อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > ท่านพุทธทาสภิกขุ

ฟ้าสางทางมรดกที่ขอฝากไว้

<< < (3/5) > >>

ฐิตา:
มรดกที่  ๗๑

การปฎิบัติที่ดูเหมือนมิได้ปฏิบัติอะไรเลย
คือ การปฏิบัติทางจิตใจ ให้รู้สึกพอใจอยู่ในความว่างจากตัวตนของตน,
กระทำหน้าทีทุกอย่างกลมกลืนอยู่กับกฏของธรรมชาติ
ทำงานเพื่อหน้าที่ มิใช่ทำเพื่อประโยชน์แก่ตัวกู–ของกู.
 

มรดกที่ ๗๒

ภาษาธรรมะชั้นสูง ก็ล้วนแต่เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาชาวบ้าน
จงพยายามถือเอาความหมายในภาษาชาวบ้านให้มากที่สุด
ก็จะเข้าใจคำนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้องและถึงที่สุด ได้โดยง่าย,
เช่น นิพพาน คือเย็น.
มรรค คือหนทาง.
ผล คือลูก.
กิเลส คือสิ่งสกปรก.
สังโยชน์ คือผูกมัด.
อาสวะ คือสิ่งกดดันออกมาจากการหมักดอง.
พุทธะ คือตื่นจากหลับ.
ธรรมะ คือหน้าที่.
สังฆะ คือหมู่ของสิ่งที่พึงปรารถนา.

 
มรดกที่ ๗๓

มนุษย์สูญ คือผู้ที่มีจิตใจกำลังปราศจากความยึดมั่นถือมั่น
คือไม่รู้สึกยึดมั่นในความหมาย ที่เป็นตัวตนหรือของตน
ด้วยอุปาทานไปตามอำนาจของอวิชชา.
จงมาเป็นมนุษย์สูญ(ว่าง)กันเถิดจะเบาสบาย
เฉลียวฉลาดปราศจากอคติใด ๆ
มีจิตใจเหมาะสมแก่การงานทุกชนิด โดยอัตโนมัติ.

 
มรดกที่ ๗๔

เมื่อจิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น
ซึ่งหลงยึดมั่นในคุณค่า อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน
ตามสมมติสัจจะว่า "ตัวตน" แล้ว ดี–ชั่ว บุญ–บาป กิเลส–โพธิ
หรืออะไรที่บัญญัติกันว่าเป็นของคู่ตรงกันข้ามนั้น
ก็จะเป็นของที่เท่ากัน หรือเป็นสิ่งเดียวกัน
เช่นเป็นเพียงสังขารเสมอกัน เป็นสมมติบัญญัติที่เท่ากัน เป็นต้น.

 
มรดกที่ ๗๕

เรามีนรกสวรรค์หรือนิพพานชนิดที่เป็นสันทิฏฐิโก
ที่สัมผัสได้กันที่นี่ กันดีกว่า จริงกว่า กว่าชนิดที่คิดว่าจะมีกันต่อเมื่อตายแล้ว,
ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า อายตนิกนิริยะอายตนิคสัคคะ และสันทิฏฐิกนิพพาน.
ขอให้รู้จักกันไว้ให้ดี ๆ เถิด จะได้เป็นพุทธบริษัทสมชื่อ.

 
มรดกที่ ๗๖

แผ่นดินเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร ประทับอยู่อาศัย และดับขันธปรินิพพาน
ของพุทธองค์ ตลอดพระชนมชีพ จึงเหมาะสมที่จะใช้เป็นที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม
เกินกว่าที่จะจัดเป็น "บรมมหาวิทยาลัย"
เมื่อนำไปเทียบกับมหาวิทยาลัยในโลกปัจจุบัน.
ดังนั้น เราน่าจะนั่งเรียนธรรมะกันกลางดิน
ยิ่งกว่านั่งเรียนบนตึกราคาล้าน ๆ.

 
มรดกที่ ๗๗

กฏเกณฑ์ เกี่ยวกับลำดับชั้นของนิวรณ์–กิเลส–อนุสัย–อาสวะ ที่ควรรู้จัก
คือ เกิดโลภครั้งหนึ่งก็สะสมราคานุสัยไว้หน่วยหนึ่ง,
เกิดโกรธครั้งหนึ่ง ก็สะสมปฏิฆานุสัยไว้หน่วยหนึ่ง,
เกิดหลงครั้งหนึ่งก็สะสมอวิชชานุสัยไว้หน่วยหนึ่ง,
สำหรับจะเกิดกิเลสนั้น ๆ ได้โดยง่าย สะสมไว้ในสันดาน
กลายเป็นอาสวะ สำหรับจะกลับออกมาเป็นกิเลส
หรือเป็นแต่เพียงนิวรณ์ก็ได้แล้วแต่กรณี.

 
มรดกที่ ๗๘

กามารมณ์หรือเพศรส คือค่าจ้างของธรรมชาติเพื่อให้สัตว์ทำการสืบพันธุ์
อันเป็นสิ่งเหน็ดเหนื่อย–น่าเกลียด–สกปรก, ยากที่สัตว์จะหลีกเลี่ยงได้
แม้จะเป็นเพียงค่าจ้างที่เป็นอาการบ้าวูบเดียว.

 
มรดกที่ ๗๙

ความว่าง–จิตว่าง–ทำงานด้วยจิตว่าง–เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง–มีชีวิตอยู่ด้วยความว่าง
นี้คือทั้งหมดของพุทธศาสนา โดยหัวใจ,
สำหรับการศึกษา–ปฏิบัติ–เสวยผลของการปฏิบัติอย่างพุทธบริษัทแท้
แต่คงจะเป็นการยากที่ใครจะเห็นด้วย.

 
มรดกที่ ๘๐

อย่าเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ในลักษณะที่ท่านทรงทนนั่งต้อนรับไม่ไหว
เพราะเต็มไปด้วยสัญญลักษณ์แห่งไสยศาสตร์
และความมีตัวกู–ของกู ถึงขนาดยกหูชูหาง
มีท่าทางแห่งการยกตนข่มผู้อื่น.

ฐิตา:
มรดกที่  ๘๑

สิ่งที่เรียกว่าอภิธรรมนั้น สมมติว่าเอาไปทิ้งทะเลเสียทั้งกะบิ
เราก็ไม่ขาดความรู้เรื่องการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์;
เพราะเกิดขึ้นสำหรับสติปัญญาที่เฟ้อเกินจำเป็น
ทำให้เนิ่นช้าแก่สติปัญญาทั่วไป.
ดังนั้น ใคร ๆไม่ต้องเสียใจหรือน้อยใจ
ว่าไม่มีโอกาสจะเรียน หรือเรียนไม่ไหว.

 
มรดกที่ ๘๒

มิติที่สี่ของอารมณ์ทั้งหลายนั้น
คือการกินเวลา กับการกินเนื้อที่ ที่สัมพันธ์กันอย่างดี.
ถ้าใครรู้เท่าทันเรื่องนี้แล้ว จะไม่หลงใหลในความงาม–ไพเราะ–หอม–อร่อย–นิ่มนวลชวนสัมผัส
แล้วก็โง่ไปเกลียดชังฝ่ายที่ตรงกันข้าม.

 
มรดกที่ ๘๓

รสของกามารมณ์ทุกรูปแบบเป็นเรื่อง " บ้าวูบเดียว ".
แต่มนุษย์และเทวดาก็หลงบูชา ถึงกับยกให้เป็นเรื่องกามเทพ
เสมือนหนึ่ง เป็นพระเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง เอาเสียทีเดียว;
แต่สัตว์เดรัจฉานหาเป็นเช่นนั้นไม่ จงคิดดูให้ดีเถิด.

 
มรดกที่ ๘๔

สวรรค์ที่มีได้ทุกอิริยาบถ
คือความรู้สึกว่าตนเองได้ปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้อง
แล้วก็พอใจในการกระทำของตนเอง อยู่ทุกอิริยาบถ
ถึงกับยกมือไหว้ตัวเองได้ ทุกคราวที่ระลึกถึง.
นี้คือสวรรค์ที่แท้จริง ที่นี่และเดี๋ยวนี้
สวรรค์อื่นทุกชนิด ขึ้นอยู่กับสวรรค์นี้.

 
มรดกที่ ๘๕

ต้นไม้พูดได้ และแสดงธรรมอยู่เสมอ
แต่คนไม่ได้ยินเอง. มันพูดเรื่องหน้าที่ เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องความสงบ,
และพูดว่าพวกมนุษย์ อย่าบ้ากันเกินไปนักโว้ย;
แต่มนุษย์ก็ไม่ได้ยินเอาเสียเลย.

 
มรดกที่ ๘๖

ถ้ามีการมองที่ดี ก็จะมีแต่การได้ ไม่มีเสีย,
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม้ที่สุดแต่ความตาย;
นับประสาอะไรกับเรื่องการสูญเสียเล็ก ๆ น้อย ๆ,
หากแต่คนโง่ไม่รู้จักมองให้เกิดปัญญา ว่าสิ่งเหล่านั้นมาสอนให้อย่างไรบ้าง
ทั้งที่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนแต่มาสอนทั้งนั้น.

 
มรดกที่ ๘๗

เรื่องกรรมที่ถูกต้องแท้จริงในพระพุทธศาสนา
คือเรื่องกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดำกรรมขาว
คือเหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์เป็นไปเพื่อนิพพานส่วนเดียว.
เพียงแต่สอนว่า ทำดี–ดี ทำชั่ว–ชั่ว นั้นยังมิใช่ของพุทธแท้
เพราะมีการสอนกันอยู่ก่อนพุทธกาล แต่ก็ยังคงเรียกว่า กรรมวาที ได้เหมือนกัน,
เป็นเรื่องกรรมครึ่งเดียวไม่สมบูรณ์.

 
มรดกที่ ๘๘

ปรมัตถธรรมต้องกลับมา เพื่อเป็นรากฐานของศีลธรรม
ซึ่งบอกแต่เพียงว่าให้ทำอย่างไร แต่ไม่ได้บอกว่า เหตุไรจึงต้องทำอย่างนั้น
และยังบอกอะไรอื่นอีกบางอย่าง เพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในการกระทำนั้น.
ดังนั้น จงสนใจในปรมัตถธรรม กันให้เพียงพอเถิด
เพื่อความสมบูรณ์แห่งการมีศีลธรรม.


มรดกที่ ๘๙

การสมรสทางวิญญาณ กับบุคคลทุกคนในโลก
เป็นสิ่งที่กระทำได้ โดยที่เขาเหล่านั้นไม่รู้สึกตัว :
นั่นคือการทำตนเป็นเพื่อนทุกข์ในการเกิด–แก่–เจ็บ–ตาย
และมีเมตตาธรรมชนิดอัปปมัญญา.

 
มรดกที่ ๙๐

การเห็นแก่ตัว คือจุดศูนย์กลางของความไม่มีศีลธรรมและปรมัตถธรรม
จึงทำบาปอกุศลได้อย่างมั่นใจ ว่าถูกต้องและเป็นธรรม ทุกประการแล้ว,
ดังนั้น ศาสนาทุกศาสนา จึงมุ่งหมายสอนการทำลายความเห็นแก่ตัว,
ถ้ามิฉะนั้นก็มิใช่ศาสนา.

ฐิตา:
มรดกที่  ๙๑

โดยหลักธรรมะ เราอาจจะมีจิตเป็นสุขแท้จริง
ได้ตั้งแต่เมื่อกำลังทำการงานนั้น ๆ อยู่
แต่ไม่มีใครสนใจในความสุขที่แท้จริงชนิดนี้
เพราะชะเง้อหาแต่ความเพลิดเพลินอันหลอกลวง
เพื่อแลกเอาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา.

 
มรดกที่ ๙๒

การเกิดทางวิญญาณในขณะแห่งปฏิจจสมุปบาท ที่คนไม่รู้จัก
นั้นมีทุกคราว ที่คนสัมผัสอารมณ์ด้วยอวิชชาแล้วเกิดตัณหา,
มิใช่หมายถึงการเกิดหนเดียวตายหนเดียว ซึ่งเป็นการเกิดฝ่ายรูปธรรม ดังที่เข้าใจกัน
แล้วก็ไม่อาจจะเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท.

 
มรดกที่ ๙๓

การบรรลุธรรม หรือมีธรรม
นั้นไม่ได้หมายความว่า ต้องเรียนอภิธรรม–กินแต่ผัก–ห่มจีวรกรัก–แบกกลด–ถือไม้เท้ายาว–พูดเบาๆ–เดินค่อยๆ–แขวนลูกประคำ เป็นต้น
แต่บรรลุหรือมีได้ด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏอิทัปปัจจยตาของสีล–สมาธิ–ปัญญา.

 
มรดกที่ ๙๔

ธรรมะของโพธิสัตว์ สรุปได้เป็น ๔ หัวข้อ
คือ สุทธิ–ปัญญา–เมตตา– ขันตี ซึ่งมีแววแสดงอยู่ที่ใบหน้า ของอวโลกิเตศวรปฏิมา.
ที่ศิลปินกระทำขึ้นถึงมาตรฐานของยอดศิลปะ.

 
มรดกที่ ๙๕

ความทุกข์สอนอะไร ๆ ให้เราได้ดีกว่าความสุข
คือสอนตรงกว่า–มากกว่า–รุนแรงกว่า;
ความสุขมีแต่ทำให้ลืมตัว เหลิงเจิ้งไม่ทันรู้ และไม่ค่อยสอนอะไร. ขอขอบใจความทุกข์ ซึ่งเป็นเสมือน "เพชร" ในหัวคางคก.

 
มรดกที่ ๙๖

เพชรในหัวคางคก คือความดับทุกข์
ที่หาพบในความทุกข์ เสมือนการดับไฟ ก็หาพบที่ไฟนั่นเอง.
จงรู้จักความลับข้อนี้ ด้วยกันทุกคนเถิด,
มิฉะนั้นจะหาไม่พบ สิ่งที่ควรพบตามธรรมชาติทั่วไป.

 
มรดกที่ ๙๗

ระบบการปฏิบัติดับทุกข์ไม่เหลือในขั้นสุดท้ายนั้น
เป็นการตกกระไดพลอยกระโจน
คือเมื่อรู้ว่าจะดับชีวิต หรือตายแน่แล้ว ก็ไม่มีจิตกวัดแกว่งอย่างใด
แต่ตั้งจิตสมัครดับไม่เหลือ จากการวียนว่ายตายเกิด,
ไม่มีหวังในการเกิดใหม่ โดยสิ้นเชิง.


มรดกที่ ๙๘

ขอย้ำเรื่องนรก – สวรรค์ที่แท้ในพระพุทธศาสนา อีกครั้งหนึ่ง
ว่าได้แก่ผลที่ได้รับจากการกระทำผิดหรือกระทำถูกทางอายตนะ
เมื่อมีผัสสะที่ตา–หู–จมูก–ลิ้น–กาย–ใจ อันกำลังรู้สึกอยู่ในจิต ที่นี่และเดี๋ยวนี้.
นรกใต้ดิน หรือสวรรค์บนฟ้าต่อตายแล้ว ที่กล่าวกันมาแต่ก่อนพุทธกาลนั้น
ขึ้นอยู่กับนรกสวรรค์ที่แท้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้.

 
มรดกที่ ๙๙

การสอนเรื่องทางจริยธรรม ทุกเรื่องต้องสอนครบเป็นคู่ ๆ
คือสอนทั้งข้อที่ว่าให้ทำอย่างไร (ตัวศีลธรรม)
และข้อที่ว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น (ตัวปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นเหตุผลของศีลธรรม);
และถ้าเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ว่ามันจะมีผลแท้จริงอย่างไรเข้าอีกด้วยก็จะยิ่งดี.
ขออย่าได้บกพร่องในหลักเกณฑ์ข้อนี้.

 
มรดกที่ ๑๐๐

หัวใจพุทธศาสนาสำหรับคนทั่วไป
ทั้งที่กำลังปฏิบัติและที่เสร็จการปฏิบัติแล้ว
นั้นคือสัจจธรรมที่ว่า
"สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตน–ของตน" :
ทุกคนต้องปฏิบัติสิ่งนี้ และได้รับผลของสิ่งนี้.

ฐิตา:

มรดกที่  ๑๐๑

ชาติในปฏิจจสมุปบาท คือ การเกิดทางจิต–ทางวิญญาณ
อันจะมีขึ้นทุกคราวที่มี�ความรู้สึกเป็นตัวกู–ของกู เกิดขึ้นมาในจิต
และเป็นทุกข์ทางใจอย่างหนักหน่วง ทุกคราวที่เกิด;
ส่วนชาติทางกายนั้น มีครั้งเดียวจนกว่าจะเข้าโลง
และมีทุกข์ทางกายพอสถานประมาณ
ไม่ทรมานมากเหมือนทางจิต.

 
มรดกที่ ๑๐๒

ทำบุญด้วยปาก (ธรรมทาน) ได้บุญมากกว่าทำด้วยของ (วัตถุทาน)
แต่คนส่วนมากทำไม่ได้เพราะเต็มอัดอยู่ด้วยความทุกข์
มืดมนท์ยิ่งกว่าตาบอด พูดเรื่องดับทุกข์ไม่เป็น,
พูดเป็นแต่เรื่องการจมอยู่ในโลก ซึ่งมิใช่เรื่องธรรมทาน
เพื่อให้มีจิตใจอยู่เหนือโลก ทั้งที่กายอยู่ในโลก.
ขอให้ทุกคนเลื่อนระดับการทำทานของตน
ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับที่เรียกว่าธรรมทาน.

 
มรดกที่ ๑๐๓

ชีวิตเป็นสิ่งที่เติมธรรมะลงไปได้ จนกว่าจะเต็ม
คือเติมลงไปด้วยการทำหน้าที่
ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน
ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ
จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน ในที่สุด.

 
มรดกที่ ๑๐๔

ธรรมะในบทกล่อมลูก ที่แสดงว่าบรรพบุรุษรู้ธรรมะอย่างพอตัว
คือบทกล่อมลูกที่ว่า มะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้ง คือทะเลแห่งบุญและบาป,
และจะถึงต้นมะพร้าวได้ เฉพาะผู้ที่พ้นทั้งบาปและบุญ
แล้วสัมผัสกับนิพพาน หรือมะพร้าวต้นนั้น
ในลักษณะที่หาพบนิพพานได้ท่ามกลางวัฏฏสงสาร.

 
มรดกที่ ๑๐๕

สีล–สมาธิ–ปัญญา ของธรรมชาติ
มีในกิจการทุกอย่างของมนุษย์ (แม้สัตว์)
คือมีความเป็นอยู่ถูกต้อง มีกำลังจิตเพียงพอ มีความรู้เพียงพอ ในหน้าที่ของตน.
ชีวิตทุกชีวิตมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาสิ่งนี้ทุกรูปทุกนาม.

 
มรดกที่ ๑๐๖

อนันตริยสมาธิ เป็นสิ่งที่ควรรู้จัก
ในฐานะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองอย่างเพียงพอทุกคราวที่เรามีความต้องการ
และทำอะไรด้วยสติปัญญาสัมมาทิฏฐิอย่างเต็มที่ แต่ไม่มีใครสนใจ.

 
มรดกที่ ๑๐๗

ถ้าสมรสกันทางเนื้อหนังไม่ได้ ก็สมรสกันทางจิตทางวิญญาณได้
แม้กับพระพุทธองค์ ที่พูดกันว่านิพพานแล้วกว่าสองพันปี แต่ยังทรงอยู่โดยพระคุณ.
นั่นคือ การกระทำให้ถูกตรงตามพระพุทธประสงค์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในการปฏิบัติธรรม.

 
มรดกที่ ๑๐๘

ศึกษาหรือสิกขา ตามความเห็นของข้าพเจ้า
คือการรู้จักตัวเอง–เห็นตัวเอง–ด้วยตนเอง–ในตัวเอง–เพื่อตัวเอง
อย่างแจ่มชัดถูกต้องและสมบูรณ์
จนทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่ทุกฝ่าย.

 
มรดกที่ ๑๐๙

ความริษยา คือไฟเงียบที่จะเผาลนจิตใจของผู้มีมัน
เหมือนตกนรกทั้งเป็น ตั้งแต่ต้นจนตลอดเวลา ทั้งที่ผู้ถูกริษยา ไม่รู้สึกอะไรเลยตลอดเวลาเช่นกัน.
ดังนั้น จะทำไปทำไม? คุ้มค่ากันที่ตรงไหน?.

 
มรดกที่ ๑๑๐

บัดนี้ ยิ่งเจริญคือยิ่งยุ่ง ยิ่งเจริญที่สุดคือยิ่งเกินจำเป็น
เพราะปราศจากสติปัญญา อันทำให้รู้จักเจริญอย่างถูกต้อง พอเหมาะพอดีเป็นมัชฌิมาปฏิปทา;
จงรู้จักเจริญกันเสียใหม่ ในด้านจิตวิญญาณที่อาจดับทุกข์ของตนได้เถิด.

ฐิตา:
มรดกที่  ๑๑๑

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งที่ต้องควบคุมให้ดี ๆ
: มันจะเกิดเป็นนรกขึ้นมาเมื่อมีการปฏิบัติผิด
และจะเกิดเป็นสวรรค์ขึ้นมา เมื่อมีการปฏิบัติถูก ณ ที่นั้น ๆ.
จงจัดการกับตา ฯลฯ ใจให้ถูกต้อง ในเมื่อมีการสัมผัส ณ ที่นั้น ๆ
จนเป็นสวรรค์อยู่ได้ จนตลอดเวลาเถิด
จะเป็นพุทธบริษัทโดยสมบูรณ์ อยู่ในขั้นต้น.

 
มรดกที่ ๑๑๒

ถ้าไม่มีการเกิดทางจิตทางวิญญาณในจิตใจว่าตัวกู–ของกู
แล้วการเกิดทางกายที่เกิดครั้งเดียวตายครั้งเดียว
ก็หาอาจทำให้เกิดทุกข์ใด ๆ ได้ไม่
เพราะไม่มีการรับเอามาเป็นของกู.

 
มรดกที่ ๑๑๓

การบรรลุมรรคผลนิพพาน มิได้มีไว้ให้ผู้อื่นทราบ
และแม้ที่จะรู้เอง ก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าบรรลุขั้นไหนเท่าไร
เพียงแต่รู้ว่าทุกข์กำลังดับไป ๆ จนกว่าจะหมดสิ้น ก็พอแล้ว;
เหมือนรองเท้าสึก ก็รู้ว่าสึก (จนกว่าจะใช้ไม่ได้) ก็พอแล้ว,
ไม่ต้องรู้ว่ามันสึกกี่มิล. ในวันหนึ่ง ๆ.

 
มรดกที่ ๑๑๔

ความสุขที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ต้องได้มาเปล่า ๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์
เหมือนดั่งที่ตรัสว่า ถอนความรู้สึกว่าตัวตนเสียได้แล้ว
ก็ได้นิพพานมาเปล่า ๆ ไม่ต้องเสียมูลค่าอะไร.
ส่วนความสุขเทียม หรือความเพลิดเพลินที่หลอกลวงนั้น
ใช้เงินซื้อมาเท่าไรก็ไมารู้จักพอ,
จนตัวตาย ก็ไม่พบกับความสุขที่แท้จริง.

 
มรดกที่ ๑๑๕

สังขารทั้งปวงแม้ไม่เที่ยง
แต่มันก็ตะโกนฟ้องตัวเองว่าไม่เที่ยง อยู่ตลอดเวลา.
พวกเรามันหูหนวกเอง ไม่ได้ยินแล้วก็หาว่าลึกลับ;
ดูจะช่วยแก้ตัวให้ความหลงของตัวเอง
เสียมากกว่าแล้วจะได้หลงต่อไปตามใจกู.

 
มรดกที่ ๑๑๖

โลกต้องมีศาสนาครบทุกชนิดทุกระดับ เพื่อเหมาะสำหรับคนทุกชนิดที่มีอยู่ในโลก
การที่พยายามจะทำให้มีศาสนาเดียว นั้นเป็นเรื่องบ้าหลังและไม่อาจจะเป็นไปได้
มีแต่จะสร้างความยุ่งยาก โดยมีมนุษย์ที่ไม่เหมาะสม ที่จะอยู่ในโลก มากขึ้น.

 
มรดกที่ ๑๑๗

ชาวพุทธแท้ ไม่กินสิ่งที่หมายมั่นว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก
แต่กินอาหารที่บริสุทธิ์ถูกต้อง สมควรแก่การกิน
โดยความเป็นธาตุตามธรรมชาติ
และกินเท่าที่จำเป็นจะต้องกิน เหมือนน้ำมันหยอดเพลารถ
หรือการกินเนื้อบุตรของตนเอง ที่ตายลง เมื่อหลงทางกลางทะเลทราย
เพื่อประทังชีวิตให้รอดออกไปได้เท่านั้น.

 
มรดกที่ ๑๑๘

ในร่างกายและจิตใจ มีสิ่งที่อาจเรียกว่าพระไตรปิฎก
ที่แท้จริงให้ศึกษา ชนิดที่ไม่อาจเติมเข้าหรือชักออก แม้แต่อักขระเดียว.
ขอให้พยายามอ่านพระไตรปิฎกเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ และทางให้ถึงความดับทุกข์
จากพระไตรปิฎกเล่มนี้ กันจงทุกคนเถิด.

 
มรดกที่ ๑๑๙

ต้องศึกษาเรื่องดับทุกข์จากร่างกายที่ยังเป็น ๆ มิใช่จากสมุดพระไตรปิฎกในตู้,
นี้ถือเอาตามคำตรัสที่ตรัสว่า โลก เหตุให้เกิดโลก ความดับสนิทของโลก และทางให้ถึงความดับสนิทนั้น ตถาคตกล่าวว่า มีอยู่พร้อมในกายอันยาววาหนึ่ง ซึ่งมีทั้งสัญญาและใจ (คือยังเป็น ๆ ).

 
มรดกที่ ๑๒๐

ยิ่งเรียนพระไตรปิฎก แล้วยิ่งวนเวียนไม่บรรลุธรรมะ
ก็ต้องเปลี่ยนไปเรียนที่ขันธ์ห้าโดยตรง
จนรู้จักการเกิด–ดับแห่งอุปาทาน ว่า ตัวกู–ของกู อันมีอยู่ในขันธ์ห้านั้น
จนเป็นภาวนามยปัญญา ตัดอุปาทานนั้นได้.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version