อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ชีวิตลิขิตได้ด้วยตนเอง

<< < (5/7) > >>

lek:
ชีวิตอันอุดมคือชีวิตอันสูงสุด
ในแง่ของพระพุทธศาสนา คือ ชีวิตที่ดี
อันเรียกว่า สุชีวิต หมายถึง ความดี
ที่อาศัยชีวิตทำขึ้น ชีวิตของผู้นำที่ทำดี
จึงเรียกว่าชีวิตดี เมื่อทำดีมาก ชีวิตก็สูงขึ้นมาก
ทำดีที่สุด ชีวิตก็สูงสุด

ชีวิตที่เรียกว่า ชีวิตอุดม นั้น
องค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่า
ความดีในชีวิตมี 4 ประการ คือ
-กรรม คือ การงานที่ทำ หมายถึง การงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆ
-วิชา คือ ความรู้ในศิลปวิทยา
-ศีล คือ ความประพฤติที่ดี
-ธรรม คือ คุณสมบัติที่ดีในจิตใจ

ชีวิตอันอุดมจะต้องมีองค์คุณทั้ง 4 ประการนี้
ชีวิตจะสูงขึ้นเพียงไร ก็สุดแต่องค์คุณทั้ง 4
นี้จะสูงขึ้นเท่าไร นึกดูถึงบุคคลในโลก
ที่คนเป็นอันมากรู้จัก เรียกว่า คนมีชื่อเสียง
ลองตรวจดูว่า อะไรทำให้เขาเป็นคนสำคัญขึ้น
ก็จะเห็นได้ว่า

ข้อแรกก็คือ กรรม การงานที่เขาได้ทำให้ปรากฎ
เป็นการงานที่สำคัญในทางดีก็ได้ ในทางเสีย
ทางร้ายก็ได้ ในทางดีเช่น คนที่ได้ทำอะไร
เป็นสิ่งเกื้อกูลมาก ในทางชั่วเช่น คนที่ทำอะไร
ที่เลวร้ายเป็นข้อฉกรรจ์ เหล่านี้เกี่ยวแก่กรรมทั้งนั้น
ไม่ต้องคิดออกไปให้ไกลตัว คิดเข้ามาที่ตนเอง
ก็จะเห็นว่า การงานของตนเป็นองค์ประกอบสำคัญ
ของชีวิต คนเราทุกคนจะเป็นอะไรขึ้นมา
ก็เพราะการงานของตน เช่น จะเป็นชาวนาก็เพราะทำนา
กสิกรรมเป็นการงานของตนของผู้ที่เป็นชาวนา
จะเป็นพ่อค้าก็เพราะทำพาณิชยการคือการค้า
จะเป็นหมอก็เพราะประกอบเวชกรรม
จะเป็นนักศึกษาก็เพราะทำการเรียนการศึกษา
จะเป็นโจรก็เพราะทำโจรกรรม ดังนี้ เป็นต้น

กรรมทั้งปวงนี้ไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมเกิดจากการทำ
อยู่เฉยๆจะเป็นกรรมอะไรขึ้นมาหาได้ไม่
จะเป็นกรรมชั่วก็เพราะทำ อยู่เฉยๆกรรมชั่วไม่เกิด
ขึ้นมาเองได้ แต่ทำกรรมชั่วอาจรู้สึกว่าทำได้ง่าย
เพราะมักมีความอยากจะทำ มีแรงกระตุ้นให้ทำ

ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "กรรมชั่ว คนชั่ว ทำง่าย
แต่คนดี ทำยาก"

ฉะนั้น ใครที่รู้สึกตนว่าทำชั่วได้ง่าย ก็ต้องเข้าใจว่า
ตนเองยังเป็นคนชั่วอยู่ในเรื่องนั้น ถ้าตนเองเป็นคนดีขึ้นแล้ว
จะทำชั่วในเรื่องนั้นได้ยากหรือทำไม่ได้เอาทีเดียว
ชีวิตชั่วย่อมเกิดจากการทำชั่วนี่แหละ

ส่วนกรรมดีก็เหมือนกัน จะเป็นกรรมดีได้ก็เพราะทำ
อยู่เฉยๆจะเกิดเป็นกรรมดีขึ้นมาเองหาได้ไม่ แต่อาจ
รู้สึกว่าทำกรรมดียาก จะต้องใช้ความตั้งใจความเพียรมาก
แม้ในเรื่องของกรรมดีพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า
"กรรมดี คนดี ทำง่าย แต่คนชั่ว ทำยาก"

ฉะนั้น ใครที่ทำดียากในข้อใด ก็พึงทราบว่าตนเองยังไม่ดีพอ
ต้องส่งเสริมตนเองให้ดีขึ้นอีก ด้วยความพากเพียรทำกรรมดีนี่แหละ
ถ้าเกียจคร้านไม่ทำกรรมดีอะไร ถึงจะไม่ทำกรรมชั่ว
ชีวิตก็เป็นโมฆชีวิต คือ ชีวิตเปล่าประโยชน์ ค่าของชีวิต
จึงมีได้ด้วยกรรมดี ทำกรรมดีมาก ค่าของชีวิตก็สูงมาก
ดังนั้น ความมีชีวิตดี หรือชั่ว ย่อมขึ้นอยู่แก่กรรมที่ทำแล้วนี้
กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า "ความขึ้นหรือลงแห่งชีวิต
ย่อมแล้วแต่กรรม แต่ก็อาจจะกล่าวว่า ย่อมแล้วแต่บุคคลด้วย
เพราะบุคคลเป็นผู้ทำกรรม เป็นเจ้าของกรรม
สามารถที่จะละอกุศลกรรมด้วยกุศลกรรมได้"

คือ สร้างกุศลกรรมขึ้นอยู่เสมอ เมื่อกุศลกรรมมีกำลังแรงกว่า
อกุศลกรรมจะตามไม่ทัน หรือจะเป็นอโหสิกรรมไป

แต่ในการสร้างกุศลนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับจิตใจเป็นประการสำคัญ
คือ จะต้องมีจิตใจประกอบด้วยสัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบ
ตั้งต้นแต่เห็นว่าอะไรเป็นบาปเป็นอกุศล อะไรเป็นบุญกุศล
ตลอดถึงเห็นในเหตุผลแห่งทุกข์และความดับทุกข์ตามเป็นจริง
ความเห็นชอบดังนี้ จะมีขึ้นก็ต้องอาศัย วิชา ที่แปลว่า ความรู้

อันคำที่หมายถึง ความรู้ มีอยู่หลายคำ เช่น วิชา ปัญญา ญาณ
เฉพาะคำว่า วิชา หมายถึง ความรู้ ดังกล่าวก็ได้ หมายถึง วิชาที่เรียนรู้
ก็ได้ ดังที่พูดกันว่าเรียนวิชานั้นวิชานี้ก็ได้ ในที่นี้หมายถึงรวมๆกันไป
จะเป็นความรู้โดยตรงก็ได้ จะเป็นความรู้ดังที่เรียกว่าวิชาก็ได้
เมื่อหมายถึงตัวความรู้โดยตรงก็เป็นอย่างเดียวกับปัญญา

วิชาเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งชีวิตอีกข้อหนึ่ง
และเมื่อพิจารณาดูแล้ว จะเห็นว่า กรรมทุกๆอย่าง
ย่อมต้องอาศัยวิชา ถ้าขาดวิชาเสีย จะทำกรรมอะไร
หาได้ไม่ คือ จะต้องมีวิชาความรู้จึงจะทำอะไรได้
ทุกคนจึงต้องเรียนวิชาสำหรับใช้ในการประกอบกรรมตามประสงค์

เช่น ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกสิกรรม ก็ต้องเรียนวิชาทางกสิกรรม
จะประกอบอาชีพทางตุลาการหรือทนายความก็ต้องเรียนวิชากฎหมาย
ดังนี้เป็นต้น นี้เป็นวิชาความรู้ทั่วไป วิชาอีกอย่างหนึ่ง คือ วิชาที่
จะทำให้เป็นสัมมาทิฐิ ดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้
ละอกุศลกรรมด้วยกุศลกรรม และที่จะเป็นเหตุให้ละความทุกข์
ที่เกิดขึ้นทางใจได้

วิชา "ละอกุศลธรรม" และวิชา "ละความทุกข์ใจ" นี้
เป็นวิชาสำคัญที่จะต้องเรียนให้รู้
และเป็นวิชาของพระพุทธเจ้าโดยตรง
ถึงจะรู้วิชาอื่นท่วมท้น แต่ขาดวิชาหลังนี้
ก็จะรักษาตัวรอดได้โดยยาก

lek:
ข้อคิดทางธรรม เพื่อนำไปลิขิตชีวิต
บุญคือความสุข ย่อมเกิดจากการทำบุญ

ชีวิตของทุกคนที่ผ่านพ้นไปในรอบปีหนึ่งๆ
นับว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อถึงวันเกิด
บรรดาผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงถือเป็น
ปรารภเหตุทำบุญมากบ้าง น้อยบ้าง เพื่อฉลอง
อายุที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อความเจริญอายุ(มีอายุยืนยาว)
พร้อมทั้งวรรณะ(ผิวพรรณผ่องใส) สุขะ(ความสุข)
และพละ(สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์) ยิ่งขึ้น

ความเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นพร
ที่ทุกคนปรารถนา แต่พรเหล่านี้หาได้เกิดขึ้น
ด้วยลำพังความปรารถนาไม่ ย่อมเกิดขึ้น
จากการทำบุญ

ฉะนั้น คนไทยส่วนมากจึงยินดีในการทำบุญ
และยินดีได้รับพรอนุโมทนาจากพระสงฆ์
หรือผู้ใหญ่ ยินดีรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในที่สุด
เมื่อทำบุญแล้ว ถือว่าเป็นสิริมงคล

พิจารณาดูถึงพฤติกรรมในเรื่องนี้โดยตลอดแล้ว
จะเห็นว่าพึงเป็นสิริมงคลจริง เพราะสาระสำคัญ
ของเรื่องอยู่ที่ว่า ได้ทำบุญจริง แล้วคำอวยพรต่างๆ
จึงตามมาทีหลัง สนับสนุนกันให้จิตใจมีความสุข
ขึ้นในปัจจุบันทันที

ความสุขอันบริสุทธิ์นี้แหละ คือ บุญ ดังมี่พุทธภาษิตรัสไว้
แปลเป็นใจความว่า "ท่านทั้งหลาย อย่ากลัวต่อบุญเลย
คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อแห่งสุข" หมายถึง ความสุขที่บริสุทธิ์
คือ ความสุขอันเกิดจากกรรมอันบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่าบุญเช่นเดียวกัน

lek:
สร้างบุญใสใส ได้ 4 ดี : อายุ วรรณะ สุขะ พละ

อันกรรมบริสุทธิ์ เกิดจากจิตที่บริสุทธิ์
เพราะสงบความโลภ โกรธ หลง
ประกอบด้วยธรรมมีเมตตากรุณา เป็นต้น
จะเห็นได้จากจิตใจของผู้ที่ทำการบริจาค
ในการบุญต่างๆของผู้ที่รักษาศีล และ
อบรมจิตใจกับปัญญา ใครๆที่เคยทำทาน
รักษาศีลและอบรมจิตกับปัญญาดังกล่าว
ย่อมจะทราบได้ว่ามีความสุขอย่างไร

ตรงกันข้ามกับจิตใจที่เร่าร้อนด้วยกิเลสต่างๆ
และแม้จะได้อะไรมาด้วยกิเลส มีความสุข
ตื่นเต้น ลองคิดดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า เป็น
ความสุขจอมปลอม เพราะเป็นความสุขของ
คนที่หลงไปเสียแล้ว เหมือนความสุขของคน
ที่ถูกหลอกลวงนำไปทำร้าย ด้วยหลอกให้ตายใจ
และดีใจด้วยเครื่องล่ออย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่มีอะไรจะช่วยคนประเภทนี้ได้ นอกจาก
การทำบุญ เพราะการทำบุญทุกครั้ง เป็นการ
ฟอกชำระจิตใจให้ใสบริสุทธิ์สะอาดขึ้นทุกที

การอาบน้ำชำระร่างกาย ย่อมทำให้ร่างกายสะอาด
สบายตัว ฉันใด การทำบุญก็เป็นการชำระใจ
ให้สะอาดบริสุทธิ์ ฉันนั้น

เมื่อจิตใจมีความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นตามสมควรแล้ว
จะมองเห็นได้เองว่า ความสุขที่บริสุทธิ์แท้จริงนั้น
เกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์เท่านั้น จะได้ปัญญา
ซาบซึ้งคุณพระทั้ง 3 ว่า ความเกิดขึ้นของ
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ให้เกิดสุขจริง การแสดง
พระสัทธรรมให้เกิดสุขจริง ความพร้อมเพรียงของ
สงฆ์คือหมู่ให้เกิดสุขจริง ความเพียรของหมู่ที่
พร้อมเพรียงกันให้เกิดสุขจริง

ผู้ที่มีจิตใจ กรรม และความสุข ที่บริสุทธิ์เช่นนี้
ชื่อว่าผู้มีบุญ อันได้ทำแล้วในปัจจุบัน
เป็นผู้มีความมั่นคงในตัวเอง อย่างที่ไม่ว่าใครๆ
หรืออะไรจะทำลายมิได้ และจะเจริญด้วยพร
คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ ยิ่งๆขึ้นไปด้วยเดชบุญ

lek:
หมั่นศึกษาการสร้างบุญให้ถูกวิธี

เรื่องบุญบาป หรือความดี ความชั่ว เป็นเรื่องที่
น่าทำความเข้าใจกันให้ดี เพราะเป็นเรื่องสำหรับ
ภูมิปัญญาของมนุษย์ พวกสัตว์เดรัจฉาน ท่านว่าเป็น
อเหตุกสัตว์ คือ ทำอะไรไม่เป็นบุญบาป เช่น
เสือกินสัตว์เป็นอาหาร ไม่มีอาหารเป็นอย่างอื่น
แมวกัดกินหนู เพราะไม่มีความรู้จักบาปบุญ คือ
มีความรู้ต่ำเสียเหลือเกิน ถึงเป็นมนุษย์จำพวกเป็นบ้า
ไม่มีสติ ทำอะไรก็ไม่เป็น บาป  เพราะไม่มีความรู้สึก
ในการทำนั้น กฎหมายก็ยกเว้น วินัยก็ยกเว้น

ฉะนั้น จะทำอะไรเป็นบุญ-บาป จึงต้องมีความรู้ขั้นปกติชน
คือ รู้จักบาป บุญ ดีชั่ว พูดง่ายๆ ก็คือว่า รู้ว่าทำสิ่งนี้ดี
ทำสิ่งนี้ไม่ดี อย่างที่คนทั่วไปรู้กัน

ถ้าจะมีปัญาหาว่า คนทั่วไปรู้กันอย่างไร? ก็ตอบได้ว่า
รู้เช่นว่า การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นความดี การก่อทุกข์
แก่กันนั้น เป็นความชั่ว ประจักษ์พยานในเรื่องนี้
คือ ตนเองของทุกๆคน เมื่อมีใครมาช่วยเหลือเกื้อกูล
หรือแม้เพียงเขาไม่มาเบียดเบียน เราว่าเขาเป็นคนดี
แต่เมื่อใครมาทำร้ายเรา เราก็ว่าเขาเป็นคนชั่วไม่ดี

คนทั่วไปย่อมรู้และรับรองกันดังนี้ ทุกประเทศในโลก
จึงมีหลักกฎหมายใหม่ๆคล้ายคลึงกัน ไม่ต้องพูดถึง
ศาสนาต่างๆ ซึ่งแสดงหลักของความดีความชั่วละเอียดกว่า

คนทั่วไปย่อมรู้และรับรองดังนี้ ทุกประเทศในโลก
จึงมีหลักกฎหมายใหญ่ๆคล้ายคลึงกัน ไม่ต้องพูดถึง
ศาสนาต่างๆ ขึงแสดงหลักของความดีความชั่วละเอียดกว่า

เรื่องบุญบาป จึงเป็นเรื่องสำหรับปกติชนที่มีปัญญา
อย่างสามัญชนทั่วไป ไม่ใช่เรื่องลุ่มลึกอันใด และทุกๆ
คนก็มีความสำนึกกันอยู่น้อยหรือมาก

ทุกๆคนที่มีปัญญาแม้เป็นเพียงมนุษย์ จึง
ปฏิเสธบุญบาปมิได้ ความรู้สึกของตนเองนั่นแหละ
รับรอง เว้นแต่จะเป็นคนบ้าไปเสีย หรือมีภูมิปัญญา
ต่ำเสียเหลือเกิน หรือน่าจะเพิ่มอีกพวกหนึ่งว่ามี
กิเลสหนามาก จนไร้ความสำนึกมนุษย์
อันไม่น่าจะเรียกว่า มนุษย์

lek:
พยายามขจัดกิเลสให้สิ้นซากจากจิตใจ
จึงลิขิตชีวิตให้สวยงามยิ่งนัก

อันเหตุการณ์ที่คนก่อขึ้นนั้น นับว่าเป็นกรรมของคน
หมายความว่า การที่คนทำขึ้น ไม่ใช่หมายความว่า
กรรมเก่าอะไรที่ไม่รู้ แต่เป็นกรรมคือการกระทำที่รู้ๆกันอยู่นี่แหละ
เมื่อก่อขึ้นด้วยกิเลส ก็เป็นเหตุทำลายล้าง แต่เมื่อ
ก่อขึ้นด้วยธรรม ก็เป็นเหตุเกื้อกูลให้มีความสุข

ถ้าจะถามว่า กิเลสซึ่งนับว่าเป็นอธรรมนั้น ก่อให้เกิด
เหตุการณ์ต่างกัน ให้ผลตรงข้ามกัน ใครๆก็น่าจะมองเห็น
แต่ไฉนจึงยังใช้กิเลสก่อกรรมกันอยู่ พระพุทธศาสนา
หรือศาสนาอื่นๆจะช่วยให้คนใช้ธรรมกันให้มากขึ้น
กว่านี้ไม่ได้หรือ

ก็น่าจะมีคำถามย้อนไปบ้างว่า เมื่อเป็นสิ่งที่น่ามองเห็น
กันได้ง่ายดังนั้น ทำไมใครๆไม่สนใจที่จะปฏิบัติธรรม
ของพระพุทธเจ้าให้มากขึ้นเล่า พระพุทธศาสนาพร้อม
ที่จะช่วยทุกๆคนอยู่ทุกขณธ แต่เมื่อใครปิดประตูใจ
ไม่เปิดรับธรรม พระพุทธศาสนาก็เข้าไปช่วยไม่ได้

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้ว่า ธรรมชาติแท้จริงแต่เดิมนั้น
ผุดผ่อง แต่เศร้าหมองไปเพราะเครื่องหมองที่จรเข้ามา
กิเลสตัณหาทั้งปวง เป็นสิ่งเศร้าหมองที่จรเข้ามา
จมปลักหมักหมม ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต เป็นสิ่งที่
อาจชำระให้พ้นออกไปจากจิตใจได้

ดังนั้น จึงทรงสั่งสอนธรรม เพื่อชำระสิ่งที่เศร้าหมอง
เหล่านี้ให้หมดสิ้น จิตใจที่ชำระให้สะอาดจะสงบความใคร่
ความอยากที่จะทำสิ่งที่แผลงๆผิดๆทุกอย่าง ฉะนั้น
พวกที่ถือว่าทำอะไรตามใจนั้น เป็นทางสิ้นกิเลส หรือสิ้นทุกข์
จึงผิดหลักพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม

พระพุทธเจ้าตรัสมิให้ทำตามอำนาจของใจ แต่ให้สำรวม
ข่ม ฝึกรักษาชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้พ้นจาก
กิเลสเครื่องเศร้าหมอง จึงจะสามารถแยกความใคร่
ความอยาก ออกจากจิตใจได้

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version