ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์องค์การพุทธใหม่ ( Neo-Buddhism )  (อ่าน 2328 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
วิเคราะห์องค์การพุทธใหม่



บทวิเคราะห์องค์การพุทธแนวใหม่

องค์กรพระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่เรียกว่า Neo-Buddhism เป็นพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาให้เคลื่อนไหวไปได้และแสดงบทบาทที่เหมาะสมในโลกยุคโลกาภิวัตน์และทุนนิยม หลายคนคงแปลกใจว่า พระพุทธศาสนามหายานทำไมจึงทำอะไรได้หลากหลาย ทำให้พระพุทธศาสนามหายานถูกมองไปในสองประเด็นที่สุดขั้ว กล่าวคือ ขั้วหนึ่งถูกมองไปในแง่บวกว่า มีความคล่องตัวในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อีกขั้วหนึ่งก็ถูกมองว่าทำอะไรเกินภาวะของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เมื่อมองให้ดีๆ แท้จริงลักษณะที่พระพุทธศาสนาแสดงออกในยุคนี้ไม่ใช่มหายานอย่างที่คิดกัน แต่เป็นพระพุทธศาสนาแนวใหม่ของคนยุคใหม่นี้ มันเริ่มจากกระบวนการปรับตัวของคนในสังคมที่มีกระบวนทัศน์เปลี่ยนแปลงไป พอดีเกิดขึ้นในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามหายานเท่านั้นจึงถูกมองว่าเป็นมหายานไปทั้งหมด อันที่จริงไม่ว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทหรือมหายานก็สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแต่เกี่ยวกับคนในสังคมที่รับเอาแนวคิดของการบริหารจัดการยุคทุนนิยมมาปรับใช้กับศาสนา

เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วในยุโรป เกิดขึ้นกับศาสนาคริสต์ เมื่อคนในสังคมหันไปสนใจกระแสวิทยาศาสตร์อย่างท่วมท้นในยุคใหม่ ไม่ใช่ศาสนายอมรับวิทยาศาสตร์ หรือศาสนาเห็นด้วยกับวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเพราะผู้ที่มาบวชในยุคนั้นมีแนวคิดเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว คนในศาสนาเป็นคนวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงว่า ความคิดเชิงวิทยาศาสตร์จึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนาและศาสนาก็ไม่สามารถทำอะไรกับคนวิทยาศาสตร์ได้เหมือนเดิมที่เคยต่อต้านอย่างสุดขั้ว

ลักษณะเดียวกันกับพระพุทธศาสนาในยุคนี้ คนในพุทธศาสนายุคนี้เป็นคนในยุคทุนนิยม ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี นับเป็นประเทศแนวหน้าที่อยู่ในยุคทุนนิยมเต็มที่ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า พระพุทธศาสนามหายานมีรูปแบบการบริหารเป็นแบบมืออาชีพ เพราะนั่นเป็นการนำระบบบริหารบรรษัทและองค์กรทางธุรกิจมาปรับใช้กับองค์การทางศาสนา ปัจจุบันจึงจะเห็นว่า พระพุทธศาสนาเถรวาทเริ่มรับวิธีการของพระพุทธศาสนาแนวใหม่นี้มาปรับใช้บ้างแล้ว ในที่สุดรูปแบบพระพุทธศาสนาต้องปรับเป็นอย่างนั้น เพราะคนในยุคนี้รับหลักการและวิธีการลักษณะของทุนนิยม การปฏิบัติอะไรตามระบบราชการเหมือนแต่ก่อน จะไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้

ไม่เพียงเฉพาะรูปแบบการบริหารเท่านั้น รูปแบบกิจกรรมทั้งหลายยังใช้รูปแบบเชิงพุทธศาสนาเพื่อสังคมมากขึ้นที่เรียกว่า Engaged Buddhism จะเห็นว่าพระสงฆ์ได้เข้าไปรับหน้าที่บริการสังคมไม่เพียงเฉพาะด้านธรรมะเท่านั้น ยังเข้าไปรับผิดชอบช่วยเหลือสังคมโดยการบริหารจัดการเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์การเกี่ยวกับโรคเอสด์ ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านเด็กและเยาวชน ด้านความสงบของสังคม เป็นต้น

สิ่งที่ตามมาพร้อมกับแนวคิดนี้ก็คือ พระสงฆ์ใดไม่ทำกิจกรรม ไม่ทำงานเชื่อมกับสังคมจะไม่ได้รับการยอมรับ และต่อไปบทบาทขององค์การทางสังคมจะเป็นตัวชี้นำศาสนา เพราะองค์การเหล่านี้ปฏิบัติตนได้อย่างอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของศาสนา แต่ได้นำแนวทางศาสนาไปปรับเข้ากับวิธีการของตน จะเห็นได้จากผู้นำทางสังคมเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อศาสนามากขึ้น บางอย่างได้รับเอาพิธีกรรมทางศาสนาไปทำเอง นี่เป็นลักษณะของพระพุทธศาสนาแนวใหม่

อีกอย่างหนึ่ง สำหรับการอธิบายหลักธรรมพระพุทธศาสนาแนวใหม่จะใช้วิธีการอธิบายแบบสัมผัสได้กับชีวิตจริง เน้นการอยู่อย่างมีความสุขในชีวิตปัจจุบัน ยกตัวอย่างเรื่องอริยสัจ ๔ พระพุทธศาสนาแนวใหม่ให้คำอธิบายไว้ว่า

๑) ชีวิตย่อมประกอบด้วยความสุข ความยินดี และความไม่สมปรารถนาเป็นปกติ (ทุกข์)

๒) สาเหตุแห่งความสุข ความทุกข์ และความยินดีนั้นมีมาก ทางที่พึงกระทำคือไม่ต้องไปใส่ใจ เพียงแต่ให้อยู่อย่างมีความสุขในตอนนี้และขณะนี้ได้ก็พอ ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นง่ายมาก เพียงแค่อยากมีความสุข อยากครอบครอง หรืออยากมีอำนาจ ก็เป็นที่มาแห่งทุกข์ทันที ยกตัวอย่างเช่น การต้องการมากไปกว่าที่ตนมีอยู่ ก็ทำให้สูญเสียความสุขในสิ่งที่ตนพึงจะได้แล้ว (สมุทัย)

๓) ไม่จำเป็นต้องสละเรือนอยู่เหมือนนักบวช ไม่จำเป็นต้องสละละทิ้งโลกียสุข เพียงแต่แสวงหาความสงบจากภายในจิตก็พอ โดยรักษาสมดุลระหว่างทั้งโลกแห่งคฤหัสถ์และบรรพชิตไว้ (นิโรธ)

๔) ศิลปะการดำเนินชีวิต คือ การค้นพบจุดสมดุลระหว่างความต้องการให้ถึงเป้าหมายแห่งชีวิตคือทางแห่งความสุขกับมุมมองอันมีเหตุผลและความจริงที่เห็น ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ และไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะสำคัญจริงๆ ต่อความสุขของตนหรือไม่ (มรรค)

การอธิบายอริยสัจเช่นนี้เป็นการอธิบายเข้ากับชีวิตมากขึ้น มิใช่อธิบายไกลไปจากชีวิต นี่เป็นลักษณะของแนวคิดของกระแสพุทธศาสนาใหม่ คือ การไม่ไปไกลจากโลกที่สัมผัส มิใช่โลกแห่งอุดมคติ คือมองกลับด้านเป็นอริยสัจที่ประกอบด้วยสุข เหตุให้เกิดสุข สุขได้ในเมื่อใจพอ ดำเนินชีวิตอย่างมีศิลปะก็จะพบกับความสุข ในที่นี้จึงไม่กล่าวว่าเป็นพุทธศาสนามหายานหรือเถรวาท เพราะโดยเนื้อแท้แล้วมีแต่คำว่าพระพุทธศาสนาเท่านั้น จะเป็นพุทธแบบเน้นศรัทธาหรือเน้นปัญญา ก็ขึ้นอยู่กับแนวโน้มทางความชอบของผู้นั้นที่เรียกว่า จริต การอาศัยศรัทธานำหรือปัญญานำก็นำผู้ปฏิบัติถึงเป้าหมายได้

สาเหตุอย่างหนึ่งที่ต้องกล่าวไว้ในที่นี้ก็คือ การเข้าสู่ความคิดหลังนวยุค (Post Modernism) ของคนในสังคม อิทธิพลของความคิดนี้ได้แผ่กระจายไปสู่ส่วนต่างๆ ของโลกอย่างมีระบบ เป็นกระบวนการที่เรียกว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) การก่อตัวของแนวคิดนี้ก็คือความอิ่มตัวของยุควิทยาศาสตร์และทุนนิยมสุดขั้วที่หล่อหลอมชีวิตของคนในสังคมให้แสดงออกไปอย่างไร้ทิศทาง ยิ่งสนองวัตถุจิตวิญญาณก็ยิ่งโหยหาความสุข ในที่สุดคนในสังคมบางคนบางกลุ่มก็คิดได้การสนองความต้องการทางวัตถุไม่อาจเติมเต็มจิตวิญญาณได้ จึงหันกลับมาดูชีวิตที่แท้จริงอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้จึงมีองค์กรอิสระที่กระทำโดยไม่มุ่งหวังผลกำไรใดๆ เป็นองค์กรที่รวมตัวกันกระทำเพื่อสังคม ดังนั้นจึงมีองค์กรพุทธฉือจี้ (Tzu Chi) สำนักปฏิบัติธรรมโกเอนก้า (Koenka) องค์กรริชโก้โกเชไก (Rissho Kosei-kai) องค์กรเซไคคิวเซเคียว (โยเร) หรือ วัดพระธรรมกาย เป็นต้น องค์กรเหล่านี้ล้วนแต่กระทำเพื่อสังคมโดยการฝึกฝนตน แต่เนื่องจากสังคมอยู่ในระยะเปลี่ยนถ่ายจึงมีความขัดแย้งทางความคิดสูงสำหรับการทำเช่นนี้ เพราะคนบางกลุ่มมองเห็นว่าการทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดแผกแปลกไปจากเดิม และคนที่อยู่ในองค์กรนั้นก็เคลื่อนไหวเชิงรุกจึงทำให้เกิดแรงปะทะขึ้นในสังคมที่ยังคงอยู่ในกระบวนทัศน์อื่นๆ อยู่จำนวนมาก

อันตรายสำหรับองค์กรทางศาสนาที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ การไม่เข้าถึงแก่นแท้หลักการทางพุทธศาสนาทั้งสองสายให้ดีพอ พระพุทธศาสนามหายานนั้นมีหลักการสำคัญอยู่ที่การอุทิศตนบำเพ็ญเพียรเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นมีหลักการสำคัญอยู่ที่การละการยึดมั่นถือมั่น หลีกเร้นและปล่อยวาง พอเข้าไม่ถึงแก่นแท้ก็หลงไปสู่ด้านใดด้านหนึ่ง ได้แก่ ทางฝ่ายมหายานก็หลงเข้าไปสร้างอาณาจักรของตน แล้วยึดมั่นในหน่วยงาน องค์กร วัด สมาคมของตน ทางฝ่ายเถรวาท ก็หลงไม่ช่วยเหลือสังคม หลีกเร้น ปล่อยไปตามกรรม การกระทำทั้ง ๒ ประการนั้นทำให้ตกไปสู่ส่วนสุดด้านใดด้านหนึ่ง ไม่เป็นตามทางสายกลาง

สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาทั้ง ๒ แนวทางนั้นสับสนไป ไคว่เขวไป ที่จำเป็นต้องเข้าใจก็คือการใช้หลักเหตุผลที่เรียกว่า “วาทกรรม” วาทกรรมเป็นกระแสกระบวนทัศน์ที่มาพร้อมกับสังคมหลังนวยุค คือ สังคมที่ใช้วาทกรรมอธิบายเชื่อมโยงวัฒนธรรมเข้าหากัน เมื่ออธิบายโดยใช้หลักเหตุผลภายใต้ระบบทุนนิยม ก็จะอธิบายเชื่อมโยงการระดมทุน ระดมคน และระดมกำลัง เมื่อระดมได้แล้วก็มีกำลังต่อรอง เพราะวาทกรรมในที่นี้คืออำนาจแฝงนั่นเอง

ทางออกสำหรับการอยู่ในสังคมหลังนวยุคที่ถูกต้อง ต้องกระทำ ๒ สิ่งคือ

๑) ใช้ภาษาที่ถูกต้อง คือภาษานัยวิเคราะห์ (โยนิโสมนสิการภาษา) แทนภาษาวาทกรรม (ตรรกะ)
๒) เดินตามทางสายกลาง คือ อุทิศตนบำเพ็ญบารมีด้วยจิตที่ปล่อยวาง

เมื่อทำได้อย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็กลายเป็นทางออกให้แก่สังคมอย่างแท้จริง โดยที่ไม่ได้เป็นตัวสร้างปัญหาและไม่ได้พอกพูนตัณหา
 
http://puzinnian.blogspot.com/search?updated-max=2009-09-10T10%3A34%3A00%2B07%3A00&max-results=4
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...