อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ชีวิตลิขิตได้ด้วยตนเอง

<< < (4/7) > >>

lek:
หยุดความคิดลงเมื่อใด ทุกข์จางหายไปเมื่อนั้น

คำว่า หยุดคิด หมายถึง หยุดคิดถึงเรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์
แต่ถ้ากล่าวดังนี้แก่ใคร ก็น่าจะได้รับคำตอบว่า
สำหรับหลักการที่ว่านั้น ไม่เถียง แต่ทำไม่ได้
คือ จะห้ามมิให้คิดไม่ได้...

ถ้าแย้งดังนี้ ก็ต้องรับรองว่า ห้ามไม่ได้จริง
ด้วยเหตุที่ยังมีความผูกจิตอยู่ในเรื่องนั้น
ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ความผูกจิตไว้นี้เอง
คอยดึงจิตให้คิดไปในเรื่องที่ผูกไว้
แต่ถ้าปล่อยความผูกจิตนี้ได้
ก็จะหยุดคิดถึงเรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์ได้

ถ้าว่าดังนี้ ก็น่าจะถูกประท้วงอีกว่า
ปล่อยไม่ได้ เพราะสิ่งนั้น สิ่งนี้ซึ่งเป็นที่รัก
และสามัญชนทั่วไป ก็จะต้องมีสิ่งเป็นที่รัก
เช่น จะต้องมีพ่อแม่ลุกหลานเป็นต้น ที่เป็นที่รัก
เมื่อมีขึ้น จิตใจก็จะต้องมีผูกพัน ที่เรียกว่า
ความผูกจิต จึงไม่สามารถปล่อยไว้

ถ้ามีการประท้วงดังนี้ ก็ตอบชี้แจงได้ว่า
รับรองว่าสามารถแน่ ถ้าลองปฏิบัติดู
ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เพราะความผูกพันแห่งจิตใจนี้เป็นกิเลส
เพื่อที่จะชี้ให้เห็นหน้าตาให้ชัดขึ้น
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในธรรมบท แปลความรวมกันว่า

"ความโศก ความกลัว เกิดจาก...
....ความรัก...
....ความยินดี ความใคร่(กาม)
....ความอยาก(ตัณหา)

สำหรับผู้ที่พ้นแล้วจาก...
....ความรัก...
....ความยินดี ความใคร่(กาม)
....ความอยาก(ตัณหา)

จะไม่มีความโศก ความกลัว จักมีแต่ที่ไหน

lek:
รักคนอื่นมามากมาย แต่สุดท้ายลืมรักตน

คนทั่วไปย่อมมีความรัก ความยินดี ความใคร่
ความอยาก ว่าถึงความรักเพียงข้อเดียวก่อน
ทุกคนก็มีความรักอยู่ในบุคคล และในส่วนต่างๆมาก
เช่น บุตรธิดารักมารดาบิดา มารดาบิดาก็รักบุตรธิดา
สามีก็รักภรรยา ภรรยาก็รักสามี แต่มักจะลืมนึกถึง
อีกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่รักของตนเองอย่างลึกซึ้ง
คือตนเอง คือลืมนึกรักตนเอง

คิดดูให้ดีจะเห็นว่า ตนเป็นที่รักยิ่งของตนเองอยู่แล้ว
ดังมีเรื่องเล่าว่า  ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล
ถามระนางมัลลิกาเทวีของพระองค์ว่า ใครเป็นที่รัก
ของพระนางยิ่งกว่าตนเอง (ของพระนาง) พระนาง
กราบทูลว่าไม่มี แล้วกราบทูลถามพระราชาเช่นเดียวกันว่า
ใครเป็นที่รักของพระองค์ยิ่งกว่าพระองค์เอง ตรัสสอบว่า
ไม่มีเช่นเดียวกัน

พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูล
ข้อที่ตรัสโต้ตอนกันนี้

พระพุทธเจ้าเสนทิโกศลได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
กราบทูลข้อที่ตรัสโต้ตอบกันนี้

พระพุทธเจ้าตรัสอุทานขึ้นในเวลานั้นว่า "ตรวจดูด้วยใจ
ไปทุกทิศแล้ว ก็ไม่พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหน
ตนเป็นที่รักมากของคนอื่นๆอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น
ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น"

พระพุทธอุทานนี้ ตรัสสอนให้คิดถึงใจเราเทียบกับใจเขา
ดังที่กล่าวกันว่า นำใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อจะได้สังวร
จากการทำที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น แต่ก็เป็นอันทรง
รับรองข้อที่พระนางมัลลิกากราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
ไม่มีใครจะเป็นที่รักของตนยิ่งกว่าตน

lek:
รู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็อย่าลืมรักษาตน

พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในพระธรรมบทว่า
"ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก พึงรักษาตนไว้ให้ดี
บัณฑิตพึงประคับประคองตน
ตลอดยาม(คือวัย)ทั้งสาม ยามใดยามหนึ่ง"

นี้เป็นพระพุทธโอวาทตรัสเตือนไว้
เพื่อมิให้หลงตนเองไปเสีย หน้าที่ของตนนั้น
จะต้องรักษาประคับประคองตนเองไว้ให้ดี

ควรสังเกตว่า พระพุทธองค์มิได้ตรัสสอนว่า
จงรักตน หรือควรรักตน หรือต้องรักตน
เพราะตนเป็นที่รักของตนอยู่แล้วแก่ทุกๆคน
คือทุกๆคนต่างรักตนเองอยู่ด้วยกันแล้ว
และรักยิ่งกว่าสิ่งอื่น หรือใครอื่นทั้งหมด
เมื่อมีความจริงอยู่ดังนี้ จึงไม่จำเป็นต้อง
ตรัสสอนให้รักตนเข้าอีก แต่ตรัสสอนให้
ทำความรู้ดังกล่าว และให้รักษาตนให้ดี

คิดดูอีกสักหน่อย เมื่อเกิดมาก็มาตนผู้เดียว
คราวจะตายไปก็คงไปแต่คนเพียงผู้เดียวอีก
เหมือนกัน บุคคล และสิ่งทั้งปวง แม้จะเป็น
ที่รักยิ่งนัก ก็เกิดขึ้น หรือมาพบกันเข้าในภายหลัง
และมีอยู่เฉพาะในชีวิตนี้ ไม่มีที่จะไปด้วยกัน
กับตนในภพหน้า สิ่งที่จะไปด้วยคือ บุญหรือบาปที่ทำไว้เอง

แม้ในชีวิตนี้ก็มิใช่ว่าจะร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกันทุกอย่าง
เช่น ถึงคราวเจ็บก็ต้องเจ็บเอง ใครจะเจ็บแทนกันหาได้ไม่
ตนเองเท่านั้นต้องร่วมสุขร่วมทุกข์กับตนเองตลอดไป
ในคราวเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในโลกนี้ โลกหน้า ในมนุษย์
ในนรก ในสวรรค์ ตลอดถึงนิพพาน ก็เป็นเรื่องของ
ตนเองผู้เดียวทั้งหมด พิจารณาให้ตระหนักในความจริงดังนี้
จะช่วยถอนความผูกใจเป็นทุกข์ออกได้บ้างไม่มากก็น้อย

lek:
มี "สติ" คิดพิจารณาความคิดของตนบ่อยๆ

ชีวิตนี้เรียกได้ว่า เป็นความเกิดสิ่งแรก
ซึ่งเป็นที่เกิดของสิ่งทั้งหลายในภายหลัง
ก็ต้องมีความดับ สิ่งที่ได้มาพร้อมกับชีวิต
ก็คือตนเอง นอกจากตนเองไม่มีอะไรทั้งนั้น
สามี ภริยา บุตรธิดา ทรัพย์สินเงินทองไม่มีทั้งนั้น
เรียกว่า เกิดมาตัวเปล่า มาตัวคนเดียว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
"ตนแลเป็นคติ(ที่ไปหรือการไป)ของตน"
ในเวลาดับชีวิต ก็ตนเองเท่านั้นต้องไปแต่ผู้เดียว
ตามกรรม ทิ้งทุกสิ่งไว้ในโลกนี้ แม้ชีวิตร่างกายนี้
ก็นำหไปด้วยไม่ได้

พระพุทธเจ้าได้ตรัวไว้ว่า "บุคคลผู้จะต้องตาย
ทำบุญและบาปทั้งสองอันใดไว้ในโลกนี้
บุญบาปทั้งสองนั้น เป็นของผู้นั้น ผู้นั้นพาเอาบุญบาป
ทั้งสองอันนั้น บุญบาปทั้งสองอันนั้น ติดตามผู้นั้นไป
เหมือนอย่างเงาที่ไม่ละตัว"

ก็เมื่อตนเอง เป็นผู้มาคนเดียว ไปคนเดียว
เมื่อมาก็มาตามกรรม เมื่อไปก็ไปตามกรรม
ถึงผู้อื่นก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น
คือจะเป็นสามี ภริยา เป็นบุตรธิดา เป็นญาติมิตร
หรือแม้นเป็นศัตรู ต่างก็มาคนเดียวตามกรรม
ไปตามกรรม ฉะนั้น ก็ควรที่จะต้องรักษาตน
สงวนตน แสวงหาตน มากกว่าที่จะรัก จะสงวน
จะแสวงหาใครทั้งสิ้น

คำว่า แสวงหาตน เป็นคำที่มีคติที่ซึ้ง
คิดพิจารณาให้เข้าใจให้ดี จะบังเกิดผลดียิ่งนัก
แต่ที่จะเริ่มแสวงหาตนได้ ก็ต้องได้สติย้อนมา
นึกถึงตนในทางที่ถูกที่ควร และคำว่าแสวงหาตน
หาได้มีความหมายว่า เห็นแก่ตนไม่ เพราะ
ผู้เห็นแก่ตนหาใช่ผู้ที่แสวงหาตนไม่
กลายเป็นแสวงหาสิ่งที่มิใช่ตนไปเสีย

lek:
พาชีวิตไปให้ถึงจุดหมายอันสูงสุด

มีความอยาก ก็ยากจะถึงจุดมุ่งหมายอันสูงสุด
ชีวิตอันอุดม เป็นจุดหมายที่พระพุทธเจ้าสอนให้
ทุกคนปฏิบัติให้ถึง ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า...
อะไรคือชีวิตอันอุดม ก็น่าจะต้องพิจารณากัน
คำว่า อุดม แปลว่า สูงสุด,ชีวิตอันอุดม คือ
ชีวิตที่สูงสุด

และถ้าจะกล่าวว่า ผลที่ปรารถนาจะได้อย่างสูงสุด
ในชีวิตใช่ไหม? เป็นชีวิตอันอุดม ถ้าถือเอา
ความปรารถนาเป็นเกณฑ์ ก็ตอบได้ว่า ไม่ใช่เกณฑ์
จัดระดับชีวิตของพระพุทธเจ้าแน่นอน
เหตุที่กล่าวดังนี้ เพราะแต่ละคนย่อมมีความ
ปรารถนาต่างๆกัน ทั้งเพิ่มความปรารถนาขึ้นได้เสมอ
จนถึงมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า
"แม่น้ำ เสมอด้วยตัณหา(ความอยาก)ไม่มี"

เช่น บางคนอยากเรียนให้สำเร็จปริญญาชั้นนั้นชั้นนี้
บางคนอยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นอธิบดี อยากเป็นสส.
อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

แต่คนมีความอยากดังนี้ จะประสบความสำเร็จดังที่
อยากได้สักกี่คน ตำแหน่งต่างๆเหล่านี้ ย่อมมีจำนวนจำกัด
จะเป็นด้วยกันทุกคนหาได้ไม่ บางทีคนที่ไม่ได้คิด
ปรารถนาว่าจะเป็นก็ได้เป็น บางคนคิดอยากจะขวนขวาย
ต่างๆมากมายก็ไม่ได้เป็น ต้องไปเป็นอย่างที่ไม่อยาก
ก็มีอยู่มาก

ฉะนั้น ผลที่ได้ด้วยความอยากอันเป็นตัณหา จึงมิใช่
เป็นเกณฑ์จัดว่าเป็นชีวิตอันอุดม เช่นว่า เมื่อใดเป็น
อย่างนั้นๆแล้ว ก็เป็นอันได้ถึงขีดชีวิตอันอุดม
ในทางโลกอาจจะเข้าใจกันเช่นนั้น

ดังที่พูดกันว่า กำลังรุ่งเรือง หมายถึง อยู่ในตำแหน่งสูง
มีทรัพย์ มีบริวารมาก ก็ว่า ชีวิตขั้นถึงขีดสูงสุด




มุ่งมั่นสร้างกรรมดี ย่อมพาชีวิตไปใกล้จุดหมายขั้นสูงสุด

แต่ละคนย่อมมีขีดสูงสุดต่างกัน ขีดสูงสุดของผู้ใด
ก็เป็นชีวิตอันอุดมของผู้นั้น แต่ความขั้นถึงขีดสูงสุด
ของชีวิตแบบนี้ ตามสายตาของท่านผู้รู้ย่อมเห็นว่า
เป็นเหมือนความขึ้นของพลุ หรือความขึ้นของปรอท
คนเป็นไข้ คือ เป็นของชั่วคราว บางทีในขณะที่ชะตา
ชีวิตขึ้นสูงสุดนั้น กลับมีชีวิตไม่เป็นสุข ต้องเป็นทุกข์มากเสียอีก

บางคนอาจจะไม่ต้องการตำแหน่งอะไรสูงนัก
แต่อยากเรียนรู้ให้มากๆ ให้สำเร็จชั้นสูงๆสิ่งอื่นๆ
ไม่สำคัญ แต่ความมีวิชาสูง(ทางโลก) จะหมายความว่า
มีชีวิตสูงขึ้นด้วยหรือไม่

อันวิชาความรู้ เป็นปัจจัยอุดหนุนชีวิตขึ้นอย่างหนึ่ง
แต่จะต้องมีปัจจัยอื่นร่วมสนับสนุนอีกหลายอย่าง
ดังจะเห็นตัวอย่างคนที่เรียนมามีวิชาสูงๆ แต่รักษาตัว
ไม่รอด หรือรักษาตัวให้ดีตามสมควรไม่ได้
ทั้งไม่ได้รับความนับถือจากคนทั้งหลาย ก็มีอยู่ไม่น้อย

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ ได้ทรงวางเกณฑ์
ของชีวิตไว้ว่า ชีวิตมี 3 อย่างก่อนคือ

ทุชีวิต ชีวิตชั่วร้าย หมายถึง คนที่ใช้ชีวิตทำกรรมชั่วร้ายต่างๆ
โมฆชีวิต ชีวิตเปล่า หมายถึง คนที่ปล่อยให้ชีวิตล่วงไปเปล่าปราศจากประโยชน์
สุชีวิต ชีวิตดี หมายถึง คนที่ใช้ชีวิตประกอบกรรมที่ดีที่ชอบต่างๆ
และชีวิตดีนี้นี่เอง เมื่อมีมากๆขึ้น จะกลายเป็นชีวิตอันอุดมในที่สุด

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version