อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ชีวิตลิขิตได้ด้วยตนเอง

<< < (2/7) > >>

lek:
เราคือผู้สร้างอำนาจตัณหา และอำนาจกรรม

ใครเล่าเป็นผู้สร้างตัวอำนาจนี้ ตอบได้ว่า คือ ตนเอง
เพราะตนเองเป็นผู้อยากเอง และเป็นผู้ทำกรรมเอง
จึงกล่าวได้ว่า ตนเองนี้แหละ เป็นผู้สร้างตนเองให้เกิดมา

ผู้ถือทางไสยกล่าวว่า ชีวิตของคนเรานี้ มีพรหมลิขิต คือ
พระพรหมกำหนดเหมือนอย่างเขียนมาเสร็จ ว่าจะเป็นอย่างไร

แต่ผู้ถือทางพุทธมักใช้ว่า กรรมลิขิต คือ กรรมกำหนดมา
โดยผลก็เป็นอย่างเดียวกัน คือ มีสิ่งกำหนดให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

น่าพิจารณาว่า ทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้จริงๆอย่างไร?
ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า "มากตเหตุ อย่าถือว่าเพราะเหตุ
แห่งกรรมที่ได้ทำไว้" คือ อย่าถือว่าทุกๆอย่างที่จะได้รับ มีเพราะ
เหตุแห่งกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เพราะถ้าถืออย่างนั้น ก็จะไม่ต้องทำ
อะไรขึ้นใหม่ รออยู่เฉยๆอย่างเดียว เพื่อให้กรรมเก่าสนองผลต่างๆ
ขึ้นเอง ถือเอาความดังนี้ ก็เท่ากับไม่ให้ถือกรรมลิขิตนั่นเอง

มีปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้น พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องกรรมไว้ทำไม?
พิจารณาดูจะตอบได้ว่า แสดงเรื่องกรรมไว้เพื่อให้รู้ว่า กรรม เป็นเหตุ
ให้วิบาก คือ ผล ตั้งแต่ให้กำเนิดเกิดมา และติดตามให้ผลต่างๆแก่ชีวิต
ทำนองกรรมลิขิตนั่นแหละ




ทุกวันเราต้องมุ่งมั่นสร้างอำนาจกรรมดี

แต่กระบวนการของกรรมที่ทำไว้ มีความสลับซับซ้อนมาก ทั้งเกี่ยวกับเวลา
ที่กรรมให้ผล ข้อสำคัญที่สุด คือ เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคล
ในปัจจุบัน คือ ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ไม่เป็นทาสของกรรมเก่า เช่นเดียวกับ
ให้ไม่เป็นทาสของตัณหา แต่ให้ละกรรมชั่ว กระทำกรรมดี และชำระจิตใจของตน
ให้บริสุทธิ์สะอาดตามหลักพระโอวาท 3 หรือกล่าวโดยทั่วไป มีกิจที่ควรทำ
ก็ทำโดยไม่ต้องนั่งรอนอนรอผลของกรรมเก่าอะไร ความพิจารณาเพื่อให้รู้กรรม
และผลของกรรมนั้น ก็เพื่อให้จิตเกิดอุเบกขา ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหลือที่จะ
ช่วยแก่ทั้งคนที่เป็นที่รักและที่ชัง กับเพื่อจะได้ปฏิบัติตนตามหลักพระโอวาท 3 ข้อนั้น

แก้วจ๋าหน้าร้อน:
 :13: อนุโมทนาครับ ขอบคุณครับพี่เล็ก

lek:
เราเกิดมา ตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะมาทำ

คนเรามีจิตใจที่เป็นต้นเดิมของกรรมทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นกรรมเก่า หรือกรรมใหม่ เพราะจะต้อง
มีจิตเจตนาเกิดขึ้นก่อน แล้วจึงทำกรรมอะไรออกไป
ฉะนั้น จึงสามารถจะทำอธิษฐาน คือ ตั้งใจว่า
จะประสงค์ผลอันใด เมื่อประกอบกรรมให้เหมาะ
แก่ผลอันนั้น ก็จะได้รับความสำเร็จ

ดังนั้น จึงสามารถตอบปัญหาว่า "เราเกิดมาทำไม"
ได้อีกอย่างหนึ่งว่า "เราเกิดมา ตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะมาทำ"

เป็นอันไม่พ้นจากคำตอบที่ว่า เราเกิดมาเพื่อสนองตัณหา
และกรรมของตนเอง...แต่คนดี ย่อมมีอธิษฐานใจที่ดี
ดังพระโพธิสัตว์ทรงอธิษฐานพระหทัยเพื่อบำเพ็ญพระบารมีทั้งปวง
ความเกิดของพระองค์ในชาติทั้งหลาย เพื่อบำเพ็ญบารมี คือ
ความดีต่างๆ ให้บริบูรณ์

*บารมี 10 ภาษาธรรมเรียกว่า สมติงสบารมี แปลว่า บารมี 30 ทัศ
โดยท่านจัดลำดับการบำเพ็ญออกเป็น 3 ระดับ คือ
บารมี การทำความดีในระดับสามัญ เช่น ทานบารมี ได้แก่ การให้สมบัตินอกกาย
อุปบารมี การทำความดีในระดับกลาง เช่น ทานอุปบารมี ได้แก่ การให้อวัยวะ
ปรมัตถบารมี การทำความดีในระดับสูง เช่น ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ การให้ชีวิต เป็นต้น



เราเกิดมา เพื่อทำความดี

อันที่จริง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะถือว่าตนเกิดมาเพื่อบำเพ็ญความดีให้มากขึ้น
และสามารถที่จะบำเพ็ญความดีได้
ความสำนึกเข้าใจตนเองไว้ว่า "เราเกิดมาเพื่อทำความดี"
"เราเกิดมาเพื่อเพิ่มพูนปัญญา คือ ความรู้ความฉลาด"
ดังนี้ ย่อมมีประโยชน์ ไม่มีโทษ เพราะจะทำให้ขวนขวายทำความ
คือ ผลของกรรม และกิเลสของตนเอง

แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่ง คือ ความดีที่แต่ละคนได้อบรมสั่งสมมา
อันเรียกว่า บารมี คือ ความดีที่เก็บพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งจะส่งเสริมจิตใจให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง และ ดำเนิน
ไปในทางที่ถูก

*บารมี แปลว่า ปฏิปทาเป็นเครื่องให้ถึงฝั่ง, ข้อปฏิบัติเป็นไป
เพื่อประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่ หมายถึง คุณความดีที่ได้
บำเพ็ญไว้ในอดีตอย่างยิ่งยวด โดยปกติจะใช้เรียกคุณความดี
ในอดีตของพระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญมาอย่างยาวนาน
เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ตัวอย่างการบำเพ็ญ
บารมีที่ได้ยินกันบ่อย เช่น เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก
ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี เป็นต้น

บารมี มี 10 อย่าง คือ ทาน มีใจเอื้อเฟื้อในการให้,
ศีล รักษากายวาจาเป็นปกติ, เนกขัมมะ ดำริออกจากกาม,
ปัญญา ความรู้ทุกอย่างจริงแท้, วิริยะ แน่วแน่พากเพียรทำไป,
ขันติ อดทนได้ในทุกสถานการณ์, สัจจะ ยึดมั่นในความจริง,
อธิษฐาน ไม่ละทิ้งความตั้งใจ, เมตตา ให้ความรักต่อผู้คน,
และอุเบกขา วางตนเป็นกลาง

lek:
สั่งสมปัญญาบารมี=ลิขิตชีวิตตนให้ได้ดี

ท่านกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราเกิดมาด้วยอำนาจของกุศล
คือ กุศลจิตและกุศลกรรม ไม่ว่าจะเกิดมายากดีมีจนอย่างไร
เพราะมนุษยภูมิ* เป็นผลของกุศล ทุกคนจึงชื่อว่ามีกุศล
หนุนมาให้เกิดด้วยกันทั้งนั้น จึงได้ชื่อว่า มนุษย์
ที่แปลอย่างหนึ่งว่า ผู้มีใจสูง คือ มีความรู้สูง ดังจะเห็นได้ว่า

คนเรามีพื้นฐานปัญญาสูงกว่าสัตว์เดรัจฉานมากมาย
สามารถรู้จักเปรียบเทียบในความดีความชั่ว ความควรทำ
ไม่ควรทำ รู้จักละอาย รู้จักเกรง รู้จักปรับปรุงสร้างสรรค์สิ่งที่
เรียกว่า "วัฒนธรรม" "อารยธรรม" "ศาสนา"เป็นต้น

แสดงว่า มีความดีที่ได้สั่งสมมา โดยเฉพาะปัญญา เป็น
รัตนะอันส่องแสงสว่างนำทางแห่งชีวิต ถึงดังนั้นก็ตาม
คนเราก็ยังมีความมืดที่มาเกิดกำบังจิตใจ ให้เห็นผิดเป็นชอบ
ความมืด ที่สำคัญนั้นคือ กิเลสในจิตใจ และกรรมเก่างทั้งหลาย**

*การจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ต้องเป็นผู้ได้บำเพ็ญกุศลธรรมคือ
ศีล 5 และกุศลกรรมบถ 10 (ไม่ทำกรรมชั่วทางกาย 3 อย่างคือ
ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม, ทางวาจา 4 อย่างคือ
ไม่พูดโกหก, ไม่พูดคำหยาบ, ไม่พูดให้เกิดความผิดใจกัน,
ไม่พูดเหลวไหลไร้สาระ, ทางใจ 3 อย่างคือ ไม่โลภอยากได้ของคนอื่น,
ไม่พยาบาทปองร้ายใคร, มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)
มาแล้วในอดีตชาติ จึงจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก

**เพราะเหตุที่คนยังมีกิเลส และกรรมเก่า ท่านจึงได้แบ่งประเภทคน
ออกเป็น 4 ประเภท คือ
-ผู้มืดมาแล้วมืดไป เกิดมาพบกับความลำบากในการดำเนินชีวิต
แต่ก็ยังคิดไม่ได้ว่าเป็นไปตามกรรม เมื่อตายไปก็ย่อมไปสู่ทุคติ
-ผู้มืดมาสว่างไป เกิดมาเหมือนบุคคลข้างต้น แต่มีจิตสำนึกคิดได้ว่า
ตนสร้างกรรมมาไม่ดี ในชาตินี้จึงตั้งมั่นในการทำความดี
-ผู้สว่างมามืดไป เกิดมาในชาตินี้มีความสมบูรณ์พร้อม แต่เกิด
ความประมาทในชีวิตหลงผิดทำชั่ว ต้องพบความหมองมัวทั้งในชาตินี้
และชาติหน้า
-ผู้สว่างมาสว่างไป เกิดมาชาตินี้ก็ดีพร้อมและไม่หยุดหย่อนในการทำดี
ให้ยิ่งๆขึ้นไป มีโอกาสได้เกิดในภพภูมิที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่ามนุษยภูมิ

lek:
ผู้ปกครองดีดี ช่วยเราสร้างกรรมใหม่ดีดี

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กรรมมี 2 อย่าง  คือ
1. ปุราณกรรม ได้แก่ กรรมเก่า
2. นวกรรม ได้แก่ กรรมใหม่

อะไรคือกรรมเก่า ไม่มีอธิบายอื่น จะอธิบายอย่างมองเห็น
เช่น พระพุท่ธาธิบายที่ตรัสไว้ความว่า "กรรมเก่า คือ
ตา หู  จมูก ลิ้น กาย และมนะ(ใจ)" กล่าวคือ ร่างกายที่
ประกอบด้วยอายตนะทั้ง 6 นี้แหละเป็นตัวกรรมเก่า
เป็นกรรมเก่าที่ทุกๆคนมองเห็น

นอกจากนี้ ยังเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งกรรมใหม่ทั้งปวงอีกด้วย
เพราะกรรมที่ทำขึ้นในปัจจุบันจะเป็น กายกรรม วจีกรรม
มโนกรรม ก็อาศัยกรรมเก่านี้แหละ เป็นเครื่องมือกระทำ
ทั้งกรรมเก่านี้ ยังเป็นชนวนให้เกิดเจตนาที่ทำกรรมใหม่ๆทั้งหลายด้วย

อะไรคือกรรมใหม่ ก็ได้แก่ การงานที่ ทำ พูด คิด ด้วยเจตนา
มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะ ตา หู เป็นต้น มิใช่ว่าจะมีไว้เฉยๆ
ต้องดูต้องฟัง แล้วก็ก่อกิเลส เช่น ราคะ (ความติดความยินดี),
โทสะ (ความขัดเคือง), โมหะ (ความหลงไหล), ให้เกิดขึ้น

ขณะที่ร่างกายเจริญในวัยหนุ่มสาว กล่าวได้ว่า กรรมเก่ากำลังเติบโต
เป็นหนุ่มสาว ตาหู เป็นต้น ก็ยิ่งเป็นสื่อแห่งราคะ โทสะ และเป็นสื่อ
แห่งกรรมต่างๆ ตามอำนาจของจิตใจที่กำลังระเริงหลง จึงจำต้องมี
การควบคุมปกครอง จะปล่อยเสีย หาได้ไม่ ถ้าตนเองควบคุมตนเองได้
ก็เป็นวิเศษที่สุด แต่ถ้าควบคุมตนเองไม่ได้ ก็ต้องมีผู้ใหญ่ เช่น
มารดา บิดาและผู้ใหญ่ต่างๆที่เกี่ยวข้องควบคุมให้อยู่ในระเบียบ
วินัยที่ดีงาม ให้เกิดความสำนึกว่า "เรานี่ เกิดมาเพื่อทำความดี"

พระพุทธองค์นอกจากทรงแสดงกรรมเก่าและกรรมใหม่ไว้แล้ว
ยังทรงแสดงความดับกรรม และวิธีดับกรรมทั้ง 2 อย่างไว้ว่า
"บุคคสัมผัสวิมุตติ(ความหลุดพ้น) เพราะความดับกายกรรม
วจีกรรม มโนกรรม นี้ชื่อว่าเป็นความดับกรรม มรรคมีองค์ 8 คือ
เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ
พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ นี้ชื่อว่าเป็นข้อปฏิบัติ
ให้ถึงความดับกรรม" ดังนั้น หลักการแก้กรรมตามหลักพุทธศาสนาก็คือ
การหยุดทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ ด้วยการปฏิบัติตามหลักมรรค 8
เมื่อย่อให้สั้นก็คือปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version