ผู้เขียน หัวข้อ: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้  (อ่าน 6235 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2010, 07:52:42 am »



คำนำ

ข้าพเจ้าไม่มีมรดกอะไร ที่จะฝากไว้กับเพื่อนพุทธบริษัท
ผู้เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายทั้งหลาย นอกจากสิ่งที่ระบุไว้ในข้อความข้างล่างนี้
ด้วยความหวังว่า ถ้ายังมีการสืบมรดกนี้อยู่เพียงใด
กิจกรรมสวนโมกขพลาราม ก็จะยังคงมีอยู่ตลอดกาลนานเพียงนั้น และ "พุทธทาส"
ก็จะยังคงมีอยู่ในสถานที่นั้นๆ ตลอดกาลนานเพียงนั้น. ขอได้โปรดรับพิจารณากันเสียแต่บัดนี้
ซึ่งจะเป็นการง่ายในการสืบมรดกดังกล่าว. ขอให้ถือว่า เป็นมรดกธรรม
แก่บรรดาเพื่อนผู้มอบกายถวายชีวิต ในการสืบอายุพระศาสนา
เพื่อประโยชน์แก่คนทั้งโลกเถิด มิได้เป็นเรื่องส่วนบุคคลแต่ประการใด.

ภาคหนึ่ง
มรดกที่เป็นเรื่องฝ่ายวัตถุธรรมและพิธีกรรม
(มรดกที่ ๑–๔๑)

ภาคสอง
มรดกที่เป็นเรื่องฝ่ายนามธรรมทางสติปัญญา
(มรดกที่ ๔๒–๑๘๙)

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2010, 07:57:13 am »




ภาคหนึ่ง
มรดกที่เป็นเรื่องฝ่ายวัตถุธรรมและพิธีกรรม


มรดกที่ ๑

ทุกคนสามารถเป็นพุทธทาสได้
ถ้าเขาต้องการโดยบริสุทธิ์ใจ คือรับใช้ในการเผยแผ่พุทธศาสนา
ด้วยการทำตัวอย่างในการปฏิบัติให้ดู มีความสุขให้ดู, จนผู้อื่นพากันทำตาม.

 
มรดกที่ ๒

ปณิธาน ๓ ประการควรแก่ผู้ที่เป็นพุทธทาสทุกคน
ถือเป็นหลักในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่โรคคือ
๑. พยายามทำตนให้เข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตนๆ.
๒. พยายามช่วยกันถอนตัวออกจากอำนาจของวัตถุนิยม.
๓. พยายามทำความเข้าใจระหว่างศาสนา.

 
มรดกที่ ๓

ปณิธานข้อแรก คือการทำให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา
เพื่อให้เกิดการปฏิบัติดี-ตรง-เป็นธรรม-สมควรแก่การหลุดพ้น
เพื่อสนองพุทธประสงค์โดยตรงได้อย่างแท้จริง.

 
มรดกที่ ๔

ปณิธานข้อที่สอง คือการทำโลกให้ออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม
หรือรสอันเกิดจากวัตถุทางเนื้อหนังนั้น
ควรเป็นกิจกรรมแบบสหกรณ์ ของคนทุกคนในโลก และทุกศาสนา
เพื่อโลกจะเป็นโลก สะอาด-สว่าง-สงบ จากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.

 
มรดกที่ ๕

ปณิธานข้อที่สาม คือการทำความเข้าใจระหว่างศาสนา
นี้เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำเพราะโลกนี้ต้องมีมากศาสนา เท่ากับชนิดของคนในโลก,
เพื่อจะอยู่ร่วมโลกกันได้โดยสันติ และทุกศาสนาล้วนแต่สอนความไม่เห็นแก่ตัว
จะต่างกันบ้างก็แต่วิธีการเท่านั้น.


มรดกที่ ๖

สวนโมกข์ คือสถานที่ให้ความสะดวกในการเป็นเกลอกับธรรมชาติ
ทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ, ควรจัดให้มีกัน ทุกแห่งหน เพื่อการ ศึกษาธรรมชาติโดยตรง,
เพื่อการรู้จักกฎของธรรมชาติ, และเพื่อการชิมรสของธรรมชาติจนรู้จักรักธรรมชาติ
ซึ่งล้วนแต่ช่วยให้เข้าใจธรรมะได้โดยง่าย.


มรดกที่ ๗

สวนโมกข์ คือมหรสพทางวิญญาณ
เป็นสิ่งจำเป็นต้องมี สำหรับสัตว์ที่มีสัญชาตญาณแห่งการต้องมีสิ่งประเล้าประโลมใจ
อันเป็นปัจจัยฝ่ายวิญญาณเพิ่มเป็นปัจจัยที่ห้า ให้แก่ปัจจัยทั้งสี่อันเป็นฝ่ายร่างกาย.
ขอให้ช่วยกันจัดให้มีขึ้นไว้สำหรับใช้สอยเพื่อประโยชน์ดังกล่าวแล้ว แก่คนทุกคน.

 
มรดกที่ ๘

สวนโมกข์ฯ นานาชาติ
สำหรับแสงสว่างทางวิญญาณของเพื่อนมนุษย์ต่างชาติต่างภาษาโดยเฉพาะ,
เป็นความคิดที่เกิดขึ้นมาเมื่อมองเห็นคนเหล่านั้นดิ้นรนเสาะแสวงหา เพื่อให้พบตัวของตัวเอง.
ขอฝากไว้ให้ช่วยกันจัดและรักษาที่จัดแล้วไว้สืบไป.

 
มรดกที่ ๙

มหรสพทางวิญญาณ เพื่อความเพลิดเพลินทางวิญญาณด้วยรสแห่งธรรมะ
เป็นสิ่งจำเป็นต้องมีเพื่อแทนที่มหรสพทางเนื้อหนัง
ที่ทำมนุษย์ให้เป็นปีศาจชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ตลอดเวลา.
มนุษย์ต้องมีความเพลิดเพลิน (Entertainment) เป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิต
จำเป็นที่จะต้องจัดหาให้ ให้ดี ๆ.

 
มรดกที่ ๑๐

สัญญลักษณ์เสาห้าต้นบนหลังคา
หมายถึงนิวรณ์ห้าปัญจุปาทานขันธ์ห้า พละห้าอินทรีย์ห้า ธรรมสาระห้า มรรคผลนิพพานห้า
แม้ที่สุดแต่นิ้วมือทั้งห้าของตนเอง ล้วนแต่เป็นเครื่องตือนใจในเรื่องการกำจัดความทุกข์ของคนเราทั้งสิ้น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 28, 2012, 10:41:17 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2010, 08:01:27 am »
มรดกที่  ๑๑

คติพจน์ หรือ Slogan ประจำสวนโมกข์
คือกินข้าวจานแมวอาบน้ำในคู นอนกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง ฯลฯ ดังนี้ เป็นต้นนั้น
เป็นหลักปฏิบัติเพื่อไม่มีปัญหาทางด้านการเป็นอยู่ฝ่ายวัตถุ
และเหมาะสมแก่การก้าวหน้าทางจิตใจโดยหลักธรรมชาติที่ว่า
กินอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระ ทำอย่างสูง นั่นเอง.


มรดกที่ ๑๒

ปริญญาจากสวนโมกข์มีอยู่ว่า "ตายก่อนตาย"
คือจิตหมดความรู้สึกว่าตัวกูของกูเสียก่อนแต่ที่ร่างกายจะตาย เหลืออยู่แต่สติปัญญาบริสุทธิ์ในชีวิต.
นี้เป็นสิ่งที่มีได้แต่เดี๋ยวนี้ ดังนั้นตายได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งมีกำไรชีวิตเท่านั้น.
 

มรดกที่ ๑๓

ภาษาคน-ภาษาธรรม
มีไว้สำหรับแยกกันใช้พูดให้ถูกต้องในระหว่างเรื่องทางวัตถุและเรื่องทางจิต
แล้วจะเข้าใจเรื่องนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องลึกซึ้งสำเร็จประโยชน์.
อย่าใชัรวมกันหรือกลับกันจะเกิดการเวียนหัว.

 
มรดกที่ ๑๔

ระบบการใช้ภาษาคน-ภาษาธรรม เป็นสิ่งจำเป็นต้องมีอย่างแน่นอน
เพื่อใช้ในการศึกษาและสั่งสอนพุทธศาสนา เพราะธรรมะทั้งหมดมีที่ตรัสไว้
ทั้งโดยภาษาธรรมของคนธรรมดา (ปุคคลาธิษฐาน)
และภาษาธรรมของคนที่เห็นธรรมะแล้ว (ธรรมาธิษฐาน)
ดังนั้น จึงต้องสังเกตให้ดี ๆ ทั้งในการศึกษา การสั่งสอน การสนทนา
มิฉะนั้นจะเกิดอาการเวียนหัว.

 
มรดกที่ ๑๕

การล้ออายุและการให้ของขวัญวันล้ออายุ
อย่างที่กระทำกันอยู่ ที่สวนโมกข์นั้น มีผลทางจิตใจในความไม่ประมาทและรู้จักตัวเองดีขึ้น ทุกปี.
ขอฝากไว้สำหรับรักษากันไว้สืบต่อไปเพื่อความก้าวหน้าทางจิตใจของทุกคน.

 
มรดกที่ ๑๖

พุทธบริษัทที่แท้จริงไม่ควรมีแม้แต่เรื่องปวดหัวโดย
ไม่ต้องกล่าวถึงโรคประสาทหรือโรคจิต;
ทั้งนี้ เพราะอาศัยหลักธรรมที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่ว่า "ตถตา" หรือ "เช่นนั้นเอง"
คือการที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน
และจะต้องแก้ไขกันที่นั่น โดยไม่มีอะไรแปลก,
จึงขอฝากไว้ในฐานะเป็นมรดก.

 
มรดกที่ ๑๗

สาม ส. คือ สะอาด-สว่าง-สงบ
เป็นคุณลักษณะของพระอริยเจ้า และมีภาวะเป็นหัวใจของพระรัตนตรัย ในพุทธศาสนา
ขอฝากไว้เป็นมรดกแก่ทุกคน ในฐานะเป็นบทมนต์ประจำจิต.


มรดกที่ ๑๘

กฎบัตรของพุทธบริษัท
ที่ได้ช่วยกันทำขึ้นไว้แล้ว อย่างถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา
สำหรับพุทธบริษัทถือเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อความถูกต้องเป็นผลดีและสะดวกดาย
ในการเป็นผู้รู้-ผู้ตื่น-ผู้เบิกบาน ไม่ตกไปสู่ปลักหนองของไสยศาสตร์และวัตถุนิยม.
ขอฝากไว้เป็นมรดก ตลอดกาลนาน.

 
มรดกที่ ๑๙

วรรณกรรมชุดธรรมโฆษณ์-จากพระโอษฐ์- ลอยปทุม -หมุนล้อธรรมจักร
ขอฝากไว้เป็นมรดกอนุสรณ์ของผู้ประคองจิตร้อย-กรอง แล้วประคองปล่อยลงสู่ธรรมวารี
คือห้วงหฤทัยแห่งท่านสาธุชนทั้งหลาย ทั่วพื้นปถพี
เพื่องอกงามในห้วงแห่งธรรมวารีนั้น
ตลอดกัลปาวสาน อย่ารู้สิ้นสุด.

 
มรดกที่ ๒๐

บทสวดมนต์แปลแบบสวนโมกข์
คือสวดมนต์แปลที่ได้พยายามกระทำให้สวดกันได้ลื่น สละสลวย,
ได้เลือกมาเฉพาะเนื้อความ ที่เป็นหลักธรรมเข้มข้นและรัดกุม
ใช้เป็นอารมณ์แห่งสมาธิและวิปัสสนาไปได้ในตัว.
ขอฝากไว้ให้ใช้สวดกันตลอดกาลนาน.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 29, 2010, 09:34:59 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2010, 08:03:11 am »
มรดกที่  ๒๑

การตักบาตรสาธิตแบบที่ทำกันอยู่ในสวนโมกข์เป็นการศึกษาอยู่ในตัว
ว่าจะสามารถเลี้ยงพระจำนวนร้อยได้อย่างไร?, สะดวกเท่าไร?, ควบคุมกิเลสได้โดยวิธีไหน?.
ขอให้ช่วยกันรักษาพิธีกรรมแบบนี้ไว้ เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การพิทักษ์รักษาพุทธศาสนาไว้โดยวิธีประหยัด
ไม่ยุ่งยากลำบาก และรักษาแบบฉบับโบราณ นับแต่สมัยพุทธกาล เป็นต้นมา.

 
มรดกที่ ๒๒

สระมะพร้าวนาฬิเกร์
คือบทเรียนด้วยของจำลองมาจาก บทกล่อมลูกให้นอนของประชาชน
ที่แสดงว่า สมัยโน้นประชาชนได้เข้าถึงธรรมะสูงสุดกันเพียงไร
จนถึงกับนำเอาเรื่องของพระนิพพาน มาทำเป็นบทเพลงกล่อมลูกได้.
ขอให้รักเกียรติของบรรพบุรุษในข้อนี้ และทำตนให้สมกับเป็นลูกหลานของท่าน จงทุกคนเถิด.

 
มรดกที่ ๒๓

การแสดงธรรมในรูปของการแสดงปาฐกถา
ซึ่งบางคราวถึงกับต้องยืนพูดนั้น ไม่ผิดธรรมวินัยแต่ประการใด สะดวกและเหมาะสมแก่สมัย
ทำให้การเผยแผ่พระศาสนเป็นไปอย่างราบรื่นและได้ผลดี
ไม่จำเป็นต้องถือตามตัวอักษรเพราะระเบียบวัฒนธรรมคนละยุค คนละสมัย.


มรดกที่ ๒๔

หลักการที่ถือกันอยู่ในสวนโมกข์ ว่าไม่ยินดีต้อนรับคนที่ล้างจานข้าวไม่เป็น
กินแล้วต้องให้คนอื่นช่วยล้างจานนั้น เป็นหลักการทีไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนา
ไว้คัดเลือกคนที่เหมาะสมสำหรับจะพักอยู่ในวัดเพื่อการปฏิบัติธรรม
เพราะมีจิตใจสมคล้อยกับหลักแห่งการไม่เห็นแก่ตัว หรือเอาเปรียบผู้อื่น.
ขอให้ช่วยกันรักษาไว้เป็นมรดกสืบทอดต่อไปเถิด.


มรดกที่ ๒๕

การหนุนหมอนไม้เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงชักชวนไว้โดยตรง
เพื่อฝึกฝนการเป็นคนไม่มักมากในการนอน.
มารไม่ได้โอกาสครอบงำคนไม่เห็นแก่นอน มีความเข้มแข็งว่องไว
ทั้งทางกายและทางจิต บรรพชิตและนักรบสมัยโน้น จึงหนุนหมอนไม้ โดยเฉพาะพวกกษัตริย์ลิจฉวี.

 
มรดกที่ ๒๖

ขอคัดค้านคำกล่าวที่ว่า "งานคือเงิน - เงินคืองาน"
ว่าเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา
ซึ่งสอนให้ทำงานในฐานะเป็นหน้าที่ ที่ถูกต้องสำหรับสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด
มิใช่ทำงานเพื่อหาเงินมาปรนเปรอชีวิตให้หลงระเริงในอบายมุข
หรือความเริงรมย์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่อง "บ้าวูบเดียว".
ขอฝากมรดกการคัดค้านนี้ไว้ด้วย.


มรดกที่ ๒๗

เคล็ดลับของแบบเซ็น นั้นคือวิธีเดิมแท้ในพุทธศาสนา
ที่บวกสมถะเข้ากับวิปัสสนาให้ทำงานร่วมกัน
ในขณะที่มีสมาธิและเพ่งพิจารณาเพื่อเข้าถึงสภาพเดิมของจิต คือความไร้กิเลส
ได้โดยฉับพลัน ไม่แยกกันทำทีละอย่าง เพราะความยึดมั่นเฉพาะอย่าง.
หลักนั้นมีว่า ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน.


มรดกที่ ๒๘

หลักการที่ว่า เอาเชื้อโรคมาแก้ไขโรค
นั้นนำมาใช้ได้ในการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา
โดยเอากำลังของความโลภ มาละโมบในการทำความดีหรือบุญกุศล;
เอากำลังของความโกรธมาอาฆาตโกรธแค้น ต่อกิเลสและความทุกข์ เพื่อทำลายเสียในฐานะศัตรู;
เอากำลังของโมหะ มาหลงในการทำความดีขั้นต้น ๆ แทนการหลงชั่ว.
ทั้งนี้ เพราะเรามีสิ่งทั้งสามนี้เป็นเดิมพันอย่างรุนแรงอยู่ในจิตใจ กันอยู่แล้วอย่างเต็มที่.

 
มรดกที่ ๒๙

การมีธรรมตลอดวันตลอดคืนเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ยาก
คือเมื่อจะทำหน้าที่ใด ๆ ในชีวิตประจำวัน
ก็ทำโดยรู้สึกต่อความจริงข้อหนึ่งอยู่ในใจว่า "หน้าที่นั่นแหละคือธรรมะ"
เพราะหน้าที่เป็นสิ่งที่สามารถกำจัดปัญหาได้ทุกชนิดและนำมาซึ่งผลดี อันพึงปรารถนา
ข้อนี้ตรงกับความหมายของคำว่า "ธรรม" คือสิ่งที่ช่วยผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกลงสู่ความทุกข์;
ดังนั้นเมื่อทำหน้าที่ตลอดวัน ก็มีธรรมะได้ตลอดวัน.
แม้การพักผ่อนก็เรียกว่าหน้าที่ ที่ต้องทำด้วยเหมือนกัน คือจะได้มีกำลังในการทำหน้าที่.

 
มรดกที่ ๓๐

มหาปเทสฝ่ายวินัย ตามแบบพระวินัย
ขอฝากไว้ ให้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ต้องนำมาใช้ในโลกปัจจุบัน ซึ่งเจริญด้วยวัตถุ
จนเต็มไปด้วยวัตถุชนิดที่เป็นปัญหาทางศีลทางวินัย ทั้งแก่บรรพชิตและฆราวาส.
ขอให้ศึกษามหาปเทสนั้นอย่างแตกฉาน เพื่อป้องกันความงมงาย.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 29, 2010, 09:37:48 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2010, 08:14:08 am »
มรดกที่  ๓๑

มหาปเทสฝ่ายธรรมในมหาปรินิพพานสูตร
เป็นสิ่งที่ต้องนำมาใช้ ควบคู่กันกับหลักตัดสินธรรมวินัย ในโคตมีสูตร,
เพื่อว่าถูกต้องสมบูรณ์ในการตัดสินความถูกต้องซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับพุทธบริษัทแห่งยุคปัจจุบัน
ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาและนับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกที.
วิธีการณ์อย่างนี้ ได้เคยใช้ประสบผลดีมาแล้ว จึงขอฝากไว้เป็นมรดกเพื่อใช้กันสืบไป.

 
มรดกที่ ๓๒

ปฏิจจสมุปบาท แบบ "ฮัมเพลง"
(ในโยคักเขมวรรค สฬายตนสังยุตต์ สํ.)
เป็นสูตรที่ตรัสไว้อย่างเข้าใจได้ง่าย ปฏิบัติได้ง่าย กว่าแบบทั่วไป.
ควรทำความเข้าใจกับแบบนี้เสียก่อน แล้วจึงพิจารณาแบบทั่วไป.
แต่การปฏิบัติยังเป็นอย่างเดียวกัน คือมีสติเมื่อผัสสะ
(รายละเอียดหาดูได้ จากปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์).

 
มรดกที่ ๓๓

การใช้หลักอิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาท-ตถตา-สุญญตา
เป็นอมฤตโอสถซึ่งทำให้อยู่เหนือความตาย หรือเหนือการเวียนว่ายตายเกิด
เพราะทำให้หมดตัวตนและของตนนั้น
เป็นกิจกรรมประจำวันของพุทธบริษัทที่แท้จริง เป็นทางลัดสั้นที่สุด มีผลดีที่สุด
จึงขอฝากไว้เป็นมรดกในฐานะเป็นสิ่งที่เคยใช้ได้ผลดีมาแล้ว.

 
มรดกที่ ๓๔

บาลีวิมุตตายตนสูตร เป็นหลักธรรมที่ควรสนใจเป็นพิเศษ
คือบอกให้รู้ว่า คนเราสามารถบรรลุธรรมได้ถึง ๕ เวลา คือ
เมื่อกำลังฟังธรรมอยู่,
เมื่อกำลังแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟังอยู่,
เมื่อกำลังสาธยายธรรมอยู่,
เมื่อเพ่งธรรมอยู่,
และ เมื่อพิจารณาใคร่ครวญธรรมอยู่;
นับว่าโอกาสมีมาก ในการบรรลุธรรม
แต่พวกเราพากันประมาทเสีย จึงไม่ฉวยเอาได้ แม้แต่โอกาสเดียว.

 
มรดกที่ ๓๕

การใช้หลักกาลามสูตร ๑๐ ประการให้ถูกต้องและครบถ้วน
เป็นหลักการและวิธีการณ์อันแน่นอน ในการที่จะรักษาพุทธศาสนาไว้ได้
และในลักษณะที่จะเป็นที่พึ่งได้ อย่างแท้จริง และเป็นการสืบอายุพุทธศาสนา ที่ตรงตามพุทธประสงค์,
ได้เคยใช้วิธีการนี้อยู่เป็นประจำ และสำเร็จประโยชน์ เต็มตามความหมาย
จึงขอนำพิธีกรรมอันนี้ มาฝากไว้เป็นมรดก.

 
มรดกที่ ๓๖

การศึกษาสติปัฏฐานสี่จากอานาปานสติสูตร ได้ผลดีกว่าจาก มหาปัฏฐานสูตร
ซึ่งกล่าวไว้อย่างยืดยาวมีลักษณะกำกวม ฝั่นเฝือ ไม่มี ลำดับติดต่อกันอย่างชัดแจ้ง,
เพียงแต่อ่านอย่างเดียวก็กินเวลาหลายชั่วโมง. ส่วนข้อความจากอานาปานสติสูตรนั้น
ติดต่อกันเป็นสาย๑๖ขั้น จนตลอดเรื่อง นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติไปจนกระทั่งถึงการรู้ว่าบรรลุผลสำเร็จแล้ว
และเป็นหลักที่พระองค์ทรงยืนยันว่า ได้อาศัยหลักนี้ในการตรัสรู้ของพระองค์เอง.
ขอให้พิจารณากันให้ดี และขอฝากข้อเท็จ จริงอันนี้ไว้เป็นมรดกด้วย.

 
มรดกที่ ๓๗

สุญญตาสำหรับฆราวาส แม้ที่เป็นผู้หญิงและเด็ก
คือมีสติสัมปชัญญะ ไม่ให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด
จนเกิดความรัก-โกรธ-เกลียด-กลัว-วิตกกังวล-อาลัยอาวรณ์-อิจฉาริษยา-หวง-หึง
ด้วยอำนาจความรู้สึกเป็นตัวกูของกู.
ขอยืนยันว่าข้อนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ตาม สติกำลัง และควรปฏิบัติ.
ขอฝากไว้เป็นมรดกพิเศษสำหรับฆราวาส.

 
มรดกที่ ๓๘

หลักการตามรอยพระอรหันต์ที่ใช้ได้ร่วมกัน
ทั้งสำหรับฆราวาสและบรรพชิต คือการดำรงชีวิตชนิดที่เป็นการขูดเกลากิเลส
และ บรรเทาความเคยชินที่จะเกิดกิเลส (อนุสัย) อยู่ตลอดเวลา
โดยมีสติสัมปชัญญะ ในขณะสัมผัสอารมณ์ ไม่ปล่อยให้ปรุงเป็นโลภะ โทสะ โมหะขึ้นมา,
หรือถ้าปรุงแล้วก็มีสติปิดกั้นการปรุงนั้นเสีย.

 
มรดกที่ ๓๙

"งามอยู่ที่ซากผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายก่อนตาย"
นี้คือของเก่าที่ปัดฝุ่นแล้วนำมาใช้ใหม่ เพื่อรักษาสติปัญญาของบรรพบุรุษไว้
ว่าเคยเฉียบแหลมลึกซึ้งอย่างไร แล้วลูกหลานชั้นหลังก็จะมีสติปัญญาไม่น้อยไปกว่าบรรพบุรุษ
ก็จะเป็นพุทธบริษัทได้เต็มตามความหมาย
โดยไม่เอานิพพานไปเก็บไว้ สำหรับตายแล้วตายอีกหลายหมื่นหลายแสนชาติ จึงจะได้ผล.
ขอให้ช่วยกันรักษามรดกข้อนี้ของบรรพบุรุษกันเถิด.

 
มรดกที่ ๔๐

ขอให้เรามีความมุ่งหมายเป็นพิเศษกันไว้สักข้อหนึ่ง
ว่าไม่เร็วก็ช้า จะมีโลกสักยุคหนึ่ง อันเป็นโลกสมบูรณ์ด้วยธรรมะ
โดยที่ทุกคนทำหน้าที่ของตน ๆ โดยมีสติสัมปชัญญะรู้สึกอยู่ในใจว่า
หน้าที่อันถูกต้องนั่นแหละคือธรรม ที่จะช่วยให้คนเราอยู่เหนือปัญหาทั้งปวงได้.
ทั้งนี้เป็นสิ่งที่มีได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ.
จงให้ปัจจัยแห่งความเปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นอย่างนี้ แก่โลกเถิด.

 
มรดกที่ ๔๑

ถ้าคนทั้งโลกเขาไม่เห็นด้วยในการทำโลกให้มีธรรมะ
เพราะเห็นว่าเหลือวิสัย ก็ตามใจเขา,
เราคนเดียวก็อาจจะทำตนเองให้ดับทุกข์ได้ด้วยธรรมะอย่างถึงที่สุด,
ดังนั้น อย่าได้ท้อใจเลยในการที่คนทั้งหลายเขาไม่สนใจใยดีกับธรรมะ.


 
ทั้งหมดนี้เป็นมรดกฝ่ายวัตถุธรรมและพิธีกรรม เป็นภาคหนึ่งของมรดกที่มอบไว้ ในฐานะเป็นมรดก.
ต่อไปนี้ เป็นมรดกฝ่ายนามธรรม ที่ได้เคยค้นคว้าสังเกตศึกษาและทดลองปฏิบัติมาแล้ว มีผลเป็นที่น่าพอใจ
จึงขอสรุปไว้เป็นข้อ ๆ นำมามอบไว้ในที่นี้ ในฐานะเป็นมรดกเช่นเดียวกัน.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 29, 2010, 09:40:45 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: พฤศจิกายน 30, 2010, 03:33:49 pm »



ภาคสอง
มรดกที่เป็นเรื่องฝ่ายนามธรรมทางสติปัญญา


มรดกที่  ๔๒

พุทธะ ผู้รู้–ผู้ตื่น–ผู้เบิกบาน
ตรงกันข้ามจากไสยซึ่งหมายถึงหลับสงสัย–สะดุ้งหวาดผวา อยู่ตลอดเวลา.
การที่จะเป็นพุทธะหรือเป็นไสยต่างกันอย่างตรงกันข้ามที่ตรงนี้.

 
มรดกที่ ๔๓

การมีพระพุทธรูปไว้กราบไหว้หรือแขวนคอกันในบัดนี้
มีทั้งที่ เป็นไสยศาสตร์ คือถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองป้องกัน หรือเป็นเครื่อง รางของขลัง,
และที่เป็นพุทธศาสตร์ คือวัตถุอนุสสติ หรืออย่างมากก็เป็นเพียงปูชนียวัตถุ.
พุทธบริษัทจะต้องระวังสังวร กันไว้ให้ดี ๆ ไม่เสียเกียรติของพุทธบริษัท
กลายเป็นผู้ถือลัทธิบูชาวิญญาณ (ANIMISM) ไปเสีย.

 
มรดกที่ ๔๔

การมีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร เป็นสิ่งที่ต้องสนใจกันให้มาก
ให้สมกับที่ตรัสไว้ว่า "ถ้าได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่มีการเกิด–แก่–เจ็บ–ตาย
จักพ้นจากการเกิด–แก่–เจ็บ–ตาย " พวกเรากลับมาถือกันเสียว่า
เรามีการเกิด–แก่–เจ็บ–ตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นการเกิด–แก่–เจ็บ–ตาย ไปได้อย่างน่าสังเวช.

 
มรดกที่ ๔๕

พระพุทธเจ้าตามทัศนะของบุคคลนั้น ๆ มักจะเป็นภูเขาหิมาลัย
บังธรรมะสำหรับเขา
เพราะเป็นพระพุทธเจ้าแห่งอุปาทาน และตามอุปาทานของเขา.
ดังนั้น จงรู้จักพระพุทธเจ้า ให้ถูกตรงพระองค์จริงกันเถิด.

 
มรดกที่ ๔๖

พระพุทธองค์ท่านมีการตรัสทั้งโดยภาษาคนและภาษาธรรม
ต้องฟังให้ดี เช่นตรัสโดยภาษาคน ว่า "ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน",
แต่ตรัส โดยภาษาธรรม ว่า "ตัวตนของตนนั้นไม่มี" ดังนี้
ถ้าฟังไม่ดีจะไม่รู้เรื่อง และเห็นว่าเป็นคำพูดที่ขัดกัน.
ถ้ารู้จักฟังโดยหลักภาษาคน–ภาษาธรรมแล้ว จะไม่มีขัดกันเลย, ดังนี้เป็นตัวอย่าง.

 
มรดกที่ ๔๗

ตรัสว่า แต่ก่อนก็ดี บัดนี้ก็ดี เราบัญญัติแต่เรื่องความทุกข์
กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น
ดังนั้น พวกเราอย่าต้องเสียเวลา ในการศึกษา การถาม การเถียง
กันด้วยเรื่องอื่นที่มิใช่สองเรื่องนี้ กันอีกเลย.

 
มรดกที่ ๔๘

พระพุทธองค์มิได้ทรงเสียเวลาในการกระทบกระทั่ง
หรือยกเลิกลัทธิคำสอนของเก่าก่อนพระองค์
หากแต่ทรงแสดงเรื่องของพระองค์ที่ดีกว่า–จริงกว่า–มีประโยชน์กว่า
ให้ผู้ฟังเลือกเอาเอง อย่างมีเหตุผล จึงไม่มีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้น
อย่างรุนแรงเหมือนกับที่เกิดแก่ ศาสดาอื่นบางองค์.

 
มรดกที่ ๔๙

การมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ปรุงขึ้นตามทัศนะของ บุคคลนั้นๆ
ทำให้เป็นปัญหามาก และไม่ถูกพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์องค์จริง
ซึ่งมีหัวใจเป็นความสะอาด–สว่าง–สงบ
เพราะว่างจากกลิ่นไอและความหมายแห่งตัวกู–ของกู.

 
มรดกที่ ๕๐

ไสยศาสตร์คือลัทธิหลับ (ด้วยอวิชชา)
พุทธศาสตร์คือลัทธิตื่นจากหลับ (ประกอบอยู่ด้วยวิชชา)
ดังนั้น จงระวังการกระทำ ที่เกี่ยวกับพระพุทธรูปหรือพระเครื่อง;
เพราะมีได้ทั้งที่เป็นพุทธศาสตร์ และไสยศาสตร์ แล้วแต่ว่าผู้นั้น
ทำไปด้วยวิชชาหรือด้วยอวิชชา อุปาทาน.

ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: พฤศจิกายน 30, 2010, 06:16:26 pm »
 :07: :19: :45:

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: ธันวาคม 01, 2010, 12:13:25 am »
 :13: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 06:57:55 am »

มรดกที่  ๕๑

หลักการปฏิบัติที่แท้จริง ไม่ต้องข้ามภพข้ามชาติ(เข้าโลง)
ล้วนแต่เป็นสันทิฏฐิโก–อกาลิโก คือปรากฏแก่ใจ ในทันทีที่กระทำและรับผลของการกระทำ.
ส่วนที่เนิ่นนานไปจากนั้น เป็นเพียงผลพลอยได้ฝ่ายวัตถุธรรมในความรู้สึกของบุถุชนธรรมดา.

 
มรดกที่ ๕๒

สิ่งที่เรียกกันว่า "ตัวตน" นั้นเป็นเพียงมายา
คือเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ อันปรุงแต่งขึ้นมาจากตัณหา หรือความอยาก
ด้วยอำนาจอวิชชา ที่เกิดขึ้นในจิตโดยธรรมชาติอัตโนมัติ,
เป็นเพียงความรู้สึกผิด ๆ ของสิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน อันเกิดมาจากตัณหา,
มิได้เป็นตัวตนอันแท้จริง เป็นเพียงความรู้สึกลม ๆ แล้ง ๆ แต่ก็มีความเข้มข้น จนผู้รู้สึกรู้สึกว่าเป็นตัวตน.

 
มรดกที่ ๕๓

การจำแนกธรรมะเป็น ๔ ความหมาย ให้ความสะดวกในการศึกษาธรรมะอย่างทั่วถึง
คือรู้จัก ตัวธรรมชาติ–กฏของธรรมชาติ–หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ และผลอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น จนสามารถดำรงชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติปราศจากปัญหาใด ๆ.

 
มรดกที่ ๕๔

ธรรมะมีความหมายหลายอย่าง
ถ้าเอาใจความเพียงอย่างเดียว ก็คือหน้าที่
ที่ได้กระทำอย่างถูกต้อง แก่สถานภาพของผู้ปฏิบัติ ตามกฎของธรรมชาติ
เพื่อให้เกิดสันติสุขแก่ทุกฝ่าย ทุกกาละและเทศะ.

 
มรดกที่ ๕๕

ธรรมะทั้งหมดในทางปฏิบัติ อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท
คือ ธรรมะเครื่องมือ และธรรมะผลที่ประสงค์ : สีล–สมาธิ–ปัญญาเป็นธรรมะเครื่องมือ,
มรรค–ผล–นิพพานเป็นธรรมะผลที่ประสงค์.
แม้ธรรมะที่เป็นเครื่องมือ ก็ยังแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
คือ ธรรมะหลัก เช่น สติปัฏฐานสี่ และธรรมะอุปกรณ์ เช่นอิทธิบาทสี่ หรือสัมมัปปธานสี่.
จงรู้จักธรรมะที่จะใช้ปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามกรณี.

 
มรดกที่ ๕๖

จงทำให้งานของท่าน ทุกชิ้นทุกอนุภาค กลายเป็นธรรมะ
ด้วยความมีสติสัมปชัญญะรู้สึกอยู่ว่าหน้าที่นั่นแหละคือธรรมะ;
แล้วท่านก็จะมีธรรมะ อยู่ทุกอิริยาบถ ทุกเวลา ทุกสถานที่ แล้วทำงานทุกอย่างได้สนุกเหมือนเล่นกีฬา
มีความสุขเสียแล้วในขณะที่ทำงานไม่ต้องไปหาสถานเริงรมย์ อบายมุข หรือยาเสพติด.
 

มรดกที่ ๕๗

ธรรมะคือสิ่งที่เรียกกันในภาษาไทยว่า "หน้าที่" ของทุกสิ่งที่มีชีวิต
อันเขาจะต้องทำเพื่อความรอดทั้งทางกายและทางจิต ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อสังคม
แม้จะแปลคำคำนี้กันว่า คำสั่งสอน การเรียนการปฏิบัติ
ความหมายสำคัญก็ยังคงอยู่ที่ความเป็นหน้าที่เพื่อความรอด
ดังนั้น เมื่อใดมีการทำหน้าที่ เมื่อนั้นก็คือการปฎิบัติธรรม.
 

มรดกที่ ๕๘

ธรรมะในโบสถ์–หรือธรรมะกลางทุ่งนา
ก็เป็นธรรมะอย่างเดียวกัน
เมื่อประพฤติกระทำในฐานะที่เป็นหน้าที่ที่ถูกต้อง
เพื่อความรอดอันแท้จริง.

 
มรดกที่ ๕๙

สิ่งที่เป็นนิรันดร–อมิตาภะ–อมิตายุ–อกตะ–อมตะ–อสังขตะ นั้นมีอยู่ ๓ อย่าง
คือ กฏธรรมชาติ๑ ความว่าง๑ นิพพาน๑.
สามอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรสร้างขึ้น แม้แต่พระเจ้าก็สร้างไม่ได้
เพราะมีฐานเป็นพระเจ้าเสียเอง.

 
มรดกที่ ๖๐

พุทธศิลป์ที่แท้จริงมิใช่วัตถุศิลป์อย่างที่เข้าใจกัน
แต่เป็นระบบ การกระทำด้วยสติปัญญาที่ดับทุกข์ได้อย่างน่าอัศจรรย์
ดังที่พระพุทธ องค์ได้ทรงประกาศไว้
อย่างมีความงามในเบื้องต้น–ท่ามกลาง–เบื้องปลาย
ในภายในจิตของสัตว์.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: ธันวาคม 02, 2010, 01:04:13 pm »
มรดกที่  ๖๑

ธรรมะคือระบบการปฏิบัติ ที่ถูกต้อง แก่ความเป็นมนุษย์ของตน
ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ตั้งแต่เกิดจนตาย
ทั้งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น,
เรียกสั้น ๆ ว่า "หน้าที่".
นั่นแหละ คือพระเป็นเจ้าผู้ช่วยให้รอดอย่างแท้จริง.

 
มรดกที่ ๖๒

ธรรมะมีไว้ช่วยให้อยู่ในโลกอย่างชนะโลก หรือเหนือโลก
มิใช่ให้หนีโลก แต่อยู่เหนืออิทธิพลใด ๆ ของโลก ไม่ใช่จมอยู่ในโลก.
มักสอนให้เข้าใจกันผิด ๆ ว่า ต้องหนีโลก ทิ้งโลก สละโลก
อย่างที่ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใครเลย.

 
มรดกที่ ๖๓

ธรรมะเป็นสิ่งที่อธิบายยากเพราะคำพูดของมนุษย์มีไม่พอ
คือไม่มีคำสำหรับใช้กับสิ่งที่มนุษย์ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน;
ดังนั้น จึงต้องพยายามพูดและพยายามฟัง จนเข้าใจหรือรู้จัก
โดยความหมาย ทั้งในภาษาคนและภาษาธรรม พร้อมกันไป.

 
มรดกที่ ๖๔

ธรรมะมิใช่ตัวหนังสือหรือเสียงแห่งการแสดงธรรม แต่เป็นการกระทำหน้าที่ที่ถูกต้อง
ของผู้ปฏิบัติแต่ละคน อยู่ทุกอิริยาบท–ทุกเวลา–ทุกสถานที่
อย่างถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน และผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกัน,
จึงจะเป็นธรรมะที่ถูกต้องตามหลักแห่งพุทธศาสนา
อันนำมาซึ่งความสงบสุขได้จริง.

 
มรดกที่ ๖๕

ศีลธรรมกลับมา เพื่อโลกาสงบเย็น,
ปรมัตถธรรมกลับมา เพื่อโลกาสว่างไสว
ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ,
ถ้าปรมัตถธรรมไม่กลับมา โลกาจะมืดมนท์;
ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันทำให้กลับมา
ในฐานะเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีสำหรับโลก.

 
มรดกที่ ๖๖

ไม่ต้องอาลัยอดีต–ไม่ต้องพะวงอนาคต
ขอแต่ให้ทำหน้าที่ของตน อย่างถูกต้องในปัจจุบัน
ก็เพียงพอแล้วที่จะไม่เป็นทุกข์
และไม่เป็นปัจจัยแก่สัสสตทิฎฐิ
คือตัวตนที่เวียนว่ายไปในวัฏฏะ.

 
มรดกที่ ๖๗

ก ข ก กา ของพุทธศาสนา
มิได้ตั้งต้นที่พระรัตนตรัย, แต่ตั้งต้นการศึกษาที่การกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ว่าได้ก่อให้เกิดวิญญาณ–ผัสสะ–เวทนา อย่างไร?
จนกระทั่งเกิดตัณหา อุปาทาน แล้วเกิดทุกข์;
ควบคุมการเกิดเหล่านี้ได้ ก็จะดับทุกข์ได้
แล้วก็จะมีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ขึ้นมาเอง.

 
มรดกที่ ๖๘

โลกทั้งหมดสำเร็จอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะเรามีตา ฯลฯ, โลกจึงมี และเกิดกรณีต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาขึ้น
เพราะไม่รู้ความจริงของเรื่อง ตา ฯลฯ หรือโลก อย่างถูกต้องนั่นเอง. (น.๑๒๑)

 
มรดกที่ ๖๙

ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ เกิดขึ้นทุกคราวที่จิตมีตัณหา
คือโง่เมื่อมีผัสสะโง่เวทนาโง่ เพราะอำนาจของอวิชชาจนเกิดตัณหา หรือมีกิเลสครอบงำ;
ดังนั้น ระวังอย่าโง่ เมื่อมีผัสสะใด ๆ ให้ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายทุกข์เกิดขึ้น.

 
มรดกที่ ๗๐

ปฏิจจสมุปบาทมีขึ้นรอบหนึ่งทุกครั้งที่มีการสัมผัสอารมณ์ด้วยอวิชชา
หรือพูดได้ว่า ทุกครั้งที่มีจิตเศร้าหมองด้วยการปรุงแต่งของอวิชชา;
มิใช่มีอย่างคร่อมภพคร่อมชาติ ถึงกับปฏิจจสมุปบาทรอบเดียวคร่อมชาติสามชาติ
เหมือนที่แนะนำสั่งสอนกันอยู่โดยมากจนกลายเป็นสัสสตทิฎฐิไป.