ผู้เขียน หัวข้อ: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 25647 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #30 เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 05:34:08 pm »




ครั้งที่ ๑๗ ลักษณะพุทธศาสนา
- สังขตธรรมและอสังขตธรรม
(๓)


ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร ในการอบรมนวกภิกษุ
พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

รูปกายและนามกาย
ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงสังขตธรรมและอสังขตธรรมทางวัตถุ จากนี้จะได้แสดงสังขตธรรมและอสังขตธรรมทางจิตหรือ วิญญาณธาตุ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าบุรุษสตรีบุคคลทั้งปวง พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีธาตุ ๖ สำหรับธาตุทางวัตถุนั้นก็คือธาตุ ๕ ข้างต้นประกอบกันเป็นรูปกาย ส่วนธาตุที่ ๖ คือวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ก็มาประกอบเข้า วิญญาณธาตุนั้นเมื่อมาประกอบเข้ากับรูปกายคือธาตุ ๕ ข้างต้น ก็ปรากฏเป็น นามกาย ซึ่งเป็นอาการของวิญญาณธาตุหรือจิตใจ สำหรับรูปกายคือกองรูปโดยเฉพาะนั้น เป็นสิ่งที่มีสรีรสัณฐานเป็นวัตถุ และเมื่อมาประกอบกันก็เป็นสังขาร คือเป็นส่วนผสมปรุงแต่งมาจากธาตุทั้งหลาย และธาตุนั้นได้แสดงแล้วว่าทางพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าแสดงไว้อย่างไร ได้มุ่งอะไร แต่ก็ได้เป็นต้นฉบับหรือต้นทางที่จะให้มองเห็นได้ ว่าส่วนที่เป็นสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งนั้น ที่ปรากฏเป็นรูปกายของทุกๆ คนจะต้องมาจากสิ่งที่มาผสมปรุงแต่งเข้า และสิ่งนั้นคือธาตุ และธาตุนั้นมุ่งถึงส่วนที่เป็นสาระแก่นสาร เช่นปฐวีธาตุ ธาตุดิน ก็หมายถึงสิ่งที่แข้นแข็งเป็นต้น และสิ่งที่แข้นแข็งนั้นเมื่อแยกออกไปอีกๆ ก็ย่อมจะพบละเอียดเข้าๆ ไปโดยลำดับ จนถึงที่สุด แปลว่าแยกไปอีกไม่ได้ นั่นเป็นตัวธาตุแท้ดั้งเดิม แต่บัดนี้จะค้นพบหรือยังไม่ทราบ นี้เป็นด้านวัตถุ ซึ่งด้านวัตถุแม้ที่กล่าวมาแล้วนี้ก็สรุปลงได้ ว่าส่วนที่เป็นสังขารนั้นก็เป็นสังขตธรรม และส่วนที่เป็นธาตุแท้ก็เป็นสังขตธรรม เพราะเมื่อแยกออกไปอีกไม่ได้ เมื่อมีอยู่ก็แปลว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาปรุงแต่ง เป็นตัวเดิมแท้ๆ ของวัตถุ

คราวนี้มาว่าถึงวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ก็เหมือนกัน อันวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ที่มาประกอบอยู่ในกายนี้อันหมายถึงรูปกายอันนี้ ก็ย่อมจะมีตัวเดิมซึ่งเป็นตัวธาตุแท้ และมีตัวอาการซึ่งเป็นสังขารหรือเป็นส่วนผสมปรุงแต่งเช่นเดียวกัน บุคคลทุกๆ คนนั้นย่อมรู้สึกได้หรือว่าจับได้ในส่วนที่เป็นอาการ ดังที่ได้ตรัสแสดงไว้ในขันธ์ ๕ ที่เป็นส่วนนามกาย คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เวทนา
นามข้อที่ ๑ คือเวทนานั้น ได้แก่ความรู้สุขรู้ทุกข์หรือรู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ที่ทุกๆ คนได้มีความรู้สึกอยู่ คำว่าเวทนานั้นมักจะแปลกันว่าเสวยอารมณ์ คือกินอารมณ์หรือว่าเอาสุขทุกข์มาใส่เข้า ว่าเสวยสุขเสวยทุกข์เสวยเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ในเมื่อเสวยสุขทุกคนก็รู้สึกว่าสบายกายสบายใจ เมื่อเสวยทุกข์ทุกคนก็รู้สึกว่าไม่สบายกายไม่สบายใจ เมื่อเสวยภาวะเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็รู้สึกปรกติเฉยๆ ธรรมดา เหมือนอย่างในเมื่อยู่ในที่มีอากาศเป็นกลางๆ ไม่ร้อนไม่หนาว รู้สึกเฉยๆ ธรรมดา เหมือนอย่างว่าไม่มีเวทนา แต่ความจริงนั้นมี คล้ายๆ กับว่าบริโภคอาหารที่มีรสเป็นปรกติธรรมดา ก็ไม่รู้สึกว่าอร่อย แต่ก็ไม่รู้สึกว่าจืดชืดไม่ชอบรส ซึ่งความจริงก็เคี้ยวอาหารและก็กลืนอาหารลงท้องไปเรียกว่ากินเหมือนกัน แต่เมื่อรสเป็นธรรมดาก็รู้สึกเป็นปรกติธรรมดา อร่อยก็ไม่ใช่ ไม่อร่อยก็ไม่ใช่ ดั่งนี้คือเวทนาที่เป็นกลางๆ จึงได้แบ่งเวทนาเป็น ๓ คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข และก็มีแบ่งพิสดารออกไปเป็น ๕ คือสุขเวทนานั้นก็แบ่งเป็น ๒ คือสุขเวทนาทางกาย สุขเวทนาทางใจ ทุกขเวทนานั้นก็แบ่งเป็น ๒ คือทุกขเวทนาทางกาย ทุกขเวทนาทางใจ ส่วนเวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุขนั้นเรียกอุเบกขาเวทนา เวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข แบ่งเป็น ๕ เวทนา นี้ก็เป็นอาการของจิตหรือของธาตุรู้ ซึ่งนับว่าเป็นตัวสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งเหมือนกัน จึงเป็นเวทนาขึ้นมา แต่ว่าเป็นสังขารอย่างไรนั้นจะยังไม่อธิบาย

สัญญา
นามข้อที่ ๒ คือสัญญา ความรู้จำ ก็คือจำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง และจำเรื่องราวทางใจ แม้ความรู้จำคือสัญญานี้ก็เป็นสังขาร คือส่วนผสมปรุงแต่งเหมือนกัน

สังขาร
นามข้อที่ ๓ คือสังขาร ซึ่งเป็นคำที่ซ้ำกันกับคำว่าสังขาร แต่ว่าสังขารในขันธ์ ๕ นี้ มุ่งถึงสังขารทางใจเท่านั้น คือความคิดปรุงหรือปรุงคิด ก็คิดปรุงหรือปรุงคิดรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องบ้าง ธัมมะคือเรื่องราวทางใจบ้าง หรือว่าแบ่งสรุปลงเป็น ๓ คิดดี คิดชั่วหรือคิดไม่ดี และคิดเป็นกลางๆ อันนี้เรียกว่าสังขาร ได้แก่รู้ปรุงหรือรู้คิด คือคิดปรุงหรือปรุงคิด อันนี้ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นตัวสังขารโดยตรง คือเป็นส่วนผสมปรุงแต่ง

วิญญาณ
นามข้อที่ ๔ คือวิญญาณซึ่งเป็นความรู้ ในเมื่อตากับรูปประจวบกันก็รู้รูปคือเห็น ในเมื่อหูกับเสียงประจวบกันก็รู้เสียงคือได้ยิน เมื่อจมูกกับกลิ่นประจวบกันก็รู้กลิ่นคือทราบกลิ่น เมื่อลิ้นกับรสประจวบกันก็รู้รสคือทราบรส เมื่อมโนคือใจกับธัมมะคือเรื่องราวประจวบกันก็รู้เรื่อง คือความรู้ที่เราเรียกว่าเห็นรูป ความรู้ที่เราเรียกว่าได้ยินหรือฟังคือได้ยินเสียงฟังเสียง ความรู้ที่เราเรียกว่าทราบคือทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง และความรู้ที่เราเรียกว่ารู้หรือคิดคือรู้หรือคิดเรื่อง ในขณะที่อายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกันเข้านี้คือวิญญาณ เป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นวิญญาณในวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ที่กล่าวมาโดยลำดับ

อธิบายทบทวนสังขารและวิญญาณในความหมายต่างกัน
เพราะฉะนั้นมาถึงตอนนี้แล้วจะพบคำที่ซ้ำกัน แต่ความหมายต่างกันอยู่ ๒ คำ คำหนึ่งก็คือคำว่าสังขาร ที่พูดมาโดยลำดับตั้งแต่ต้นแล้วว่าสิ่งที่ผสมปรุงแต่ง นี่คลุมทั้งหมด ทุกอย่างที่ผสมปรุงแต่งเป็นสังขารทั้งนั้น และมาถึงสังขารอีกคำหนึ่งก็คือสังขารในขันธ์ ๕ ก็หมายถึงผสมปรุงแต่งเหมือนกัน แต่ว่าเฉพาะที่เป็นทางจิตใจคือคิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ อีกคำหนึ่งคือคำว่าวิญญาณ ที่กล่าวมาโดยลำดับนั้น วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ซึ่งหมายถึงรู้ที่เป็นตัวเดิมหรือว่าจิตที่เป็นตัวเดิม แต่ว่าวิญญาณในขันธ์ ๕ นี้มุ่งถึงการเห็นการได้ยินเป็นต้นดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อมุ่งอธิบายต่างกันดังนี้ ก็จะพึงเห็นว่าวิญญาณนี้เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ หมายถึงรู้ที่เป็นตัวเดิมในบุคคลทุกๆ คนนี้มีรู้ที่เป็นตัวเดิมประกอบอยู่ จะนอนหลับหรือว่าจะตื่นหรือว่าสลบไสลไปยังไม่ตายละก็ ตัวรู้ที่เป็นตัวเดิมนี้ยังอยู่ นี้คือตัววิญญาณธาตุ ธาตุรู้ รู้ที่เป็นตัวเดิม ส่วนวิญญาณในขันธ์ ๕ นี้ ถ้าหากว่าตากับรูปไม่มาประจวบกัน จักขุวิญญาณรู้ทางตาก็ไม่เกิดไม่มี เหมือนอย่างหลับตาอยู่ไม่ได้ดูอะไรไม่ได้มองอะไร ยิ่งคนตาบอดก็แปลว่าจักขุวิญญาณไม่มี ทางอื่นก็เหมือนกัน เช่นว่าหูกับเสียงถ้าไม่มาประจวบกัน โสตวิญญาณรู้ทางหูก็ไม่มี คนหูหนวกก็ย่อมไม่มีข้อนี้ คนตาบอดหูหนวกนั้นก็แปลว่าไม่มีจักขุวิญญาณไม่มีโสตวิญญาณ จมูกลิ้นกายนั้นก็เหมือนกัน

คนที่เป็นอัมพาตเอาเข็มแทง ก็ไม่เจ็บตรงที่เป็นอัมพาตนั้น หรือว่าคนที่เขาฉีดยาชาผ่าตัดไม่เจ็บ ก็แปลว่าดับกายวิญญาณ ดับรู้ทางกายในส่วนนั้น มโนวิญญาณ ถ้าหากว่ามโนคือใจกับธัมมะคือเรื่องราวไม่มาประจวบกัน มโนวิญญาณก็ไม่เกิด เช่นขณะที่หลับสนิทหรือสลบไสลไปทีเดียว แต่ว่าแม้คนตาบอดหูหนวกคนที่สลบไสลคนที่ถูกฉีดยาชาดังกล่าวมานั้น ตัววิญญาณธาตุที่เป็นธาตุรู้ คือรู้ที่เป็นตัวเดิม ยังอยู่ เขาจึงสะกดจิตที่หัดกันมาแล้วให้คนตาบอดเห็นได้ ในขณะที่จิตถูกสะกดเข้าสู่สภาพที่จะเรียกว่าเป็นสมาธิหรือเป็นจิตส่วนลึก ให้รู้สึกเห็นได้เหมือนอย่างอาศัยทางประสาทกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เพราะว่ายังมีวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ที่เป็นตัวเดิมคือตัวรู้ รู้ที่ยังเป็นตัวเดิมอยู่ เพราะฉะนั้นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณทั้ง ๔ นี้จึงเป็นความรู้ ซึ่งเป็นสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่ง ซึ่งมาจากรู้ที่เป็นตัวเดิมคือธาตุรู้ เมื่อรู้ที่เป็นตัวเดิมคือธาตุรู้นั้นมาประกอบกันอยู่กับรูปกาย ซึ่งเป็นธาตุไม่รู้คือเป็นวัตถุ แล้วก็ได้ความรู้ที่เป็นตัวอาการทั้ง ๔ นี้ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ รู้สุขรู้ทุกข์รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข รู้จำ รู้คิดปรุงปรุงคิด และรู้เห็นรู้ได้ยินเป็นต้น ดังที่สามัญชนทุกๆ คนได้อยู่มีอยู่ ความรู้เหล่านี้เป็นสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งทั้งนั้น ซึ่งมาจากธาตุรู้ที่เป็นตัวรู้เดิมมาประกอบกันกับรูปกาย


                 

กายมีความหมายอย่างเดียวกับขันธ์
ตรงนี้จะอธิบายคำว่า “กาย” ซึ่งมักจะเข้าใจกันว่าหมายถึงรูปกายอย่างเดียว และบางทีเราก็เรียกรูปกายว่ากาย เช่นคำว่ากายใจ คำว่ากายในคำว่ากายใจนี้หมายถึงรูป ใจก็ใจ แต่บางทีคำว่ากายนั้นก็มาใช้กับนามด้วย เช่นรูปกาย นามกาย คือคำว่ากายนี้แปลว่าประชุม เหมือนกับคำว่าขันธ์ที่แปลว่ากอง กองก็คือสิ่งทั้งหลายหลายอย่างมากองรวมกัน กายก็แปลว่าประชุม ก็หมายถึงสิ่งหลายอย่างมาประชุมกัน เพราะฉะนั้นคำว่ากายกับคำว่าขันธ์จึงมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน และอาจใช้ได้ทั้งแก่รูป เรียกว่ารูปกาย ทั้งแก่นาม เรียกว่านามกาย และคำว่านามนั้นก็บ่งอยู่แล้ว ว่าไม่ใช่รูป สักแต่ว่าเป็นนาม และคำว่านามนี่แปลว่าอะไรมีความหมายอย่างไรจะต้องอธิบายอีกหนหนึ่ง เพราะฉะนั้นให้เข้าใจคำว่ากายดั่งนี้ เวลาเรียกว่ารูปกายนามกายจะได้ไม่สงสัยคือใช้ได้ทั้งสอง แปลว่าประชุมแห่งรูปประชุมแห่งนาม ก็คือกองรูปกองนาม

อุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ
คราวนี้คำที่เรียกโดยมากว่าขันธ์ ๕ นั้น ขันธ์ก็คือคำว่ากองดั่งที่กล่าวแล้ว รูปขันธ์ ก็คือกองรูป ก็หมายถึงหลายๆ สิ่งมารวมกันเข้า มากองอยู่เป็นรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ก็หมายความว่าเวทนาก็มีหลายอย่าง สัญญาก็หลายอย่าง สังขารก็หลายอย่าง วิญญาณก็หลายอย่าง มากองรวมกันอยู่เป็นกอง จึงเรียกว่าขันธ์แต่ละข้อ และที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือก็หมายความว่า สัตว์บุคคลทั้งปวงนั้นย่อมยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ นี้ว่า “เอตํ มม” นี่เป็นของเรา “เอโสหมสฺมิ” เราเป็นนี่ “เอโส เม อตฺตา” นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา เพราะฉะนั้นขันธ์ทั้ง ๕ นี้จึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ แปลว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสั่งสอนให้รู้จักสัจจะคือความจริง ว่าอันที่จริงนั้นข้อที่บุคคลยึดถือกันอยู่ว่าอัตตา คือตัวตนก็ดี อัตตนิยะ คือที่จะพึงยึดถือว่าตัวตนก็ดี โดยมากนั้นก็เข้าใจหรือเห็นว่ารวมๆ กันอยู่ว่านี้แหละตัวเราของเรา เข้าใจและเห็นรวมๆ กันอยู่ จึงได้ตรัสแยกออกไป ว่าอันที่จริงนั้นก็แยกออกไปได้เป็นขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปขันธ์คือกองรูปนั้นก็เป็นสังขารส่วนผสมปรุงแต่งทั้งนั้น แต่ว่าก็เป็นส่วนผสมปรุงแต่งซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา เหมือนอย่างต้นไม้ก็เป็นส่วนผสมปรุงแต่ง ก็เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติธรรมดา ที่ว่าธรรมชาติธรรมดานั้นก็หมายความว่าเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย คือเมื่อมีเหตุปัจจัยก็ย่อมเกิดเป็นผลขึ้นมา

ธรรมชาติทั้งหลายในโลกก็เป็นอย่างนี้ ซึ่งที่ปรากฏเป็นฝนตกแดดออกเป็นผลก็เกิดขึ้นจากเหตุซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดา ฟ้าผ่าก็เป็นผลที่เกิดจากเหตุซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดา กลางวันกลางคืนเป็นต้นก็เหมือนกัน โลกธาตุดาวเดือนทั้งหมดก็เหมือนกัน สัตว์บุคคลทั้งหมดก็เหมือนกัน และมาเฉพาะจิตใจก็โดยสิ่งที่เรียกว่าเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นเดรัจฉานก็ดี ย่อมมีธรรมชาติธรรมดาที่ประกอบกันอยู่ ๒ ส่วนดังกล่าวมาแล้ว คือส่วนที่ไม่รู้คือส่วนที่เป็นวัตถุ ได้แก่ส่วนที่เป็นรูปกาย และส่วนที่เป็นธาตุรู้คือตัวรู้ ส่วนที่ไม่รู้กับส่วนที่รู้มาประกอบกันเข้าก็เป็นมนุษย์เป็นสัตว์เดรัจฉานต่างๆ มนุษย์นั้นก็มีชาติกำเนิดเกิดในครรภ์ สัตว์เดรัจฉานนั้นก็มีชาติกำเนิดต่างๆ เกิดในไข่ก็มี เกิดในเถ้าไคลก็มี เกิดในครรภ์อย่างมนุษย์ก็มี ตลอดไปถึงอีกจำพวกหนึ่งเรียกว่าโอปปาติกะ คือพวกที่ลอยเกิด ไม่ได้เกิดในครรภ์เกิดในไข่เกิดในเถ้าไคลเหมือนอย่างมนุษย์และเดรัจฉานทั้งหลาย ได้แก่พวกเทพทั้งหลาย พวกผีทั้งหลาย พวกอสุรกายทั้งหลาย เรียกว่าพวกเทวดามารพรหม เปรตอสุรกาย นรก อะไรทั้งหมดนี้เป็นพวกโอปปาติกะหรือพวกลอยเกิด
แต่ก็มีกายทิพย์ที่เป็นกายส่วนละเอียด กับมีตัวรู้หรือมีธาตุรู้ รู้ที่เป็นตัวเดิมอีกเหมือนกันมาประกอบกัน จึงได้รวมกันเข้าเรียกว่าสัตวโลก นี้เป็นธรรมชาติธรรมดากันมาทั้งนั้น

คราวนี้อย่างภูเขาที่เป็นภูเขาขึ้นมา แม่น้ำเป็นแม่น้ำขึ้นมา นี้เป็นแต่วัตถุ วัตถุที่ไม่มีรู้ ต้นไม้ทั้งหลายท่านแสดงว่าเป็นสิ่งที่มีอินทรีย์เดียวคือชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต แต่ก็ไม่นับว่ามีธาตุรู้หรือรู้ที่เป็นตัวเดิม แต่อันที่จริงนั้นต้นไม้ก็มีตัวรู้เหมือนกัน แต่เราไม่เรียกว่ารู้เหมือนอย่างมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย อย่างต้นไม้บางอย่างไปถูกเข้า ใบจะหุบทันที เหมือนอย่างมีรู้เหมือนกันหรือเช่นที่เขาทดลองดูแล้ว ว่าต้นไม้ที่คนหมั่นไปเยี่ยมและคนแผ่เมตตาให้อยู่เสมอๆ มักจะงอกงามดีกว่าต้นไม้ที่ปล่อยปละละเลยไม่สนใจ แม้ว่าจะให้น้ำให้อาหารคล้ายๆ กันก็ตาม ก็เหมือนอย่างว่ารับรู้เหมือนกัน แต่ว่าไม่มากจนเรียกว่ามีธาตุรู้หรือที่เรียกว่ารู้ที่เป็นตัวเดิม คราวนี้ที่จะมาถึงจุดของความรู้ซึ่งเป็นตัวสังขาร กับรู้ที่เป็นตัวเดิมที่เรียกว่าธาตุรู้ อันจะพึงเรียกได้ว่าวิสังขาร ความรู้หรือรู้ที่เป็นสิ่งผสมปรุงแต่งนั้นเป็นสังขตธรรม รู้ที่เป็นตัวเดิมนั้นหรือที่เรียกว่าธาตุรู้นั้นคือที่เป็นธาตุแท้ เรียกว่าสังขตธรรม แต่คราวนี้ที่จะเป็นสังขตธรรมขึ้นมา ตลอดจนถึงทำให้ธาตุที่ไม่รู้คือที่เป็นวัตถุเป็นสังขตธรรมไปด้วยนั้น ก็เพราะมีอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่ากิเลสเข้ามาผสมปรุงแต่งอยู่กับความรู้หรือธาตุรู้ดังกล่าวนั้นด้วย


๒ กันยายน ๒๕๒๗


-----------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 26, 2012, 06:57:35 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #31 เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 09:12:50 pm »



ครั้งที่ ๑๘ ลักษณะพุทธศาสนา
- สังขตธรรมและอสังขตธรรม
(๔)


ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร ในการอบรมนวกภิกษุ
พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


ได้แสดงหลักพุทธศาสนามาถึงสังขตธรรมกับอสังขตธรรม
และได้แสดงทางฝ่ายวัตถุมาแล้ว กำลังแสดงถึงฝ่ายจิตใจ
ซึ่งได้กล่าวว่าเป็นธาตุรู้ อันใช้เป็นภาษาบาลีในพระสูตรหนึ่งว่า วิญญาณธาตุ ธาตุรู้
ซึ่งมาประกอบเข้ากับฝ่ายธาตุที่ไม่รู้ จึงเป็นสัตว์บุคคลชายหญิงดั่งที่ปรากฏอยู่
และเพราะเหตุที่ยังมีอีกส่วนหนี่ง
เข้ามาผสมปรุงแต่งคือส่วนกิเลส วันนี้จะได้ย้ำความบางประการเพื่อให้ชัดขึ้น

สังขตธรรมฝ่ายวัตถุ
พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นพระสัพพัญญู คือเป็นผู้ตรัสรู้ทั้งหมด ตรัสรู้จบสากลธรรม ธรรมทั้งสิ้น สากลโลก โลกทั้งสิ้น อันรวมทั้งสากลสัตวโลก สัตวโลกทั้งสิ้น ดังนั้นจึงได้ทรงประมวลทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างทั้งฝ่ายที่เป็นวัตถุ ละทั้งฝ่ายที่ไม่ใช่วัตถุคือจิต เข้าเป็นสังขตธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งอย่างหนึ่ง อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งอย่างหนึ่ง และสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ที่เป็นฝ่ายวัตถุล้วนๆ ก็มี ๒ อย่างดังกล่าวนั้นเช่นเดียวกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าเรียกกันถึงสิ่งที่มีปัจจัยปรุงว่าสังขตธรรมว่าสังขาร และสังขารนั้นก็คือส่วนผสมปรุงแต่งทั้งหลาย ว่าถึงฝ่ายที่เป็นวัตถุเท่านั้น ไม่มีจิตใจเข้าประกอบ ก็เป็นฝ่ายสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่ง เอาอะไรมาปรุงแต่ง ปรุงแต่งจากอะไร ก็จากธาตุทั้งหลายคือส่วนที่เป็นสาระแก่นสาร ซึ่งจะกล่าวได้ว่าเป็นตัวเดิม ดังเช่นปรุงแต่งมาจากธาตุทั้ง ๔ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่าแสดงในทางวิปัสสนากรรมฐานสำหรับจัดขึ้นพิจารณาแยกธาตุ แต่ก็ได้ประโยชน์ตั้งแต่ทางสมถกรรมฐานขึ้นไปด้วย สิ่งที่แข้นแข็งก็เรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดิน ที่เหลวเอิบอาบก็เป็นอาโปธาตุ ธาตุน้ำ ที่อบอุ่นก็เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ ที่พัดไหวก็เป็นวาโยธาตุ ธาตุลม และเมื่อทั้ง ๔ นี้มาผสมปรุงแต่งขึ้นเป็นสังขาร เช่นเป็นภูเขา เป็นก้อนดิน ท่อนไม้ ก็ย่อมมีอากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง อยู่ในสิ่งเหล่านี้อีกด้วย และนี้คืออากาสธาตุ ช่องว่าง ความจริงในช่องว่างนั้นต้องหมายถึงว่าไม่มีอะไร แต่ในทุกสิ่งก็มีช่องว่างอยู่ทั้งนั้น อย่างหยาบอย่างละเอียด คราวนี้เมื่อค้นลงไปๆ ถ้าสามารถจนถึงธาตุที่เป็นอย่างละเอียดที่สุดที่แยกออกไปไม่ได้อีก นั่นก็เรียกว่าเป็นต้นเดิม และที่เป็นต้นเดิมนั้น ก็กล่าวได้ว่าไม่มีปัจจัยอะไรมาปรุง เพราะเมื่อยังมาปรุงอยู่ก็ยังเป็นสังขารอยู่ จนกว่าจะได้พบ ถ้ามี ส่วนที่เป็นวัตถุนั้นที่ไม่มีอะไรมาปรุง แยกออกไปไม่ได้อีก นั่นแหละถึงจะเป็นอสังขตธรรมคือสิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุง ซึ่งก็น่าจะต้องมีอยู่ แต่จะละเอียดไปอย่างไรหรือจะกลายเป็นอะไรไป นั่นก็ไม่ทราบได้ทางด้านวัตถุ

สังขารฝ่ายวัตถุมีเกิดมีดับ
คราวนี้ได้มาถึงต้นไม้ด้วย ว่าต้นไม้นั้นก็มีเกิดมีเติบโตและก็มีตาย แต่ก็ไม่รับรองว่ามีจิตหรือวิญญาณ ท่านแสดงไว้ว่ามีอินทรีย์เดียวคือมีชีวิตอินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต และก็ดูเหมือนว่าจะมีความรับสัมผัสอยู่บ้าง ซึ่งน่าจะคล้ายๆ กับเริ่มจะมีกายประสาทหรือมีประสาทกายอยู่บ้าง เพราะว่าเมื่อมีชีวิตอินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต อินทรีย์เดียว ก็น่าจะต้องมีประสาทอยู่บ้าง เช่นว่ากายประสาท ประสาทส่วนกาย ที่รับสัมผัสหนาวร้อนเป็นต้นได้ เพราะฉะนั้นจึงยังไม่จัดเป็นสัตว์มีชีวิตที่เข้าในข้อห้ามไม่ให้ฆ่าตามศีลข้อที่ ๑ ปาณาติปาโต ปาณาติปาตาเวรมณี ปาณาติปาโตก็คือการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เมื่อเป็นศีลก็เป็นเวรมณี คือเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง และสัตว์ที่มีชีวิตนี้ท่านใช้คำว่าปาโณหรือปาณะ ที่แปลว่าสัตว์ที่มีลมหายใจ มีปาณะ มีปราณ มีลมปราณ ลมปราณก็คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก ซึ่งในศีลข้อที่ ๑ นี้ก็รับรองว่า อะไรเป็นปาโณ คือสัตว์มีปราณหรือมีชีวิต เอาถึงบรรดามนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ทั้งใหญ่ทั้งเล็กตลอดจนถึงมดปลวก แต่ว่าไม่ได้รับรองไปจนถึงเชื้อโรค ซึ่งในบัดนี้พบบรรดาเชื้อโรคต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมีอาการเคลื่อนไหวเป็นต้นเหมือนอย่างตัวน้ำหรืออะไรที่เป็นชนิดเล็กที่สุด แต่ว่าถ้าจะเป็นสัตว์มีชีวิต ก็ไม่ได้รับรองเข้าในศีลข้อที่ ๑ นี้ หรือว่าจะไม่ถึงเป็นปาโณ สัตว์มีปราณมีลมหายใจเข้าออก ก็เป็นอันว่าไม่ใช่เข้าจำพวกนี้

เพราะฉะนั้นจึงมีอนุญาตให้ใช้ยาได้ ซึ่งยานี้ก็ใช้ทำลายเชื้อโรคนั่นเอง เพราะฉะนั้นบรรดาพวกนี้จึงไม่รับรองว่าเป็นสัตว์มีชีวิต ซึ่งนับเข้าในข้อห้ามศีลข้อที่ ๑ เอาแต่ที่ปรากฏทั่วๆ ไปสัตว์ใหญ่สัตว์เล็กจนถึงมดปลวกลูกน้ำเป็นต้น นี้นับว่าเป็นสัตว์มีชีวิต เพราะฉะนั้นโลกนี้จึงไม่เล็กลง ดังจะพึงเห็นได้ว่า บรรดาสิ่งที่เป็นสังขารนั้น ซึ่งมีลักษณะแห่งสังขารที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ คือมีความเกิดขึ้นปรากฏ มีความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ เมื่อยังตั้งอยู่มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ และเมื่อมีความเสื่อมสิ้นไปนั้น เช่นว่าต้นไม้ภูเขาต้องสลายไป ต้นไม้ก็ตายไปผุไป ก็เป็นอยู่ดั่งนี้ แล้วก็เกิดขึ้นใหม่ เพราะหากว่าบรรดาสังขารที่มารวมกันแล้วก็แตกสลายหรือแยกกันออกไปนั้น ถ้าหากว่าหมดสิ้นไป โลกก็จะเล็กลงๆ ทุกที แต่นี่ก็ไม่เล็กลงก็เพราะว่าบรรดาธาตุทั้งหลายไม่ได้สลายไป เป็นแต่เพียงว่าเมื่อธาตุทั้งหลายมารวมกันเข้าเป็นสังขาร และเมื่อสังขารแตกสลายธาตุทั้งหลายก็แยกย้ายกันไป เช่นธาตุที่แข้นแข็งก็ไปเป็นส่วนที่แข้นแข็ง ธาตุที่เอิบอาบก็ไปเป็นธาตุที่เอิบอาบ อบอุ่นก็ไปเป็นธาตุอบอุ่น พัดไหวก็ไปเป็นธาตุที่พัดไหว แต่ว่าความสำคัญของธาตุเหล่านี้ก็น่าจะรวมกันอยู่ในส่วนที่แข้นแข็ง และมีส่วนอื่นๆ เข้ามาประกอบ จะเล็กเท่าไรก็ตามก็แปลว่ายังอยู่ และเมื่อถึงเวลาก็มาประกอบกันเข้าเป็นสังขารอีก และเมื่อสังขารแตกสลายก็แยกกันไปอีก ก็ไปรวมกันอยู่ในโลกธาตุที่เรียกว่า โอกาสโลก อันนี้นี่เอง ไม่ใช่ไปทางไหน โลกจึงไม่มีเล็กลง

เมื่อรูปกายดับ วิญญาณธาตุเคลื่อนไปตามกรรม
คราวนี้มากล่าวถึงที่มีทั้ง ๒ ส่วนร่วมกัน คือว่าส่วนที่ไม่รู้กับส่วนที่รู้มาร่วมกันประกอบกัน อันหมายถึงสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งนี่แหละที่ไม่เป็นวัตถุทั้งหมดหรือวัตถุล้วนๆ แต่ว่ามีธาตุรู้มารวมอยู่ด้วย ดังเช่นบุรุษบุคคลชายหญิงสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ส่วนที่เป็นร่างกายหรือรูปกายเป็นส่วนที่ไม่รู้ แต่ว่าส่วนที่เป็นนามกายคือส่วนที่เป็นจิตใจนี่มีตัวรู้ ก็แปลว่าทั้ง ๒ ส่วนนี้มาประกอบกัน ก็มาเป็นสัตว์โลก คราวนี้ทั้ง ๒ ส่วนที่มาประกอบกันนี้ ว่าถึงส่วนที่ไม่มีตัวรู้คือส่วนรูปกายนั้น ก็เป็นส่วนที่เป็นวัตถุและก็ประกอบมาจากธาตุที่เป็นวัตถุ เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นวัตถุล้วนๆ ทั้งหลายเช่นต้นไม้ภูเขาก้อนดินก็มาประกอบกันเข้าเป็นสังขาร แต่ว่ามีส่วนที่เป็นนามกายหรือนามธรรมเข้าประกอบ จึงนับว่าเป็นสังขารพิเศษขึ้นไปอีกส่วนหนึ่งในโลกนี้คือมีส่วนที่เป็นธาตุรู้เข้าประกอบ และส่วนที่เป็นวัตถุก็มาจากธาตุทั้งหลายที่เป็นวัตถุ ส่วนที่เป็นนามธรรมหรือนามกายคือเป็นความรู้ต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็มาจากตัวรู้ที่เป็นธาตุรู้ที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ เพราะว่าเมื่อส่วนที่เป็นวัตถุซึ่งมาประกอบกันเป็นรูปกายอันนี้ก็เป็นสังขาร เมื่อมาจากธาตุทั้งหลายมาประกอบกันเข้าซึ่งเป็นธาตุที่เป็นวัตถุนั่นแหละ ตัวความรู้ต่างๆ ก็เช่นกัน ก็ต้องมาจากตัวรู้ที่เป็นธาตุรู้ จึงเป็นอันว่าธาตุที่ไม่มีความรู้ในตัวหรือธาตุที่ไม่รู้ กับธาตุที่เป็นธาตุรู้มาประกอบกัน ก็เป็นบุรุษสตรีบุคคลอันเป็นสัตวโลกนี้ และก็ต้องทำความเข้าใจเช่นเดียวกัน ว่าส่วนที่เป็นรูปกายนั้นก็เป็นสิ่งที่มีเกิดมีดับ เข้ากับลักษณะของสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งดังกล่าวแล้ว และเมื่อดับก็ไม่หมดสิ้นไปอีกเหมือนกัน

ดังคนเรานี้เมื่อตาย ตัวธาตุรู้ดังจะเรียกว่าจิตก็ตามวิญญาณก็ตาม จุติเคลื่อนออกไปแล้ว ทิ้งร่างกายอันนี้ไว้ ร่างกายอันนี้ก็เป็นเหมือนอย่างก้อนดินท่อนไม้ไร้วิญญาณ ก็กลายมาเป็นสังขารที่เป็นวัตถุเหมือนอย่างสังขารที่เป็นวัตถุทั้งหลาย และก็แตกสลายไป ลมก็ดับไป ธาตุน้ำก็แห้งเหือดหายไป ธาตุไฟก็ดับไป ธาตุที่เป็นธาตุดินก็เน่าเปื่อยไป แต่ว่าตัวธาตุนั้นก็ไม่หมดสิ้นไม่หายไปไหนอีก เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาก่อเกิดร่างกายขึ้นมาใหม่ ธาตุเหล่านั้นก็มาประกอบกันเข้าใหม่ แต่เมื่อกายอันนี้แตกสลายไป ธาตุอันนี้ก็แยกย้ายกันไป ก็อยู่ในโอกาสโลกนี่แหละ โลกจึงไม่เล็กลง เพราะฉะนั้นเมื่อคนตายหรือสัตว์ตายเน่าเปื่อยไปหรือว่าเผาไป ตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ก็นับไม่ถ้วน โลกก็ไม่เล็กลงก็คงอยู่เท่านั้นนั่นแหละ และธาตุทั้งหลายก็มารวมกันเข้าใหม่ ก็เป็นสังขารขึ้นมาใหม่ คราวนี้ส่วนจิตก็เหมือนกัน คือความรู้ต่างๆ ที่เป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็ดับไป แต่ว่าตัวธาตุรู้ก็ไม่ดับ คือรู้ที่เป็นตัวธาตุก็ไม่ดับ ก็เหมือนกับวัตถุที่เป็นตัวธาตุนั้นก็ไม่แตกไม่หายไม่หมดไม่สิ้น ตัวรู้ที่เป็นธาตุรู้ที่มาปรากฏเป็นความรู้ก็เช่นเดียวกัน ตัวความรู้ที่เป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนั้นเป็นสังขาร เป็นสังขารฝ่ายธาตุรู้ ก็เป็นสิ่งที่มีเกิดมีดับเช่นเดียวกับสังขารที่เป็นฝ่ายวัตถุ และเมื่อดับในที่สุดแล้ว ตัวธาตุรู้คือสิ่งที่เป็นตัวธาตุรู้ รู้ที่เป็นตัวธาตุก็ไม่ดับ ก็เคลื่อนไปตามกรรมดังที่กล่าวมาแล้ว

วิญญาณธาตุอุปบัติหรือจุติเพราะกิเลส
คราวนี้การที่ธาตุส่วนที่เป็นวัตถุกับธาตุที่เป็นตัวรู้มาประกอบกันอยู่ อาศัยกันอยู่นี้ ก็เป็นสังขารอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นส่วนผสมปรุงแต่ง และก็ต้องมีเหตุปัจจัยเหมือนกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสรู้พบ ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ธาตุที่เป็นวัตถุกับธาตุที่เป็นตัวรู้ต้องมาพบกันมาประกอบกัน ดั่งที่ทุกๆ คนเรานี้ก็มีทั้ง ๒ ส่วนนี่แหละมาประกอบกันอยู่ มาเป็นสังขารซึ่งมาจากธาตุที่เป็นวัตถุกับสังขารจากธาตุที่เป็นตัวรู้ แล้วก็สมมติชื่อเรียกกันไปทั้ง๒ ฝ่ายต่างๆ กัน ทำไมจึงต้องประกอบกัน เมื่อแยกจากกันแล้วทำไมไม่แยกจากกันไปเสียเลย ทำไมต้องมาพบกันอีกมาประกอบกันอีก และความที่มาประกอบกันอีกนั้นก็เรียกว่ามาเกิดอีกนั่นเอง และเมื่อแตกสลายก็แปลว่าเคลื่อนออกไป เป็นภาษาเรียกฝ่ายที่เป็นธาตุรู้ ตายหรือแตกสลายก็เป็นภาษาเรียกสำหรับธาตุที่ไม่รู้ คือภาษาเรียกตัวสังขารที่มาจากธาตุที่เป็นวัตถุที่ไม่ใช่เป็นธาตุรู้ ก็เรียกว่าเกิด และเมื่อแตกสลายก็เรียกว่าตายหรือว่าดับ

ส่วนที่มาจากธาตุที่เป็นตัวรู้นั้น ถ้าเกิดก็เรียกว่าอุปบัติ ซึ่งแปลว่าเข้าถึง และเมื่อจะไปก็เรียกว่าจุติ คือเคลื่อนไป อันเป็นคำที่มีความหมายว่าไม่ตาย ยังมีตัวที่ไม่ตาย และตัวที่ไม่ตายนี้มาแล้วก็ไป ก็มาอาศัยอยู่ในกายอันนี้ซึ่งมาจากธาตุที่เป็นวัตถุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับคือตาย แต่ตัวที่เป็นธาตุรู้นั้นเป็นตัวที่เข้าถึงมาประกอบเป็นสังขารขึ้น และเมื่อสังขารอันนี้แตกแยกก็เคลื่อนออกไป เรียกว่าจุติคือเคลื่อนสุดแต่จะตั้งชื่อเรียกกันว่าจิต ว่าวิญญาณ ว่าสัตว์ ว่าเรา ว่าเขา คราวนี้เมื่อมาประกอบกันเข้าเป็นบุรุษสตรีเราเขาดังนี้แล้ว ก็มีกระบวนการทางร่ายกายทางจิตใจไปตามธรรมชาติธรรมดา เช่นมีตามีหูมีจมูกมีลิ้นมีกายและมีมโนคือใจประกอบกันอยู่ แล้วก็มีรูปมีเสียงมีกลิ่นมีรสมีโผฏฐัพพะและมีสิ่งที่ใจรู้ใจคิดเรียกว่าธัมมะ มาประจวบกันอยู่ แล้วก็เกิดเป็นนามธรรม คือเป็นนามธรรมที่ว่าตามลำดับตามขันธ์ ๕ ก็เป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ รวมทั้งรูปก็เป็นรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เรียกว่าขันธ์ ๕ ตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งก็เป็นธรรมชาติธรรมดา แต่ว่ายังมีอีกส่วนหนึ่งเข้ามาผสมปรุงแต่ง อันเรียกว่ากิเลสที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมอง และกิเลสอันนี้ก็อาศัยขันธ์ ๕ นี้นี่แหละบังเกิดขึ้น หรือว่าอาศัยรูปกายอาศัยนามกาย อาศัยรูปนามอันนี้นี่แหละบังเกิดขึ้น

ดังที่มีตรัสเอาไว้ใน ปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ว่าเพราะเวทนาเป็นปัจจัยเกิดตัณหา และตรัสไว้ในพระสูตรอีกพระสูตรหนึ่ง ซึ่งมีใจความว่าในเมื่ออาศัยรูปกายและนามกายประกอบกัน ก็เกิดเวทนาคือความรู้ที่เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คราวนี้เมื่อเป็นสุขเวทนา เป็นสุขได้กินสุขได้เสวยสุข ก็เกิดความยินดีพอใจ และความยินดีพอใจนี้ก็มาเป็นราคานุสัย อนุสัยคือราคะ ความติดใจยินดี อนุสัยก็แปลว่านอนจม คือหมายความว่ายังจมเข้าไปอยู่ในจิตส่วนลึก ติดอยู่ในจิตส่วนลึก เป็นราคานุสัย อนุสัยเครื่องที่นอนจมอยู่ในจิตส่วนลึกคือราคะความติดใจยินดี คือยินดีอยู่ในสุขเวทนานั่นเอง ตลอดจนถึงในสิ่งทั้งหลายที่ทำให้เกิดสุขเวทนาด้วย คราวนี้เมื่อได้รับทุกขเวทนา ได้กินทุกข์เสวยทุกข์เป็นทุกข์ต่างๆ ก็ไม่ชอบไม่พอใจในตัวทุกข์ด้วย และในสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ด้วย ก็ทำให้บังเกิดปฏิฆานุสัย ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งนอนจมติดอยู่ในจิตส่วนลึก เมื่อประสบอทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข เมื่อไม่พิจารณาก็เกิดโมหะคือความหลง ก็ทำให้บังเกิดเป็นอวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชาคือความไม่รู้ ยังนอนจมติดอยู่ในจิตส่วนลึก เพราะว่าจิตนี้ที่เรียกว่าจิต คือเรียกตัวรู้ที่เป็นธาตุรู้นั้นว่าจิต ก็เพราะเหตุว่าคิด รู้ เก็บ และวิจิตรคือหลากหลายต่างๆ กันมาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ฉะนั้นจึงเก็บเอาไว้ เก็บเอาไว้เป็นราคะความติดใจยินดีอยู่ในสุขเวทนาและในสิ่งที่ทำให้เกิดสุขเวทนา เก็บตัวไม่พอใจกระทบกระทั่งในทุกขเวทนาและในสิ่งที่ทำให้เกิดทุกขเวทนา เก็บเอาอวิชชาคือตัวความไม่รู้อันมีอาการให้หลงในเวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งในสิ่งที่ทำให้เกิดเวทนาเช่นนั้น ก็เป็นอวิชชาขึ้นมา อันนี้แหละเป็นตัวกิเลสที่เข้ามาประกอบเข้าอีก ก็เป็นสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งเข้าอีก คือว่าปรกตินั้นก็มีการผสมปรุงแต่งจากส่วนที่เป็นธาตุวัตถุไม่รู้ กับส่วนที่เป็นธาตุรู้คือตัวรู้ มารวมกันเข้ามาเป็นบุรุษสตรีบุคคลสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย แล้วยังมีกิเลสเข้ามาปรุงแต่งเข้าอีกส่วนหนึ่งประกอบเข้าอีก เพราะฉะนั้นจึงเป็นสังขาร คือส่วนผสมปรุงแต่งที่มีกิเลสเข้าผสมอยู่ด้วย


๔ กันยายน ๒๕๒๗


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #32 เมื่อ: กรกฎาคม 26, 2011, 04:05:06 pm »



ครั้งที่ ๑๙ ลักษณะพุทธศาสนา
- การรับรู้อารมณ์ของจิต


ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร ในการอบรมนวกภิกษุ
พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาจนถึงกิเลส ที่มีส่วนเข้ามาผสมปรุงแต่งกายคือรูปกายและจิต ซึ่งเป็นสังขตธรรมส่วนหนึ่งของโลก ซึ่งมีส่วนวัตถุกับส่วนจิตเข้าประกอบกัน ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องกิเลสต่อไปจากที่ได้แสดงแล้ว จะได้กล่าวถึงกระบวนการของกายและจิตที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา กับที่มีบุคคลเข้าไปมีส่วนปรุงแต่ง และก็จะกล่าวเทียบกับทางฝ่ายวัตถุก่อน ซึ่งทางฝ่ายวัตถุนั้นก็มีกระบวนการของตนเอง กับมีกระบวนการที่มีบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง ดั่งเช่นต้นไม้ก็มีทั้ง ๒ อย่าง คือที่เป็นไปตามสภาพคือภาวะของตนเอง กับที่มีบุคคลเข้าเกี่ยวข้อง ส่วนที่มีบุคคลเข้าเกี่ยวข้องนั้น ก็คือการที่บุคคลทำการเพาะหว่านปลูก เช่นทำนา ทำสวน ก็มีการเพาะหว่านปลูกข้าวและต้นไม้ต่างๆ ตามต้องการ และการให้น้ำการบำรุงต่างๆ การรักษาต่างๆ เหล่านี้บุคคลเข้าเกี่ยวข้อง กับอีกส่วนหนึ่งที่เป็นไปตามภาวะของตน ที่เรียกว่าตามสภาพ คือการที่ต้นไม้เริ่มงอกเป็นต้นขึ้นจากเมล็ดแล้วก็เติบโตขึ้นไปโดยลำดับ ออกดอกออกผล นี้ต้นไม้เป็นไปตามภาวะของตนที่เรียกว่าสภาพ

อธิบายความหมายของสภาพกับภาวะ
เพราะฉะนั้นจึงใคร่จะอธิบายคำว่าสภาพ ว่ามาจากคำว่าสภาวะในภาษาบาลี ไทยเรามาใช้ทับศัพท์ว่าสภาพ เอา “ว” เป็น “พ” แปลตามคำก็แปลว่าภาวะของตัว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเรียกว่าสภาพนั้นคือสิ่งที่เป็นไปตามภาวะของตน ดั่งเช่นสภาพของต้นไม้ดังที่กล่าวมานั้นบุคคลไม่ได้เป็นผู้ไปทำ แต่ต้นไม้เขาทำของเขาเองคือเป็นไปเอง การที่แตกเป็นหน่อขึ้นจากเม็ดแล้วก็เติบโตขึ้นมา มีลำต้น มีเปลือก มีกิ่ง มีใบ มีผล เป็นต้นเหล่านี้ เขาเป็นไปของเขาเอง เรียกว่าเขามีภาวะของเขาเอง ไปตามภาวะของตนเอง ความเป็นของตนเอง ภาวะแปลว่าความเป็น ลักษณะดั่งนี้เรียกว่าสภาพหรือสภาวะ แต่การที่บุคคลเข้าไปทำเข้าไปตกแต่งนั้นไม่เรียกว่าสภาพ แต่อาจเรียกว่าภาวะได้ เช่นว่าการที่เป็นบ้านเป็นเรือนนี่ไม่ใช่เป็นสภาพ คือมิได้เป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมาเอง คนไปตัดเอาไม้มา เอาทัพสัมภาระอื่นๆ มาปลูก มาสร้างขึ้น จึงเป็นบ้านเป็นเรือน ฉะนั้นบ้านเรือนจึงมิได้เป็นไปตามสภาพ คือไม่ได้เกิดขึ้นตามสภาพตามภาวะของตน แต่มีคนปรุงแต่ง ถ้าหากว่าบ้านเรือนเป็นไปเอง เช่นว่าเราเพียงแต่หาไม้มากองๆ เอาไว้ เอาทัพสัมภาระมากองๆ เอาไว้ แล้วบ้านเรือนเขามาปรุงของเขาเอง เสาก็ตั้งขึ้นเอง ฝาก็มาประกอบกันเอง หลังคาก็มาประกอบกันเอง กระเบื้องก็มุงเอง ถ้าดั่งนี้จึงจะเป็นสภาพ แต่นี่คนทำทั้งนั้น ส่วนต้นไม้นั้นคนทำแต่เบื้องต้น คือว่าปลูกหว่านบำรุงรักษา เหล่านี้เป็นภาวะคือเป็นเรื่องของคน แต่ความที่ต้นไม้แตกขึ้นมาเป็นต้นไม้ นี้เป็นไปตามภาวะของตน ของตนก็คือของต้นไม้เอง เป็นไปเองดั่งนี้เรียกว่าสภาพ นี่เป็นความต่างกันของถ้อยคำที่เรียกว่าสภาพหรือเรียกว่าภาวะเฉยๆ

กระบวนการของกาย
คราวนี้ในบุคคลเองก็เหมือนกัน ว่าถึงในส่วนกาย เอารูปกายเช่นว่าอาหาร คนก็ต้องแสวงหามา แล้วก็ต้องมาหุงมาต้มมาบริโภค นำเข้าปากเคี้ยวกลืนลงไป ที่คนทำ แต่เมื่อกลืนลงไปถึงในท้องแล้ว อาหารนั้นถูกย่อยแล้วนำไปบำรุงเลี้ยงร่างกาย แล้วเป็นส่วนที่ขับถ่ายออกมาเหล่านี้เป็นสภาพคือเป็นไปเอง ลมหายใจก็คล้ายๆ กับเป็นสภาพ เพราะว่าการหายใจเข้าหายใจออกนี้ ก็หายใจไปตามเรื่องของร่างกาย และลมที่เข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกายอย่างไร แล้วก็หายใจออกเอาอากาศที่ไม่ดีออกมาอย่างไร นี่ก็เป็นไปเองตามสภาพตามภาวะของตนของร่างกาย แต่ว่าส่วนหนึ่งนั้นบุคคลทำ เช่นว่ามีเจตนาคือความจงใจขึ้นมา ทำทางกายทำทางวาจาทำทางใจขึ้นมา เป็นกรรม เหล่านี้ไม่ใช่สภาพ คือว่าคนใช้ร่างกายอันนี้ทำพร้อมทั้งจิตใจ คราวนี้เมื่อทำเป็นกรรมขึ้นมาแล้ว กรรมและการให้ผลของกรรมนี้เป็นสภาพของกรรมที่เป็นไปเอง เมื่อทำเป็นกรรมขึ้นมาแล้ว กรรมและการให้ผลของกรรมนี่เป็นสภาพของกรรมคือเป็นไปเอง กับมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาประกอบ นั่นก็สุดแต่จะเป็นอย่างไร อันนี้ก็จะปรารภกล่าวกันอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่เพียงยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้นก่อน ว่ากระบวนการของสิ่งที่ผสมปรุงแต่งนี้ เมื่อผสมปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว ก็เป็นไปตามสภาพคือภาวะของตนนั้นส่วนหนึ่ง แล้วก็มีบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นอีกส่วนหนึ่ง ดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวนั้น

กระบวนการของจิต
คราวนี้มาถึงกระบวนการของจิต กายและจิตที่อาศัยกันอยู่นี้ ก็มีกระบวนการที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาส่วนหนึ่ง และที่มีบุคคลเข้าเกี่ยวอีกส่วนหนึ่ง จะว่าถึงที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาดั่งที่เรียกว่าสภาพนั้นก่อน คือว่าจิตนี้ดังที่ได้กล่าวแล้วก็อาศัยอยู่ในกายนี้ และกายนั้นในที่นี้ก็หมายถึงแค่รูปกายก่อน หรือว่าธาตุ ๕ ที่เป็นฝ่ายรูปหรือฝ่ายวัตถุมารวมกันเข้าจิตก็มุ่งถึงตัววิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ที่มาอาศัยอยู่กับกายนี้ ทีนี้เมื่อมาอาศัยกันแล้ว ก็มีกระบวนการที่อาศัยกันไปตามธรรมชาติธรรมดา อันหมายถึงว่ากายจิตของใครๆ ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น คือว่าความที่อาศัยกันนี้ ก็ตั้งต้นแต่ที่ตรัสแสดงไว้ถึงอายตนาภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ที่ประกอบกันที่คู่กัน คำว่าอายตนะนั้นแปลว่าที่ต่อคือต่อกัน อายตนะภายในก็ได้แก่จักขุคือตา หมายถึงส่วนที่เป็นจักษุประสาท โสตะคือหู หมายถึงที่เป็นโสตประสาท ฆานะคือจมูก หมายถึงที่เป็นฆานประสาท ชิวหาคือลิ้น หมายถึงที่เป็นชิวหาประสาท กายะคือกาย หมายถึงที่เป็นกายประสาท และมโนคือใจอันเป็นข้อที่ ๖ อายตนะภายนอกก็คือรูปที่คู่กับตา เสียงที่คู่กับหู กลิ่นที่คู่กับจมูก รสที่คู่กับลิ้น โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่คู่กับกาย และธัมมะ นี่ก็ใช้คำว่าธัมมะอีกเหมือนกัน แต่หมายถึงเรื่องราวที่คู่กับมโนคือใจ นี่เป็นการแสดงถึงกระบวนการของกายและจิตอาศัยกัน อันนับว่าเป็นก้าวแรก ก็คือว่าตากับรูปประจวบกัน หูกับเสียงประจวบกัน จมูกกับกลิ่นประจวบกัน ลิ้นกับรสประจวบกัน กายกับโผฏฐัพพะประจวบกัน มโนคือใจและธัมมะคือเรื่องราวประจวบกัน ดังที่ทุกคนได้มีอยู่เป็นไปอยู่ และเมื่อมาประจวบกันแล้วก็เกิดวิญญาณ กล่าวคือเมื่อตากับรูปประจวบกันก็เกิดจักขุวิญญาณ ความรู้ทางตา อันได้แก่เห็น หูกับเสียงประจวบกันก็เกิดโสตวิญญาณ ความรู้ทางหู คือได้ยิน จมูกกับกลิ่นประจวบกันก็เกิดความรู้อันเรียกว่าฆานวิญญาณ ความรู้ทางฆานะคือจมูก อันได้แก่ทราบกลิ่น ลิ้นกับรสประจวบกันก็เกิดชิวหาวิญญาณ คือความรู้ทางลิ้น ได้แก่ทราบรส กายและโผฏฐัพพะประจวบกันก็เกิดกายวิญญาณ ความรู้ทางกาย คือทราบสิ่งที่ถูกต้อง มโนคือใจกับธัมมะคือเรื่องราวประจวบกันก็เกิดความรู้อันเรียกว่ามโนวิญญาณ คือความรู้ทางมโนคือใจ

เมื่อเกิดเป็นวิญญาณ ๖ ขึ้นดั่งนี้แล้ว เมื่อทั้ง ๓ อย่างมาประชุมกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ก็เกิดสัมผัสสะหรือผัสสะ คือว่าเมื่อตากับรูปและจักขุวิญญาณมาประชุมกัน ก็เกิดจักขุสัมผัสความกระทบทางจักษุ เมื่อหูกับเสียงและโสตวิญญาณมาประชุมกัน ก็เกิดโสตสัมผัส ความสัมผัสคือความกระทบทางหู เมื่อจมูกกับกลิ่นและฆานวิญญาณมาประชุมกัน ก็เกิดฆานสัมผัสคือสัมผัสทางจมูก เมื่อลิ้นกับรสและชิวหาวิญญาณมาประชุมกันมาประจวบกัน ก็เกิดชิวหาสัมผัสคือสัมผัสทางลิ้น เมื่อกายกับโผฏฐัพพะและกายวิญญาณทั้ง ๓ นั้น ก็เกิดกายสัมผัสคือสัมผัสทางกาย เมื่อมโนคือใจกับธัมมะคือเรื่องราวและมโนวิญญาณทั้ง ๓ นี้มาประชุมกัน ก็เกิดมโนสัมผัสคือสัมผัสทางใจ เมื่อมาถึงสัมผัสดั่งนี้แล้วจึงเกิดเวทนา คือเพราะสัมผัสทางตาก็เกิดเวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา เรียกว่าจักขุสัมผัสสชาเวทนา และเพราะสัมผัสทางหูก็เกิดเวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู เรียกว่าโสตสัมผัสสชาเวทนา เพราะสัมผัสทางจมูกก็เกิดเวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางจมูก เรียกว่าฆานสัมผัสสชาเวทนา เพราะสัมผัสทางลิ้นก็เกิดเวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางลิ้น เรียกว่าชิวหาสัมผัสสชาเวทนา เพราะสัมผัสทางกายก็เกิดเวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย เรียกว่ากายสัมผัสสชาเวทนา เพราะสัมผัสทางมโนคือใจก็เกิดเวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางใจ เรียกว่ามโนสัมผัสสชาเวทนา จึงเกิดสัญญาคือความจำได้หมายรู้ซึ่งเกิดถัดมาจากเวทนานั้น เป็นสัญญาในรูปก็เรียกว่ารูปสัญญา สัญญาในเสียงก็เรียกว่าสัททสัญญา สัญญาในกลิ่นก็เรียกว่าคันธสัญญา สัญญาในรสก็เรียกว่ารสสัญญา สัญญาในโผฏฐัพพะก็เรียกว่าโผฏฐัพพะสัญญา สัญญาในเรื่องราวก็เรียกว่าธัมมสัญญา และก็เกิดสังขารคือความปรุงคิดหรือความคิดปรุงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็เป็นความคิดปรุงหรือความปรุงคิดไปในรูปบ้างในเสียงบ้างในรสบ้างในโผฏฐัพพะบ้างในธัมมะคือเรื่องราวบ้าง เป็นความคิดปรุงหรือความปรุงคิดที่เป็นฝ่ายดีบ้างฝ่ายชั่วบ้าง หรือฝ่ายที่เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วบ้าง และเมื่อคิดปรุงหรือปรุงคิดไปก็รู้ไปด้วยที่รู้เป็นวิญญาณ ก็เป็นวิญญาณเวียนขึ้นๆ มาอีก เพราะฉะนั้นกระบวนการของกายและจิตที่อาศัยกันอยู่จึงเป็นดั่งนี้ ตามที่มีแสดงไว้ตามลำดับในธรรมวิภาคในนวโกวาทนั้นแล้ว

รูปนามหรือนามรูป
ในเบื้องต้นก็ให้ดูและกำหนดจำไว้ แล้วก็ทำความเข้าใจ คราวนี้ก็จะได้อธิบายเพิ่มเติมจากที่ท่านวางไว้เป็นแบบดั่งนั้น ก็คือว่าในฝ่ายอายตนะภายในภายนอกนั้น ๕ ข้อข้างต้นก็เป็นวัตถุ หรือเป็นรูปกายเป็นรูปขันธ์โดยตรง ส่วนข้อที่ ๖ คือมโนกับธัมมะคือเรื่องราวนั้น ก็เป็นสิ่งที่เชื่อมเกี่ยวกันอยู่ในระหว่างรูปซึ่งเป็นวัตถุ กับจิตที่เป็นฝ่ายทางจิตใจ เหตุฉะนั้นจึงจะสามารถทำให้กายและจิตใจนั้นมาประสานกันได้ มาเป็นสังขารคือปรุงแต่งด้วยกันได้ และในฝ่ายที่เป็นส่วนรูปนั้นก็เป็นรูป ในฝ่ายที่เป็นวิญญาณเป็นสัมผัสเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารแล้วก็กลับมาเป็นวิญญาณขึ้นอีก นั่นรวมเรียกว่าเป็นนาม ย่อเข้าจึงเป็นรูปนาม แต่เรียกว่านามไว้ต้นเป็นนามรูป ตามลำดับที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าเรียงลำดับต่างจากขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นั้นเรียงลำดับว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ว่าตามที่ได้อธิบายถึงกระบวนการเกิดขึ้นของกายและจิตที่อาศัยกันอยู่ เรียงว่ารูปคืออายตนะทั้ง ๒ แล้วก็วิญญาณ แล้วก็สัมผัส เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็เวียนมาวิญญาณต่อไป ถ้ายังไม่กล่าวถึงวิญญาณที่เวียนต่อไป ก็เอาแค่สังขาร เพราะฉะนั้นจึงต่างจากขันธ์ ๕ โดยที่ในขันธ์ ๕ นั้นเรียงวิญญาณไว้ท้ายทีเดียว ไม่เรียงวิญญาณเอาไว้ต่อจากรูป และไม่ได้แสดงสัมผัส พิจารณาดูแล้วว่าท่านเรียงขันธ์ ๕ ไว้อย่างนั้น ไม่ได้มุ่งแสดงตามกระบวนการที่เกิดขึ้นของกระบวนการทางจิตใจ

แต่ว่ามุ่งแสดงขันธ์ ๕ สำหรับให้พิจารณาทางด้านวิปัสสนา คือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง คือตรัสสอนให้กำหนดแยก
ก้อนอันนี้ที่ยึดถือกันว่าตัวเราของเราอยู่นี้ออกไป ว่าอันที่จริงนั้นไม่ได้รวมเป็นก้อนเดียวกันแต่ว่าแยกออกเป็นรูปฝ่ายหนึ่ง เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณแต่ละฝ่ายเป็น ๕ เพื่อให้พิจารณาเห็นได้ง่าย เพราะว่ารูปนั้นเป็นส่วนหยาบเห็นได้ง่าย ตรัสสอนให้พิจารณาก่อน ว่านี่รูป เวทนานั้นก็เป็นความที่ปรากฏอาการเป็นทุกข์เป็นสุขหรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขของกายใจ นี่แปลว่าคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างกายและใจ เวทนาทางกายก็มี เวทนาทางใจก็มี นี่จึงมาเป็นที่ ๒ เพราะเมื่อพบกายก็พบเวทนา คือเมื่อพบรูปก็พบเวทนา เพราะเวทนาทางรูปมีทางกายมี จึงให้จับพิจารณาเวทนาต่อไปเลย แล้วจึงมาสัญญาสังขารซึ่งเป็นอาการทางใจ เพราะว่าสัญญาสังขารทางรูปไม่มี รูปจำอะไรไม่ได้ รูปคิดอะไรไม่ได้ นั่นต้องใจหรือจิต แต่ว่ารูปมีเวทนาได้เป็นสุขได้เป็นทุกข์ได้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขได้ เพราะฉะนั้นจากเวทนาจึงมาสัญญาสังขารแล้วก็กลับมาวิญญาณซึ่งเป็นตัวที่ละเอียด ก็แปลว่าตรัสเรียบเรียงลำดับจากหยาบมาละเอียดก็เป็นรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ และก็ไม่จำเป็นจะต้องมาพิจารณาตัวสัมผัสซึ่งเป็นตัวสำคัญแต่ก็เป็นตัวที่แฝงอยู่ในระหว่างของวิญญาณและเวทนา ต่อเมื่อมาจับพิจารณาถึงกระบวนการเกิดทางจิตใจที่อาศัยกาย จึงได้ทรงแสดงดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นการแสดงถึงกระบวนการเกิดทางจิตใจกับร่างกายที่อาศัยกัน

จิตน้อมออกรับอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖
คราวนี้มาถึงคำที่ย่อลงว่าเป็นนาม นามนั้นอะไร คำว่านามนั้นเรามักจะเข้าใจกันเพียงว่าไม่ใช่รูป เป็นแต่เพียงชื่อที่เรียก เหมือนอย่างคนที่ชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นชื่อที่ไม่มีรูป เป็นสักแต่ว่าชื่อ แต่ว่าความหมายในทางความเกิดขึ้นนั้น คำว่านามแปลว่าน้อม เหมือนอย่างคำว่านโมแปลว่าความนอบน้อม คำว่านามนั้นก็มีมูลธาตุเหมือนกับคำว่านโม คือแปลว่าน้อม ก็คือว่าอาการที่จิต ที่เป็นตัวธาตุรู้อันอาศัยอยู่ในกายส่วนที่เป็นรูป น้อมออกรู้ รู้โลก คือรู้สิ่งภายนอก อาศัยอายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกัน เพราะว่าจิตนั้นถ้าหากว่าอายตนะภายในภายนอกยังไม่ประจวบกัน จิตก็ไม่น้อมออกรู้ และเมื่อไม่น้อมออกรู้ก็เหมือนว่าไม่รู้ ต่อเมื่ออายตนะภายในภายนอกประจวบกัน จิตจึงน้อมออกรู้ เพราะฉะนั้นจึงเปรียบเหมือนอย่างว่ามีบ้านอยู่บ้านหนึ่ง จิตเป็นเจ้าของบ้านอยู่ภายในบ้าน และบ้านนั้นมีประตูนอกอยู่ ๕ ประตู ประตูในอยู่ ๑ ประตู เมื่อจิตจะรู้อะไรในภายนอก ก็จะต้องรู้โดยประตูนอก ๕ ประตู ประตูใน ๑ ดังกล่าวนั้น โดยที่จิตออกไปรู้ก็ตาม คือจิตออกประตูออกไปรู้ก็ตาม หรือสิ่งที่จิตรู้นั้นเข้าประตูมาให้จิตรู้ก็ตาม จิตน้อมออกไปรู้ ฉะนั้นจึงรู้ได้ คือว่าน้อมออกรู้รูปก็ทางประตูตา น้อมออกไปรู้เสียงก็ทางประตูหู กลิ่นรสโผฏฐัพพะเรื่องราวก็ทางประตูจมูกประตูลิ้นประตูกายประตูมโนคือใจ แต่ว่าในขณะที่ยังไม่มีเรื่องอะไรเข้าประตูเข้ามา จิตก็เหมือนอย่างไม่รู้อะไรและในขณะที่จิตยังไม่รู้อะไรทางประตูดังกล่าวนั้น อันนี้แหละที่เรียกว่า ภวังคจิต นี้เป็นภาษาในอภิธรรม ภวังคจิตตามศัพท์ ภวังค์แปลว่าองค์ของภพ ภวะ อังคะ แปลว่าองค์ของภพ เป็นจิตที่ยังไม่ออกรับรู้อะไร เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบเหมือนดังว่าน้ำในมหาสมุทรที่ไม่มีลมก็ไม่มีคลื่นสงบอยู่เฉยๆ นี้คือภวังคจิต แต่เมื่อเกิดลมเกิดคลื่นขึ้นมา นั่นก็แปลว่าน้ำที่ออกจากภาวะปรกติไปสู่ภาวะที่มีคลื่นที่เป็นคลื่นเพราะลม จิตก็เหมือนกัน เมื่อยังไม่ออกรู้อะไรทางตาทางหูเป็นต้นดั่งนั้น ก็เป็นภวังคจิต เหมือนอย่างน้ำที่สงบเงียบไม่มีลมไม่มีคลื่น

เพราะเหตุนี้จึงได้เรียกอายตนะภายในทั้ง ๖ ว่าทวาร เช่นจักขุทวารก็คือประตูตา โสตทวารก็ประตูหู ฆานทวารก็ประตูจมูก ชิวหาทวารก็ประตูลิ้น กายทวารก็ประตูกาย มโนทวารก็ประตูใจ เป็นประตูสำหรับที่จะรับเรื่องเข้าสู่จิต หรือสำหรับจิตจะออกรับเรื่อง และสิ่งที่เข้าทางทวารทั้ง ๖ นี้จึงเรียกว่า อารมณ์ คำว่าอารมณ์หมายถึงเรื่อง เรื่องที่จิตคิดเรื่องที่จิตดำริเรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง ในอภิธรรมเรียกว่า อาลัมพนะ แปลว่าเป็นเครื่องหน่วงจิต ก็เพราะว่าที่จิตรับเรื่องนั้นคือน้อมออกไปรับเรื่อง อันหมายความว่าสิ่งที่จิตรับได้นั้นเป็นเพียงแต่เรื่องไม่ใช่วัตถุ อย่างเช่นว่าเมื่อตากับรูปประจวบกัน รูปที่ตาเห็นเป็นภูเขา ต้นไม้ บุคคล หรือเป็นอะไรก็ตาม ซึ่งล้วนเป็นวัตถุ จิตจะรับเอาต้นไม้เอาภูเขาเอาบุคคลเอาอะไรต่ออะไรเข้ามาในจิตไม่ได้ จิตรับได้แต่เรื่อง คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน จิตก็รับเอาแต่เรื่องของรูปที่เข้ามาทางจักขุทวารคือประตูตา เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่ารูปารมณ์ อารมณ์คือรูป คือรับอารมณ์คือรูปเท่านั้นเอง ไม่ใช่รับเอาต้นไม้ภูเขาบุคคลเข้ามา เสียงก็เหมือนกัน ก็รับแต่เรื่องที่เรียกว่าสัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง กลิ่นก็เหมือนกัน เรียกว่าคันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น รสารมณ์ อารมณ์คือรส โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง และธรรมารมณ์ อารมณ์คือเรื่องราวของสิ่งเหล่านั้น จิตรับได้แต่เรื่องที่เข้ามาทางทวารทั้ง ๖ นั้น และโดยเฉพาะ ๕ ข้อข้างต้นนั้น สิ่งที่รับล้วนแต่เพียงวัตถุ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จะเอามาใส่ในจิตไม่ได้ จิตรับแต่เรื่องเข้ามา เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอารมณ์ เมื่ออธิบายในแนวที่แสดงถึงจิตน้อมออกรับอารมณ์ดั่งนี้ อายตนะภายในทั้ง ๖ จึงเรียกว่าทวารทั้ง ๖ และอายตนะภายนอก ๖ จึงเรียกว่าอารมณ์ ๖ เพื่อให้ชัดขึ้นมาว่า จิตน้อมออกรับอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นทางทวารทั้ง ๖ ก็ไม่ต่างอะไรจากอายตนะภายในภายนอกนั่นแหละ แต่ว่ามาเปลี่ยนชื่อเป็นทวาร ๖ เป็นอารมณ์ ๖ ก็โดยมุ่งที่จะแสดงถึงกระบวนการของจิต ที่น้อมออกรับอารมณ์ทั้ง ๖ นี้ทางทวารทั้ง ๖ รับมาเป็นวิญญาณเป็นสัมผัสเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขาร


๕ กันยายน ๒๕๒๗


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #33 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2011, 03:06:31 pm »



ครั้งที่ ๒๐ ลักษณะพุทธศาสนา
- การรับรู้อารมณ์ของจิต
(๒)


ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร ในการอบรมนวกภิกษุ
พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

แสดงลักษณะพุทธศาสนาถึงเรื่องอายตนะภายในอายตนะภายนอกสัมพันธ์กับจิตหรือธาตุรู้ ซึ่งมาประกอบกับนามรูป ทวาร อารมณ์ ภวังคจิต ซึ่งบรรดาชื่อทั้งปวงเหล่านี้ต่างมีความหมายตามลักษณะจำเพาะของแต่ละขันธ์ และที่สัมพันธ์กันอยู่ ซึ่งเมื่อไม่เข้าใจก็ดูจะยุ่ง แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็จะไม่ยุ่ง และจะทราบกระบวนการของจิตตามลักษณะที่แสดงไว้ในพุทธศาสนาดีขึ้น

อินทรีย์ หรืออายตนะภายใน หรือทวาร ๖

จะได้กล่าวอธิบายทบทวนบ้าง ต่อไปบ้าง ในข้อที่ควรจะกล่าว เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการของจิตตามทางพุทธศาสนาดีขึ้น จะเริ่มด้วยอายตนาภายในหรือทวาร ๖ ตามที่กล่าวแล้ว โดยจะเพิ่มชื่อของทั้ง ๖ ข้อนี้ ขึ้นอีกชื่อหนึ่งคือ อินทรีย์ ที่แปลว่าเป็นใหญ่ คือทั้ง ๖ ข้อนี้นอกจากเรียกชื่อว่าอายตนะ ซึ่งแปลว่าที่ต่อ เรียกชื่อว่าทวาร ที่แปลว่าประตูหรือช่องทาง ยังเรียกชื่อว่าอินทรีย์ที่แปลว่าเป็นใหญ่ด้วย คือจักขุนทรีย์ อินทรีย์คือจักษุหรือตา ชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการเห็นรูป โสตินทรีย์ อินทรีย์คือหู ชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการฟังเสียง ฆานินทรีย์ อินทรีย์คือจมูก ชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการทราบกลิ่น ชิวหินทรีย์ อินทรีย์คือลิ้น ชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการลิ้มรส กายินทรีย์ อินทรีย์คือกาย ชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการทราบโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง มนินทรีย์ อินทรีย์คือมนะหรือมโนคือใจ ชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการคิดหรือรู้ธัมมะคือเรื่องราว และเป็นใหญ่ใน ๕ ข้อข้างต้นนั้นด้วย คือในการเห็นรูป ในการฟังเสียง ในการทราบกลิ่น ในการทราบรส ในการทราบสิ่งถูกต้อง

ตามที่อธิบายนี้ มนินทรีย์ อินทรีย์คือมนะหรือมโนคือใจ จึงเป็นใหญ่ในทางของตนโดยจำเพาะด้วย คือในทางรู้หรือคิดเรื่องอันเป็นข้อ ๖ และเป็นใหญ่ในแต่ละข้อ ๕ ข้อข้างต้นนั้นด้วย มนินทรีย์ อินทรีย์คือมนะหรือใจ เป็นอายตนะข้อที่ ๖ และทวารข้อที่ ๖ จึงเป็นใหญ่ครอบไปในอายตนะ ๕ ข้อข้างต้น ในทวาร ๕ ข้อข้างต้นนั้นด้วย ในข้อนี้ท่านให้คำอธิบายไว้ว่าในขณะที่ตาและรูปประจวบกัน มโนต้องเข้าไปประกอบด้วย จึงจะสำเร็จเป็นการเห็นรูป หูกับเสียงประจวบกัน มโนจะต้องเข้าไปประกอบด้วย จึงจะสำเร็จการได้ยินเสียง จมูกกับกลิ่นประจวบกัน มโนจะต้องเข้าไปประกอบด้วยจึงจะสำเร็จการทราบกลิ่น ลิ้นกับรสประจวบกัน มโนจะต้องเข้าไปประกอบด้วย จึงจะสำเร็จการทราบรส กายและสิ่งถูกต้องคือโผฏฐัพพะประจวบกัน มโนจะต้องเข้าไปประกอบด้วย จึงจะสำเร็จการทราบสิ่งถูกต้อง ตามนัยนี้มโนต้องเข้าไปประกอบด้วยแต่ละข้อทุกข้อ ถ้าไม่มีมโนเข้าไปประกอบด้วยทุกข้อแล้ว แต่ละข้อนั้นจะไม่สำเร็จเป็นการเห็นรูปเป็นต้นได้ และโดยเฉพาะในข้อที่ ๖ มโนก็ประกอบกับธัมมะคือเรื่องราว ก็รู้และคิดคือเรื่องราวอีก เป็นประการที่ ๖ นั้นด้วย

เพราะฉะนั้นตามอธิบายนี้จึงทำให้ท่านผู้รู้ทางพุทธศาสนาหลายท่าน ซึ่งได้ศึกษาวิชาสรีรวิทยาปัจจุบัน ให้คำอธิบายว่ามโนได้แก่มันสมอง แม้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ประทานคำอธิบายไว้อย่างนี้ ว่ามโนคือมันสมอง ท่านทั้งหลายที่ขึ้นไปดูห้องกรรมฐานที่ตึก ภปร. ซึ่งได้มีแสดงถึงประสาททั้ง ๕ เมื่อกระทำหน้าที่เห็นรูปได้ยินเสียงเป็นต้นนั้น ดำเนินไปอย่างไร คือเมื่อจักขุประสาทกับรูปมาประจวบกัน จะต้องวิ่งไปถึงมันสมองส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเห็นรูป จึงจะสำเร็จเป็นการเห็นรูป ทางเสียงก็เหมือนกันเมื่อประจวบกับโสตประสาท ก็จะวิ่งไปถึงมันสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินเสียง จึงจะสำเร็จเป็นการได้ยินเสียง ทางจมูกทางลิ้นทางกายก็เช่นเดียวกัน เมื่อกลิ่นรสและสิ่งถูกต้องมาประจวบกับฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท ก็ต้องวิ่งไปถึงมันสมอง ส่วนที่จะให้ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง จึงจะสำเร็จเป็นการทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง ฉะนั้นตามระบบสรีรศาสตร์ตามที่กล่าวมานี้ จึงต้องมีมันสมองส่วนที่เกี่ยวกับประสาททั้ง ๕ นั้นเข้ามาประกอบเข้าอีกส่วนหนึ่งด้วย ก็ตรงกับคำอธิบายของพระอาจารย์และตรงกับพุทธศาสนาที่ท่านอธิบายไว้ดังกล่าวมาแล้วด้วย ถึงหน้าที่ของมโนซึ่งเป็นมนินนทรีย์ อินทรีย์คือมโน ซึ่งเป็นใหญ่ในการช่วยให้สำเร็จการเห็นรูป การได้ยินเสียง การทราบกลิ่น การทราบรส การทราบโผฏฐัพพะ ตลอดจนถึงในหน้าที่เฉพาะของตัวเอง คือรู้คิดเรื่องอันเป็นข้อที่ ๖ นั้นก็ตรงกับระบบของมันสมองตามหลักสรีรศาสตร์ปัจจุบันนี้ ไปดูบนตึก ภปร. นั้นมีแสดงไว้ไปกดปุ่ม ถ้าไฟไม่เสียก็จะมองเห็นชัด เช่นตอนที่รูปมาประจวบกับจักขุประสาท แล้วจึงแล่นปราดไปถึงมันสมองจึงจะเห็นรูป และการได้เห็นรูป การได้ยินเสียง การได้ทราบกลิ่น การได้ทราบรส การได้ทราบโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และการรู้เรื่องหรือคิดเรื่อง นี่แหละคือจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ ฉะนั้นหากมีปัญหาว่าเห็นรูปด้วยอะไร เราพูดตามภาษาสามัญว่า เห็นรูปด้วยจักษุคือดวงตา แต่เมื่อว่าตามกระบวนจิตแล้ว ต้องตอบว่าเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ ได้ยินเสียงด้วยอะไร ได้ยินเสียงด้วยหู ถ้าตอบตากระบวนการของจิตละก็ ต้องตอบว่า ได้ยินเสียงด้วยโสตวิญญาณ ข้ออื่นก็เหมือนกัน ทราบกลิ่นด้วยฆานวิญญาณ ทราบรสด้วยชิวหาวิญญาณ ทราบโผฏฐัพพะด้วยกายวิญญาณ ทราบเรื่องที่เรียกว่าธัมมะเรื่องราวด้วยมโนวิญญาณดั่งนี้ นี้เป็นการตอบที่ถูกต้องตามกระบวนการของจิต แต่เราก็พูดตามสามัญว่าเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหูเป็นต้น

จิตรู้ได้เพราะต่อกับอายตนะภายในภายนอก

คราวนี้ตามที่ได้อธิบายแล้ว ตาหูลิ้นจมูกกายและใจทั้ง ๖ นี้เรียกว่าอายตนะ เพราะเป็นที่ต่อ คือว่าต่อกับอายตนะภายนอกที่คู่กัน รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธัมมะคือเรื่องราวเป็นอายตนะคือที่ต่อ นอกจากต่อกันในระหว่างภายในและภายนอกทั้ง ๒ นี้แล้ว ยังเป็นอายตนะของจิต คือธาตุรู้ คือต่อจิตหรือธาตุรู้ จิตหรือธาตุรู้นั้นต่อกับอายตนะภายในภายนอกทั้ง ๒ นี้จึงรู้ภายนอกได้ และเรียกว่าทวารแปลว่าช่องหรือประตู ก็คือเป็นช่องหรือประตูสำหรับที่จิตจะได้รู้อารมณ์คือเรื่อง ดังที่ได้กล่าวอธิบายไว้แล้ว ว่าจิตนั้นไม่มีสรีระคือรูปร่างสีสัณฐาน มีคูหาคือกายนี้เป็นที่อาศัย หรือจะพิจารณาว่ามันสมองนั้นเป็นที่อาศัยของจิตสำหรับที่จะรู้สิ่งต่างๆ ก็อยู่ในกะโหลกศีรษะ ก็คล้ายๆ อย่างคูหาคือถ้ำเหมือนกัน แต่ถ้าพูดทั้งหมดคลุมเสียหมดเลยว่ามีกายนี้เป็นที่อาศัยอย่างท่านพระอาจารย์ก็ไม่มีผิด คือจิตรู้อารมณ์คือเรื่องทางทวารทั้ง ๖ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในวันก่อนนั้น และในวันก่อนนั้นก็ได้กล่าวแล้วว่า สิ่งทั้งหลายที่ตาได้เห็น ที่หูได้ยิน ที่จมูกที่ลิ้นที่กายได้ทราบ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ นั้น เป็นวัตถุทั้งนั้นเพราะฉะนั้นจึงเข้าไปอยู่ในจิตไม่ได้ ได้เพียงเห็นเพียงได้ยินได้ทราบ จะเอาใส่เข้าไปในจิตไม่ได้เพราะเป็นวัตถุ เห็นบ้านหลังหนึ่ง จะเอาบ้านหลังนั้นใส่เข้าไปในจิตไม่ได้ ดั่งนี้เป็นต้น แต่ว่าจิตรับได้เพียงเรื่อง เรื่องของสิ่งเหล่านี้ซึ่งเรียกว่าอารมณ์ เพราะฉะนั้นจึงมีคำแปลอารมณ์ว่าเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตอนุสัยคือหมกมุ่นถึงครุ่นคิดถึงที่เข้ามานอนเนื่องอยู่ในจิตใจ คือว่าบรรดาเรื่องเหล่านี้ที่จิตคิด คือว่าคิดแล้วก็แล้วไป ที่จิตดำริคือดำริแล้วก็แล้วไป ที่จิตอนุสัยคือเก็บเข้ามาไว้ในจิตอีก นอนอยู่ในจิตอีก เหล่านี้คืออารมณ์ ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าทางอภิธรรมเรียกอาลัมพนะ แปลว่าเครื่องหน่วงของจิต คือหน่วงคิดนั้นเอง แต่ทางพระสูตรเรียกว่า อารัมมณะ อารมณ์ ไม่ใช่อารมย์ อารมณ์เหล่านี้ก็มี ๖ ดังที่ได้กล่าวแล้วตามอายตนะภายนอกทั้ง ๕ ประการ อารมณ์คือรูป รูปอารมณ์ อารมณ์คือเสียง สัททารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น คันธารมณ์ อารมณ์คือรส รสารมณ์ อารมณ์คือสิ่งถูกต้อง โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือเรื่องราว ธรรมารมณ์ จิตที่รับอารมณ์คือกิริยาที่จิตรับอารมณ์นี้เอง เรียกว่านาม ที่แปลว่าน้อมไป

คราวนี้ก็ควรจะอธิบายถึงลักษณะจิตหรือธาตุรู้ ที่ท่านอธิบายไว้ในอภิธรรม ว่าจิตคือธาตุรู้ที่ยังไม่ได้รับอารมณ์อะไรทางทวารทั้ง ๖ เรียกว่าภวังคจิต ก็ได้อธิบายแล้วเหมือนกัน แต่มาทบทวนเพราะต้องการชี้แจงให้แจ่มแจ้งขึ้นอีกในที่นี้ ภวังคะ แปลว่าองค์ของภพ ภพแปลว่าความเป็นความมี องค์ของภพคือองค์ของความเป็นความมี แต่ว่าตามความหมายนั่น ภวังคจิตคือจิตที่ยังไม่รับอารมณ์ ท่านจึงมีตัวอย่างว่าบุรุษนอนหลับอยู่ใต้ต้นมะม่วง ผลมะม่วงหล่นลงมา คนนอนหลับนั้นก็ตื่นขึ้นเอามือคว้ามะม่วงมาบริโภค บริโภคเสร็จแล้วก็หลับไปใหม่ จิตที่เป็นภวังคจิตนั้นเปรียบเหมือนคนนอนหลับ ผลมะม่วงที่หล่นลงมานั้นเปรียบเหมือนอารมณ์ที่มากระทบกับทวารทั้ง ๖ คนนอนหลับนั้นตื่นขึ้น ก็เปรียบเหมือนจิตที่เคลื่อนออกจากภวังค์ และคนนอนหลับนั้นเอามือคว้ามะม่วงมาบริโภค ก็เหมือนจิตที่รับอารมณ์ การรับอารมณ์ก็คือการที่จิตบริโภคอารมณ์ เหมือนอย่างคนที่บริโภคผลมะม่วง ครั้งรับอารมณ์แล้วก็ตกภวังค์ไปใหม่ ก็เหมือนอย่างที่ท่านเปรียบคนคว้ามะม่วงมาบริโภคแล้วก็หลับไปใหม่ หลับไปใหม่คือว่าจิตที่รับอารมณ์แล้วก็ตกภวังค์ไปใหม่ ฉะนั้นตามอุปมานี้ จิตที่ยังไม่รับอารมณ์ก็อยู่ในภวังค์เป็นภวังคจิต ครั้นมีอารมณ์ผ่านทวารทั้ง ๖ เข้ามา ซึ่งน่าจะอุปมาอีกอย่างหนึ่งเหมือนว่ามีคนมาเคาะประตู คนนอนหลับอยู่ในบ้าน แล้วก็มีคนมาเคาะประตูดังปังๆ ก็เปิดประตูออกรับแขกให้เข้ามา จิตก็ออกจากภวังค์รับอารมณ์ และเมื่อรับอารมณ์เสร็จแล้วก็ปิดประตู แล้วหลับไปใหม่ ก็คือตกภวังค์ไปใหม่ มีแขกมาเคาะประตูอีกก็ออกจากภวังค์มารับใหม่ แล้วก็ปิดประตูตกภวังค์ไปใหม่ มีแขกมาเคาะประตูอีก ก็เปิดประตูรับกันใหม่ ก็ตกภวังค์กันใหม่ ดั่งนี้เพราะฉะนั้นจึงต้องให้อุปมาในตอนนี้อีกด้วยว่า ร่างกายอันนี้เหมือนอย่างว่าบ้านซึ่งมีประตูนอก ๕ ประตู ประตูใน ๑ ประตู แล้วจึงถึงจิตที่เป็นเจ้าของบ้านอยู่ในห้องใน ห้องในนั้นมีประตูเดียว ห้องนอกนั้นมีประตู ๕ ประตู ๕ ประตูนั้นคือประตูตาหูจมูกลิ้นกาย เมื่ออารมณ์คือรูปเข้ามาก็เข้ามาทางประตูตา แล้วก็มาผ่านประตูมโน แล้วจึงจะถึงจิต หรือจะเปรียบในด้านตรงข้าม คือจิตออกไปทางประตูในคือมโนทวาร แล้วก็จักขุทวาร รับอารมณ์คือรูป เสียงก็เหมือนกัน เข้าทางประตูหูแล้วก็มาผ่านประตูหูแล้วก็มาผ่านประตูใจหรือมโน แล้วจึงถึงจิต กลิ่นก็ต้องผ่านประตูจมูกแล้วก็ต้องผ่านประตูใจ แล้วจึงถึงจิต รสก็ต้องผ่านประตูลิ้น แล้วต้องผ่านประตูใจ แล้วจึงถึงจิต ธัมมะคือเรื่องราวนั้นก็ผ่านตรงเข้าประตูใจอย่างเดียวแล้วจึงถึงจิต ที่เปรียบดั่งนี้ก็โดยอธิบายข้างต้น ว่าที่เรียกอินทรีย์ ๖ สำหรับมนินทรีย์ อินทรีย์คือใจอันเป็นข้อที่ ๖ นั้น มีหน้าที่ครอบหมด หน้าที่ข้างต้นด้วยและหน้าที่จำเพาะของตนด้วย จึงเปรียบดั่งนี้ เพราะฉะนั้นกิริยาที่จิตรับอารมณ์จึงต้องผ่านทวารดั่งนี้

จิตรับอารมณ์ด้วยความรู้หรือน้อมไปรู้

และก็ควรทราบ ว่าอันกิริยาที่จิตรับอารมณ์นั้นคือรับอย่างไร ก็ตอบว่ารับด้วยความรู้เพราะว่าจิตนั้นดังที่ได้กล่าวแล้วว่าเป็นธาตุรู้ และมีอรรถคือความหมายว่ารู้หรือคิดอันเป็นลักษณะสำคัญ เพราะฉะนั้นวิธีรับอารมณ์ของจิตนั้นก็คือรับด้วยความรู้ แต่ว่าความรู้นั้นมีลักษณะต่างๆ กัน ในอภิธรรมนั้นส่วนหนึ่งยังไม่พูดถึง จะพูดถึงแต่นามธรรมในขันธ์ ๕ ที่แสดงไว้ในทางปฏิบัติทั่วไป ก็คือว่ารับด้วยความรู้ที่เรียกว่าวิญญาณ ที่เรียกว่าสัมผัส ที่เรียกว่าสัญญา ที่เรียกว่าสังขาร กล่าวคือจิตรับอารมณ์ขั้นแรกคือเป็นวิญญาณ คือการเห็น การได้ยิน การเห็นรูป การได้ยินเสียง การทราบกลิ่น การทราบรส การทราบโผฏฐัพพะ การทราบความรู้หรือคิดเรื่องราว ที่เรียกว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าที่จริงนั้นว่ากันว่าเห็นรูปด้วยตา แต่ที่จริงนั้นเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณเป็นต้น นี่เป็นการรับรู้ การรับอารมณ์ก็คือการรับรู้อารมณ์ความรู้อารมณ์เป็นขั้นแรกคือวิญญาณ ถ้าหากว่ายังไม่ดับไปเสียในขั้นนั้น ก็ต่อมาขั้นสัมผัสที่อธิบายมาแล้วเหมือนกัน ว่าอายตนะภายในอายตนะภายนอกและวิญญาณทั้ง ๓ นั้นมาประชุมกันก็เป็นสัมผัส โดยความก็คือกระทบถึงจิต นี่เป็นขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ก็เวทนา คือเป็นความรู้สุขรู้ทุกข์หรือรู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เมื่อรับรู้ในขั้นวิญญาณ ก็เลื่อนขึ้นมารับรู้นั้นสัมผัส แล้วก็เลื่อนขึ้นมารับรู้ในขั้นเวทนา จากนั้นก็รับรู้ในขั้นสัญญาคือรู้จำหรือจำหมาย จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะจำเรื่องราวเป็นต้น แล้วก็เลื่อนขึ้นมารับรู้เป็นเรื่องสังขารคือความคิดปรุงหรือปรุงแต่ง ก็คิดปรุงแต่งไปในรูปบ้างเสียงบ้างกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธัมมะคือเรื่องราวเหล่านี้ คิดดีบ้างคิดชั่วบ้าง คิดเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วบ้าง ก็เป็นบุญเป็นบาปเป็นกุศลเป็นอกุศลหรือเป็นกลางๆ มาถึงในขั้นที่เป็นสังขารนี้ รับรู้ในขั้นสังขารคือคิดปรุงหรือปรุงคิดและตอนนี้แหละ ที่ในอภิธรรมท่านก็แสดงว่าก็ตกภวังค์กันไปเสียหนหนึ่ง คือในอารมณ์อันหนึ่งนั้น จิตจะออกรับรู้เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร ในอารมณ์ ๑ นั้น แล้วก็ตกภวังค์ แล้วก็มารับอารมณ์เป็นที่ ใหม่ ที่ ๓ ใหม่ ที่ ๔ ใหม่

แต่ว่าบรรดาอารมณ์ที่จิตรับนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ารับมาถึงขั้นที่สุดทุกอารมณ์ บางอารมณ์ก็ตกหล่นในระหว่าง คือเป็นอารมณ์ที่ผิวเผินมากไม่กระทบใจมาก จิตก็ไม่รับอารมณ์เต็มที่ เหมือนดังว่าคนที่นอนหลับอยู่ในห้องดังกล่าวนั้นแหละ และมีใครมาเคาะประตูเบาๆ แผ่วๆ บางทีก็ได้ยินนิดหนึ่งแล้วก็นอนหลับไปใหม่ ไม่ถึงกับตื่น เสียงนั้นก็ยังไม่ปลุกให้ตื่น เพียงแต่งัวเงียขึ้นมาหน่อยเท่านั้นแล้วก็หลับไปใหม่ แต่ว่าถ้าเป็นเสียงดังโครมครามเป็นอารมณ์ที่แรงก็ปลุกให้ตื่นขึ้นมา ก็รับกันมาจนถึงขั้นสังขารคือคิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ จะน้อยหรือมากก็ตามแต่ว่าจะมีความผูกพันที่เข้ามาเกี่ยวอีก น้อยหรือมากเพียงไร แต่ก็ผ่านไป ผ่านไปนั้นคือว่าตกภวังค์ไปใหม่ ดังจะพึงเห็นได้ ว่าที่มาจากกุฏิมาถึงที่นี้ หูก็ได้ยินอะไรมากมาย ตาก็เห็นอะไรมากมาย ก็อาจจะได้กลิ่นทางจมูกหลายอย่าง ลิ้นก็เหมือนกัน กายก็เหมือนกัน ก็ถูกต้องกับหนาวร้อนแดดลมอะไรต่างๆ ใจก็คิดต่างๆ เหล่านี้คงจะหลายร้อยเรื่องเหมือนกัน หลายร้อยสิ่ง ถ้าไปคิดรายละเอียดของสิ่งที่ประสบพบผ่านตั้งแต่จากกุฏิมาที่นี่ และก็จะต้องเป็นวิญญาณเป็นต้นในอารมณ์คือเรื่องเหล่านั้น ถ้าเป็นเรื่องที่มากระทบแผ่วเบาและมีความสนใจน้อย ก็เป็นเรื่องที่ผ่านไปๆ ๆ แปลว่าอาจจะเพียงวิญญาณ เห็นแล้วก็ผ่านไป ได้ยินแล้วก็ผ่านไป ไม่ขึ้นไปถึงสัมผัสกระทบใจเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารอะไร เพราะว่าจะเป็นสังขารคือคิดปรุงหรือปรุงคิดนั้น จะต้องผ่านสัญญา ผ่านเวทนา ผ่านสัมผัส ผ่านวิญญาณ ถ้ากระทบนิดๆ หน่อยๆ ก็เพียงวิญญาณเท่านั้น แล้วก็ผ่านไปๆ ๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผ่านๆ มาคงจะตั้งหลายร้อยเรื่อง แต่ถ้าคิดเป็นรายละเอียดแล้วก็เพียงเห็นเพียงได้ยินแล้วก็ผ่านๆ ๆ ไม่ได้จดจำเป็นสัญญาอะไรด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่จะผ่านขึ้นมาจนถึงสังขารนั้น จะต้องผ่านมาโดยลำดับ เป็นสัญญาจดจำแล้วก็มาเป็นสังขารปรุงแต่ง ถ้าหากว่าไม่มีจดจำแล้วละก็ ก็ไม่มีการปรุงแต่งเป็นสังขาร

นี้เป็นอาการที่จิตรับรู้อารมณ์ อาการที่จิตรับรู้อารมณ์นี้เรียกว่าน้อมไป คือจิตน้อมไปรู้ ถ้าจะเทียบเหมือนกับว่ามะม่วงอยู่บนต้น คนนอนหลับใต้ต้นมะม่วงเอื้อมมือไปคว้ามะม่วงเข้ามาใส่ปาก แล้วก็บริโภค ก็คืออาการที่จิตรับรู้อารมณ์ ก็เหมือนกับว่าเขาน้อมแขนไปจับผลมะม่วงมาใส่ปาก นี่ก็เหมือนกัน จิตก็รับอารมณ์ก็เหมือนอย่างน้อมจิต จิตเอื้อมแขนออกไปจับอารมณ์ และแขนของจิตที่เอื้อมออกไปนี้ก็คือว่าเป็นวิญญาณเป็นสัมผัสเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารดังกล่าวแล้วนั่นเอง แล้วก็ตกภวังค์ไปใหม่ เพราะฉะนั้นลักษณะของจิตตามที่แสดงไว้ในอภิธรรมนั้น จึงรับอารมณ์ ก็คือเคลื่อนออกจากภวังค์รับอารมณ์อย่างหนึ่ง แล้วก็ตกภวังค์ แล้วก็เคลื่อนออกรับอารมณ์ต่อไป แล้วก็ตกภวังค์ เรื่อยๆ ไปดั่งนี้ทุกอารมณ์ อารมณ์หนึ่งๆ ก็ออกจากภวังค์ไปรับ แล้วก็ตกภวังค์ทุกอารมณ์ เพราะฉะนั้นความเป็นไปของจิตที่รับอารมณ์นี้จึงรวดเร็วและละเอียดมาก ภวังค์ที่แสดงไว้ในอภิธรรมนั้นมีลักษณะดังที่กล่าวมานี้ เป็นพื้นของจิตที่ไม่รับอารมณ์ เหมือนอย่างคนนอนหลับที่อยู่ใต้ต้นมะม่วงดังที่กล่าวนั้น ออกจากภวังค์ก็รับอารมณ์ แล้วก็ตกภวังค์ไปใหม่ เป็นอยู่ดั่งนี้ตลอดเวลา


๘ กันยายน ๒๕๒๖

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 18, 2011, 03:09:33 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #34 เมื่อ: สิงหาคม 12, 2011, 02:09:23 pm »



ครั้งที่ ๒๑ ลักษณะพุทธศาสนา
- การรับรู้อารมณ์ของจิต
(๓)


ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร ในการอบรมนวกภิกษุ
พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงกระบวนการของจิต ซึ่งก็อาศัยกายนี้ประกอบกัน เป็นอันว่าได้แสดงสังขตธรรม ธรรมคือสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง และอสังขตธรรม ธรรมคือสิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ทางฝ่ายวัตถุและทางฝ่ายธาตุรู้ อันสรุปลงในตอนนี้ก่อน ว่าได้มีอสังขตธรรม คือสิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง อันหมายถึงตัวธาตุแท้ซึ่งเป็นตัวเดิมไม่มีอะไรปรุงแต่ง ทางฝ่ายวัตถุและทางฝ่ายจิตใจหรือธาตุรู้ ทางฝ่ายวัตถุนั้นไม่มีตัวรู้ ส่วนทางฝ่ายจิตใจนั้นมีตัวรู้ สรุปลงแล้วก็คือ มีธาตุแท้ซึ่งไม่มีความรู้ในตัว กับธาตุแท้ที่เป็นตัวรู้ และธาตุแท้ที่ไม่มีตัวรู้ซึ่งเป็นวัตถุนั้นมาประสมปรุงแต่งกันขึ้น ก็เป็นสังขตธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุงทางวัตถุ ส่วนตัวรู้ซึ่งเป็นธาตุแท้นั้น ก็อาจจะกล่าวได้ว่ามี ๒ จำพวก คือตัวรู้จำพวกหนึ่งยังมีอวิชชาคือยังมิได้อบรม ตัวรู้อีกจำพวกหนึ่งนั้นอบรมแล้ว เป็นตัวรู้จริงรู้แท้ประกอบด้วยวิชชา สำหรับตัวรู้ที่อบรมแล้วประกอบด้วยวิชชาเป็นรู้จริงรู้แท้ ก็เป็นอสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งอีกต่อไป ไม่มาประกอบกับฝ่ายที่ไม่มีตัวรู้คือทางฝ่ายที่เป็นวัตถุอีก คือไม่เกิดอีก เมื่อไม่เกิดก็ไม่มีแก่ไม่มีตาย ก็ได้แก่ธาตุรู้ที่เป็นตัวรู้แท้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ผู้สิ้นกิเลสแล้ว ไม่มีอวิชชาอีกแล้ว เป็นรู้ที่รู้พ้น ก็คงดำรงความเป็นอมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย คือสิ่งที่ไม่ตายอยู่นั่นเอง แต่ว่าธาตุรู้ที่ยังเป็นตัวรู้หลงรู้ผิดคือยังไม่อบรม ย่อมมาประกอบเข้ากับธาตุที่ไม่มีความรู้อีกต่อไป จึงนับว่าเป็นสังขตธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุง โดยที่ทั้ง ๒ ฝ่ายมาปรุงกันผสมกัน คือธาตุรู้กับธาตุที่ไม่มีความรู้ในตัว ฉะนั้นจึงได้มีพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ใน ติกนิบาต ซึ่งแปลโดยความว่า อาศัยธาตุทั้ง ๖ ความหยั่งลงแห่งครรภ์คือตั้งครรภ์จึงมี เมื่อมีความหยั่งลงแห่งครรภ์ ก็มีนามรูปเป็นต้นต่อไป

ธรรมชาติแท้ของจิตประภัสสรคือผุดผ่อง

คำว่าอาศัยธาตุ ๖ นั้น ธาตุ ๖ ก็ได้กล่าวแล้วคือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง และวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ๕ ข้อข้างต้นนั้นเป็นธาตุที่ไม่มีความรู้ในตัว เป็นฝ่ายวัตถุ ส่วนวิญญาณธาตุเป็นธาตุรู้ อาศัยธาตุทั้ง ๖ นี้มาปรุงแต่งกันขึ้นก็มีการตั้งครรภ์ และเมื่อมีการตั้งครรภ์ขึ้นก็มีนามรูปเป็นต้นต่อไป ก็คือว่ามีชาติคือความเกิดมาเป็นบุรุษบุคคลชายหญิงดังที่ปรากฏอยู่นี้ ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าธาตุทั้ง ๒ ฝ่ายนี้มาเป็นสังขาร คือมาผสมปรุงแต่งกันขึ้น ก็เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาบรรดาสัตวโลกก็คือทั้ง ๒ ฝ่ายนี้มาผสมปรุงแต่งกันขึ้นนั่นเอง และแม้เมื่อมาผสมปรุงแต่งกันแล้ว ก็มีกระบวนการฝ่ายธาตุที่ไม่มีความรู้ในตัวปรุงแต่งกันไปฝ่ายหนึ่ง มีกระบวนการทางจิตใจซึ่งเป็นตัวธาตุรู้ปรุงแต่งกันไปอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ก็ต้องอาศัยกันอยู่นั่นเอง ถ้าหากว่าวิญญาณธาตุที่เป็นตัวธาตุรู้นี้เคลื่อนออกไปเสียแล้วเมื่อใดก็ตาม ส่วนที่เป็นธาตุที่ไม่มีความรู้ในตัวที่ปรุงแต่งกันเป็นรูปกายก็แตกสลาย เพราะฉะนั้นเมื่อตั้งครรภ์ยังอยู่ในครรภ์ วิญญาณธาตุเคลื่อนออกไปเมื่อใดก็แท้งเมื่อนั้น เมื่อคลอดออกมาแล้วตั้งแต่เป็นเด็กเล็กเด็กใหญ่ขึ้นมาโดยลำดับ วิญญาณธาตุเคลื่อนออกไปเมื่อใด ก็ดับเมื่อนั้นแตกสลายเมื่อนั้นที่เรียกว่าตาย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีวิญญาณธาตุประกอบอยู่ด้วยเสมอ และวิญญาณธาตุนี้ตรัสเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจิต ตรัสแสดงไว้ว่าจิตนี้ประภัสสรคือผุดผ่อง จิตนี้เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรเข้ามา ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วย่อมไม่รู้ตามเป็นจริงถึงจิตนั้น เราตถาคตกล่าวปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วนั้นว่าไม่มีจิตตภาวนา คือการอบรมจิตดั่งนี้

ตามพระพุทธภาษิตนี้ แสดงลักษณะของธาตุรู้ซึ่งเป็นธาตุรู้อันยังมิได้อบรม จึงต้องมาเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่ง เป็นสัตว์บุคคลเป็นบุรุษเป็นสตรีเป็นชายเป็นหญิงอยู่ โดยชื่อว่าจิตแล้วตรัสว่าเป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง อันเป็นธรรมชาติแท้ของธาตุรู้หรือของจิต ซึ่งผุดผ่องด้วยและเป็นตัวรู้ด้วย ตัวรู้และผุดผ่องนี้เป็นธรรมชาติของจิตหรือของธาตุรู้ และตรัสว่าเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรเข้ามา คำว่าอุปกิเลสนี้ อุปะแปลว่าเข้ามาหรือเข้าไป กิเลสะ แปลว่าเศร้าหมอง หากจะถามว่าเข้ามาหรือเข้าไปสู่อะไรหรือในอะไร ก็ตอบว่าเข้ามาหรือเข้าไปสู่จิต แล้วอะไรเศร้าหมอง ก็คือจิตนั้นเอง คือเมื่อกิเลสอันแปลว่าเครื่องเศร้าหมองเข้ามาหรือเข้าไปสู่จิต ก็ทำให้จิตให้เศร้าหมอง เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอุปกิเลส ชื่อนี้เรียกใช้ในที่นี้แสดงว่ากิเลสนั้นไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต ไม่ใช่เป็นธรรมชาติของจิต หากถามว่าธรรมชาติของจิตคืออะไร ก็ตอบได้ว่าคือรู้กับผุดผ่อง นี่เป็นธรรมชาติของจิต แต่เพราะเหตุที่ยังไม่ได้อบรมจึงยังมีอวิชชาคือรู้ไม่จริงหรือไม่รู้จริง รู้เหมือนกัน แต่รู้ไม่จริงหรือไม่รู้จริง เพราะฉะนั้นจึงยังเป็นความรู้หลงรู้ผิดเพราะยังไม่ได้อบรม แต่ว่าธรรมชาติของจิตนั้นก็คงเป็นธรรมชาติผุดผ่อง

จิตเศร้าหมองเพราะอุปกิเลส

คราวนี้เมื่อมีกิเลสเข้ามาหรือเข้าไปสู่จิต จิตที่ผุดผ่องนั้นจึงเศร้าหมอง หากจะเปรียบก็เปรียบเหมือนอย่างทองคำธรรมชาติเนื้อบริสุทธิ์ เมื่อมีโลหะต่างๆ เข้าไปหลอมปนเช่นเงิน เหล็ก สังกะสี เป็นต้น ทองคำที่เป็นเนื้อบริสุทธิ์นั้นก็เป็นเนื้อที่ไม่บริสุทธิ์ไป หรือเหมือนอย่างเพชรน้ำหนึ่งซึ่งเป็นธรรมชาติที่ผุดผ่อง เมื่อมีสิ่งต่างๆ เข้าพอก ตั้งต้นแต่สิ่งที่พอกอยู่ตั้งแต่ดั้งเดิมของเพชรอันจะเป็นหินที่หุ้มห่ออยู่ก็ตาม เป็นเปลือกของอะไรที่หุ้มห่อเม็ดเพชรอยู่ก็ตาม เพชรก็เศร้าหมอง คือความผุดผ่องไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นบรรดาสิ่งที่มาหลอมปนเช่นว่าเงิน เหล็ก สังกะสี เป็นต้น ไม่ใช่เนื้อแท้ของทอง แต่เป็นสิ่งที่เข้ามาปน สิ่งที่หุ้มห่อเพชร จะเป็นเปลือกหินหรืออะไรที่หุ้มห่ออยู่ก็ตาม นั่นก็ไม่ใช่เป็นเนื้อเพชร ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของเพชร กิเลสก็เช่นนั้น ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงละกิเลสได้สำรอกกิเลสออกได้ และการสำรอกกิเลสออกได้นั้นก็เป็นการที่จะทำให้จิตนี้ปรากฏความผุดผ่องตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ และปรากฏความรู้ของธาตุรู้อย่างเต็มที่ ไม่มีรู้ผิดไม่มีรู้หลง ก็เหมือนอย่างหลอมทองคำเอาโลหะที่ปนออกไปก็เหลือแต่เนื้อทองคำที่บริสุทธิ์ หรือว่าเพชรที่เจียระไนแล้วก็เหลือแต่เนื้อเพชรที่บริสุทธิ์ ฉะนั้นจิตที่สำรอกเอากิเลสที่เข้ามาหรือเข้าไปทำให้เศร้าหมองนั้นพ้นไปได้หลุดไปได้ ก็ต้องเป็นจิตที่อบรมแล้ว เพราะฉะนั้นจึงได้มีพุทธภาษิตตรัสไว้ต่อไปอีก ว่าจิตนี้ประภัสสรคือผุดผ่อง จิตนี้พ้นได้แล้วจากอุปกิเลสทั้งหลายที่จรเข้ามา อริยบุคคลผู้ได้สดับแล้วย่อมรู้จักจิตนั้นตามเป็นจริง เรากล่าวอริยบุคคลผู้ได้สดับแล้วว่าผู้มีจิตตภาวนา คือการอบรมจิตดั่งนี้ และคำว่าอุปกิเลสนั้นก็มีใช้ในหมวดอุปกิเลส ๑๖ ที่แสดงไว้ในหมวด ๑๖ ในนวโกวาท ก็เป็นการแสดงจำแนกกิเลสที่เข้ามาหรือเข้าไปสู่จิต ทำจิตให้เศร้าหมองในลักษณะต่างๆ กัน แต่ก็สรุปเข้าเป็นกิเลสกองราคะหรือโลภะ กิเลสกองโทสะ กิเลสกองโมหะนั้นเอง

การใช้คำว่าอุปกิเลสในที่นี้ได้กล่าวมาแล้ว ว่าแปลตามศัพท์ว่ากิเลสที่เข้ามาหรือเข้าไปสู่จิต ทำจิตให้เศร้าหมอง หรือว่าสิ่งที่เข้ามาหรือเข้าไปสู่จิตทำจิตให้เศร้าหมอง และเป็นการที่แสดงเพื่อให้ชัดเจนว่ากิเลสนั้นไม่ใช่เนื้อแท้ของจิต แต่เป็นอาคันตุกะคือสิ่งที่จรเข้ามาหรือจรเข้าไป อาคันตุกะนั้นคือแขกผู้มาหา ไม่ใช่เป็นเจ้าของบ้าน แต่ว่าแขกผู้เข้ามาหาคือกิเลสนี้ เมื่อเข้ามาหาก็เข้ามายึดบ้านเป็นที่อยู่อาศัย เหมือนอย่างข้าศึกต่างบ้านต่างเมืองยกเข้ามายึดเอาบ้านเมืองของผู้อื่นเป็นของตน กิเลสก็เป็นเช่นนั้น เข้ามาหรือเข้าไปสู่จิต แล้วก็ยึดจิตเป็นที่อยู่อาศัยและก็ครอบงำจิตให้อยู่ในอำนาจเหมือนอย่างเป็นเจ้าเป็นนายปกครองจิตนี้ให้อยู่ในอำนาจ เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า ตณฺหาทาโส บุคคลเป็นทาสของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก และก็ตรัสไว้ว่าในบ้านในเมืองมีตัณหาเป็นใหญ่ โดยตรงก็คืออันนี้นั้นเอง เมื่อยังมีตัณหาเป็นใหญ่ครอบงำจิตอยู่ จิตตกเป็นทาสของตัณหา ก็มีระบอบการปกครองเรียกว่า ตัณหาธิปไตย แปลว่าตัณหาเป็นใหญ่ คำว่าตัณหาธิปไตยนี้เป็นพระพุทธภาษิตอยู่ในพระสูตรบางพระสูตร

ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตซึ่งเป็นตัวธาตุรู้ ซึ่งยังต้องมาเกิด เป็นจิตที่ยังมิได้รับการอบรมจึงเป็นจิตที่ยังรู้ผิดได้ เรียกว่ามีอวิชชาคือความไม่รู้จริงเพราะยังไม่ได้อบรม ถ้าหากมีความรู้จริงเพราะอบรมแล้วก็ไม่มาเกิดอีก ที่ยังต้องมาเกิดก็เพราะยังมีอวิชชาคือความไม่รู้จริง ยังมิได้อบรมเพราะฉะนั้นเมื่อมาผสมปรุงแต่งเป็นบุรุษสตรีชายหญิงเป็นสัตวโลก จึงอาศัยกระบวนการทางจิตนี้เองรับกิเลสเข้ามา รับอาคันตุกะคือกิเลสเข้ามาให้ยึดครอง และช่วงที่รับกิเลสเข้ามานี้ก็คือช่วงกระบวนการของจิตที่ถึงเวทนา ความเสวยอารมณ์หรือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขทางกายทางใจ ที่ทุกคนมีอยู่โดยปรกตินี้นี่เอง เมื่อเกิดสุขเวทนาก็ยินดีพอใจชอบและความชอบนี้เองก็ตกตะกอนลงไปเป็นราคานุสัยอยู่ในจิต เมื่อเกิดทุกขเวทนาคือได้รับทุกขเวทนา เสวยทุกข์ทางกายทางใจ ก็ไม่ชอบใจ ความไม่ชอบใจนี้เองก็ตกตะกอนเป็นปฏิฆานุสัย อนุสัยคือความกระทบกระทั่ง และเมื่อประสบเวทนาที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุข มิได้พิจารณา ก็เกิดความไม่รู้ซึ่งเป็นตัวโมหะคือความหลง เพราะไม่รู้ตามเป็นจริงด้วย และเพราะสยบติดอยู่ด้วย ความไม่รู้นั้นก็ตกตะกอนเป็นอวิชชานุสัยอยู่ในจิต และกิเลสที่ตกตะกอนอยู่ในจิตนี้ก็ตกตะกอนไปพร้อมกับตัวอารมณ์คือเรื่อง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือจิตน้อมรับอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ อารมณ์นั้นก็คือ เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง

อารมณ์และกิเลสตกตะกอนพอกพูนในจิต


อันเรื่องที่จิตหมกมุ่นถึงนี้เรียกว่าอารมณ์อนุสัย หรืออารัมณานุสัย อารมณ์ที่ตกตะกอนอยู่ในจิต อารมณ์ที่ตกตะกอนอยู่ในจิตนี้มีทั้งฝ่ายซึ่งเป็นที่ตั้งของราคะ มีทั้งฝ่ายซึ่งเป็นที่ตั้งของโทสะ มีทั้งฝ่ายซึ่งเป็นที่ตั้งของโมหะ และเมื่อมีทั้งอารมณ์ทั้งกิเลสตกเป็นตะกอนอยู่ในจิตดั่งนี้ ในขณะที่ตกตะกอนอยู่จิตนี้จะดูผ่องใส แต่อันที่จริงนั้นยังเป็นจิตที่มีตะกอน ตะกอนนั้นอาจฟุ้งขึ้นมาอีกได้ และเมื่อตะกอนฟุ้งขึ้นมาจิตที่ดูผ่องใสนั้นก็เป็นจิตขุ่น ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างน้ำในตุ่ม ในขณะที่ตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่มน้ำที่ในตุ่มเบื้องบนก็ดูใส แต่ว่าเมื่อตะกอนก้นตุ่มนั้นคลุ้งขึ้นมาน้ำในตุ่มก็จะขุ่นจนถึงผิวน้ำเบื้องบน จิตก็เหมือนกัน ในขณะที่อารมณ์ที่เป็นตะกอนในขณะที่กิเลสเป็นตะกอนนอนสงบอยู่ในจิตก็ดูคล้ายไม่มีกิเลส ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธไม่มีหลง คล้ายเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเมื่อมีอะไรมากวนตะกอนนั้นให้คลุ้งขึ้นมาแล้วจิตก็จะขุ่นทันที จะปรากฏเป็นโลภหรือราคะบ้างโกรธบ้างหลงบ้างจนถึงพื้นผิวของจิต ดังที่เราเรียกกันว่าใจขุ่นหรือจิตขุ่น นี่แปลว่าตะกอนคลุ้งขึ้นมาแล้ว บางทีกว่าจะทำจิตให้สงบคือขับตะกอนนั้นให้ลงไปแช่ไว้ก้นตุ่มหรือในก้นจิตได้ ก็ต้องใช้เวลานาน และเมื่อตะกอนลงไปอยู่ที่ก้นตุ่มได้ก้นจิตได้ จิตก็ผ่องใสก็สบาย คนสามัญก็มักจะเป็นดั่งนี้

และข้อที่ว่าในจิตส่วนลึกของบุคคลนี้มีตะกอนอารมณ์และตะกอนกิเลสนอนจมอยู่นั้น ดังจะพึงเห็นได้ เช่นว่ารสอาหารที่บริโภค อันรสนั้นที่เป็นตัวรสที่บริโภคจริงๆ ก็เป็นวัตถุที่บริโภค เช่นข้าว กับข้าว ของหวาน ผลไม้และอะไรต่างๆ ก็ตาม เป็นวัตถุที่เมื่อบริโภคก็เป็นรสปรากฏที่ลิ้น รสของสิ่งนั้นรสของสิ่งนี้ คนเราตั้งแต่เกิดมาก็บริโภคอาหารตามที่บิดามารดาเป็นต้นปรุงให้รับประทาน ก็เป็นไปตามนิยมของท้องถิ่นของชาตินั้นๆ แต่ละแห่ง และเมื่อใครได้บริโภคแบบไหนอยู่ประจำตั้งแต่เกิดมานั่นแหละก็เป็นรสารมณ์ อารมณ์คือรส ที่แม้จะบริโภคไปอิ่มหนึ่งแล้วตัวความชอบรสก็ยังตกเป็นตะกอน กับตัวรสเองอันหมายถึงตัวอารมณ์ของรสเองก็ยังตกเป็นตะกอนอยู่ในจิต เพราะฉะนั้นเมื่อได้พบอาหารเช่นนั้นที่เคยชอบ จึงได้บังเกิดความชอบใจใคร่ที่จะบริโภค อันเรียกว่าเอร็ดอร่อย ทั้งนี้ก็เพราะว่ามีรสารมณ์เช่นนั้นนอนจมเป็นตะกอนมาตั้งแต่แรก เมื่อได้พบอาหารเช่นนั้นจึงได้เกิดชอบใจใคร่จะบริโภค บริโภคแล้วก็เอร็ดอร่อย บุคคลที่บริโภคอาหารเป็นประจำตั้งแต่เกิดมาในถิ่นหนึ่งในชาติหนึ่ง ก็ย่อมจะพอใจในอาหารที่ตนบริโภค เรียกว่าติดรสเช่นนั้น แล้วก็อาหารของบุคคลนี้กลุ่มนี้ชอบอย่างนี้ แต่ว่าอาหารของอีกบุคคลหนึ่งกลุ่มหนึ่งชอบอีกอย่างหนึ่งไม่ตรงกัน อย่างคนไทยจะไปบริโภคอาหารที่ฝรั่งว่าอร่อยของเขา คนไทยก็ไม่อร่อย หรือฝรั่งจะมาบริโภคอาหารที่คนไทยว่าอร่อย ฝรั่งก็ไม่อร่อย ดั่งนี้เพราะว่ามีตัวรสารมณ์ความชอบในรสตกอยู่เป็นตะกอนในจิตใจของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ดั่งนี้แสดงว่าตัวเวทนานี้เองเป็นปัจจัยให้บังเกิดราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ หรือบังเกิดตัณหาในอารมณ์นั้นๆ และอารมณ์นั้นๆ พร้อมทั้งตัวความชอบความชังความหลงหรือความดิ้นรนเหล่านี้ ก็ตกเป็นตะกอนอยู่ในจิต ก็สั่งสมพอกพูนขึ้นมาโดยลำดับ ดั่งนี้เรียกว่าเป็นกิเลสอย่างละเอียด


๙ กันยายน ๒๕๒๖


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #35 เมื่อ: สิงหาคม 12, 2011, 03:13:40 pm »



ครั้งที่ ๒๒ ลักษณะพุทธศาสนา
- การรับรู้อารมณ์ของจิต
(๔)


ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร ในการอบรมนวกภิกษุ
พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

อาสวะอนุสัย - กิเลสอย่างละเอียด

ได้แสดงลักษณะของจิตมาถึงตะกอน ซึ่งสรุปลงเป็น ๒ คือ
กิเลสานุสัย อนุสัยสิ่งที่นอนจมเป็นตะกอนอยู่ในจิตคือกิเลส กับ
อารัมณานุสัย สิ่งที่นอนจมเป็นตะกอนอยู่ในจิตคืออารมณ์


ฉะนั้นกิเลสและอารมณ์ที่เป็นอนุสัยนี้จึงเรียกว่าเป็นกิเลสอย่างละเอียดที่นอนจมอยู่ในจิตอีกชื่อหนึ่งเรียกว่าอาสวะ แปลว่าหมักหมม คือที่หมักหมมหรือที่ดองอยู่ในจิต ก็หมายถึงกิเลสหรืออารมณ์ ซึ่งเป็นอนุสัยนั้นนั่นเอง แต่ว่าเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอาสวะ แปลว่าหมักหมมหรือแปลว่ากอง เหมือนอย่างน้ำดองของเมาก็เรียกว่าอาสวะด้วยเหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่เป็นน้ำเมาดังกล่าวนี้ใช้วิธีหมักดอง ก็เป็นน้ำเมาขึ้นมา ซึ่งดื่มเข้าไปก็เมา แต่ว่าการแสดงจำแนกมีต่างกันบ้าง คืออนุสัยนั้นจำแนกแสดงไว้เป็น ๓ คือ

๑. ราคานุสัย อนุสัยคือราคะความติดใจยินดี
๒. ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือความกระทบกระทั่ง
๓. อวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชา ความไม่รู้จริง หรือรู้ไม่จริง


ส่วนอาสวะนั้นก็จำแนกเป็น ๓ เหมือนกันคือ

๑. กามาสวะ อาสวะคือกาม ความใคร่
๒. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็น ตั้งต้นแต่อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามี เราเป็น และ
๓. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา


สำหรับข้อที่ ๑ ของทั้ง ๒ หมวด ราคานุสัย อนุสัยคือราคะ กามาสวะ อาสวะคือกาม กามกับราคะนั้นก็มีอรรถอยู่ในกิเลสกองเดียวกัน ราคะ ความติดใจยินดี กามหรือกามะ ความใคร่ และข้อที่ ๓ ของทั้ง ๒ หมวด อวิชชานุสัยกับอวิชชาสวะ ก็ใช้ชื่อเดียวกัน เป็นอันเดียวกัน ส่วนข้อที่ ๒ อนุสัยคือปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง ส่วนอาสวะนั้นได้แก่ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็น ก็ต่างกันโดยชื่อ แต่ว่าโดยความที่เกี่ยวข้องกันแล้วก็ย่อมเนื่องถึงกัน อันความกระทบกระทั่งนั้นจำเป็นจะต้องมีสิ่งกระทบกระทั่ง ถ้าไม่มีสิ่งกระทบกระทั่งความกระทบกระทั่งก็ไม่มีเหมือนอย่างการที่มือทั้งสองมากระทบกัน เช่นว่าตบมือหรือปรบมือ อาการที่มือทั้งสองมากระทบกันนั้นก็เทียบกับว่าเป็นปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง จึงจะต้องมีมือทั้งสองมากระทบกัน ถ้าไม่มีความกระทบกระทั่งกันของมือก็ไม่มีเสียง และถ้าไม่มีอะไรเลยความกระทบกระทั่งก็ไม่มีเลย จึงจะต้องมีอะไรขึ้นมาสำหรับเป็นที่กระทบกระทั่ง สิ่งที่จะพึงกระทบกระทั่งก็คือภพหรือภว ความเป็นนั้นเอง อย่างละเอียดก็ตั้งต้นแต่ความเป็นเราความเป็นของเรา เมื่อมีความเป็นเราความเป็นของเรา ก็จะต้องมีความเป็นเขามีความเป็นของเขา ฉะนั้นจึงมีความกระทบกระทั่งกันระหว่างเรากับเขา ความเป็นเราความเป็นของเรานั้นก็คือภวหรือภพนั้นเอง อันเป็นภวาสวะข้อที่ ๒ ซึ่งก็จะต้องมีความเป็นเขาความเป็นของเขา จึงจะมีปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งกันขึ้นได้ ฉะนั้นแม้จะเรียกชื่อต่างกันออกไปในข้ออนุสัยเป็นปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ ในข้ออาสวะเป็นภวาสวะ อาสวะคือภพ แต่ว่าโดยอรรถคือเนื้อความแล้วก็อยู่ในกิเลสกองเดียวกันนั้นเอง เพราะเมื่อกล่าวว่าปฏิฆะกระทบกระทั่ง ก็จะต้องมีภพคือความเป็นเราความเป็นของเรา อันเป็นที่ตั้งของความกระทบ และเมื่อกล่าวว่าภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็นเราความเป็นของเรา ก็จะต้องมีความกระทบกระทั่ง

นิวรณ์ - กิเลสอย่างกลาง

ทั้งอาสวะและอนุสัยนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ บางแห่งก็ทรงแสดงไว้เป็นอนุสัย บางแห่งก็ทรงแสดงไว้เป็นอาสวะ แต่ก็หมายถึงกิเลสที่เป็นอย่างละเอียด เพราะมีกิเลสที่เป็นอย่างละเอียดดั่งนี้ จึงมีกิเลสเป็นอย่างกลาง และมีกิเลสที่เป็นอย่างหยาบ กิเลสที่เป็นอย่างกลางนั้นได้แก่กิเลสที่เป็นชั้นนิวรณ์ คือที่ปรากฏขึ้นในจิตใจ ทำจิตใจให้กลัดกลุ้มให้ฟุ้งซ่านวุ่นวายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ปริยุฏฐานะ แปลว่ากิเลสที่ปล้นจิตที่กลุ้มจิต หมายความว่าทำจิตให้กลัดกลุ้ม และเป็นกิเลสที่เป็นเครื่องทำจิตให้ไม่สงบ กำบังปัญญาหรือกั้นมิให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงขึ้นได้ จึงเรียกว่านิวรณ์ แปลว่าเครื่องกั้น คือกั้นจิตไว้มิให้บรรลุถึงความสงบ และมิให้ได้ปัญญาคือความรู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งนิวรณ์นั้นจำแนกไว้ในที่ทั่วไปก็เป็น ๕ ข้อ ดังที่แสดงไว้ในหมวด ๕ ในธรรมวิภาคในนวโกวาท ได้แก่

กามฉันทะหรือกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม หมายถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือว่าความพอใจรักใคร่ด้วยอำนาจของกิเลสกาม คือกิเลสเป็นเหตุให้ใคร่ให้ปรารถนา มีราคะเป็นต้น

พยาบาท ความมุ่งร้ายหมายให้พินาศ หมายถึงบรรดากิเลสที่เป็นกองโทสะ ความโกรธแค้นขัดเคือง
ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และ
วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยลังเลไม่แน่นอนใจ


ย่อลงก็เป็นกิเลส ๓ กอง คือราคะหรือโลภะหนึ่ง โทสะหนึ่ง โมหะหนึ่ง กามฉันท์ก็เป็นราคะ พยาบาทก็เป็นโทสะ ส่วนถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และวิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยลังเลใจไม่แน่นอน เป็นโมหะ แต่บางอาจารย์ท่านแยกเอานิวรณ์ข้อที่ ๔ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ท่านแยกเอาอุทธัจจะความฟุ้งซ่านเป็นกิเลสกองโมหะ ส่วนกุกกุจจะความรำคาญใจเอาเป็นกิเลสกองโทสะ นิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนี้ย่อมปรากฏอยู่ในจิต ในเมื่อมีขึ้นทุกคนก็รู้ ว่าบัดนี้จิตของเรามีนิวรณ์ข้อนี้ๆ แต่ก็กลุ้มกลัดอยู่ในจิต ทำจิตให้ไม่สงบ และกั้นมิให้ได้ปัญญาคือรู้แจ้งเห็นจริง ฉะนั้นที่ทำสมาธิกันไม่ได้เพราะว่ายังสงบนิวรณ์เหล่านี้ยังไม่ได้นั้นเอง นี้เป็นกิเลสอย่างกลาง

อกุศลมูล - กิเลสอย่างหยาบ


ส่วนกิเลสอย่างหยาบนั้นก็ได้แก่กิเลสอันเป็นอกุศลมูล อันหมายถึงว่าราคะโทสะโมหะนั่นเอง ราคะก็กำเริบขึ้น เป็นอภิชฌา ความโลภเพ่งเล็งเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน เห็นของของเขาก็อยากได้มาเป็นของของตน เรียกว่าอภิชฌา แรงกว่าโลภะธรรมดา โลภะธรรมดานั้นอยากได้ แต่ว่าไม่ถึงกับไปเพ่งเล็งเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน แต่ถ้าเป็นอภิชฌาแล้วละก็แรงเข้าจนถึงไปเพ่งเล็งที่จะเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน ส่วนโทสะนั้นที่เป็นกิเลสอย่างกลางแรงขึ้นก็เป็นพยาบาทความมุ่งร้ายหมายให้พินาศ ดังที่แสดงในข้อนิวรณ์นั้น แต่อันที่จริงในข้อนิวรณ์นั้นเป็นอย่างกลาง ตามอธิบายนั้นก็เป็นชั้นโทสะ ซึ่งโทสะนั้นแปลว่าประทุษร้าย หมายถึงว่าประทุษร้ายใจของตัวเอง เพราะว่าทำให้ใจของตัวเองนั้นเดือดพล่าน ที่เรียกว่าเดือดคือประทุษร้ายใจของตัวเองให้รุ่มร้อน แต่ไม่ถึงกับจะมุ่งร้ายไปในผู้อื่น แต่เมื่อแรงเข้าจนถึงเป็นพยาบาทแล้ว ก็หมายถึงว่ามุ่งร้ายไปในผู้อื่นหมายให้พินาศ เช่นอยากจะไปทำร้ายเขาต่างๆ ดั่งนี้เป็นพยาบาท ถ้าเป็นแต่เดือดปุดๆ อยู่ในใจนี้คือโทสะ ประทุษร้ายใจตัวเอง และเมื่อมุ่งร้ายไปในผู้อื่น มุ่งที่จะไปทำร้ายหมายให้พินาศก็เป็นพยาบาท ก็เป็นกิเลสอย่างหยาบ กองโทสะ

คราวนี้โมหะคือความหลงนั้น เมื่อแรงเข้าก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เห็นผิดจากทำนองคลองธรรมไปทีเดียว เช่นเห็นว่าไม่มีบุญไม่มีบาป ทำบุญก็ไม่เป็นบุญ ทำบาปก็ไม่เป็นบาป บุญบาปไม่มี และบุคคลที่ได้รับสุขได้รับทุกข์ไม่มีเหตุให้ต้องได้รับสุขให้ต้องได้รับทุกข์ เป็นไปตามเรื่องราวเอง ไม่มีกรรมมาเป็นเหตุให้ต้องประสบสุขหรือต้องประสบทุกข์ หรือว่าไม่มีอะไรอย่างอื่นมาเป็นเหตุ เป็นไปตามคราวตามสมัยตามกระแสของคราวของสมัยเป็นต้น และเห็นว่าทุกอย่างไม่มี เช่นว่าบิดามารดาก็ไม่มีคุณ คือไม่มีบิดาไม่มีมารดาที่นับถือว่าเป็นผู้มีคุณ ไม่มีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ เหล่านี้เป็นต้น เป็นมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม อภิชฌาพยาบาทและมิจฉาทิฏฐินี้เป็นกิเลสอย่างหยาบ ที่เรียกว่า วีติกกมกิเลส กิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกไปทางกายทางวาจาทางใจ เพราะฉะนั้นอภิชฌาพยาบาทและมิจฉาทิฏฐินี้จึงจัดว่าเป็นอกุศลกรรมบถ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลที่เป็นฝ่ายมโนกรรม และเมื่อเป็นอกุศลกรรมบถฝ่ายมโนกรรม คือเป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศล ก็ย่อมจะทำให้ประกอบกายกรรม วจีกรรมที่เป็นอกุศล กายกรรมที่เป็นอกุศลนั้นก็ได้แก่ฆ่าเขา ลักของของเขา ประพฤติผิดในกาม วจีกรรมที่เป็นอกุศลกรรมนั้นก็ได้แก่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ไม่มีสาระแก่นสาร ไม่ต้องด้วยกาลด้วยเวลา เพราะฉะนั้นจึงจัดเป็นกิเลสอย่างหยาบ เป็นเหตุให้ละเมิดออกไปเป็นมโนกรรม และทำให้เป็นกายกรรมวจีกรรมฝ่ายอกุศลได้ทุกอย่าง

กิเลสกองราคะ
เพราะฉะนั้นจะพึงเห็นได้ว่าตามสายที่กล่าวนี้ กิเลสอย่างละเอียดเรียกว่าอนุสัย หรือเรียกว่าอาสวะ อนุสัยที่เป็นตะกอนนอนจมอยู่ในจิต อาสวะที่ดองจิตนี้เป็นอย่างละเอียด อย่างกลางก็มาเป็นปริยุฏฐานะ กิเลสที่ปล้นจิตที่กลุ้มรุมจิต ทำจิตให้กลัดกลุ้มวุ่นวาย และที่เป็นอย่างหยาบก็เป็นวีติกกมะ คือกิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกไปทางใจทางวาจาทางกาย คือเป็นมโนกรรมวจีกรรมกายกรรม หรือเป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมฝ่ายอกุศล และชื่อที่เรียกนั้นสำหรับกองที่ ๑ คือกองราคะนั้น ที่เป็นอย่างละเอียดก็เรียกว่าราคะบ้างกามบ้าง แต่ว่าหมายถึงที่นอนจมเป็นตะกอนอยู่ในจิต ที่เรียกว่าอนุสัย หรือที่ดองจิตที่เรียกว่าอาสวะ เมื่อยังไม่ฟุ้งขึ้นมาก็ไม่ปรากฏ มีก็เหมือนอย่างไม่มี เหมือนอย่างตะกอนที่นอนก้นตุ่ม น้ำในตุ่มก็ดูใส คราวนี้เมื่อฟุ้งขึ้นมาเป็นอย่างกลาง คือเป็นปริยุฏฐานะหรือเป็นนิวรณ์ดังกล่าวนั้น ก็เรียกว่าราคะ ความติดใจยินดี หรือเรียกว่าโลภะธรรมดาที่บังเกิดขึ้นในจิต แรงออกมาอีกจนถึงเป็นอย่างหยาบก็เรียกว่าอภิชฌา ความโลภเพ่งเล็ง คือไม่ใช่โลภธรรมดาเฉยๆ ถ้าโลภธรรมดาเฉยๆ ก็ยังเป็นชั้นกลาง แต่ว่านี่โลภเพ่งเล็งคือเพ่งเล็งเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลขึ้นทันที

กิเลสกองโทสะ
กองที่ ๒ ที่เป็นอย่างละเอียดนั้นเรียกว่าปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง หรือเรียกว่า ภว หรือ ภพ ความเป็น คือความเป็นเราเป็นของเรา เมื่อฟุ้งซ่านขึ้นมาก็เป็นโทสะ ความโกรธแค้นขัดเคืองที่เกิดขึ้นในจิตใจ ที่ประทุษร้ายใจเองนี่แหละให้เดือดปุดๆ ให้ร้อน คราวนี้แรงขึ้นมาอีกก็เป็นพยาบาท เป็นอย่างหยาบ แต่ว่ามุ่งร้ายออกไปหมายทำร้ายหมายล้างผลาญใครๆ ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลขึ้นทันที

กิเลสกองโมหะ
ส่วนกองที่ ๓ คือกองอวิชชานั้น ที่เป็นอย่างละเอียดก็เรียกว่าอวิชชา เป็นตะกอนนอนจมดองจิตสันดาน ฟุ้งขึ้นมาก็เป็นโมหะความหลงถือเอาผิดเข้าใจผิด และที่หยาบออกมาอีกก็เป็นมิจฉาทิฏฐิคือเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่นเห็นว่าไม่มีบุญไม่มีบาปเป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลขึ้นทันที และทุกคนนั้นเมื่อเกิดมา จิตเข้าปฏิสนธิเกิดมาในภพชาติต่างๆ ซึ่งในบัดนี้เกิดมาในภพชาติปัจจุบันนี้ ก็เป็นจิตที่มีอาสวะมีอนุสัยอยู่แล้วจึงมาเกิด ถ้าไม่มีอาสวะอนุสัยแล้วก็ไม่ต้องมาเกิด แต่ที่มาเกิดก็เพราะมีอาสวะมีอนุสัยอยู่แล้ว และมาอาศัยสังขารคือความผสมปรุงแต่งของรูปกายและของจิต เป็นกระบวนการทางกายเป็นกระบวนการทางจิตดังที่กล่าวมาแล้ว มาถึงเป็นเวทนา เวทนานี้เองก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิดราคะโทสะโมหะคืออวิชชาขึ้น อันหมายความว่าเวทนานี้เองก็เป็นปัจจัยให้กิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยที่นอนจมหมักหมมอยู่ฟุ้งขึ้นมา แล้วก็เพิ่มราคะปฏิฆะอวิชชา เพิ่มกิเลสกองละเอียดนี้ให้มากขึ้น แล้วก็เพิ่มอารมณ์เข้าไปเก็บไว้ให้มากขึ้น เป็นไปอยู่ดั่งนี้

อริยสัจ ๒ สาย
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรมก็ได้ตรัสรู้สัจจะคือความจริง ดังที่ได้แสดงแล้วว่าทรงได้พระญาณมาโดยลำดับ จนถึงอาสวักขยญาณ ญาณเป็นเหตุสิ้นอาสวะ คือได้ตรัสรู้อริยสัจ ๒ สาย สองสายนั้นก็คือ ตรัสรู้ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และได้ตรัสรู้ว่า นี้อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

สำหรับสายที่ ๑ ที่ตรัสรู้ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั้น ได้กล่าวโดยย่อแล้ว ในวันนี้จะกล่าวในข้ออาสวะ ก็คือได้ตรัสรู้ว่านี้อาสวะ คือนี้กามาสวะ อาสวะคือกามที่ดองจิต นี้ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็น ตั้งต้นแต่ความเป็นเราเป็นของเราที่ดองจิต นี้อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ความรู้ไม่จริงหรือความไม่รู้จริง นี้เหตุเกิดอาสวะ ก็ตรัสชี้เอาตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากนั้นเอง ก็คือเวทนานั้นเองเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ความดิ้นรนทะยานอยากนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดอาสวะ เพิ่มอาสวะให้มากขึ้น ก็ต้องเข้าใจว่าในที่นี้ท่านยกเอาตัณหาขึ้นมา แต่ก็รวมถึงกิเลสที่เป็นกองราคะโทสะโมหะดังกล่าวนั้นด้วย รวมอยู่ในคำว่าตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก นี้ความดับอาสวะก็คือดับตัณหาเสียได้ก็ดับอาสวะได้ ดับตัณหาเสียได้นั้น ในที่อื่นได้ตรัสอธิบายไว้อีกว่าคือดับตัณหานุสัย ตัณหาที่เป็นอนุสัยที่นอนจม หรือที่เป็นตัวอาสวะนั้นแหละ ก็ยกเอาตัณหาขึ้นมา แต่อันที่จริงนั้นก็รวมทั้งอาสวะอนุสัยทั้งหมดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นี้ทางดับอาสวะก็ได้แก่มรรค มีองค์ ๘ อันได้แก่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ทั้งสองนี้สงเคราะห์เป็นปัญญาสิกขา นี้เป็นปัญญาสิกขา และสัมมาวาจา เจรจาขอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สงเคราะห์เป็นสีลสิกขา นี้เป็นสีลสิกขา และสัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ สงเคราะห์เป็นจิตสิกขาหรือสมาธิ นี้เป็นจิตตสิกขาหรือสมาธิ เพราะฉะนั้นทางปฏิบัติที่จะดับกิเลสจนถึงกิเลสที่เป็นชั้นอาสวะอนุสัย ก็คือมรรคมีองค์ ๘ นี้เอง รวมเข้าก็เป็นไตรสิกขา หรือศีล สมาธิ ปัญญา

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 12, 2011, 03:30:15 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #36 เมื่อ: สิงหาคม 12, 2011, 04:10:04 pm »



ครั้งที่ ๒๓ ลักษณะพุทธศาสนา - กิเลส

ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร

ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงเรื่องจิตหรือวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ซึ่งสรุปลงว่าธาตุรู้นั้นแบ่งออกเป็น ๒ คือธาตุรู้ที่อบรมแล้วที่พ้นแล้ว ก็เป็นธาตุรู้ที่ไม่มาเกิดอีก แต่ว่าธาตุรู้ที่ยังมาเกิดอยู่นั้นเป็นธาตุรู้ที่ยังไม่ได้อบรม หรือว่าอบรมมาบ้างแล้วแต่ว่ายังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือยังชำระกิเลสที่นอนจมเป็นตะกอนหรือกิเลสที่ดองจิตไม่หมดสิ้น ก็ต้องเกิดอีกต่อไป และก็ได้กล่าวถึงขั้นของกิเลสซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นกิเลสอย่างละเอียด อย่างกลาง และอย่างหยาบ ซึ่งจะชำระให้หมดได้ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ย่อเข้าในศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ก็ได้ทรงพบมรรคมีองค์ ๘ จึงได้ทรงปฏิบัติสมบูรณ์ ได้ตรัสรู้อริยสัจ ๒ สาย สายที่ตั้งทุกข์ขึ้นเป็นข้อ ๑ กับสายที่ตั้งอาสวะเป็นข้อ ๑ แต่ว่าเมื่อสรุปถึงตัวเหตุ ก็ตรัสชี้แจงแสดงเหตุไว้เป็นอย่างเดียวกันคือตัณหาเป็นทุกขสมุทัยหรือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอาสวสมุทัยหรือเหตุให้เกิดอาสวะ และมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะด้วย ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ได้กล่าวในฝ่ายดีคือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งย่นย่อเป็นศีลสมาธิปัญญา เพราะฉะนั้นจึงสมควรที่จะกล่าวเพิ่มเติมต่อไป แต่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องกิเลสก่อน

กิเลสเป็นเรื่องของโลก

อันกิเลสนั้นเป็นเรื่องของโลก เมื่อเป็นโลกก็ย่อมจะมีกิเลส เช่นตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก เมื่อมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากจึงได้มีการสืบต่อชีวิต คือว่าเป็นมารดาบิดาให้เกิดบุตรธิดา บุตรธิดาก็เป็นมารดาบิดาให้เกิดบุตรธิดาสืบต่อไป คือว่าสืบพันธุ์ต่อไปทั้งมนุษย์ทั้งเดรัจฉาน และแม้ต้นไม้ทั้งหลายก็มีการสืบพันธุ์ต่อไป ความสืบพันธุ์ต่อไปนี้ต้องมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือราคะโทสะโมหะ หรือโลภะโทสะโมหะ ก็เป็นเรื่องของโลก เมื่อมีโลกก็จะต้องมีตัณหา มีราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าหากว่าละเสียได้ก็เป็นโลกุตระคืออยู่เหนือโลก เมื่ออยู่เหนือโลกแล้วก็แปลว่าไม่เกิดอีก ฉะนั้นเมื่อยังเป็นโลกอยู่ก็จะต้องมีตัณหา มีราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ เป็นธรรมดาของโลกที่จะสืบพันธุ์ต่อไป และที่จะได้ป้องกันรักษาตัวต่อไปให้ดำรงอยู่ในโลก

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วถึงบรรดากิเลสทั้งหลายนั้น เป็นการกล่าวในด้านกิเลส ส่วนในด้านตรงกันข้ามก็มีเหมือนกัน เพราะว่าจิตนี้เป็นธาตุรู้ ฉะนั้นเมื่อได้อบรมความรู้เพราะได้ผ่านโลกมามากเข้าๆ ได้มีการศึกษาเล่าเรียนมีการสังเกต ก็ย่อมจะมีความรู้มากขึ้นๆ และความรู้ที่มากขึ้นๆ นี้ก็ย่อมจะทำให้รู้จริงถึงเหตุผลตามความเป็นจริง และอีกประการหนึ่ง บรรดากิเลสดังที่กล่าวมานี้ ว่าถึงตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก หรือราคะหรือโลภะโทสะโมหะนั้น ก็ย่อมจะมีทั้งด้านที่นำเข้ามาและด้านที่ผลักออกไป เช่นกามตัณหาอยากจะได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ภวตัณหาอยากที่จะเป็นนั้นเป็นนี่ นี่เป็นตัณหาที่อยากนำเข้ามา คืออยากจะได้กามเข้ามา อยากจะได้ภพคือความเป็นนั่นเป็นนี่เข้ามา อยากจะได้รูปได้เสียงเป็นต้นที่ชอบใจ อยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ที่ปรารถนาพอใจ นี้เป็นความอยากที่จะนำเข้ามา และที่ผลักออกไปนั้นก็คือวิภวตัณา ความดิ้นรนทะยานอยากในความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ คือต้องการที่จะผลักที่จะทำลายสิ่งที่ไม่ชอบและภาวะที่ไม่ชอบนั้นให้ออกไปเสีย หรือทำลายให้ย่อยยับไปเสีย และกิเลสที่เป็นกองราคะหรือโลภะนั้น ก็เป็นกิเลสตัวที่นำเข้ามา ตัวราคะ ความติดใจยินดี โลภะ ความอยากได้ ก็อยากได้สิ่งที่เป็นกาม ก็คือที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจนั่นแหละเข้ามาเป็นของของตนแล้วก็อยากที่จะให้ตนเป็นนั่นเป็นนี่เช่นเดียวกับตัณหาเหมือนกัน

ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็ต้องการที่จะผลักออกไป ที่จะทำลายไปเสีย นั่นก็เป็นโทสะ และโมหะความหลงนั้นเล่า ข้อสำคัญก็คือหลงยึดถือว่ากายใจนั้นเป็นของเรา หรือว่าหลงยึดขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา เพราะฉะนั้นคนเราจึงมีความรักชีวิตของตนเองเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่าในบรรดาความรักทั้งหลาย รักตัวนี้เป็นอย่างยิ่ง ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ ว่าได้ทรงตรวจดูไปทั่วทิศทั้งปวงแล้ว ก็ได้พบว่าตนเองนี่แหละเป็นที่รักของตน เพราะฉะนั้นเมื่อรักตนและเมื่อมีความยึดถือว่าที่ตั้งของตนก็คือชีวิตอันนี้จึงต้องมีความรักชีวิต และเมื่อมีความรักชีวิตเป็นอย่างยิ่งดั่งนี้แล้ว สิ่งที่กลัวนั้นก็คือกลัวตาย ความกลัวตายของสามัญชนนั้นมีเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าความตายนั้นเป็นสิ่งที่มาเด็ดเอาสิ่งที่รักเป็นอย่างยิ่งไป เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เป็นอันว่ามาตัดรอนตนฆ่าตนนี้เองให้สิ้นไป และแม้ว่าจะมีความเข้าใจว่ารักสิ่งอื่นคล้ายๆ กับว่ายิ่งกว่าชีวิต แต่ถ้าคิดดูให้ดีแล้ว ก็จะเห็นว่าความรักสิ่งอื่นนั้นก็รักเพราะเหตุว่าเพื่อที่จะให้สิ่งที่รักนั้นมาเป็นของตน เช่นสามีที่รักภรรยา ภรรยาที่รักสามี ก็ต้องการที่จะให้แต่ละฝ่ายเป็นของของตนเท่านั้น ก็มาลงที่ว่ารักตัวนี้เอง คือต้องการให้เป็นของตน ไม่ต้องการที่จะให้เป็นของคนอื่น นี่ก็แปลว่าทุกคนมีความรักตัวรักชีวิตและมีความกลัวตาย จนถึงวิชาการปัจจุบันก็บอกว่าความกลัวตายนี้เป็นสัญชาติญาณของมนุษย์อย่างหนึ่ง แต่มีความรักพิเศษ คือมารดาบิดารักลูก พ่อแม่รักลูก อันนี้ธรรมชาติ เท่ากับว่าธรรมชาติอำนวยไว้เหมือนกัน จึงปรากฏว่าทั้งมนุษย์และเดรัจฉานก็รักลูกทั้งนั้น แม้แต่สัตว์เดรัจฉานซึ่งดุร้ายเช่นเสือก็ยังรักลูก และก็ไม่ฆ่าลูกไม่กินลูก ความรักที่เสือรักลูกนี้เห็นได้ชัดว่าเท่ากับเป็นธรรมชาติของโลกได้สร้างไว้ให้ได้ทำไว้ให้ เพื่อว่าจะได้สืบพันธุ์ต่อไป

ปัญญาในสัจจะทำให้เกิดหิริและโอตตัปปะ

ว่าถึงมนุษย์นั้น พ่อแม่ก็รักลูกเหมือนอย่างเป็นธรรมดาเป็นธรรมชาติ แต่ว่าสำหรับมนุษย์นั้นย่อมมีระดับของปัญญาสูงขึ้น จึงรู้จักรักในทางที่ถูกต้องอีกด้วย เช่นว่าลูกทำผิด ก็มีการว่ากล่าวตักเตือนหรือทำโทษเพื่อให้ลูกกลับเป็นคนดี ไม่ทำผิดอีกต่อไป แปลว่ามีปัญญาที่รู้ผิดชอบชั่วดียิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน นี่ก็เพราะเหตุว่าเป็นธาตุรู้นั่นเอง คือจิตเป็นธาตุรู้ จึงได้มีความรู้ยิ่งขึ้นไปถึงผิดชอบชั่วดีน้อยหรือมาก บรรดาสิ่งที่มนุษย์มีอยู่เช่นความรักตัวรักชีวิตทำให้รู้จักรักษาชีวิตรักษาตัว และรู้จักรักลูก รู้จักที่จะเลี้ยงลูกที่จะรักษาลูกให้มีความสวัสดีเหมือนกันทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน นักปราชญ์ในปัจจุบันนี้บางคนกล่าวว่า สัตว์เดรัจฉานที่มีความรู้น้อยนั้นรู้จักกลัวเจ็บ แต่ไม่รู้จักกลัวตาย แต่ว่าสัตว์ที่มีปัญญาคือความรู้สูงขึ้น คือธาตุรู้นี้มีความรู้สูงขึ้น จึงรู้จักกลัวตาย แต่เขาจะทราบอย่างไรก็ไม่ทราบ เขาว่าอย่างนั้น ระดับของความรู้นั้นมีต่างๆ กันจริง แต่ก็มาจากมีธาตุรู้ดังกล่าวแล้วนั่นเอง คราวนี้เมื่อจิตเป็นธาตุรู้และเมื่อจิตได้ผ่านโลกมากขึ้น จึงได้รู้จักสัจจะที่เป็นตัวความจริงตามเหตุและผลมากขึ้นโดยลำดับ สัตว์เดรัจฉานนั้นรู้ได้น้อย แต่มนุษย์นั้นรู้ได้มากกว่า เมื่อเป็นดั่งนี้ ปัญญาที่เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริงโดยลำดับนั้นทำให้บุคคลได้รู้จักอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกธัมมะคือความจริงและความดีที่ตรงกันข้ามกับความชั่วมากขึ้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเริ่มรู้จักมีหิริและโอตตัปปะ ความละอายและความเกรงกลัว อันเป็นพื้นฐานของศีลคือความรู้จักงดเว้นจากความประพฤติชั่วประพฤติผิดทางกายทางวาจา

รู้จักทานรู้จักศีล

บรรดาบุคคลผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ จึงรู้จักมีหิริโอตตัปปะ รู้จักนุ่งห่มผ้าและรู้จักเว้นในการที่ควรเว้น ประพฤติในการที่ควรประพฤติต่างๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ละเอียดขึ้นไปเหล่านี้เป็นธัมมะทั้งนั้น จึงรู้จักทานรู้จักศีลนี้เป็น ๒ ข้อแรก ทานคือการให้ เป็นการช่วยเหลือ ศีลก็คือการงดเว้นจากความประพฤติเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่ว่าประพฤติตรงกันข้ามในทางเกื้อกูล สำหรับสัตว์เดรัจฉานนั้น โดยปรกติสัตว์เดรัจฉานที่เป็นตัวพ่อตัวแม่รู้จักทำทานและมีศีลในลูก เช่นนกก็ไปหาอาหารมาเลี้ยงลูก นี่เรียกว่านกรู้จักทำทานแก่ลูก และนกก็ไม่จิกตีทำร้ายลูก นี่เรียกว่านกมีศีลในลูก โดยปรกติแล้วสัตว์เหล่านี้มักจะไม่รู้จักทำทานแก่ใคร ไม่รู้จักมีศีลต่อใคร เสือก็เหมือนกัน หรือว่าทุกชนิดก็มักจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็มีเหมือนกันที่ว่าเมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ ที่เป็นสัตว์พวกเดียวกัน เช่นเป็นนกด้วยกันเป็นเสือด้วยกันก็อาจจะไม่ทำร้ายกัน และก็อาจจะแบ่งอาหารกันกินบ้าง ก็แปลว่ามีความคุ้นเคย รู้จักเป็นมิตรหรือว่ารู้จักเป็นญาติกันขึ้นบ้าง

มีเมตตาแผ่ออกไปโดยไม่มีประมาณ

มนุษย์เราก็เหมือนกัน ก็รู้จักทำทานแก่ลูก รู้จักมีศีลแก่ลูก คือการแบ่งปันอะไรต่ออะไรเลี้ยงดูลูก ตั้งต้นแต่แม่ก็เลี้ยงลูกมาพ่อก็เลี้ยงลูกมาตั้งแต่ต้นในทางต่างๆ ประคบประหงมมาและก็มีศีลในลูก ไม่เบียดเบียนลูก เสือก็มีทานในลูกมีศีลในลูกเช่นเดียวกัน เหล่านี้เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดา เรียกว่ามีความรักในตัวและก็มีความรักในลูก รู้จักมีความรักในมิตรสหายอยู่บ้าง สัตว์เดรัจฉานก็เป็นเช่นนั้น คนก็เป็นเช่นนั้น แต่ว่าคนเรานั้นมีภูมิปัญญาที่สูงกว่า จึงรู้จักที่จะปฏิบัติทางความรักที่มีอยู่เป็นธรรมชาตินี้ให้เป็นเมตตาขึ้นมา คือความคิดที่จะแผ่ความรักความคิดเป็นมิตรเป็นสหายความช่วยเหลือออกไปในวงกว้าง กว้างมากขึ้นๆ จนถึงไม่มีประมาณ แปลว่าในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ก็เป็น อัปปมัญญา คือไม่มีประมาณ เมตตานั้นโดยปรกติเราเรียกว่าพรหมวิหารธรรม ธัมมะเป็นเครื่องอยู่ของพรหม แต่ที่แผ่ออกไปไม่มีประมาณก็เป็นอัปปมัญญาในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า และเมตตานี้เมื่อมีในจิตแล้วจะทำให้ได้สุภสัญญา คือความเห็นว่างดงาม งดงามไปในบุคคลและในสัตว์เดรัจฉานทุกชนิดทุกจำพวก ไม่ขึ้งเคียดเกลียดแค้น และอีกอย่างหนึ่งนั้นที่เป็นอสุภกรรมฐาน พิจารณาว่าไม่งดงามนั้นเป็นอีกกรรมฐานหนึ่งสำหรับที่จะกำจัดกิเลสกองราคะ แต่ว่าสำหรับที่เป็นเมตตาคือความรักนี้ ถ้าแผ่ความรักออกไปในมิตรสหาย ในมนุษย์ในสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ในวงแคบจนถึงวงกว้างที่สุดไม่มีประมาณ ก็จะมีความรู้สึกว่าบรรดาสัตว์ทั้งปวงนั้นงดงามทั้งหมด ไม่มีน่าเกลียดไม่มีน่าชัง นี่เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถปฏิบัติทำได้ โดยที่ปรับปรุงจากตัวความรักที่มีในธรรมชาตินั่นแหละให้เป็นธัมมะขึ้นมา เมื่อมีเมตตาเป็นพื้นอยู่ดังนี้แล้วที่จะมีทานมีศีลก็จะไปง่าย ก็จะต้องมีความช่วยเหลือเกื้อกูล แล้วก็จะต้องเว้นจากความเบียดเบียนทำลายในสัตว์บุคคลทั้งปวงที่มีเมตตานั้น แปลว่าทานศีลก็มาเองด้วยอำนาจของเมตตานั้น

บารมี ๑๐ หรือมรรค ๘ - เครื่องทำลายตะกอนในจิต

เหล่านี้เป็นธัมมะที่คนรู้จักเมื่อมีระดับปัญญาสูงขึ้นโดยลำดับ จนถึงพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิ์สัตว์ ท่านแสดงว่าได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ คือ ทาน การให้ ศีล การงดเว้นจากความประพฤติชั่วประพฤติผิด อันเป็นการเบียดเบียนทางกายทางวาจา เนกขัมมะ ความออกคือความที่มีจิตเป็นสมาธิ สงบกามและอกุศลธรรมทั้งหลายก็ได้เป็นการออกทางใจ ออกทางกายคือออกบวช ปัญญา คือความรู้ ความรู้ที่อบรมขึ้นโดยลำดับ วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐานะ ความตั้งใจมุ่งมั่น เมตตา อุเบกขา ความที่ทำความรู้อันเป็นเหตุให้เฉยอยู่ได้ เฉยอยู่ได้ด้วยความรู้ เหล่านี้เป็นบารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ และบารมีนี้ก็คือบรรดาทานศีลเป็นต้น ดังกล่าวนั้นที่ได้ปฏิบัติมา และเมื่อปฏิบัติแต่ละครั้งๆ นั้นความดีนี้ก็ยังเก็บอยู่ในจิต ถ้าเป็นกิเลสก็เรียกว่าตกตะกอนอยู่ในจิต แต่สำหรับบารมีนี้หากจะเปรียบว่าเป็นตะกอนก็จะเป็นกิเลสไป น่าจะเปรียบเหมือนเป็นเครื่องทำลายตะกอนที่ตกลงไปในจิตส่วนลึก จะเป็นสารส้มหรือเป็นอะไรก็ตามที่เป็นเครื่องทำลายตะกอนให้หมดไปโดยลำดับ ตกไปในจิตส่วนลึกก็เก็บเอาไว้อีกเหมือนกัน แต่เป็นส่วนตรงกันข้ามกับอาสวะอนุสัยซึ่งเป็นเหมือนตะกอน แต่นี้เป็นเครื่องทำลายตะกอน เมื่อมีบารมีคือความดีมีทานศีลเป็นต้นดังกล่าวนั้นบำเพ็ญเรื่อยๆ ไปแล้ว ความดีนั้นก็ไม่ไปไหน ยังตกไปอยู่เก็บอยู่ในจิต แต่ว่าไม่ใช่เป็นตะกอน เป็นเครื่องทำลายตะกอน เมื่อความดีนี้ลงไปมากเท่าไรก็ทำลายตะกอนไปได้มากเท่านั้น ทำให้ตะกอนน้อยลงๆ

พระโพธิสัตว์ก็บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ นี้มากขึ้นๆ โดยลำดับ เมื่อสรุปเข้าเป็นมรรคมีองค์ ๘ ดังที่กล่าวแล้ว ก็ลงไปเป็นเครื่องทำลายตะกอนจนหมดสิ้น ตรงนี้แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมเป็นผู้สิ้นกิเลส เพราะฉะนั้นจึงเรียกผู้สิ้นกิเลสว่าขีณาสวะ แปลว่าผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว หมายความว่าความดีที่ได้บำเพ็ญนั้นได้เป็นเครื่องทำลายตะกอนในจิตจนหมด จิตหมดตะกอนเป็นจิตที่บริสุทธิ์ตลอดดั่งนี้ จึงเป็นอันว่าหมดกิจ และเมื่อหมดกิจแล้วก็สิ้นบุญสิ้นบาป เพราะว่าเมื่อยังมีตะกอนอยู่ก็เรียกว่ามีบาป ก็ต้องทำบุญ คือการทำความดีนั้นก็เป็นการทำบุญนั่นเองหรือว่าทำกุศล การทำบุญทำกุศลทั้งปวงนั้นก็ลงไปกำจัดอาสวะแต่ละครั้งที่ทำ ก็รวมกันเข้าในจิตอีกเหมือนกัน กำจัดอาสวะกำจัดอนุสัยให้หมดไปๆ โดยลำดับ จนถึงหมด และเมื่อหมดก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์สิ้นเชิง ตรงนี้แหละที่เรียกว่า นิพพาน หรือเรียกว่าเสร็จกิจและเป็นจิตที่อบรมแล้ว


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #37 เมื่อ: สิงหาคม 12, 2011, 04:46:47 pm »



ครั้งที่ ๒๔ ลักษณะพุทธศาสนา - กิเลส ()

ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาโดยลำดับ จนถึงสังขตธรรมอสังขตธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งและธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือสิ่งที่เป็นสังขารส่วนผสมปรุงแต่ง กับสิ่งที่เป็นวิสังขารคือไม่มีการปรุงแต่งทั้งทางวัตถุและทางสิ่งที่มิใช่วัตถุคือจิต หรือวิญญาณธาตุ ธาตุรู้มาจนถึงจิตที่เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้คือตัวรู้ซึ่งยังมิได้อบรม จึงมาผสมปรุงแต่งกับส่วนที่เป็นวัตถุ ก็เกิดเป็นกายจิตขึ้น และได้แสดงถึงความผสมปรุงแต่งของกายจิตนี้ เป็นกระบวนการปรุงแต่งทางกาย กระบวนการปรุงแต่งทางจิต และกระบวนการปรุงแต่งของจิตที่ประกอบกับกายปรากฏเป็นขันธ์ ๕ ดังที่ได้แสดงแล้ว และจิตนี้เมื่อยังไม่มีอารมณ์ก็เป็นภวังคจิต เมื่อเคลื่อนออกไปสู่อารมณ์ จึงเป็นจิตในวิถีที่เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร และก็มาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหากิเลส และก็ตกเป็นตะกอนอยู่ในจิตเป็นอนุสัยดองจิตเป็นอาสวะ จึงปรากฏเป็นกิเลสที่เรียกว่าอุปกิเลส คือกิเลสที่เข้าไปนอนจมเข้าไปดองจิต และก็เป็นกิเลสที่กล่าวว่าเป็นอย่างละเอียดเป็นขั้นตะกอน เมื่อประสบกับอารมณ์ที่เข้าทางทวารทั้ง ๖ หรือที่อาจแบ่งเป็นประตูชั้นนอก ๕ ประตู ชั้นใน ๑ ตามที่กล่าวแล้ว ก็ไปกวนกิเลสที่เป็นตะกอนให้ฟุ้งขึ้น ก็ปรากฏเป็นกิเลสที่เป็นขั้นนิวรณ์ หยาบออกมาอีกก็เป็นขั้นที่ทำให้ล่วงละเมิดทางกายทางวาจาทางใจ ซึ่งกายวาจาใจนี้ก็เรียกว่าทวารอีกเหมือนกัน กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร ก็เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็นับเป็นกิเลสที่เป็นอย่างหยาบ เพราะฉะนั้นจึงสรุปว่ากิเลสนั้นกล่าวโดยย่อก็อย่างหยาบอย่างกลางและอย่างละเอียด จึงต้องย้ำในที่นี้อีก ว่าการละกิเลสนั้นจะต้องละให้ได้จนถึงอย่างละเอียดละอาสวะอนุสัย จึงจะเป็นอันว่าละกิเลสได้

จิตบริสุทธิ์สิ้นเชิงเพราะสิ้นอาสวะ

พระพุทธเจ้าและพระอรหันตขีณาสพทั้งหลายละกิเลสได้จนถึงอย่างละเอียด คือละอาสวะอนุสัยได้ จึงเรียกว่าขีณาสวะ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นพระอรหันต์ และเมื่อเป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีจิตที่บริสุทธิ์สิ้นเชิง เมื่อมีจิตที่บริสุทธิ์สิ้นเชิงดั่งนี้แล้ว เวลารับอารมณ์จึงไม่มีตะกอนที่จะฟุ้งขึ้นมาเป็นกิเลสอย่างกลางเป็นกิเลสอย่างหยาบ และตะกอนใหม่ก็ไม่ลงไป เพราะว่าไม่รับเป็นความยินดีเป็นความยินร้ายเป็นความหลงงมงายต่างๆ ซึ่งเรียกว่าเป็นตะกอนใหม่ ไม่มีตะกอนใหม่ที่จะตกลงไป ตะกอนเก่าก็สิ้นไปหมด เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ที่สิ้นกิเลสด้วยประการทั้งปวง และก็พึงทราบว่าความที่จะทำกิเลสให้สิ้นไปได้นั้น ก็เพราะจิตนี้เอง คือจิตนี้เป็นธาตุรู้ คือเป็นวิญญาณธาตุรู้ดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อได้ประสบกับผลที่เป็นตัวทุกข์ต่างๆ อันเกิดจากกิเลส ก็มีความรู้จับเหตุจับผลได้โดยลำดับตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นจึงได้รู้จักเทียบเคียงในระหว่างความดีความชั่วบุญบาปทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงได้รู้จักที่จะละความชั่ว ที่จะกระทำความดี และที่จะชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส ก็เป็นการที่ได้อาศัยอารมณ์นี่แหละ จิตก็ประกอบเจตนาคือความจงใจ ประกอบความดีเป็นกรรมดีทางไตรทวาร คือกายวาจาใจ ก็เป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมที่เป็นส่วนกุศล คือเป็นความดีก็เก็บความดีนี้เป็นบารมีสั่งสมขึ้นในจิต ชำระตะกอนที่เป็นฝ่ายกิเลสนั้นให้น้อยลงไปโดยลำดับ

จิตสั่งสมทั้งบารมีและอาสวะอนุสัย

ทุกคนจึงมีทั้งส่วนดีทั้งส่วนชั่วที่เก็บในจิตใจของตน ส่วนดีนั้นก็เรียกว่าบารมี ส่วนชั่วนั้นก็เรียกว่าอาสวะหรืออนุสัยซึ่งเก็บอยู่ และความที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ท่านก็แสดงว่าด้วยอำนาจของกุศล กิจของคนฉลาด โดยตรงก็คือตัวปัญญานี้เอง ที่สูงขึ้นโดยลำดับและก็หมายรวมถึงกรรมที่เป็นกุศลทั้งหลาย หรือที่เรียกว่าบุญซึ่งได้สั่งสมกระทำมา เป็นเหตุให้มาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีใจสูง มีมนะสูง หรือว่ามีความรู้สูง มนะที่แปลกันว่าใจนั้น อีกอย่างหนึ่งแปลว่าความรู้ มีใจสูงก็คือมีความรู้สูง ก็คือมีปัญญานั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงสามารถที่จะละอายแก่ใจ และสามารถที่จะเกรงกลัวต่อสิ่งที่ควรเกรงกลัว และรู้จักความดีความชั่ว รู้จักที่จะละความชั่วกระทำความดีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และสามารถที่จะศึกษาให้มีความรู้สูงขึ้น จนถึงได้ปัญญาคือตัวความรู้เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริงอันเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ได้ ดังเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก และพระอริยสาวกกับทั้งสาวกสาวิกาผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็แปลว่าแม้ในการกระทำความดีนี้ก็เป็นสังขตธรรม ธรรมที่ปรุงแต่งอีกเหมือนกัน คือต้องทำต้องปรุงแต่งจึงจะเป็นความดี แม้ในด้านความชั่วก็เป็นสังขตธรรม คือต้องทำต้องปรุงแต่งจึงจะเป็นความชั่ว ความดีความชั่วนั้นต้องทำ เมื่อทำดีจึงจะเป็นความดี เมื่อทำชั่วจึงจะเป็นความชั่ว เมื่อทำก็เป็นสังขตธรรมต้องปรุงต้องแต่ง

ทุกสังขารมีวัฏฏะคือความวน

ฉะนั้นจึงควรเข้าใจในตอนนี้อีกด้วย ว่าอันคำว่าปรุงแต่งคือสังขตธรรม สิ่งที่ปรุงแต่งหรือสังขารสิ่งที่ผสมปรุงแต่งนั้น ก็มีความหมายอันเดียวกับคำว่า วัฏฏะ คือคำว่าวน และอยู่ในข่ายของกาลเวลา คือมีอดีตมีอนาคตมีปัจจุบัน กาลเวลาคืออดีตอนาคตและปัจจุบันก็ดี ความวนอันเรียกว่าวัฏฏะก็ดี ความเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่งก็ดี ย่อมสัมพันธ์กันอยู่กับ อนิจจตา คือความไม่เที่ยง ทุกขตา คือความเป็นทุกข์ อนัตตา คือความเป็นอนัตตามิใช่เป็นอัตตาตัวตน ก็เพราะว่าสิ่งที่เป็นสังขารคือสิ่งที่ผสมปรุงแต่ง ทั้งที่มีชีวิตและทั้งที่ไม่มีชีวิต จะต้องมีวัฏฏะคือความวน คือไม่นิ่ง ต้องปรุงแต่งอยู่เสมอไม่หยุดไม่นิ่ง และความไม่หยุดไม่นิ่งนั้นก็คือไม่หยุดไม่นิ่งอยู่ด้วยความเกิดความดับ ความที่ปรุงเข้ามาก็เป็นความเกิด และความที่เสื่อมสลายไปก็เป็นความดับ แล้วก็ต้องปรุงเข้ามาใหม่ และเมื่อปรุงเข้ามาใหม่แล้วก็เสื่อมสลายไปอีก แล้วก็ปรุงเข้ามาใหม่อีก ไม่มีหยุด ลักษณะดังกล่าวมานี้เรียกว่าไม่เที่ยง และลักษณะที่กล่าวมานี้ก็เรียกว่าเป็นทุกข์ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่คงอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และทั้งเป็นสิ่งที่เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน เพราะเหตุว่าบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ จะบังคับให้เที่ยงคือคงอยู่คงที่ คือให้ดำรงอยู่คงที่ไม่เกิดไม่ดับก็บังคับไม่ได้ จะให้หยุดก็บังคับไม่ได้ ต้องเกิดต้องดับต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน คือเป็นไปตามคติธรรมดา และเมื่อเป็นไปตามคติธรรมดาดั่งนี้ ก็ต้องมีกาลมีเวลา คือมีอดีตมีอนาคตมีปัจจุบัน อดีตก็คือว่าล่วงไปแล้ว ปัจจุบันก็คือบัดนี้ อนาคตก็คือเบื้องหน้า ทุกๆ สิ่งต้องมีอดีตต้องมีปัจจุบันต้องมีอนาคต ดังที่สิ่งที่เกิดดับมาแล้วก็เป็นอดีต ที่เกิดดับอยู่ในปัจจุบันก็เป็นปัจจุบัน ที่เกิดดับต่อไปก็เป็นอนาคต ก็สิ่งเดียวกันนี้เอง แต่เพราะมี สันตติ คือความสืบต่อ อันหมายความว่ายังไม่หยุดความเกิดความดับ ยังเกิดดับต่อไป เพราะฉะนั้นจึงมีอดีตมีปัจจุบันมีอนาคต และแม้ว่าจับเอาเพียงคำว่าเกิดดับเท่านั้น ถ้าเดี๋ยวนี้เกิดก็เป็นปัจจุบัน ดับก็เป็นอนาคต ครั้นมาถึงเวลาดับ ดับก็เป็นปัจจุบัน ที่จะเกิดสืบต่อก็เป็นอนาคต เพราะฉะนั้นอดีตอนาคตปัจจุบัน หรืออดีตปัจจุบันอนาคต จึงเนื่องอยู่กับสิ่งที่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย และที่ว่าเป็นวัฏฏะคือความวนนั้น ก็เพราะว่าวนอยู่ในความเกิดความดับ ไม่นอกไปกว่าความเกิดความดับ เกิดดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ ก็วนอยู่ดั่งนี้

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึงวัฏฏะคือความวนของสัตวโลกไว้ ๓ อย่างคือ
๑. กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส
๒. กรรมวัฏฏะ วนคือกรรม และ
๓. วิปากวัฏฏะ วนคือวิบาก


วนคือกิเลสนั้น ก็หมายความว่ากิเลสเป็นเหตุให้กระทำกรรม ก็มาถึงกรรม และกรรมนั้นก็เป็นเหตุก่อวิบากคือผล ก็มาถึงวิบาก วิบากคือผลนั้นก็เป็นที่ตั้งของกิเลสขึ้นอีก หรือจะกล่าวว่าเป็นเหตุให้เกิดกิเลสขึ้นอีกก็ได้ ก็เป็นกิเลสขึ้นมาอีก และเมื่อเป็นกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรม กรรมก็เป็นเหตุให้ได้ประสบวิบากคือผล และผลก็เป็นที่ตั้งหรือเป็นเหตุของกิเลสขึ้นอีก ก็วนอยู่ใน ๓ ประการนี้ คือกิเลส กรรม วิบาก แล้วก็วิบาก กิเลส กรรม วิบาก ก็วนเป็นวงกลมอยู่ดั่งนี้ อันนี้เรียกว่าวัฏฏะ วัฏฏะสังสาระ สังสาระแปลว่าความท่องเที่ยวไปคือความท่องเที่ยวไปของสัตวโลก ก็ท่องเที่ยวไปในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ ประการนี้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย หรือเวียนเกิดเวียนดับดังที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อดูเข้าไปที่ความวนอันเป็นตัวเหตุชั้นในแล้ว จึงจะพบว่าวนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ ประการนี้ ส่วนที่ว่าเวียนเกิดเวียนตายหรือเวียนเกิดเวียนดับมาข้างต้นนั้น ก็ยกเอาข้อวิบากขึ้นมาเพียงประการเดียว วิบากคือผล ผลของกรรม จับเอาขันธ์เป็นที่อาศัยยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้ หรือกายใจอันนี้หรือชีวิตนี้ ก็มีเกิดมีดับ และเมื่อเกิดดับแล้วก็เกิดในเมื่อยังมีกิเลสมีกรรมอยู่ เมื่อมีเกิดก็มีดับอีก และเมื่อมีดับก็มีเกิดแล้วก็มีดับอีก แม้ว่าดูแค่วิบากคือผลตัวชีวิตนี้เท่านั้น ก็วนอยู่ในเกิดในดับดังที่กล่าวมา แต่นั่นยกขึ้นมาเพียงข้อเดียว แต่เมื่อจะยกทั้งหมดแล้วก็ต้องยกทั้ง ๓ อย่างคือกิเลสกรรมวิบาก เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสมีกรรมอยู่ จึงต้องมีเกิดดับแห่งชีวิตหรือแห่งอัตภาพแห่งกายใจอันนี้ เมื่อไม่มีกรรมไม่มีกิเลสก็ไม่มีวิบากที่จะต้องเกิดดับ ดังกล่าวมาเพราะฉะนั้นเมื่อจะยกขึ้นกล่าวถึงวัฏฏะทั้งหมด จึงต้องกล่าวทั้ง ๓ คือกิเลสกรรมวิบาก กิเลสกรรมวิบากนี้เองเป็นกุญแจของสังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง คือเพราะมีวัฏฏะคือความวนแห่งกิเลสแห่งกรรมแห่งวิบากอยู่ดั่งนี้ จึงยังเป็นสังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งอยู่ตลอดไปเพราะต้องปรุงต้องแต่ง กิเลสก็แต่งกรรม กรรมก็แต่งวิบาก วิบากก็แต่งกิเลส กิเลสก็แต่งกรรม กรรมก็แต่งวิบาก ก็วนเวียนกันดั่งนี้

พิจารณาวัฏฏะในวงนอกหรือส่วนหยาบ

คราวนี้การพิจารณาวัฏฏะทั้ง ๓ ประการนี้ พิจารณาในวงนอกคือพิจารณาในวงของความเวียนว่ายตายเกิดชาตินี้ชาติหน้า ก็ให้พิจารณาในวงนอกดั่งนี้ ก็คือความที่ทุกคนต้องเกิดมาหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งจิตหรือธาตุรู้ต้องมาถือปฏิสนธิในกายนี้ ก็เพราะยังมีกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้กระทำกรรม และกรรมที่เป็นชนกกรรม กรรมที่นำให้เกิดก็ให้มาเกิด คือเกิดก่อกายนี้ทั้งรูปกายทั้งนามกาย รูปกายนามกายนี้เป็นตัววิบากคือวิบากขันธ์ และเมื่อได้วิบากขันธ์มาแล้วจิตเข้าอาศัย จิตยังมีกิเลส จิตก็ยึดถือรูปกายนามกายนี้ ยินดีพอใจอยู่ในรูปกายนามกายนี้ ไม่เบื่อหน่ายเพราะฉะนั้นรูปกายนามกายนี้ก็เป็นที่ตั้งของกิเลสขึ้นอีก ดังจะพึงเห็นได้ ว่ารูปกายนามกายนี้ย่อมมีที่ตั้งของกิเลสอยู่ในรูปกายนามกายนี้เองด้วย เพราะฉะนั้นจึงได้ก่อให้เกิดกิเลสได้ง่าย ตั้งแต่ตัวกิเลสที่เป็นเหตุให้สืบพันธุ์กันอีกต่อไป อันเป็นเรื่องของโลก ก็มีกายนี้เป็นที่ตั้งอยู่แล้ว และเมื่อเป็นดั่งนี้ กายนี้เองก็เรียกว่าวิบากขันธ์ เป็นตัววิบาก เป็นที่ตั้งเป็นเหตุก่อกิเลสขึ้นอีก เพราะฉะนั้นกิเลสจึงได้ตั้งอยู่และได้งอกงาม ก็ก่อกรรม และกรรมก็ก่อวิบากคือผลต่างๆ ตลอดจนถึงเป็นชนกกรรม กรรมที่ทำให้เกิดชาติภพต่อไปอีก เพราะฉะนั้นเมื่อดูในวงกว้างก็จะเห็นได้ ว่ากิเลสกรรมวิบากเป็นวัฏฏะคือตัววน ก่อชาติก่อภพเวียนว่ายตายเกิดกันเรื่อยไป

พิจารณาวัฏฏะในวงในหรือส่วนละเอียด

เมื่อจะดูในวงในให้แคบเข้ามา ก็จะเห็นได้แม้ในตัวจิตและอารมณ์ที่ประกอบกันอยู่ในปัจจุบัน ดังเช่นว่ากิเลสเป็นเหตุให้อยากดูรูปที่สวยงาม ให้อยากฟังเสียงที่ไพเราะ นี่เป็นตัวกิเลส เป็นตัวรูปตัณหา สัททตัณหา ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง เป็นตัวกิเลส เมื่อเกิดตัณหาในรูปเกิดตัณหาในเสียงขึ้น ก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมคือให้ทำการดู เช่นการแสวงหาสถานที่ที่มีรูปที่งดงาม สถานที่ที่มีเสียงไพเราะที่อยากจะดูอยากจะฟัง แล้วก็ไป แล้วก็ดู เหล่านี้เป็นกรรม ดั่งนี้จะเห็นได้ว่ากิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม และเมื่อเป็นกรรมขึ้นแล้วก็ให้เกิดผลเป็นวิบาก เป็นความสุขบ้างเป็นความทุกข์บ้าง ตั้งต้นแต่เป็นตัวเวทนาเป็นสุขเวทนาเป็นทุกขเวทนา ตัวสุขเวทนาทุกขเวทนาเหล่านี้เป็นวิบาก เป็นส่วนผลของกรรม คือการดูการฟังดังที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อเป็นเวทนา เป็นสุขเวทนาเป็นทุกขเวทนาขึ้นมาดั่งนี้แล้ว เวทนานี้เองและผลอื่นๆ ก็เป็นที่ตั้งของกิเลสขึ้นอีก ถ้าเป็นสุขเวทนาเป็นวัตถุที่ชอบใจที่ได้มา ก็ก่อตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากในสิ่งนั้นมากขึ้น เป็นส่วนกามตัณหาบ้างภวตัณหาบ้าง ถ้าเป็นทุกขเวทนา เป็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็ก่อให้เกิดวิภวตัณหา ความทะยานอยากที่จะทำให้สิ่งนั้นสิ้นไปหมดไป ต้องการที่จะผลักออกไป ถ้าเป็นกามตัณหาภวตัณหาก็ต้องการที่จะดึงเข้ามา ก็เป็นอันว่าวิบากคือผลก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลสขึ้นอีกดั่งนี้ ก็วนอยู่ดั่งนี้ เป็นวัฏฏะของกิเลสกรรมวิบาก และถ้าดูเข้ามาที่จิตและอารมณ์ดั่งนี้ เป็นการดูเข้ามาอย่างละเอียด ดูจิตที่พบกับอารมณ์ทั้งหลาย ตรวจดูก็จะเห็นดั่งนี้ ว่าจิตของตนเป็นเช่นนี้ เป็นกิเลส ถ้าเป็นตัณหาขึ้นมาก็อยากจะได้นั่นได้นี่ ก็ทำให้ประกอบกรรมเพื่อที่จะได้มา เมื่อได้มาแล้วสิ่งที่ได้มาก็เป็นวิบากคือผล จะได้สิ่งที่ต้องการหรือจะได้สิ่งที่ไม่ต้องการก็ตาม คือทั้งการได้และการไม่ได้เป็นผล เป็นวิบากคือผล และถ้าเป็นการได้ก็ก่อกิเลสด้านกามตัณหาภวตัณหา ถ้าเป็นการไม่ได้หรือได้สิ่งที่ไม่ชอบก็ก่อให้เกิดกิเลสกองวิภวตัณหา ก็เป็นไปอยู่ดังนี้เป็นประจำ เพราะฉะนั้นแม้จิตใจนี้เองก็วนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ ประการนี้อยู่เป็นประจำ สำหรับสามัญชนทั่วไป

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงสั่งสอนชี้ให้รู้จัก ว่าความวนอยู่ดั่งนี้เป็นความวนอยู่ในทุกข์ เมื่อจะพ้นทุกข์ ก็จำเป็นต้องพยายามปฏิบัติตัดความวนเหล่านี้ และการที่จะตัดความวนเหล่านี้ ก็ต้องตัดด้วยการปฏิบัติเพื่อละกิเลส อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติพุทธศาสนาทั้งหมดนั้นให้ตั้งใจว่าเพื่อละกิเลส ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อสะสมกองกิเลส จะเป็นขั้นศีลก็ตาม ขั้นสมาธิก็ตาม ขั้นปัญญาก็ตาม เป็นการปฏิบัติเพื่อละกิเลส จะทำบุญทั้งหลาย เช่นทาน จะให้สิ่งนั้นจะให้สิ่งนี้ก็ตาม ก็ต้องตั้งใจว่าให้ทานเพื่อละกิเลส ให้มีความตั้งใจไว้ดั่งนี้ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว การกระทำทุกๆ อย่างก็จะได้รับผลเป็นความพ้นทุกข์ น้อยหรือมากตามแต่ที่จะปฏิบัติได้


๑๗ กันยายน ๒๕๒๖


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #38 เมื่อ: สิงหาคม 13, 2011, 12:18:55 pm »



ครั้งที่ ๒๕ ลักษณะพุทธศาสนา- วัฏฏะของกิเลส
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงสิ่งที่เรียกว่าปรุงแต่ง อันคู่กับไม่ปรุงแต่ง ส่วนซึ่งเกี่ยวกับเรื่องปรุงแต่งนั้นก็มาถึงวัฏฏะคือวน ๓ ได้แก่กิเลส กรรม และวิบาก ซึ่งเป็นวัฏฏะคือความวนที่สัตวโลกย่อมวนอยู่ในกิเลสกรรมและวิบาก ทั้งที่เป็นความวนส่วนหยาบ ทั้งที่เป็นความวนส่วนละเอียด และจิตนี้ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าเป็นธาตุรู้ แต่เมื่อยังอยู่ในความปรุงแต่งก็เป็นธาตุรู้ที่ยังมิได้อบรม หรือว่าอบรม แต่ว่ายังไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นจึงยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ อันหมายความว่าไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ยังเป็นความรู้ที่ไม่จริง ฉะนั้นจึงยังเป็นตัวอวิชชาคือตัวไม่รู้ในความจริง หรือรู้ไม่จริง เพราะฉะนั้นจึงต้องปรุงแต่งไปต่างๆ แต่ก็ได้กล่าวแล้วว่าเป็นธาตุรู้ ฉะนั้นเมื่อปรุงแต่งไปก็ย่อมได้ความรู้ยิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นแม้จะยังต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นความปรุงแต่งที่เป็นวัฏฏะอยู่ดังกล่าวนั้น จึงเป็นความเวียนว่ายที่กล่าวได้ว่าเพื่อศึกษา คือเพื่อเพิ่มเติมความรู้อยู่เสมอ

รู้จักทุกข์ และเหตุเกิดทุกข์

ฉะนั้นหากจะมีปัญหาว่าคนเราเกิดมาทำไม ก็อาจจะตอบได้อย่างหนึ่ง ว่าเกิดมาเพื่อศึกษาคือเพื่อความรู้ที่ยิ่งๆ ขึ้นไป อันความรู้ที่ยิ่งๆ ขึ้นไปนั้นก็คือความรู้ที่เข้าถึงสัจจะ อันเป็นตัวความจริง กล่าวได้ว่าทุกคนจึงมีความรู้เข้าถึงความจริง ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ แม้ว่าในเบื้องต้นจะยังเป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้อง แต่ว่าก็พอจะจับหลักได้ถูก คือจับหลักได้ถูกว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และเมื่อได้ประกอบในเหตุอันเป็นเหตุให้เกิดผล จึงได้รับผลซึ่งเกิดจากเหตุอันประกอบนั้นบ่อยเข้าๆ ก็ทำให้จับความจริงได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ว่าอะไรเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นตัวทุกข์จริงยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ ดังเช่นทุกคนต้องการความสุขและต้องการเหตุให้เกิดสุข เพราะฉะนั้นจึงได้แสวงหาความสุขกันต่างๆ คือว่าประกอบเหตุที่เห็นว่าจะทำให้เกิดความสุขกันต่างๆ ซึ่งคำว่าความสุขและเหตุให้เกิดสุขนี้ก็เป็นการกล่าวในทางที่กลับกันกับทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์นั้นเอง คือว่าในการกล่าวว่าทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์นั้น อาจจะเรียกว่าเป็นการกล่าวยกผลในทางแง่ร้ายขึ้นเป็นที่ตั้งก็ได้ ส่วนการกล่าวว่าความสุขและเหตุให้เกิดสุขนั้น เป็นการกล่าวที่เรียกว่ายกผลในแง่ดีขึ้นมาก็ได้ แต่ว่าจะยกผลในแง่ดีหรือยกผลในแง่ร้ายดังกล่าวก็ตาม อรรถคือเนื้อความก็เป็นอย่างเดียวกัน เหมือนอย่างว่ามีแก้วอยู่แก้วหนึ่ง และมีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว อาจจะกล่าวว่าแก้วนี้มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วก็ได้ อาจจะกล่าวว่าแก้วนี้มีน้ำพร่องอยู่ครึ่งแก้วก็ได้ ซึ่งผลก็เป็นอันเดียวกัน คือว่าคงมีน้ำอยู่ครึ่งแก้วนั่นเอง จะเรียกว่าเต็มอยู่ครึ่งแก้วหรือว่าพร่องอยู่ครึ่งแก้วก็ได้ ฉะนั้นแม้จะกล่าวว่าทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ หรือสุขและเหตุให้เกิดสุข อรรถแม้ถ้อยคำจะตรงกันข้าม แต่ก็ชี้ให้เห็นเหตุผลเป็นอันเดียวกัน เพราะว่าเมื่อรู้จักทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ และปฏิบัติดับเหตุให้เกิดทุกข์นั้น ทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นตัวความสุขที่ตรงกันข้ามกับความทุกข์นี้เอง หรือว่ารู้จักสุขและเหตุให้เกิดสุข ปฏิบัติในเหตุให้เกิดสุขนั้น ก็ได้ความสุข ดั่งนี้ก็หมายความว่าไม่มีทุกข์ซึ่งตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าที่กล่าวว่าสุขก็ตรงกันข้ามกับทุกข์ เมื่อกล่าวว่าสุขก็หมายความว่าไม่มีทุกข์ หรือกล่าวว่าทุกข์ก็ตรงกันข้ามกับคำว่าสุข เมื่อกล่าวว่าพ้นทุกข์ก็คือว่ามีความสุขนั้นเอง ความก็เป็นอันเดียวกัน จะกล่าวในทางยกเอาแง่ดีขึ้นว่า หรือจะยกเอาแง่ร้ายขึ้นว่าก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าข้อสำคัญนั้นอยู่ที่การปฏิบัติ การปฏิบัติในเหตุให้เกิดสุข หรืออีกอย่างหนึ่งการปฏิบัติดับเหตุให้เกิดทุกข์ ก็คงได้พ้นความทุกข์หรือได้ความสุขเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นธาตุรู้นี้เมื่อได้ปฏิบัติไปๆ และได้เสวนากับบัณฑิตคือคนดีซึ่งเป็นผู้ฉลาดรู้ ที่ให้คำแนะนำสั่งสอนให้ใคร่ครวญพิจารณา ก็ย่อมจะจับความจริงได้โดยลำดับว่าอะไรเป็นตัวทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อเกิดบ่อยๆ เข้าและได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ มากเข้าได้มีการเสวนาคือคบหากับบรรดาผู้รู้ผู้ฉลาดมากขึ้น ก็ทำให้จิตนี้ได้รับการอบรม และได้ปัญญาคือความรู้ทวีมากขึ้นทุกทีๆ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าเกิดมาก็เพื่อศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความฉลาดยิ่งขึ้น และเพื่ออบรมจิตยิ่งขึ้นนั้นเอง และการที่ต้องมีความวนอันเป็นความวนเวียนอยู่นี้ จิตที่ต้องประสบกับความเวียนเกิดเวียนตาย ประสบกับวัฏฏะคือความวนทั้ง ๓ ดังกล่าวมานั้นมากขึ้นๆ ก็ได้ความฉลาดและความรู้มากขึ้น ว่านั่นเป็นตัวทุกข์ นั่นเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์

นิพพาน - ความดับวัฏฏะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงศึกษาเพื่อพระโพธิญาณ คือเพื่อความหยั่งรู้ในสัจจะคือความจริงให้ยิ่งขึ้นโดยลำดับนั้นเอง และก็ได้ทรงปฏิบัติละบาปอกุศลทุจริต ประพฤติอยู่ในบุญกุศลสุจริตในทางไตรทวาร คือกายวาจาใจยิ่งขึ้นๆ อันนี้ก็เป็นบุญเป็นกุศลเป็นบารมีที่ได้ทรงปฏิบัติยิ่งขึ้นๆ จนถึงได้ทรงพบทางที่เป็นมัชณิมาปฏิปทา คือมรรคที่เป็นองค์ ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิความตั้งใจมั่นชอบเป็นที่สุด จึงได้พระโพธิญาณ คือได้ตรัสรู้พระธรรม ก็คือวิชชาคือความรู้แจ่มแจ้งโพลงขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ โดยความก็คือว่าความที่ต้องวนเวียนอยู่ในกิเลสในกรรมและในวิบากคือผลอันเป็นวัฏฏะทั้ง ๓ นั้นเป็นตัวความทุกข์ อันมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากคือตัวกิเลสนี่แหละเป็นตัวเหตุ วิชชาคือความรู้แจ่มแจ้งได้แทงตลอดลงไป จนถึงทรงพบตัณหานุสัย ตัณหาที่เป็นอนุสัยคือที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน วิชชาความรู้แจ่มแจ้งจึงโพลงตลอด อวิชชาความไม่รู้ก็ดับไปหมด เมื่อเป็นดั่งนี้ ตัณหานุสัยพร้อมทั้งกิเลสทั้งปวงก็ดับไปหมดสิ้น ก็เป็นอันว่าได้ทรงตัดกิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส เมื่อตัดวัฏฏะวนคือกิเลสเสียได้ ก็เป็นอันว่าตัดกรรมตัดวิบากคือผลได้ เพราะฉะนั้นจึงทรงเป็นผู้หักวัฏฏะผู้หักวน หยุดวน เมื่อเป็นผู้หยุดวนแล้ว ก็เป็นอันว่านั่นแหละคือตัวอสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยไม่ปรุง จิตก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์เต็มที่ปราศจากกิเลสกรรมวิบากด้วยประการทั้งปวง เป็นจิตที่หยุด เป็นจิตที่สงบ และเมื่อเป็นจิตที่หยุดเป็นจิตที่สงบดั่งนี้ จิตนี้ก็เป็นจิตที่อบรมดีแล้ว เป็นจิตที่ไม่มีกิเลสแล้ว สิ้นความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง อันนี้แหละเป็นตัวอสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยไม่ปรุง เป็นตัววิสังขาร มีสังขารไปปราศแล้ว ซึ่งเรียกว่า “นิพพาน” ก็คือจิตที่บริสุทธิ์เป็นอย่างยิ่งนั้นเอง ปราศจากกิเลสทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงทรงประสบอสังขตธรรม ธัมมะที่ไม่มีปัจจัยปรุง ก็คือจิตสิ้นกิเลสด้วยประการทั้งปวง เป็นจิตที่หยุดเป็นจิตที่ไม่หมุนไม่วนไม่ปรุงไม่แต่ง อันนี้แหละจึงไม่เกิดอีก และเมื่อวิบากขันธ์คือขันธ์ที่อาศัยอยู่ อันเป็นชาติสุดท้ายของพระองค์แตกสลาย ดั่งที่เรียกว่าดับขันธปรินิพพาน จึงไม่เกิดอีกต่อไป แต่ก็ไม่ดับสูญ เพราะว่าสภาพที่หยุดไม่ปรุงแต่งต่อไปนั้น เป็นสภาพธรรมอันเรียกว่าธาตุแท้ซึ่งเป็นตัวดำรงอยู่ และธาตุแท้ซึ่งเป็นตัวดำรงอยู่นี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีถ้อยคำอันเป็นสมมติบัญญัติที่จะเรียก ไม่เรียกว่าจิต ไม่เรียกว่าอัตตาตัวตน และไม่เรียกว่าอะไรทั้งหมด เข้าสู่ความเป็นสภาพธรรมหรือสภาพที่เป็นธาตุแท้ ที่หยุดที่ไม่ปรุงแต่งทั้งหมด ดั่งนี้คืออสังขตธรรมหรือวิสังขารในพุทธศาสนา พ้นสมมติบัญญัติด้วยประการทั้งปวงและไม่เกิดอีก และก็เป็นสิ่งที่ไม่สูญไม่สิ้นไป

เพราะฉะนั้นเมื่อมีภิกษุกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านจึงกล่าวว่าความเห็นเช่นนั้นเป็นความเห็นผิด เพราะว่าอะไรเป็นพระอรหันต์ ขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้ก็เป็นขันธ์ ๕ ไม่ใช่พระอรหันต์ และพระอรหันต์ก็ไม่ใช่ขันธ์ ๕ แต่ว่าเมื่อพระอรหันต์ยังดำรงอยู่ พระอรหันต์ก็อาศัยอยู่ในขันธ์ ๕ นี้ และเมื่อขันธ์ ๕ นี้แตกสลาย พระอรหันต์ก็ไม่แตกสลาย เพราะพระอรหันต์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เมื่อพระอรหันต์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ พระอรหันต์จึงไม่แตกสลายไปตามเบญจขันธ์ที่แตกสลายไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นการกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญจึงไม่ถูก และก็ไม่ควรแก่ถ้อยคำที่จะพูดทั้งนั้น จะว่าเกิด จะว่าไม่เกิด จะว่าเกิดก็ไม่ใช่ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ดั่งนี้ก็ไม่ถูกทั้งนั้น เพราะไม่ควรที่จะพูดถึงด้วยสมมติบัญญัติอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าถอนธรรมทั้งปวงขึ้นหมดสิ้นแล้ว นี้เป็นคติในพุทธศาสนาซึ่งแสดงดั่งนี้ และตามที่กล่าวมานี้ก็จะพึงเห็นได้ ว่าคติในพุทธศาสนานั้นไม่แสดงว่าตายเกิด ไม่แสดงว่าตายสูญ ถ้าตายเกิดก็แสดงว่าเมื่อขันธ์ ๕ อันนี้แตกสลาย ยังมีอัตตาคือตัวตนที่ไม่ตายซึ่งจะไปเกิดในภพชาติใหม่อีกต่อไป เป็นไปอยู่ดั่งนี้ไม่มีทิ่สิ้นสุด ความเห็นเช่นนี้เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง แต่อีกด้านหนึ่งที่ตรงกันข้ามเห็นว่าตายสูญ คือเห็นว่ามีอัตตาตัวตนอยู่ในชาตินี้เท่านั้น เมื่อเบญจขันธ์อันนี้แตกสลายไป อัตตาคือตัวตนก็แตกสลายไปด้วย ดั่งนี้เรียกว่าตายสูญ พุทธศาสนานั้นไม่มีวาทะว่าตายเกิดหรือตายสูญดั่งนี้ แต่ว่ามีวาทะที่แสดงตามเหตุและผล คือแสดงว่าเมื่อยังมีเหตุให้เกิดก็เกิด แต่ว่าเมื่อสิ้นเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด แต่ว่าเมื่อสิ้นเหตุให้เกิดแล้วดังพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เมื่อเบญจขันธ์นี้ดับไปแล้วก็ไม่สูญ เพราะว่าภาวะที่เป็นพระอรหันต์นั้นไม่ใช่ขันธ์ ๕ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ว่าเมื่อไม่มีเหตุให้เกิดอีก ก็ไม่มีที่ตั้งของสมมติบัญญัติที่จะเรียกว่าอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่กล่าวได้ว่ามีเป็นสภาพธรรมคือธาตุแท้ อันเป็นสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยไม่ปรุงอันดำรงอยู่

มรรคมีองค์ ๘ เป็นยอดของสังขตธรรม

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงแก่พระเบญจวัคคีย์ เมื่อเสด็จไปจะทรงแสดงปฐมเทศนาโปรด ว่าพระองค์ทรงบรรลุ อมตธรรม ธัมมะที่ไม่ตายแล้วคือธัมมะของบุคคลที่ไม่ตายแล้ว ดั่งนี้แหละ และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ ว่าบรรดาสังขตธรรมคือธัมมะที่ปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลายนั้น มรรคมีองค์ ๘ เป็นยอด และบรรดาอสังขตธรรม ธัมมะที่ไม่ปรุงแต่งทั้งหลายนั้น ก็มีวิราคธรรม ธัมมะที่สิ้นความติดใจยินดี คือนิพพาน เป็นยอดดั่งนี้ ในข้อนี้จะเห็นได้ ว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นสังขตธรรมเพราะต้องปรุงแต่ง อันหมายความว่าต้องปฏิบัติอบรมจึงจะเป็นมรรคมีองค์ ๘ ขึ้น แต่ว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นไปเพื่อตัดความปรุงแต่งทั้งหมด กล่าวคือเมื่อปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ได้เต็มที่แล้ว จะตัดกิเลสได้หมดสิ้น เมื่อตัดกิเลสได้หมดสิ้นก็จะบรรลุถึงอสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยไม่ปรุง คือนิพพาน เพราะฉะนั้นมรรคมีองค์ ๘ นั้นจึงเป็นสังขตธรรม ธัมมะที่มีปัจจัยปรุงแต่ง อันนับว่าเป็นยอดของสังขตธรรมทั้งหมดเพราะเป็นเหตุให้ตัดสังขตธรรมทั้งหมด ให้บรรลุถึงอสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยไม่ปรุง คือนิพพานได้ และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าสิ้นความปรุงแต่งทั้งหมด ฉะนั้นเมื่อยังไม่บรรลุถึงยอดของสังขตธรรมคือมรรคมีองค์ ๘ นี้แล้ว ก็ยังต้องปรุงแต่งกันเรื่อยไป และจะปรุงแต่งกันไปนานเท่าไรนั้น ก็สุดแต่ว่าเมื่อไรจะได้มรรคมีองค์ ๘ อย่างสมบูรณ์ เมื่อได้มรรคมีองค์ ๘ อย่างสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นอันว่าสิ้นปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นจึงนับว่าเป็นยอดของสังขตธรรม ธัมมะที่ปัจจัยปรุงทั้งหมด ก็ทำให้หยุดปรุงแต่งได้ บรรลุถึงที่สุดคือความไม่ปรุงแต่งได้ นี้เป็นคติในพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นคติในพุทธศาสนาจึงเป็นคติที่กล่าวสัจจะคือความจริง ซึ่งไม่กล่าวว่าตายเกิด ไม่กล่าวว่าตายสูญ แต่กล่าวเป็นกลางๆ ว่าเมื่อมีเหตุให้เกิดก็เกิด เมื่อดับเหตุให้เกิดได้ก็ไม่เกิด การดับเหตุให้เกิดได้นั้นก็ต้องดับในมรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนาจึงตรัสสอนให้ศึกษาในไตรสิกขา คือศีลสมาธิปัญญา เพื่อให้ได้ปัญญาคือความรู้ที่ยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้เป็นการอบรมจิตอันเรียกว่า จิตตภาวนา

เพราะฉะนั้นในโอกาสต่อไปจะได้แสดงถึงจิตตภาวนาคือการอบรมจิตโดยตรง

๑๘ กันยายน ๒๕๒๖


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #39 เมื่อ: สิงหาคม 13, 2011, 02:01:54 pm »



ครั้งที่ ๒๖ ลักษณะพุทธศาสนา- จิตตภาวนา

ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร

ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงจิตตภาวนา คือการอบรมจิต จึงจะอธิบายจิตตภาวนาและจะฝึกปฏิบัติอบรมจิตต่อไปด้วย

ความหมายของจิตตภาวนา
จิตตภาวนา แปลว่าการอบรมจิต การอบรมจิตนี้มีความหมายไปได้ในไตรสิกขาคือศีลสมาธิปัญญา หรือสีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา เพราะว่าไตรสิกขาต้องปฏิบัติให้ถึงจิตจึงจะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ถ้าปฏิบัติไม่ถึงจิตก็ไม่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา แต่อาการของไตรสิกขานั้น ในขั้นศีลก็ปรากฏที่กายที่วาจาที่ใจทั้ง ๓ เหมือนกัน แต่ว่าปรากฏออกไปภายนอกให้คนอื่นเห็นก็เพียงกาย เพียงวาจา ส่วนใจนั้นไม่ปรากฏออกไปโดยตรง ตนเองย่อมรู้ใจตนเองว่าเป็นอย่างไร และผู้อื่นที่อ่านใจได้ก็ย่อมรู้ได้ อาการของสมาธินั้นปรากฏที่จิตใจโดยตรง อาการของปัญญานั้นปรากฏที่ความรู้ เป็นความรู้ความเห็นอันถูกต้อง แต่ความรู้นี้ดังที่ได้กล่าวแล้ว ว่าเป็นความรู้ของจิตนี้เอง หรือจิตก็คือธาตุรู้

ศีลเป็นภาคพื้นของสมาธิและปัญญา

เพราะฉะนั้นจิตตภาวนาจึงครอบงำหรือว่ามีความหมายไปทั้งสมาธิทั้งปัญญา อันศีลนั้นจะต้องมีเป็นภาคพื้นเหมือนอย่างเป็นแผ่นดิน ซึ่งจะต้องมีหรือจำเป็นที่จะต้องมี สมาธิและปัญญาจึงจะตั้งขึ้นมาได้ ท่านจึงเปรียบศีลเหมือนแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งเป็นที่ยืนของสรรพสิ่งและของบุคคลทั้งหลาย ฉันใดก็ดี กุศลธรรมทั้งหลายเมื่อมีศีลเป็นที่ตั้งจึงบังเกิดและเจริญขึ้นได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในศีลจึงจำปรารถนาของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งปวง ศีลนั้นท่านแสดงไว้ว่าย่อมเกิดขึ้นจากการสมาทาน คือความตั้งใจรับศีลก็ได้ เกิดขึ้นในขณะที่ประจวบกับวัตถุที่จะพึงล่วงศีลได้ และก็งดเว้นขึ้นได้เองในปัจจุบัน ดั่งนี้ก็ได้ และเกิดขึ้นจากธรรมปฏิบัติ ซึ่งเมื่อได้ธรรมปฏิบัติข้อนั้นๆ แล้ว ศีลก็บังเกิดขึ้นมาเอง และธัมมะที่ได้ที่ถึงหากเป็นขั้นมรรคผลที่ท่านแสดงว่าโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล หากได้แล้ว ศีล ๕ ก็มาเอง ดั่งนี้ก็มี ศีลที่เกิดจากการสมาทานคือการรับ จะรับจากผู้ที่มีศีล อย่างคฤหัสถ์รับศีลจากภิกษุสามเณร หรือแม้ที่ผู้เข้ามาขอบวชรับศีลจากพระอาจารย์สำเร็จเป็นสามเณร หรือว่าไม่รับจากผู้อื่นตั้งใจสมาทานขึ้นด้วยตัวเอง ดังเช่นวันอุโบสถ พอตื่นเข้าขึ้นก็ตั้งใจว่าวันนี้จะสมาทานอุโบสถศีลตั้งแต่เช้าด้วยตัวเอง ดั่งนี้ก็ได้ศีล ศีลที่ได้จากการสมาทานจากท่านผู้อื่นก็ดี ด้วยตัวเองก็ดี ดั่งนี้เรียกว่า สมาทานวิรัติ ความงดเว้นได้ด้วยการสมาทาน ส่วนศีลที่ได้ในขณะเมื่อไปประสบวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิดแต่ว่าไม่ล่วงละเมิด งดเว้นขึ้นได้ในปัจจุบันนั้น เรียกว่า สัมปัตตวิรัติ ความงดเว้นในขณะที่วัตถุมาถึงเข้างดเว้นได้ เช่นไม่ได้สมาทานศีลมา แต่เมื่อไปประสบวัตถุที่จะพึงฆ่า แต่ก็ไม่ฆ่า งดเว้นได้ ไปประสบวัตถุที่จะพึงลักขโมย แต่ก็ไม่ขโมย งดเว้นได้ ดั่งนี้ก็เป็นสัมปัตตวิรัติ ส่วนศีลที่ได้จากธรรมปฏิบัติ ท่านยกเอามรรคผล เช่นได้โสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล ศีล ๕ ก็มาเอง ดั่งนี้เป็น สมุจเฉทวิรัติ ความงดเว้นได้อย่างเด็ดขาด ท่านแสดงว่าพระโสดาบันนั้น จะไม่มีล่วงละเมิดศีล ๕ เลย และก็ไม่ได้สมาทาน เป็นศีลที่มาเอง งดเว้นได้อย่างเด็ดขาดทีเดียว เป็นสมุจเฉทวิรัติ แต่ว่าแม้ธัมมะข้ออื่น เมื่อปฏิบัติได้ธัมมะข้อนั้นจะไม่ถึงมรรคผลก็ตาม ศีลก็มาเองเหมือนกันในขณะที่ธัมมะข้อนั้นยังมีอยู่ เช่นว่าเจริญเมตตา เมื่อจิตมีเมตตาก็ย่อมจะมีศีลตามมาด้วย เพราะว่าเมื่อมีเมตตาในสัตว์บุคคลใด ย่อมจะไม่ประพฤติเบียดเบียนสัตว์บุคคลนั้น มีแต่เกื้อกูลอุดหนุน ฉะนั้นผู้ที่มีเมตตาจึงไม่ทำอันตรายแก่บุคคลหรือสัตว์ที่ตนเองมีเมตตา อย่างเช่นมารดาบิดาที่มีเมตตาต่อบุตรธิดา ย่อมจะไม่ทำอันตรายแก่บุตรธิดาเป็นการละเมิดศีล เพราะมีธัมมะคือเมตตานี้นำให้เกิดศีลขึ้นมา

ศีลมุ่งความงดเว้นจากอกุศลเจตนา

เพราะฉะนั้นแม้ธรรมปฏิบัติดังกล่าวก็นำให้เกิดศีลขึ้นได้ และศีลนี้ท่านมุ่งเอาตัววิรัติคือความงดเว้นเป็นหลักสำคัญ คือจงใจงดเว้นได้ไม่ทำ ดั่งนี้เป็นศีล ถ้าศีล ๕ ก็งดเว้นจากเจตนาคือความจงใจที่จะฆ่า ที่จะลัก ที่จะประพฤติผิดในกาม ที่จะพูดเท็จ และที่จะดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานของความประมาท ซึ่งความงดเว้นได้จากอกุศลเจตนาดังกล่าวนั้นเป็นตัวศีล ที่ว่างดเว้นจากอกุศลเจตนาดังกล่าวนั้น ก็เพราะว่ากรรมที่ประกอบกระทำออกไปเป็นการละเมิดศีลนั้นต้องเกิดจากเจตนาก่อน คือต้องมีความจงใจเสียก่อน เมื่อจงใจขึ้นแล้วจึงเป็นเหตุให้บังเกิดการกระทำ เป็นการฆ่า เป็นการลักเป็นต้น ฉะนั้นเมื่อวิรัติคืองดเว้นจากเจตนานั้นได้ ก็เป็นอันว่างดเว้นจากกรรมนั้นได้ ความงดเว้นดังกล่าวนี้จะต้องถึงใจ คือจิตจะต้องมีความงดเว้น และความงดเว้นที่เป็นตัวศีลที่บริสุทธิ์นั้นจะต้องงดเว้นจากนิวรณ์ อันหมายความว่าอกุศลจิตในการนั้นด้วย กล่าวคือการงดเว้นที่เป็นศีลนั้น ที่จะทำให้ศีลขาดก็ต้องประกอบกระทำออกไป เช่นการฆ่า ก็จะต้องทำให้สัตว์หรือบุคคลนั้นตายจึงจะเป็นปาณาติบาต ดั่งนี้ศีลจึงขาด ถ้าหากว่าสัตว์หรือบุคคลไม่ตาย ศีลก็ไม่ขาด แต่ว่าในประโยคคือการประกอบกระทำนั้นบางทีจิตก็กลัดกลุ้มด้วยความโกรธ คิดที่จะฆ่าเหมือนกัน คือเรียกว่าเป็นพยาบาทความมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ แต่ว่าก็บังเกิดขึ้นในใจ ยังยับยั้งไว้ได้ในใจไม่ประกอบกระทำออกไป แต่ใจนั้นก็เป็นพยาบาทคิดมุ่งร้ายขึ้นมาแล้วดั่งนี้ ก็เรียกว่าเสียศีลทางใจ ใจไม่บริสุทธิ์ ศีลก็ไม่บริสุทธิ์ แต่ไม่เสียศีลทางกายทางวาจาคือยังไม่ได้ทำ บางทีก็ประกอบกระทำออกไป แต่ว่าไม่ถึงให้ตาย เช่นว่าทุบตีทำร้ายให้ร่างกายบอบช้ำลำบากหรือว่าทรมานต่างๆ ไม่ตาย ดั่งนี้ศีลก็ไม่ขาด ยังไม่เป็นปาณาติบาต แต่ว่าการปฏิบัติกระทำซึ่งเป็นการทำร้ายทางกายทางวาจานั้น ก็เสียศีลทางกายทางวาจาออกไปแล้ว เพราะฉะนั้นศีลก็ไม่บริสุทธิ์ ไม่ขาด แต่ไม่บริสุทธิ์ ฉะนั้นแม้ศีลจะไม่ขาดที่เรียกว่าไม่เป็นท่อน แต่ว่าก็เป็นช่องด่างพร้อย

อันศีลที่จะบริสุทธิ์นั้นต้องไม่เป็นท่อนไม่เป็นช่องไม่ด่างไม่พร้อย ศีลที่เป็นท่อนนั้นคือศีลที่ขาด เหมือนอย่างผ้าที่เป็นผืนเดียวแล้วก็ขาดออกจากกันเป็น ๒ ผืน ดั่งนี้เรียกว่าขาด ศีลที่ขาดนั้นคือศีลที่ได้ละเมิดออกไปอย่างเต็มที่จนบรรลุถึงที่สุด ดั่งเช่นข้อปาณาติบาตนั้น ฆ่าสัตว์ตั้งต้นแต่มีอกุศลเจตนาที่จะฆ่า แล้วก็ทำการฆ่า แล้วสัตว์นั้นตายด้วยอกุศลเจตนานั้น แปลว่าครบองค์ ยกตัวอย่างเช่นศีลข้อ ๑ นี้ ที่ท่านแสดงไว้ว่ามีองค์ ๕ คือ ๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต ๒. ปาณสญฺญิตา ตนรู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต ๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า ๔. ตชฺโชวายาโม ความเพียรที่เกิดจากเจตนานั้น และ ๕. เตน มรณํ สัตว์นั้นตายด้วยความเพียรนั้น ดั่งนี้ศีลขาด ทีนี้หากสัตว์นั้นไม่ตายด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม แต่ว่าได้มีจิตคิดจะฆ่า ได้มีความเพียรที่จะฆ่า น้อยหรือมากก็ตาม แต่ว่าสัตว์ไม่ตาย ดั่งนี้เรียกว่าศีลเป็นช่อง คือเหมือนอย่างผ้าที่ขาดเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ แต่ว่าไม่ถึงกับขาดออกจากกันเป็น ๒ ท่อน แต่ว่าเป็นช่องๆ ทะลุเป็นช่องๆ ดั่งนี้เรียกว่าศีลเป็นช่อง คราวนี้หากว่ามีจิตคิดที่จะฆ่าและไม่ถึงกับได้ประกอบความเพียรออกไป คิดงุ่นง่านอยู่ในใจล่วงละเมิดอยู่ในใจ ไม่ถึงกับจะทำออกไปดั่งนี้ เรียกว่าศีลด่างศีลพร้อย เหมือนอย่างผ้าที่ไม่ขาดเป็นท่อน ไม่ทะลุเป็นช่อง แต่ว่าเปรอะเปื้อนด่างพร้อย ไม่เป็นผ้าที่สะอาด ฉะนั้นแม้มีจิตงุ่นง่านคิดที่จะฆ่าอยู่ดั่งนี้ ก็เรียกว่าศีลด่างศีลพร้อย คือถ้าคิดว่าจะฆ่าอย่างแรง ถ้าหากว่าไม่ถึงคิดว่าจะฆ่า แต่จิตเดือดร้อนคิดที่จะทำร้าย ก็แปลว่าไม่ถึงกับด่างทีเดียว แต่ว่าพร้อย ก็เป็นอันว่าไม่บริสุทธิ์

มีความสำรวมใจคู่กับศีล

เพราะฉะนั้นที่จะเป็นศีลถึงจิตใจนั้นจะต้องทำจิตใจให้สงบ ซึ่งจะต้องอาศัยความคอยสำรวมใจอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นแม้ว่าศีลนั้นจะชี้เอาตัววิรัติคือความงดเว้นได้เป็นข้อสำคัญก็ตาม ก็ต้องอาศัยมี สังวโร คือความสำรวม เป็นข้ออาศัยหรือเป็นเครื่องอาศัยอย่างใกล้ชิดอีกด้วย คือจะต้องมีความสำรวม ต้องมีความระมัดระวังใจที่จะไม่ให้เกิดอกุศลเจตนาออกไป ในอันที่จะฆ่าหรือในอันที่จะทำร้ายสิ่งมีชีวิต อันรวมทั้งบุคคลและสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ตลอดจนถึงไม่คิดที่จะทำร้ายด้วย ต้องพยายามสำรวมใจที่จะดับใจได้ เพราะฉะนั้นนอกจากวิรัติอย่างหยาบแล้วต้องมีวิรัติอย่างละเอียดอันหมายถึงความสำรวมระวังดังกล่าวนี้ด้วย อันความสำรวมระวังนี้เรียกว่า สังวโร หรือเรียกว่าสัญญมะ แปลว่าความสำรวมระวัง เพราะฉะนั้นความสำรวมระวังนี้จึงต้องอยู่คู่กับวิรัติ จึงจะประคองวิรัติให้เป็นไปด้วยดี และตัวความสำรวมระวังนั้นก็คือสตินั้นเอง คือความระลึกได้ เพราะฉะนั้นเมื่อสอนให้มีความสำรวมระวังคู่กันไปกับวิรัติที่เป็นศีลโดยตรงดั่งนี้แล้ว การปฏิบัติในศีลจะต้องอาศัยธรรมะอีก ๒ หมวด หมวดหนึ่งคือหิริโอตตัปปะ หิริก็คือความละอายใจ โอตตัปปะก็คือความเกรงกลัว

มีหิริและโอตตัปปะ

อันหิริความละอายใจ และโอตตัปปะความเกรงกลัวนี้ หมายถึงละอายใจต่อความชั่ว เกรงกลัวต่อความชั่ว คือละอายใจต่อบาปอกุศลทุจริตทางกายทางวาจาทางใจทั้งหลาย เกรงกลัวต่อบาปอกุศลทุจริตทางกายทางวาจาและทางใจทั้งหลาย หิริและโอตตัปปะนี้อันที่จริงพระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนจากความละอายและความกลัวที่บุคคลมีอยู่นี้เอง แต่ว่าความละอายและความกลัวที่บุคคลมีอยู่เป็นประจำ เรียกว่าโดยมิต้องปฏิบัตินี้ เป็นความละอายและความกลัวต่อความรู้ของผู้อื่นและต่อบุคคลผู้อื่น เช่นว่าละอายที่เขาจะรู้จะเห็นจึงได้ปกปิดซ่อนเร้น กลัวต่อโจรผู้ร้าย หรือว่ากลัวเขาจะรู้จะเห็นจึงได้ปกปิดซ่อนเร้นจึงได้หลบซ่อนดั่งนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ละอายต่อตัวเอง ที่จะรู้เห็นตัวเองประกอบความชั่วต่างๆ เกรงกลัวต่อตัวเองที่ตัวเองจะประกอบความชั่วต่างๆ เพราะฉะนั้นความที่เป็นหิริโอตตัปปะนี้ จึงเป็นความละอายและเกรงกลัวที่สูงกว่าความละอายและเกรงกลัวที่ทุกคนมีอยู่ ก็ปรับปรุงความละอายและเกรงกลัวที่ทุกคนมีอยู่นั้นเอง มาทำให้เป็นความละอายและความเกรงกลัวที่เป็นทางธัมมะ และข้อนี้จะพึงเห็นได้ง่าย ดังที่คนต้องซ่อนเร้นกระทำความชั่วทั้งหลาย เพราะละอายแต่คนอื่นจะเห็น แต่หากว่าถ้าตนเองมีความละอายต่อตัวเองแล้ว ว่าตัวเองจะต้องรู้เห็นตัวเองอยู่ทุกขณะ ไม่มีความลับอะไรต่อตัวเองดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้ตัวเองงดเว้นการกระทำความชั่วได้ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ความเกรงกลัวก็เหมือนกัน อย่างเช่นความเกรงกลัวทั่วไปก็คือเกรงกลัวโจรผู้ร้ายว่าจะมาฆ่าตน จะมาลักของของตน แต่ว่าลืมไปที่จะกลัวตัวเองที่จะไปเป็นโจรผู้ร้ายสำหรับผู้อื่น ที่จะไปลักของของเขา ที่จะไปฆ่าเขา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าได้ปรับปรุงความเกรงกลัวนี้มาให้เป็นความเกรงกลัวตัวเองที่จะเป็นผู้ร้าย โดยที่เมื่อมีความเกรงกลัวตัวเองที่จะเป็นผู้ร้ายดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้ตัวเองละความเป็นผู้ร้ายได้ ตัวเองก็จะไม่เป็นผู้ร้ายได้ คือว่าจะไม่ไปฆ่าใครไม่ลักของใครเป็นต้น ดั่งนี้ก็เป็นโอตตัปปะขึ้นมา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมะ เอาธรรมดานี่แหละ เอาความละอายความเกรงกลัวที่คนมีอยู่เป็นธรรมดานี่แหละ มาปรับปรุงให้เป็นธัมมะขึ้น ให้เป็นหิริโอตตัปปะขึ้น ดั่งนี้เรียกว่าเป็นการที่ทำให้เจริญขึ้น พัฒนาให้เจริญขึ้น เมื่อยังเป็นความละอายความเกรงกลัวที่เป็นสามัญอยู่ดังกล่าวนั้น ก็เหมือนอย่างว่าเป็นคนป่าคราวนี้ก็มาพัฒนาให้เป็นคนเมืองขึ้น ให้เจริญขึ้น ให้รู้จักละอายให้รู้จักเกรงกลัวต่อความชั่วทั้งหลาย และก็ให้งดเว้นตัวเองได้ ดั่งนี้ก็เป็นหิริเป็นโอตตัปปะขึ้นมา หิริโอตตัปปะนี้เรียกว่าเป็นเหตุใกล้ของศีล ทำให้ปฏิบัติในศีลได้ดีขึ้น

มีอินทรียสังวร

ธัมมะอีกหมวดหนึ่งหรืออีกข้อหนึ่งก็คือ อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์หรือสำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ ในขณะที่ตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร จมูกลิ้นกายได้ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะอะไร ใจได้รู้เรื่องราวอะไร ก็มีสติรักษาเหมือนอย่างรักษาตาหูจมูกลิ้นกายใจอยู่เสมอ โดยตรงก็คือรักษาใจอยู่เสมอ ที่จะไม่ไปยึดถือสิ่งที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ทราบ มาก่อกิเลส เป็นราคะโทสะโมหะหรือโลภะโทสะโมหะขึ้นในจิตใจ คอยป้องกันไว้ ให้สิ่งที่ได้เห็นที่ได้ยินที่ได้ทราบนั้นอยู่แค่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ให้ตกอยู่แค่นั้น ไม่ให้ก่อกิเลสเข้ามา เหมือนอย่างสติเป็นนายประตูคอยรักษาทวารทั้ง ๖ นั้นคือรักษาจิตนั้นเองอยู่เสมอ ไม่ให้สิ่งเหล่านั้นก่อกิเลสเข้ามาในจิตใจ คือไม่ยึดถือไว้นั่นเอง ให้เห็นสักแต่ว่าได้เห็น ให้ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ให้ทราบสักแต่ว่าได้ทราบ ให้รู้ให้คิดสักแต่ว่าได้รู้ได้คิด แปลว่าถือเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณประโยชน์ทั้งหลาย ไม่ก่อให้เกิดโทษเข้ามา ถ้าหากว่าจะเป็นชนวน ก็ให้รู้ว่านี่จะเป็นชนวนแล้ว คือจะเป็นชนวนแห่งราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ก็คอยห้ามใจบอกว่าอย่าไปรับชนวนนั้น อย่าให้จิตอันนี้เป็นข้างไม้ขีดแล้วอย่าให้ชนวนนั้นเป็นตัวไม้ขีด มาขีดให้เป็นไฟลุกขึ้นมาในใจ คอยป้องกันเอาไว้อยู่ดั่งนี้ คือไม่ยอมที่จะให้ชนวนนั้นมาเป็นตัวไม้ขีด ไม่ให้จิตเป็นข้างไม้ขีดที่จะก่อไฟขึ้นมา คอยดับไว้อยู่เสมอ ดั่งนี้แล้วก็เป็นความสำรวมระวังจิตใจอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องที่จะทำให้การปฏิบัติศีลเป็นไปได้

๑๙ กันยายน ๒๕๒๖