วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม
องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๑. สัมมาทิฏฐิ)
ฐิตา:
- พุทธพจน์แสดงหลักศรัทธา
•1- ทัศนคติตามแนวกาลามสูตร
•2- ท่าทีแบบอนุรักษ์สัจจะ
•3- สร้างศรัทธาด้วยการใช้ปัญญาตรวจสอบ
•4- ศรัทธาแม้จะสำคัญ แต่จะติดตันถ้าอยู่แค่ศรัทธา
•5- เมื่อรู้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ก็ไม่ต้องเชื่อด้วยศรัทธา
1- ทัศนคติตามแนวกาลามสูตร
สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือทฤษฎี ลัทธิ หรือ คำสอนอันใดอันหนึ่งอยู่แล้ว หรือยังไม่นับถือก็ตาม มีหลักการตั้งทัศนคติที่ประกอบด้วยเหตุผล ตามแนวกาลามสูตร ดังนี้
พระพุทธเจ้าเสด็จจาริก ถึงเกสปุตตนิคมของพวกกาลามะ ในแคว้นโกศล ชาวกาลามะได้ยินกิตติศัพท์ของพระองค์ จึงพากันไปเฝ้า แสดงอาการต่างๆ กัน ในฐานะยังไม่เคยนับถือมาก่อน และได้ทูลถามว่า
พระองค์ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมาสู่เกสปุตตนิคม ท่านเหล่านั้นแสดงเชิดชูแต่วาทะ (ลัทธิ) ของตนเท่านั้น แต่ย่อมกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกดวาทะฝ่ายอื่น ชักจูงไม่ให้เชื่อ สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็มาสู่เกสปุตตนิคม ท่านเหล่านั้น ก็แสดงเชิดชูแต่วาทะของตนเท่านั้น ย่อมกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกดวาทะฝ่ายอื่น ชักจูงไม่ให้เชื่อ พวกข้าพระองค์ มีความเคลือบแคลงสงสัยว่า บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ ?
กาลามชนทั้งหลาย เป็นการสมควรที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลง สมควรที่จะสงสัย ความเคลือบแคลงสงสัยของพวกท่านเกิดขึ้นในฐานะกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย
- อย่าปลงใจเชื่อ โดยการฟัง (เรียน) ตามกันมา (อนุสสวะ)
- อย่าปลงใจเชื่อ โดยการถือสืบๆ กันมา (ปรัมปรา)
- อย่าปลงใจเชื่อ โดยการเล่าลือ (อิติกิรา)
- อย่าปลงใจเชื่อ โดยการอ้างตำรา (ปิฏกสัมปทาน)
- อย่าปลงใจเชื่อ โดยตรรก (ตักกะ)
- อย่าปลงใจเชื่อ โดยการอนุมาน (นยะ)
- อย่าปลงใจเชื่อ โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (อาการปริวิตักกะ)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน (ทิฏฐินิชฌานักขันติ)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ (ภัพพรูปตา)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (สมโณ โน ครูติ)
ฐิตา:
เมื่อใด ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครยึดถือปฏิบัติถ้วนถึงแล้ว จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสีย ฯลฯ
เมื่อใด ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครยึดถือปฏิบัติถ้วนถึงแล้ว จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงถือปฏิบัติบำเพ็ญ (ธรรมเหล่านั้น)
ในกรณีที่ผู้ฟังยังไม่รู้ไม่เข้าใจและยังไม่มีความเชื่อในเรื่องใดๆ ก็ไม่ทรงชักจูงความเชื่อ เป็นแต่ทรงสอนให้พิจารณาตัดสินเอาตามเหตุผลที่เขาเห็นได้ด้วยตนเอง เช่น ในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับชาตินี้ชาติหน้าในแง่จริย-ธรรม ก็มีความในตอนท้ายของสูตรเดียวกันนั้นว่า
กาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ผู้มีจิตปราศจากเวรอย่างนี้ มีจิตปราศจากความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ ย่อมได้ประสบความอุ่นใจถึง ๔ ประการ ตั้งแต่ในปัจจุบันนี้แล้ว คือ
ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วมีจริง การที่ว่า เมื่อเราแตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๑ ที่เขาได้รับ
ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วไม่มี เราก็ครองตนอยู่ โดยไม่มีทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขอยู่แต่ในชาติปัจจุบันนี้แล้ว นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๒ ที่เขาได้รับ
ก็ถ้าเมื่อคนทำความชั่วก็เป็นอันทำไซร้ เรามิได้คิดการชั่วร้ายต่อใครๆ ที่ไหนทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้มิได้ทำบาปกรรมเล่า นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๓ ที่เขาได้รับ
ก็ถ้าเมื่อคนทำความชั่ว ก็ไม่ชื่อว่าเป็นอันทำไซร้ ในกรณีนี้ เราก็มองเห็นตนเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสองด้าน นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๔ ที่เขาได้รับ
ฐิตา:
สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้นับถือในลัทธิศาสนาหรือหลักคำสอนใดๆ พระองค์ จะตรัสธรรมเป็นกลางๆ เป็นการเสนอแนะความจริงให้เขาคิด ด้วยความปรารถนาดี เพื่อประโยชน์แก่ตัวเขาเอง โดยมิต้องคำนึงว่าหลักธรรมนั้นเป็นของผู้ใด โดยให้เขาเป็นตัวของเขาเอง ไม่มีการชักจูงให้เขาเชื่อหรือเลื่อมใสต่อพระองค์ หรือเข้ามาสู่อะไรสักอย่างที่อาจจะเรียกว่าศาสนาของพระองค์
พึงสังเกตด้วยว่า จะไม่ทรงอ้างพระองค์ หรืออ้างอำนาจเหนือธรรมชาติพิเศษอันใด เป็นเครื่องยืนยันคำสอนของพระองค์ นอกจากเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ให้เขาพิจารณาเห็นด้วยปัญญาของเขาเอง เช่น เรื่องใน อปัณณกสูตร ซึ่งแสดงให้เห็นเหตุผลที่ควรประพฤติธรรม โดยไม่ต้องใช้วิธีขู่ด้วยการลงโทษและล่อด้วยการให้รางวัล ดังนี้ :-
พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ สาลา พวกพราหมณ์คหบดีชาวหมู่บ้านนี้ ได้ทราบกิตติศัพท์ของพระองค์ จึงพากันไปเฝ้า แสดงอาการต่างๆ ในฐานะอาคันตุกะที่ยังมิได้นับถือกัน พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า
คหบดีทั้งหลาย พวกท่านมีศาสดาท่านใดท่านหนึ่งที่ถูกใจ ซึ่งท่านทั้งหลายมีศรัทธาอย่างมีเหตุผล (อาการวตีสัทธา) อยู่บ้างหรือไม่ ?
ครั้นพวกพราหมณ์คหบดีทูลตอบว่า “ไม่มี” ก็ได้ตรัสว่า
เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่ได้ศาสดาที่ถูกใจ ก็ควรจะถือปฏิบัติหลักการที่ไม่ผิดพลาดแน่นอน (อปัณณกธรรม) ดังต่อไปนี้ ด้วยว่าอปัณณกธรรมนี้ เมื่อถือปฏิบัติถ้วนถึงแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน หลักการที่ไม่ผิดพลาดแน่นอนนี้ เป็นไฉน ?
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิว่า : ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบำเพ็ญทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี ปรโลกไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี ฯลฯ ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิที่เป็นข้าศึกโดยตรงกับสมณ-พราหมณ์พวกนั้นทีเดียวว่า : ทานที่ให้แล้วมีผล การบำเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล ฯลฯ ท่านทั้งหลายเห็นเป็นไฉน ? สมณพราหมณ์เหล่านี้ มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันมิใช่หรือ ?
เมื่อพราหมณ์คหบดีทูลตอบว่า “ใช่อย่างนั้น” ก็ตรัสต่อไปว่า
ในสมณพราหมณ์ ๒ พวกนั้น พวกที่มีวาทะ มีทิฏฐิว่า : ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบำเพ็ญทานไม่มีผล ฯลฯ สำหรับพวกนี้ เป็นอันหวังสิ่งต่อไปนี้ได้คือ พวกเขาจะละทิ้งกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต อันเป็นกุศลธรรมทั้ง ๓ อย่างเสีย แล้วจะยึดถือประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้ง ๓ อย่าง ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุใด ? ก็เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มองเห็นโทษ ความทราม ความเศร้าหมอง แห่งอกุศลธรรม และอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นคุณฝ่ายสะอาดผ่องแผ้วของกุศลธรรม
ฐิตา:
อนึ่ง (หาก)เมื่อปรโลกมี เขาเห็นว่าปรโลกไม่มี ความเห็นของเขา ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ (หาก)เมื่อปรโลกมี เขาดำริว่าปรโลกไม่มี ความดำริของเขาก็เป็นมิจฉาสังกัปปะ (หาก)เมื่อปรโลกมี เขากล่าวว่าปรโลกไม่มี วาจาของเขาก็เป็นมิจฉาวาจา (หาก)เมื่อปรโลกมี เขากล่าวว่าปรโลกไม่มี เขาก็ทำตนเป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ผู้รู้ปรโลก (หาก)เมื่อปรโลกมี เขาทำให้คนอื่นพลอยเห็นด้วยว่าปรโลกไม่มี การทำให้พลอยเห็นด้วยนั้น ก็เป็นการให้พลอยเห็นด้วยกับอสัทธรรม และด้วยการทำให้คนอื่นพลอยเห็นด้วยกับอสัทธรรม เขาก็ยกตนข่มคนอื่น โดยนัยนี้ เริ่มต้นทีเดียว เขาก็ละทิ้งความมีศีลดีงาม เข้าไปตั้งความทุศีลเข้าไว้เสียแล้ว มีทั้งมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกกับอริยชน การชวนคนให้เห็นด้วยกับอสัทธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น บาปอกุศลธรรมอเนกประการเหล่านี้ ย่อมมีขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย
ในเรื่องนั้น คนที่เป็นวิญญู ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า “ถ้าปรโลกไม่มี ท่านผู้นี้ เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไป ก็ทำตนให้สวัสดี (ปลอดภัย) ได้ แต่ถ้าปรโลกมี ท่านผู้นี้เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เอาเถอะ ถึงว่าให้ปรโลกไม่มีจริงๆ ให้คำของท่านสมณ-พราหมณ์เหล่านั้นเป็นความจริงก็เถิด ถึงกระนั้น บุคคลผู้นี้ก็ถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันนี้เองว่า เป็นคนทุศีล มีมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาท ก็ถ้าปรโลกมีจริง บุคคลผู้นี้ก็เป็นอันได้แต่ข้อเสียหายทั้งสองด้าน คือ ปัจจุบันก็ถูกวิญญูชนติเตียน แตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อีกด้วย” ฯลฯ
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นไม่มี” ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งซึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิที่เป็นข้าศึกโดยตรงกับสมณพราหมณ์พวกนั้น กล่าวว่า “ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่” ฯลฯ
ในเรื่องนั้น คนที่เป็นวิญญู ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ที่ท่านสมณ-พราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นไม่มี” นี้ เราก็ไม่ได้เห็น แม้ที่ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่จริง” นี้ เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน ก็เมื่อเราไม่รู้ไม่เห็นอยู่ จะกล่าวยึดเด็ดขาดลงไปว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จ ดังนี้ ย่อมไม่เป็นการสมควรแก่เรา
ก็ถ้าคำของพวกสมณพราหมณ์ที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นไม่มี” เป็นความจริง การที่เราจะไปเกิดในหมู่เทพผู้ไม่มีรูป เป็นสัญญามัย ซึ่งก็ไม่เป็นความผิดอะไร ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าคำของพวกสมณพราหมณ์ที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่” เป็นความจริง การที่เราจะปรินิพพานได้ในปัจจุบัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
แต่ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ฝ่ายที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นไม่มี” นี้ ใกล้ไปข้างการมีความย้อมติด ใกล้ไปข้างการผูกพัน ใกล้ไปข้างการหลงเพลิน ใกล้ไปข้างการหมกมุ่นสยบ ใกล้ไปข้างการยึดมั่นถือมั่น ส่วนทิฏฐิของท่านสมณพราหมณ์ฝ่ายที่มีวาทะมีทิฏฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นมีจริง” นั้น ใกล้ไปข้างการไม่มีความย้อมติด ใกล้ไปข้างการไม่มีความผูกมัดตัว ใกล้ไปข้างการไม่หลงเพลิน ใกล้ไปข้างไม่หมกมุ่นสยบ ใกล้ไปข้างไม่มีการยึดมั่นถือมั่น เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธ แห่งภพทั้งหลายเป็นแท้"
ฐิตา:
-2 ท่าทีแบบอนุรักษ์สัจจะ
พุทธพจน์ต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่า ความรู้ความคิดเห็นในระดับที่ยังเป็นความเชื่อและเหตุผล ยังเป็นความรู้ความเห็นที่บกพร่อง มีทางผิดพลาด ยังไม่ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงความจริง
แน่ะท่านภารทวาช ธรรม ๕ ประการนี้ มีวิบาก ๒ ส่วนในปัจจุบัน ทีเดียว คือ
๑. ศรัทธา - ความเชื่อ
๒. รุจิ - ความถูกใจ
๓. อนุสสวะ - การฟัง (หรือเรียน) ตามกันมา
๔. อาการปริวิตักกะ - การคิดตรองตามแนวเหตุผล
๕. ทิฏฐินิชฌานักขันติ - ความเข้ากันได้กับ (การเพ่งพินิจด้วย)ทฤษฎีของตน
ก็สิ่งที่เชื่อสนิททีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อเลยทีเดียว แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี
ถึงสิ่งที่ถูกกับใจชอบทีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้ถูกกับใจชอบเลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี
ถึงสิ่งที่เรียนต่อกันมาอย่างดีทีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เรียนตามกันมาเลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นไปเลยก็มี
ถึงสิ่งที่คิดตรองอย่างดีแล้วทีเดียว กลับเป็นของเปล่าเป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เป็นอย่างที่คิดตรองเห็นไว้เลย แต่กลับเป็นของจริงแท้ ไม่เป็นอื่นไปเลยก็มี
ถึงสิ่งที่เพ่งพินิจไว้เป็นอย่างดี (ว่าถูกต้องตรงตามทิฏฐิทฤษฎีหลักการของตน) กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เป็นอย่างที่เพ่งพินิจเห็นไว้เลย แต่กลับเป็นของจริงแท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี
จากนั้น ทรงแสดงวิธีวางตนต่อความคิดเห็นและความเชื่อของตน และการรับฟังความคิดเห็นและความเชื่อของผู้อื่น ซึ่งเรียกว่าเป็นทัศนคติแบบอนุรักษ์สัจจะ (สัจจานุรักข์ แปลเอาความว่า คนรักความจริง) ว่า
บุรุษผู้เป็นวิญญู เมื่อจะอนุรักษ์สัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งนั้น)”
ถ้าแม้นบุรุษมีความเชื่อ (ศรัทธา อยู่อย่างหนึ่ง) เมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้” ยังชื่อว่าเขาอนุรักษ์สัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปเป็นอย่างเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งนั้น)” ไม่ได้ก่อน
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ชื่อว่ามีการอนุรักษ์สัจจะ และคนผู้นั้นก็ชื่อว่าอนุรักษ์สัจจะ อีกทั้งเราก็บัญญัติการอนุรักษ์สัจจะด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการหยั่งรู้สัจจะ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version