ผู้เขียน หัวข้อ: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 25648 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #20 เมื่อ: มีนาคม 13, 2011, 07:40:47 am »



อารมณ์คืออาการที่ปรากฏของจิต
ถ้า หากพิจารณาดูแล้วโดยรอบคอบ ทุกคนก็จะรู้ว่าทุกคนมีธาตุรู้หรือวิญญาณธาตุอยู่คือรู้อะไรๆ ทางตาทางหูเป็นต้นได้ ซึ่งเป็นความรู้ทางประสาท สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายก็มีความรู้ทางประสาททางตาทางหูเป็นต้นเหมือนกัน และเมื่อว่าถึงความรู้ทางประสาทตาประสาทหูเป็นต้นนั้น ประสาทหูประสาทตาบางอย่างของสัตว์เดียรัจฉานดีกว่าของมนุษย์ อย่างเช่นตามองเห็นอะไรในความมืด หูฟังเสียงอะไรที่ละเอียด ตาหูของสัตว์เดียรัจฉานบางจำพวกดีกว่าตาหูของมนุษย์ แต่ว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่สู้มนุษย์ไม่ได้ ก็คือปัญญา ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่าสมอง สมองของมนุษย์นั้นดีกว่าของสัตว์เดียรัจฉาน สมองอันเป็นสิ่งที่เป็นที่ตั้งของปัญญา แต่ว่าสิ่งที่เรียกว่าสมองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายซึ่งมีสรีรสัณฐาน มีอีกอย่างหนึ่งคือจิตหรือวิญญาณธาตุซึ่งอาศัยอยู่ในร่างกายอันนี้ และก็อาศัยสมองอันนี้เป็นที่ตั้งของประสาทรับรู้ต่างๆ และเป็นที่ตั้งของปัญญาต่างๆ สมองนั้นก็เป็นเครื่องมือของจิตคือธาตุรู้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีสรีรสัณฐาน ควรจะต้องพิจารณาว่า บรรดาร่างกายนั้นล้วนเป็นเครื่องมือของจิตหรือวิญญาณธาตุที่เป็นธาตุรู้ทั้งนั้น เพราะว่าจิตหรือวิญญาณธาตุที่เป็นธาตุรู้นั้นไม่มีสรีรสัณฐาน อาศัยร่างกายนี้ซึ่งเป็นตัวสรีรสัณฐานสำหรับปฏิบัติงานการต่างๆ ไปตามต้องการ เช่นเกี่ยวแก่ประสาททั้งหลายก็ต้องอาศัยสมอง

และเมื่อต้องการจะหยิบจับอะไรก็ใช้มือ จิตหรือวิญญาณธาตุรู้นั้นจะเดินเองก็ไม่ได้ต้องอาศัยร่างกายอันนี้ ซึ่งรวมเข้าแล้ว จะดูอะไรก็ต้องอาศัยจักขุประสาท จะฟังอะไรก็ต้องอาศัยโสตประสาทเป็นต้น ซึ่งเป็นปรกติธรรมดา และอาการที่แสดงออกว่าเป็นอาการของจิตและธาตุรู้นั้น ก็คืออาการที่ปรากฏเป็นอารมณ์คือเรื่องที่ปรากฏเป็นกิเลส ที่ปรากฏเป็นอารมณ์คือเรื่องนั้นก็คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตครุ่นคิดถึงทั้งหลาย เมื่อเป็นเรื่องรูปก็เรียกว่ารูปารมณ์ อารมณ์คือรูป เรื่องเสียงก็เรียกว่าสัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง เรื่องกลิ่นก็เรียกว่าคันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น เรื่องรสก็เรียกว่ารสารมณ์ อารมณ์คือรส เรื่องที่กายถูกต้องก็เรียกว่าโผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ

เรื่องของเรื่องเหล่านั้นที่รู้ที่คิดอยู่ในใจก็เรียกว่าธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรม คือเรื่องราวของเรื่องเช่นรูปเป็นต้นเหล่านั้น ที่ประสบพบผ่านมาแล้วและก็นำมาคิดนำมาระลึกถึง และอารมณ์บางอย่างที่เป็นที่ตั้งของราคะหรือโลภะ ก็เกิดเป็นราคะ ความกำหนัดยินดีติดอยู่ เป็นความโลภอยากได้ เรื่องที่เป็นที่ตั้งของโทสะ ก็เกิดความขัดแค้นโกรธเคืองอันเป็นตัวโทสะ เรื่องที่เป็นที่ตั้งของความหลง ก็เกิดความหลงที่เป็นตัวโมหะขึ้น บรรดาอารมณ์และกิเลสเหล่านี้ก็ไม่มีสรีรสัณฐาน ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ และในด้านปฏิบัติธรรม ที่เรียกว่าปฏิบัติก็ดี ที่เรียกว่าศึกษาก็ดี ที่เป็นเมตตาเป็นกรุณา เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ก็ไม่มีสรีรสัณฐานอีกเหมือนกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ แม้ว่าการศึกษาเล่าเรียนในทางคดีโลกก็ตามในทางคดีธรรมก็ตาม ก็เป็นความรู้ดังที่ได้เคยกล่าวแล้ว ก็ไม่มีสรีรสัณฐาน


อารมณ์เป็นอาหารอย่างหนึ่งของจิต
ใน ตอนนี้จะพิจารณาเห็นความแตกต่างกันได้ระหว่างสมองกับภาวะที่เรียกว่าจิตหรือ วิญญาณธาตุ อาการของอารมณ์และกิเลสเหล่านี้เป็นเรื่องของจิตและวิญญาณธาตุ ไม่ใช่เป็นเรื่องของสมอง เรื่องของสมองนั้น สมองต้องการอาหารสำหรับเลี้ยงสมองเป็นแบบอาหารสำหรับเลี้ยงรูปกาย และเมื่อสมองป่วยก็เป็นอาการป่วยทางรูปกาย ซึ่งต้องใช้หยูกยาทางรูปกายรักษา แต่ว่าอาหารของจิต หรือวิญญาณธาตุคือธาตุรู้นั้น ก็คืออารมณ์ จะพึงกล่าวได้ว่า จิตย่อมมีอารมณ์เป็นอาหารอย่างหนึ่ง และจิตที่มีกิเลส กิเลสก็มีอารมณ์ที่เป็นอาหาร มีสิ่งที่กิเลสต้องการเป็นอาหาร อันนับว่าเป็นอาหารของอารมณ์และอาหารของกิเลส และเมื่อจิตมีกิเลส กิเลสนั้นเองต้องการ

เช่นว่าเมื่อโลภเกิดขึ้น อยากจะได้เงินอยากจะได้ทอง ก็ทำให้อารมณ์ในเงินในทองนั้นมาเป็นอาหารโลภ ของจิตที่โลภ เมื่อได้เงินได้ทองก็รู้สึกว่าอิ่มใจสบายใจ โทสะก็เหมือนกันต้องการอาหาร เมื่อโกรธขึ้นมาก็ต้องการทุบตีเขาทำลายเขา การที่ได้ทุบตีเขาก็เป็นอาหารแก้หิวของโทสะ โมหะก็เหมือนกันหลงสยบติดอยู่ ก็เพลิดเพลินสบายอยู่กับสิ่งที่หลงสยบติดอยู่ นั่นก็เป็นอาหารของโมหะคือความหลง แต่อันที่จริงไม่ได้เป็นอาหารของจิตหรือธาตุรู้โดยตรง แต่เป็นอาหารของกิเลส เหมือนดังว่าตัวพยาธิที่อาศัยอยู่ในท้องของบุคคล ตัวพยาธิก็ต้องการอาหารที่บุคคลบริโภคอาหารเข้าไป ตัวพยาธิก็แย่งบริโภค อาหารก็ไม่ได้บำรุงเลี้ยงร่างกายเท่าไหร่ จิตก็เหมือนกัน โดยมากนั้นก็ต้องการอาหารที่เป็นอาหารของกิเลสดังกล่าวนั้น เหล่านี้เป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องของธาตุรู้ที่เกี่ยวแก่กิเลส เป็นอาหารอีกอย่างหนึ่งที่ต่างจากอาหารของสมอง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 05, 2012, 04:48:24 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #21 เมื่อ: มีนาคม 13, 2011, 07:45:02 am »



ธัมมะเป็นอาหารของจิตโดยตรง
คราวนี้อาหารที่เป็นของจิตโดยตรงนั้น ก็คือธรรมที่เป็นคุณเกื้อกูล เมื่อจิตได้ดูดดื่มธรรมที่เป็นคุณเกื้อกูล เช่นว่าเมื่อได้ทำทานก็ได้ปีติได้สุขในทาน จิตก็ดื่มปีติสุขที่เกิดจากทานและเมื่อทานที่บริจาคที่ทำนั้นไปขัดเกลาโลภะ มัจฉริยะในจิต เมื่อโลภะมัจฉริยะเบาบางลง จิตก็บริสุทธิ์ผ่องใส ก็เกิดสุขเกิดปีติอันเกิดจากความบริสุทธิ์ จิตก็ได้ดูดดื่มปีติสุขอันเกิดจากความบริสุทธิ์นั้น ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาก็เช่นเดียวกัน จิตบริสุทธิ์จิตก็ได้ดื่มปีติสุขอันเกิดจากความบริสุทธิ์นั้น ก็ได้ความปีติได้ความสุขที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น คือธรรมปีติ ปีติในธรรมนั้นเอง นี่เป็นอาหารของจิตโดยตรง ทำให้จิตมีความสุขมีความอิ่มเอิบ เป็นความสุขเป็นความอิ่มเอิบยิ่งกว่าที่ได้อาหารของกิเลสเข้ามา เช่นได้อาหารของกิเลสเป็นความโลภเป็นต้นดังที่กล่าวนั้นเป็นความสุขเป็นความ อิ่มเอิบที่บริสุทธิ์กว่า ที่สงบกว่า ที่เย็นกว่า ซึ่งบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมได้รับก็ย่อมจะรู้สึก ธรรมนี้แหละเป็นอาหารของจิตโดยตรง และยังเป็นธรรมโอสถหรือยาธรรมสำหรับที่จะแก้โรคกิเลส แก้โรคโลภหรือราคะ แก้โรคโกรธ แก้โรคหลง ได้ด้วย ดังที่ได้เคยกล่าวแล้ว ฉะนั้นยาสำหรับแก้โรคทางจิตคือโรคกิเลสดังที่ได้กล่าวแล้วก็คือธรรมโอสถ ซึ่งต่างจากยาแก้โรคสมองที่เป็นเวชโอสถ โอสถของหมอทางร่างกายนั้นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วดั่งนี้จะเห็นได้ว่า ในบุคคลทุกๆ คนนี้มีสภาพที่เรียกว่าจิตหรือธาตุรู้ หรือว่าภาวะเป็นเราหรือว่าภาวะเป็นสัตว์ อันเป็นสิ่งที่ยังดำรงอยู่แม้เมื่อร่างกายอันนี้แตกสลาย แล้วก็เคลื่อนไปสู่ที่บ้านใหม่ภพใหม่ต่อไป

พุทธศาสนาไม่แสดงว่าตายเกิดหรือตายสูญ
ตาม ที่กล่าวนี้ก็กล่าวเป็นทำนองว่าตายเกิด แล้วก่อนเกิดนั้นเล่าก็มีชาติภพในอดีตมาก่อนจึงมาถึงชาติภพนี้ และก็ต่อไปชาติภพอื่น เพราะเหตุว่ามีตัวที่เรียกว่าจิตหรือธาตุรู้หรือว่าตัวที่เป็นเราหรือที่ เป็นสัตตภาวะหรือภาวะเป็นสัตว์อันเป็นสิ่งที่ไม่ตายไปตามกาย เป็นสิ่งที่ยังดำรงอยู่เมื่อกายแตกสลาย คือบ้านอันนี้พัง สภาพที่กล่าวนี้ที่เป็นตัวเรา เป็นสัตตภาพ เป็นจิตหรือเป็นธาตุรู้ก็จุติเคลื่อนออกไป ไปถือภพชาติใหม่ต่อไป ก็เป็นอันกล่าวไปในเค้าว่าตายเกิด และก่อนเกิดมาก็เคยเกิดในชาติภพอื่นมาก่อน สืบต่อมาถึงชาตินี้ภพนี้ แล้วก็จะสืบต่อไปถึงชาติหน้าภพหน้า ไม่ใช่ตายสูญ แต่อันที่จริงนั้นตายเกิดตายสูญนี้เป็นทิฏฐิที่มีมาก่อนพุทธกาล และในบัดนี้ก็ยังมีอยู่ คือบางลัทธิแสดงว่าตายสูญคือไม่มีอะไรไปเกิดอีก เรียกว่าอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ อีกลัทธิหนึ่งแสดงว่าตายเกิดเรียกว่าสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง เพราะฉะนั้นหากจะมีปัญหาว่าพระพุทธศาสนาแสดงอย่างไร ก็ตอบได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นไม่แสดงว่าตายเกิด ไม่แสดงว่าตายสูญ คือปฏิเสธทั้งฝ่ายสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยงกับอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ แต่ว่าแสดงตามเหตุผลว่าเมื่อยังมีเหตุก็ยังเกิดอีก เมื่อสิ้นเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด ซึ่งจะแสดงต่อไป


๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๖

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 05, 2012, 04:51:22 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #22 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2011, 10:16:24 am »




ครั้งที่ ๑๒ ลักษณะพุทธศาสนา - สังสารวัฏ ()

ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร

ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

พุทธวาทะ ไม่รับรองสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ

แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงพุทธวาทะ ไม่รับรองสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ
จึงจะกล่าวอธิบายสืบต่อไป

ทิฏฐิคือความเห็นที่ถือกันมาตั้งแต่เก่าก่อนพุทธศาสนา เรื่องตายเกิดตายสูญ ฝ่ายที่มีความเห็นยึดถือว่าตายเกิดเรียกว่าสัสสตทิฏฐิ แปลว่าความเห็นเที่ยง คือมีความเห็นว่าในชาตินี้ก็มีอัตตาหรืออาตมันตัวตน และเมื่อตายไป อัตตาหรืออาตมันตัวตนก็ไปถือภพชาติใหม่เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด เรียกสั้นๆ ก็คือว่าตายเกิด ก็เกิดกันเรื่อยๆ ไป อีกฝ่ายหนึ่งตายสูญที่เป็นพวกอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ ก็คือมีความเห็นว่ามีอัตตาหรืออาตมันตัวตนอยู่ในชาตินี้เท่านั้น ตายไปแล้วก็สูญ ไม่มีอัตตาหรืออาตมันตัวตนสืบต่อไปอีก ส่วนพุทธวาทะ วาทะของพระพุทธเจ้านั้น ไม่รับรองทิฏฐิทั้ง ๒ นี้ และก็ถือว่าทิฏฐิทั้ง ๒ นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดโดยที่วาทะของพระพุทธเจ้านั้นแสดงว่าเป็นไปตามเหตุผล คือเมื่อยังมีเหตุให้เกิดก็เกิด เมื่อสิ้นเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด แต่ว่าก็ไม่สูญ ฉะนั้นจึงจะต้องอ้างพุทธวาทะว่าตรัสไว้ที่ไหนอย่างนี้

กิเลส กรรม วิบาก

วาทะของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้อย่างนี้ โดยตรงก็คืออริยสัจทั้ง ๔ และปฏิจจสมุปบาท อริยสัจทั้ง ๔ นั้นคือสภาพที่จริงคือทุกข์ เราทั้งหลายก็ได้สวดกันอยู่ทุกวันแล้วว่า ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์เป็นต้น คือว่าทรงชี้ตัวทุกข์ตั้งแต่ชาติคือความเกิดเป็นต้นไป มาถึงสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ก็ทรงชี้เอาตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก ฉะนั้นเมื่อยังมีสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหาอยู่ ก็ยังต้องมีทุกข์ อันเป็นส่วนผล ตั้งต้นแต่ชาติคือความเกิด ตามหลักอริยสัจนี้ จึงกล่าวได้ว่าวาทะของพระพุทธเจ้านี้ทรงแสดงว่าเมื่อยังมีตัณหาเป็นสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์อยู่ ก็ยังต้องมีชาติคือความเกิด ก็หมายความว่าเมื่อขันธ์ ๕ นี้แตกหรือว่าบ้านนี้พัง สัตว์ก็ต้องจุติคือเคลื่อนจากชาตินี้หรือว่าเคลื่อนออกจากบ้านที่พังนี้ ไปเข้าบ้านใหม่คือชาติภพใหม่หรือขันธ์เป็นที่ยึดถือใหม่ต่อไป เมื่อยังมีตัณหาอยู่ ขันธ์ ๕ นี้แตกสลาย จึงต้องไปถือชาติภพสืบต่อไป คราวนี้มาถึงทุกขนิโรธคือความดับทุกข์ ก็คือดับตัณหา เมื่อดับตัณหาเสียได้ อันเป็นส่วนเหตุก็ดับทุกข์เสียได้ ก็คือดับตั้งแต่ชาติคือความเกิด ไม่ไปเกิดอีก แต่ว่าก็ไม่สูญ อย่างไรจึงว่าไม่สูญนั้น ก็จะต้องอธิบายต่อไป แต่มากล่าวถึงตอนนี้ก่อน

เมื่อวาทะของพระพุทธเจ้าแสดงไว้ดังนี้ จึงกล่าวได้ว่าลักษณะของพุทธศาสนาที่แสดงเรื่องนี้ไม่แสดงว่าตายเกิด ไม่แสดงว่าตายสูญเพียงส่วนเดียว แต่แสดงว่าเมื่อยังมีกิเลสมีตัณหาเป็นต้นก็ต้องเกิด เมื่อสิ้นตัณหาสิ้นกิเลสก็ไม่เกิด แสดงตามเหตุผลดังนี้ และการที่เกิดนั้นก็เกิดตามกรรม พระพุทธเจ้าทรงได้พระญาณคือความหยั่งรู้ในเรื่องนี้ ตั้งแต่ก่อนตรัสรู้ทรงได้พระญาณที่ ๑ คือบุพเพนิวาสญาณตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งได้ทรงระลึกรู้หรือว่ารู้ระลึกถึงบ้านหนหลังได้ คือระลึกชาติหนหลังได้มีจำนวนมาก ว่าเราเข้าถึงชาตินี้ เคลื่อนจากชาตินี้ก็เข้าถึงชาตินั้นต่อๆ กันมา พร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ของชาตินั้นๆ มาถึงญาณที่ ๒ ก็ทรงได้พระญาณคือความหยั่งรู้ ว่าสัตว์ทั้งหลายเข้าถึงชาติหนึ่งๆ ตามกรรมที่ได้กระทำไว้ ทำกรรมชั่วก็เข้าถึงชาติที่ชั่วมีทุกข์ ทำกรรมดีก็เข้าถึงชาติที่ดีมีสุขดั่งนี้ พร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ จนถึงญาณที่ ๓ ที่เรียกว่าอาสวักขยญาณ คือความหยั่งรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ กิเลสที่ดองจิตสันดาน คือได้ตรัสรู้เข้าไปถึงว่าที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปในชาติทั้งหลายตามกรรมซึ่งได้กระทำไว้นั้น ก็เพราะยังมีกิเลสอันเป็นเหตุให้กระทำกรรม กิเลสที่ดองสันดานก็เรียกว่าอาสวะ คือมีกิเลสที่ดองสันดานอยู่ จึงเป็นเหตุให้กระทำกรรม เมื่อกระทำกรรม กรรมก็ส่งวิบากคือผล ตั้งต้นแต่ให้ไปถือชาติภพได้วิบากขันธ์ คือกายใจที่เป็นส่วนวิบากคือผลของกรรม ดังที่ทุกคนได้อยู่นี้


เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีกิเลสที่ดองสันดานอยู่ก็ต้องประกอบกรรม กรรมก็ส่งผลตั้งแต่ให้ไปเกิดถือชาติภพ เกิดแล้วก็ต้องแก่ต้องตาย คือขันธ์เป็นที่ยึดถือได้แก่ตัววิบากขันธ์นี้เป็นสิ่งที่ต้องแก่ต้องตาย และขันธ์อันเป็นวิบากขันธ์นั้นก็เท่ากับเป็นตัวบ้านอันเป็นที่อาศัยอยู่ของจิตที่เป็นตัวเดิม หรือว่าอหภาวะคือตัวเรา หรือที่ยึดถือว่าเป็นอัตตาตัวตน หรือที่เรียกว่าสัตว์คือเป็นผู้ที่ยังข้องติดอยู่นี้ และเพราะกิเลสนี้เองจึงทำให้จิตที่เป็นตัวเดิมนี้เป็นจิตที่แปลว่าคิดนึกรู้ ที่แปลว่าเก็บสั่งสม ที่แปลว่าวิจิตรหลายหลากต่างๆ ดังที่ได้แสดงอธิบายแล้ว และก็ทำให้มีอหภาวะคือความเป็นเรา ตลอดจนเป็นอหังการมมังการ อหังการก็คือว่าเครื่องกระทำให้เป็นเรา มมังการก็แปลว่าเครื่องกระทำให้เป็นของเรา หรือว่ามีตัวเราของเรา หรือว่ามีสัตตภาวะคือความเป็นผู้ข้องเป็นผู้ติดอยู่ และสภาพที่เรียกว่าจิตอันเป็นตัวเดิม สภาพที่เรียกว่าอหภาวะความเป็นเรา หรือสภาพที่เรียกว่าสัตว์ หรือสัตตภาวะความเป็นสัตว์ผู้ข้องผู้ติดนี้ ก็เป็นคำที่สมมติบัญญัติเรียกขึ้นมาถึงสภาพอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ในบุคคลทุกๆ คนนี้ อันไม่มีสรีรสัณฐาน อาศัยอยู่ในกายซึ่งเหมือนกับเป็นตัวบ้าน กายสร้างขึ้นก่อขึ้นก็เข้าอาศัย กายพังบ้านพังก็เคลื่อนออก แล้วก็ไปถือเอากายใหม่บ้านใหม่ตราบเท่าที่ยังมีกิเลสที่เป็นอาสวะดองจิตสันดานอยู่ ก็แปลว่าสภาพที่กล่าวมานี้ไม่ตาย ส่วนที่ตายนั้นก็คือตัวกายหรือตัวขันธ์รูปขันธ์นามขันธ์กายใจ ซึ่งเหมือนอย่างตัวบ้านดังที่กล่าวมานั้นสร้างขึ้นแล้วในที่สุดก็พัง แล้วสร้างขึ้นใหม่เป็นบ้านใหม่ แล้วบ้านใหม่นั้นก็เก่าไปๆ แล้วก็พัง แล้วก็สร้างบ้านขึ้นใหม่อีก แล้วเก่าไปๆ แล้วก็พัง และบ้านที่สร้างขึ้นนี้ บางคราวก็ลักษณะเป็นมนุษย์ก็เรียกว่ามนุษยโลก บางคราวก็ลักษณะเป็นเดียรัจฉาน เป็นช้างเป็นม้าเป็นวัวเป็นควาย ก็เรียกว่าเดียรัจฉานโลก ก็เป็นอบายอันหนึ่ง บางคราวก็เป็นพวกโอปปาติกะพวกลอยเกิด เช่นเป็นเปรตเป็นอสุรกายเป็นผีเป็นสัตว์นรกซึ่งเป็นอบาย เป็นฝ่ายดีก็เป็นเทพพวกกายทิพย์หรือเป็นพรหม บ้านก็มีต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นชนิดไหนก็ตามกรรม ถ้าทำชั่วไว้บ้านก็เป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นช้างเป็นม้าเป็นวัวเป็นควายเป็นต้น หรือว่าเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ถ้าทำกรรมดีก็เป็นบ้านมนุษย์ ก็มีหน้ามีตาเป็นมนุษย์อย่างนี้ หรือมีกายทิพย์เป็นเทพเป็นพรหมซึ่งคติทางพุทธศาสนานั้น จะเป็นเทพเป็นพรหมเป็นมนุษย์หรือเป็นพวกอบายต่างๆ ก็ต้องมีชาติ เมื่อมีชาติความเกิดก็จะต้องมีความตายในที่สุด ต้องแตกสลายทั้งนั้น ไม่มีที่จะยั่งยืนตลอดไป

เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีชาติมีภพอยู่ คติทางพุทธศาสนาจึงแสดงว่ายังมีกิเลสมีตัณหายังเป็นสัตว์โลก ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อพระญาณของพระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นปรุโปร่งดั่งนี้ก่อนตรัสรู้ จึงได้ทรงมองเห็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ชัดเจน ว่าบรรดาชาติภพทั้งหลายนับไม่ถ้วน ที่พระองค์เองก็ได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ จะเลวที่สุดหรือเลวปานกลางหรือเลวน้อย หรือดีน้อยดีปานกลางดีที่สุดก็ตาม ก็ล้วนอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับ ทุกขะเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงทนอยู่คงที่ไม่ได้ เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตนแท้จริง ล้วนไปยึดถือทั้งนั้น เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เพราะฉะนั้นจึงทรงหน่ายในทุกข์คือหน่ายในชาติภพทั้งหมด ไม่ว่าจะมีชาติภพเป็นมนุษย์เป็นเทพเป็นพรหม ซึ่งยึดถือกันว่ามีความสุขน้อยมีความสุขปานกลางมีความสุขมากก็ตาม ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดดับทั้งนั้น ต้องวนเวียนไปตามกรรมที่ตนเองได้กระทำนั้น ทำกรรมดีก็ต้องไปเข้าถึงชาติภพที่ดี ทำกรรมชั่วก็ต้องไปเข้าถึงชาติภพที่ชั่ว กรรมจึงเท่ากับเป็นผู้สร้าง เรียกว่าชนกกรรม กรรมที่ให้เกิด ไม่มีอะไรมาสร้างให้เกิด แต่กรรมนี้เองเป็นผู้สร้างให้เกิด และกรรมนั้นก็ตนเองเป็นผู้กระทำไม่ใช่ผู้อื่นกระทำ กรรมดีก็ตนเองกระทำ กรรมชั่วก็ตนเองกระทำ ไม่ใช่ผู้อื่นกระทำ

เพราะฉะนั้นตัวเองจึงเป็นผู้กระทำสร้างกรรมให้สร้างตัวเองขึ้นมาอีกในชาติภพต่อไป เพราะฉะนั้นตัวเองจึงเท่ากับเป็นผู้สร้างตัวเอง เพราะสร้างกรรมขึ้นให้เป็นผู้สร้างตัวเองต่อไป ไม่ใช่ผู้อื่น แต่ว่าญาณที่ทรงระลึกได้ถึงชาติหนหลังและถึงกรรมที่ได้กระทำไว้อันเป็นเหตุให้เข้าถึงชาติทั้งหลาย ของพระองค์เองด้วย และของสัตว์ทั้งหลายด้วยก็เช่นเดียวกัน ยาวนักหนา เรียกว่าระลึกย้อนหลังขึ้นไปๆ ก็ไม่รู้จักจบจึงเรียกว่าอนมตัคคะ ที่แปลว่ามียอดหรือเบื้องต้นที่ไม่ตามไปรู้แล้ว คำว่าไม่ตามไปรู้แล้วนี้ ไม่ใช่หมายความว่าตามไปรู้ไม่ได้ แต่ว่าตามไปรู้ได้ คราวนี้เมื่อตามไปรู้แล้วก็ไม่รู้สิ้นสุด เพราะว่าเบื้องต้นอันเป็นส่วนอดีตนั้นยาวไกลและมากมายนักหนา เพราะฉะนั้นเมื่อทรงระลึกได้มีจำนวนมากนักหนาแล้วแต่ยังไม่หมด ก็เป็นอันว่ายุติได้ เพราะว่าได้ความรู้ที่เป็นสัจจะจริงแท้แล้วว่ามีความเวียนว่ายตายเกิดตามกรรมมาแล้วนานนักหนา แล้วก็เป็นความเวียนว่ายตายเกิดจริงๆ ตามกรรมจริงๆ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 18, 2011, 10:38:41 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #23 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2011, 10:43:18 am »



ดับตัณหา ดับทุกข์
และก็สรุปได้แล้ว ว่าความที่เวียนว่ายตายเกิดตามกรรมไปนานนักหนานั้น รวมกันเข้าคำเดียวว่าเป็นตัวทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ไม่ดำรงอยู่คงที่ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ซึ่งเมื่อแยกทุกข์ออกไปแล้ว ย่อมจะได้ลักษณะเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ และลักษณะที่เป็นตัวทุกข์เอง คือเป็นทั้งสิ่งที่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเหมือนอย่างถูกความเกิดความดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเป็นสัตว์บุคคลก็เหมือนอย่างเป็นของร้อนอยู่ตลอดเวลา ต้องถูกเผาอยู่ตลอดเวลา สรุปเข้าก็รวมอยู่ในคำเดียวว่าทุกข์ ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ และที่มีทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์อยู่ดั่งนี้ เพราะมีสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ คือยังมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากนี้เองที่จับพิจารณาดูได้ที่จิตใจ มีลักษณะที่เป็นความอยากความดิ้นรน ที่ปรากฏออกมาเป็นราคะหรือโลภะ เป็นโทสะเป็นโมหะ แต่ก็รวมอยู่ในลักษณะที่เป็นความดิ้นรนเป็นความอยาก ราคะเองก็เป็นตัวดิ้นรน โทสะก็ดิ้นรน โมหะก็ดิ้นรน ไม่สงบทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงยกเอาตัณหาขึ้นเป็นตัวสมุทัย แต่ในปฏิจจสมุปบาทธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นนั้น ได้ทรงพิจารณาจับตั้งแต่ทุกข์ทั้งหลาย มีชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้นที่เราสวดกันทุกวันอยู่

จับเหตุปัจจัยย้อนขึ้นไป ก็ได้ทรงพบเหตุปัจจัยขึ้นไปโดยลำดับ ซึ่งรวมทั้งตัวตัณหานั้นด้วยขึ้นไปถึงอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง คือจิตนี้เองที่เป็นธาตุรู้ แต่ยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหาเป็นต้นเรื่อยไปจนถึงชาติชราโสกะปริเทวะเป็นต้น นี้เป็นสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ จึงทำให้เกิดความหน่าย หน่ายในทุกข์ด้วย หน่ายในสมุทัยในตัวตัณหาทั้งปวงด้วย ก็แปลว่าเกิดคลายความติดใจยินดีคลายความรักในตัวทุกข์ คือหน่ายในชาติภพทั้งหลาย คลายความรักในสมุทัยในตัณหาอวิชชา ก็เปลี่ยนเป็นวิชชาคือความรู้ขึ้น เมื่อเป็นดั่งนี้ตัณหาก็ดับ เมื่อตัณหาดับทุกข์ก็ดับ ความดับทุกข์ก็ปรากฏขึ้น ตัววิชชานี้เองซึ่งเมื่อเกิดขึ้นทำให้อวิชชาดับ ก็เพราะเหตุว่าทรงได้มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลางดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นรวมเข้าแล้วจึงเป็นตัวอวิชชา เมื่อวิชชาเกิดขึ้นอวิชชาก็ดับ กิเลสก็ดับหมดพร้อมทั้งตัณหา ทุกข์ก็ดับ จึงทรงเป็นพุทโธ ผู้ตรัสรู้แล้วผู้ตื่นแล้ว ดังที่ตรัสเล่าไว้ในปฐมเทศนา ว่าเมื่อญาณความหยั่งรู้ผุดขึ้นในธรรมที่มิได้สดับฟังมาก่อนคืออริยสัจทั้ง ๔ ก็ทรงปฏิญญาพระองค์ได้ว่าตรัสรู้ยิ่งแล้วซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบในโลก ดั่งนี้

เมื่อพุทธภาวะปรากฏสัตตภาวะก็ดับ
เพราะฉะนั้น ภาวะเป็นสัตว์ซึ่งเป็นผู้ข้องติดจึงได้หายไปดับไป ปรากฏเป็นพุทธภาวะ ภาวะเป็นพุทธะคือผู้ตรัสรู้ แม้เมื่อเป็นพระพุทธะขึ้นแล้วก็ยังต้องทรงใช้สมบัติของโลก ว่าเราว่าเขาหรือว่าตัวว่าตน ตลอดจนถึงว่าจิตใจวิญญาณมโนเป็นต้น แต่ว่าคำเหล่านี้เป็นสมมติบัญญัติสมมติธรรมบัญญัติธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือว่าพระพุทธสรีระซึ่งเป็นวิบากขันธ์ดับคือแตก ที่คนสามัญเรียกกันว่าตาย จึงไม่เกิดอีกตามที่ตรัสเอาไว้ และสิ่งที่เรียกว่าจิตตัวเดิมก็ดี ตัวเราก็ดี อัตตาตัวตนก็ดี หรือสัตตภาวะคือภาวะเป็นสัตว์ ก็สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทั้งหมดนี้ก็เป็นอันว่าเลิกพูดกัน เพราะเมื่อไม่เกิดอีกก็สิ้นสมมติบัญญัติ สมมติบัญญัติว่าเป็นจิตเป็นบุคคลเป็นเทพเป็นมารเป็นพรหมหรืออะไรก็ไม่มีทั้งนั้น เลิกพูดถึง แต่ว่าแม้จะเลิกพูดถึงก็ไม่ใช่หมายความว่าสูญ


๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๖

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 05, 2012, 04:54:46 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #24 เมื่อ: มิถุนายน 17, 2011, 07:29:24 am »




ครั้งที่ ๑๓ ลักษณะพุทธศาสนา - สังสารวัฏ ()

ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงว่าพระอรหันต์ดับขันธ์แล้วไม่สูญ
ก่อนที่จะกล่าวต่อไปถึงเรื่องนี้
ก็จะได้ทบทวนเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นในข้อที่ควรทบทวน


สุคติและทุคติ
ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าการเวียนว่ายตายเกิดของสัตวโลก รวมทั้งองค์พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ เป็นระยะเวลาที่นานนักหนา และชาติภพที่เวียนว่ายตายเกิดก็มากมายนับไม่ถ้วนที่เรียกว่าอสงไขยหรืออสังเขยยะ ที่แปลว่านับไม่ถ้วน ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ญาณของพระพุทธเจ้าไม่ตามไปรู้จนหมดสิ้น จึงเรียกว่าอนมตัคคะ ที่แปลว่ามีที่สุดในเบื้องต้นที่ไม่ตามไปรู้ ตามศัพท์นั้นแปลว่าไม่มีที่สุดที่ตามไปรู้ มีที่สุดที่ไม่ตามไปรู้ และคำว่าที่สุดนี้ อันที่จริงก็มีที่สุดอยู่ ๒ อย่างคือที่สุดเบื้องต้น กับที่สุดเบื้องปลาย คติทางพุทธศาสนานั้น ที่สุดเบื้องต้นอันหมายความว่าอดีตก็ยืดยาวและมากชาติมากภพมากมาย จนถึงญาณของพระพุทธเจ้าไม่ตามไปรู้ พิจารณาดูแล้วว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงได้พระสัพพัญญุตาญาณคือความรู้ธรรมทั้งปวง ซึ่งเข้าใจกันคลุมว่าทรงรู้ทั้งหมด ฉะนั้นจึงพิจารณาเห็นว่า หากว่าพระญาณของพระองค์จะตามไปรู้ คือระลึกย้อนหลังไปถึงชาติภพในอดีต ก็ย่อมจะรู้ได้เรื่อยๆ ไป แต่ว่าก็ไม่หมดสักทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่าได้ทรงระลึกรู้ย้อนหลังไปมากมาย เพียงพอที่จะยุติได้แล้ว ก็เป็นอันว่ายุติ ไม่ตามไปรู้ต่อไปอีก และพิจารณาดูว่าจะมีหลักเกณฑ์อะไรที่จะยุติได้ ก็พิจารณาเห็นว่าเมื่อทรงสรุปได้ว่าจะมีกี่ภพชาติ ๑๐ ชาติ ๒๐ ชาติ ๑๐๐ ชาติ ๑๐๐๐ ชาติ ๑๐๐๐๐ ชาติ แสนชาติ ล้านชาติ โกฏิชาติ จนถึงนับไม่ถ้วนก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็สรุปลงได้เป็นสอง คือสุคติ ไปดีอย่างหนึ่ง ทุคติไปชั่วอย่างหนึ่ง สุคติไปดีก็คือชาติที่เป็นมนุษย์ ชาติที่เป็นเทพ ชาติที่เป็นพรหม ทุคติไปชั่วก็คือ ชาติที่เป็นเดียรรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรตอสุรกายบรรดาที่เป็นอบายภูมิทั้งหลาย สรุปลงก็เป็นสุคติและทุคติดังที่กล่าวมานี้ นี้ข้อหนึ่ง

และทรงจับเหตุได้แล้วแน่นอนว่าอะไรเป็นเหตุให้ไปสุคติ อะไรเป็นเหตุให้ไปทุคติ ก็คือกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ กรรมดี กรรมชั่ว กรรมดีก็ให้ไปบังเกิดดีเป็นสุคติ กรรมชั่วก็ให้บังเกิดชั่วเป็นทุคติ ก็ทรงจับเหตุได้ว่าคือกรรม และเมื่อได้ทรงระลึกย้อนดูมากมายก็ทรงเห็นกรรมชัดเจน เพราะเหตุว่าทรงทราบรายละเอียดว่าเกิดในชาตินั้นๆ ทำอะไร และเมื่อตายไปแล้วไปเกิดเป็นอะไร ก็จับได้ชัดเจนว่าไม่มีใครที่ไหนมาสร้าง เป็นไปตามกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้เท่านั้น และในการที่จะรู้กรรมนี้ จำเป็นที่จะต้องระลึกรู้ไปได้มากๆ เหมือนอย่างว่าได้ตรวจทำสถิติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้มากๆ มากจนสามารถจะพิจารณาวิจัยได้ ซึ่งก็เป็นหลักปฏิบัติในทางที่จะค้นคว้าแม้สิ่งที่เป็นวัตถุ จึงจำเป็นที่จะต้องมีสถิติที่เป็นมาแล้ว และเพราะเหตุนี้จึงได้มีตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า คนที่ระลึกชาติได้เพียงหนเดียวนั้น ยังมีมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดได้ เพราะว่าบุคคลบางพวกทำดีในชาตินี้ ตายแล้วไปเกิดในทุคติ เช่นไปนรกหรือไปเกิดเป็นเปรตอสุรกาย บุคคลบางพวกทำชั่วในชาตินี้ ตายแล้วไปเกิดในสุคติ เช่นว่าไปเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลที่มีสุข หรือไปเกิดในสวรรค์ เมื่อเป็นดั่งนี้คนที่ระลึกชาติได้เพียงหนึ่งหนนั้นอาจมีความเห็นผิดได้ ว่าทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดีคือว่าทำชั่วในชาตินี้ ตายแล้วไปเกิดในสุคติดังกล่าว ทำดีได้ชั่วก็คือทำดีในชาตินี้ ตายแล้วไปเกิดในทุคติดังกล่าว ระลึกชาติได้หนเดียว จึงอาจมีมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดได้ แต่ว่าพระพุทธองค์นั้นทรงรู้ระลึกชาติได้มากมายดังกล่าวแล้ว นับว่าทรงได้สถิติที่ยืดยาวและมากมายเพียงพอ จนสรุปได้ว่ากรรมนั้นมีผลเป็น ๓ อย่าง

สรุปผลของกรรม
หนึ่ง กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน
สอง กรรมที่ให้ผลในภพชาติต่อไป
สาม กรรมที่ให้ผลในภพชาติที่สืบต่อไปอีกจากภพชาติหน้า


ทรงสรุปผลของกรรมได้เป็น ๓ ดั่งนี้ อันหมายความว่า เช่นคนทำดีในชาตินี้ ชาติหน้าก็ได้รับผลดีต่อไป แต่บางคนนั้นทำดีในชาตินี้ ในชาติหน้ายังไม่ได้รับผลของความดี เพราะว่าต้องรับผลของความชั่วที่ทำไว้แล้วในชาติก่อนจากชาตินี้ก่อน และในชาติภพต่อๆ ไปอีกจึงจะได้รับผลดีที่ทำไว้ในชาตินี้ เพราะเหตุที่ได้ทรงระลึกรู้ถึงความเวียนว่ายตายเกิดของสัตวโลกมากมาย จึงสรุปผลการให้ผลของกรรมได้เป็น ๓ ดั่งนี้ ซึ่งเป็นความรู้ที่แน่นอน เพราะสถิติที่ทรงได้นั้นมากมายเพียงพอ และยังได้ตรัสรู้ถึงกรรมและการให้ผลของกรรมซึ่งมีรายละเอียดอย่างอื่นๆ ซึ่งทรงวางเป็นหลักสั่งสอนได้อย่างแน่นอน และก็มิใช่ว่าจะต้องรอไปถึงชาติหน้า กรรมและการให้ผลของกรรมนั้นก็ปรากฏตั้งแต่ชาตินี้ ซึ่งก็ทรงแสดงสั่งสอนไว้อีกที่จะพิจารณาเห็นได้ก็เป็นอันว่าทรงจับเหตุของความเวียนว่ายตายเกิดในสุคติและในทุคติได้ว่าคือกรรม แล้วก็ทรงจับได้ว่าการให้ผลของกรรมย่อลงก็เป็น ๓ ดั่งนี้ และก็ทรงจับเหตุได้อีกว่า ทำไมจึงต้องทำกรรมอันเป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดในสุคติบ้างในทุคติบ้าง ก็เพราะยังมีกิเลส ตั้งต้นแต่อวิชชาคือความไม่รู้ และเป็นปัจจัยให้เกิดผล

แล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดเหตุสืบต่อกัน จนถึงเป็นภพเป็นชาติ เป็นภพต่างๆ เป็นทุกข์ต่างๆ วนเวียนกันอยู่ ดังที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ซึ่งสรุปเข้าก็ในอริยสัจทั้ง ๔ อันทำให้ได้ตรัสรู้ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้อาสวะ กิเลสที่ดองสันดาน นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ วิชชาที่ทำให้รู้แจ่มแจ้งขึ้นตามความเป็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ เรียกว่า ๒ สาย สายหนึ่งก็คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อีกสายหนึ่งก็คืออาสวะ เหตุเกิดอาสวะ ความดับอาสวะ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ จึงได้ทรงเป็นพุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เห็นแล้ว เป็นความตรัสรู้ขึ้นในธรรมที่มิได้ทรงสดับมาก่อน เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นเอง จึงได้พระนามว่าสัมมาสัมพุทธะ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ที่เรียกว่าไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอนก็หมายถึงตอนนี้ ตอนที่พระญาณที่อริยสัจทั้ง ๔ นี้ผุดขึ้นในธรรมที่มิได้ตรัสรู้มาก่อน คือไม่ได้สดับฟังมาก่อน จึงทรงปฏิญญาพระองค์ว่า เป็นอภิสัมพุทธะ ตรัสรู้เองชอบ พระสัมมาสัมโพธิญาณ ความหยั่งรู้ ตรัสรู้เองโดยชอบ เมื่อทรงจับเหตุแห่งความเวียนว่ายตายเกิดที่ทรงระลึกรู้ในพระญาณที่ ๑ จนถึงที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่ายุติได้ ไม่ต้องไปหาสถิติต่อไปอีก สถิติคือชาติภพในอดีตมากมายนั้น ทรงระลึกรู้ไปๆ ก็ไม่หมด แต่ว่าเมื่อมากจนมีสถิติเพียงพอให้ทรงจับเหตุได้ดังกล่าว ก็เป็นอันยุติได้แล้ว ไม่ต้องตามรู้ต่อไปอีก

เพราะฉะนั้นความเวียนว่ายตายเกิดในอดีตคือในเบื้องต้น จึงเรียกว่าอนมตัคคะ คือมียอดหรือมีที่สุดที่ไม่ตามไปรู้ แม้พระพุทธญาณเองก็ไม่ตามไปรู้ ไม่ใช่หมายความว่าตามไปรู้ไม่ได้ ตามไปรู้ได้ แต่ว่าไม่จบ คงมีเรื่อยๆ เมื่อระลึกก็รู้ไปๆ และเมื่อมีสถิติจับเหตุได้แน่นอนดังกล่าว ก็เป็นอันว่ายุติได้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่ามีที่สุดที่ไม่ตามไปรู้ คือแม้พระพุทธญาณก็ไม่ตามไปรู้ และเพื่อให้ชัดจึงเติมคำว่าในเบื้องต้น มีที่สุดในเบื้องต้นที่ไม่ตามไปรู้ แต่ว่าในที่สุดในเบื้องปลายคือในอนาคตนั้นก็อาจตามไปรู้ได้ ไม่ยาวนักก็ได้หรือยาวก็ได้ คือผู้ที่ได้ตั้งอธิษฐานจิตที่จะตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นเอง คือที่ปรารถนาพุทธญาณ ปรารถนาความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็จับบำเพ็ญบารมี ก็อาจจะทำนายถึงที่สุดเบื้องปลายได้ และแม้ผู้ที่บำเพ็ญบารมีในส่วนที่จะเป็นสาวก คือฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็ปฏิบัติไปในมรรคมีองค์ ๘ ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปจริงๆ มีความก้าวหน้าไปในทางปฏิบัติ ก็อาจจะทำนายรู้อนาคตในเบื้องปลายได้ว่าจะถึงที่สุดในเมื่อไหร่ อย่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายทรงปรารถนาพุทธภูมิ ทรงบำเพ็ญพระบารมี พระพุทธเจ้าในอดีตที่ทรงปรารถนาพุทธภูมิด้วยนั้น ก็ได้เคยมีพุทธทำนายไว้ ว่าเมื่อนั้นๆ ท่านผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นอันว่ารู้ถึงที่สุดเบื้องปลายได้ แม้พระสาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน เมื่อได้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ จริงๆ ก็สามารถที่จะกำหนดเบื้องปลายได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด หมายความว่ากำจัดกิเลสและอาสวะได้สิ้นเชิงเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นอันสิ้นชาติสิ้นภพไม่เกิดอีก ก็เป็นถึงที่สุด คือที่พระอรหันต์ดับขันธ์แล้วไม่เกิด แต่ว่าก็ไม่สูญ ดังที่ได้กล่าวถึงไว้แล้ว

ตามที่กล่าวมานี้ ก็มาทบทวนทำความเข้าใจในคำว่า
อนมตัคคะ ที่หมายถึงสังสารวัฏความเวียนว่ายตายเกิด มีที่สุดในเบื้องต้นที่ไม่ตามไปรู้แล้ว แม้พระพุทธญาณก็ไม่ตามไปรู้ แต่ในเบื้องปลายนั้นอาจจะรู้ได้ ยาวก็ได้สั้นก็ได้ แต่ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็คงยาวมากคล้ายๆ หรือเหมือนในเบื้องต้นเหมือนกัน แต่ถ้าปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ก็ยังอยู่ในเขตที่เรียกว่าตามไปรู้ได้ ยิ่งเป็นพระโสดาบันแล้วยิ่งมีกำหนดไว้ชัดเจนทีเดียวว่า จะเกิดอีกไม่เกินเท่านั้นชาติเท่านี้ชาติ จึงเป็นระยะเวลาไม่มาก ก็นับว่าถึงที่สุด พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เรียกว่าธรรมนั้นก็เป็นคำสั่งสอนที่คล้ายๆ อย่างนี้เป็นอันมาก ดังบรรดาโรคทั้งหลายมีมากมายโรคนั้นโรคนี้ พระพุทธเจ้าได้สรุปไว้ ๓ อย่าง คือ

๑. โรคบางอย่างไม่รักษาก็หาย รักษาก็หาย
๒. โรคบางอย่างรักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย
๓. โรคาบางอย่างรักษาหายได้ ไม่รักษาก็ไม่หาย


ทรงสรุปไว้ ๓ อย่าง และธรรมที่ทรงแสดงถึงบุคคลประเภทต่างๆ ทรงแสดงถึงธรรมมีข้อเดียว สองข้อเป็นต้น ต่างก็ล้วนเป็นข้อสรุปทั้งนั้น ตั้งแต่ทุกะ หมวด ๒ ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง คือบรรดาธรรมคือคุณอันจะเป็นเครื่องเกื้อกูลอุปการะมากทั่วๆ ไปนั้น ก็สรุปเข้ามา ๒ อย่าง คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ในข้ออื่นอีกก็เหมือนกัน เช่นเป็นบุคคลก็บุคคลหาได้ยากสอง คือ ๑. บุพการี ผู้กระทำอุปการะก่อน ๒. กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านได้กระทำแล้ว และประกาศอุปการะของท่านที่ทำแล้วให้ปรากฏคือตอบแทน ดั่งนี้ก็เป็นข้อที่สรุปเข้ามา สรุปเข้ามาให้บุคคลรู้และจะได้ปฏิบัติ

ทรงตรัสรู้เหตุและผลในอริยสัจ

ดังเช่นพระญาณของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ระลึกถึงชาติหนหลังต่างๆ ได้มากมายดังกล่าวแล้ว ก็เป็นความระลึกรู้ที่รู้ไปว่าชาติไหนเกิดเป็นอะไรทำอะไร และชาติต่อไปเป็นอะไรทำอะไรระลึกไปก็รู้ไปๆ เป็นสถิติที่ทรงจับได้ว่ารวมเข้าก็เป็นสุคติเป็นทุคติ และรวมเข้าก็เพราะกรรมรวมเข้าก็เพราะยังมีกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้ทำกรรม และกิเลสนั้นก็ทรงจับเริ่มต้นแต่อวิชชาเป็นเหตุปัจจัยเรื่อยไป จนถึงชาติภพต่างๆ รวมเข้าก็เป็นอริยสัจ ๔ สองสาย รวมเข้าก็เป็นข้อสรุปทั้งนั้น และเมื่อได้ข้อที่สรุปเข้าดั่งนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าสิ้นปัญหาทั้งหมด แม้จะมีปริมาณมากมายนับไม่ถ้วน แต่ก็สรุปเข้าในหลักการในหัวข้อที่ตรัสรู้นั้น

ยกตัวอย่างดังเช่นว่า เมื่อยังมีทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ก็จะต้องมีทุกข์อันเป็นตัวผล และเมื่อมีเหตุคือสมุทัย ก็ต้องมีผล มีทุกขสมุทัยก็ต้องมีทุกข์ ทุกขสมุทัยเป็นเหตุ ทุกข์ก็เป็นผล และทุกข์นั้นก็ตั้งต้นเป็น ชาติปิ ทุกฺขา ชาติความเกิดเป็นทุกข์ ดังที่เราสวดกัน เพราะฉะนั้นในชาติเดียวสองชาติสามชาติหมื่นชาติแสนชาติล้านชาติโกฏิชาติหรือนับไม่ถ้วนชาติ ก็รวมเข้าเป็น ชาติปิ ทุกฺขา ทั้งนั้น ไม่มีที่จะเป็น ชาติปิ สุขา ต้องเป็น ชาติปิ ทุกฺขา ทั้งนั้น แล้วก็เกิดทุกขสมุทัยที่ตัณหา ซึ่งสืบขึ้นไปถึงวิชชาเป็นต้นทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น
เมื่อจับหลักอันแน่นอนได้ดั่งนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปกังวลว่า
กี่ชาติๆ เมื่อยังมีทุกขสมุทัยอยู่ก็ต้องมีชาติทุกข์ อดีตก็เหมือนกัน อนาคตก็เหมือนกัน ปัจจุบันก็เหมือนกัน เป็นหลักอันเดียวกันหมด เหมือนอย่างวิชาการปัจจุบัน เช่นว่าฝนตก หากว่าจะค้นหาสถิติว่าปีหนึ่งมีฝนตกกี่หน แล้วก็นับย้อนขึ้นไปว่าปีที่แล้วมีฝนตกกี่หน แล้วก็นับย้อนขึ้นไปๆ อีก ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๕๐ ปี ๑๐๐ ปี ๑๐๐๐ ปี แสนปี ว่าปีหนึ่งๆ มีฝนตกกี่หน ก็ไม่สิ้นสุดอีกเหมือนกัน หรือแม้ว่าจะย้อนไปในอนาคตว่าปีหน้าฝนตกกี่หนก็เหมือนกัน แต่ว่าเมื่อพิจารณาหาเหตุว่าฝนตกเพราะอะไร เมื่อจับเหตุได้ดังหลักของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่จับเหตุของฝนตกได้ว่าเพราะอะไรฝนจึงตก เมื่อจับเหตุได้ว่าเพราะอะไร เพราะเหตุนี้ฝนจึงตก ดังนี้ฝนซึ่งเป็นตัวผลจึงบังเกิดขึ้น ก็เป็นอันว่าไม่จำเป็นจะต้องไปทำสถิติว่าปีที่แล้วๆ มาย้อนหลังไปฝนตกกี่หนเพราะว่าจับเหตุได้แล้ว และเมื่อจับเหตุได้แล้วจึงสามารถทำฝนเทียมได้ ทำฝนหลวงได้ ดังที่ทำกันอยู่ ก็ต้องการที่จะรู้เหตุรู้ผล นี้แหละซึ่งเป็นตัวหลัก

พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้นั้นก็คือตรัสรู้เหตุและผลซึ่งเป็นตัวหลัก ดูตรงที่จิตซึ่งเป็นตัวเดิมของอหังการที่เป็นตัวเรา หรือของสัตวโลกหรือของอัตตาตัวเราตัวเขาที่เป็นภายในนี้แหละ ทรงจับเหตุจับผลได้ และทรงแสดงเหตุผลที่ทรงจับได้นั้นมาสั่งสอน เพราะว่าเมื่อทรงรู้ได้แน่นอนแล้ว ว่าเมื่อยังมีตัวทุกขสมุทัยอยู่ ก็ต้องมีความเวียนว่ายตายเกิด มี ชาติปิ ทุกฺขา กันอยู่เรื่อยไปนั่นแหละ แล้วก็ที่จะมาถึงชาติภพอันนี้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็นับว่าเป็นสุคติ ก็เพราะกรรมดี ฉะนั้นจึงได้ทรงสั่งสอนให้ทำกรรมดี ละกรรมชั่ว ดังโอวาทปาฏิโมกข์ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังกุศลให้ถึงพร้อมคืออุปสมบทกุศล พระพุทธเจ้าก่อนที่จะทรงตั้งวินัยนั้น ก็ทรงสอนให้อุปสมบทแล้วตั้งแต่ต้น ให้อุปสมบทกุศลคือการทำกุศลให้ถึงพร้อม แล้วก็ สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ก็ให้ผ่องใสจากบรรดากิเลสทั้งหลาย เมื่อผ่องใสได้หมด จิตบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว ก็เป็นอันว่าบรรลุถึงที่สุด คือว่าถอนลูกศรคือกิเลสออกจากจิตได้หมดแล้ว จิตสิ้นกิเลสสิ้นอาสวะที่ดองสันดาน ก็เป็นพระอรหันต์ก็สิ้นชาติสิ้นภพกัน ก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป จึงเอาธรรมที่ตรัสรู้แล้วนี้แหละมาสั่งสอนและธรรมที่ตรัสรู้นั้นก็ทรงจับเหตุจับผลจากความตรัสรู้นั้นเองไปโดยลำดับ จนถึงสรุปยอดสุดคือทำกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงให้สิ้นไปหมด จึงทรงเป็นพุทโธขึ้นที่ตรงจุดนั้น


๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๖

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 26, 2012, 07:03:45 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #25 เมื่อ: มิถุนายน 17, 2011, 09:23:22 am »




ครั้งที่ ๑๔ ลักษณะพุทธศาสนา - สังสารวัฏ ()

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร ในการอบรมนวกภิกษุ
พรรษา ๒๕๒๖ ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนา ถึงว่าพระอรหันต์ดับขันธ์
ที่เรียกว่าตายไม่เกิดและไม่สูญ แต่ยังไม่ได้อธิบายประกอบ

ขอกล่าวทบทวนเพิ่มเติมในข้อสังสารวัฏ ความท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย เวียนตายเวียนเกิด มีที่สุดอันไม่ตามไปรู้ ซึ่งได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่สุดในเบื้องต้นไม่ตามไปรู้ ไม่ใช่เพราะพระสัพพัญญุตญาณไม่อาจที่จะระลึกรู้ได้ แต่ว่าพระสัพพัญญุตญาณนั้นระลึกรู้ได้ เมื่อระลึกรู้ไปมากมาย ทรงจับเหตุจับผลได้เพียงพอแล้วก็เป็นอันว่ายุติเพราะว่าระลึกไปก็ยิ่งรู้ไปยืดยาว เมื่อจับเหตุจับผลได้เพียงพอแล้วก็ยุติได้ ไม่ต้องระลึกรู้ไปจนถึงที่สุด จับเหตุจับผลที่สรุปลงได้แน่นอน ว่าสรุปลงแล้วก็เป็นสุคติอย่างหนึ่งและทุคติอย่างหนึ่ง และจะไปสุคติหรือไปทุคติก็เป็นไปตามกรรมซึ่งได้กระทำไว้ ถ้าเป็นกรรมดีก็ให้ไปสุคติ คติที่ดี ถ้าเป็นกรรมชั่วก็ให้ไปทุคติ คติที่ชั่ว เมื่อจับเหตุคือกรรมได้ ก็จับเหตุของกรรมต่อไปได้ ว่าคืออาสวะ กิเลสที่ดองจิตสันดานอยู่ อันเป็นตัวเหตุสำคัญที่ต้องให้ประกอบกรรม อันจะนำให้ไปสุคติหรือทุคติ ท่องเที่ยววนเวียนไปไม่จบสิ้นดังกล่าวนั้น ฉะนั้นเมื่อปัญญาญาณที่จับถึงอาสวกิเลสที่ดองจิตสันดานเป็นวิชชาคือความรู้แจ่มแจ้งโพลงขึ้น อวิชชาก็ดับ กิเลสทั้งปวงก็ดับหมด เมื่อสิ้นอาสวะก็สิ้นกรรม เมื่อสิ้นกรรมก็สิ้นความที่จะต้องท่องเที่ยววนเวียนเกิดตายไปอันเป็นตัวผล ผู้ที่สิ้นอาสวกิเลสแล้ว เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ตัวชีวิตนี้พร้อมกับร่างกายจิตใจก็เรียกว่าเป็นวิบากขันธ์ คือขันธ์ที่เป็นผลของกรรมเก่า ก็ดำรงอยู่ต่อไปจนแตกดับไปตามธรรมดา แต่ท่านผู้สิ้นอาสวะที่เรียกว่าขีณาสพหรือพระอรหันต์ เมื่อดับขันธ์ก็ไม่เกิดอีก แต่ก็ไม่สูญ

อธิบายสังสารวัฏเพิ่มเติม

จะยังไม่อธิบายประกอบถึงเรื่องไม่สูญนี้ แต่ว่าจะจับกล่าวถึงเรื่องเวียนเกิดเวียนตายอีกเล็กน้อย แล้วจะต่อไปถึงเรื่องจิต เรื่องเวียนเกิดเวียนตายอีกเล็กน้อยนั้นก็คือ อันที่จริงสุคติก็ดีอยู่เพราะเป็นชาติที่มีสุข แต่ว่าความที่จะเกิดในสุคตินั้นจะต้องเพราะกรรมดี คราวนี้เมื่อยังมีอาสวกิเลสที่ดองสันดาน ก็ยังไม่แน่ว่าจะทำกรรมดีเรื่อยไปในเมื่อมีความประมาทมัวเมาเลินเล่อเผลอเพลิน เมื่อส้องเสพมิตรชั่วหรือที่เรียกว่าส้องเสพคนพาลอันจะนำให้ประพฤติชั่วประกอบกรรมที่บาปเป็นอกุศล ก็จะต้องไปทุคติคือคติที่ชั่ว เมื่อไม่ประมาทเพราะเหตุต่างๆ เช่นเหตุที่ส้องเสพบัณฑิตเป็นต้น ก็จะนำให้ประกอบกรรมที่ดีก็ให้ไปสุคติ เพราะฉะนั้นภาวะของบุคคลที่ยังมีกิเลสที่ดองจิตสันดานอยู่ดังกล่าวนี้ จึงเรียกว่าบุถุชน แปลว่าคนหนา คนหนานั้นก็มักจะอธิบายว่าคนที่มีกิเลสหนา มีกิเลสยังไม่บางเบา หรืออีกอย่างหนึ่งหนาแปลว่ามาก บุถุชนคือคนหมู่มาก หรือคนกลุ่มใหญ่ ก็เพราะว่าคนหมู่มากหรือคนกลุ่มใหญ่ในโลกนี้ยังมีกิเลสที่ทำให้บางคราวก็ประมาทบางคราวก็ไม่ประมาท ก็ตกอยู่ในอรรถคือเนื้อความว่ากิเลสหนานั่นแหละ บุถุชนจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในจำพวกอนิยต อนิยตแปลว่าไม่แน่ คือไม่แน่ใจว่าจะดีเรื่อยไปหรือว่าจะชั่วเรื่อยไป ไม่แน่ว่าจะไปสุคติเรื่อยไป ฉะนั้นจึงมีโอกาสที่จะต้องไปทุคติ เมื่อเป็นดั่งนี้ความท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายนั้นจึงยังหวังไม่ได้ว่าจะไปสุคติเรื่อยไป ต้องเป็นไปตามกรรมที่ได้กระทำแต่เมื่อรวมเข้าแล้วก็คือว่าไปสุคติบ้างไปทุคติบ้างสลับกันไป

และอีกประการหนึ่ง แม้ว่าจะไปสุคติคติที่ดีก็ไม่เป็นสิ่งที่แน่นอนว่าจะมีสุขเสมอไป จะต้องมีทุกข์เพราะสมปรารถนาบ้างไม่สมปรารถนาบ้าง เพราะเหตุที่ว่าเมื่อยังมีความปรารถนาอยู่แล้ว ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะต้องสมปรารถนาเรื่อยไป จะต้องสมปรารถนาบ้างไม่สมปรารถนาบ้าง เพราะว่าความสมปรารถนานั้นมิใช่บังเกิดจากตัวความปรารถนา บังเกิดจากข้อหนึ่ง ก็คือว่าสิ่งที่ปรารถนานั้นเป็นวิสัยที่จะพึงได้ และสองก็ต้องประกอบเหตุให้ถูกต้องแก่ผลที่ต้องการ จึงจะได้ประสบผล เช่นว่าต้องการผลมะปรางก็ต้องปลูกต้นมะปราง และการปลูกต้นมะปรางนั้นก็จะต้องมีความพากเพียรในการปลูก ทำการปลูกให้ถูกต้อง รักษาต้นไม้ให้เติบโตจนมีผล ทั้งไม่มีเหตุอะไรมาตัดทอนในระหว่าง ก็จะได้บริโภคผล ถ้าไปปลูกต้นอื่นด้วยต้องการได้ผลมะปรางก็ย่อมไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องประกอบเหตุให้เหมาะกับผลที่ต้องการจึงจะได้ผล และการได้ผลนั้นก็ต้องได้ตามกาลเวลา เช่นว่าต้องการจะได้ผลมะปราง เริ่มปลูกเป็นระยะเวลากี่ปีจึงจะเกิดผล ผลบางอย่างก็ใช้ระยะเวลาน้อย เช่นไม่ถึงปีก็ได้ การทำนาปลูกข้าวไม่ต้องถึงปีก็ได้ข้าว แต่ว่าก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือน เท่านั้นเท่านี้เดือน และเมื่อไม่มีอะไรมาทำลาย น้ำไม่ท่วมน้ำไม่ขาดและไม่มีสัตว์อะไรมากินเป็นต้น มีความสวัสดีมาโดยตลอด เมื่อถึงระยะเวลาก็ได้ผล เพราะฉะนั้นเมื่อมีความปรารถนาและตั้งความปรารถนาขึ้นแล้ว ก็จะต้องเป็นดั่งนี้ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่ได้ก็เป็นทุกข์ ได้ก็เป็นสุข แต่สุขเพราะได้ก็สุขประเดี๋ยวเดียว ทั้งภพชาตินั้นๆ แม้จะเป็นสุคติก็ตาม เมื่อยังมีชาติความเกิดก็ต้องมีดับ มีจุติคือเคลื่อนไปในที่สุด ไม่มีสิ่งใดที่จะตั้งอยู่ตลอดไปเป็นนิรันดร



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #26 เมื่อ: มิถุนายน 17, 2011, 11:53:26 am »



วิชชา วิมุตติ

เพราะฉะนั้นเมื่อได้พระญาณระลึกรู้ จับเหตุจับผลได้โดยตลอดแล้ว จึงทำให้เกิดนิพพิทาคือความหน่าย หน่ายในชาติภพ หน่ายในกิเลสตัณหาเอง เห็นทุกข์ในกิเลสตัณหา เป็นวิชชาคือความรู้แจ่มแจ้งโพลงขึ้น เมื่อรู้ชัดว่านี่เป็นตัวสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ รู้ชัดว่าตัวชาติภพต่างๆ เป็นตัวทุกข์จริง และสมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง ก็หน่ายไม่ต้องการ ตัวหน่ายไม่ต้องการนี้ก็คือความสละ สละไปเอง ท่านจึงมีเปรียบเหมือนอย่างว่า ทีแรกก็คบศัตรูเป็นมิตร ไม่รู้ว่าเป็นศัตรู นึกว่าเป็นมิตรซึ่งเป็นความรู้ผิด ก็คบเอาไว้ มีความชอบพอใจรับว่าเป็นมิตร แต่อันที่จริงเป็นศัตรูเพราะเขามุ่งที่จะฆ่ามุ่งที่จะทำลาย ความที่เข้าใจศัตรูว่าเป็นมิตรนี้คือตัวอวิชชา เป็นตัวโมหะ แต่ว่าตัวบุคคลนั้นไม่รู้ว่าเป็นอวิชชา ไม่รู้ว่าเป็นโมหะ คือไม่รู้ตัวเอง ไม่รู้ความรู้ของตัวเองว่าเป็นอวิชชา ไม่รู้ว่าเป็นโมหะคือความหลง แต่ครั้นเมื่อมารู้ชัดว่าความทุกข์ต่างๆ ที่ได้รับนั้นเป็นตัวทุกข์จริง ซึ่งเกิดจากบุคคลนั้นที่ตนเข้าใจว่าเป็นมิตร แต่อันที่จริงเป็นศัตรูไม่ใช่มิตร รู้ชัดว่าเป็นศัตรู เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้หน่ายในตัวบุคคลนั้น แล้วก็หน่ายในความรักบุคคลนั้น ก็แปลว่าหมดรัก จึงได้ปล่อยวางคนนั้นไม่ยึดเอาไว้ ไม่คบต่อไป นี้คือตัววิชชาคือความรู้แจ่มแจ้งตามความเป็นจริง แล้วก็วิมุตติหลุดพ้นคือหลุดพ้นได้จากความเข้าใจผิดรู้ผิดหลงผิด รู้แจ้งเห็นจริงขึ้นแล้วก็ละได้ ไม่คบอีกต่อไปไม่ให้เข้าใกล้อีกต่อไป นี้คือตัววิชชา

และเมื่อเป็นวิชชาความรู้แจ่มแจ้งขึ้นแล้ว อวิชชาคือความไม่รู้ความหลงที่มีอยู่ก็หายหมด เป็นวิชชาคือความรู้ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ก็หลุดพ้นคือพ้นดั่งนั้นแหละ พ้นจากความยึดถือว่าคนนั้นเป็นมิตรต่อไป สละได้หมดไม่คบเป็นมิตร คลายความรักความยึดความติดหมดในบุคคลนั้น เพราะรู้ชัดว่าเป็นศัตรูผู้ทำลาย เมื่อรู้จริงแล้วก็ละสิ่งที่ไม่รู้นั้นได้ ละสิ่งที่ถือเอาผิดนั้นได้ อันนี้เป็นตัววิมุตติคือความหลุดพ้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงนำธรรมที่ตรัสรู้นี้แหละมาทรงแสดงสั่งสอน แต่ว่าธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้นก็คือเป็นประมวลหรือเป็นย่อ เพื่อเป็นแบบปฏิบัติได้ทีเดียวหรือเป็นแบบคติพจน์ทีเดียว ได้ตรัสรู้ถึงความเป็นไปของสังสารวัฏของสัตว์บุคคล ที่เวียนว่ายตายเกิด ที่ประกอบกรรมดีบ้างชั่วบ้าง ที่ต้องเป็นทุกข์อยู่ ได้ตรัสรู้แจ้งแทงตลอดทั้งหมด
แล้วก็ทรงแสดงสั่งสอน การที่ทรงแสดงสั่งสอนนั้น ก็ทรงแสดงสั่งสอนให้เหมาะแก่อุปนิสัยของผู้ฟังให้เหมาะกับอินทรีย์ของบุคคลผู้ฟัง เพื่อให้บุคคลผู้ฟังรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมา ฉะนั้นในบางคราวก็ทรงเล่าประวัติที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติมาเช่นในปฐมเทศนา ในบางคราวก็ทรงยกเอาเหตุผลที่ได้ตรัสรู้นั้นมาแสดง ในบางคราวก็ทรงแสดงเป็นคติพจน์หรือคติธรรมสำหรับปฏิบัติทีเดียว เช่นที่ได้ยกมาแล้วหลายข้อหลายบท ตลอดจนถึงข้อที่ทรงแสดงถึงพระโอวาท ๓ ข้อ ว่าไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม และทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส

ทรงสอนให้ฝึกจิตอบรมจิตที่เป็นตัวเดิม

ก็จะทบทวนเรื่องจิตนี้อีก ที่ได้เริ่มกล่าวมาแล้วว่าจิตนี้เป็นหลักสำคัญ และทางพุทธศาสนาก็สอนให้อบรมจิต ให้ฝึกจิต ให้ข่มจิต อันหมายถึงจิตที่เป็นตัวเดิมนี้เอง และในบางแห่งก็เรียกว่าวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ในธาตุ ๖ ดังที่กล่าวมาแล้ว และในข้อที่กล่าวถึงจิตนี้บางทีก็กล่าวว่า ตัวฉันหรือตัวเราหรือตัวข้าพเจ้าหรืออัตตาตัวตน และก็ได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนอีกเหมือนกัน ให้รักษาตนให้ฝึกตนให้มีตนเป็นที่พึ่ง และเมื่อกล่าวเป็นกลางๆ ก็กล่าวว่าสัตว์หรือสัตวโลกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และก็ได้กล่าวมาแล้วว่าในบุคคลทุกๆ คนนี้มี ๒ อย่างที่ประกอบอาศัยกันอยู่ คือส่วนที่เป็นสรีรสัณฐาน กับส่วนที่ไม่มีสรีรสัณฐาน ส่วนที่มีสรีรสัณฐานนั้นก็รวมทั้งรูปธรรมนามธรรมที่ประกอบกันเป็นขันธ์ ๕ และส่วนที่ไม่มีสรีรสัณฐานนั้นก็จิตที่เป็นตัวเดิมหรือธาตุรู้ และแม้นามธรรมนั้นที่อาศัยกายบังเกิดขึ้นหรืออาศัยจิตบังเกิดขึ้น ก็ไม่มีสรีรสัณฐานเหมือนกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับไปกับสรีรสัณฐาน

แต่จิตที่เป็นตัวเดิมหรือเป็นสภาวะอัตตา ดังที่ตรัสสอนว่า
ตนเป็นที่พึ่งของตนให้ฝึกตน และจิตที่เป็นตัวเดิมนี้ก็ตรัสสอนว่าให้ฝึกจิตให้อบรมจิต หรือว่าเราหรือข้าพเจ้าหรือฉันดังที่แสดงไว้ในพระญาณที่ ๑ ดังกล่าวแล้ว หรือสัตว์ที่เรียกว่าสัตวโลก เมื่อขันธ์เป็นที่ยึดถือหรือนามรูปนี้ดับ ที่เรียกว่าตาย ส่วนที่เรียกว่าจิต วิญญาณธาตุ ตัวเราหรืออัตตา หรือสัตว์ ก็ไม่ดับไม่แตกสลายไม่ตายไปตามรูปธรรมนามธรรม แต่จุติคือเคลื่อนไปถือภพชาติใหม่ตามกรรมดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นสิ่งที่ส่วนหนึ่งตายส่วนหนึ่งไม่ตาย ส่วนที่ไม่ตายนั้นก็เคลื่อนไปถือภพชาติใหม่ตามกรรม จึงมาสรุปเข้าตอนนี้อย่างนี้ และเมื่อสรุปเข้าตอนนี้อย่างนี้แล้ว จึงใคร่ที่จะได้แสดงเสียตอนนี้เลยทีเดียวว่าอันสภาพที่ไม่ตายที่เคลื่อนไปถือภพชาติใหม่นั้นก็จำเป็นที่จะต้องสมมติชื่อขึ้นเรียก ว่าสภาพนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้นชื่อที่สมมติขึ้นเรียกก็ดังที่ได้กล่าวมานั้นนั่นแหละ จิต วิญญาณ อัตตา หรือเมื่อเพ่งเข้ามาจำเพาะก็ตัวเราตัวข้าพเจ้าหรือตัวฉันหรือภาวะที่เป็นสัตว์ ก็สมมติเรียกสิ่งนั้นว่าอย่างนี้

อนุสสติญาณเกิดจากสมาธิ

คราวนี้เมื่อมีสภาพอันหนึ่งที่ยังไม่ตาย ยังไปถือภพชาติใหม่อันสมมติเรียกชื่อต่างๆ กันนั้น ก็สภาพอันนี้เองที่ได้ผ่านภพชาติทั้งหลายมาเป็นอันมาก และสภาพที่ผ่านภพชาติทั้งหลายมาเป็นอันมากนี้ ก็เป็นธรรมชาติที่เก็บไว้ได้ เพราะฉะนั้นจิตจึงแปลว่าเก็บ สั่งสม ซึ่งอย่างหนึ่งก็คือสั่งสมอาสวะอันเป็นส่วนชั่ว สั่งสมบารมีอันเป็นส่วนดีไว้ได้ พอกพูนไว้ได้เรื่อยๆ ไป ตลอดถึงเก็บเรื่องราวที่ผ่านมาไว้ได้ด้วย เหมือนอย่างที่เราเรียกอย่างสามัญว่าจำได้ จารึกไว้ได้ อยู่ในสภาพอันนี้ ซึ่งอย่างหนึ่งก็สมมติเรียกว่าจิต ซึ่งแปลว่าเก็บหรือสั่งสม ฉะนั้นทุกๆ คนจึงยังมีสิ่งที่เก็บไว้ในจิตอันเป็นตัวเดิมนี้ หรือเป็นสภาพที่ยังไม่ตายอยู่ได้ทุกอย่างในจิตของตนเอง จิตของทุกๆ คนในบัดนี้ก็เป็นอย่างนั้น ยังเก็บเอาไว้ได้ อย่างเช่นเหตุการณ์ของทุกๆ คนในบัดนี้ตั้งแต่เกิดมาจำความได้จนบัดนี้ ทำอะไรทุกๆ วัน เห็นอะไรทุกๆ วัน ได้ยินอะไรทุกๆ วัน เป็นต้น จิตอันนี้ก็เก็บไว้ได้ทุกอย่าง แต่ว่าเรานึกไม่ได้หรือระลึกไม่ได้ บางทีเหตุการณ์เมื่อวานนี้เองก็รู้สึกว่าลืมไปแล้ว ระลึกไม่ได้นึกไม่ได้ ยิ่งย้อนหลังไปหลายๆ วันก็ยิ่งนึกไม่ได้ที่เรียกว่าลืม แต่อันที่จริงนั้นไม่ลืมไม่ได้หายไป ยังคงเก็บไว้ในจิตของตนของทุกๆ คน คราวนี้ในชาติอดีตที่แล้วมาก็เหมือนกัน ได้เกิดเป็นอะไรมาทำอะไรไว้ที่ไหน ก็ยังเก็บเอาไว้ในจิตของตนเช่นเดียวกัน แต่ว่านึกไม่ได้ระลึกไม่ได้ พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงทำสมาธิ ดังที่กล่าวแล้วว่าทรงทำอานาปานสติ จนทรงได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น จึงได้ทรงน้อมจิตที่เป็นสมาธิที่แนบแน่นนั้นเองระลึกไป ซึ่งตัวระลึกไปนี้ก็คือตัวสตินี้เอง ซึ่งท่านเรียกในพระญาณว่าอนุสสติ ระลึกย้อนไประลึกตามไป

คราวนี้เมื่อนึกย้อนไปนึกตามไปก็รู้ รู้ถึงบ้านเก่าคือขันธ์เป็นที่ยึดถืออยู่ในปางก่อน ที่เรียกว่าระลึกชาติหนหลัง ก็คือระลึกได้ถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่เก็บไว้ในจิตนี้แหละ ไม่ได้เก็บไว้ที่ไหน ระลึกได้ถึงทุกๆ อย่างที่เก็บไว้ในจิตอันนี้ที่ผ่านมาแล้วทั้งหมดเพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่าอนุสสติญาณ คือพระญาณความหยั่งรู้ที่เกิดจากระลึกตามไปหรือระลึกย้อนไปถึงหนหลัง ก็ระลึกสิ่งที่เก็บไว้ในจิตนี้แหละ ในบัดนี้ที่ศึกษาค้นคว้าทางจิตก็ยังได้มีแสดงเอาไว้ในเค้าที่พระพุทธเจ้าทรงระลึกได้นั้น ซึ่งมาแสดงเป็นจิตในสำนึกจิตใต้สำนึก จิตในสำนึกก็คือจิตที่อยู่ในภาวะพื้นผิวที่ปรากฏแก่ทุกๆ คนนี้แหละ ที่คิดอะไรและมีเรื่องอะไรปรากฏขึ้นมาและบรรดากิเลสที่เป็นนิวรณ์ทั้งหลาย ก็ปรากฏอยู่ในจิตในสำนึกที่เป็นพื้นผิวนี้แหละ และอีกอันหนึ่งที่เรียกว่าจิตใต้สำนึก นี้ลึกลงไป ซึ่งใช้วิธีปฏิบัติในปัจจุบันที่สะกดจิตลงไป เมื่อสะกดจิตลงไปถึงจิตใต้สำนึกแล้ว ก็ให้บุคคลที่ถูกสะกดจิตอยู่ใต้สำนึกนั้นได้แสดงเรื่องราวต่างๆ ของตน เช่นสั่งให้ย้อนไป ว่าเมื่ออายุ ๕ ขวบเขียนหนังสือได้อย่างไร ก็ให้เขียน อายุ ๔ ขวบเขียนได้อย่างไร ก็ให้เขียน เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งทุกคนที่ได้ผ่านการกระทำของตนมาในอดีตแล้ว เมื่อถูกสะกดจิตให้ถึงระยะเช่นนั้น และให้แสดงออกไปก็แสดงเช่นนั้น แต่ว่าจะผิดถูกอย่างไรก็ตามแต่ก็ปรากฏว่ากระทำกันอยู่ และสำหรับที่ย้อนหลังไปในชาตินี้ของตัวเองนั้น ก็อาจสอบสวนได้ง่าย แต่เขาก็สะกดลงไปจนถึงก่อนที่จะมาเกิดชาตินี้อีก ๑ ปี ว่าไปเป็นอะไรอยู่ที่ไหน ซึ่งได้มีชาวต่างประเทศผู้หนึ่งที่สนใจในการระลึกชาติได้ของคนทั้งหลายในประเทศ ได้ค้นคว้าและเขียนเป็นหนังสือขึ้น ได้เคยเข้ามาในเมืองไทยมาสืบหาคนที่ระลึกชาติได้ในเมืองไทย แล้วก็จดบันทึกเอาไปเป็นบางคน และฝรั่งคนนี้เคยมาพักที่วัดนี้เมื่อนานปีมาแล้ว แต่บัดนี้ได้ทราบว่าถึงแก่กรรมไปแล้ว ได้เขียนหนังสือเรื่องระลึกชาติได้ โดยที่ไปรวบรวมจากคนที่ระลึกชาติได้พร้อมทั้งพยานหลักฐานต่างๆ ไว้หลายเล่ม

ตามที่เล่ามานี้ ก็แสดงว่าแม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการศึกษาค้นคว้ากันเรื่องสภาพจิตนี้เป็นอันมาก ซึ่งเราทุกคนก็มีจิตใจของเรานี้แหละ แต่ว่าเป็นสภาพที่เรายังศึกษาไม่ถึง ยังไม่รู้ถึงอำนาจจิตใจของตัวเอง ยังไม่รู้ถึงภาวะจิตใจของตนอย่างแท้จริง และเพียงที่ได้ศึกษาแล้วก็จับเป็นจิตในสำนึก จิตใต้สำนึกดังที่กล่าวมานี้ ก็อยู่ในเค้าเดียวกับอนุสสติญาณ ญาณที่ระลึกย้อนหลังของพระพุทธเจ้านั้น ท่านปฏิบัติให้ระลึกย้อนหลังได้ด้วยอำนาจของอัปปนาสมาธิในพุทธศาสนา ไม่ใช้วิธีสะกดจิต วิธีสะกดจิตนั้น ให้คนหนึ่งไปสะกดจิตของอีกคนหนึ่ง แต่ก็สามารถที่จะพอยกขึ้นมาพิจารณาได้ว่า จิตส่วนลึกของทุกๆ คนนี้เมื่อเข้าถึงได้แล้ว จะได้พบความรู้ต่างๆ อีกมาก ความรู้ที่เกิดจากตัวเองได้พบผ่านมาแล้วในอดีต ตลอดจนถึงในปัจจุบันและก็ได้มีคณะแพทย์ของไทยคณะหนึ่งมาสนใจเรื่องนี้อยู่ครั้งหนึ่ง บัดนี้จะเลิกแล้วหรือยังก็ไม่ทราบ

แต่ขณะที่เขายังสนใจอยู่นั้นเคยมาพบแล้วมาเล่าให้ฟัง คือใช้วิธีสะกดจิตอันนี้แหละนำเอาคนตาบอดมาหัดให้ทำสมาธิ และเมื่อได้สมาธิแล้ว คณะแพทย์ที่ทำเรื่องนี้ก็สะกดจิตเด็กคนนั้น ช่วยสะกดจิตเด็กคนนั้นด้วย เพื่อทดลองดู ว่าเมื่อจิตอยู่ในสภาพนั้นจะแสดงถึงสิ่งที่เก็บไว้ได้เพียงไร เด็กที่ได้รับฝึกหัดคือเด็กตาบอด บางคนสามารถเหมือนอย่างเห็นอะไรที่วางอยู่ในห้องของตนได้ และคนๆ หนึ่งนั้นเมื่อได้อำนาจพิเศษอย่างนี้แล้วเกิดขโมยขึ้นมา ขโมยของหนีไปนี้ก็รายหนึ่ง ส่วนอีกรายหนึ่งนั้นพาไปพิสูจน์ในโรงหนัง พาเด็กตาบอดไปดูภาพยนตร์ และคณะแพทย์ก็ถามเด็กว่าภาพยนตร์แสดงเรื่องอะไรเป็นอย่างไร เด็กก็เล่าให้ฟังว่ากำลังว่าถึงเรื่องนั้นๆ ก็ถูกต้อง แต่ว่าพอถึงบทโอ้โลมปฏิโลมเด็กตามืดไม่เห็น ทั้งนี้ก็เพราะเกิดนิวรณ์ขึ้นมา และเมื่อเกิดนิวรณ์ขึ้นมาก็เสียสมาธิ เสียสมาธิแล้วความรู้ที่เคยได้ก็เลยไม่ได้ อันนี้แสดงว่าจิตเป็นธาตุรู้และแม้ว่าจักขุประสาทที่เป็นดวงตาสำหรับเห็นตามปรกติจะเสีย แต่ถ้าฝึกปฏิบัติให้จิตเข้าถึงภาวะอันเหมาะสมแล้ว แม้ตาบอดก็อาจจะเห็นได้โดยอาศัยประสาทอื่นของร่างกาย


๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๖


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #27 เมื่อ: มิถุนายน 17, 2011, 12:52:57 pm »




ครั้งที่ ๑๕
ลักษณะพุทธศาสนา - สังขตธรรมและอสังขตธรรม


ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร ในการอบรมนวกภิกษุ
พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนา และทบทวนถึงจุดที่ว่ามีสิ่งที่ตายและสิ่งที่ไม่ตายประกอบกันอยู่ในบุคคลทุกๆ คน และสิ่งที่ไม่ตายนั้นก็ได้มีคำสมมติบัญญัติเรียกว่าจิต อันหมายถึงจิตที่เป็นตัวเดิม หรือเมื่อหมายจำเพาะเข้ามาถึงในบุคคล ก็เรียกว่าเจ้าหรือฉัน เรียกว่าอัตตา เรียกว่าสัตว์ อันหมายถึงสัตวโลกหรือสัตตภาวะ ความเป็นสัตว์ และก็จะได้กล่าวถึงจุดนี้ต่อไปเพราะจะทำให้เข้าใจถึงเรื่องอะไรที่ยังอยู่ พร้อมทั้งข้อที่ควรคิดว่าจะถือเอาทางไหน ฉะนั้นในเบื้องต้นนี้ก็จะได้กล่าวสรุปเข้ามาเสียก่อนว่า ในสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่ยึดถือกันอยู่นี้ ตลอดจนถึงในโลกธาตุทั้งหมดหรือในสากลโลกทั้งหมด ย่อลงก็มีอยู่ ๒ ส่วน ที่ทางพุทธศาสนาบัญญัติชื่อเรียกไว้เป็นหลักฐานว่า สังขตธรรม กับ อสังขตธรรม หรือสังขารและวิสังขาร ได้มีอธิบายไว้ว่า ธรรมอันปัจจัยปรุงเรียกว่าสังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยไม่ได้ปรุงเรียกว่าอสังขตธรรม และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงอธิบายไว้ในธรรมวิภาค ปริจเฉท ๒ ว่าสิ่งหรือสภาพมีเกิดในเบื้องต้น มีแปรไปในท่ามกลาง มีดับในที่สุด เป็นสังขตธรรม

อีกอย่างหนึ่ง สภาพเกิดแต่เหตุทั้งปวงจัดเป็นสังขตธรรม พระนิพพานจัดเป็นอสังขตธรรม ในพระสูตรได้มีแสดงไว้ ว่าธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นสังขตธรรม ทั้งที่เป็นอสังขตธรรม มีวิราคธรรม ธรรมเป็นที่สิ้นราคะคือกิเลสที่เป็นเครื่องย้อมใจให้ติดให้ยินดี คือนิพพาน เป็นยอด ธรรมทั้งหลายที่เป็นสังขตธรรม มีมรรคเป็นองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ เป็นยอด ในพระสูตรแสดงอธิบายไว้อย่างนี้ ข้อที่พึงสังเกตก็คือว่า ทั้งสังขตธรรมทั้งอสังขตธรรม ท่านใช้คำเป็นพหูพจน์ว่าธรรมทั้งหลาย
เมื่อใช้คำเป็นพหูพจน์ว่าธรรมทั้งหลาย ก็ต้องหมายความว่าไม่ใช่มีสิ่งเดียวทั้ง ๒ อย่าง และเพราะฉะนั้นจึงได้มียอด ถ้าหากว่ามีอย่างเดียวก็ไม่ต้องกล่าวว่ามียอด ที่กล่าวว่ามียอดนั้นก็ต้องแปลว่ามีที่ไม่ใช่ยอด เช่นต้นไม้ก็มีส่วนทั้งหลายของต้นไม้ เช่นราก ลำต้น กิ่งใบ ขึ้นไปตั้งแต่โคนต้นจนถึงยอด เพราะฉะนั้นต้นไม้มียอดแปลว่าต้นไม้นั้นต้องมีโคน มีลำต้นเป็นต้น ฉะนั้นที่แสดงว่ามียอด ดังที่แสดงว่าวิราคะ คือนิพพานเป็นยอดทั้งสังขตธรรมทั้งอสังขตธรรม และตรงที่แสดงเป็นอสังขตธรรม ก็แสดงเป็นพหูพจน์ว่า อสงฺขตา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอสังขตะ สังขตะก็เหมือนกัน สงฺขตา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นสังขตะ แปลว่ามีมาก เพราะฉะนั้นเมื่อหมายความว่ามีมาก ถ้าเป็นอสังขตะก็ไม่ใช่นิพพานเพียงอย่างเดียว จึงควรพิจารณาดูว่าอะไรเป็นสังขตธรรม อะไรเป็นอสังขตธรรม

สังขตธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุง

ว่าถึงสังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยปรุงเสียก่อน คำว่าธรรมอันปัจจัยปรุงนี้ก็หมายความว่าธรรมที่มีเหตุทั้งปวงปรุงให้บังเกิดขึ้น คือเป็นส่วนผลที่เกิดจากเหตุ จึงมีเหตุเป็นตัวปัจจัย คือเป็นเหตุเป็นเครื่องอาศัยให้บังเกิดขึ้น นี้เรียกว่าสังขตธรรม ดังเช่นขันธ์เป็นที่ยึดถือ ๕ ประการนี้ของบุคคล คือกายและใจอันนี้ นามรูปอันนี้ ว่าถึงรูปอันเป็นส่วนรูปกายซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งหลาย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศคือช่องว่าง เหล่านี้ก็บังเกิดขึ้นจากเหตุ นามกายหรือนามธรรม อาการของจิตที่แสดงออกเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เหมือนกัน ที่ปรากฏเป็นเวทนาเป็นต้นนั้น ก็เป็นผลที่เกิดจากเหตุ มีเหตุปรุงให้บังเกิดขึ้น เหตุที่ตามองเห็นหรือที่ทราบได้ในปัจจุบันก็มี เหตุที่ทราบด้วยญาณคือความหยั่งรู้ของพระพุทธเจ้าและของท่านผู้รู้ก็มี เหตุที่เกิดในปัจจุบันที่ตามองเห็นและที่ทราบได้ ก็เช่นรูปกายอันนี้ต้องอาศัยอาหารที่เป็นธาตุ ๔ นั่นแหละ

ซึ่งบุคคลบริโภคใช้สอยสำหรับที่จะทนุบำรุงกายให้ดำรงอยู่ได้ ถ้าขาดอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ นามธรรมก็เหมือนกัน ก็ต้องอาศัยเหตุซึ่งเป็นอาหารสำหรับที่จะให้เกิดขึ้นและบำรุงให้เป็นไปอยู่ เช่นตัวเวทนาเองที่เป็นสุขเป็นทุกข์หรือว่าเป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เกิดจากผัสสะหรือสัมผัส สัญญาก็เหมือนกัน ก็เกิดสืบมาจากเวทนา สืบมาจากสัมผัสหรือผัสสะ วิญญาณนั้นเล่าก็เกิดมาจากนามรูปนี้แหละ และโดยตรงก็คือเมื่ออายตนะภายใน อายตนะภายนอกมาประจวบกัน ก็เกิดเป็นจักขุวิญญาณเป็นต้น
เช่นตากับรูปมาประจวบกันก็เกิดจักขุวิญญาณ วิญญาณทางตา ก็คือมองเห็น การเห็นนี้ก็เป็นตัวจักขุวิญญาณ การเห็นรูป และก็เป็นสิ่งที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นท่านจึงแสดงว่ามีเกิดในเบื้องต้น มีแปรไปในท่ามกลาง และมีดับในที่สุด ฉะนั้นจึงต้องมีอาหารมาบำรุงกันอยู่เป็นส่วนเหตุ นามรูปนี้ชีวิตจึงดำรงอยู่ได้ ดังเช่นที่รูปกายอันนี้ก็ต้องบริโภคอาหารกันอยู่ วันหนึ่งหนหนึ่งสองหนสามหนเป็นต้น และอาหารบางอย่างก็ต้องบริโภคอยู่ตลอดเวลา คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจไม่ออกเสียสักนาทีสองนาทีก็จะอยู่ไม่ได้แล้ว นี้ต้องมีอาหารบำรุงอยู่ตลอดเวลา

นามธรรมก็เหมือนกัน การที่อายตนะภายในภายนอกประจวบกันอยู่ นี้เป็นอาหารของนามธรรม ทุกคนตั้งแต่ตื่นขึ้นมาตาก็ประจวบกับรูป หูก็ประจวบกับเสียง จมูกก็ประจวบกับกลิ่น ลิ้นก็ประจวบกับรส กายก็ประจวบกับสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจก็ประจวบกับธัมมะคือเรื่องราว ตั้งแต่ตื่นจนหลับ จึงได้มีเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณกันอยู่ตลอด แม้ในขณะที่หลับอันที่จริงนั้นอายตนะ ๕ ข้างต้นพักสนิทสักหน่อยหนึ่ง คือตาหูจมูกลิ้นกาย แปลว่าตาไม่รับรูป หูไม่รับเสียง จมูกไม่รับกลิ่น ลิ้นไม่รับรส กายไม่รับสิ่งถูกต้อง คือไม่รับรู้อะไรทาง ๕ นี้ แต่มโนคือใจกับธัมมะคือเรื่องราวนั้นยังไม่หยุด จึงปรากฏเป็นความฝัน ความฝันนั้นก็เกิดขึ้นในขณะที่มโนคือใจกับธัมมะคือเรื่องราวอันเป็นข้อที่ ๖ นี้ยังไม่พัก คือแปลว่ายังไม่หลับ ถ้ามโนคือใจหลับละก็ไม่ฝัน แต่นักจิตวิทยาแม้ในปัจจุบันก็บอกว่าคนเราฝันอยู่มากมาย แต่ว่าตื่นขึ้นมาลืมเสียมาก จึงรู้สึกว่าบางทีก็ไม่ฝัน บางทีก็ฝันน้อย จำได้เลือนรางบ้าง จำได้แน่นอนบ้าง แต่ว่าอันที่จริงนั้นฝันอยู่เรื่อย ก็คือมโนอันนี้ไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ไม่ค่อยจะได้พัก ถ้ามโนพักละก็ไม่ฝัน

สังขตลักษณะ

เพราะฉะนั้นเหล่านี้จึงเป็นสังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยปรุงทั้งนั้น และรอบกายของบุคคล สิ่งที่ตามองเห็นโดยเป็นรูปต่างๆ เป็นต้นไม้ เป็นภูเขา เป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นบุคคล เสียงที่ได้ยิน กลิ่นรสและสิ่งที่ถูกต้องที่ได้ทราบ เรื่องราวที่คิดนึกทางใจซึ่งปรุงขึ้นมา เหล่านี้ก็เป็นสังขตธรรมทั้งนั้น ธรรมมีปัจจัยปรุงทั้งนั้น ตลอดจนถึงโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ ดินฟ้าอากาศอะไรทั้งหมด ฝนตกแดดออกอะไรเหล่านี้ ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ทั้งหมด นี้เป็นสังขตธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุงทั้งนั้น เกิดจากเหตุทั้งนั้น เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างนี้จึงตกอยู่ในลักษณะของสังขตลักษณะ คือลักษณะที่ปัจจัยปรุงทั้งนั้น อันได้แก่

๑. อุปฺปาโท ปญฺญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ
๒. วโย ปญฺญายติ ความเสื่อมดับไปปรากฏ
๓. ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ เมื่อยังตั้งอยู่ ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #28 เมื่อ: มิถุนายน 17, 2011, 02:29:07 pm »



ไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณะ

หรือว่าที่แยกออกมาเป็นไตรลักษณ์ ลักษณะเครื่องกำหนด ๓ หรือเรียกว่าสามัญลักขณะ ลักษณะที่ทั่วไปของสังขารทั้งปวง อันได้แก่อนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่มิได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ แต่ว่าความตั้งอยู่ในระหว่างเกิดและเสื่อมดับในที่สุดนั้น มีระยะเวลาที่เร็วและช้าต่างกัน ชีวิตของบุคคลทุกคนก็เร็วและช้าต่างกัน แต่ว่าพอที่จะกำหนดได้ว่าส่วนมากนั้นสักเท่าไร ดังเช่นที่กำหนดว่า กปฺป หนึ่งหรือกัปหนึ่ง ดังที่มีพระพุทธภาษิตแสดงว่า หากเจริญอิทธิบาทภาวนา ก็จะเจริญอายุกัปหนึ่งหรือเกินกัปหนึ่ง เป็นพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่พระอานนท์ที่แสดงถึงบุคคลผู้เจริญอิทธิบาทภาวนา เมื่อได้ปลงอายุสังขารแล้ว พระอานนท์จึงได้กราบทูลอันเชิญให้อย่าเพิ่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน ให้ทรงเจริญอิทธิบาทภาวนาเพื่อมีพระชนม์ยืนไปกัปหนึ่งหรือเกินกัปหนึ่ง แต่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่าได้ทรงปลงอายุสังขารแล้ว ไม่ทรงกลับคำ

คำว่ากัปหนึ่งหรือเกินกัปหนึ่งนี้ พระอาจารย์ได้อธิบายว่า หมายถึง ชีวิตกปฺป ซึ่งประมาณ ๑๐๐ ปีสำหรับคนในยุคปัจจุบัน ปัจจุบันก็ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลนั้นเรื่อยมา หรือก่อนพุทธกาลนั้นเรื่อยมา ไม่ใช่หมายถึงกัปกัลป์นับอายุไม่ถ้วนดั่งที่บางคนเข้าใจ ชีวิตปัจจุบันก็อยู่ในราวนั้นเป็นอย่างมาก ที่มากไปกว่าก็มีน้อย แต่โดยมากก็ไม่ถึง ๑๐๐ ปี ๘๐ ปีก็นับว่ามาก ชีวิตของสัตว์เดรัจฉานก็มียาวสั้นต่างๆ กัน ดั่งที่ทราบกันอยู่ นี้เป็นระยะของเวลาที่ตั้งอยู่ ขณะตั้งอยู่ก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และก็ได้มีแสดงไว้ตั้งแต่เก่าก่อนพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น และเมื่อพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นก็รับรองเอามาแสดงไว้เหมือนกัน คืออายุของโลก เมื่อโลกเรานี้ก็มีอายุเหมือนกัน มีเกิดมีดับเหมือนกัน แต่ว่าระยะเวลาที่ตั้งอยู่ของโลกนั้นยาวมาก แม้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ดวงดาวต่างๆ นักคิดค้นในปัจจุบันนี้ก็ยังรับรองว่าเป็นสิ่งที่มีเกิดมีดับ แต่ระยะเวลาที่ตั้งอยู่นั้นยาวมาก สำหรับระยะเวลาเกิดดับของโลกนั้นยาวมากจนเรียกว่าหลายสิบกัปกัลป์ เป็นอสงไขยที่แปลว่านับไม่ถ้วนปีคือว่ายาวมาก และโลกนี้เมื่อถึงคราววินาศก็จะวินาศไป แตกสลายไปดับไป ด้วยไฟด้วยน้ำด้วยลม นี้เป็นคติที่แสดงไว้ตั้งแต่ก่อนที่พุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้น และเมื่อพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นก็รับรองสิ่งนี้เข้ามาแสดงไว้เหมือนกัน

โอกาสโลกและสังขารโลก

เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็เป็นสังขตธรรม คือเป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงทั้งนั้น มีเกิดมีดับมีแปรปรวนเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น โลกทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็น โอกาสโลก โลกคือพื้นปฐพี และก็แยกออกมาเป็นภูเขาเป็นต้นไม้พวกพืชต่างๆ เป็นร่างกายมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็เรียกว่า สังขารโลก โลกคือสังขาร คือว่าร่างกายของมนุษย์ของสัตว์เดรัจฉานตลอดถึงของต้นไม้ทั้งหลายก็แบ่งส่วนธาตุดินน้ำลมไฟมาจากโอกาสโลกคือพื้นปฐพีนี้มาประกอบกันขึ้น ผสมปรุงแต่งกันขึ้นเป็นคนเป็นสัตว์เป็นต้นไม้ ก็เรียกว่าสังขารโลก และก็เรียกว่าสัตวโลกหรือสัตตโลกซ้อนอยู่ในสังขารโลกของมนุษย์ของเดรัจฉาน คือว่ามีจิตใจที่เป็นธาตุรู้ซึ่งยึดถืออยู่ มีกิเลสอาสวะอยู่ ก็เป็นสัตว์โลกซ้อนอยู่ในสังขารโลกอันนี้ ซึ่งหากจะกล่าวดังที่กล่าวมาแล้วก็กล่าวได้ ว่าเมื่อสังขารโลกของคนของสัตว์นี้แตกสลาย ส่วนที่เรียกว่าสัตวโลกนั้นก็จุติคือเคลื่อนออกไปถือสังขารโลกใหม่ ทุกคนเรานี้จึงเป็นโลกน้อยๆ ซึ่งแบ่งส่วนมาจากโลกใหญ่คือโอกาสโลก และก็ตกอยู่ในลักษณะเดียวกันคือเกิดดับ และเมื่อตั้งอยู่ก็แปรปรวน

ทรงสอนให้พิจารณาแยกธาตุ

คราวนี้ก็จะต้องคิดเหมือนกัน ว่าตามที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเป็นรูปธรรมนามธรรมที่รวมกันเป็นอัตภาพร่างกายจิตใจของทุกๆ คนตลอดถึงสัตว์เดรัจฉาน ตลอดจนถึงสังขารโลกทั้งหมด โอกาสโลกทั้งหมด นี้เป็นสังขตธรรมฝ่ายที่เป็นรูปหรือฝ่ายที่เป็นวัตถุ คราวนี้ฝ่ายที่เป็นรูปหรือที่เป็นวัตถุนี้อันเป็นอสังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยไม่ปรุงจะมีอีกหรือไม่ คือว่าบรรดาส่วนที่เป็นวัตถุหรือเป็นรูปซึ่งมาปรุงแต่งกันขึ้นก็มาจากเหตุ และบรรดาส่วนที่มาปรุงแต่งกันนั้น ก็จะต้องมีที่มาว่าเอาอะไรมาปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนาจึงมีสอนให้แยกธาตุ และการแยกธาตุที่ต้องการเป็นการปฏิบัติเพื่อสมาธิเพื่อปัญญา อันเป็นสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานนั้น ก็คือว่าก้อนกายอันนี้เอาส่วนที่เป็นรูปก่อน ก็เป็นที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา ก็มาเป็นก้อนอยู่อย่างนี้ มันก็ควรจะเห็นว่าเป็นตัวเราเป็นของเราได้ จึงได้ตรัสสอนให้แยกธาตุออกไป ว่าอันที่จริงนั้นประกอบขึ้นจากธาตุทั้งหลาย โดยมากก็คือธาตุ ๔ คือประกอบขึ้นจากปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม และในที่บางแห่งก็มีสอนให้แยกออกไปเพิ่มอีกธาตุหนึ่งคืออากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง เป็นที่ ๕ สอนให้แยกธาตุออกไป ว่าอันที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นก้อนดอก แต่ว่าแยกออกไปได้เป็นธาตุ ๔ หรือเป็นธาตุ ๕ เพื่อที่จะได้กระจายออกไปว่าไม่ใช่เป็นก้อนเป็นแท่ง จะได้มองเห็นว่าอันที่จริงนั้นไม่ใช่อัตตาตัวตน ไม่ใช่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่แยกออกไปได้เป็นธาตุ ๔ หรือธาตุ ๕

เพราะฉะนั้นคำว่าธาตุนี้จึงเป็นคำที่แสดงถึงส่วนสิ่งที่เป็นที่มาประกอบกับของสิ่งที่เรียกว่าสังขารหรือส่วนผสมอันนี้ คือว่ารูปกายอันนี้ของทุกคนที่เป็นสังขารหรือสังขตธรรมดังที่กล่าวมาแล้ว คือเป็นส่วนผสมปรุงแต่งมาประกอบกันเข้า เหมือนอย่างว่าบ้าน ที่เรียกว่าบ้านนั้นก็คือว่าเครื่องทัพพสัมภาระทั้งหลายมาประกอบกันเข้าเป็นบ้าน แต่อันที่จริงนั้น บ้านก็มาจากสิ่งที่ประกอบทั้งหลาย เช่นมาจากไม้จากอิฐจากปูนจากเหล็กที่เป็นบ้านตึกราม สิ่งต่างๆ เหล่านี้มาประกอบกันเข้ามาปรุงกันเข้าก็เป็นบ้าน บ้านจึงเป็นสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่ง ซึ่งอันที่จริงนั้นไม่มีตัวบ้านจริงๆ คือตัวตนไม่มี ไม่มีตัวบ้านจริงๆ แต่มาจากส่วนผสมปรุงแต่ง ร่างกายอันนี้ก็เหมือนกัน ตัวตนร่างกายไม่มี มีมาจากธาตุที่มาผสมปรุงแต่งกันขึ้น เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะให้ละความยึดถือว่าตัวเราของเรา จึงได้ตรัสสอนให้แยกธาตุ ให้พิจารณาแยกธาตุอันแสดงว่าธาตุ คำว่าธาตุนี้เป็นส่วนที่แยกมาจากคำว่าสังขาร สังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่า สมมติบัญญัติกันว่าเป็นตัวเราของเรานี้ ก็มาจากบรรดาธาตุทั้งหลายที่มาปรุงแต่งกันขึ้น ตรัสสอนให้แยกออกไป


๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๗


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 23, 2012, 12:38:47 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #29 เมื่อ: กรกฎาคม 02, 2011, 05:25:02 pm »




ครั้งที่ ๑๖ ลักษณะพุทธศาสนา
- สังขตธรรมและอสังขตธรรม
(๒)


ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร ในการอบรมนวกภิกษุ
พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ความหมายของธาตุในธาตุกรรมฐาน

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนา มาถึงธาตุและสังขาร อันเป็นการแสดงสังขตธรรมและอสังขตธรรมด้านวัตถุในเบื้องต้น สังขารสิ่งผสมปรุงแต่งที่กำลังแสดง ยกขึ้นเป็นตัวอย่างคือรูปกายนี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาแยกธาตุ อันเรียกว่า ธาตุกรรมฐาน ในด้านปฏิบัติในสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน หากว่าจะเปรียบรูปกายอันนี้ก็เปรียบเหมือนบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง คือประกอบขึ้นจากทัพพสัมภาระทั้งหลาย และที่ให้พิจารณาแยกธาตุนั้นก็เหมือนอย่างให้พิจารณาบ้าน แยกออกเป็นทัพพสัมภาระทั้งหลายที่มาประกอบปรุงกันขึ้นเป็นตัวบ้านนั้น ที่ตรัสสอนให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน ก็เพื่อที่จะให้เห็นว่ากายนี้ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา สักแต่ว่าเป็นธาตุมาประชุมปรุงแต่งกันขึ้น เช่นเดียวกับว่าบ้าน ไม่ใช่เป็นบ้านเป็นเรือนที่แท้จริง หรือว่าไม่มีบ้านไม่มีเรือนที่แท้จริง มีแต่ทัพพสัมภาระที่มาปรุงกันขึ้นเท่านั้น เพื่อที่จะได้ดับความยึดถือรูปกายอันนี้ว่าเป็นตัวเราของเรา หรือดังที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ฉะนั้นจึงต้องเข้าใจ ว่าคำว่าแยกธาตุ ธาตุในทางกรรมฐานนี้จึงมีความหมายดังกล่าว แต่ถึงดังนั้น ก็มีความหมายอันเป็นที่รวบรวมเข้ามา ดังที่ได้ตรัสแสดงไว้ใน ธาตุวิภังคสูตร เป็นต้น ที่มีคำอธิบายคำว่าธาตุแต่ละธาตุ และอาการของกาย ส่วนไหนต้องด้วยลักษณะของธาตุข้อใด ก็จัดเข้าในธาตุข้อนั้น

ปฐวีธาตุ ธาตุดิน

ตั้งต้นแต่ปฐวีธาตุ ธาตุดิน หมายถึงสิ่งที่แข้นแข็งอันมีอยู่ในกายอันนี้คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง มังสัง เนื้อ นหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต หทยัง หัวใจ ยกนัง ตับ กิโลมกัง พังฝืด ปิหกัง ม้าม ปัปผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่ อันตคุณัง สายรัดไส้ อุทริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า มัตถเกมัตถลุงคัง ขมองในขมองศีรษะ และส่วนอื่นใดที่แข้นแข็งมีอยู่ในกายอันนี้เรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดิน

อาโปธาตุ ธาตุน้ำ

ส่วนที่เอิบอาบเหลวบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้คือ ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท มันข้น วสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก ลสิกา ไขข้อ มุตตัง มูตร และสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เหลวเอิบอาบบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ รวมเรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุน้ำ

เตโชธาตุ ธาตุไฟ

ส่วนที่อบอุ่นที่ร้อนบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้คือ ไฟที่ทำร่างกายให้อบอุ่น ไฟที่เผาร่างกายให้ชำรุดทรุดโทรม ไฟที่ทำร่างกายให้เร่าร้อน และไฟที่ช่วยในการย่อยอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และสิ่งที่อบอุ่นที่ทำให้อบอุ่นให้ร้อนบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็รวมเรียกว่าเตโชธาตุ ธาตุไฟ

วาโยธาตุ ธาตุลม

ส่วนที่พัดไหวบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็คือลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ลมที่พัดซ่านไปทั่วอวัยวะร่างกายทั้งปวง ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็รวมเรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม

อากาสธาตุ ธาตุอากาศหรือช่องว่าง

และอีกธาตุหนึ่งที่มีแสดงไว้ในพระสูตรเช่นในธาตุวิภังคสูตร คืออากาสธาตุ ธาตุคืออากาศช่องว่าง ได้แก่ช่องว่างทั้งปวงบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ คือช่องหู ช่องจมูก ทวารปากหรือช่องปาก ช่องที่อาหารกลืนลงไป ช่องที่อาหารที่บริโภคที่ดื่มที่เคี้ยวที่ลิ้มบรรจุอยู่ และช่องที่อาหารขับถ่ายออกไปในภายล่าง และช่องว่างอื่นทั้งหมดที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าอากาสธาตุ ธาตุอากาศ

พิจารณาให้เห็นสักแต่ว่าเป็นธาตุ

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาธาตุ ๔ คือธาตุดินน้ำลมไฟ หรือธาตุ ๕ ธาตุดินน้ำไฟลมอากาศคือช่องว่าง ด้วยปัญญาโดยชอบตามเป็นจริง ว่านั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา คือไม่ใช่ตัวเราของเรา สักแต่ว่าเป็นธาตุ เพื่อที่จะได้ละความเห็นยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา ในรูปกายอันนี้ การพิจารณาดั่งนี้เรียกว่าธาตุกรรมฐาน ที่ท่านแสดงว่าเป็นกรรมฐานที่แก้นิวรณ์ข้อที่ ๕ คือวิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลายนั้น ก็ตั้งขึ้นที่ตัวเราของเราเป็นข้อสำคัญ เช่นตัวเราของเราในอดีตเป็นใครมาอย่างไรเป็นต้น ตัวเราของเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นอะไรต่อไปเป็นต้น และตัวเราในปัจจุบันมีหรือไม่มี และเป็นอย่างไรเป็นต้น ความสงสัยทั้งปวงเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเห็นยึดถือขันธ์ ๕ ซึ่งสรุปเป็นรูปธรรมนามธรรมหรือรูปกายนามกายนี้เองว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ จึงได้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ แปลว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือ ฉะนั้นเมื่อมาหัดพิจารณาธาตุกรรมฐาน พิจารณารูปกายอันนี้ซึ่งเป็นส่วนหยาบ เป็นวัตถุ และเป็นส่วนสำคัญแห่งความยึดถือว่าสักแต่ว่าเป็นธาตุมาประกอบกันเข้า

ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอยู่ที่ไหนมีแต่ธาตุมาประกอบกันเข้าเท่านั้น ก็จะทำให้ความเห็นยึดถือดังกล่าวนี้หายไป ความเห็นยึดถือนั้นเรียกว่า อัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวเราของเรา เมื่อมาพิจารณาทำธาตุกรรมฐานให้เห็นว่าสักแต่ว่าเป็นธาตุ ธาตุสัญญา ความสำคัญหมายว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุก็จะปรากฏขึ้น อัตตสัญญา ก็จะหายไป เมื่อเป็นดั่งนี้ บรรดาความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลายที่ตั้งขึ้นบนฐานคือความเห็นยึดถือว่าตัวเราของเราทั้งปวงก็จะหายไปหมด อันนี้เป็นหลักสำคัญ เพราะความสงสัยเคลือบแคลงทั้งปวงนั้น ส่วนสำคัญส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนฐานคือความเห็นยึดถือว่าตัวเราของเราในรูปกายนามกายนี้แหละ ฉะนั้นเมื่อมาพิจารณาเห็นสักแต่ว่าเป็นธาตุได้แล้ว อัตตสัญญาหายไป ธาตุสัญญามาปรากฏขึ้นแทน อัตตสัญญาหายไป ความสงสัยทั้งปวงที่ตั้งอยู่บนความเห็นยึดถือตัวเราของเราก็หายไป จะมีความสงสัยต่อไป ก็ความสงสัยที่ตั้งขึ้นบนธาตุนั่นแหละ แต่ว่าก็เป็นเรื่องของความสงสัยในธรรมซึ่งเป็นทางเจริญปัญญา อันจะนำให้ได้ปัญญาที่ยิ่งขึ้นต่อไป

คราวนี้มาจับพิจารณาถึงคำว่าธาตุที่ตรัสสอนไว้ให้พิจารณา อันเป็นธาตุกรรมฐานนี้ ก็จะเห็นได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น คือกล่าวนำมาแล้ว ว่าก็เป็นความหมายที่รวมเข้ามาหาส่วนที่เป็นสาระคือแก่นสาร ดั่งที่มีอธิบาย ว่าส่วนที่แข้นแข็งเรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดินเป็นต้น เพราะฉะนั้นคำว่าธาตุนี้ จึงมีความหมายที่รวมเข้ามาถึงส่วนที่เป็นสาระแก่นสาร แต่อันที่จริงนั้นก็ยังมิใช่สิ่งที่เป็นสาระแก่นสารอย่างละเอียดทีเดียวในทางวัตถุ แต่ก็ได้กล่าวแล้ว ว่าที่ได้ตรัสแสดงแยกธาตุดั่งที่มีความหมายดังกล่าวนั้นมุ่งที่จะให้ปฏิบัติเป็นการแยกธาตุกรรมฐาน เพื่อผลคือความที่จะได้แยกธาตุทางจิตใจ ทำให้บรรลุถึงความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ของจิตใจเป็นประการสำคัญ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในด้านสังขตธรรมและอสังขตธรรมทางจิตใจ

ทรงแสดงว่าอากาศไม่มีที่สุด วิญญาณไม่มีที่สุด

ส่วนที่กำลังกล่าวนี้กำลังกล่าวถึงด้านวัตถุ และด้านวัตถุก็เป็นอันว่าได้มีการแสดงธาตุที่ทำให้เห็นถึงความหมายของคำว่าธาตุ คือเป็นที่รวมเป็นส่วนที่เป็นสาระแก่นสารเป็นอย่างๆ ไปคือเป็นส่วนที่แข้นแข็ง ส่วนที่เหลวเอิบอาบ ส่วนที่อบอุ่นรุ่มร้อน ส่วนที่พัดไหว และส่วนที่เป็นช่องว่าง อันส่วนที่เป็นช่องว่างอันเรียกว่าอากาสธาตุนั้น หมายถึงช่องว่างในร่างกายอันนี้ แต่อันที่จริงนั้น อากาสธาตุคือช่องว่างนอกกายอันนี้อันเป็นส่วนของโลกธาตุมีอยู่เป็นอันมาก ในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงว่าเป็นอนันตะคือไม่มีที่สุด ได้ตรัสแสดงที่เป็นอนันตะไม่มีที่สุดไว้ ๒ อย่าง คืออากาศไม่มีที่สุด วิญญาณไม่มีที่สุด และอากาศคือช่องว่างนี้ไม่ได้หมายถึงธาตุที่มีอยู่ในอากาศคือช่องว่าง คำที่เราเรียกกันว่าอากาศที่หายใจเข้าหายใจออก อันหมายถึงเป็นตัวธาตุละเอียดที่มองไม่เห็นด้วยตา หายใจเข้าหายใจออกเราเรียกว่าอากาศ อันที่จริงสิ่งที่หายใจเข้าหายใจออกที่เราเรียกอากาศดีอากาศเสียนั้นไม่ใช่ตัวช่องว่าง ถ้าตัวช่องว่างจริงๆ แล้วไม่มีอะไร ดังที่เราบัญญัติเรียกกันว่า สูงขึ้นไปมากที่ไม่มีลมหายใจเข้าลมหายใจออกไม่มีอากาศหายใจเข้าหายใจออก เป็นบรรยากาศหรืออวกาศเป็นต้นนั้น

นั่นก็เป็นคำที่สมมติเรียกขึ้นมาและก็อาจจะนั่นแหละที่เป็นช่องว่างจริงๆ ก็ได้ คือไม่มีอะไร แต่ว่าต่ำลงมานี้ที่อยู่ใกล้โลกเรานี้มีสิ่งที่หายใจได้คือมีอากาศ เราเรียกกันว่าอย่างนั้น คือขอยืมคำนี้ไปเรียก เพราะเหตุว่าสิ่งที่เราหายใจนั้นมองไม่เห็น จึงขอยืมเรียกว่าอากาศ แต่อันที่จริงนั้นไม่ตรงกับความหมายในทางธรรมที่เรียกว่าอากาสธาตุนี้ ความหมายของธรรมในคำว่าอากาสธาตุนี้ มุ่งถึงช่องว่างดังที่กล่าวมาแล้ว
เมื่อเป็นช่องว่างดังนี้ ท่านจึงไม่แสดงไว้ในธาตุทั่วไป ในธาตุทั่วไปนั้นท่านแสดงไว้เป็น ๔ เท่านั้น คือ สิ่งที่แข้นแข็ง สิ่งที่เหลวเอิบอาบ สิ่งที่อบอุ่นรุ่มร้อน และสิ่งที่พัดไหว ซึ่งบรรดาสิ่งทั้ง ๔ เหล่านี้ ก็จะพึงกล่าวได้ว่าเป็นวัตถุทั้งนั้น เป็นวัตถุที่หยาบ เป็นวัตถุที่ละเอียด หรือเป็นวัตถุที่มีลักษณะต่างๆ กัน ก็ธาตุเหล่านี้เองที่มาประชุมกันก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลายดังที่เรียกว่าสังขารโลก และเมื่อมีวิญญาณธาตุเข้าประกอบ เป็นวิญญาณที่ยังมีกิเลสที่ยังยึดถือเกี่ยวเกาะอยู่ ก็เป็นสัตวโลก สัตวโลกจึงเป็นตัววิญญาณนั้นเอง ที่ยังมีกิเลสที่ยังยึดถือเกี่ยวเกาะอยู่ประกอบกันอยู่ก็เป็นธาตุ ๖ ก็มาเป็นบุคคลนี้ ดังที่ตรัสไว้ในธาตุวิภังคสูตร

อธิบายธาตุ และสังขาร

คราวนี้แม้ในวิชาการทางโลก เมื่อรวมเข้ามาแล้วก็เป็นธาตุและสังขาร ส่วนที่ผสมปรุงแต่งเป็นสังขาร ส่วนที่เป็นวัตถุซึ่งถูกนำมาผสมปรุงแต่งก็เป็นธาตุ ดั่งเช่นร่างกายอันนี้เป็นสังขารธาตุ ๔ ที่มาผสมปรุงแต่งเป็นร่างกายอันนี้ นั่นก็เป็นธาตุ คราวนี้มุ่งวิชาการทางโลกที่อาจแยกให้ละเอียดออกไปอีก เมื่อยังพบว่าเป็นสิ่งที่ผสมปรุงแต่งอยู่ สิ่งใดก็ตาม สิ่งนั้นก็เป็นสังขาร และสิ่งที่ถูกแยกออกไปเป็นตัวแก่นสารอันมาผสมปรุงแต่งกันขึ้น สิ่งที่ค้นพบอันเป็นตัวแก่นสารนั้นก็เป็นธาตุ และสิ่งที่พบกันว่าเป็นธาตุนั้น ครั้นเมื่อความรู้เจริญขึ้น ก็ยังพบว่ายังไม่ใช่ธาตุแท้ยังเป็นส่วนผสมปรุงแต่งอีก นั่นก็เป็นสังขาร ยังไม่ใช่ธาตุแท้ และสิ่งที่ได้ค้นพบว่าเป็นตัวแก่นสารที่ละเอียดที่สุด นั่นก็เป็นธาตุ และหากว่าต่อไปถ้าได้มีความรู้ พบว่าสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นธาตุนั้นยังเป็นส่วนผสมปรุงแต่งอยู่อีก ก็ยังเป็นสังขารอยู่นั่นแหละ ส่วนสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารที่สุดจนถึงไม่สามารถจะแยกอกไปได้อีก อันเป็นตัวที่เป็นสาระแก่นสารทีเดียวแยกออกไปไม่ได้อีก ถ้าสิ่งนั้นมีจริงๆ นั่นก็เป็นธาตุแท้

ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ได้พบไปโดยลำดับ จนนับว่าละเอียดที่สุด อันนี้ก็แสดงว่าตรงกับหลักของสังขตธรรมกับอสังขตธรรม สังขตธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งก็คือสังขาร คำว่าธรรมนี้ได้ทั้งวัตถุได้ทั้งที่ไม่ใช่วัตถุ มีความหมายถึงสิ่งทั้งปวงได้ทั้งหมด ก็เป็นสังขาร ส่วนสิ่งที่เป็นธาตุ ตัวธาตุที่เป็นสาระแก่นสารจริงๆ ไม่ได้ถูกปรุงแต่ง เป็นตัวเดิมจริงๆ ไม่ได้ถูกปรุงแต่งซึ่งนับว่าละเอียดที่สุด อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นตัวธาตุที่เป็นอสังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ถ้ายังเป็นสังขตธรรมคือสิ่งที่ปรุงแต่งอยู่ที่ประกอบอยู่ ก็เป็นสังขารทั้งนั้น สิ่งที่ไม่ถูกปรุงแต่งจริงๆ เป็นตัวเดิมจริงๆ แยกออกไปไม่ได้จริงๆ ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งจริงๆ เป็นตัวเดิมจริงๆ นั้นเป็นอสังขตธรรม ดังที่ได้กล่าวมานี้ เป็นสังขตธรรมและอสังขตธรรมทางวัตถุที่มีอยู่ และพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสรู้และได้ทรงสั่งสอน แต่ก็ทรงสั่งสอนมุ่งในด้านปฏิบัติกรรมฐานเพื่อให้พ้นทุกข์ ไม่ได้ทรงสั่งสอนในด้านทางโลก จึงได้ตรัสสอนให้แยกรูปกายอันนี้แยกธาตุออกไปเป็นธาตุ ๔ ธาตุ ๕


๑ กันยายน ๒๕๒๖