ผู้เขียน หัวข้อ: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้  (อ่าน 6217 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 01:11:28 pm »
มรดกที่  ๗๑

การปฎิบัติที่ดูเหมือนมิได้ปฏิบัติอะไรเลย
คือ การปฏิบัติทางจิตใจ ให้รู้สึกพอใจอยู่ในความว่างจากตัวตนของตน,
กระทำหน้าทีทุกอย่างกลมกลืนอยู่กับกฏของธรรมชาติ
ทำงานเพื่อหน้าที่ มิใช่ทำเพื่อประโยชน์แก่ตัวกู–ของกู.
 

มรดกที่ ๗๒

ภาษาธรรมะชั้นสูง ก็ล้วนแต่เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาชาวบ้าน
จงพยายามถือเอาความหมายในภาษาชาวบ้านให้มากที่สุด
ก็จะเข้าใจคำนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้องและถึงที่สุด ได้โดยง่าย,
เช่น นิพพาน คือเย็น.
มรรค คือหนทาง.
ผล คือลูก.
กิเลส คือสิ่งสกปรก.
สังโยชน์ คือผูกมัด.
อาสวะ คือสิ่งกดดันออกมาจากการหมักดอง.
พุทธะ คือตื่นจากหลับ.
ธรรมะ คือหน้าที่.
สังฆะ คือหมู่ของสิ่งที่พึงปรารถนา.

 
มรดกที่ ๗๓

มนุษย์สูญ คือผู้ที่มีจิตใจกำลังปราศจากความยึดมั่นถือมั่น
คือไม่รู้สึกยึดมั่นในความหมาย ที่เป็นตัวตนหรือของตน
ด้วยอุปาทานไปตามอำนาจของอวิชชา.
จงมาเป็นมนุษย์สูญ(ว่าง)กันเถิดจะเบาสบาย
เฉลียวฉลาดปราศจากอคติใด ๆ
มีจิตใจเหมาะสมแก่การงานทุกชนิด โดยอัตโนมัติ.

 
มรดกที่ ๗๔

เมื่อจิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น
ซึ่งหลงยึดมั่นในคุณค่า อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน
ตามสมมติสัจจะว่า "ตัวตน" แล้ว ดี–ชั่ว บุญ–บาป กิเลส–โพธิ
หรืออะไรที่บัญญัติกันว่าเป็นของคู่ตรงกันข้ามนั้น
ก็จะเป็นของที่เท่ากัน หรือเป็นสิ่งเดียวกัน
เช่นเป็นเพียงสังขารเสมอกัน เป็นสมมติบัญญัติที่เท่ากัน เป็นต้น.

 
มรดกที่ ๗๕

เรามีนรกสวรรค์หรือนิพพานชนิดที่เป็นสันทิฏฐิโก
ที่สัมผัสได้กันที่นี่ กันดีกว่า จริงกว่า กว่าชนิดที่คิดว่าจะมีกันต่อเมื่อตายแล้ว,
ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า อายตนิกนิริยะอายตนิคสัคคะ และสันทิฏฐิกนิพพาน.
ขอให้รู้จักกันไว้ให้ดี ๆ เถิด จะได้เป็นพุทธบริษัทสมชื่อ.

 
มรดกที่ ๗๖

แผ่นดินเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร ประทับอยู่อาศัย และดับขันธปรินิพพาน
ของพุทธองค์ ตลอดพระชนมชีพ จึงเหมาะสมที่จะใช้เป็นที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม
เกินกว่าที่จะจัดเป็น "บรมมหาวิทยาลัย"
เมื่อนำไปเทียบกับมหาวิทยาลัยในโลกปัจจุบัน.
ดังนั้น เราน่าจะนั่งเรียนธรรมะกันกลางดิน
ยิ่งกว่านั่งเรียนบนตึกราคาล้าน ๆ.

 
มรดกที่ ๗๗

กฏเกณฑ์ เกี่ยวกับลำดับชั้นของนิวรณ์–กิเลส–อนุสัย–อาสวะ ที่ควรรู้จัก
คือ เกิดโลภครั้งหนึ่งก็สะสมราคานุสัยไว้หน่วยหนึ่ง,
เกิดโกรธครั้งหนึ่ง ก็สะสมปฏิฆานุสัยไว้หน่วยหนึ่ง,
เกิดหลงครั้งหนึ่งก็สะสมอวิชชานุสัยไว้หน่วยหนึ่ง,
สำหรับจะเกิดกิเลสนั้น ๆ ได้โดยง่าย สะสมไว้ในสันดาน
กลายเป็นอาสวะ สำหรับจะกลับออกมาเป็นกิเลส
หรือเป็นแต่เพียงนิวรณ์ก็ได้แล้วแต่กรณี.

 
มรดกที่ ๗๘

กามารมณ์หรือเพศรส คือค่าจ้างของธรรมชาติเพื่อให้สัตว์ทำการสืบพันธุ์
อันเป็นสิ่งเหน็ดเหนื่อย–น่าเกลียด–สกปรก, ยากที่สัตว์จะหลีกเลี่ยงได้
แม้จะเป็นเพียงค่าจ้างที่เป็นอาการบ้าวูบเดียว.

 
มรดกที่ ๗๙

ความว่าง–จิตว่าง–ทำงานด้วยจิตว่าง–เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง–มีชีวิตอยู่ด้วยความว่าง
นี้คือทั้งหมดของพุทธศาสนา โดยหัวใจ,
สำหรับการศึกษา–ปฏิบัติ–เสวยผลของการปฏิบัติอย่างพุทธบริษัทแท้
แต่คงจะเป็นการยากที่ใครจะเห็นด้วย.

 
มรดกที่ ๘๐

อย่าเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ในลักษณะที่ท่านทรงทนนั่งต้อนรับไม่ไหว
เพราะเต็มไปด้วยสัญญลักษณ์แห่งไสยศาสตร์
และความมีตัวกู–ของกู ถึงขนาดยกหูชูหาง
มีท่าทางแห่งการยกตนข่มผู้อื่น.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 01:16:17 pm »
มรดกที่  ๘๑

สิ่งที่เรียกว่าอภิธรรมนั้น สมมติว่าเอาไปทิ้งทะเลเสียทั้งกะบิ
เราก็ไม่ขาดความรู้เรื่องการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์;
เพราะเกิดขึ้นสำหรับสติปัญญาที่เฟ้อเกินจำเป็น
ทำให้เนิ่นช้าแก่สติปัญญาทั่วไป.
ดังนั้น ใคร ๆไม่ต้องเสียใจหรือน้อยใจ
ว่าไม่มีโอกาสจะเรียน หรือเรียนไม่ไหว.

 
มรดกที่ ๘๒

มิติที่สี่ของอารมณ์ทั้งหลายนั้น
คือการกินเวลา กับการกินเนื้อที่ ที่สัมพันธ์กันอย่างดี.
ถ้าใครรู้เท่าทันเรื่องนี้แล้ว จะไม่หลงใหลในความงาม–ไพเราะ–หอม–อร่อย–นิ่มนวลชวนสัมผัส
แล้วก็โง่ไปเกลียดชังฝ่ายที่ตรงกันข้าม.

 
มรดกที่ ๘๓

รสของกามารมณ์ทุกรูปแบบเป็นเรื่อง " บ้าวูบเดียว ".
แต่มนุษย์และเทวดาก็หลงบูชา ถึงกับยกให้เป็นเรื่องกามเทพ
เสมือนหนึ่ง เป็นพระเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง เอาเสียทีเดียว;
แต่สัตว์เดรัจฉานหาเป็นเช่นนั้นไม่ จงคิดดูให้ดีเถิด.

 
มรดกที่ ๘๔

สวรรค์ที่มีได้ทุกอิริยาบถ
คือความรู้สึกว่าตนเองได้ปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้อง
แล้วก็พอใจในการกระทำของตนเอง อยู่ทุกอิริยาบถ
ถึงกับยกมือไหว้ตัวเองได้ ทุกคราวที่ระลึกถึง.
นี้คือสวรรค์ที่แท้จริง ที่นี่และเดี๋ยวนี้
สวรรค์อื่นทุกชนิด ขึ้นอยู่กับสวรรค์นี้.

 
มรดกที่ ๘๕

ต้นไม้พูดได้ และแสดงธรรมอยู่เสมอ
แต่คนไม่ได้ยินเอง. มันพูดเรื่องหน้าที่ เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องความสงบ,
และพูดว่าพวกมนุษย์ อย่าบ้ากันเกินไปนักโว้ย;
แต่มนุษย์ก็ไม่ได้ยินเอาเสียเลย.

 
มรดกที่ ๘๖

ถ้ามีการมองที่ดี ก็จะมีแต่การได้ ไม่มีเสีย,
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม้ที่สุดแต่ความตาย;
นับประสาอะไรกับเรื่องการสูญเสียเล็ก ๆ น้อย ๆ,
หากแต่คนโง่ไม่รู้จักมองให้เกิดปัญญา ว่าสิ่งเหล่านั้นมาสอนให้อย่างไรบ้าง
ทั้งที่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนแต่มาสอนทั้งนั้น.

 
มรดกที่ ๘๗

เรื่องกรรมที่ถูกต้องแท้จริงในพระพุทธศาสนา
คือเรื่องกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดำกรรมขาว
คือเหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์เป็นไปเพื่อนิพพานส่วนเดียว.
เพียงแต่สอนว่า ทำดี–ดี ทำชั่ว–ชั่ว นั้นยังมิใช่ของพุทธแท้
เพราะมีการสอนกันอยู่ก่อนพุทธกาล แต่ก็ยังคงเรียกว่า กรรมวาที ได้เหมือนกัน,
เป็นเรื่องกรรมครึ่งเดียวไม่สมบูรณ์.

 
มรดกที่ ๘๘

ปรมัตถธรรมต้องกลับมา เพื่อเป็นรากฐานของศีลธรรม
ซึ่งบอกแต่เพียงว่าให้ทำอย่างไร แต่ไม่ได้บอกว่า เหตุไรจึงต้องทำอย่างนั้น
และยังบอกอะไรอื่นอีกบางอย่าง เพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในการกระทำนั้น.
ดังนั้น จงสนใจในปรมัตถธรรม กันให้เพียงพอเถิด
เพื่อความสมบูรณ์แห่งการมีศีลธรรม.


มรดกที่ ๘๙

การสมรสทางวิญญาณ กับบุคคลทุกคนในโลก
เป็นสิ่งที่กระทำได้ โดยที่เขาเหล่านั้นไม่รู้สึกตัว :
นั่นคือการทำตนเป็นเพื่อนทุกข์ในการเกิด–แก่–เจ็บ–ตาย
และมีเมตตาธรรมชนิดอัปปมัญญา.

 
มรดกที่ ๙๐

การเห็นแก่ตัว คือจุดศูนย์กลางของความไม่มีศีลธรรมและปรมัตถธรรม
จึงทำบาปอกุศลได้อย่างมั่นใจ ว่าถูกต้องและเป็นธรรม ทุกประการแล้ว,
ดังนั้น ศาสนาทุกศาสนา จึงมุ่งหมายสอนการทำลายความเห็นแก่ตัว,
ถ้ามิฉะนั้นก็มิใช่ศาสนา.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 01:21:05 pm »
มรดกที่  ๙๑

โดยหลักธรรมะ เราอาจจะมีจิตเป็นสุขแท้จริง
ได้ตั้งแต่เมื่อกำลังทำการงานนั้น ๆ อยู่
แต่ไม่มีใครสนใจในความสุขที่แท้จริงชนิดนี้
เพราะชะเง้อหาแต่ความเพลิดเพลินอันหลอกลวง
เพื่อแลกเอาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา.

 
มรดกที่ ๙๒

การเกิดทางวิญญาณในขณะแห่งปฏิจจสมุปบาท ที่คนไม่รู้จัก
นั้นมีทุกคราว ที่คนสัมผัสอารมณ์ด้วยอวิชชาแล้วเกิดตัณหา,
มิใช่หมายถึงการเกิดหนเดียวตายหนเดียว ซึ่งเป็นการเกิดฝ่ายรูปธรรม ดังที่เข้าใจกัน
แล้วก็ไม่อาจจะเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท.

 
มรดกที่ ๙๓

การบรรลุธรรม หรือมีธรรม
นั้นไม่ได้หมายความว่า ต้องเรียนอภิธรรม–กินแต่ผัก–ห่มจีวรกรัก–แบกกลด–ถือไม้เท้ายาว–พูดเบาๆ–เดินค่อยๆ–แขวนลูกประคำ เป็นต้น
แต่บรรลุหรือมีได้ด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏอิทัปปัจจยตาของสีล–สมาธิ–ปัญญา.

 
มรดกที่ ๙๔

ธรรมะของโพธิสัตว์ สรุปได้เป็น ๔ หัวข้อ
คือ สุทธิ–ปัญญา–เมตตา– ขันตี ซึ่งมีแววแสดงอยู่ที่ใบหน้า ของอวโลกิเตศวรปฏิมา.
ที่ศิลปินกระทำขึ้นถึงมาตรฐานของยอดศิลปะ.

 
มรดกที่ ๙๕

ความทุกข์สอนอะไร ๆ ให้เราได้ดีกว่าความสุข
คือสอนตรงกว่า–มากกว่า–รุนแรงกว่า;
ความสุขมีแต่ทำให้ลืมตัว เหลิงเจิ้งไม่ทันรู้ และไม่ค่อยสอนอะไร. ขอขอบใจความทุกข์ ซึ่งเป็นเสมือน "เพชร" ในหัวคางคก.

 
มรดกที่ ๙๖

เพชรในหัวคางคก คือความดับทุกข์
ที่หาพบในความทุกข์ เสมือนการดับไฟ ก็หาพบที่ไฟนั่นเอง.
จงรู้จักความลับข้อนี้ ด้วยกันทุกคนเถิด,
มิฉะนั้นจะหาไม่พบ สิ่งที่ควรพบตามธรรมชาติทั่วไป.

 
มรดกที่ ๙๗

ระบบการปฏิบัติดับทุกข์ไม่เหลือในขั้นสุดท้ายนั้น
เป็นการตกกระไดพลอยกระโจน
คือเมื่อรู้ว่าจะดับชีวิต หรือตายแน่แล้ว ก็ไม่มีจิตกวัดแกว่งอย่างใด
แต่ตั้งจิตสมัครดับไม่เหลือ จากการวียนว่ายตายเกิด,
ไม่มีหวังในการเกิดใหม่ โดยสิ้นเชิง.


มรดกที่ ๙๘

ขอย้ำเรื่องนรก – สวรรค์ที่แท้ในพระพุทธศาสนา อีกครั้งหนึ่ง
ว่าได้แก่ผลที่ได้รับจากการกระทำผิดหรือกระทำถูกทางอายตนะ
เมื่อมีผัสสะที่ตา–หู–จมูก–ลิ้น–กาย–ใจ อันกำลังรู้สึกอยู่ในจิต ที่นี่และเดี๋ยวนี้.
นรกใต้ดิน หรือสวรรค์บนฟ้าต่อตายแล้ว ที่กล่าวกันมาแต่ก่อนพุทธกาลนั้น
ขึ้นอยู่กับนรกสวรรค์ที่แท้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้.

 
มรดกที่ ๙๙

การสอนเรื่องทางจริยธรรม ทุกเรื่องต้องสอนครบเป็นคู่ ๆ
คือสอนทั้งข้อที่ว่าให้ทำอย่างไร (ตัวศีลธรรม)
และข้อที่ว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น (ตัวปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นเหตุผลของศีลธรรม);
และถ้าเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ว่ามันจะมีผลแท้จริงอย่างไรเข้าอีกด้วยก็จะยิ่งดี.
ขออย่าได้บกพร่องในหลักเกณฑ์ข้อนี้.

 
มรดกที่ ๑๐๐

หัวใจพุทธศาสนาสำหรับคนทั่วไป
ทั้งที่กำลังปฏิบัติและที่เสร็จการปฏิบัติแล้ว
นั้นคือสัจจธรรมที่ว่า
"สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตน–ของตน" :
ทุกคนต้องปฏิบัติสิ่งนี้ และได้รับผลของสิ่งนี้.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 01:25:06 pm »

มรดกที่  ๑๐๑

ชาติในปฏิจจสมุปบาท คือ การเกิดทางจิต–ทางวิญญาณ
อันจะมีขึ้นทุกคราวที่มี�ความรู้สึกเป็นตัวกู–ของกู เกิดขึ้นมาในจิต
และเป็นทุกข์ทางใจอย่างหนักหน่วง ทุกคราวที่เกิด;
ส่วนชาติทางกายนั้น มีครั้งเดียวจนกว่าจะเข้าโลง
และมีทุกข์ทางกายพอสถานประมาณ
ไม่ทรมานมากเหมือนทางจิต.

 
มรดกที่ ๑๐๒

ทำบุญด้วยปาก (ธรรมทาน) ได้บุญมากกว่าทำด้วยของ (วัตถุทาน)
แต่คนส่วนมากทำไม่ได้เพราะเต็มอัดอยู่ด้วยความทุกข์
มืดมนท์ยิ่งกว่าตาบอด พูดเรื่องดับทุกข์ไม่เป็น,
พูดเป็นแต่เรื่องการจมอยู่ในโลก ซึ่งมิใช่เรื่องธรรมทาน
เพื่อให้มีจิตใจอยู่เหนือโลก ทั้งที่กายอยู่ในโลก.
ขอให้ทุกคนเลื่อนระดับการทำทานของตน
ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับที่เรียกว่าธรรมทาน.

 
มรดกที่ ๑๐๓

ชีวิตเป็นสิ่งที่เติมธรรมะลงไปได้ จนกว่าจะเต็ม
คือเติมลงไปด้วยการทำหน้าที่
ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน
ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ
จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน ในที่สุด.

 
มรดกที่ ๑๐๔

ธรรมะในบทกล่อมลูก ที่แสดงว่าบรรพบุรุษรู้ธรรมะอย่างพอตัว
คือบทกล่อมลูกที่ว่า มะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้ง คือทะเลแห่งบุญและบาป,
และจะถึงต้นมะพร้าวได้ เฉพาะผู้ที่พ้นทั้งบาปและบุญ
แล้วสัมผัสกับนิพพาน หรือมะพร้าวต้นนั้น
ในลักษณะที่หาพบนิพพานได้ท่ามกลางวัฏฏสงสาร.

 
มรดกที่ ๑๐๕

สีล–สมาธิ–ปัญญา ของธรรมชาติ
มีในกิจการทุกอย่างของมนุษย์ (แม้สัตว์)
คือมีความเป็นอยู่ถูกต้อง มีกำลังจิตเพียงพอ มีความรู้เพียงพอ ในหน้าที่ของตน.
ชีวิตทุกชีวิตมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาสิ่งนี้ทุกรูปทุกนาม.

 
มรดกที่ ๑๐๖

อนันตริยสมาธิ เป็นสิ่งที่ควรรู้จัก
ในฐานะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองอย่างเพียงพอทุกคราวที่เรามีความต้องการ
และทำอะไรด้วยสติปัญญาสัมมาทิฏฐิอย่างเต็มที่ แต่ไม่มีใครสนใจ.

 
มรดกที่ ๑๐๗

ถ้าสมรสกันทางเนื้อหนังไม่ได้ ก็สมรสกันทางจิตทางวิญญาณได้
แม้กับพระพุทธองค์ ที่พูดกันว่านิพพานแล้วกว่าสองพันปี แต่ยังทรงอยู่โดยพระคุณ.
นั่นคือ การกระทำให้ถูกตรงตามพระพุทธประสงค์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในการปฏิบัติธรรม.

 
มรดกที่ ๑๐๘

ศึกษาหรือสิกขา ตามความเห็นของข้าพเจ้า
คือการรู้จักตัวเอง–เห็นตัวเอง–ด้วยตนเอง–ในตัวเอง–เพื่อตัวเอง
อย่างแจ่มชัดถูกต้องและสมบูรณ์
จนทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่ทุกฝ่าย.

 
มรดกที่ ๑๐๙

ความริษยา คือไฟเงียบที่จะเผาลนจิตใจของผู้มีมัน
เหมือนตกนรกทั้งเป็น ตั้งแต่ต้นจนตลอดเวลา ทั้งที่ผู้ถูกริษยา ไม่รู้สึกอะไรเลยตลอดเวลาเช่นกัน.
ดังนั้น จะทำไปทำไม? คุ้มค่ากันที่ตรงไหน?.

 
มรดกที่ ๑๑๐

บัดนี้ ยิ่งเจริญคือยิ่งยุ่ง ยิ่งเจริญที่สุดคือยิ่งเกินจำเป็น
เพราะปราศจากสติปัญญา อันทำให้รู้จักเจริญอย่างถูกต้อง พอเหมาะพอดีเป็นมัชฌิมาปฏิปทา;
จงรู้จักเจริญกันเสียใหม่ ในด้านจิตวิญญาณที่อาจดับทุกข์ของตนได้เถิด.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 02:04:56 pm »
มรดกที่  ๑๑๑

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งที่ต้องควบคุมให้ดี ๆ
: มันจะเกิดเป็นนรกขึ้นมาเมื่อมีการปฏิบัติผิด
และจะเกิดเป็นสวรรค์ขึ้นมา เมื่อมีการปฏิบัติถูก ณ ที่นั้น ๆ.
จงจัดการกับตา ฯลฯ ใจให้ถูกต้อง ในเมื่อมีการสัมผัส ณ ที่นั้น ๆ
จนเป็นสวรรค์อยู่ได้ จนตลอดเวลาเถิด
จะเป็นพุทธบริษัทโดยสมบูรณ์ อยู่ในขั้นต้น.

 
มรดกที่ ๑๑๒

ถ้าไม่มีการเกิดทางจิตทางวิญญาณในจิตใจว่าตัวกู–ของกู
แล้วการเกิดทางกายที่เกิดครั้งเดียวตายครั้งเดียว
ก็หาอาจทำให้เกิดทุกข์ใด ๆ ได้ไม่
เพราะไม่มีการรับเอามาเป็นของกู.

 
มรดกที่ ๑๑๓

การบรรลุมรรคผลนิพพาน มิได้มีไว้ให้ผู้อื่นทราบ
และแม้ที่จะรู้เอง ก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าบรรลุขั้นไหนเท่าไร
เพียงแต่รู้ว่าทุกข์กำลังดับไป ๆ จนกว่าจะหมดสิ้น ก็พอแล้ว;
เหมือนรองเท้าสึก ก็รู้ว่าสึก (จนกว่าจะใช้ไม่ได้) ก็พอแล้ว,
ไม่ต้องรู้ว่ามันสึกกี่มิล. ในวันหนึ่ง ๆ.

 
มรดกที่ ๑๑๔

ความสุขที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ต้องได้มาเปล่า ๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์
เหมือนดั่งที่ตรัสว่า ถอนความรู้สึกว่าตัวตนเสียได้แล้ว
ก็ได้นิพพานมาเปล่า ๆ ไม่ต้องเสียมูลค่าอะไร.
ส่วนความสุขเทียม หรือความเพลิดเพลินที่หลอกลวงนั้น
ใช้เงินซื้อมาเท่าไรก็ไมารู้จักพอ,
จนตัวตาย ก็ไม่พบกับความสุขที่แท้จริง.

 
มรดกที่ ๑๑๕

สังขารทั้งปวงแม้ไม่เที่ยง
แต่มันก็ตะโกนฟ้องตัวเองว่าไม่เที่ยง อยู่ตลอดเวลา.
พวกเรามันหูหนวกเอง ไม่ได้ยินแล้วก็หาว่าลึกลับ;
ดูจะช่วยแก้ตัวให้ความหลงของตัวเอง
เสียมากกว่าแล้วจะได้หลงต่อไปตามใจกู.

 
มรดกที่ ๑๑๖

โลกต้องมีศาสนาครบทุกชนิดทุกระดับ เพื่อเหมาะสำหรับคนทุกชนิดที่มีอยู่ในโลก
การที่พยายามจะทำให้มีศาสนาเดียว นั้นเป็นเรื่องบ้าหลังและไม่อาจจะเป็นไปได้
มีแต่จะสร้างความยุ่งยาก โดยมีมนุษย์ที่ไม่เหมาะสม ที่จะอยู่ในโลก มากขึ้น.

 
มรดกที่ ๑๑๗

ชาวพุทธแท้ ไม่กินสิ่งที่หมายมั่นว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก
แต่กินอาหารที่บริสุทธิ์ถูกต้อง สมควรแก่การกิน
โดยความเป็นธาตุตามธรรมชาติ
และกินเท่าที่จำเป็นจะต้องกิน เหมือนน้ำมันหยอดเพลารถ
หรือการกินเนื้อบุตรของตนเอง ที่ตายลง เมื่อหลงทางกลางทะเลทราย
เพื่อประทังชีวิตให้รอดออกไปได้เท่านั้น.

 
มรดกที่ ๑๑๘

ในร่างกายและจิตใจ มีสิ่งที่อาจเรียกว่าพระไตรปิฎก
ที่แท้จริงให้ศึกษา ชนิดที่ไม่อาจเติมเข้าหรือชักออก แม้แต่อักขระเดียว.
ขอให้พยายามอ่านพระไตรปิฎกเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ และทางให้ถึงความดับทุกข์
จากพระไตรปิฎกเล่มนี้ กันจงทุกคนเถิด.

 
มรดกที่ ๑๑๙

ต้องศึกษาเรื่องดับทุกข์จากร่างกายที่ยังเป็น ๆ มิใช่จากสมุดพระไตรปิฎกในตู้,
นี้ถือเอาตามคำตรัสที่ตรัสว่า โลก เหตุให้เกิดโลก ความดับสนิทของโลก และทางให้ถึงความดับสนิทนั้น ตถาคตกล่าวว่า มีอยู่พร้อมในกายอันยาววาหนึ่ง ซึ่งมีทั้งสัญญาและใจ (คือยังเป็น ๆ ).

 
มรดกที่ ๑๒๐

ยิ่งเรียนพระไตรปิฎก แล้วยิ่งวนเวียนไม่บรรลุธรรมะ
ก็ต้องเปลี่ยนไปเรียนที่ขันธ์ห้าโดยตรง
จนรู้จักการเกิด–ดับแห่งอุปาทาน ว่า ตัวกู–ของกู อันมีอยู่ในขันธ์ห้านั้น
จนเป็นภาวนามยปัญญา ตัดอุปาทานนั้นได้.

ออฟไลน์ ดอกไม้ในที่ลับตา ~ ღ

  • ทอฝัน~..ปันรัก & น้ำใจ ..ห่วงใย~ ให้ และ แบ่งปัน..เกื้อกูลกัน ด้วยความจริงใจ แบบไร้เงื่อนไข ดุจดั่ง ครอบครัวเดียวกัน นะคะ ^^ ..
  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • *
  • กระทู้: 759
  • พลังกัลยาณมิตร 365
  • ๏ นิ่ง .. ดับ ~ .. ขยับ .. เกิด ๏
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 02:48:21 pm »
มรดกที่ ๖๒

ธรรมะมีไว้ช่วยให้อยู่ในโลกอย่างชนะโลก หรือเหนือโลก
มิใช่ให้หนีโลก แต่อยู่เหนืออิทธิพลใด ๆ ของโลก ไม่ใช่จมอยู่ในโลก.
มักสอนให้เข้าใจกันผิด ๆ ว่า ต้องหนีโลก ทิ้งโลก สละโลก
อย่างที่ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใครเลย.

 
มรดกที่ ๖๓

ธรรมะเป็นสิ่งที่อธิบายยากเพราะคำพูดของมนุษย์มีไม่พอ
คือไม่มีคำสำหรับใช้กับสิ่งที่มนุษย์ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน;
ดังนั้น จึงต้องพยายามพูดและพยายามฟัง จนเข้าใจหรือรู้จัก
โดยความหมาย ทั้งในภาษาคนและภาษาธรรม พร้อมกันไป.

 
มรดกที่ ๖๔

ธรรมะมิใช่ตัวหนังสือหรือเสียงแห่งการแสดงธรรม แต่เป็นการกระทำหน้าที่ที่ถูกต้อง
ของผู้ปฏิบัติแต่ละคน อยู่ทุกอิริยาบท–ทุกเวลา–ทุกสถานที่
อย่างถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน และผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกัน,
จึงจะเป็นธรรมะที่ถูกต้องตามหลักแห่งพุทธศาสนา
อันนำมาซึ่งความสงบสุขได้จริง.

 
มรดกที่ ๖๕

ศีลธรรมกลับมา เพื่อโลกาสงบเย็น,
ปรมัตถธรรมกลับมา เพื่อโลกาสว่างไสว
ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ,
ถ้าปรมัตถธรรมไม่กลับมา โลกาจะมืดมนท์;
ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันทำให้กลับมา
ในฐานะเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีสำหรับโลก.




:13:  ..สาธุ สาธุ!!~ .. อนุโมทนา+ขอบคุณมากมายค่ะ พี่แป๋มจ๋า ..^^
.. จงมอง "ปัญหา" ให้เป็น "กล้องถ่ายรูป".. เวลาเจอต้อง "ยิ้มสู้" ^^ .. แล้ว "ชูสองนิ้ว".. 


:13:. .. .:19:
จิตอ่อนน้อมเป็นกุศล จิตถ่อมตนเป็นบารมี..
รักษาสุขภาพนะคะ คุณพระคุ้มครอง ความดีรักษาค่ะ..

. . รั ก ษ า ธ ร ร ม ๏ อ ยู่ คู่ ก า ย . .

ออฟไลน์ होशདངພວན2017

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 625
  • พลังกัลยาณมิตร 291
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #16 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 03:36:03 pm »


:07: :07: :07:

:07:คลิ๊กที่่ spoiler :07:

[spoiler]http://video.th.msn.com/watch/video/sleeping-puppy-dreaming/1jkggygtd?from=th-th&fg=dest[/spoiler]
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 02, 2010, 03:41:14 pm โดย ปู »
ตั้งมั่น แน่วแน่ แก้ไขทุกสิ่ง

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #17 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 03:42:57 pm »
มรดกที่  ๑๒๑

การจัดพระไตรปิฎกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมด ให้เหมาะสมสำหรับยุคปรมาณูโดยเฉพาะ
คือชักออก ๓๐% สำหรับนักศึกษาปัญญาชน,
ชักออกอีก ๓๐% สำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีตัวยง;ที่เหลืออยู่ ๔๐% เป็นเรื่องดับทุกข์โดยตรง
ก็ยังมากกว่าคัมภีร์ในศาสนาอื่น ๆ อีกมากมายหลายเท่า.
ทั้งหมดนี้มิได้เป็นการจ้วงจาบพระไตรปิฎก
แต่เป็นการปรับให้เหมาะสม สำหรับยุค.

 
มรดกที่ ๑๒๒

เรียนชีวิตจากชีวิต ดีกว่าเรียนจากพระไตรปิฎก
ซึ่งบอกเพียงวิธีเรียนชีวิตได้อย่างไร แล้วนำไปเรียนที่ตัวชีวิตเอง
เมื่อยังไม่ตายและมีเรื่องดับทุกข์โดยเฉพาะ ให้เรียนอย่างเพียงพอ;
นี้คือการเรียนความทุกข์จากความทุกข์
และพบความดับทุกข์ที่ตัวความทุกข์นั่นเอง.

 
มรดกที่ ๑๒๓

การเตรียมพระไตรปิฎกเพื่อเสนอแก่โลกยุคปรมาณูอันสูงสุด
นั้นต้องเป็นคนกล้าและบริสุทธิ์ใจ
พอที่จะใช้หลักกาลามสูตร เป็นเครื่องคัดเลือกและจัดสรร
ให้เหลืออยู่แต่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
แล้วจึงหยิบยื่นให้ไป จึงจะสำเร็จประโยชน์.


มรดกที่ ๑๒๔

นิพพานแท้ ที่เป็นสันทิฏฐิโก
คือความเย็นแห่งชีวิต ที่เย็นที่นี่และเดี๋ยวนี้
อยู่ตลอดเวลาเพราะกิเลสไม่เกิดขึ้น และไม่มีอุปาทานว่าตัวตน
สำหรับรับผลกรรมใด ๆ ทั้งดีและชั่ว;
นี่แหละคือข้อที่นิพพานแท้
นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับความตาย.

 
มรดกที่ ๑๒๕

ยิ่งเจริญคือยิ่งบ้า ตามประสาวัตถุนิยมชักนำไป แล้วเข้าใจว่ายิ่งเจริญ;
นั่นคือการวิ่งฝ่าเข้าไปในดงแห่งปัญหาอันยุ่งยาก
อันมนุษย์สร้างขึ้นมาเอง โดยไม่รู้ความหมายแห่งความเป็นมนุษย์.

 
มรดกที่ ๑๒๖

การอยู่อย่างเป็นเกลอกับธรรมชาติ
นั้นให้ความสะดวกในการเข้าถึงสัจจธรรมของธรรมชาติ
อันจะทำให้หมดปัญหาทุกประการ ที่เกิดมาจากธรรมชาติ
เพราะสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้โดยแท้จริง.

 
มรดกที่ ๑๒๗

บุถุชน คือคนที่ยังไม่รู้จักสิ่งที่ควรรู้จัก
แม้จะตำตาอยู่เสมอ คือไม่รู้จักนิวรณ์ทั้งห้า
อันได้แก่ความครุ่นในกาม–พยาบาท–หดหู่–ฟุ้งซ่าน–ลังเลในชีวิต
ว่าเป็นสิ่งทำลายความสงบสุข
หรือไม่รู้ว่า ความโลภ–โกรธ–หลง
นั้นเป็นสิ่งนำมาซึ่งทุกข์, แล้วก็ไม่กลัว;
จึงได้ชื่อว่าบุถุชน คือคนมีความหนา แห่งไฝฝ้าในดวงตา.

 
มรดกที่ ๑๒๘

ธรรมะสำหรับคนเกลียดวัด
ที่บูชาอบายมุข ทรมานอยู่ด้วยโรคประสาท เพราะบูชาเงิน จะได้สำนึกตัวเสียบ้าง
ก็คือความรู้ในข้อที่ว่า เราไม่ได้เกิดมาสำหรับเป็นทาสกิเลส
หรือเป็นทาสตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางเนื้อหนัง
แล้วจมปลักอยู่ในกองทุกข์ในโลกนี้ เพราะความเป็นทาสนั่นเอง.
 

มรดกที่ ๑๒๙

ศีลห้า ที่มีความหมายอันสมบูรณ์
นั้นสรุปลงได้ในคำว่า "ความไม่ประทุษร้าย ๕ ประการ"
คือ ไม่ประทุษร้ายชีวิต
–ไม่ประทุษร้ายทรัพย์
–ไม่ประทุษร้ายของรัก
–ไม่ประทุษร้ายความป็นธรรมของผู้อื่น
–ไม่ประทุษร้ายสติสัมปฤดีของตนเอง.
อย่างนี้แล้วไม่มีช่องว่างสำหรับจะบิดพริ้วหลีกเลี่ยง
หรือแก้ตัวแต่ประการใด.

 
มรดกที่ ๑๓๐

โดยปรมัตถ์แล้ว : ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครอยู่ ไม่มีใครตาย
มีแต่กระแสแห่งสังขารการปรุงแต่งตามกฏอิทัปปัจจยตา ของธาตุตามธรรมชาติ.
เมื่อไม่มีใครตาย แล้วจะมีใครไปเกิด
ดังนั้น ตามหลักพุทธศาสนา จึงไม่มีวิญญาณนี้ หรือวิญญาณไหนสำหรับไปเกิดใหม่,
เว้นเสียแต่จะพูดโดยภาษาคนของมนุษย์ในสมัยที่ยังไม่มีความรู้เรื่องนี้
แล้วก็พูดตาม ๆ กันมา.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #18 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 04:03:15 pm »
มรดกที่  ๑๓๑

ขอย้ำอีกว่า สิ่งที่เรียกว่า "ตัวตน" เป็นเพียงความรู้สึก ที่เพิ่งเกิดปรุงขึ้นมา
เมื่อมีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยอำนาจของอวิชชา เกิดขึ้นมาในใจเท่านั้น.
เมื่อเป็นเพียงความรู้สึก ที่เป็นปฏิกิริยาของความอยากเช่นนี้
จึงเป็นสิ่งที่เป็นของลม ๆ แล้ง ๆ ไม่มีตัวจริงอะไรที่ไหน;
แต่ถึงกระนั้น ก็มีอำนาจมากพอ ที่ทำให้เกิดกิเลสสืบต่อไป และเป็นความทุกข์ได้.

 
มรดกที่ ๑๓๒

นรกที่แท้จริง คือความรู้สึกอิดหนาระอาใจตัวเอง จนยกมือไหว้ตัวเองไม่ลง ตรงกันข้ามจากสวรรค์ คือความรู้สึกพอใจตัวเอง จนยกมือไหว้ตัวเองได้อย่างชื่นใจที่นี่และเดี๋ยวนี้. นรกและสวรรค์อย่างอื่น ๆ จะมีอีกกี่ชนิด ก็ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับนรกและสวรรค์ ๒ ชนิดนี้ทั้งนั้น.

 
มรดกที่ ๑๓๓

การเห็นตถตา หรือ "ความเป็นเช่นนั้นเอง" ของสิ่งทุกสิ่ง
นั้นคือญาณทัสสนะอันสูงสุดของพระอริยเจ้า
สามารถห้ามเสียซึ่งความประหลาดใจในสิ่งใด ๆ
ห้ามความรัก–โกรธเกลียด–กลัว–วิตกกังวล–อาลัยอาวรณ์–อิจฉาริษยา–หึง–หวง–ลังเล–ฟุ้งซ่าน ฯลฯ
อันเป็นสมบัติของบุถุชนเสียได้โดยเด็ดขาด.

 
มรดกที่ ๑๓๔

การที่จะเกิดสุขหรือทุกข์ ทำผิดหรือทำถูก
นั้นขึ้นอยู่กับการสัมผัสอารมณ์ที่มากระทบ
ว่าสัมผัสมันด้วยวิชชาหรืออวิชชา, คือมีสติสัมปชัญญะหรือไม่.
ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ก็ควบคุมการปรุงแต่งของจิตไว้ได้
ในลักษณะที่ไม่เกิดกิเลสและความทุกข์;
ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะ ก็ตรงกันข้าม.

 
มรดกที่ ๑๓๕

ของจริง เห็นด้วยใจของพระอริยเจ้า, ของเท็จ เห็นด้วยตาของบุถุชน
ดังนั้นจึงต่างกันมาก : ต่างฝ่ายต่างเชื่อตามความรู้สึกของตน ๆ และได้ผลตรง
ตามสถานภาพแห่งจิตของตนๆ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย.

 
มรดกที่ ๑๓๖

หลักตัดสินว่า ผิด–ถูก ชั่ว–ดี ในพุทธศาสนา
ไม่ยุ่งยากลำบาก เหมือนของพวกปรัชญาชนิด Philosophy หรือพวกตรรกวิทยา Logics
คือถ้ามีผลไม่เป็นที่เสียหายแก่ใคร และเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ก็ถือว่าถูกหรือดี.
ถ้าตรงกันข้าม ก็ถือว่าผิดหรือชั่ว, ไม่ต้องอ้างเหตุผลอย่างอื่น ให้ลำบาก.

 
มรดกที่ ๑๓๗

อย่าทำอะไรด้วยความหวัง หรือด้วยความยึดมั่นถือมั่น
แต่ทำด้วยสติปัญญา หรือสมาทานด้วยสติปัญญา,
มิใช่ด้วยอุปาทาน อันมีความหมายแห่งการทำเพื่อตัวกู.
การทำด้วยสติปัญญานั้น เป็นการทำเพื่อธรรมอย่างที่เรียกว่า ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่,
มิใช่ทำเพื่อตน แต่ทำเพื่อคนทั้งโลก หรือทุกโลก.

 
มรดกที่ ๑๓๘

ลัทธิที่สอนว่ามีตัวตน ย่อมนำไปสู่ความเห็นแก่ตน ระดับใดระดับหนึ่งเสมอไป
จึงดับทุกข์โดยสิ้นเชิงไม่ได้ เพราะเป็นกิเลสหรือมีกิเลสอยู่ในความเห็นแก่ตัวนั่นเอง.
ต้องเห็นแก่ธรรมคือหน้าที่ที่ถูกต้องสำหรับการดับทุกข์, โดยหมดตนจึงจะหมดทุกข์.

 
มรดกที่ ๑๓๙

ความไม่ยึดมั่นอะไรว่าเป็นตัวตนของตน
ยังมีแต่สิ่งที่กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
นั้นไม่เกี่ยวกับลัทธิอะไร ๆ ที่ถือว่าตายแล้วสูญ หรือว่าไม่มีอะไรเสียเลย.
มันต่างกันยิ่งกว่าฟ้ากับดิน,
ขอให้พยายามเข้าใจอย่างถูกต้องเถิด
จะเข้าถึงหัวใจของพทธศาสนาที่ว่า
ทุกอย่างมิใช่ตัวตน นั้นอย่างถูกต้อง.

 
มรดกที่ ๑๔๐

ความสุขที่แท้จริง ไม่ต้องใช้เงินเลย แต่กลับทำให้เงินเหลือ
: ความสุขที่หลอกลวง ยิ่งต้องใช้เงิน จนเงินไม่พอใช้.
ความสุขที่แท้จริง เกิดจากการทำงานด้วยความพอใจ
จนเกิดความสุขเมื่อกำลังทำงาน จึงไม่ต้องการความสุขชนิดไหนอีก,
เงินที่เป็นผลของงาน จึงยังเหลืออยู่,
ส่วนความสุขที่หลอกลวงนั้น คนทำความพอใจให้แก่กิเลส ซึ่งไม่รู้จักอิ่มจักพอ เงินจึงไม่มีเหลือ.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #19 เมื่อ: ธันวาคม 04, 2010, 06:46:07 am »
มรดกที่  ๑๔๑

ขอให้ตั้งต้นการศึกษาธรรมะด้วยการรุ้จักนิวรณ์ และภาวะที่ไม่มีนิวรณ์
อันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ด้วยกันทุกวันและทุกคน.
นี้จะเป็นการง่ายเข้า ในการที่จะรู้จักกิเลสอย่างชัดเจน
และปรารถนาชีวิตที่ไม่มีกิเลส หรือคุณค่าของพระนิพพาน ได้ง่ายเข้า.

 
มรดกที่ ๑๔๒

"ชีวิตใหม่" สำหรับผู้ถือศาสนาอะไรก็ได้
คือการทำหน้าที่ให้ถูกต้อง แก่ความเป็นมนุษย์ของตน ๆ
ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ตั้งแต่เกิดจนตาย
ทั้งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผ้อื่น.


มรดกที่ ๑๔๓

อนุปาทิเสสนิพพาน ไม่เกี่ยวกับความตาย
หากหมายถึงความดับเย็น ถึงระดับเย็นสนิท ของกิเลสและเบญจขันธ์
มีชีวิตอยู่เสวยรสแห่งความเย็นนั้น จนกว่าจะสิ้นชีวิต
เพราะหมดปัจจัยส่วนชีวิตหรือรูปนาม.
ถือเป็นหลักได้ว่า "นิพพานในพุทธศาสนา ในทุกความหมาย ไม่เกี่ยวกับความตาย".

 
มรดกที่ ๑๔๔

นิพพานเป็นของให้เปล่า โดยไม่ต้องเสียสตางค์
นั้นเป็นเพียงการเสียสละความยึดถือว่าตัวตนออกไปเสีย,
เป็นความสงบเย็นสูงสุดแห่งชีวิต ที่มีความเต็มสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ กันที่นี่และเดี๋ยวนี้.
แต่ก็ยังไม่เป็นที่สนใจในหมู่พุทธบริษัทเอง
ต้องการแต่ชนิดในอนาคตกาลนานไกล และต่อตายแล้ว
โดยยอมเสียสตางค์มาก ๆ เพื่อเตรียมสิ่งที่เป็นปัจจัยแก่นิพพาน.

 
มรดกที่ ๑๔๕

ขอยืนยันว่า นิพพานก็มิใช่ตัวตนของใคร หรือแม้แต่ของนิพพานเอง
แล้วจะมาเป็นสมบัติของใครได้;
เพียงแต่ทุกคนเปิดใจให้ถูกต้องเพื่อรับรัศมีเย็น
อันเกิดมาจากความไม่มีตัวตนของนิพาน จนตลอดชีวิตก็พอแล้ว
คือทำตนไม่ให้เป็นของใคร หรือแม้แต่ของตนเอง.

 
มรดกที่ ๑๔๖

ดับทุกข์ที่ทุกข์ ดับไฟที่ไฟ อย่าเอาไปไว้คนละแห่งคนละชาติ
คือทุกข์อยู่ในชาตินี้ แล้วจะดับทุกข์หรือนิพพาน ต่อชาติอื่น อีกหลายร้อยหลายพันชาติ
: จะดับไม่ได้ และมีแต่การละเมอเฟ้อฝัน.
จะต้องดับที่ตัวมัน และให้ทันแก่เวลา เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น
ก็มีสติสัมปชัญญะทันควัน จัดการกับผัสสะนั้นทันที
จนทุกข์ไม่อาจจะเกิดขึ้น หรือดับไป,
เดี๋ยวนี้มักจะเอาทุกข์กับดับทุกข์ ไว้คนละชาติ.


มรดกที่ ๑๔๗

ทั้งชั่วทั้งดี ล้วนแต่อัปรีย์ คือไม่น่ารัก
ล้วนแต่ทำให้วิ่งแจ้น ไปในความวนเวียน
ด้วยอำนาจการผลักดันของความชั่วและความดีนั้น.
มาแสวงหา และอยู่กับความสงบ ที่ไม่ชั่วไม่ดีกันดีกว่า, ไม่ต้องวิงให้วุ่นวาย;
ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ แล้วอยู่ด้วยความสงบเย็น.

 
มรดกที่ ๑๔๘

ปัญญาต้องมาก่อนทุกสิ่งที่จะปฏิบัติ นี้คือหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง
เหมือนอริยมรรคมีองค์แปดที่มีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ;
มิฉะนั้นการปฏิบัติจะเข้ารกเข้าพง พลาดวัตถุประสงค์ไปเสียหมดสิ้น
นับตั้งแต่สรณาคมน์ และศีล ดังที่กำลังมีอยู่ในที่ทั่วไป.
 

มรดกที่ ๑๔๙

สวดปัจจเวกขณ์กันเพียงครึ่งท่อน ของความจริงทั้งหมด
ว่าเรามีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ไม่อาจพ้นความเกิดแก่เจ็บตายไปได้;
แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า
"ถ้าได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ทั้งหลายจะพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตาย"
และตรัสระบุการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์แปดว่าเป็การมีพระองค์เป็นกัลยาณมิตร.
เรามีแต่การสวดบทที่หลอนตัวเอง ให้กลัวความเกิดแก่เจ็บตายอย่างเปล่า ๆ ปลี้ ๆ,
นี้เป็นความเหลวไหลของสาวกเอง ในการรับถือพุทธศาสนา.

 
มรดกที่ ๑๕๐

จิตว่างแท้จริงทางธรรมะ ต่างจากจิตว่างของอันธพาล
ซึ่งไม่รู้จักจิตว่างที่แท้จริง แล้วกล่าวหาว่า จิตว่างไม่ทำอะไร ไม่รับผิดชอบอะไร;
ทั้งที่จิตว่างแท้จริงนั้น ทำหน้าที่ทุกอย่าง ได้อย่างฉลาดเฉลียว ถูกต้องและไม่เห็นแก่ตัว.
จงรู้จักจิตว่างกันเสียใหม่เถิด.