“พระมหากัสสปะ” ฟังคำที่ พระสุภัททะ ได้เที่ยวพูดกับหมู่ภิกษุเหล่านั้นแล้ว ท่านก็เกิด
ธรรมสังเวช ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพิ่งจะปรินิพพานได้เพียง ๗ วัน พระบรมศพก็ยังอยู่
เสี้ยนหนามศาสนาอันใหญ่เกิดขึ้นเร็วถึงปานนี้
พระศาสนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำมาด้วยทุกข์ยากนี้ถ้าปล่อยให้คนบาปเหล่านี้เติบโตและได้คนบาปอื่นมาเป็นพรรคพวก ก็อาจจะทำพระพุทธศาสนาให้เสื่อมถอยได้ ถ้าเราจะให้ขับไล่พระชั่วองค์นี้ไป ผู้คนทั้งหลายก็จะพากัน
ตำหนิโทษเราว่า พระศาสดาปรินิพพานไปยังไม่ทันไร พระบรมศพของพระสมณโคดมยังคงอยู่ เหล่าสาวกก็เกิด
วิวาทกันเสียแล้ว เพราะฉะนั้น เราควรอดกลั้นไว้ก่อน
พระธรรมที่ทรงแสดงแล้วนั้น เปรียบเหมือนดอกไม้ทั้งหลายที่เมื่อต้องลมก็ย่อมกระจัดกระจายไป ฉันใด สิกขาบทในวินัยก็จะพินาศ ธรรมในพระสูตรก็จะพินาศ ธรรมในพระอภิธรรมก็จะพินาศ ด้วยอำนาจของบุคคลชั่วเช่นนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจะต้อง
สังคายนาธรรมวินัย
เพื่อให้พระธรรมนี้ พระวินัยนี้ มั่นคงเหมือนดอกไม้ที่ผูกไว้ด้วยด้ายเหนียวในอดีต เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
เสด็จต้อนรับเราตลอดทาง ๓ คาวุต (๓๐๐ เส้น) และทรงประทาน
อุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ประการ ทรงประทาน
เปลี่ยนจีวรจากพระวรกายกับจีวรเก่าของเรา ตรัสทรง
ยกย่องว่าเราเป็น
กายสักขี (
มีวิหารธรรมเสมอด้วยพระองค์)
ทรงมอบความเป็นสกลศาสนทายาท ก็เพื่อประโยชน์ว่าเราจะทำสังคายนาพระธรรมและพระวินัย เพื่อให้พระศาสนามั่นคงและแพร่หลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า กัสสปะผู้นี้จักเป็นผู้ดำรงวงศ์พระสัทธรรมของเรา จึงทรงอนุเคราะห์เรา ด้วยการอนุเคราะห์ที่ไม่ทรงกระทำแก่ผู้อื่นโดยทั่วไปนี้ เปรียบเหมือนพระราชาทรงอนุเคราะห์พระราชโอรสผู้ดำรงวงศ์ตระกูล ด้วยทรงมอบเกราะและพระราชอิสริยยศมิใช่หรือ เรานั้นจะมี
หนี้อื่นอะไรเล่า จึงควรจักทำความอุตสาหะให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย
เพื่อช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย การแสดงออกของพระสุภัททะ ทำให้พระมหากัสสปะได้ถือเป็นเหตุสำคัญกระทำ
ปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย
ทางด้านคณะสงฆ์และเจ้ามัลลกษัตริย์ ผู้ครองเมืองกุสินารา ได้ทำพิธีสักการบูชาพระบรมศพพระพุทธเจ้าเป็นเวลาถึง ๖ วัน ในวันที่ ๗ จึงเชิญพระบรมศพเป็นขบวนไปทางทิศเหนือของเมือง ผ่านใจกลางเมือง แล้วเชิญพระบรมศพไป
มกุฏพันธนเจดีย์ ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมือง เพื่อถวายพระเพลิง วันที่กำหนดจะถวายพระเพลิงนั้น ตรงกับ
วันแรม ๘ คํ่า เดือน ๖ ซึ่งทุกวันนี้ทางเมืองไทยเราถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เรียกว่า “
วันอัฏฐมีบูชา”
พระบรมศพพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ในหีบทองที่เต็มไปด้วยนํ้ามันหอม ตั้งอยู่บน
จิตกาธาน (
จิต-ตะ-กา-ธาน แปลว่า
เชิงตะกอน) ที่ทำด้วยไม้หอมหลายชนิด ครั้นได้เวลา มัลลปาโมกข์ ๔ องค์ ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้จุดเพลิง แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็มิอาจทำให้เพลิงติดได้ พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราจึงได้ถามพระอนุรุทธะ ว่า
อะไรเป็นเหตุที่ทำให้มัลลปาโมกข์ทั้ง ๔ องค์นี้ มิอาจทำให้
ไฟติดได้