนอแนะอย่างกระชับ ซึ่งเป็นแบบฉบับของแนวคิดแบบจีน จิตใจแบบจีนไม่ถูกหน่วงอยู่ด้วยความคิดเชิงตรรกะแบบย่อสรุป และได้พัฒนาภาษาที่แตกต่างจากภาษาตะวันตกอยู่มาก คำหลายคำอาจใช้เป็นคำนาม คำวิเศษณ์ หรือคำกริยาและลำดับของคำในประโยคมิได้ถูกกำหนดด้วยกฎเกณฑ์ทางไวยกรณ์มากเท่ากับเนื้อหาทางอารมณ์ของประโยค คำในภาษาจีนดั้งเดิมแตกต่างจากสัญลักษณ์ย่อสรุปซึ่งแทนความคิดแยกแยะวิเคราะห์อย่างชัดเจนเป็นอันมาก มันเป็นสัญลักษณ์ทางเสียงเสียมากกว่าและมีพลังแห่งการนำเสนอความหมายที่รุนแรง ก่อให้เกิดภาพแห่งจินตนาการและอารมณ์ที่ซับซ้อนได้อย่างฉับพลัน ความตั้งใจของผู้พูดมิได้มุ่งแสดงความคิดที่เฉลียวฉลาดมากนัก แต่มุ่งที่จะให้เกิดผลกระทบอย่างมีอิทธิพลต่อผู้ฟังมากกว่า ในทำนองเดียวกันลักษณะตัวเขียนก็มิใช่สัญลักษณ์ย่อสรุปแต่เป็นแบบแผนของสิ่งที่ทรงชีวิต ที่เรียกว่า “เกสตอลต์” ซึ่งรักษาจินตนาการและพลังแห่งการนำเสนอความหมายของคำนั้นไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุผลที่นักปราชญ์ของจีนมีการแสดงออกทางภาษาที่เหมาะกับวิธีคิดของตน การเขียนการพูดของท่านเหล่านั้นจึงเป็นแบบที่ห้วนสั้น แต่มั่งคั่งด้วยจินตนาการ จินตนาการเหล่านี้ส่วนมากจะสูญหายไปเมื่อมีการแปลถ้อยคำเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น การแปลข้อความจากคัมภีร์เต๋าเตอจิงจะเก็บใจความได้เป็นส่วนน้อยจากความคิดที่มั่งคั่งในภาษาเดิม นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คัมภีร์นี้หลายสำนวนดูเหมือนจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฟุงยู่หลาน ได้กล่าวไว้ว่า “ต้องรวมเอาคำแปลทุกสำนวนที่มีอยู่แล้ว และที่จะมีขึ้นเข้าด้วยกันจึงจะแสดงความหมายของคัมภีร์เหลาจื้อและคัมภีร์หลักของลัทธิขงจื้อได้อย่างสมบูรณ์ตามความหมายในภาษาเดิม” เช่นเดียวกับชาวอินเดีย ชาวจีนเชื่อว่ามีปรมัตถ์สัจจะซึ่งเป็นที่รวมและที่มาของสรรพสิ่งและเหตุการณ์ทั้งหลายที่เราสังเกตได้ มีคำอยู่สามคำคือ “สมบูรณ์” “รวมทุกสิ่ง” และ “ทั้งหมด” คำเหล่านี้ต่างกัน แต่สัจจะซึ่งแฝงอยู่ในนั้นเหมือนกัน มุ่งหมายถึงสิ่ง ๆ เดียว ชาวจีนเรียกสัจจะนี้ว่า เต๋า ซึ่งมีความหมายว่า “ทาง” มันเป็นวิถีทางหรือกระบวนการของจักรวาล กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ในระยะต่อมาผู้นับถือลัทธิขงจื้อได้ตีความหมายแตกต่างออกไป โดยกล่าวถึงเต๋าของมนุษย์ หรือเต๋าของสังคมมนุษย์ และรับเอาเป็นหนทางชีวิตที่ถูกต้องในศีลธรรม ในความหมายเดิมในระดับกว้าง “เต๋า” เป็นปรมัตถสัจจะซึ่งไม่อธิบายได้ ดังนั้นจึงเท่ากับพรหมันในศาสนาฮินดูและธรรมกายในศาสนาพุทธ อย่างไรก็ตามมันแตกต่างจากความคิดทางอินเดียสองความคิดนี้ โดยคุณลักษณะแห่งความเป็นพลวัติของมัน เต๋าเป็นกระบวนการแห่งแห่งเอกภพซึ่งทุกสิ่งมีส่วนสัมพันธ์อยู่ด้วย โลกเป็นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงอันต่อเนื่องไม่รู้สิ้นสุด
7.3 หลักอนิจจัง
พุทธศาสนาเป็นหลักอนิจจังซึ่งคล้ายคลึงกับเต๋ามาก แต่ในพุทธศาสนาหลักอนิจจังถูกนำมาใช้เป็นหลักเบื้องต้นในการอธิบายสภาพการณ์ของมนุษย์เท่านั้นโดยได้แจกแจงรายละเอียดทางจิตวิทยาสืบเนื่องจากหลักการดังกล่าว ในทางตรงกันข้าม ชาวจีนมิได้เพียงแต่เชื่อว่าการเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะสำคัญของธรรมชาติ แต่ยังเชื่อด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีแบบแผนที่แน่นอน ซึ่งมนุษย์สังเกตรู้ได้นักปราชญ์ได้เห็นถึงแบบแผนเหล่านี้ดังนั้นจึงมุ่งการกระทำของท่านให้สอดคล้องกับมัน โดยวิธีการเช่นนี้ท่านกลายเป็น “หนึ่งเดียวกับเต๋า” มีชีวิตอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ และจึงสำเร็จในทุกสิ่งที่กระทำ ฮวยหนั่นจื้อ นักปราฃญ์ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาลได้กล่าวไว้ว่า ผู้กระทำตามวิถีทางแห่งเต๋า ปฏิบัติสอดคล้องกับกระบวนการธรรมชาติของฟ้าและดิน จะจัดการกับโลกได้อย่างง่ายดาย แล้วอะไรคือแบบแผนวิถีทางแห่งเอกภาพ ซึ่งมนุษย์ต้องรู้จักลักษณะสำคัญของเต๋าคือธรรมชาติแห่งการหมุนวนของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบเหลาจื้อกล่าวว่า “การหมุนกลับคือการเคลื่อนไหวของเต๋า” และ “ยิ่งไปได้ไกลหมายถึงการย้อนกลับ” ประเด็นสำคัญในที่นี้ก็คือ พัฒนาการทุกอย่างในธรรมชาติไม่ว่าในทางกายภาพหรือสภาพการณ์ของมนุษย์แสดงแบบแผนแห่งการหมุนไปและกลับ แบบแผนแห่งการยืดขยายและหดตัว ความคิดนี้ได้จากการสังเกตการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์และจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอย่างไม่ต้องสงสัย และได้ถูกยึดถือเป็นกฎเกณฑ์ของชีวิต ชาวจีนเชื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่สภาพการณ์หนึ่งใดได้พัฒนาไปจนถึงที่สุดในทางหนึ่ง มันจะต้องหมุนย้อนกลับมาถึงที่สุดในอีกทางหนึ่ง ความเชื่อพื้นฐานอันนี้ได้ให้ความกล้าหาญและอดทนในยามลำบาก ทำให้มัธยัสถ์ในยามที่ประสบความสำเร็จ และได้นำไปสู่หลักคำสอนแห่งหนทางอันเรืองรองซึ่งผู้นับถือลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื้อ เหลาจื้อกล่าวว่า “นักปราชญ์ย่อมหลีกเลี่ยงความฟุ้งเฟ้อเกินพอดี และการทำตามอำเภอใจ”
7.4 หยินกับหยัง
ในทัศนะของชาวจีน มีน้อยเกินไป ดีกว่า มีมากเกินไป ไม่ได้ทำ ดีกว่า ทำมากเกินไป เพราะแม้ว่าถึงเราจะไม่ก้าวหน้าไปไกลแต่ก็แน่ใจได้ว่าเราจะไปถูกทาง เปรียบกับชายผู้ปรารถนาจะไปให้ไกลสุดทางตะวันออก ท้ายที่สุดจะกลับไปทางตะวันตก หรือผู้ปรารถนาจะสะสมเงินมาก ๆ เพื่อให้ตนเองร่ำรวย ท้ายสุดจะต้องกลับมาเป็นคนจน การที่สังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่กำลังพยายามอย่างต่อเนื่องในการเพิ่ม “มาตรฐานการครองชีพ” จึงทำให้คุณภาพของชีวิตของสมาชิกในสังคมนั้น ๆ ลดลง นับเป็นภาพที่แสดงปัญญาของจีนโบราณดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ความคิดในเรื่องแบบแผนแห่งการหมุนวนของเต๋า ได้ถูกกำหนดเป็นโครงสร้างที่แน่นอนโดยการเสนอว่ามีขั้วตรงกันข้ามสองอันคือ หยิน กับ หยัง เป็นขั้วซึ่งกำหนดขอบเขตของวงเวียนแห่งการเปลี่ยนแปลง เมื่อหยังถึงจุดสูงสุดก็ต้องถอยให้กับหยิน เมื่อหยินถึงจุดสูงสุดก็ต้องถอยให้กับหยัง ในทัศนะแบบจีน สิ่งปรากฏแสดงทั้งมวลของเต๋ามาจากการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของแรงแห่งขั้วทั้งสอง ความคิดนี้เป็นความคิดที่เก่ามาก และชนหลายรุ่นได้ถือเอาสัญลักษณ์แห่งหยิน หยังจนกระทั่งมันกลายเป็นความคิดพื้นฐานของจีน ความหมายเดิมของคำว่าหยินและหยัง คือส่วนที่เป็นเงาและส่วนที่ต้องแสงแดดของภูเขา ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ของความคิดทั้งสองได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่างเรียกว่า เต๋า นับแต่ยุคแรกสุด ขั้วทั้งสองของธรรมชาติไม่เพียงแต่แทนความสว่างและความมืดเท่านั้น แต่ยังแทนด้วยความเป็นชายและความเป็นหญิง แข็งและอ่อนข้างบนและข้างล่าง หยังส่วนที่เป็นความเข้มแข็ง ความเป็นชาย พลังสร้างสรรค์นั่นคือฟ้า ในขณะที่หยินส่วนที่เป็นความมืด ความอ่อนโยน ความเป็นหญิงและความเป็นแม่นั่นคือดิน ฟ้าอยู่เบื้องบนและเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว ดิน ในทัศนะเดิม อยู่เบื้องล่างและสงบนิ่ง ดังนั้นหยังแทนความเคลื่อนไหวและหยินแทนการสงบนิ่งในเรื่องของความคิดหยินคือจิตใจที่ซับซ้อนแบบหญิงเป็นไปในทางญาณปัญญา หยังคือจิตใจที่ชัดเจนมีเหตุมีผลอย่างชาย หยินคือความเงียบนิ่งอย่างสงบของปราชญ์ หยังคือการกระทำที่สร้างสรรค์อย่างมีพลังของจักรพรรดิ ลักษณะการเคลื่อนไหวของหยินและหยัง ถูกแสดงด้วยสัญลักษณ์ของจีนโบราณที่เรียกว่า ไท้ จิ ถู หรือ “แผนผังแสดงสัจธรรมสูงสุด” แผนผังนี้แสดงสมมาตรระหว่างส่วนที่มืดคือหยินกับส่วนที่สว่างคือหยัง ทว่ามิใช่สมมาตรที่อยู่นิ่ง แต่เป็นสมมาตรแห่งการหมุนวนอันเปี่ยมไปด้วยพลัง เมื่อหยังหมุนกลับสู่จุดเริ่มต้น หยินก็เป็นใหญ่ แล้วก็หมุนไปสู่หยังอีก จุดสองจุดในแผงผังแทนความคิดที่ว่า เมื่อใดที่แรงหนึ่งแรงใดถึงจุดสูงสุดในตัวมันขณะนั้นก็มีพืชพันธ์ของสิ่งตรงข้ามอยู่ด้วยแล้ว คู่ของหยินและหยังเป็นเสมือนอุปรากรที่เปิดแสดงซ้ำแล้วซ้ำเล่า แทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมของจีน และเป็นสิ่งกำหนดลักษณะทั้งมวลของวิถีตามแบบจีน จางจื้อกล่าวว่า “ชีวิตคือการผสมผสานอย่างกลมกลืนของหยินและหยัง” เนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรมชาวจีนจึงคุ้นเคยกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและปรากฎการณ์แห่งการเจริญเติบโตและการเสื่อมสลายของธรรมชาติฝ่ายอินทรียวัตถุจึงถือได้ว่าเป็นการแสดงที่ชัดเจนของการขับเคี่ยวระหว่างหยินกับหยัง ระหว่างฤดูหนาวที่มืดและเยือกเย็นกับฤดูร้อนที่สว่างและร้อนแรง การขับเคี่ยวในฤดูกาลของขั้วต่างทั้งสอง สะท้อนออกมาในอาหารที่รับประทานซึ่งจะมีทั้งหยินและหยางในทัศนะของชาวจีนแล้ว อาหารที่มีคุณค่าต้องประกอบด้วยหยินและหยางในสัดส่วนที่สมดุลกัน
7.5 การประทะกันของหยินและหยาง
การแพทย์แผนโบราณของจีนก็เช่นกัน ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความสมดุลระหว่างหยินและหยังในร่างกายของมนุษย์ ความเจ็บไข้ใด ๆ เกิดจากสมดุลนี้เสียไป ร่างกายถูกแบ่งเป็นส่วนหยินและหยาง กล่าวรวม ๆ ว่าภายในร่างกายคือหยาง ผิวนอกร่างกายคือหยิน ด้านหลังคือหยัง ด้านหน้าคือหยิน อวัยวะต่าง ๆ ก็มีทั้งที่เป็นหยินและหยาง ความสมดุลระหว่างส่วนต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ถูกหล่อเลี้ยงอยู่ด้วยการเลื่อนไหลของ ฉี้ หรือพลังงานแห่งชีวิต การขับเคี่ยวระหว่างหยินและหยังอันเป็นคู่ตรงข้ามจึงเป็นเสมือนกฎเกณฑ์แห่งการเคลื่อนไหวของเต๋า แต่ชาวจีนมิได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น พวกเขาได้ทำการศึกษาต่อไปถึงความสัมพันธ์หลายรูปแบบหลายรูปแบบของหยินและหยาง ซึ่งได้พัฒนาขึ้นเป็นระบบของแบบแผนแห่งเอกภาพ ปรากฏอย่างละเอียดลอออยู่ในคัมภีร์ อี้จิง คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นคัมภีร์เล่มแรกในบรรดาคัมภีร์สุดยอดทั้งหกของขงจื้อ และต้องถือว่าเป็นงานที่เป็นหัวใจของความคิดและวัฒนธรรมของจีนความนิยมและความยอมรับนับถือของชาวจีนต่อคัมภีร์เหล่านี้ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา เทียบได้กับความนิยมและยอมรับในหลาย ๆ คัมภีร์ เช่น คัมภีร์พระเวทและคัมภีร์ไบเบิ้ล ในวัฒนธรรมอื่น ริชาร์ด วิลเฮล์ม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนได้เขียนคำนำในการแปลคัมภีร์เล่มนี้ไว้ว่า อี้จิ้ง:คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงของจีนเล่มนี้ นับเป็นหนังสือที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่ง ในโลกของ วรรณกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย ต้นกำเนิดของคัมภีร์นับย้อนไปสู่สมัยโบราณซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราว ของเทพ คัมภีร์เล่มนี้ได้ดึงดูดความสนใจของนักปราชญ์ที่สำคัญของจีนตราบจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาสามพันกว่าปีแห่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของจีน ส่วนที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดนั้นได้รับแรงบัลดาลใจจากคัมภีร์เล่มนี้ ดังนั้นจึงเป็นการปลอดภัยที่จะกล่าวว่า ปัญญาอันช่ำชองซึ่งผ่านกาลเวลานับด้วยพันปีได้เป็นส่วนประกอบในคัมภีร์อี้จิ้ง
7.6 เส้นตรงหกเส้น
คัมภีร์แห่งการเจริญเติบโตมาเป็นเวลาหลายพันปี ประกอบด้วยหลายชั้นหลายเชิงซึ่งแตกกิ่งก้านมาจากยุคสมัยสำคัญที่สุดของความคิดจีน จุดเริ่มแรกในคัมภีร์เป็นการรวบรวมภาพหรือสัญลักษณ์ จำนวน 64 อัน สร้างขึ้นจากความคิดเรื่องหยิน หยาง และใช้เป็นการทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ สัญลักษณ์แต่ละอันประกอบด้วยเส้นตรงหกเส้น อาจจะเป็นเส้นประ (หยิน) หรือเส้นทึบ (หยัง)ก็ได้ ทั้งหกสิบสี่อันเป็นการผสมผสานระหว่างเส้นตรงในลักษณะดังกล่าวเท่าที่จะเป็นไปได้โดยไม่ซ้ำกัน สัญลักษณ์เหล่านี้ถูกถือเป็นแบบฉบับของเอกภพ แสดงหรือแทนแบบแผนของเต๋าในธรรมชาติและในสภาพการณ์ของมนุษย์แต่ละอันมีชื่อเรียกเฉพาะและมีคำอธิบายเป็นคัมภีร์เล็กๆ เรียกว่าคำทำนาย ซึ่งจะแนะนำสิ่งที่จะต้องกระทำให้เหมาะสมกับสภาพที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์แต่ละอัน ยังมีคัมภีร์อีกเล่มชื่อ ภาพพจน์ ซึ่งเขียนขึ้นในภายหลัง ได้อธิบายความหมายของสัญลักษณ์แต่ละอันในรูปบทกวีสั้นๆสองสามบรรทัด คัมภีร์อีกฉบับหนึ่งอธิบายความหมายของเส้นตรงแต่ละเส้นของสัญลักษณ์นี้ โดยใช้ภาษาซึ่งเชื่อมโยงกับเทพเจ้าต่าง ๆ ซึ่งมักจะเข้าใจได้ยาก คัมภีร์ย่อยทั้งสามเล่มนี้ประกอบกันขึ้นเป็นคัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งใช้เป็นคำทำนาย ผู้มีความสงสัยหรือความทุกข์ เมื่อต้องการทราบสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตนก็ต้องทำพิธีและสั่นติ้วซึ่งมีจำนวนห้าสิบอัน เมื่อได้ติ้วอันใดอันหนึ่งก็ไปดูที่สัญลักษณ์ที่ตรงกัน จะมีคำทำนายและแนะนำถึงสิ่งที่ต้องกระทำให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ในคัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง มีภาพพจน์ที่จะเปิดเผย ตอนท้ายมีคำทำนายให้ตีความ โชคและ เคราะห์ได้บ่งบอกไว้ให้ตัดสินใจ จุดมุ่งหมายในการปรึกษากับคัมภีร์อี้จิงจึงไม่ใช่ที่จะรู้อนาคตเท่านั้นแต่ยังช่วยค้นหาสิ่งที่กำหนดสภาพการณ์ปัจจุบันของตน เพื่อที่จะเลือกกระทำการใดได้อย่างถูกต้อง ทัศนคติอันนี้ได้ยกระดับคัมภีร์อี้จิงขึ้นเหนือหนังสือคาถาเวทมนต์ธรรมดา เป็นคัมภีร์ที่กอปรด้วยปัญญา
7.7 การเปลี่ยนแปลง
โดยแท้จริงแล้วประโยชน์ของอิ้จิงในวิถีทางแห่งปัญญานั้นสำคัญ มากกว่าประโยชน์ในทางเป็นคำทำนายมากมายนัก มันเป็นแหล่งบันดาลใจของนักคิดจีนตลอดยุคสมัย ดังเช่นเหลาจื้อซึ่งได้แต่งคำสอนที่ลึกซึ้งที่สุดจากบางบทแห่งความเข้าใจในอี้จิง ขงจื้อได้ศึกษาคัมภีร์นี้อย่างจริงจัง และคำอธิบายขยายความของคัมภีร์นี้ซึ่งกลายเป็นคัมภีร์ย่อย ๆ ในระดับต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่มาจากสำนักของขงจื้อ คำอธิบายขยายความเหล่านี้เรียกว่า ปีกทั้งสิบ ได้รวมเอาการตีความโครงสร้างของสัญลักษณ์เหล่านั้นเข้าด้วยกันกับการอธิบายในเชิงปรัชญา ที่แกนกลางคำอธิบายขยายความของขงจื้อ เช่นเดียวกับแกนกลางของคัมภีร์อี้จิง ได้เน้นย้ำอยู่ที่ลักษณะการเคลื่อนไหวของปรากฏการณ์ทั้งมวล การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของสรรพสิ่ง และสภาพการณ์ทั้งมวลเป็นสิ่งสำคัญซึ่งแสดงไว้ในคัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงก็คือคัมภีร์ ซึ่งเราไม่อาจยึดถือย่างโดดเดี่ยว เต๋าของมันคือการเปลี่ยนแปลงเสมอ กลับกลาย เคลื่อนไหว ไม่รู้หยุด เลื่อนไหลผ่านที่ว่าง ทั้งหก ลอยและจมโดยปราศจากกฎเกณฑ์ตายตัว ความมั่นคงและความอ่อนน้อมเปลี่ยนกลับไปมา มันไม่อาจจำกัดได้ด้วยกฎเกณฑ์หนึ่งใด คงมีแต่การเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่จะกระทำการอยู่
คัดลอกจาก ::
http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/tao%20of%20physics