ข. แนวความคิดเรื่องประกฤติ
ประกฤติ ศัพท์นี้ ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า มูลเดิม,ที่เกิด,รากเหง้า, ความเป็นไปตามธรรมดา,ความเป็นไปตามปกติ,ลักษณะ,กฎ,เกณฑ์,แบบเดิม ภาษาสันสกฤต ใช้คำว่า ปรฺกฺฤติ ขณะที่ภาษาไทยใช้คำว่า ปกติ
ปรัชญาอินเดีย โดยเฉพาะสายอาสติกะกล่าวถึงแนวคิดเรื่องนี้กันอย่างหลากหลายในฐานะเป็นมูล การณะของโลกและสรรพสิ่ง ดังจะได้กล่าวถึงในปรัชญาอาสติกะ ๖ สำนักต่อไป เบื้องต้นจะพิจารณาแนวความคิดเรื่องนี้จากคัมภีร์ภควัทคีตาว่าใช้คำนี้ในความหมายใดบ้าง
แต่ก่อนที่จะได้พิจารณาในรายละเอียด เบื้องต้นขอคัดโศลกที่แสดงถึงประกฤติเพื่อเป็นข้อมูลประกอบก่อน
ประกฤติของอาตมา แบ่งออกเป็น ๘ อย่าง
คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ มนะ พุทธิ และอหังการ //
ประกฤติ ๘ อย่างนี้ยังไม่ประเสริฐ (อปรา)
แต่ท่านจงรู้จักประกฤติของอาตมาอีกอย่างหนึ่ง
ซึ่งประเสริฐ (ปรา) เป็นเหตุแห่งชีพ (บุคคล)
แน่ะมหาพาหุ ! ประกฤติอย่างหลังนี้ทรงโลกไว้ //
ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า สัตว์ทั้งหลาย
ล้วนมีประกฤติ ๒ อย่างนี้เป็นบ่อเกิด
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงเป็นทั้งแดนเกิด
และแดนดับของโลกทั้งหมด//
ในโศลกตัวอย่างที่ยกมานี้ มีถ้อยคำที่ต้องพิจารณาเป็นเบื้องต้น คือคำว่า อาตมา และประกฤติ คำว่า “อาตมา” ในโศลกนี้ รวมทั้งอีกหลายโศลกที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ภควัทคีตา เป็น
คำสรรพนาม แทนองค์ภาวะสูงสุดคือ พรหมัน ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่งในโลกและจักรวาลทั้งหมด ดังบทโศลกที่ว่า
อาตมาเป็นอุบัติการณ์ (เหตุเป็นแดนเกิด)ของสิ่งทั้งปวง
สิ่งทั้งปวงย่อมมีพฤติการณ์จากอาตมา//
การที่พรหมันเป็นบ่อเกิดสรรพสิ่งได้ก็เพราะพรหมันนั้นมีคุณสมบัติ คุณสมบัตินี้เรียกว่า
ประกฤติ ซึ่งประกฤตินี้ก็แบ่งออกเป็น ๒ส่วน คือส่วนที่ประเสริฐ (ปรา) และส่วนที่ไม่ประเสริฐ (อปรา)
ส่วนที่ไม่ประเสริฐประกอบไปด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ มนะ พุทธิ และอหังการ ส่วนที่ประเสริฐได้แก่ ปรฺธาน หรือมูลเหตุของโลก พิจารณาคำอธิบายข้างต้น ตัวประกฤติก็คือส่วนที่แยกออกมาจากพรหมมัน ซึ่งในโศลกใช้สรรพนามเรียกขานว่า “อาตมา” เมื่อแยกมาแล้ว มีคุณสมบัติ ๘ ประการติดมาพร้อม คุณสมบัติ ๘ ประการนี้ถือว่าเป็นส่วนที่ไม่ประเสริฐ เหตุที่ไม่ประเสริฐส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า
๑. ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ถือเป็นวัตถุ หรือสสาร ไม่มีเจตจำนงในตัวเอง มีสภาพหยาบ
๒. มนะ พุทธิ และอหังการ แม้จะเป็นส่วนที่เป็นนามธรรม ก็เป็นนามธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะมีส่วนแห่งอาสวะเข้าไปปรุงแต่งทำให้เกิดการกระทำ ทั้งที่เป็นกรรมดี และกรรมชั่ว
ประกฤติในส่วนนี้จึงเป็นผู้กระทำกรรมทุกอย่าง สอดคล้องกับที่ท่านกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ไม่มีใครเลย
ที่จะอยู่ได้แม้แต่ชั่วขณะโดยไม่กระทำอะไร
เพราะทุก ๆ คน
ย่อมถูกคุณอันเกิดจากประกฤติบังคับให้กระทำกรรม// ขณะที่ประกฤติอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ปรฺธานะ ไม่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น ประกฤติในส่วนนี้จึงเหมือนเป็นภาวะบริสุทธิ์ดั้งเดิมที่แยกมาจากพรหมัน แต่เมื่ออยู่รวมในร่างเดียวกันจึงมีแนวโน้มที่จะถูกชักนำให้สูญเสียภาวะเดิม ไป ด้วยภาวะ ๓ ประการซึ่งเกิดจากประกฤติ ได้แก่
*สัตวะ รชะ และตมะ [* สัตตวะ-ความดี งาม, รชะ-ความทะยานอยากในทางที่ผิด, และ ตมะ-ความลุ่มหลงมืดบอด ธรรมชาติสามอย่างนี้ศาสนาฮินดูถือว่าเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวคนมาแล้วแต่ กำเนิด สัตตวะเป็นธรรมชาติฝ่ายดีงาม สร้างสรรค์, ส่วนรชะกับตมะเป็นธรรมชาติฝ่ายเลวและทำลาย - สมภาร พรมทา ผู้แปล]สัตวะทำให้ติดเนื่องในความสุข รชะทำให้ติดเนื่องในกรรม ส่วนตมะก็เป็นตัวการห่อหุ้มญาณ ทำให้ติดเนื่องในความประมาท รวมทั้งหมดนี้เองที่ทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด
กล่าวโดยสรุป ประกฤติในปรัชญาภควัทคีตา ท่านมุ่งหมายเอาคุณสมบัติย่อยที่แยกมาจากพรหมมัน และด้วยคุณสมบัติย่อยดังกล่าวนี้เอง ทำให้เกิดการสร้างสรรค์สรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นมา ดังถ้อยคำที่ว่า
ประกฤติย่อมรังสฤษฎ์สกลจักรวาล
ด้วยความดูแลของอาตมา
เกานฺเตย ! โลกย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยเหตุนี้//
เฉพาะในส่วนที่อยู่ในมนุษย์ ประกฤติจะถูกแยกออกอีกเป็น ๒ ลักษณะ คือลักษณะที่บริสุทธิ์ กับที่ไม่บริสุทธิ์ ส่วนแรกคือลักษณะดั้งเดิมที่เป็นคุณสมบัติของ พรหมมันแท้ ๆ ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า ปรมาตมัน ส่วนหลังนั้น คือส่วนที่ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็จะกลายเป็นอัตภาพร่างกาย เรียกว่า ปุรุษะ และถือเป็นส่วนที่จะมาทำหน้าที่เสวยผลของกรรม ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
ประกฤติจัดเป็นเหตุในการยะ กรณะ และอัตภาพ
ปุรุษะจัดเป็นเหตุในการเสวยสุขและทุกข์ //”