พุทธศาสนาของธิเบตนั้นต่างจากของเรา ตรงที่เรายึดถือเอามติของพระเถระ ณ สังคายนาครั้งแรก หลังพุทธปรินิพพานเพียงไม่กี่เดือน นี้แลคือข้อยุติในการตัดสินพระธรรมวินัย ซึ่งเราถือว่าเป็นผู้แทนองค์พระศาสดา แม้พระศาสดาจะโปรดให้แก้ไขวินัยบัญญัติในสิกขาบทที่ไม่สำคัญได้ ที่ประชุมในการสังคายนาครั้งนั้นก็ลงมติว่าจะไม่ขอแก้ไขสิกขาวินัยข้อใด ๆ เลย และประวัติการทำสังคายนาต่อ ๆ มาของฝ่ายเถรวาทก็เน้นในเรื่องนี้ โดยที่ข้อความในพระไตรปิฎกเองก็ปรากฏว่าได้รวมข้อโต้แย้งในทางพระอภิธรรมเมื่อคราวตติยสังคายนาไว้ด้วย ดัง
กถาวัตถุ เป็นประเด็นที่สำคัญในทางอภิปรัชญา
อนึ่ง การสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ กรุงปาฏลีบุตร ภายใต้ราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกนั้นสำคัญที่สุดสำหรับนิกายฝ่ายใต้ของเรา เพราะปรากฏว่ามีการส่งธรรมทูตไปยังลังกาทวีป (พระราชโอรสเป็นหัวหน้าของฝ่ายพระภิกษุ พระราชธิดาเป็นหัวหน้าของฝ่ายพระภิกษุณี) และประเทศอื่น ๆ รวมสุวรรณภูมิ ซึ่งมีพระโสณะและพระอุตระเป็นผู้นำ โดยเราเชื่อว่าธรรมทูตคณะนี้ขึ้นบกที่นครปฐม ซึ่งดูจะสมจริงยิ่งกว่าที่พม่ากล่าวไว้ว่าไปขึ้นบกที่ประเทศนั้น ราว ๆ พ.ศ. ๓๐๐ เป็นต้นมา
จากนั้นพุทธศาสนาในชมภูทวีปก็คลี่คลายขยายตัวไปทางเหนือ มีพระเจ้ากนิษกะเป็นราชูปถัมภ์ จารพระพุทธวัจนะเป็นภาษาสันสกฤต ในขณะที่ทางฝ่ายเราจารลงเป็นบาลี (ที่ลังกาเป็นครั้งแรก) และพุทธศาสนาทางเหนือนั้นปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากทางฝ่ายใต้ของเรา จนเกิดลัทธิมหายาน (แพร่ขยายไปยังจีน ซึ่งมีพระถังซำจั๋งเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญยิ่ง แล้วออกไปยังเวียดนาม เกาหลี และญี่ปุ่น) และมีลัทธิวัชรยานต่อไปอีกด้วย โดยเราต้องไม่ลืมว่ามหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งใหญ่ยิ่งที่สุดนั้น มีการเรียนการสอนทั้งสาวกยาน (เถรวาท) มหายานและวัชรยาน ทางลังกาทวีปเองก็เคยมีทั้งมหายานและสาวกยาน ( ณ อภัยคิรีวิหารและมหาวิหาร) โดยที่ยานทั้งสามนี้ได้แพร่ขยายไปยังกัมพูชา และชวา สุมาตราอีกด้วย โดยเราเองก็รับมาทั้งสามยาน หากเพิ่งมาแปลงเป็นเถรวาทตามแบบลังกาวงศ์ เมื่อสมัยกรุงสุโขทัยนี้เอง แต่ก็ยังไม่ได้สิ้นเชี้อทางมหายานและวัชรยานไปเสียเลยทีเดียว ว่าเฉพาะในทางวัชรยานนั้น ธิเบตรับไปอย่างเต็มที่ แล้วแพร่ขยายไปยังมงโกเลีย รวมถึงจีน โดยที่บางนิกายของจีนได้รับอิทธิพลจากวัชรยานมากเป็นพิเศษ ดังนิกายชินกอนที่ญี่ปุ่นนั้น จะถือว่าเป็นวัชรยานก็ยังได้ โดยที่ญี่ปุ่นรับต่อไปจากจีนอีกทีหนึ่ง
วัชรยานเน้นในเรื่องการขนสรรพสัตว์ข้ามโอฆสงสาร ด้วยการบำเพ็ญโพธิสัตวธรรมบารมีเช่นเดียวกับมหายาน หากเพิ่มตันตรวิธี (จึงบางครั้งเรียกวัชรยานหรือการมีพาหะเป็นเพชร เพื่อตัดอวิชชาได้อย่างทันทีทันใด ว่าตันตรยาน คือใช้วิธีการของตันตระ อันเป็นความลับที่สอนโดยครูบาอาจารย์หรือลามะ กับลูกศิษย์เป็นวงใน อย่างเป็นความลับ แม้คัมภีร์ของตันตระก็จารไว้ ไม่ให้คนนอกอ่านรู้เรื่อง จำเพาะลูกศิษย์ที่รู้รหัสยนัยแล้ว จึงจะอ่านคัมภีร์ที่ว่านี้ออก) และตันตรวิธีนี้แลที่มีเรื่องในทางเสพกาม รวมอยู่ในคำสอนของอนุตรโยคะ คือโยควิธีอันยิ่ง จำเพาะศิษย์จำนวนน้อยเท่านั้นที่จะปฏิบัติได้ถึงขั้นนั้น
ทางฝ่ายวัชรยานถือว่าเมื่อก่อนที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้น ตัณหาและราคะได้ปรากฏแก่พระองค์ด้วย ดังภาพมารผจญของเรา ก็แสดงออกในทางบุคลาธิษฐานของความโลภ โกรธ หลงอย่างชัดเจน พระพุทธองค์ทรงทราบได้โดยพระญาณว่า ตัณหาราคะเป็นตัวกระตุ้นให้มนุษย์ติดอยู่ในวงวัฏสงสารของการเวียนว่ายตายเกิด กล่าวคือมนุษย์พร้อมที่จะทนทุกข์ เพราะต้องการความสุขจากการเสพกาม ยิ่งต้องการกามสุขมากเท่าไร ก็ยิ่งก่อโครงสร้างต่าง ๆ ขึ้นให้ลืมความทุกข์ หรือหนีไปจากความทุกข์ ดังลัทธิกามสุขัลลิกานุโยคในสมัยพุทธกาล และลัทธิบริโภคนิยมในปัจจุบัน ซึ่งสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งกว่าสมัยโบราณมากนัก
กล่าวได้ว่ามนุษย์มีตัณหา จนพาให้เกิดเป็นความฝัน หรือฝันเฟื่อง หรือตั้งความหวัง แล้วพยายามหาทางทำอะไร ๆ ให้สมหวัง แต่แล้วก็มีความผิดหวังตามมาด้วยเสมอไป ยิ่งอยากได้มากขึ้น หรืออยากได้ให้ผิดแผกไปจากเดิม ก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์ให้โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
อริยสัจสี่ชี้ให้เห็นถึงตัวความทุกข์ว่ามาจากตัณหา ซึ่งโยงไปที่โลภ โกรธ หลง โดยที่มนุษย์อาจดับทุกข์ได้โดยไตรสิกขา หรือตามหนทางแห่งพระอริยมรรค เพราะเมื่อเราเอาชนะตัณหาได้ ความเห็นแก่ตัวย่อมปลาสนาการไป เป็นอันว่าปัญญาย่อมเกิดขึ้นอย่างเป็นแสงสว่าง พร้อม ๆ กับกรุณา ที่จงใจที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นสัตว์อื่น โดยที่ทางมหายานและวัชรยานเชื่อว่ามนุษย์เรามีโพธิจิตอยู่แล้ว คือเราพร้อมที่จะตรัสรู้ตามรอยบาทพระศาสดา ถ้าเราปลดเปลื้องตัณหาเสียได้
ก็การที่จะปลดเปลื้องตัณหาให้ได้นั้น ทางตันตระสอนว่าต้องใช้
อุปายะ หรืออุปายโกศล คือใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง ดังปรากฏในคัมภีร์
เหวัชรตันตระ ว่า “โลกถูกผูกมัดเอาไว้ ก็เอาตัวที่ผูกรัดนั้นแลมาปลดปล่อยเสีย โดยถูกความหลงครอบงำ จึงไม่รู้ความจริง (สัตย์) และคนที่เข้าไม่ถึงความจริง จะเข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ไม่ได้” ฉะนั้น คัมภีร์นี้เสนอว่าให้ใช้ตัณหานั้นแลมาประกอบกรรมตามโยควิธี ความข้อนี้ ทางเถรวาทเราคงรับไม่ได้
วิธีการดังกล่าวปรากฏอยู่ใน
อนุตรโยคตันตระ ซึ่งถือว่าเป็นคำสอนอันสูงสุดของวัชรยาน โดยเฉพาะก็ทางด้านตัณหาและปัญหาทางเพศ แต่พระโยคาวจรต้องได้รับการฝึกปรือมาก่อนแล้วทางด้านศีล สมาธิ และปัญญา ตามแบบของสาวกยานหรือหินยาน หากเขาเห็นว่าวิธีการของสาวกยานนั้นมุ่งให้ตัณหาดับสนิท จนเราตัดขาดจากความทุกข์ของเราเองและความทุกข์ของผู้อื่น จึงกล่าวหาว่าวิธีการของเราเป็นยานอันคับแคบ
เขาถือว่าการลดตัณหานั้นเป็นของดี เพราะถ้ามีอยู่มากเท่าไร จะทำให้เรารุนแรงมากเท่านั้น ทั้งทางเพศ (ราคะ) ทางโลภ โกรธ และทางหลง
อุปายะ หรืออุปายโกศลทางฝ่ายมหายานนั้น สามารถใช้วิธีที่แปรเปลี่ยนตัณหาให้กลายไปเป็นขันติและกรุณา เพื่อเกื้อกูลผู้อื่นสัตว์อื่นต่อไป แต่ถ้าเลี้ยงกรุณาคุณไว้ อย่างมีการติดยึดในตัวตน นี่จะให้โทษยิ่งกว่าให้คุณ ดังคนรวยที่ช่วยคนจนให้จนตลอดไปนั้น หาได้ประกอบกุศลกรรมไม่ ยิ่งทำบุญโดยหวังสวรรค์ หรือต้องการให้สังคมยกย่องด้วยแล้ว นั่นเป็นของปลอมเอาเลยทีเดียว
ทางวัชรยานถือว่าผู้ปฏิบัติธรรมตามทางของเขา ต้องฝึกปรือมาก่อนแล้ว ทางสาวกยานและมหายาน โดยวิธีการของวัชรยานช่วยให้เราเข้าถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ของเราอย่างทันทีทันใด เหมือนดังกับว่าเราเป็นคนตาบอด ก็ต้องผ่าตัดจนตาดีให้ได้
ในกรณีของตัณหานั้น ถ้าฝึกทางด้านศีล สมาธิ ปัญญามาบ้างแล้ว ย่อมกลายสภาพได้ไม่ยาก จากความเป็นอุปสรรคต่อการตรัสรู้ มาเป็นตัวแปรเปลี่ยน ให้จิตใจของเรากว้างขวางขึ้น คือเปลี่ยนกามฉันทะมาเป็นธรรมฉันทะ เปลี่ยนความเห็นแก่ตัวมาเป็นความไม่เห็นแก่ตัว โดยเราเอาตัณหานั้นแลมาเป็นตัวตั้งสำหรับการภาวนา
ตามทางของอนุตรโยคะนั้น ตัณหาเป็นอีกด้านหนึ่งของกรุณานั้นเอง เมื่อเราลดความเห็นแก่ตัวลงได้แล้ว ตัณหาก็กลายมาเป็นตัวเกื้อหนุนให้เราเพิ่มพูนการุณยภาพ เรามีชีวิตอย่างยินดีปรีดา พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลสรรพสัตว์อย่างเต็มใจ โดยเราแลเห็นความงาม ความดี และความจริงในทุกชั่วขณะอีกด้วย
แต่ถ้าฝึกปรือมาในทางธรรมอย่างไม่เพียงพอ ตัณหาก็จะไปรับใช้อัตตา ยิ่งประกอบกิจกรรมทางเพศกันในขณะปฏิบัติธรรมด้วยแล้ว จะให้โทษยิ่งกว่าให้คุณ แม้จนถึงกับเกิดวิกลจริตก็ยังได้
ขอย้ำว่าพระโยคาวจรต้องปฏิบัติธรรมมาแล้วตามวิธีของสาวกยาน ในเรื่องสมถะ (ให้จิตใจสงบ เป็นหนึ่งเดียว) และวิปัสสนา (คือรู้จักใช้โยนิโสมนสิการ จำแนกความเห็นแก่ตัวออกไปได้มาก แม้จะยังไม่หมดไปเสียเลยทีเดียว) จากนั้นจึงเจริญโพธิสัตวธรรมบารมีตามแนวทางของมหายาน ที่อาจปรับตัณหามาเป็นความกรุณาได้ แล้วจึงจักเข้าถึงตันตรวิธีแห่งวัชรยาน คือเอาเพชรเป็นพาหะ เพื่อตัดอวิชชาหรือความมืดบอดต่าง ๆ ออกให้เด็ดขาด ตัณหาจึงกลายมาเป็นวัตถุแห่งการเพ่ง เพื่อให้จิตใจเบิกบาน น้อมนำไปในทางที่ไม่เห็นแก่ตัว
ตามทางของอนุตรโยคะนั้น ไม่เน้นข้อแตกต่างระหว่างตัณหากับการุณยภาพ กล่าวคือเมื่อพระโยคาวจรปฏิบัติธรรมจนมีศีลอย่างเป็นปกติแล้ว ย่อมเป็นคนสะอาด บริสุทธิ์ การยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหมดไป ตัณหาที่เคยร้อนเป็นไฟ เพื่อให้เจ้าตัวสมประสงค์ในทางราคะ กลายไปเป็นความเย็น ที่มุ่งไปในทางเกื้อกูลผู้อื่น สัตว์อื่นตามปกติ พลังภายในชายและหญิงย่อมแสดงออกได้ให้เป็นปรากฏการณ์ ทางด้านตันตระถือว่าความสัมพันธ์ทางพศเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งนัก กล่าวคือรูปร่างอันแหลมคมของสตรีย่อมเอื้อมไปถึงได้ยังความทื่อของบุรุษผู้คุ้นเคยอยู่แต่กับ การประพฤติปฏิบัติตนในทางเพศ พร้อมกันนั้นบุรุษเพศก็มุ่งแสวงหาอารมณ์อันเร่งร้อนของสตรีเพศ
หัวใจของความต้องการทางเพศนั้นรุนแรงไม่แพ้ความมุ่งมาดปรารถนาในทางบรรลุธรรมของพระโยคาวจร ทางตันตรยานเสนอแนะให้เข้าใจในเรื่องความต้องการทางเพศ โดยที่กามตัณหาเป็นแกนกลางในการแสดงออกอย่างมีชีวิตชีวา นับเป็นแกนกลางที่เชื่อมร่างกายให้เข้ากับจิตใจ
ถ้าไม่เข้าใจพลังระหว่างเพศชายกับหญิง ทั้งคู่นี้อาจเผชิญหน้ากันดังกับสู้รบในสงคราม ผลก็คือเกิดความวิกลวิการขึ้นได้ไม่ยาก โดยที่ฝ่ายหญิงยิ่งมีอารมณ์รุนแรงขึ้นดังกับบ้าคลั่ง แม้จนถึงกับก่อการทำลายล้างต่าง ๆ โดยที่ทางฝ่ายชายก็ยิ่งกลายเป็นคนดื้อรั้นหยาบกระด้าง อย่างไม่อ่อนไหวในทางที่ถูกที่ควร
แม้หญิงชายจะดึงดูดเข้าหากัน แต่ถ้าต่างก็ยึดมั่นในอัตตาของตน ก็ย่อมก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบขึ้น จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผลก็คือความทุกข์และความแปลกแยก ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมตามทางของวัชรยานจึงต้องเรียนรู้ที่จะแลเห็นข้อแตกต่างระหว่างเพศ และเห็นด้วยว่าแต่ละเพศก็มีจุดเด่นจุดด้อย แล้วนำมาประสานกันให้เกิดความบรรสานสอดคล้องได้อย่างไร
ที่คนต่างเพศต้องการกันและกัน ก็เพราะเรารู้สึกว่าเราเองขาดความสมบูรณ์ หากทั้งคู่สมสู่กันอย่างเข้าใจกัน อย่างรักใคร่กันด้วยความทนุถนอมกล่อมเกลี้ยง เราย่อมเข้าถึงองค์รวมของขั้วบวกกับขั้วลบ หรือ
หยินกับ
หยัง ซึ่งก็คือความบรรสานสอดคล้องของบุรุษเพศกับอิตถีเพศนั่นเอง
ประเด็นก็คือทำอย่างไร จึงจะตัดขาดไปได้จากนัยลบของตัณหา ซึ่งมักพัวพันอยู่กับความเห็นแก่ตัว แม้จะสำเร็จความใคร่ได้ด้วยตนเอง กับเพื่อนร่วมเพศหรือกับเพื่อนต่างเพศ หากมุ่งสนองเพียงสัญชาตญาณแห่งความเป็นสัตว์ ผลที่ตามมาก็คือนิวรณ์ที่ขัดขวางจิตใจไม่ให้ก้าวหน้าไปในทางคุณธรรม คือ (๑) ยังคงหมกมุ่นอยู่ในทางกามคุณ หาไม่ก็ (๒) คิดร้ายผู้อื่น ที่เรานึกว่าจะมาแย่งคู่ครองของเรา แม้จนบางทีถึงกับคิดร้ายกับคู่ครองของเราเอง (๓) เกิดความหดหู่ซึมเซา (๔) ความฟุ้งซ่านรำคาญ รวมถึง (๕) ความลังเลสงสัย
เมื่อพระโยคาวจรลดความเห็นแก่ตัวได้แล้ว ย่อมสามารถใช้อนุตรโยคะตันตระ แปรสภาพของตัณหาอย่างที่สามัญชนเผชิญอยู่ ให้กลายไปเป็น
มหาศุขะ ซึ่งเป็นประตูไปสู่การตรัสรู้
ตามทางของวัชรยานนั้น มีการสอนถึงวิถีทางที่ช่วยให้เกิด
อุปายะ เพื่อสร้างพลังภายใน ให้พัฒนาไปอย่างตรง ๆ และอย่างเข้มแข็งขึ้น นี้นับว่าผิดไปกับการภาวนาตามทางของสาวกยานซึ่งเป็นไปอย่างช้า ๆ เพื่อสะกัดจิตไม่ให้กลายไปเป็นความคิด คือให้เข้าถึงความเป็นเช่นนั้นเอง ในขณะที่การเดินตามทางของ
มหาศุขะ ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยสะกัดอารมณ์และแนวความคิดต่าง ๆ ที่ขัดขวางการตรัสรู้อย่างได้ผลรวดเร็ว เพราะเมื่อขจัดอุปสรรคดังกล่าวได้แล้ว ปัญญากับกรุณาย่อมเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันอย่างทันทีทันใด
เมื่อพระโยคาวจรสามารถนำเอาทรัพยากรภายในตนมาช่วยให้เกิดการตื่นขึ้นอย่างตรัสรู้ การุณยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตนย่อมปรากฏออกมาอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลสรรพสัตว์