อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ชีวิตลิขิตได้ด้วยตนเอง
lek:
ภาพชีวิตของแต่ละคน
วาดภาพอนาคต ต้องกำหนดแบบแผน
คำว่า ชีวิต มิได้มีความหมายเพียงความเป็นอยู่แห่งร่างกาย
แต่หมายถึงความสุขความทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม
ของบุคคลในทางต่างๆ ด้วย
บางคนมีปัญหาว่า จะวาดภาพชีวิตของตนอย่างไรในอนาคต
หรืออะไรควรจะเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต และจะไปถึงจุด
ที่มุ่งหมายนั้น หรือที่นึกวาดภาพไว้นั้น ด้วยอะไร
ปัญหาที่ถามคลุมไปดังนี้ น่าจะตอบให้ตรงจุดเฉพาะบุคคลได้ยาก
เพราะไม่รู้ว่าทางแห่งชีวิตของแต่ละบุคคลตามที่กรรมกำหนดไว้
เป็นอย่างไร และถ้าวาดภาพของชีวิตอนาคตไว้เกินวิสัยของตน
ที่จะพึงได้พึงถึง แบบที่เรียกว่าสร้างวิมานบนอากาศ ก็จะเกิด
ความสำเร็จขึ้นมาไม่ได้แน่ หรือแม้วาดภาพชีวิตไว้ในวิสัยที่จะพึงได้
พึงถึง แต่ขาดเหตุที่จะอุปการะให้ไปถึงจุดหมายนั้น ก็ยากอีกเหมือนกัน
ที่จะเกิดเป็นความจริงขึ้นมา
ภาพของชีวิตที่วาดไว้ ก็จะเปรียบได้กับแบบแปลนของสิ่งที่
จะสร้างขึ้นในกระดาษพิมพ์เขียว คนที่ไม่มีบ้าน คิดจะ
สร้างบ้านอยู่ของตนเอง จะต้องมีที่ทางมีทุนก่อสร้าง
ทีแรกก็จะต้องมีแบบแปลนในแผ่นกระดาษตามที่ตนชอบ
แต่ก็ต้องตามควรแก่กำลังทรัพย์ของตน ถ้าอยากจะได้บ้าน
ที่ใหญ่โตเกินกำลังมากไป ก็จะทำไม่ได้แน่ แต่ตัวอย่างนี้
ก็มีจุดมุ่งหมายชัดเจนอยู่แล้วว่าจะสร้างบ้าน
ส่วนปัญหาข้างต้นที่ว่า อะไรควรจะเป็นจุดหมายของชีวิตนั้น
ยังไม่มีจุดหมายชัดเจน จึงว่าเป็นปัญหาที่ถามคลุมตอบได้ยาก
เหมือนอย่างจะถามว่าจะสร้างอะไรจึงจะดี ซึ่งตอบได้ยาก
วางแผนและพัฒนาตลอดชีวิต พิชิตความฝันแน่
อันจุดหมายชีวิตของคนนั้นมีต่างๆกัน และภาพชีวิตที่ทุกคนวาดไว้
เมื่อตอนเป็นเด็ก หรือในวัยรุ่น กับชีวิตจริงเมื่ออายุ 60 อาจต่างกันมาก
ทุกคนขณะอยู่ในวัยเด็กหรือในวัยรุ่น อาจจะวาดภาพชีวิตอนาคตตนเอง
ไว้ด้วยตน หรือบางทีผู้ใหญ่ช่วยคิดแนะนำให้ โดยปกติก็ต้องสังเกตดู
สติปัญญา ความถนัด ความชอบ และต้องพิจารณาถึงกำลังสนับสนุนต่างๆ
ตลอดถึงอัธยาศัย นิสัย การศึกษาตั้งแต่ในเบื้องต้น คือ ประถมศึกษา
กับมัธยมศึกษา ตลอดไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เป็นเครื่องช่วยชี้บอก
ได้ว่าทางอนาคตจะไปได้อย่างไร
ผู้ที่มีพื้นสติปัญญาต่ำ เรียนได้แค่ประถมศึกษา ก็จะต้องไปทำงาน
ด้านใช้กำลังกายมากกว่าใช้สมอง แต่เมื่อจับอาชีพถูกทาง มีความขยัน
หมั่นเพียร รู้จักเก็บหอมรอมริบ ก็อาจตั้งตัวได้ดีเหมือนกัน ผู้ที่มี
สติปัญญาปานกลางเรียนได้จบมัธยมศึกษา หรือเรียนจบทางการช่างต่างๆ
เป็นต้น ก็สามารถทำงานใช้วิชาได้บ้าง เมื่อตั้งใจทำงานให้ดีและ
ประพฤติตนดีดังกล่าว ก็ตั้งตนได้ตามสภาพ ส่วนผู้ที่มีสติปัญญาดี ทั้งมี
ปัจจัยสนับสนุนเรียนสำเร็จอุดมศึกษาทางใดทางหนึ่ง จะสามารถ
ทำงานได้ประณีตกว่า อาจตั้งตนได้ดีมาก
แต่ความสำเร็จผลอย่างดีนั้น นอกจากต้องอาศัยกำลังสติปัญญาวิชาความรู้
ดังกล่าว ยังต้องอาศัยปัจจัยอุปถัมภ์อย่างอื่นอีก ฉะนั้น
คนที่บรรลุความสำเร็จ เช่น เป็นพ่อค้าใหญ่ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
เป็นชาวนาชาวสวนที่มีฐานะมั่นคง เป็นต้น จึงมิใช่เป็นผู้ที่มาจาก
มหาวิทยาลลัย จากวิทยาลัยเทคนิค หรือจากโรงเรียนมัธยมเสมอไป
ใครจะถึงความสำเร็จแค่ไหน เพียงไหนนั้น เมื่อได้ผ่านบางตอน
ของชีวิตไปแล้ว ก็พอจะคิดคาดคะเนเอาได้ว่า จะไปได้สูงเพียงไหน
เว้นแต่มีเหตุพิเศษทั้งในด้านสนับสนุนทั้งในด้านตัดรอน
lek:
ประสบการณ์ชีวิต ทำให้คนมีความคิดเห็น ต่างกัน
ชีวิตนี้ต้องการอะไร? อาจจะเป็นปัญหาเดียวกับปัญหาที่ว่า
ควรจะวาดภาพชีวิตอนาคตอย่างไร หรืออาจจะต่างกันก็ได้
สุดแต่ความประสงค์ของผู้ถาม อาจจะมุ่งถึงผลทางวัตถุ
หรือทางโลกทั่วๆไปก็ได้ อาจจะหมายถึงผลที่พิเศษไปกว่านั้นก็ได้
ว่าถึงผลทางวัตถุ หรือทางโลกทั่วๆไป ทุกคนก็น่าจะมีทางของตน
หรือมีความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับการเรียน อาชีพการงานเป็นต้น
แต่ถ้าหมายถึงผลที่พิเศษไปกว่านั้นก็น่าคิด นอกจากสิ่งต่างๆ
ที่เป็นบุคคล เป็นวัตถุ เป็นชื่อเสียง เป็นต้น ที่โลกต้องการแล้ว
ชีวิต และเหตุการณ์ของชีวิต ทำให้คนมีความเห็นต่อชีวิตต่างๆกัน
บางคนรื่นเริงยินดีอยู่กับชีวิต มักจะเป็นคนวัยรุ่น กำลังมีร่างกาย
เจริญเติบโต มองเห็นอะไรในโลกยิ้มแย้มแช่มชื่นไปทั้งนั้น
บางคนระทมอยู่กับชีวิต จนถึงคิดหนีชีวิตก็มี เพราะความไม่สมหวังน้อยหรือมาก
บางคนก็ดูเฉยๆต่อชีวิต แต่มิใช่เฉยเพราะรู้สัจจะของชีวิต หากเฉยๆ
เพราะไม่รู้ ทั้งไม่ต้องการที่จะศึกษาเพื่อรู้ จึงอยู่ไปทำไปตามเคยวันหนึ่งๆ
โดยมากน่าจะอยู่ในลักษณะนี้ ไม่สู้จะเป็นสุขหรือทุกข์อะไรมากนัก
เพราะไม่อยากจะคิดรู้อะไรมากนัก หรือเพราะไม่มีอะไรจะทำให้เป็นสุข
หรือเป็นทุกข์มากนัก สรุปลงว่า ยินดีต่อชีวิตบ้าง ยินร้ายต่อชีวิตบ้าง
หลงงมงายเช่นที่มีความเฉยๆ เพราะไม่รู้ดังกล่าวบ้าง
คนทั่วๆไปย่อมเป็นดังนี้ จะต้องพบทั้งความยินดี ยินร้าย ทั้งความหลง
ในชีวิต จะต้องพบกับทั้งสุง ทั้งทุกข์ ทั้งได้ ทั้งเสีย
รู้เท่าทันโลกในชีวิตจริง จะไม่แพ้โลก
ว่าถึงชาวโลกทั่วไป เมื่อได้มีประสบการณ์จากโลกทั้ง 2 ด้านแล้ว
จึงจะรู้จักโลกดีขึ้น แต่ก็มีอยู่ 2 จำพวกเหมือนกันคือ
พวกหนึ่ง แพ้โลก คือ ต้องเป็นทุกข์น้อยหรือมาก ไม่สามารถจะแก้ทุกข์ได้
คล้ายกับรอให้โลกช่วย คือ ให้เหตุการณ์ข้างดีตามที่ปรารถนาเกิดขึ้น
อีกพวกหนึ่งไม่แพ้โลก คือ ไม่ยอมเป็นทุกข์ ถึงจะต้องเป็นทุกข์บ้าง
อย่างสามัญชนก็ไม่ยอมให้เป็นมากหรือเป็นนานนัก พยายามแก้ทุกข์
ไม่ต้องรอให้เหตุการณ์ข้างดีที่ปรารถนาต้องการเกิดช่วย ซึ่งเป็นการ
ไม่แน่ แต่ทำความรู้จักโลกนั่นแหละให้ดีขึ้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรง
สั่งสอนไว้ เช่นว่า "สูลงมาดูโลกนี้...ที่พวกคนเขลาติดอยู่
แต่ผู้รู้...หาข้อง ...อยู่ไม่"
คือ ศึกษาทำความรู้ชนิดที่ไม่ติดข้องให้เกิดขึ้น ปล่อยโลกให้เป็นไป
ตามวิถีของโลก เหมือนอย่างไม่คิดถึงดวงอาทิตย์ให้หยุดหรือให้กลับ
ซึ่งเป็นไปไม่ได้
หน้าที่ของบุคคลคือ ดึงใจให้หยุด หรือให้กลับจากกิเลสและความทุกข์
ให้ดำเนินไปในทางที่ดี ไม่ยอมพ่ายแพ้แก่ชีวิตและโลก
ดังนั้น คนเราจึงต้องพบชีวิต หมายถึง เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น
แก่ชีวิตตามที่ปรารถนาไว้ก็มี ที่มิได้ปรารถนาก็มี
lek:
อยากได้ในสิ่งที่ปรารถนา
อย่าลืมเตรียมใจพบความผิดหวัง
ว่าถึงปัญหาที่ว่า คนเราควรจะวาดภาพชีวิต
อนาคตของตนอย่างไรหรือจะให้ชีวิตเป็นอย่างไร
ถ้าตอบตามวิถีชีวิตทั่วไป ก็คงจะว่า จะให้เป็น
ชีวิตที่บริบูรณ์ด้วยผลตามที่ปรารถนากัน
ทางโลกทั่วไปนี้แหละ รวมเข้าก็คือ ลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข อันเรียกว่า โลกธรรม
(ธรรมคือเรื่องของโลก) ส่วนที่น่าปรารถนาพอใจ
แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตจะต้องพบส่วนที่
ไม่ได้ปรารถนาอีกด้วย คือ ส่วนที่ตรงกันข้าม
รวมเข้าก็คือ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
ชีวิตของทุกคนจะต้องพบกับโลกธรรมทั้ง 2 ฝ่ายนี้อยู่ด้วยกัน
คำว่า โลกธรรม พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมดาโลก เพราะขึ้นชื่อว่า
โลก ย่อมมีธรรมดา เป็นความได้ ความเสีย หรือ
ความทุกข์เช่นนั้น ส่งที่ได้มาบางทีรู้สึกว่าให้ความสุขมาก
เหลือเกิน แต่สิ่งนั้นเองกลับให้ความทุกข์มากก็มี
อย่ายินดีในสุขจนเกินไป
อย่ายินร้ายในทุกข์จนระทมตรมตรอม
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสชี้ให้เห็นทุกข์ไว้ก่อน
ดังเช่นเมื่อมีเทพมากล่าวคาถา แปลความว่า
"ผู้มีบุตรย่อมบันเทิงเพราะบุตร ผู้มีโคย่อมบันเทิง
เพราะโค นรชนย่อมบันเทิงเพราะทรัพย์สมบัติ
ผู้ไม่มีทรัพย์ย่อมไม่บันเทิง"
พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก้ว่า "ผู้มีบุตรย่อมโศกเพราะบุตร
ผู้มีโคย่อมโศกเพราะโค นรชนย่อมโศกเพราะทรัพย์สมบัติ
ผู้ไม่มีทรัพย์สมบัติ (เป็นเหตุอก่อกิเลส) ย่อมไม่โศก"
คำของเทวดากล่าวได้ว่า เป็นภาษิตทางโลก เพราะ
โลกทั่วไปย่อมเห็นดังนั้น ส่วนคำพระพุทธเจ้า กล่าวได้ว่า
เป็นภาษิตทางธรรม แต่ก็เป็นความจริง เพราะเป็น
ธรรมดาโลก ที่จะต้องพบทั้งสุขและทุกข์ ที่แม้เกิดจาก
สิ่งเดียวกัน
ฉะนั้น ทุกๆคน ผู้ต้องการโลก คือ ปรารถนาจะได้สิ่งที่
น่าปรารถนา หรือต้องการที่จะให้เป็นไปตามปรารถนา
ก็ควรต้องการธรรมอีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นเครื่องช่วยรักษา
ตนทั้งในคราวได้ ทั้งในคราวเสีย
พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชึวิตของทุกๆคน
ตรงจุดนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่า
สุขหรือทุกข์ข้อนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
เมื่อพิจารณาอยู่ดังนี้จนเกิดปัญญาเห็นจริง สุขหรือทุกข์นั้นๆ
ก็จะไม่ตั้งครอบงำจิตอยู่ได้ ผู้ที่มีปัญญาพิจารณาเห็นจริง
อยู่ดังนั้น จะไม่ยินดีในเพราะสุข จะไม่ยินร้ายในเพราะทุกข์นั้นๆ
ความสงบจิตซึ่งเป็นความสุขจะมีได้ด้วยวิธีนี้
lek:
ศึกษาทั้ง 2 ด้านของชีวิตผ่านโลก
ปัญญาเกิดได้ เพราะเข้าใจโลก
ทั้งด้านสุข และด้านทุกข์
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แปลความว่า
"ความโศกย่อมเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก
ภัยคือความกลัว ย่อมเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก
สำหรับผู้ที่พ้นแล้วจากสิ่งเป็นที่รัก
จะไม่มีความโศก ภัยจักมีแต่ที่ไหน"
พระพุทธภาษิตนี้ ดูคล้ายกับมองโลกในทางร้ายว่า
สิ่งเป็นที่รัก เป็นแหล่งเกิดความโศก และภัยเสมอ
แต่ก็เป็นความจริงที่ความโศก และภัยทุกอย่าง
เกิดจากแหล่งรักทั้งนั้น ใครก็ตามที่ได้รับความสุข
จากสิ่งเป็นที่รักเพียงอย่างเดียว ยังไม่ชื่อว่าได้พบโลก
หรือผ่านโลกทั้ง 2 ด้าน ต่อเมื่อได้รับความทุกข์
จากสิ่งเป็นที่รักอีกอย่างหนึ่ง จึงจะเชื่อได้ว่า
ได้ผ่านพบโลกครบทั้ง 2 ด้าน เป็นโอกาสที่ทำให้
รู้จักโลกดีขึ้น
ชีวิตที่ดำเนินผ่านสุขทุกข์ต่างๆในโลก หรือผ่าน
โลกที่มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ เท่ากับเป็นการศึกษาให้เกิด
เจริญปัญญาขึ้นอยู่เสมอ อาจจะมีการหลงผิดไปใน
บางคราว ก็ไม่ใช่ตลอดไปและทุกคนที่เกิดมา
ย่อมมีพื้นปัญญาที่จะเพิ่มเติมขึ้นได้เสมอ
ปัญญา จะเป็นปัญญาสมบูรณ์ขึ้นได้ ก็เพราะรู้ทั้ง 2 ด้าน
คือ รู้ทั้งสุข รู้ทั้งทุกข์ ถ้ารู้จักแต่สุข ไม่รู้จักทุกข์
ก็ยังไม่ใช่ปัญญาสมบูรณ์
คนเราจะรู้จักทุกข์ได้ ก็ต้องประสบกับความทุกข์
และดูเข้าไปที่ทุกข์ หรือดูเข้ามาที่จิตใจ
อันมีทุกข์ ว่าจิตใจนี้มีทุกข์ ดูอาการจิตใจที่มีทุกข์
ว่าเป็นอย่างไร อาการคือ แห้งผากใจ ปราศจาก
ความสดชื่น เหมือนอย่างต้นไม้เหี่ยว คร่ำครวญใจ
ด้วยความคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว หรือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
ไขว่คว้าในสิ่งที่สิ้นไป หายไปแล้ว เหมือนอย่างไล่จับเงา
กลัวสิ่งที่ยังอยู่ว่าจะหายไปเสีย กลัวว่าอะไรที่น่ากลัว
จะเกิดขึ้น ตรอมใจไม่มีความผาสุก คับแค้นใจ
เหมือนอย่างถูกอัดถูกบีบ
lek:
ฝึกมองให้ชัดว่า จะสุขจะทุกข์ก็เป็นอาการชั่วคราว
อาการใจเหล่านี้ แสดงออกมาให้เห็นทางกาย
อันเป็นเรือนอาศัยของจิตใจ
อวัยวะทางกายที่บอกใจอย่างดีที่สุด คือ ดวงตา
และสีหน้า ดวงตาจะเศร้า สีหน้าจะหมอง
ร่างกายทั่วไปจะซูบ อาการทางกายเหล่านี้
กล่าวได้ว่าเป็นผลพลอยเสีย...
ดูอาการจิตใจที่มีทุกข์ว่าเป็นอย่างนี้ๆดูให้เห็นชัด
ให้คล้ายกับส่องกระจกเห็นเงาหน้าของตนชัดเจน
เมื่อดูจนเห็นแล้วก็ศึกษา คือ พยายามค้นหาความจริง
ในจิตใจของตนเองต่อไปว่า ความทุกข์ที่ประสบนี้
เป็นอาการประจำหรือเป็นอาการจร เทียบอย่าง
เป็นโรคประจำ หรือ เป็นโรคจร มีอะไรเป็นเหตุสมุฎฐาน
และเมื่อค้นหาความจริงเช่นนี้ก็จะเห็นว่า เป็นอาการจร
เพราะแต่ก่อนนั้นไม่เคยมี เคยเป็น เคยมีแต่อาการ
ที่เป็นความสุขอันตรงกันข้าม
ถึงอาการที่เป็นความสุขก็เหมือนกัน คือ เป็นอาการจร
เพราะแต่ก่อนนั้นก็ไม่เคยมีเคยเป็น ได้แก่ เมื่อเป็นเด็กนั้น
ยังไม่มีอาการจิตใจเช่นนี้ มาเริ่มมีขึ้นตั้งแต่เมื่อย่างเข้า
ดรุณวัย เริ่มมีสิ่งเป็นที่รักขึ้น ตั้งแต่หนึ่งสิ่ง สองสิ่ง
สามสิ่ง เป็นต้น เมื่อศึกษาจิตใจของตนเองไป ดังนี้
ก็จักได้พบสัจจะขึ้นสมจริงตามพระพุทธพยากรณ์
นี้แหละเป็นเหตุเป็นสมุฎฐาน
การหัดศึกษาให้รู้จักกระบวนแห่งจิตใจของตนนั้น
เป็นข้อที่ควรทำทั้งในคราวมีสุขและในคราวมีทุกข์
เหตุแห่งสุขและทุกข์ ข้อที่สำคัญก็คือ สิ่งที่เป็นที่รัก
ในขณะที่มีสุข จะยกไว้ก่อน จะกล่าวแต่ที่มีทุกข์
ฝึกมองให้ได้ว่าทุกข์เกิดในใจ เพราะไปยึดมั่นถือมั่น
ในคราวมีทุกข์ ให้รวมจิตใจดูที่ตัวความทุกข์ที่กำลังเสวยอยู่
ดูอาการของจิตที่เป็นทุกข์ว่าเป็นอย่างไร มีอาการเศร้าหมอง
อย่างไร ห่อเหี่ยวอย่างไร หมดรส หมดความสำราญอย่างไร
ดูความคิดว่า ในขณะที่จิตเป็นทุกข์เช่นนี้ จิตมีความคิดอย่างไร
จิตคิดถึงอะไร ถึงจะรู้ว่า กำลังคิดถึงเรื่องที่ทำให้ทุกข์นั่นแหละ
เพราะจิตผูกอยู่กับเรื่องนั้นมาก ความผูกจิตมีมากในเรื่องใด
ก็ดึงจิตให้คิดถึงเรื่องนั้นมากและเป็นทุกข์มาก
ฉะนั้น ความทุกข์ จึงเป็นผลตามความผูกจิต(สังโยชน์) ซึ่ง
คอยดึงจิตให้คิดไปถึงเรื่องที่ผูกไว้ในใจ
อันที่จริงเรื่องที่ผูกใจนี้ มิใช่เฉพาะแต่สิ่งที่เป็นที่รักเท่านั้น
ถึงสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็ผูกใจไว้เหมือนกัน จึงเกิดความชอบใจ
ความไม่ชอบใจ ถ้าไม่มีความผูกใจไว้เสียเลย ก็จะไม่มีทุกสิ่ง
คือ ที่รักก็ไม่มี ที่ไม่รักก็ไม่มี ตลอดถึงความยินดียินร้ายก็จะไม่มี
ตามที่กล่าวมานี้ เป็นกระบวนการทางจิต กล่าวสั้นๆ คือ
ความผูกจิตอยู่กับเรื่องอันเรียกว่า อารมณ์ ที่ทุกๆคน
ประสบพบผ่านมาทางอายตนะมีตา หู เป็นต้น และความคิด
ที่ถูกดึงให้คิดไปในเรื่องที่ผูกใจอยู่เสมอ ถ้าเป็นเรื่องของ
สิ่งที่เป็นที่รัก และไม่เป็นไปตามที่ปรารถนาต้องการ
ยิ่งคิดไปก็ยิ่งเป็นทุกข์ไป จิตครุ่นคิดไปด้วย เสวยทุกข์ไปด้วย
จึงมีคำที่กล่าวกันอยู่เสมอว่า "หยุดคิดเมื่อใด ก็หยุดทุกข์ลงเมื่อนั้น"
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version