เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีพระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
ปเร จ น วิชานนฺติ เป็นต้น
พวกภิกษุที่วัดโฆสิตาราม เมืองโกสัมพี มีข้อวิวาทบาดหมาง อันมีสาเหตุเกิดจากการเข้าใจผิดกัน ด้วยเรื่องที่เล็กน้อย คือ พระที่เป็นหัวหน้าฝ่ายเชี่ยวชาญธรรมะ(ธรรมกถึก) เข้าส้วมแล้ว ใช้น้ำชำระแล้วยังเหลือน้ำล้างไว้ในภาชนะใส่น้ำ แล้วออกมาจากส้วม ต่อมาพระที่เป็นหัวหน้าฝ่ายเชี่ยวชาญทางวินัย(วินยธร)เข้าไปใช้ส้วมทีหลังเห็นเข้าก็สอบถาม เมื่อทราบว่าเป็นการกระทำของพระที่เป็นหัวหน้าของฝ่ายพระธรรมกถึก ก็ได้บอกไปว่า
เป็นการกระทำที่ผิดวินัยบัญญัติ แต่ถ้าไม่เจตนาก็เป็นไร ไม่ต้องอาบัติ ซึ่งเรื่องก็ไม่ได้จบแค่นั้น เพราะพระหัวหน้าฝ่ายวินัยธรกลับไปขยายความโดยไปบอกลูกศิษย์ของตนว่า พระหัวหน้าฝ่ายธรรมกถึก ต้องอาบัติแล้วก็ยังไม่รู้ตัวว่าต้องอาบัติ ข้างพวกลูกศิษย์ของพระฝ่ายวินัยธรก็ได้ไปบอกกล่าวกับพวกลูกศิษย์ของพระธรรมธรว่า อาจารย์ของพวกท่านต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้ตัวว่าต้องอาบัติ ฝ่ายลูกศิษย์ของพระธรรมธรก็ได้นำเรื่องที่พูดนั้นไปบอกอาจารย์ของพวกตนบ้าง พระที่หัวหน้าฝ่ายธรรมกถึกก็เลยพูดว่า พระวินัยธรเมื่อก่อนพูดว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ตอนนี้มาบอกว่าเป็นอาบัติ เป็นการกล่าวเท็จอย่างชัดๆ
จากนั้นแต่ละฝ่ายก็กล่าวหากันว่าอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวเท็จ และทั้งสองฝ่ายได้มีปากมีเสียงทะเลาะกันอยู่เสมอๆ แม้ว่าพระศาสดาจะห้ามปรามมิให้ทะเลาะกันอย่างไรก็ไม่ยอมหยุด จนพระศาสดาเอือมระอาเสด็จหนีไปจำพรรษาอยู่ที่รักขิตวัน โดยมีพระช้าง ช้างปาลิไลยยกะและลิงอีกตัวหนึ่งคอยเฝ้าอุปัฏฐาก
พระคัมภีร์เล่าถึงพระยาช้างและลิงสองตัวนี้ว่า พระยาช้างปาลิไลยกะตัวนี้แต่เดิมก็อยู่ในโขลงช้าง แต่เกิดความเบื่อหน่ายกับการมีชีวิตอยู่ในโขลงช้าง จึงได้แยกตัวออกมาอยู่ตัวเดียวในป่ารักขิตวัน เมื่อพระยาช้างพบพระศาสดา ก็เข้าไปคุกเข่า ทำความเคารพ มองไปมองมา เห็นว่าไม่มีใครทำหน้าที่อุปัฏฐาก ก็จึงได้รับหน้าที่นั้น โดยใช้เท้ากระทืบปรับพื้นที่ใต้ต้นรังใหญ่ให้ราบเรียบ ใช้งวงจับกิ่งไม้มาปัดกวาดพื้นดิน ใช้งวงจับหม้อน้ำไปตักน้ำมาเพื่อถวายพระศาสดาทรงใช้เป็นน้ำอุปโภคและน้ำบริโภค เมื่อเห็นว่าพระศาสดามีความจำเป็นต้องใช้น้ำร้อน ช้างก็จัดการต้มน้ำร้อนถวาย กรรมวิธีในการต้มน้ำร้อนของช้างกระทำอย่างนี้ คือ ใช้งวงจับไม้แห้งมาสีกันจนเกิดเป็นไฟ จากนั้นนำฟืนมาใส่ให้ลุกขึ้นเป็นไฟกองโต นำหินมาเผาที่กองไฟจนร้อนมากๆ แล้วเอาฟืนพลิกหินให้กลิ้งไปที่สระน้ำเล็กๆที่หมายตาเอาไว้แล้ว จากนั้นก็ใช้งวงหย่อนลงไปในสระน้ำเล็กๆนั้น เมื่อรู้ว่าน้ำร้อนพอเหมาะดีแล้ว ก็ไปถวายบังคมพระศาสดา เพื่อทรงลงสรง
นอกจากนั้นแล้วช้างตัวนี้ก็ยังไปหาผลไม้ต่างๆมาถวายพระศาสดา เมื่อพระศาสดาจะเสด็จเข้าเขตหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต พระยาช้างก็ยกบาตรและจีวรขึ้นวางไว้บนตระพอง ตามเสด็จพระศาสดาไป เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าเขตหมู่บ้านแล้ว รับสั่งว่า “ปาลิไลยกะ ตั้งแต่นี้ เจ้าเข้าไปไม่ได้ เจ้าจงเอาบาตรจีวรของเรามา” เมื่อพระยาช้างเอาบาตรและจีวรมาถวายแล้ว ก็เสด็จเข้าหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ส่วนพระยาช้างนั้นก็ยืนคอยอยู่ตรงจุดนั้น จนกว่าพระศาสดาจะเสด็จกลับออกมา ในเวลาพระศาสดาเสด็จกลับมา พระยาช้างก็ทำการต้อนรับ ใช้งวงรับบาตรและจีวรขึ้นไว้บนตระพอง เดินกลับนำไปวางลงยังที่ประทับ คอยคุกเข่าถวายงานพัดด้วยกิ่งไม้ ในช่วงกลางคืน พระยาช้างนั้นก็เอางวงถือท่อนไม้ คอยลาดตระเวนในป่ารอบๆที่ประทับของพระศาสดากว่าอรุณจะขึ้น เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายมิให้กล้ำกรายเข้ามาทำร้ายพระศาสดา พอถึงช่วงเช้าก็ทำวัตรปฏิบัติแด่พระศาสดา มีการถวายน้ำสรงพระพักตร์เป็นต้นนอกจากพระยาช้างตัวนี้แล้ว ในช่วงที่พระศาสดาประทับอยู่ในป่ารักขิตวันนั้น ก็ยังมีลิงอีกตัวหนึ่ง คอยช่วยพระยาช้างอุปัฏฐากพระศาสดาด้วย ลิงตัวนี้จะคอยตระเวนหารวงผึ้งที่ร้างตัวผึ้งแล้วนำมาถวายพระศาสดา โดยใช้ใบตองรองถวาย
ครั้งแรกๆเห็นพระศาสดานิ่งเฉยไม่ยอมฉันรวงผึ้งนั้น ก็นำรวงผึ้งนั้นมาพลิกดู เห็นตัวอ่อน จึงค่อยๆนำตัวอ่อนเหล่านั้นออก และนำเข้าไปถวายใหม่ เมื่อพระศาสดาเสวยเท่านั้น ก็เกิดความปีติยินดีเป็นล้นพ้น กระโดดขึ้นจับกิ่งไม้กระโดดโลดต้นไปมา จนกิ่งไม้นั้นหัก ลิงนั้นตกลงมาถูกตอไม้เบื้องล่างทิ่มแทงจนตาย ด้วยอานิสงส์ที่อุปัฏฐากพระศาสดา
พระคัมภีร์บอกว่า เพราะ “มีจิตเลื่อมใส (ลิง)ทำกาลกิริยา(ตาย)แล้ว ไปเกิดในวิมานทองสูง 30 โยชน์ ในภพดาวดึงส์ มีนางอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร”
ในส่วนของพระยาช้างนั้น พระคัมภีร์เล่าต่อไปว่า ในช่วงที่พระอานนท์ถูกชาวบ้านอาราธนาให้นำคณะพระสงฆ์ไปทูลเชิญพระศาสดาเสด็จคืนสู่นครสาวัตถีนั้น พอพระยาช้างเห็นพระอานนท์เถระ ก็เอางวงคว้าท่อนไม้วิ่งเข้าไปหา พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ตรัสว่า “
หลีกไปเสีย ปาลิไลยกะ อย่าห้ามเลย ภิกษุนั่น เป็นพุทธอุปัฏฐาก” พระยาช้างจึงทิ้งท่อนไม้ลงที่พื้นดิน แล้วเข้าไปคุกเข่าใช้งวงรับบาตรและจีวรของพระอานนท์ เมื่อพระคณะพระสงฆ์ที่ไปพร้อมกับพระอานนท์เดินทางเข้ามาสมทบยังที่ประทับของพระศาสดา
พระยาช้างก็เข้าป่าไปเก็บผลไม้มีขนุนและกล้วยเป็นต้น มามากมายจนเพียงพอที่จะถวายพระสงฆ์จำนวน 500 รูปเหล่านั้นในช่วงที่พระศาสดาจะเสด็จกลับนครสาวัตถีพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์นั้น พระยาช้างก็ได้เดินตามไปส่ง แต่ในที่สุดก็ได้เดินขวางทางเสด็จของพระศาสดา เป็นการส่งสัญญาณให้ทรงทราบว่า ชวนให้พระศาสดาเสด็จกลับไปประทับที่ป่าดังเดิม พระศาสดาจึงตรัสว่า “
ปาลิไลยกะ นี้เป็นความไปไม่กลับของเรา, ฌานก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคและผลก็ดี ย่อมไม่มีแก่เจ้าด้วยอัตภาพนี้, เจ้าจงหยุดอยู่เถิด ” พระยาช้างได้ฟังรับสั่งเช่นนั้นแล้ว ก็สอดงวงเข้าปากร้องไห้ เดินตามหลังคณะพระสงฆ์และพระศาสดาไป ด้วยหมายใจว่าหากพระศาสดาเสด็จกลับ ตนก็จะได้อุปัฏฐากพระศาสดาแบบเดิมจนตลอดชีวิต ฝ่ายพระศาสดาเสด็จถึงอาณาเขตหมู่บ้านแล้ว ได้ตรัสว่า “ปาลิไลยกะ จำเดิมแต่นี้ไป มิใช่ที่ของเจ้า, หากแต่เป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์ มีอันตรายเบียดเบียนอยู่รอบข้าง เจ้าจงหยุดอยู่เถิด” พระยาช้างได้ยินก็ยืนร้องไห้อยู่ที่จุดนั้น ครั้นเมื่อพระศาสดาเสด็จลับตาไป ก็หัวใจแตกสลายตาย
พระคัมภีร์บรรยายว่า พระยาช้าง “มีหัวใจแตกทำกาละแล้ว เกิดในท่ามกลางเทพอัปสรพันหนึ่ง ในวิมานทองสูง 30 โยชน์ ในภพดาวดึงส์ เพราะความเสื่อมใสในพระศาสดา. ชื่อของเทพบุตรนั้นว่า ปาลิไลยกเทพบุตร”
ย้อนกลับไปกล่าวถึงชาวเมืองโกสัมพี เมื่อทราบสาเหตุที่ทำให้พระศาสดาต้องเสด็จไปเช่นนั้น ก็พากันใช้มาตรการ
คว่ำบาตรกล่าวคือไม่ใส่บาตร ไม่ให้การกราบไหว้ เป็นต้นแก่พวกภิกษุที่ทะเลาะกันทั้งหมด ข้อนี้ทำให้พวกภิกษุทั้งหลาย
ตระหนักถึงความผิดของพวกตนและเริ่มหันมามีความสามัคคีปรองดองระหว่างกัน แต่พวกชาวบ้านก็ยังไม่ยอมปฏิบัติต่อภิกษุเหล่านั้นด้วยความเคารพเหมือนเดิม จะต้องให้ไปขอขมาโทษพระศาสดาเสียก่อน
แต่ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงกลางพรรษาพวกภิกษุจึงไปขอขมาโทษมิได้ ดังนั้นพวกภิกษุจึงอยู่จำพรรษานั้นด้วยความทุกข์ยากลำบากเป็นอย่างยิ่งเมื่อออกพรรษาแล้ว พระอานนท์และภิกษุ 500 รูปได้ไปเฝ้าพระศาสดาและได้กราบทูลถึงคำอัญเชิญของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีและอุบาสกอุบาสิกาอื่นๆที่ขอให้พระองค์เสด็จกลับ ต่อมาพระศาสดาก็ได้เสด็จกลับวัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี พวกภิกษุทั้งหลายได้พร้อมกันไปหมอบลง
ที่เบื้องพระบาทและขอขมาโทษต่อพระศาสดา พระศาสดาได้ทรงตำหนิภิกษุเหล่านั้น ที่ไม่เชื่อฟังพระโอวาทของพระองค์ ได้ตรัสบอกให้พวกภิกษุเหล่านั้นให้จดจำใส่ใจไว้ว่า
จะต้องมีความสามัคคีปรองดองกัน ไม่สร้างความแตกแยกในหมู่คณะ และให้เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระศาสดา ให้ทำตัวเหมือนกับ
พวกคนดีในอดีตอย่างเช่น ทีฆาวุกุมาร (ในทีฆาวุชาดก)ที่ทำตามโอวาทของมารดาบิดาผู้ต้องโทษประหารชีวิต แม้ว่ามารดาบิดานั้นจะถูกสังหารไปแล้ว ก็ไม่ละเมิดโอวาทนั้น จนภายหลังได้ครองราชย์สมบัติในแคว้นกาสีและแคว้นโกศลพร้อมกันทั้งสองแคว้น”
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 6 นี้ว่าปเร จ น วิชานนฺติ
มยเมตฺถ ยมามเส
เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ
ตโต สมฺมนฺติ เมธคาฯ(อ่านว่า)
ปะเร จะ นะ วิชานันติ
มะยะเมดถะ ยะมามะเส
เย จะ ตัดถะ วิชานันติ
ตะโต สัมมันติ เมทะคา ฯ(แปลว่า)
ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้ตัวว่า พวกเราพากันฉิบหาย
เพราะการทะเลาะวิวาทอยู่ในท่ามกลางหมู่คณะนี้
ฝ่ายชนเหล่าใดในหมู่คณะนั้นย่อมรู้ชัด
การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ย่อมสงบ
เพราะการปฏิบัติของชนพวกนั้น.เมื่อพระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลง พระภิกษุที่มาประชุมกันทั้งหมด ได้
บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.