ผู้เขียน หัวข้อ: วิกฤตินิวเคลียร์ยุ่น ทางตัน ? ไฟฟ้าไทย  (อ่าน 2696 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

 
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ของประเทศไทยพ.ศ.2553-2573 กำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5,000 เมกะวัตต์ จะเดินหน้าต่อไปได้แค่ไหน?

วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ก็สะท้อนความกังวลที่ใหญ่ยิ่งทีเดียว

ข้อมูลศึกษาดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเทศญี่ปุ่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปลายปี 2552 ญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากเป็นอันดับสามของโลก อยู่ที่ 55 โรง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ

และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 2 โรง

ส่วนประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุด 104 โรง คือ...สหรัฐอเมริกา รองลงมา...ฝรั่งเศส 59 โรง แต่มีสัดส่วนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดถึงร้อยละ 77

คณะเข้าชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Ohi ตั้งอยู่ทางตะวันตกเมืองโอบามา จังหวัด Fukui ซึ่งในจังหวัดนี้ มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง...โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1.88 ตารางกิโลเมตร เริ่มจ่ายไฟฟ้าในปี 2522

มีปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 ตัว กำลังผลิตรวม 4,710 เมกะวัตต์

ทั้งระบบเป็นปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แบบน้ำภายใต้ความดัน หรือ PWR ซึ่งเป็นแบบที่ใช้งานมากที่สุดในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของโรงไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลก

ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้าระบบนี้ 23 แห่ง...ใช้น้ำเป็นตัวพาความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาฟิวชั่นภายในปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไปยังเครื่องกำเนิดไอน้ำ  เพื่อต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอน้ำไปขับเคลื่อนกังหันที่เชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

เรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะการรั่วไหลของรังสี เป็นประเด็นใหญ่ที่ประชาชนกังวล...โรงไฟฟ้าแห่งนี้เริ่มด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้รับทราบข้อมูลข่าวสาร การทำงานของโรงไฟฟ้า ติดตั้งสถานีวัดรังสีในรัศมี 10 กิโลเมตร พร้อมรายงานข้อมูลทุก 10 นาที เพื่อสร้างความมั่นใจ

ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการทำความเข้าใจ เปิดใจยอมรับ

แต่มาถึงวันนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจจะสร้างความตื่นกลัวให้กับคนไทยในวงกว้าง...

นิวเคลียร์ไม่อันตรายในสภาวะปกติ แต่ถ้าเกิดภัยพิบัติ ภัยจากธรรมชาติ ที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ ไม่แน่ว่านิวเคลียร์ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ ได้มหาศาล อาจจะเป็นมหันตภัยซ้ำเติมควบคู่ไปกับภัยธรรมชาติ

วันนี้...ทางแยกสำคัญอยู่ระหว่าง "ความมั่นคงด้านพลังงาน" กับ "ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ไม่รู้"

สำรวจสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง...ปี 2550 ใช้ ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 66.2 รองลงมา... ลิกไนต์ ร้อยละ 12.6...พลังน้ำ ร้อยละ 5.5

น้ำมันเตา ร้อยละ 2.7... น้ำมันดีเซล ร้อยละ 0.03...พลังงานทดแทน ร้อยละ 1.6... ถ่านหินนำเข้า ร้อยละ 8.4...ซื้อจาก สปป.ลาว และ มาเลเซีย รวมร้อยละ 3.0

มองในแง่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า...โรงไฟฟ้าถ่านลิกไนต์แม่เมาะ ต้นทุนถูกที่สุด 2.07 บาท/หน่วย รองลงมา...โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2.08 บาท/หน่วย

อันดับสาม...โรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้า 2.45 บาท/หน่วย อันดับสี่...โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม-ก๊าซ 2.8 บาท/หน่วย อันดับห้า...โรงไฟฟ้าชีวมวล 3.00-3.50 บาท/หน่วย อันดับหก...โรงไฟฟ้าขยะ 4.63 บาท/หน่วย

อันดับเจ็ด...โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน-น้ำมันเตา 5.32 บาท/หน่วย อันดับแปด...โรงไฟฟ้าพลังลม 5-6 บาท/หน่วย อันดับเก้า...โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส 8.91 บาท/หน่วย

อันดับสุดท้าย...โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 15-20 บาท/หน่วย

เทียบการใช้เชื้อเพลิงกับหลายประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก จะเห็นชัด...ไทยใช้เชื้อเพลิงต้นทุนสูงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากกว่า

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) สำรวจปี 2548...ประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ ใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้ามากที่สุดเฉลี่ย 40.1% สหรัฐอเมริกามีโรงไฟฟ้า ถ่านหินร้อยละ 50, ออสเตรเลีย ร้อยละ 80, เกาหลีใต้ ร้อยละ 38, อังกฤษ ร้อยละ 34

รองลงมา...ก๊าซธรรมชาติ 19.40% พลังน้ำ 15.90% พลังงานนิวเคลียร์ 15.80% น้ำมัน 6.90% และแสงอาทิตย์...ลม 1.90%

ไทย ใช้ก๊าซมากกว่าเชื้อเพลิงอื่น...ใช้ถ่านหินน้อย ปัญหามีว่า...ก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มหมดไปในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี ยังไงก็จำเป็นต้องมองหาเชื้อเพลิงอื่นมาผลิตไฟฟ้า

ช่วงเวลาที่ผ่านมา...ทั่วโลกจึงเบนเข็มหันมาใช้ถ่านหินเป็นหลัก ใช้พลังนิวเคลียร์มากขึ้น...ด้วยเหตุผลต้นทุนที่ต่ำกว่า

"ก๊าซธรรมชาติ"...หนึ่งในตัวแปรสำคัญในการผลิตไฟฟ้าเมืองไทย ซึ่งมีวันที่จะหมดไปจากโลก ข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สำรวจปี 2549 ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย พบว่ามีความเป็นไปได้ว่า จะมีใช้งานไม่เกิน 20 ปี หากรวมกับแหล่งเจดีเอ (JDA)...จะมีใช้ได้ไม่เกิน 30 ปี

เฉพาะก๊าซอ่าวไทย...พิสูจน์พบ 8,247 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ใช้ได้นาน 8 ปี... ก๊าซที่น่าจะพบ 8,085 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ใช้ได้นาน 7 ปี และก๊าซที่มีความเป็นไปได้ ที่จะพบ 4,339 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ใช้ได้นาน 4 ปี

รวมแล้วก๊าซที่อ่าวไทยมีทั้งสิ้น 20,672 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ใช้ได้ นาน 19 ปี

ขณะที่ผลการสำรวจระยะเวลาการใช้เชื้อเพลิงทั่วโลก พบอีกว่า น้ำมันจะมีใช้เพียงพอได้ 41 ปี...ก๊าซธรรมชาติ 65 ปี...ขณะที่ถ่านหินมีใช้ได้นาน 155 ปี

หากเป็นยูเรเนียม...จะมีอายุใช้งานได้ 85 ปี ซึ่งนำไปรีไซเคิลแล้ว ในทางเทคนิคจะเป็นพลังงานที่ใช้ต่อไปได้อีกนานหลายพันปี

"เชื้อเพลิง" คือต้นทุนหลักของ "ค่าไฟฟ้า" เกี่ยวโยงกับการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า แน่นอนว่า...ที่เหมาะคือ เชื้อเพลิงราคาต่ำ...เพียงพอ...มั่นคง ไม่ผกผันตามกระแสเศรษฐกิจโลก

ช่วงปี 2530-2549 "น้ำมัน"..."ก๊าซธรรมชาติ" ... "ถ่านหิน" คือ พระเอกตัวจริง เพราะถ่านหิน...ต้นทุนต่ำที่สุด ราคาผันผวนน้อย ขณะที่น้ำมันเตา กับก๊าซธรรมชาติ ก็ขยับราคาขึ้นสูงตั้งแต่ปี 2545 ทำให้วันนี้...ถ่านหินคือพระเอกเดียวที่โดดเด่น

ถามถึงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า กรณีแรก...ซื้อจากต่างประเทศ ข้อดีคือหลีกเลี่ยงปัญหากับชุมชน ข้อด้อยอาจมีปัญหาความมั่นคง...ระบบส่ง ถ้าเป็นก๊าซธรรมชาติ ข้อดีมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ข้อด้อยมีปริมาณจำกัด ราคาผันผวน สูงขึ้นตลอดเวลา

หรือถ้าเป็นถ่านหิน ข้อดี...ราคาค่อนข้างมีเสถียรภาพ ข้อด้อย...ประชาชน ยังมีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประเทศไทยมีประสบการณ์แล้วจาก...โรงไฟฟ้าแม่เมาะ

สำหรับพลังงานอนาคตเมืองไทย "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ...เป็นแผนการแสวงหาพลังงานแหล่งใหม่ ที่มีเสถียรภาพ ความมั่นคงสูง

ขณะนี้เราใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าถึง ร้อยละ 70 ถ้าใช้ต่อไปเรื่อยๆก็ต้องเพิ่มเป็นร้อยละ 80 ร้อยละ 90 ในที่สุด นั่นหมายถึงว่าเมืองไทยต้องพึ่งการนำเข้าก๊าซจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น หรือนำเข้าจากแหล่งอื่นๆในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ซึ่งมีราคาแพง

แน่นอนว่าเมื่อต้นทุนแพง ก็ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นตามไปด้วย

มองในแง่การประหยัด นโยบายประหยัดพลังงาน พูดกันตรงๆ ต่อให้ประหยัดยังไง เราก็ต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 5.2% เพื่อให้มีกำลังการผลิตสำรองเหนือกว่าช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอย่างน้อย 5%

หมายความว่า ภายในปี 2565...เมืองไทยต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 22,837 เมกะวัตต์

เมียงมองไปที่หน่วยงานผลิตไฟฟ้าระดับปฏิบัติ ยืนยันว่า...การสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ถึงจะเป็นพลังงานสะอาด แต่ก็ผลิตไฟได้น้อย ใช้พื้นที่มาก มีความไม่แน่นอน มีหลายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

นอกจากต้นทุนสูงแล้วยังไม่สามารถสร้างในขนาดใหญ่ๆได้ ถ้าจะสร้างกระจายไปยังชุมชนต่างๆ หรือท้องถิ่นทั่วประเทศก็ต้องศึกษาต้นทุน ความคุ้มค่าอย่างละเอียด

ข้อสำคัญ...คงไม่สามารถทดแทนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ต้องเพิ่มขึ้นไปตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้

หนทางพลังงานไทยดูเหมือนจะตีบตันลงทุกที...ยิ่งต้องมาเจอกับวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น...เส้นทางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมืองไทย จะเป็นเช่นใด จะออกหัวหรือก้อย ท้ายที่สุดแล้ว...คนไทยทั้งประเทศจะเป็นผู้ตัดสิน.
 
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/157330
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...