ผู้เขียน หัวข้อ: ปรัชญาภควัทคีตา (๒)  (อ่าน 4719 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
ปรัชญาภควัทคีตา (๒)
« เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2011, 03:44:01 pm »



ปรัชญาภควัทคีตา
๑. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภควัทคีตา

         ภควัทคีตา ตามรูปศัพท์ แปลว่า บทเพลงแห่งพระเจ้า  โดยตัวคัมภีร์ถือเป็นงานวรรณกรรมชิ้นสำคัญชั้นยอดเรื่องหนึ่งของอินเดียและของโลก ตัวเนื้อหาแม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งต่างหากและมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง ที่สำคัญชาวอินเดียโดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูต่างถือว่า ภควัทคีตานั้นเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ถึงกับมีการถือสืบ ๆ กันมาว่า ผู้ใดก็ตามที่ได้อ่านภควัทคีตาแม้เพียงโศลกเดียว ผู้นั้นก็จะสามารถขจัดบาปทั้งปวงให้หมดสิ้นไปได้

         เหตุที่ได้นามว่า ภควัทคีตา หรือบทเพลงแห่งพระเจ้าก็สืบเนื่องจากเนื้อหาของคัมภีร์เกี่ยวข้องกับบทสนทนา ระหว่างพระกฤษณะและท้าวอรชุนแห่งราชวงศ์ปานฑพ พระกฤษณะถือเป็นพระอิศวรอวตารลงมาเป็นพลขับรถศึกให้กับท้าวอรชุนขณะออกรบที่ ทุ่งกุรุเกษตร

         สงครามครั้งนี้ถือเป็นสงครามระหว่างสายเลือดเดียวกัน เป็นเหตุให้ท้าวอรชุนเกิดความรู้สึกสังเวชสลดใจ ห่อเหี่ยวใจ ไม่อยากสู้รบ พระกฤษณะจึงต้องยกเหตุผลขึ้นมาสนทนาเพื่อปรับแนวความคิดให้ท้าวอรชุนเกิด ความหึกเหิมในการปฏิบัติหน้าที่  เนื้อหาแต่ละบทของภควัทคีตจึงแฝงด้วยปรัชญาธรรมที่ลึกซึ้ง เป็นไปเพื่อการขัดเกลาจิตวิญญาณ

         เนื้อหาในอัธยายะแรก ๆ  แม้จะเป็นเรื่องของการโต้ตอบกันด้วยเรื่องส่วนตัว ระหว่างพระกฤษณะกับท้าวอรชุน แต่ด้วยลีลา และปรัชญาธรรมอันลึกซึ้งในภควัทคีตา จะทำเรามองเห็นว่า บทสนทนานั้นได้ค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่อาณาจักรอันสูงส่งและมิใช่เป็นเรื่องส่วนตัวอีกต่อไป  หาก แต่เป็นเรื่องหน้าที่ของบุคคลและพฤติกรรมของสังคม แล้วค่อย ๆ ขยับสูงขึ้นจนถึงเรื่องการประยุกต์หลักจริยธรรมในชีวิตมนุษย์ และท้ายที่สุดขึ้นสูงถึงเรื่องท่าทีทางด้านจิตใจซึ่งควรควบคุม และดำรงอยู่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด

         อนึ่ง ภควัทคีตา เป็นหนังสือขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นคำร้อยกรอง หรือโศลก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๗๐๐ โศลก อายุของคัมภีร์แม้จะยังไม่เป็นที่ลงรอยกัน แต่ก็คาดว่าน่าจะประพันธ์ขึ้นประมาณ ๗๔๓ ปี ก่อนพุทธศักราช หรือ ๒๐๐ ปี ก่อนคริสตศักราช ผู้ประพันธ์คือท่านกฤษณะไทฺวปายนวฺยาส

         เนื้อหาของภควัทคีตา แบ่งออกเป็น ๑๘ อัธยายะ แต่ละอัธยายะประกอบด้วยโศลก
         ซึ่งพรรณนาเนื้อหา มากน้อยแตกต่างกัน สรุปเป็นข้อศึกษาโดยสังเขปดังนี้

         อัธยายะที่ ๑ อรชุนวิษาทโยค ว่าด้วยเรื่องความท้อถอยของอรชุน มีอยู่ทั้ง ๔๗ โศลก
         อัธยายะที่ ๒ สางขยโยค ว่าด้วยเรื่องความรู้ มีอยู่ทั้งหมด ๗๒ โศลก
         อัธยายะที่ ๓ กรรมโยค ว่าด้วยหลักปฏิบัติ มีอยู่ทั้งหมด ๔๓ โศลก
         อัธยายะที่ ๔ ญาณกรรมสันยาสโยค ว่าด้วยหลักการจำแนกญาณ หรือความรู้ มีอยู่ทั้งหมด ๔๒ โศลก
         อัธยายะที่ ๕ กรรมสันยาสโยคะ ว่าด้วยหลักแห่งการสละกรรมและการประกอบกรรมคือการปฏิบัติ มีอยู่ทั้งหมด ๒๙ โศลก

         อัธยายะที่ ๖ ธฺยานโยค  ว่าด้วยหลักการเข้าฌาน มีอยู่ทั้งหมด ๔๘ โศลก
         อัธยายะที่ ๗ ญาณโยค ว่าด้วยหลักญาณ มีอยู่ทั้งหมด ๓๐ โศลก
         อัธยายะที่ ๘ อักษรพรหมโยค ว่าด้วยหลักพรหมผู้ไม่เสื่อมเสีย มีอยู่ทั้งหมด ๒๘ โศลก
         อัธยายะที่ ๙ ราชวิทยาราชคุหฺยโยค ว่าด้วยหลักเจ้าแห่งวิทยาและเจ้าแห่งความลึกลับ มีอยู่ทั้งหมด ๓๔ โศลก
         อัธยายะที่ ๑๐ วิภูติโยค ว่าด้วยหลักทิพยศักดิ์ มีอยู่ทั้งหมด ๔๒ โศลก

         อัธยายะที่ ๑๑ วิศรรูปทรรศนโยค ว่าด้วยหลักการเห็นธรรมกาย มีทั้งหมด ๕๕ โศลก
         อัธยายะที่ ๑๒ ภักติโยค ว่าด้วยหลักภักดี มีอยู่ทั้งหมด ๒๐ โศลก
         อัธยายะที่ ๑๓ เกษตรเกษตรชฺญวิภาคโยค ว่าด้วยหลักจำแนกร่างกายและผู้รู้ร่างกาย มีอยู่ทั้งหมด ๓๕ โศลก
         อัธยายะที่ ๑๔ คุณตรัยวิภาคโยค ว่าด้วยหลักจำแนกคุณสาม มีอยู่ทั้งหมด ๒๗ โศลก
         อัธยายะที่ ๑๕ ปุรุโษตตมโยค ว่าด้วยบุรุษผู้ประเสริฐ มีอยู่ทั้งหมด ๒๐ โศลก

         อัธยายะที่ ๑๖ ไทวาสุรสมบัทวิภาคโยค ว่าด้วยการจำแนกทิพสมบัติและอสุรสมบัติ มีอยู่ทั้งหมด ๒๔ โศลก
         อัธยายะที่ ๑๗ ศรัทธาตรัยวิภาคโยค ว่าด้วยการจำแนกศรัทธา ๓ ประการ มีอยู่ทั้งหมด ๒๘ โศลก
         อัธยายะที่ ๑๘ โมกษสันยาสโยค ว่าด้วยการสละซึ่งเป็นปฏิปทาแห่งโมกษะ มีอยู่ทั้งหมด ๗๘ โศลก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 18, 2014, 02:58:51 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ปรัชญาภควัทคีตา (๒)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2011, 03:58:30 pm »


   ๒. หลักอภิปรัชญา
           อภิปรัชญาโดยทั่วไปเกี่ยวข้องกับความจริงสูงสุด เช่น ความจริงสูงสุดเกี่ยวกับโลก จักรวาล  ชีวิต จิต วิญญาณ พระผู้เป็นเจ้า ว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร ดำรงอยู่ เป็นอยู่ และเป็นไปอย่างไร

           ภควัท คีตา มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทางอภิปรัชญา เพราะเนื้อหาบางส่วนได้กล่าวถึงความจริงสูงสุดที่น่าสนใจไว้หลายประเด็น ขอนำมากล่าวโดยสังเขปพอเป็นแนวทางศึกษาดังต่อไปนี้



           ก. แนวความคิดเรื่องอาตมันและการเวียนว่ายตายเกิด   
           แนวความคิดดังกล่าวนี้เด่นชัดมากในคัมภีร์ภควัทคีตา ดังจะเห็นได้จากอัธยายะที่ ๒ โศลกที่ ๑๒,๑๓ เริ่มต้นด้วยการสะท้อนให้เห็นความจริงของชีวิตว่า มีการเวียนว่ายตายเกิด ข้อความในโศลกมีดังนี้

           “ไม่มีสมัยใดที่เราไม่ได้เป็นมาแล้ว
           แม้พระองค์ และกษัตริย์เหล่านี้ด้วย
           และแน่นอน จะเป็นไปไม่ได้
           ว่า เราทั้งปวงจักไม่เป็นไปในสมัยต่อไป //” (๑๒)

           “ผู้อาศัยร่างกาย (ชีวาตมัน) มี
           ความเป็นเด็ก ความเป็นผู้ใหญ่
           และความเป็นผู้แก่อยู่ในร่างฉันใด
           การรับเอาร่างกายอื่นก็มีอยู่ฉันนั้น
           ธีรชนย่อมไม่หลงในเรื่องนี้ //” (๑๓)


   
           โศลกในอัธยายะต่อไป ได้สะท้อนให้เห็นแนวทางในการอธิบายถึงความมีอยู่ของชีวิตทั้งหลายว่า มีภาวะชนิดหนึ่งที่ถือเป็นแกนกลางของชีวิต ภควัทคีตาเรียกสิ่งนี้ว่า ศรีริณะบ้าง ชีวาตมันบ้าง เพื่อความไม่สับสน ในที่นี้จะใช้คำแรกเพียงคำเดียว
   
           ศรีริณะมีแผ่ขยายอยู่ทั่วจักรวาล ไม่มีความพินาศ ไม่มีใครสามารถทำให้พินาศไปได้ เป็นสภาพเที่ยงแท้ อยู่เหนือการพิสูจน์ เข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายอันเป็นสิ่งที่มีที่สุด ไม่เคยเกิด ไม่เคยตาย จะไม่เป็นอีกเมื่อได้เป็นแล้ว เที่ยงในภายหน้า และเที่ยงมาแล้ว ย่อมฆ่าไม่ตายในเมื่อร่ายกายถูกฆ่า


   
           จากคำอธิบายดังกล่าว ทำให้เห็นความจริงเกี่ยวกับชีวิตว่า ชีวิตนั้นประกอบด้วยส่วนประกอบ ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็นร่างกาย ซึ่งมีลักษณะไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา อีกส่วนหนึ่ง คือส่วนที่เป็นจิต หรือวิญญาณ ซึ่งภควัทคีตาเรียกว่าศรีริณะ ศรีริณะนี้มีลักษณะตรงกันข้ามกับร่างกาย คือเป็นอมตะ เข้ามาอยู่ในร่างกายเป็นชั่วครั้งชั่วคราว การตายในทัศนะของภควัทคีตาจึงเปรียบเสมือนกับการเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ ดังข้อความที่ว่า

                 
   
           “เหมือนคนถอดเครื่องนุ่งห่มอันเก่าเสีย
            สวมชุดอื่นซึ่งเป็นเครื่องนุ่งห่มใหม่ ฉันใด
            ชีวาตมันที่อาศัยร่างกายก็ฉันนั้น
            ทิ้งร่างเก่าเสียเข้าสู่ร่างอื่นอันเป็นร่างใหม่//”

           จากตัวอย่างโศลกข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นภาวะอย่างหนึ่งที่คู่กับการเวียนว่ายตายเกิดคือ ศรีริณะ ร่างกายอาจดับสลายไปตามกาลเวลา ขณะที่ศรีริณะนี้ทำหน้าที่เวียนว่ายตายเกิดอีก ท่านจึงเปรียบการเวียนว่ายตายเกิดว่าเหมือนกับการเปลี่ยนเสื้อผ้า เสื้อผ้าเปรียบเสมือนส่วนที่เป็นร่างกาย ขณะที่ตัวตนของเราเปรียบเหมือนกับศรีริณะซึ่งยังคงอยู่ต่อไป



           จุดมุ่งหมายของการสอนเช่นนี้ เพื่อต้องการให้อรชุนเข้าถึงความจริงว่า ชีวิตมีการเวียนว่ายตายเกิด การเวียนว่ายตายเกิดเป็นสัจธรรมที่เที่ยงแท้ของชีวิต มีเกิดก็ต้องมีตาย และเมื่อมีตายก็ต้องมีการเกิดอยู่ร่ำไป จึงไม่ควรคร่ำครวญถึงเรื่องความตายที่อยู่ตรงหน้า สิ่งที่ควรตระหนักคือจะตายอย่างไรต่างหาก จะเลือกตายอย่างเสียไร้ศักดิ์ศรี หรือจะเลือกตายอย่างมีศักดิ์ศรี การทำหน้าที่ของตนตามฐานะอย่างสมเกียรติต่อให้ถึงแก่ความตาย ย่อมนำมาซึ่งเกียรติยศ ทั้งประตูสวรรค์ก็จะเปิดรับบุคคลเช่นนี้  ความตายไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ทั้งสงครามก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากสงครามนั้นมีความเป็นธรรม

        เป็นที่น่าสังเกตว่า อภิปรัชญาของภควัทคีตาในเรื่องนี้ มีความสัมพันธ์กับหลักจริยศาสตร์อย่างลึกซึ้ง เรียกได้ว่า พระกฤษณะสอนหลักอภิปรัชญานี้แก่อรชุน จุดประสงค์อยู่ที่ผลทางจริยศาสตร์ นั่นคือให้เกิดความเข้าใจ และมีกำลังใจในการที่จะทำหน้าที่ของตนในฐานะเป็นกษัตริย์ คือการรบเพื่อปกป้องหรือรักษาความเป็นธรรม การตายในสนามรบเป็นการตายที่มีเกียรติ เพราะประตูสวรรค์เปิดรอรับอยู่  ถ้าแม้ไม่ตาย ได้รับชัยชนะในสงครามก็จะได้ครองแผ่นดินและโลก ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัว เพราะแท้จริงแล้ว ตัวตนที่แท้จริงของเราไม่ได้ตายตามไปด้วย ที่ตายเป็นแต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น การไม่ทำหน้าที่ของตนต่างหาก เป็นความเลวร้าย และเป็นความอดสู ผู้คนจะประณามหยามเหยียด


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 18, 2014, 07:49:15 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ปรัชญาภควัทคีตา (๒)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2011, 04:10:11 pm »



          ข. แนวความคิดเรื่องประกฤติ

          ประกฤติ
ศัพท์นี้ ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า มูลเดิม,ที่เกิด,รากเหง้า, ความเป็นไปตามธรรมดา,ความเป็นไปตามปกติ,ลักษณะ,กฎ,เกณฑ์,แบบเดิม ภาษาสันสกฤต ใช้คำว่า ปรฺกฺฤติ ขณะที่ภาษาไทยใช้คำว่า ปกติ

          ปรัชญาอินเดีย โดยเฉพาะสายอาสติกะกล่าวถึงแนวคิดเรื่องนี้กันอย่างหลากหลายในฐานะเป็นมูล การณะของโลกและสรรพสิ่ง ดังจะได้กล่าวถึงในปรัชญาอาสติกะ ๖ สำนักต่อไป  เบื้องต้นจะพิจารณาแนวความคิดเรื่องนี้จากคัมภีร์ภควัทคีตาว่าใช้คำนี้ในความหมายใดบ้าง

          แต่ก่อนที่จะได้พิจารณาในรายละเอียด เบื้องต้นขอคัดโศลกที่แสดงถึงประกฤติเพื่อเป็นข้อมูลประกอบก่อน

          ประกฤติของอาตมา แบ่งออกเป็น ๘ อย่าง
          คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ มนะ พุทธิ และอหังการ //

          ประกฤติ ๘ อย่างนี้ยังไม่ประเสริฐ (อปรา)
          แต่ท่านจงรู้จักประกฤติของอาตมาอีกอย่างหนึ่ง
          ซึ่งประเสริฐ (ปรา) เป็นเหตุแห่งชีพ (บุคคล)
          แน่ะมหาพาหุ ! ประกฤติอย่างหลังนี้ทรงโลกไว้ //

          ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า สัตว์ทั้งหลาย
          ล้วนมีประกฤติ ๒ อย่างนี้เป็นบ่อเกิด
          เพราะฉะนั้น อาตมาจึงเป็นทั้งแดนเกิด
          และแดนดับของโลกทั้งหมด//

          ในโศลกตัวอย่างที่ยกมานี้ มีถ้อยคำที่ต้องพิจารณาเป็นเบื้องต้น คือคำว่า อาตมา และประกฤติ

          คำว่า “อาตมา” ในโศลกนี้ รวมทั้งอีกหลายโศลกที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ภควัทคีตา เป็นคำสรรพนาม แทนองค์ภาวะสูงสุดคือ พรหมัน ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่งในโลกและจักรวาลทั้งหมด ดังบทโศลกที่ว่า

          อาตมาเป็นอุบัติการณ์ (เหตุเป็นแดนเกิด)ของสิ่งทั้งปวง
          สิ่งทั้งปวงย่อมมีพฤติการณ์จากอาตมา//

          การที่พรหมันเป็นบ่อเกิดสรรพสิ่งได้ก็เพราะพรหมันนั้นมีคุณสมบัติ คุณสมบัตินี้เรียกว่า ประกฤติ ซึ่งประกฤตินี้ก็แบ่งออกเป็น ๒ส่วน คือส่วนที่ประเสริฐ (ปรา) และส่วนที่ไม่ประเสริฐ (อปรา)

          ส่วนที่ไม่ประเสริฐประกอบไปด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ มนะ พุทธิ และอหังการ  ส่วนที่ประเสริฐได้แก่ ปรฺธาน หรือมูลเหตุของโลก

          พิจารณาคำอธิบายข้างต้น ตัวประกฤติก็คือส่วนที่แยกออกมาจากพรหมมัน ซึ่งในโศลกใช้สรรพนามเรียกขานว่า “อาตมา” เมื่อแยกมาแล้ว มีคุณสมบัติ ๘ ประการติดมาพร้อม คุณสมบัติ ๘ ประการนี้ถือว่าเป็นส่วนที่ไม่ประเสริฐ เหตุที่ไม่ประเสริฐส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า

          ๑. ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ถือเป็นวัตถุ หรือสสาร ไม่มีเจตจำนงในตัวเอง มีสภาพหยาบ

          ๒. มนะ พุทธิ และอหังการ แม้จะเป็นส่วนที่เป็นนามธรรม ก็เป็นนามธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะมีส่วนแห่งอาสวะเข้าไปปรุงแต่งทำให้เกิดการกระทำ ทั้งที่เป็นกรรมดี และกรรมชั่ว

          ประกฤติในส่วนนี้จึงเป็นผู้กระทำกรรมทุกอย่าง สอดคล้องกับที่ท่านกล่าวไว้ดังต่อไปนี้

          แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ไม่มีใครเลย
          ที่จะอยู่ได้แม้แต่ชั่วขณะโดยไม่กระทำอะไร
          เพราะทุก ๆ คน
          ย่อมถูกคุณอันเกิดจากประกฤติบังคับให้กระทำกรรม//


          ขณะที่ประกฤติอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ปรฺธานะ ไม่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น ประกฤติในส่วนนี้จึงเหมือนเป็นภาวะบริสุทธิ์ดั้งเดิมที่แยกมาจากพรหมัน แต่เมื่ออยู่รวมในร่างเดียวกันจึงมีแนวโน้มที่จะถูกชักนำให้สูญเสียภาวะเดิม ไป ด้วยภาวะ ๓ ประการซึ่งเกิดจากประกฤติ ได้แก่ *สัตวะ รชะ และตมะ [* สัตตวะ-ความดี งาม, รชะ-ความทะยานอยากในทางที่ผิด, และ ตมะ-ความลุ่มหลงมืดบอด ธรรมชาติสามอย่างนี้ศาสนาฮินดูถือว่าเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวคนมาแล้วแต่ กำเนิด สัตตวะเป็นธรรมชาติฝ่ายดีงาม สร้างสรรค์, ส่วนรชะกับตมะเป็นธรรมชาติฝ่ายเลวและทำลาย - สมภาร พรมทา ผู้แปล]สัตวะทำให้ติดเนื่องในความสุข รชะทำให้ติดเนื่องในกรรม ส่วนตมะก็เป็นตัวการห่อหุ้มญาณ ทำให้ติดเนื่องในความประมาท รวมทั้งหมดนี้เองที่ทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด

          กล่าวโดยสรุป ประกฤติในปรัชญาภควัทคีตา ท่านมุ่งหมายเอาคุณสมบัติย่อยที่แยกมาจากพรหมมัน และด้วยคุณสมบัติย่อยดังกล่าวนี้เอง ทำให้เกิดการสร้างสรรค์สรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นมา ดังถ้อยคำที่ว่า

          ประกฤติย่อมรังสฤษฎ์สกลจักรวาล
          ด้วยความดูแลของอาตมา
          เกานฺเตย ! โลกย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยเหตุนี้//

          เฉพาะในส่วนที่อยู่ในมนุษย์ ประกฤติจะถูกแยกออกอีกเป็น ๒ ลักษณะ คือลักษณะที่บริสุทธิ์ กับที่ไม่บริสุทธิ์ ส่วนแรกคือลักษณะดั้งเดิมที่เป็นคุณสมบัติของ    พรหมมันแท้ ๆ ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า ปรมาตมัน ส่วนหลังนั้น คือส่วนที่ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็จะกลายเป็นอัตภาพร่างกาย เรียกว่า ปุรุษะ และถือเป็นส่วนที่จะมาทำหน้าที่เสวยผลของกรรม ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

           ประกฤติจัดเป็นเหตุในการยะ กรณะ และอัตภาพ
           ปุรุษะจัดเป็นเหตุในการเสวยสุขและทุกข์ //”

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 18, 2014, 05:09:50 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ปรัชญาภควัทคีตา (๒)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2011, 04:18:58 pm »


๓. หลักโยคะ
          ภควัทคีตา เป็นปรัชญาที่ประสานหลักกรรม ความภักดี และความรู้เข้าด้วยกัน ตามทัศนะแห่งภควัทคีตา มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบด้วยสติปัญญา เจตจำนง และอารมณ์  ในการดำเนินชีวิต มนุษย์ใช้ความคิด มีความปรารถนา และมีความรู้สึกต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ สติปัญญาทำให้เกิดปรัชญาแห่งความรู้ เจตจำนงทำให้เกิดปรัชญาแห่งการกระทำ และอารมณ์ทำให้เกิดปรัชญาแห่งความภักดี ซึ่งทั้งสติปัญญา เจตจำนง และอารมณ์ ล้วนแต่เป็นคุณสมบัติของจิต หรืออาการของจิตเท่านั้น และทั้งสามประการนี้ถือว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการเข้าถึงจุดมุ่งหมายสูงสุด คือโมกษะ
          ในภควัทคีตากล่าวถึงหลักการทั้ง ๓ ประการนี้อย่างไร จะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

          ๑. กรรมโยคะ   
          แปลตามศัพท์ว่า หลักปฏิบัติ ภควัทคีตา แม้จะให้ความสำคัญที่หลักญาณโยคะ หรือหลักรู้ แต่หลักปฏิบัติก็ถือว่าเป็นหลักสำคัญที่ไม่สามารถทิ้งได้ ทั้งยังอิงอาศัย หรือช่วยส่งเสริมกันและกัน ดังนัยที่ท่านแสดงไว้ว่า

          เพราะเหตุไม่ปรารภปฏิปทาตามหลักปฏิบัติ
          บุรุษจึงไม่ได้เนกขัมมะอันเป็นแดนสิ้นกรรม
          และเพียงเหตุละการกระทำอย่างเดียวเท่านั้น
          ก็ยังไม่ทำให้บรรลุผลสำเร็จได้//

          ผู้ใดเคร่งอยู่แต่การบังคับกรรเมนทรีย์
          ส่วนใจนั้นเป็นผู้เขลา
          กล่าวได้ว่า เป็นผู้ประพฤติลวงปัญญา (ตนเอง)//

          อนชุน ! ส่วนผู้ใดข่มญาณเณนทรีย์ด้วยใจ
          ปรารภหลักปฏิบัติด้วยกรรเมนทรีย์โดยไม่ประสงค์ผล
          ผู้นั้นจัดเป็นชั้นพิเศษ//

          หากพิจารณาหลักปรัชญาในภควัทคีตาโดยละเอียด จะเห็นว่า ภควัทคีตาได้พูดถึงหลักกรรมไว้ ๒ ระดับ กล่าวคือ
          ระดับแรกนั้นเป็นระดับมหภาค คือสกลจักรวาลทั้งสิ้น ในระดับนี้ จักรวาล ตลอดสรรพสิ่งในจักรวาลเกิดขึ้นจากกรรม คือการขับเคลื่อนจากองค์ปฐมภาวะได้แก่พรหมัน ท่านจึงกล่าวว่า กรรมเกิดจากพรหม ถ้าองค์พรหมันไม่กระทำอะไรเสียเลย โลกนี้ก็จะพึงเสื่อมเสีย

          ระดับต่อมาคือระดับจุลภาค เพ่งถึงพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลแต่ละคน ในระดับนี้ท่านก็ระบุว่า ทุกคนนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยกรรม ไม่มีใครเลยที่สามารถดำรงอยู่โดยปราศจากการกระทำ โดยกระทั่งที่สุด ร่างกายของเรา หากปราศจากการกระทำ ย่อมไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ภควัทคีตาจึงส่งเสริมหลักกรรม เพราะกรรมนั้นเป็นเครื่องผูกพันของโลก ที่สำคัญ เพราะการกระทำ จึงทำให้เราบรรลุถึงเป้าหมาย ดังนัยที่ท่านกล่าวไว้ว่า

          ด้วยว่าบุรพชน มีท้าวชนกเป็นอาทิ
          ได้รับความสำเร็จเพราะกรรมอย่างเดียว
          เมื่อท่าน (อรชุน) เล็งเห็นการสงเคราะห์ประชาโลกแล้ว
          ควรกระทำกรรมนั้นเถิด//

          อนึ่ง กรรมระดับปัจเจกดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นกรรมที่ถูกผลักดันมาจากคุณสมบัติของประกฤติ ๓ ประการ ได้แก่ สัตวะ รชะ และตมะ จากคุณสมบัติเหล่านี้เอง ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างผลกรรม กล่าวคือ

          กรรมใด อันผู้ไม่ประสงค์ผล
          ทำแล้วโดยปราศจากความติดข้องทุกเมื่อ
          และโดยไม่มีความยินดียินร้าย
          กรรมนั้นจัดเป็นการกระทำอันประกอบด้วยสัตวะ//

          ส่วนกรรมใด อันผู้ปรารถนากามและผู้มีอหังการ
          ทำด้วยความพยายามมาก
          กรรมนั้น เรียกว่าเป็นการกระทำอันประกอบด้วยรชะ//

          กรรมใดทำด้วยโมหะโดยไม่คิดถึงความผันแปรภายหน้า
          ความเสียหาย ความให้ร้ายแก่กัน และความสามารถ
          กรรมนั้นเรียกว่าเป็นการกระทำอันประกอบด้วยตมะ//

          จากผลของกรรมที่เกิดจากคุณสมบัติแตกต่างกันนี้เอง ทำให้เราได้พบกรรมอีกลักษณะหนึ่ง กรรมลักษณะดังกล่าวนี้ แม้จะถูกผลักดันด้วยคุณอันเกิดจากประกฤติ แต่ก็เป็นกรรมที่ผู้กระทำ กระทำโดยไม่ยึดติดในกรรม ซึ่งกรรมชนิดนี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยพัฒนาให้ผู้กระทำนั้นเข้าถึงปรมาตมัน เป็นการกระทำที่ทำไปโดยสำนึกว่าตนเป็นเพียงเครื่องมือหรืออุปกรณ์ของพระเจ้า การกระทำด้วยความรู้สึกเช่นนี้ ทำจะทำผู้กระทำไม่แปดเปื้อนด้วยบาปมลทิน



          ๒. ญานโยคะ
          ญาณโยค หมายถึง หลักญาณ หรือหลักแห่งความรู้ สันสกฤตใช้คำว่า ชฺญานโยค ภควัทคีตายกย่องความรู้ว่าเป็นหัวใจสำคัญ ดังปรากฏข้อความยืนยันว่า “กรรมทั้งหลายแหล่ย่อมสมบูรณ์ในหลักรู้” โดยท่านให้เหตุผลว่า  เมื่อทราบหลักรู้แล้ว จะไม่ทำให้งมงาย ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ภควัทคีตายกย่องหลักรู้ถึงขนาดว่า แม้มนุษย์จะทำบาปหนักที่สุด มนุษย์ก็จักสามารถข้ามมหาสมุทรแห่งบาปนั้นด้วยเรือคือหลักรู้ หลักรู้จะทำหน้าที่เผาผลาญกรรมทั้งปวงให้เป็นเถ้าได้
          เพื่อให้เห็นภาพความสำคัญของหลักญาณโยคะมากยิ่งขึ้น ขอให้พิจารณาบทโศลกตัวอย่างต่อไปนี้

          ไม่ต้องสงสัยเลย ในโลกนี้
          ไม่มีสิ่งอะไรบริสุทธิ์เสมอด้วยญาณ
          ผู้สำเร็จสมาธิย่อมประสบญาณนั้นด้วยตนเอง
          ในอาตมันโดยกาลอันสมควร//

          ผู้ไม่มีญาณ ไม่ถือหลักศรัทธา มีจิตสงสัย
          เขาจะเสื่อมเสีย
          โลกนี้และโลกหน้าย่อมไม่มีแก่เขา
          เขาผู้มีจิตสงสัย จะไม่ได้รับความสุขเลย//

          ธนญชัย ! ผู้ที่สลัดกรรมด้วยโยคะ
          ผู้ที่ตัดความสงสัยด้วยญาณ และผู้ดำรงอยู่ในอาตมัน
          กรรมทั้งหลายย่อมไม่เกาะเกี่ยวได้เลย//

          เพราะฉะนั้น ท่านจงบำเพ็ญโยคะ
          ตัดความสงสัยประจำจิตที่เกิดจากอัญญาณนี้
          ด้วยดาบคือญาณของตน
          จงตื่น ลุกขึ้นเถิด ภารตะ !//

          ๓. ภักติโยคะ
          ภักติโยคะ แปลตามตัวว่า การประกอบด้วยความภักดี ความภักดีตามนัยแห่งภควัทคีตานั้น หมายถึงการให้บริการแก่พระเป็นเจ้าโดยปราศจากการหวังผลตอบแทน กระทำไปโดยความจงรักภักดีต่อพระองค์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ พระเป็นเจ้าจะเป็นผู้ดึงผู้ที่จงรักภักดีต่อพระองค์ขึ้นมาจากทะเลคือสังสารวัฏ ความจงรักภักดีต่อพระเป็นเจ้าจึงเป็นความภักดีสูงสุด ความภักดีเช่นนั้นจะทำให้เขาได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
          มีโศลกหลายบทที่แสดงให้เห็นอานิสงค์ และความสำคัญของความภักดี คัดมาเป็นตัวอย่างประกอบการพิจารณา ดังนี้

          ผู้ใด กระทำความภักดีในอาตมาเป็นอย่างยิ่ง
          จักแสดงเรื่องอันลึกลับประเสริฐแก่ผู้ภักดีในอาตมา
          ผู้นั้น จักบรรลุอาตมาแท้เทียว โดยไม่ต้องสงสัย//

          ท่านจงมีใจยึดมั่นในอาตมา ภักดีต่ออาตมา
          บูชาอาตมา ทำการนอบน้อมต่ออาตมา
          ท่านจักถึงอาตมาโดยแท้ อาตมาให้สัตย์แก่ท่าน
          ท่านเป็นที่รักของอาตมา//

          ท่านจงสละสรรพธรรมทั้งหลายเสีย
          ถึงอาตมาอย่างเดียวเป็นสรณะ
          อาตมาจักเปลื้องท่านจากบาปทั้งปวง
          อย่าโศกเศร้าไปเลย//

          และด้วยความภักดี ย่อมรู้จักอาตมาเท่าที่อาตมาอยู่ด้วยวิธีใด
          และเป็นอย่างไรโดยถ่องแท้
          และจะตรัสรู้อาตมาโดยถ่องแท้ ด้วยความภักดีนั้น
          ต่อจากนั้น จึงเข้าไป (เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน)ในอาตมา//

          จากโศลกข้างต้น ทำให้เห็นความสำคัญ และบทบาทของความภักดีว่า มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการอุทิศ ทุ่มเทตนเพื่อการปฏิบัติ (ตามหลักกรรมโยคะ) และเพื่อการแสวงหาความรู้ (ตามหลักญาณโยคะ) กระทั่งเข้าถึงภาวะสูงสุดอันได้แก่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า

          หากจะเปรียบเทียบกัน หลักภักดิโยคะก็คล้าย ๆ กับหลักศรัทธาทางศาสนา เพราะเบื้องต้น ศรัทธาที่บุคคลมีต่อศาสดา และคำสั่งสอน ย่อมโน้มน้าวให้เกิดความเชื่อมั่นในแนวทาง เมื่อเกิดความเชื่อมั่นแล้ว ย่อมพร้อมที่จะอุทิศตนอย่างแน่วแน่ในการที่จะปฏิบัติตามแนวทางเพื่อให้เกิด ผลแก่ตน หลักภักติโยคะจึงมีบทบาทสำคัญในการนำพาบุคคลเข้าสู่จุดมุ่งหมาย เหตุนั้นในภควัทคีตาจึงถือหลักภักติโยคะเหมือนบันไดที่ทอดสู่ประตูแห่งความ หลุดพ้น  หลักการดังกล่าวนี้ มีผู้รู้ได้แสดงทัศนะไว้อย่างชัดเจนดังนี้

          “วัตถุประสงค์ของคีตามีอยู่ว่า การบรรลุถึงโมกษะ หรือนิพพาน ย่อมไปได้ก็โดยอาศัยเฉพาะหลักญาณแต่อย่างเดียว แต่ว่าเพื่อจะบรรลุถึงญาณนั้น เราควรจะตั้งตัวเป็นภาชนะอันเหมาะสมสำหรับญาณนั้นเสียก่อน ซึ่งเป็นไปได้ก็โดยอาศัยกรรมหรือการปฏิบัติ การปฏิบัตินำไปสู่ความบริสุทธิจิต และความบริสุทธิจิต ย่อมนำไปสู่เขตแดงแห่งญาณ ซึ่งนับว่าเป็นโมกษะนั่นเอง”


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 18, 2014, 08:24:54 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ปรัชญาภควัทคีตา (๒)
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2011, 05:19:53 pm »



๔. หลักโมกษะ
          โมกษะ ตามความหมายที่ปรากฏในภควัทคีตามีความหมายว่าอย่างไร ? ประเด็นนี้ต้องพิจารณาถ้อยคำที่ปรากฏในภควัทคีตาโดยละเอียด เพราะในคัมภีร์มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้หลายลักษณะ จำเป็นต้องนำลักษณะต่าง ๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์เหล่านั้นทั้งหมดมาพิจารณาโดยภาพรวม เพื่อให้เห็นแก่น หรือหลักการในเรื่องได้ถูกต้องสมบูรณ์

         ก.ลักษณะหรือสภาวะโมกษะ

          ลักษณะหรือสภาวะของโมกษะในคัมภีร์ภควัทคีตาเป็นอย่างไร ขอประมวลจากโศลกในอัธยายะต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างประกอบการพิจารณาดังต่อไปนี้

          ปารถ ! ศานตินี้เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในพรหม
          ผู้ได้รับศานตินี้แล้วย่อมไม่งมงาย
          ผู้ดำรงอยู่ในศานติอันเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในพรหมนี้แล้ว
          ย่อมได้รับนิรวาณอันเป็นพรหมแม้ในเวลาใกล้ตาย//

          คำสำคัญที่ปรากฏในโศลกบทนี้ก็คือคำว่า “ศานติ” ท่านใช้คำนี้อธิบายถึงธรรมชาติของพรหม ดังนั้นการกล่าวว่า เข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมจึงมีความหมายว่า เข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับศานติ  ถ้าเราต้องการให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นว่า สภาวะของพรหมันเป็นอย่าง  เราก็ต้องไปพิจารณาความหมายของคำว่า ศานติว่าคืออะไร โดยวิธีการนี้ เราก็จะได้รายละเอียดเกี่ยวกับพรหมันเพิ่มขึ้น


          ลักษณะหรือสภาวะของศานติเป็นอย่างไร ?
          เบื้องต้นเราต้องไปพิจารณารายละเอียดในภควัทคีตาว่าอธิบายเรื่องนี้อย่างไร


          ในภควัทคีตาแม้จะไม่ได้มีอรรถาธิบายว่าศานติคืออะไร แต่คำนี้ ก็เป็นอันทราบโดยทั่วไปว่าหมายถึง ความสงบ เป็นความสงบภายใน ส่วนจะสงบอย่างไร หรือสงบได้อย่างไร เราก็อาจสืบสาวเนื้อหา หรือข้อความจากภควัทคีตามาประติดประต่อกันเพื่อพิจาณานัยโดยภาพรวม ผู้เขียนขอประมวลเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

          - ไม่หวั่นไหวต่อผัสสะ มีความสม่ำเสมอในสุขและทุกข์ วางตนเสมอในทุกข์และสุข ตั้งอยู่ในภาวะแห่งอาตมา เห็นก้อนดิน ก้อนหิน และทองคำมีสภาพเสมอกัน สิ่งที่รักและไม่รักมีสภาพเท่ากัน มีปัญญามั่นคง ติเตียน และสรรเสริญมีสภาพเท่ากัน

          - พ้นจากเครื่องผูกพัน คือการเกิด เป็นภูมิอันหาทุกข์มิได้
          - ใจไม่เดือดร้อนในทุกข์ ไม่ทะเยอทะยานในสุข และปราศจากราคะ ภัย โกรธ ไม่มีเสน่หาในที่ทั้งปวง คือแม้จะได้รับดีและชั่วนั้น ๆ แล้วก็ไม่ยินดีและไม่เสียใจ

          - ไม่แปดเปื้อนด้วยบาป เสมือนใบบัวอันไม่เปียกเปื้อนด้วยน้ำ มีใจผ่องใส ไม่เศร้าโศก ไม่ปรารถนา มีความสม่ำเสมอในสรรพสิ่ง
          - ไม่ข้องในสัมผัสภายนอก เสวยความสุขที่อยู่ภายใน กล่าวคือมีความสุขในอาตมัน เริงรมณ์ในอาตมัน และรุ่งเรืองในอาตมัน
          - ไม่เสื่อมสูญ ชี้ให้เห็นไม่ได้ ไม่มีรูปร่าง มีอยู่ทั่วไป เป็นอจินไตย ตั้งมั่นเหมือนภูเขา ไม่หวั่นไหว และเที่ยงแท้

          จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ทำให้เราได้มองเห็นภาพของศานติ ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นสภาวะของพรหมัน ที่เมื่อบุคคลเข้าถึงแล้ว ก็เกิดความสงบ เพราะอยู่เหนือกิเลส และความสุข หรือความทุกข์ทั้งปวง เป็นภาวะที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว พ้นจากเครื่องพันธนาการอันได้แก่การเวียนว่ายตายเกิด เข้าถึงบรมสุขอันเที่ยงแท้เป็นอมตะตลอดกาล

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 18, 2014, 05:38:08 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ปรัชญาภควัทคีตา (๒)
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2011, 05:21:07 pm »



          ข.แนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อบรรลุโมกษะ
          แนวทางในการปฏิบัติเพื่อบรรลุโมกษะ นอกจากที่ได้กล่าวในเรื่องโยคะ ๓ ประการ อันได้แก่กรรมโยคะ ญาณโยคะ และภักติโยคะซึ่งถือเป็นหลักการใหญ่แล้ว ดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องแนวความคิดเรื่องหลักโยคะ ถึงกระนั้นในรายละเอียด ยังมีข้อปฏิบัติปลีกย่อย ซึ่งถือเป็นปฏิปทาเฉพาะสำหรับผู้ที่มุ่งสู่หนทางนี้

          รายละเอียดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นแนวทางปฏิบัติ ตั้งแต่เบื้องต้น คือการเตรียมตัว ซึ่งก็ได้แก่การวางท่าทีของจิตให้ถูกต้อง การปฏิบัติที่ถูกต้อง กระทั่งบรรลุถึงโมกษะ  เราจะพิจารณาเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กับตัวอย่างที่คัดมาประกอบ ตั้งแต่อัธยายะต้น ๆ กระทั่งถึงอัธยายะสุดท้าย

           

           แน่ะท่านผู้เลิศบุรุษ ธีรชนผู้ไม่หวั่นไหวต่อผัสสะเหล่านี้
           มีความสม่ำเสมอในสุขและทุกข์นั้น
           ย่อมเหมาะแก่ความเป็นอมฤต//

           เมื่อใด จิตได้ถูกบังคับไว้ดีแล้ว
           ตั้งมั่นอยู่ในอาตมันโดยแท้
           ปราศจากความอยาก จากความใคร่ทั้งปวง
           เมื่อนั้นจึงได้ชื่อว่าโยคี//

           อรชุน ! ผู้ใดเห็นสุขหรือทุกข์ในทุก ๆ สิ่ง
           เสมอด้วย
สุขหรือทุกข์ของตนเอง
           ผู้นั้น ชื่อว่า
เป็นบรมโยคี//

           ผู้ใดสำรวมทวารทั้งปวงได้แล้ว
          และกักขังใจไว้ในดวงฤทัย

           ตั้งลมปราณไว้ที่กระหม่อมของตนด้วยดวงจิตเป็นสมาธิไว้ //

           เปล่งเสียง “โอม” พยางค์เดียวซึ่งเป็นพรหม
           ระลึกถึงอาตมาอยู่
           ละร่างไปแล้ว ผู้นั้นย่อมบรรลุบรมคติ //

           ปารถ ! ผู้ใดมีใจไม่นอกเหนือไปจากอาตมาตลอดนิรันดร
           ระลึกถึงอาตมาเนื่องนิตย์
           อาตมารับรองอย่างดีซึ่งผู้นั้น

           อันเป็นโยคีประกอบสมาธิเป็นนิตย์//

           ผู้ใดเห็นปรเมศวรอันดำรงอยู่ในสรรพสิ่งทั้งหลาย
           สม่ำเสมอ ไม่เสื่อมสูญ แต่อยู่ในสิ่งที่เสื่อมสูญ
           ผู้นั้นชื่อได้มองเห็นเห็นแล้ว //

           เพราะว่าเมื่อเห็นอิศวรดำรงอยู่ในสิ่งทั้งปวงสม่ำเสมอแล้ว
           ย่อมไม่ล้างผลาญอาตมาด้วยอาตมา
           แต่นั้นย่อมบรรลุบรมคติ//

           กาลใดเขาพิจารณาเห็นความแตกต่าง
           ระหว่างสิ่งทั้งหลายอยู่ในความเป็นอันเดียวกัน
           แต่นั้น เขาย่อมบรรลุพรหมอันแผ่ซ่านในกาลนั้นโดยแท้//

           ผู้ประกอบด้วยพุทธิอันหมดจด
           และข่มตนเองได้ด้วยธฤติ สละอารมณ์มีสัททารมณ์เป็นต้น
           และละ
ความรักความชัง//

           เสพที่สงัด บริโภคน้อย บังคับกาย วาจา ใจ
           ยึดสมาธิเป็นหลัก อาศัยวิราคธรรมเป็นนิตย์//

          พ้นอหังการ ความห้าวหาญ ดื้อ กาม โกรธ บริเคราะห์
          ไม่มีมมังการ มีความสงบ
          ย่อมเหมาะที่จะตรัสรู้พรหม//

            เท่าที่คัดมาเป็นตัวอย่าง พอทำให้เราสรุปได้ว่า ผู้ที่จะบรรลุโมกษะนั้นต้องวางตนไว้อย่างไร และปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง  ผู้เขียนไม่ขอสรุป เพราะเห็นว่า กระจ่างชัดพอสมควรแล้ว ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น รายละเอียดที่อธิบายหนทางที่จะนำไปสู่โมกษะมีมาก โดยเฉพาะอัธยายะที่ ๑๘ โศลกเกือบทุกโศลกได้อุทิศเนื้อหาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ผู้ได้ศึกษาในรายละเอียดก็จะมองเห็นแนวทางได้ด้วยตนเอง เพราะเนื้อหาเหล่านั้น แม้จะหลากหลาย แต่ก็มีความชัดเจนอยู่ในตัว   

    ๕. บทสรุป             

          ปรัชญาภควัทคีตา ถือเป็นปรัชญาที่มีความโดดเด่นทั้งในแง่ของแนวคิด (ญาณโยค) ในแง่ของการปฏิบัติ (กรรมโยคะ) และในแง่ของความอุทิศทุ่มเทต่ออุดมการณ์ (ภักติโยคะ) โดยที่ทั้ง ๓ หลักนี้ ต่างสนับสนุน ส่งเสริมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในฐานะเป็นเครื่องมือนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือโมกษะ

          ปรัชญาภควัทคีตา สะท้อนให้เห็นบทบาทหน้าที่ว่ามีความสำคัญเหนือสิ่งใด เพราะสรรพชีวิตเกิดมาล้วนผูกพันด้วยภาระหน้าที่ ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ของปัจเจก สังคม กระทั่งถึงกลไกแห่งจักรวาลทั้งปวง
          ที่น่าสนใจและถือเป็นพัฒนาการทางปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบทบาทหน้าที่นี้ก็คือ การอธิบายระบบวรรณะใหม่ ในรูปแบบของการกระทำ แทนกล่าวถึงโองการพระเป็นเจ้าเหมือนที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวท


                 

          ภควัทคีตาแม้เบื้องต้นจะบอกว่าเป็นเรื่องที่บอกว่า “ได้จำแนกไว้แล้ว” แต่การจำแนกดังกล่าวก็อาศัยพื้นฐานทางพฤติกรรมที่สั่งสมมาแต่อดีต เช่น เมื่อพรรณนาถึงพราหมณ์ ท่านก็กล่าวโดยเน้นถึงหน้าที่เป็นสำคัญ เช่น เมื่อกล่าวถึงหน้าที่หน้าที่ของพราหมณ์ ท่านก็บอกว่า เกิดจากนิสัยเดิม คือการบังคับอินทรีย์ภายในใจ การบังคับอินทรีย์ภายนอก การบำเพ็ญพรต ความบริสุทธิ์ ความอดทน ความซื่อตรง ปัญญา และญาณ และความเลื่อมใสในพระเวท  เมื่อ กล่าวถึงหน้าที่ของกษัตริย์ นิสัยเดิมของกษัตริย์ คือความกล้าหาญ ทรงเดช ความมั่นคง ความเข้มแข็ง ความไม่ครั่นคร้านในสงคราม บริจาคทาน และความสามารถในการปกครอง  นิสัยเดิมของไวศยะคือกสิกรรม โครักขกรรม พาณิชยกรรม  ส่วนหน้าที่ของศูทรอันเกิดจากนิสัยเดิมคือการรับใช้

เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ภควัทคีตาบอกเราว่า หน้าที่แต่ละอย่างนั้น
แม้จะมีโทษอยู่บ้าง เราก็ไม่ควรละทิ้ง ดังนั้น ทัศนะของอรชุน
ที่ว่าเป็นบาปเมื่อต้องฆ่ากันในสงคราม ถือเป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้อง เพราะการสู้รบ
เพื่อปกป้องประเทศชาติ ปราบอธรรม ปกป้องธรรมนั้น เป็นหน้าที่ของกษัตริย์





http://www.oknation.net/blog/chaiyassu/2011/02/27/entry-1
http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=3315.0
Pics by : Google
นำมาแบ่งปันโดย... baby@home
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 18, 2014, 07:10:27 pm โดย ฐิตา »