การฟังอย่างลึกซึ้ง ผมคิดว่าปัญหาหลักในสังคมปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจาก "การไม่ฟังกัน"
แต่ละคนไม่ฟังเสียงจากภายใน ไม่ฟังเสียงจากหัวใจ
ภายในครอบครัว พ่อไม่ฟังลูก ลูกไม่ฟังแม่ แม่ไม่ฟังพ่อ ฯลฯ
ภายในชุมชน ภายในประเทศ ภายในโลก ไม่ค่อยมีใครฟังกัน
โลกในปัจจุบันล้ำหน้าไปด้วยเทคโนโลยีระดับสูงมาก
อย่าว่าแต่การพูดคุยโทรศัพท์กันข้ามทวีปเลย
เดี๋ยวนี้สามารถพูดคุยกันข้ามโลก ข้ามดวงดาวกันได้แล้ว
แต่เหลือเชื่อที่คนในสังคมเดียวกันพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง
แม้แต่กินลึกไปถึงระดับคนในครอบครัวเดียวกันก็พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง
พูดคุยกันไม่เข้าใจ
อาจจะเรียกได้ว่าสังคมในปัจจุบันนี้การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้น
ล้มเหลวโดยเกือบจะสิ้นเชิง
เป็นเพราะมนุษย์เหล่านั้นไม่ค่อยหรือไม่เคยได้ฝึกในเรื่องของ "การฟังอย่างลึกซึ้ง"
ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ถ้าอยากจะช่วยกันทำให้สังคมเหล่านี้ดีขึ้น
คงจะต้องหันกลับมาในเรื่องพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของมนุษย์อย่างหนึ่ง
นั่นคือฝึกเรื่องการฟัง
พวกเรามีแต่ชมรมฝึกการพูดมากมาย พูดอย่างไรให้เก่ง
พูดอย่างไรให้มีคนฟังมาก พูดอย่างไรให้เป็น...เทวดา...ฯลฯ
แต่ผมกลับไม่เห็นมีการตั้ง "ชมรมฝึกการฟัง" กันเลย
ผมเองเป็นคนขี้อายมาก
ทุกครั้งที่จะต้องพูดต้องแสดงความเห็นในที่ประชุมหรือที่สาธารณะ
ก็จะสั่นและลำดับความคิดไม่ได้ทุกครั้ง
ผมเคยมีความปรารถนาอย่างหนึ่งว่าอยากจะฝึกพูด
เพื่อเป็นการพัฒนาส่วนที่เป็นส่วนด้อยของตัวเอง
โชคดีที่ผมไม่มีโอกาสได้ไปฝึกพูด แต่มีประสบการณ์การฟังอย่างลึกซึ้ง
เหลือเชื่อครับที่การฝึกการฟังกลับทำให้ผมสามารถพูดได้เก่งมากขึ้น
ประหม่าน้อยลงมา ที่สำคัญคือสามารถลำดับความคิดอย่างเป็นระบบ
แบบที่ไม่มีในตำราหรือสารบบของการฝึกพูดเลย
ต้นแบบของเรื่องนี้ก็คือเรื่อง Dialogue ของเดวิด โบห์ม
เดวิด โบห์ม นักฟิสิกส์ที่ได้รางวัลในเบลไพรซ์คนหนึ่ง
ทั้งยังเป็นทายาทคนสำคัญของไอน์สไตน์
ได้คิดค้นกรรมวิธีขึ้นมาวิธีหนึ่งที่เขาเรียกว่า "Dialogue"
ที่เมื่อนำแปลเป็นภาษาไทย เราก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะใช้คำว่า "การสนทนา"
แต่ที่จริงจะแปลจากรากศัพท์ได้ว่า "การส่งผ่านความคิด"
การสนทนาแบบเดวิด โบห์ม ที่ว่านี้
มีลักษณะพิเศษกว่าการสนทนาที่มาจากคำว่า "Conversation"
ที่เป็นการพูดคุยกันธรรมดา (ลมฟ้าอากาศและนินทาชาวบ้าน)
Dialogue ยังมีลักษณะที่ไม่เหมือนและพิเศษ
ไปกว่าการสนทนาแบบที่คนสมัยใหม่ชอบมาก
และยังใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่เรียกว่า "Discussion"
เพราะคำว่า Discussion นี้แปลว่า ทำให้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ เราจึงเห็นเสมอๆ
ในปัจจุบันว่าในการประชุมองค์กรต่างๆ
พอประชุมเลิก องค์กรก็เลยแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ตามไปด้วย
การสนทนาแบบเดวิด โบห์ม ที่ว่านี้ให้ความสำคัญยิ่งกับเรื่องของ "การฟัง"
ถือว่าการฟังอย่างลึกซึ้งอย่างตั้งใจเป็นแกนหลักของการสนทนา
องค์ประกอบสำคัญอีกข้อหนึ่งในการสนทนาแบบนี้ก็คือ
การไม่ตัดสินความคิดที่คนอื่นพูดออกมาว่าถูกหรือผิด เพียงแค่ "ฟังอย่างตั้งใจ"
แล้วปล่อยให้ความคิดผ่านสมองไปแบบไม่ตัดสิน
เดวิด โบห์ม เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง (1993)
และเขากับพวกได้ใช้กระบวนการเรื่องการสนทนาแบบที่เรียกว่า Dialogue
นี้เพื่อกระบวนการเรียนรู้ของเขาจนถึงช่วงท้ายของชีวิตเลยทีเดียว
ความพิเศษของการสนทนาแบบนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟัง
จะเป็นการเหนี่ยวนำให้ผู้ฟังเข้าสู่ "สุขสภาวะ" หรือ "มณฑลแห่งพลัง"
ด้วยซึ่งสภาวะนี้จะทำให้เกิดสภาวะที่มีฮอร์โมนด้านบวกหลั่ง
การฟังอย่างลึกซึ้งยังทำให้เกิดความสงบนิ่ง หลุดพ้นไปจากการขัดแย้ง การตัดสิน
และการยึดถือความคิดของตัวเอง นำไปสู่ความเป็นอิสระ
ซึ่งเป็นสภาวะมีนัยสำคัญอย่างหนึ่งนั่นคือ เมื่อไม่ยึดถือ
ไม่ตัดสินก็ย่อมนำไปสู่ "สภาวะเปิด"
ซึ่งย่อมจะเป็นสภาวะที่เกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดเหมือนกับคำสอนของเซนที่บอกว่า
ถ้าไม่ทำตัวเราเป็นชาล้นถ้วยก็ย่อมจะเปิดรับการเรียนรู้ได้อีกมาก
ปัจจุบันมีหนังสือเกี่ยวกับการสนทนาแบบ Dialogue นี้เป็นจำนวนมาก
การฝึกอบรมด้วยกระบวนการแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะสามารถลดความขัดแย้งในองค์กรต่างๆ ได้จริง
มีการดัดแปลงเทคนิคแตกหน่อออกไปเป็นหลายแบบซึ่งที่จริงแล้วต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
แต่ที่น่าเสียดายอยู่บ้างก็คือมีบางเล่มที่ผมดูๆ แล้ว
เป็นการสร้างความยุ่งยากสับสนมากเกินไป จนเสียความเรียบง่ายของต้นแบบ
(แต่ก็ต้องเปิดใจเพราะการทำแบบนั้นอาจจะเหมาะกับคนบางกลุ่ม
ที่ต้องการความซับซ้อนเพื่อความน่าเชื่อถือ)
แต่ที่ผมคิดว่าไม่ค่อยสวยก็คือบางเล่มมีการสงวนลิขสิทธิ์
เทคนิคของตัวเองกันวุ่นวายตามสไตล์ตะวันตก
ทั้งๆที่ต่างก็นำมาจากต้นแบบของโบห์มทั้งสิ้น
ที่เหลือเชื่อไปกว่านั้นก็คือ "การสนทนาแบบเดวิด โบห์ม"
ที่ว่านี้ช่างละม้ายและคล้ายคลึงกันกับความเป็น "สังฆะ"
ในพุทธศาสนาแบบแยกไม่ออก ทั้งในรูปแบบ กฎ กติกา มารยาท
และเนื้อหาสาระสำคัญที่เน้นเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง
หรือการฟังอย่างตั้งใจเมื่อผู้อื่นพูด ผมอยากจะถามเล่นๆ ตรงนี้ว่า
ถ้าเป็นแบบนี้พุทธศาสนาจะฟ้องเรียกการละเมิดลิขสิทธิ์บ้างจะดีมั้ย ? (ฮา)
โดยสรุปแล้ว การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นวิธีง่ายๆ
แบบหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการที่จะช่วยให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เป็นไปด้วยดี
ทั้งยังเป็นกระบวนการที่พัฒนามนุษย์แต่ละคนให้มีความ "ลึกซึ้งและเรียนรู้"
ได้มากยิ่งขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
ที่สำคัญพวกเราได้ลองลงมือปฏิบัติกันบ้างหรือยัง
ลองมาช่วยกันตั้งชมรมฝึกฟังกันบ้างมั้ยครับ?
________________________________
จาก มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม 2546
โดย น.พ. วิธาน ฐานะวุฑฒ์