คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ

เรื่องย่อ มหากาพย์ มหาภารตะ

<< < (2/4) > >>

ฐิตา:


   

   มหาภารตะ
   
   ภาคสอง
   “การเนรเทศ”
   หนังสือเล่ม 3-5 เล่าถึงการใช้ชีวิตในป่าสิบสองปีก่อนมหาสงคราม ภราดาปาณฑพไม่ได้อยู่ตามลำพังในไพรเถื่อน หากแต่มีเหล่าข้าทาสบริวารและพราห์มที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีติดสอยห้อยตามไปเป็นจำนวนมาก ทวยเทพประทานจานอาหารจานหนึ่งที่กินไม่มีวันหมดมาเลี้ยงทุกคน
   
   ตลอดเรื่องของมหากาพย์เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของพวกพราห์มซึ่งอยู่ในวรรณนักบวช ยุธิษฐิระใคร่เอาราชอาณาจักรของพระองค์คืนมา ดังนั้นจึงจัดเตรียมพราห์มไว้ได้ 10,000 รูป พราห์มเป็นวรรณะที่เราปฏิเสธไม่ได้ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม (ดูกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างกรรณะและอินทราต่อไปข้างหน้า)
   
   - - ความสำคัญของธรรมะ
   
   เทราปทีและภีมะกล่าวตำหนิยุธิษฐิระว่าเฉื่อยชาและไม่ยอมกระทำการใดๆ เลย เนื่องจากเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสกุณีทำสกากล (โกงลูกเต๋า) สู้ลุกขึ้นมารบกันเสียเลยจะไม่ดีกว่าหรือ ยุธิษฐิระปฏิเสธอย่างเรียบเฉย ท้าวเธอจะรักษาคำพูด กล่าวคือ ตัดสินใจปฏิบัติตามธรรมะของท้าวเธอ
   
   ธรรมะ (แปลได้ความหมายต่างๆ หลากหลายว่าเป็นหน้าที่ทางสังคมบ้าง ความชอบธรรมบ้าง หรือ ระเบียบจักรวาลบ้าง) คือภาระผูกมัดทางศีลธรรม ซึ่งมนุษย์แต่ละคนควรสำนึกและปฏิบัติตาม หากปฏิบัติตามไม่ได้เสียแล้วก็จักเป็นอันตรายต่อวิถีปฏิบัติและแนวคิดแห่งจักรวาลทั้งหมด
   
   เทราปทีเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมพระนางและพรรคพวกต้องมาตกทุกข์ได้ยากอย่างนี้ด้วย ถ้าหากว่าพวกตนเป็นบุคคลที่ชอบธรรมแล้ว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างบังเกิดขึ้นโดยพระประสงค์แห่งพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นทำไมคนดีๆ ถึงตกทุกข์ได้ยากด้วย ดูเหมือนสักแต่ว่าคนที่มีอำนาจเท่านั้นจึงรอดพ้นจากอันตรายไม่ใช่คนที่ชอบธรรมเลย
   
   ยุธิษฐิระแก้ให้เทราปทีว่า “ไม่มีใครประกอบความดีงามด้วยความปรารถนาเพื่อให้ได้รับผลตอบแทน บุคคลอย่างพ่อค้าศีลธรรมที่มีบาปติดตัวจักไม่มีวันได้เก็บเกี่ยวผลตอบแทนเลย…จงอย่าสงสัยต่อความดีงามเลย เพราะเธอจักไม่เห็นผลตอบแทนของมัน หากปราศจากความดีงามเสียแล้ว แต่ผลตอบแทนแห่งความดีงามจักปรากฏออกมาเองไม่ช้าก็เร็ว เช่นเดียวกันกับผลตอบแทนแห่งการกระทำผิดบาป ผลตอบแทนแห่งความดีงามที่แท้จริงนั้นเป็นนิรันดร์ และไม่มีใครทำลายล้างลงได้"

ฐิตา:


   - - การเตรียมสงคราม
   
   จากนั้นอรชุนก็จากไป มุ่งหน้าสู่ภูเขาต่างๆที่สูงที่สุดเพื่อแสวงหาอาวุธสวรรค์ ที่เหล่าปาณฑพต้องใช้ในสงคราม อรชุนพบศิวเทพและได้รับประทานอาวุธที่ทรงอาณุภาพไว้ อรชุนจึงใช้เวลาห้าปีกับอินทราเทพบิดาแห่งอรชุน เพื่อฝึกฝนเรียนรู้การใช้อาวุธต่างๆต่อสู้กับเหล่าปิศาจอสูร
   
   ในขณะนั้น กรรณะ ตัดสินใจว่าตนเองก็ต้องได้รับอาวุธสวรรค์ด้วยเช่นเดียวกัน จึงคอยปรนนิบัติรับใช้พราห์มที่ทรงวิทยายุทธคนหนึ่งชื่อ ปรศุราม เป็นเวลาหลายเดือน ปรศุรามเป็นพราห์มที่เกลียดนักรบ ปรศุรามมอบมนตร์สูตรกำกับอาวุธสุดยอดให้แก่กรรณะที่คอยปรนนิบัติรับใช้ตน  แต่ด้วยพฤฒิกรรมกล้าอย่างเกินเหตุ (ของกรรณะ) เนื่องจากไม่มีเสียงร้องออกมาเลย เมื่อหนอนตัวหนึ่งเจาะไชเข้าไปในโคนขา ปรศุรามจึงทราบว่ากรรณะเป็นนักรบและสาปแช่งกรรณะให้ลืมมนตร์สูตรลับเมื่อถึงคราวที่ต้องใช้อาวุธที่ปรศุรามมอบให้และตอนนั้นจะเป็นคราวฆาตของกรรณะ
   
   ในบูรณะสมัยโบราณ ปรศุรามเป็นอวตารภาคหนึ่งแห่งวิษณุเทพ แต่ไม่มีอะไรบ่งชี้ถึงประเด็นดังกล่าวเลยในมหากาพย์
   
   จากนั้นกรรณะได้พบอินทรา (เทพบิดาแห่งอรชุน) ที่จำแลงองค์ลงมาเป็นพราห์มคนหนึ่ง เนื่องจากได้สาบานว่าจะไม่ปฏิเสธคำร้องขอของพราห์มเอาไว้ก่อนแล้ว กรรณะจึงยินยอมสละเกราะทองคำคุ้มกายที่ได้รับประทานมาจากสวรรค์ตั้งแต่เกิด กรรณะลอกเกราะทองคำนั้นออกจากผิวกายของตน เลือดไหลโซมกายและแลกกับอาวุธอื่นที่ทรงอาณุภาพ ซึ่งจะใช้สังหารสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็ได้แต่จะใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
   
   ระหว่างการเนรเทศ ภราดาปาณฑพช่วยชีวิตทุรโยธน์ที่เสียทีตกเป็นเชลยในสงครามเอาไว้ ทำให้ทุรโยธน์อับอายขายหน้ามาก ด้วยความทะนงในเกียรติยศและศักดิ์ศรี ทุรโยธน์จึงสาบานว่าสักวันหนึ่งจะชดใช้หนี้นั้นคืนให้แก่อรชุน(ระหว่างสงคราม อรชุน ตรัสแก่ทุรโยธน์ว่าจะยอมต่อลูกศรของภีษมะห้าดอก อันหมายสังหารภราดาปาณฑพและก็ปฏิบัติเช่นนั้นอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาคำสาบาน) ทุรโยธน์หดหู่สิ้นหวังหลังจากภราดาปาณฑพช่วยให้รอดจากการการเป็นเชลยมาได้และแสดงเจตนาว่าใคร่จะประกอบอัตวินิบาตกรรม
   
   พวกทนพ (ครอบครัวอสูร) ต้องการให้ทุรโยธน์เป็นนักรบเพื่อปกป้องฝ่ายตน (ทุรโยธน์มาเกิดตามคำเรียกร้องของปิศาจอสูรเหล่านี้) จึงมาปรากฏตนต่อหน้าทุรโยธน์ พวกปิศาจอสูรให้สัญญาว่าจะช่วยคุมทัพให้ในสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นทำให้ทุรโยธน์มีความหวังลมๆ แล้งๆ อยู่ต่อไป
   
   วันหนึ่งภราดาปาณฑพสี่องค์ถึงแก่มรณกรรม เนื่องจากดื่มน้ำจากทะเลสาบพิษ อย่างไรก็ตามยุธิษฐิระทรงกู้ชีพอนุชาทั้งสี่องค์กลับคืนมาได้ โดยตอบคำถามนกกระเรียนจำแลงได้ถูกต้องว่า ธรรมะใดที่ยุธิษฐิระยึดถืออยู่

ฐิตา:


   - - ปีที่สิบสาม
   
   ตามเงื่อนไงการพนันสกา ปีที่สิบสามซึ่งเป็นปีที่ภราดาปาณฑพต้องปลอมตัวมาถึงแล้ว ยุธิษฐิระ (ซึ่งปลอมตัวเป็นพราห์มเข็ญใจ) อนุชาที่เหลือและเทราปที (ผู้ซึ่งผ่านการคัดเลือกเป็นคนรับใช้พเนจร) ทั้งหมดหลบอยู่ในราชสำนักแห่งกษัตริย์วิรัตน์ กิจาคะนายพลคนหนึ่งในราชสำนักแห่งวิรัตน์หลงรักเทราปที โดยสร้างปัญหาต่างๆ นานาเพื่อหาทางครอบครองเทราปทีให้ได้ แม้กระทั่งคุกคามว่าจะเอาชีวิตของพระนางเสีย เทราปีทีจึงอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากภีมะผู้ทรงพลัง ภีมะใส่เสื้อสตรีปลอมตัวเป็นเทราปทีแอบไปพบกับนายพลตามนัดลับและจับนายพลผู้มืดบอดในรักคนนั้นบดขยี้เสียจนกลายเป็นก้อนเนื้อปนเลือดแหลกเหลวสิ้น
   
   ขณะนั้นทุรโยธน์กรีฑาทัพเข้าโจมตีราชอาณาจักรแห่งวิรัตน์ กษัตริย์วิรัตน์มอบการบัญชากองทัพให้แก่โอรส แต่ยังขาดสารถีรถม้าศึก เทราปทีผู้ประสงค์การสงครามกับเหล่าเการพไม่ว่าจะสูญเสียเพียงใดก็ตาม ชี้บอกว่าอรชุนเป็นสารถีที่เก่งที่สุดในโลก ถึงแม้ว่าจะปลอมองค์เป็นบัณเฑาะก์อยู่ก็ตาม อรชุนก็ไม่สามารถปฏิเสธการสู้รบเสียได้ และอรชุนเท่านั้นคือผู้นำชัยชำนะอย่างเด็ดขาด คนเดียวรบกับกองทัพเหลือคณนานับ
   
   สงครามใกล้เข้ามาแล้วทุรโยธน์ปฏิเสธการคืนราชอาณาจักรให้ภราดาปาณฑพลูกพี่ลูกน้องของตน เนื่องจากอ้างว่าฝ่ายปาณฑพออกมาจากที่ซ่อนก่อนเวลากำหนด ทุรโยธน์พยายามขอการสนับสนุนจากกฤษณะเช่นเดียวกับอรชุน กฤษณะให้อรชุนเลือกก่อนว่าจะเอากองทัพทั้งหมดของกฤษณะหรือจะเอากฤษณะไว้เพียงองค์เดียว อรชุนเลือกกฤษณะ ยอมให้ทุรโยธน์ได้กองทัพของกฤษณะไปทั้งหมด เมื่ออรชุนขอให้กฤษณะเป็นสารถีรถม้าศึกให้ กฤษณะตกลง
   
   ในราชสำนักเการพกษัตริย์บอดก็ได้กลิ่นสงครามคุกรุ่นอยู่เช่นกัน จึงตรัสขอให้ภีษมะผู้อาวุโสนักรบผู้ไม่มีใครเทียบ เป็นผู้บัญชาการสูงสุด ความรับผิดชอบของภีษมะที่มีต่อวงศ์ตระกูลเข้าครอบงำความรู้สึกที่มีต่อภราดาปาณฑพ ภีษมะจึงรับภาระหน้าที่อย่างไม่เต็มใจ แต่มีเงื่อนไขประการหนึ่ง กล่าวคือ กรรณะต้องไม่ออกรบถึงแม้ว่าจะไม่พอใจอย่างไรก็ตาม กรรณะยอมรับด้วยความขมขื่นว่าจะออกรบก็ต่อเมื่อภีษมะล้มลงแล้วเท่านั้น
   
   ธฤษตราษฎร์ส่งราชฑูตไปยังยุธิษฐิระ เพื่อขอไม่ให้ยุธิษฐิระออกรบเพราะยุธิษฐิระรักความชอบธรรม เพราะการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากซึ่งราชอาณาจักรย่อมดีกว่าเอาชีวิตของคนจำนวนมากมายไปเสี่ยง ยุธิษฐิระตอบกลับไปว่าชนแต่ละชั้นวรรณะต่างก็มีหน้าที่แห่งตนและหน้าที่ของพระองค์คือเป็นนักรบหรือกษัตริย์ ไม่ใช่พราห์มหรือขอทาน อย่างไรก็ตามแม้กระทั่งพระองค์เองก็มีข้อจำกัดอยู่ “สงครามคือปิศาจร้ายในทุกรูปแบบ สำหรับคนตายชัยชำนะหรือความพ่ายแพ้ก็เฉกเช่นกัน"
   
   กฤษณะเสด็จไปฝ่ายเการพในฐานะราชฑูต ในความพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อปกป้องสันติภาพและตรัสกับทุรโยธน์ แต่ทุรโยธน์หาฟังไม่กลับบัญชาให้ราชองค์รักษ์เข้าควบคุมองค์กฤษณะไว้ กฤษณะจึงคืนร่างเป็นเทพจากสวรรค์“กฤษณะสรวล และขณะสรวลอยู่นั้นวรกายของกฤษณะพลันมีรัศมีแสงแลบแปลบปลาบคล้ายสายอัศนีบาตพุ่งออกมา วรกายโตขึ้นเรื่อยๆทวยเทพต่างๆ ปรากฏองค์ออกมาจากกฤษณะ พรหมเทพกระเด็นออกมาจากนลาฏ ศิวเทพจากอุระ” กฤษณะ บันดาลให้แม้แต่ธฤษตราษฎร์กษัตริย์บอด ก็ยังเห็นแสงรัศมีวาวโรจน์จากวรกายของพระองค์ ในที่สุดจึงเปิดเผยต่อกรรณะล้ำเลยลึกลงไปว่ากรรณะที่แท้เป็นภราดาของเหล่าบุคคลผู้ซึ่งตนมีเจตนาจะสู้รบด้วย แต่กรรณะรู้สึกว่าแม่ทอดทิ้งในชีวิตห้วงแรกที่เกิดมา ยิ่งไปกว่านั้นกรรณะรู้สึกเหมือนหนึ่งปานโลกถึงจุดสิ้นสุด และจะออกรบเคียงข้างฝ่ายเการพถึงแม้ว่าจะเห็นความพ่ายแพ้และมรณกรรมของตนล่วงหน้าแล้วก็ตาม
   
   ทุรโยธน์จะไม่ฟังคำเตือนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมั่นใจแน่นอนว่าทวยเทพไม่ได้ให้พรแก่ฝ่ายปาณฑพมากมายอย่างนั้น พระเจ้าจะไม่คุ้มครองฝ่ายปาณฑพในสงคราม “ข้าฯ ขอสังเวยชีวิตของข้าฯ ความมั่งคั่งของข้าฯ ราชอาณาจักรของข้าฯ ทุกสิ่งทุกอย่างของข้าฯ แต่ข้าฯ ไม่มีวันอยู่ร่วมอย่างสันติกับพวกปาณฑพได้ ข้าฯ จะไม่ยอมจำนนต่อพวกปาณฑพ ถึงที่สุดแม้กระทั่งว่าตราบใดที่แผ่นดินมีที่ให้ปักเข็มหมุดสักเล่ม” ทุรโยธน์ หาข้ออ้างเข้าข้างตนตามนิสัยดั้งเดิมว่า “ทวยเทพสร้างข้าฯ ขึ้นมาเป็นอะไรก็ตาม ข้าฯ ก็เป็นสิ่งนั้น” ......
   
   จบภาคสอง "การเนรเทศ"

ฐิตา:



มหาภารตะ

ภาคสาม
"มหาสงคราม"

หนังสือเล่มที่ 5-10 เล่าถึงสงคราม18วัน ระหว่างฝ่ายปาณฑพกับฝ่ายเการพ
ฝ่ายเการพมีทหารสิบเอ็ดเหล่าทัพ ประจันหน้ากับฝ่ายปาณฑพเจ็ดเหล่าทัพ

มหากาพย์บรรยายถึงกองทัพของทั้งสองฝ่าย โถมประทะเข้าบดขยี้กันว่า
เสมือนหนึ่ง มหาสมุทรสองมหาสมุทรประทะกัน
แต่เพียงชั่วระยะสั้นๆ กลับบรรยายว่าเป็น “ทัศนียภาพอันงดงามยิ่ง”

กุณตีบอกวยาสะผู้เล่าเรื่องมหากาพย์ว่า “พระองค์ทรงเห็นความงดงาม
ในความตายของมวลมนุษย์ บทกวีของพระองค์
แต้มแต่งด้วยโลหิต และเสียงร่ำให้ของคนกำลังตายคือ คีตสังคีต ของพระองค์”

ฝูงแร้งรุมทึ้งเนื้อเน่า “ส่งเสียงร้องปรีเปรม” เป็นลางร้ายปรากฏขึ้น
ก่อนยุทธนาการจะเริ่มขึ้น

กรรณะพยากรณ์ว่า ฝ่ายตนจะปราชัย สงครามไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น
แต่ “เป็นการสังเวยคมอาวุธที่ยิ่งใหญ่”
โดยมีกฤษณะเป็นเสมือนหนึ่ง นักบวชชั้นสูง รับการบูชายัญ

ทั้งสองฝ่ายตกลงอดทนรอกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนของสงคราม กล่าวคือ
ไม่ใช้อาวุธสวรรค์รบกับมนุษย์ ไม่รบเมื่อตะวันตกดิน ไม่โจมตีใครก็ตามที่ถอยหนี
ไร้อาวุธ หงายหลัง หรือล้มลง แต่ในที่สุดกลับละเมิดกฎทุกข้อที่ได้ตั้งไว้

ฐิตา:




--ภควัทคีตา “บทเพลงแห่งพระผู้เป็นเจ้า”
ไม่นานนักก่อนการประจัญบานเริ่มขึ้น อรชุนเกิดความลังเลไม่แน่ใจเมื่อเห็นคณาญาติและครูซึ่งตอนนี้กลายเป็นศัตรู ตามคำสาปแช่ง อรชุนสลดใจเกินกว่าจักข่มใจเข้าสู้รบได้ “การเข่นฆ่าญาติตนเองจะดีไปได้อย่างไร ชัยชำนะจักมีค่าอะไร ถ้าเพื่อนและบุคคลที่รักของเราทั้งหมดถูกฆ่า…เราจักพ่ายแพ้ต่อบาปหากว่าเราสังหารโหดฝ่ายรุกราน ภาระที่สมบูรณ์ของเราแน่นอนว่าต้องอภัยให้พวกเขาแม้กระทั่งว่า ถ้าพวกเขามืดบอดต่อธรรมะอันเนื่องมาจากความละโมบในทำนองเดียวกันเราเองไม่ควรลืมธรรมะเสีย”

กฤษณะ สารถีรถม้าศึกของอรชุน จึงยกโอวาทแก่อรชุนขณะหยุดอยู่ในแดนกันชนระหว่างกองทัพทั้งสองฝ่าย เนื้อความตอนนี้คือภควัทคีตาที่ทุกคนรู้จักกันดี เป็นเครื่องนำทางสู่การกระทำที่เด็ดเดี่ยวและเฉียบขาด

ตรงจุดนี้ไม่เหมือนวีรบุรุษในมหากาพย์ทั้งหลาย อรชุนคิดก่อนลงมือกระทำ อรชุนลังเลก่อนลงมือเข่นฆ่า เพราะต้องการถอนตัวออกจากการมีชีวิตอยู่และหน้าที่ความรับผิดชอบ (เป็นความตรึงเครียดระหว่างธรรมะและโมกษะ ความหลุดพ้น) แต่กฤษณะตรัสแก่อรชุนว่า ในฐานะนักรบ การสู้รบคือธรรมะของอรชุน ความขัดแย้งที่แท้จริงทุกวันนี้เกิดจากอัตตาที่มีอยู่ใน “สมรภูมิแห่งจิตวิญญาณ”

อย่ากังวลกับความตาย ซึ่งเป็นเพียงก้าวเดียวเล็กๆ สู่วัฏจักรที่ไร้จุดจบและยิ่งใหญ่แห่งชีวิต มนุษย์ทั้งไม่ฆ่าและไม่ถูกฆ่า เพียงแต่จิตวิญญาณละร่างเดิมและเข้าร่างใหม่เท่านั้นเอง เฉกเช่นบุคคลหนึ่งเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ความตายเป็นเพียงภาพมายา

นักรบจักปฏิบัติหน้าที่ของตนเยี่ยงไรโดยไม่กระทำผิด ร่างกายแปดเปื้อนด้วยโลหิตศัตรู ความลับคือต้องแยกให้ออก กล่าวคือ กระทำหน้าที่ของพระองค์โดยไม่ต้องกังวลกับผลลัพท์ส่วนบุคคล "ชัยชำนะและความพ่ายแพ้ ความปีติยินดีและความปวดร้าว ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเฉกเช่นเดียวกัน ลงมือเถิด แต่อย่าสะท้อนให้เห็นถึงผลของการลงมือกระทำนั้น จงละความปรารถณาเสีย จงแสวงหาทางแยกแยะ"

เราต้องกระทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ปรารถนาความสำเร็จ หรือกลัวความพ่ายแพ้ “จงลงมือกระทำโดยไม่ปรารถนาผลลัพธ์และโดยไม่เอาตัวเองไปพัวพันกับบ่วงกรรม” กฤษณะตรัสแก่อรชุนว่า การกระทำความดีจักไม่ทำให้ใครขึ้นสวรรค์ไปได้ ถ้าหากว่าความปรารถนาสวรรค์นั้นเป็นแรงจูงใจเพียงประการเดียวให้กระทำความดี ความปรารถนาทำให้มีการเกิดใหม่ หากยังมีความปรารถนาใดคงอยู่เมื่อเราตายไปแล้ว เราก็จักกลับไปสู่ชีวิตในอีกชาติภพหนึ่ง

ยิ่งกว่านั้น ยุธิษฐิระตรัสแก่เทราปทีระหว่างการเนรเทศว่า พระองค์ปฏิบัติธรรมะโดยไม่หวังรางวัล หากแต่เพราะว่าเป็นสิ่งที่คนดีต้องกระทำ หลังยุทธนาการยุธิษฐิระมีช่วงวิกฤตที่คล้ายคลึงกันนี้ เมื่อท้าวเธอปฏิเสธการปกครองบ้านเมืองเสียชั่วคราว ด้วยความรู้สึกสิ้นหวังถึงการเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายที่ทรงเป็นต้นเหตุ

“การกระทำเกิดขึ้นจากการบัญชาโดยตรงของเทพสูงสุดหรือตัวแทน เราเรียกว่า อกรรมะ การกระทำเยี่ยงนี้ไม่ก่อให้เกิดการสนองตอบทั้งดีและไม่ดีตามมา เช่นเดียวกับทหารอาจลงมือสังหารเพราะคำสั่งบังคับบัญชาจากเบื้องบนและไม่ต้องรับผิดชอบต่อการอาชญากรรม แต่ถ้าทหารนายนั้นสังหารเพื่อนร่วมรบ เขาจักต้องรับโทษตามกฎหมาย ทำนองเดียวกัน บุคคลที่รู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับกฤษณะ ล้วนกระทำไปตามบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่เพื่อจุดมุ่งหมายของตนเอง”

“บุคคลเยี่ยงนั้นจักมีความปีติยินดีในปรารถนาราคะก็หามิได้ หากแต่พึงพอใจอยู่ในตัวเอง ความทุกข์ใดก็รบกวนเขาไม่ได้ ไม่แม้กระทั่งความสุขทางวัตถุใดๆ ก็ตาม เขาปราศจากซึ่งการแยกแยะความกลัวและความโกรธ และมักดำรงตนอยู่ห่างไกลจากการครองคู่ทั่วไปในโลกีย์วิสัย … จิตใจของเขาแนบแน่นอยู่กับเทพเจ้าสูงสุด ปกติธรรมดาเขาจึงสงบ”

หนทางไปสู่เสรีภาพมีอยู่สองสายนั่นคือการหลุดพ้น (โมกษะ) และกระทำหน้าที่ของตนโดยไม่ปรารถนาสิ่งใด เพราะว่าไม่มีใครสามารถสละการกระทำทุกอย่างในชีวิตเสียได้ ดังนั้นการทำงานโดยไม่ยึดติดเป็นอารมณ์จึงดีกว่า  นักปราชญ์บางท่านคิดว่าการประพันธ์ภควัทคีตานี้ เป็นไปเพื่อประชันกับความท้าทายทางศานาจากเชนและพุทธ ซึ่งอุบัติขึ้นในศตวรรษที่หกก่อนคริสศตวรรษ ศาสนาทั้งสองนี้สอนให้หลุดพ้นบาปด้วยการสละโลกีย์ โดยการบำเพ็ญตนอย่างเคร่งครัดในศาสนาเชนและการอุทิศชีวิตเป็นพระในศาสนาพุทธ

กฤษณะยกอรรถกถาว่า ความรู้ที่ท้าวเธอยกมาสอนนั้นมีมาแต่โบราณกาล เคยตรัสไว้หลายล้านปีล่วงมาแล้ว อรชุนตรัสถามว่า “หม่อมฉันจักยอมรับได้อย่างไร เท่าที่เห็นพระองค์ประสูติมาในโลกนี้เมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น” กฤษณะ อธิบายว่า การกำเนิดก็เป็นภาพมายาเช่นกัน เนื่องจากมนุษย์เกิดนับครั้งไม่ถ้วน แต่ในกรณีของกฤษณะ ท้าวเธอเสด็จมาทุกยุค “โอ อรชุนเอ๋ยเมื่อใดก็ตามความชอบธรรม (ธรรมะ) หย่อนยาน และความอยุติธรรม (อธรรมะ) บังเกิดขึ้นแล้ว เราจักส่งตัวเองมาเพื่อพิทักษ์คนดีและนำคนทำชั่วไปทำลายเสีย เพื่อสถาปนาธรรมะให้มั่นคง เราจุติลงมาเกิดยุคแล้วยุคเล่า … เกิดมาเพื่อทำลายผู้ทำลายล้าง”

กฤษณะเปิดเผยธรรมชาติอันเป็นสากลเกี่ยวกับสวรรค์ของท้าวเธอให้อรชุนเห็นเป็นนิมิต ภาพอันงดงามแห่งทวยเทพมากมายมหาศาล แผ่ขยายออกไปเอนกอนันต์ บัดนี้เมื่อตัดสินใจกระทำหน้าที่ของตนได้แล้ว อรชุนจึงนำกองทหารเข้าสู่ยุทธนาการ บนเนินเขามองลงมายังสมรภูมิ

ธฤษตราษฎร์สดับคำรัสแห่งกฤษณะ ผ่านการช่วยเหลือของสัญชัยซึ่งได้รับพรประทานความสามารถในการเห็นทุกสรรพสิ่ง และได้ยินทุกสรรพสำเนียงที่บังเกิดขึ้นในสมรภูมิ ถ่ายทอดต่อให้กษัตริย์บอดได้รับทราบ ธฤษตราษฎร์ วรกายสั่นระริกด้วยความหวาดหวั่น เมื่อได้สดับถึงการปรากฏองค์ในร่างมนุษย์ของกฤษณะตื่นตระหนกว่า คงไม่มีอะไรหยุดยั้งฝ่ายปาณฑพได้ ด้วยมีบุคคลผู้มีฤทธิ์เยี่ยงกฤษณะร่วมอยู่ด้วย แต่ธฤษตราษฎร์ยังค่อยคลายใจลงอยู่เมื่อทราบว่า กฤษณะเองก็ไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จได้ดังมโนรถปราถนา เช่น ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วยสันติวิธี

ก่อนยุทธนาการยุธิษฐิระเสด็จเยี่ยมครูทั้งสองของพระองค์ ภีษมะ และ โทรณะ “โอ บุรุษผู้ไม่มีใครพิชิตได้หม่อมฉันขอคารวะ เราจักสู้รบกัน กรุณาประทานราชานุญาตและอวยชัยให้พวกหม่อมฉันด้วยเถิดพระเจ้าข้า” จากอาการแห่งความเคารพเยี่ยงนี้บุรุษทั้งสองอธิษฐานให้ฝ่ายปาณฑพได้ชัยชำนะ ถึงแม้ว่าต้องสู้รบอยู่ในฝ่ายเการพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version