เช่นเราเกิดความคิดอย่างนั้นขึ้นในใจ มันเป็นความคิดที่ร้อนหรือเย็น เป็นสุขหรือว่าเป็นทุกข์ มีควมกังวลห่วงใย หรือว่ามีความสงบสบายใจ ให้ญาติโยมลองนำไปพิจารณาคอยสังเกตุตัวเรา คอยสังเกตุจิตใจของเราแล้วเราจะพบความจริงว่า ตัวความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ มันทุกข์เพราะว่า เรายึดถือนั่นเองแหละ ไม่ใช่ทุกข์เพราะเรื่องอะไร พอเกิดความยึดถือในใจ ในเรื่องอะไรก็ตาม เราก็มีความทุกข์เพราะสิ่งนั้น อันนี้แหละคือความหมายของคำว่า ชาติปิ ทุกขา ที่ญาติโยมสวดมนต์ว่า ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ หมายถึงว่าความรู้สึกยึดถือในเรื่องอะไรๆ เกิดขึ้นในใจของเราในขณะใด ความทุกข์หยั่งลงสู่ชีวิตของเราเมื่อนั้น อันนี้คือหลักแท้จริงของอริยสัจ ในเรื่องชาติ ความเกิดที่เป็นทุกข์ ถ้าเราเข้าใจชาติความเกิดในรูปนี้
การที่จะสลัดความทุกข์ออกไปตัวเรานั้นมันง่าย แต่ถ้าเราไปเข้าใจในแง่ว่า เกิดจากท้องมารดา แล้วตายเข้าโลงเป็นชาติหนึ่ง มันก็แก้อะไรไม่ได้ เพราะว่าความเกิดนั้นมันผ่านพ้นมาแล้ว เป็นมานานแลล้ว สมบูรณ์ทุกสิ่งทุกประการ ไม่ใช่วิถีทางแก้ไขความทุกข์ตามหลักของพระพุทธศาสนา ในหลักธรรมะทางพระพุทธศาสนา ต้องการชี้ให้เราเข้าใจว่า ความทุกข์เกิดจากความยึดถือ
ในเรื่องอะไร ต่างๆ ในขณะใดที่ความยึดถือในเรื่องอะไรเกิดขึ้นในใจก็เรียกว่า ชาติ เกิดขึ้นแล้วชาติหนึ่งและเมื่อเกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้น มันก็สร้างต่อไป ที่เรียกว่า มีภพ คำว่า "ภพ" ก็หมายถึงว่า "
ความคิดที่เราส่งไปในเรื่องนั้นๆ" ส่งไปในเรื่องกามารมณ์ เรียกว่า เกิดในกามภพ ถ้าเราส่งไปในเรื่องเกี่ยวกับรูปก็เรียกว่ารูปภพ ถ้าส่งไปในเรื่องที่ไม่มีรูปมีร่างเป็นความคิดฝันของเราเอง ก็เรียกว่า ไปเกิดอยู่ในอรูปภพ จิตของเรามันเป็นไปเกิดในกามภพก็ได้ ในรูปภพก็ได้ ในอรูปภพก็ได้ สุดแล้วแต่ความคิดที่มันเกิดขึ้นในใจเรา สร้างอารมณ์ขึ้นในใจของเรา แล้วในขณะที่เรานั่งคิดนั่งฝัน นั่งสร้างอารมณ์ประเภทต่างๆ ขึ้นในใจนั้น ขอให้เข้าใจว่า
นั่นแหละรากฐานของความทุกข์ ความเดือดร้อน เป็นทุกข์เพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะเราไปยึดว่าสิ่งนั้น
เป็นของเรา แล้วเราก็คิดต่อไปว่าให้สิ่งนั้นอยู่กับเราตลอดไป
แต่ว่าสิ่งนั้นคงจะไม่อยู่ตลอดไปเราก็มีความวิตกกังวล กลัวว่าสิ่งนั้นจะแตกสลายไป กลัวขโมยมันจะมาลักเอาไป กลัวว่าเราจะเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะจากสิ่งนั้นไป ความคิดอันอื่นที่ตามมาจากความยึดถือประการต้นนั้นอีกมากมายหลายเรื่อง อันล้วนแต่เป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์เพิ่มขึ้นในใจของเราทั้งนั้น
อันนี้แหละคือ ชาติปิทุกขา เป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจให้ตรง ถูกต้องไว้ก่อนเป็นเบื้องต้น
ถ้าเราเข้าใจคำว่า ชาติปิ ทุกขา
ถูกตรงแล้วมันเป็นการง่าย ที่จะศึกษาในเรื่องอื่นต่อ ไป แต่ถ้าเข้าใจคำว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ไม่ถูกแล้ว การแก้ไขปัญหาชีวิตย่อมจะเป็นการไม่สะดวก เพราะจะไปแก้ที่ไกล ไม่ได้แก้ที่ตัวเรา ไม่ได้แก้ที่ตรงจุด แต่ไปแก้อยู่รอบๆ จุดเหมือนกับคนที่คันสันหลัง แล้วก็ให้คนอื่นเกาให้ คนที่เกานั้นเขาไม่รู้ว่าคันตรงไหน ก็เที่ยวเกาตรงนั้นเกาตรงนี้ เราก็บอกว่ามันยังไม่ถูก เกาใหม่ คนนั้นก็เกาอีก ก็ยังไม่ถูก เกาใหม่เพราะคนเกาไม่รู้ ว่าจุดมันอยู่ตรงไหน แล้วจะเกาให้ถูกจุดได้อย่างไร แต่ถ้าเขารู้ว่าจุดคันมันอยู่ตรงไหน ไม่ต้องไปเกาให้เสียเวลา เอาไปจุดเข้าที่ตรงจุดนั้นเลย เรียกว่าจุดถูกที่คันเราก็ร้องว่า ดี ขึ้นมาทันที ฉันใด
ในการแก้ไขปํญหาต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์นั้น
เกิดจากความยึดถือในเรื่องอะไรต่างๆ ด้วยความหลงใหล ด้วยความงมงาย ความมัวเมาในสิ่งนั้นจนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ขึ้น เราก็แก้ที่จุดนั้นแหละ แก้ที่จุดความยึดถือ เราก็แก้ง่ายขึ้น เพราะเรารู้จักจุดมัน เหมือนกับรู้ว่าคันตรงไหน แล้วเกาได้ถูกจุดทันที อันนี้ประการหนึ่งซึ่งอยากให้โยมเข้าใจถูกตรงไว้ ในเรื่อง ชาติปิ ทุกขา ส่วน ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ ทุกข์อย่างไรอันนี้ไม่ยาก อันเรื่องความแก่เป็นทุกข์ โยมๆ ที่ฟังเทศน์เป็นคนแก่ส่วนมาก
เมื่อเป็นคนแก่รู้ว่าความแก่เป็นทุกข์อย่างไร นั่งอยู่จะลุกขึ้นมันเป็นอย่างไร นอนแล้วจะลุกขึ้นมันเป็นอย่างไร จะเดินมันเป็นอย่างไร จะเคลื่อนไหวอิริยาบถสักย่างสักก้าวมันเป็นอย่างไร จะกินอาหาร จะนุ่งจะห่ม จะพูดจา จะนึกถึงอะไรสักเรื่องหนึ่งที่ผ่านมามันเป็นอย่างไร ญาติโยมลองทบทวนดู พอทบทวนดูก็จะรู้ได้ทันทีว่า เออ ไม่ได้ ความเคลื่อนไหวอิริยาบถก็ไม่สะดวก ขัดไปหมด ปวดเอวปวดหลังเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
ซึ่งเป็นเรื่องของความชรา ชำรุดทรุดโทรมในร่างกาย มันเป็นทุกข์เรื่องอย่างนี้ประการหนึ่งอีกประการหนึ่ง ความทุกข์ที่เกิดจากชรานั่น มันหมายถึงว่า
เราไม่พอใจ ในการที่ร่างกายเปลี่ยแปลงไป เราไม่อยากให้ผมหงอก อยากจะให้ดำขลับอยู่ตลอดเวลา แล้วว่าหงอกแล้วก็อุตส่าห์หายาย้อมผมมา ย้อมไว้หลอกตัวเองไปวันหนึ่งๆ พอดูกระจกก็รู้ว่ามันยังดำอยู่ ความจริงไม่จำเป็นอะไร ที่จะต้องหลอกตัวเองอย่างนั้น ให้เรานึกพอใจว่า ผมขาวมันก็เข้าทีเหมือนกัน แสดงลักษณะของความเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้มีอายุ แล้วก็จะได้เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ
ให้เราไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ในความเป็นอยู่ แต่ถ้าเราไปย้อมให้มันดำ เมือมันขาว
แล้ว ก็เท่ากับว่าเราหลอกตัวเอง เรามันยังเป็นคนชอบหลอกตัวเองอยู่ แล้วก็หลอกมันเรื่อยๆ ไป ว่าเราผมมันยังไม่หงอก ไม่ชรา
อันนี้เขาเรียกว่าฝืนกฎธรรมดาพออยู่หน่อยร่างกายของเรามันเปลี่ยนไปตามสภาพ แต่ว่าเราไม่อยากให้เปลี่ยน คนทุกคนไม่ชอบแก่ทั้งนั้น ไม่ชอบให้ผมหงอก ไม่ชอบให้ฟันหลุด ไม่ชอบให้ตามืด หูตึง ไม่ชอบให้ผิวหนังเหี่ยว ไม่ชอบให้เป็นคนหลังค่อมหลังโกง ไม่ชอบความชำรุดทรุดโทรมทุกส่วนของร่างกาย เราอยากให้มันคงเดิม ความทุกข์ก็เกิดขึ้นตรงนี้ ทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะว่า
เราไม่ยอมรับความแก่ของสังขารร่างกาย เราอยากจะไม่ให้มันแก่ เมื่อไม่ชอบความแก่เราก็เป็นทุกข์
แต่ถ้าเรารู้ว่า ความแก่นี้มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดต้องมีแก่คนทุกคน หนีไม่พ้น ในชีวิตของเราทุกวินาทีนี่เราแก่อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเด็กก็เรียกว่าแก่ขึ้น เป็นหนุ่มก็แก่ขึ้น พอเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวก็เริ่มแก่ลง เพราะว่าความแก่นี้
มันขึ้นอยู่กับเวลาปรุงแต่งของร่างกาย บางคนก็แก่ลงช้า แต่บางคนก็แก่ลงเร็ว
คนที่แก่ลงเร็ว ก็คือคนที่ชอบเอายาพิษใส่เข้าไปในตัว เช่น คนชอบดื่มเหล้า ชอบเที่ยวกลางคืน อดหลับอดนอน คนประเภทนี้แก่เร็ว ร่างกายชำรุดทรุดโทรมเร็ว แต่ถ้าเป็นคนรู้จักรักษาอนามัย พักผ่อนเป็นเวลา รับประทานอาหาร
ถูกต้อง ความแก่ก็ช้า แต่ว่ารวมแล้วมันก็แก่นั่นแหละ หนีไปจากความแก่ไม่พ้น เราต้องแก่เป็นธรรมดา แต่ว่าจิตใจเรานี่มันไม่ยอมแก่ ถ้าใครมาทักเราว่า "หือ ปีนี้ดูแก่ไป" ไม่มีใครชอบสักคนเดียว แต่ถ้าเขาทักเราว่า "เออ ดูยังหนุ่มแข็งเรงดีนี่" เรายิ้ม
ชอบอกชอบใจ
คนเรามันชอบหลอกไม่ชอบจริง เพราะไม่ชอบของจริงนี่และจึงเป็นทุกข์เรื่อยไป แต่ถ้าเรายอมรับความจริงเสีย เช่นเรื่องความแก่นี่ ยอมรับมันเสีย รับว่าแก่แล้ว ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ไม่รู้เมื่อไหร่จะต้องแตกต้องดับละยอมรับอย่างนั้น พอเรายอมรับว่าเรายอมแก่ ปัญหาเรื่องความแก่จะไม่เป็นทุกข์แก่เรา ชราปิ ทุกขา
จะไม่เกิดในใจ เพราะเรายอมรับความแก่ยอมให้มันแก่ไปตามเรื่อง การรักษาการบริหารร่างกายก็ทำ
ไปตามเรื่อง แต่ไม่ใช่ทำด้วยความอยากมากเกินไป เราทำตามหน้าที่หน้าที่จะต้องรักษาร่างกายเพื่อใช้ ใช้ทำอะไร ใช้สำหรับประพฤติความงามความดี ล้างบ่อยๆ อัดฉีดบ่อยๆ ขับค่อยๆ อย่าให้มันเร็วเกินไป จนกระทั่งว่าเสียรูปเสียโฉมไป รถคันนั้นก็ใช้ได้นาน ร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เรามันแก่เป็นธรรมดา เรารับรู้ว่าเราจะต้องแก่ แต่ว่าเราก็ต้องรักษาตามหน้าที่ อย่างนี้เรียกว่า เป็นคนรู้จักใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช้ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะความเข้าไปยึดถือว่า เราไม่แก่ อันนี้เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความแก่ เป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ก็อยู่ที่ ความคิดถูกต้อง
หรือไม่ถูกต้อง ถ้าคิดถูกความทุกข์มันก็น้อย ถ้าคิดไม่ถูก ก็เกิดความทุกข์ขึ้น เพราะความแก่เป็นธรรมดาอันต่อไปท่านเรียกว่า
พยาธิ คือ ความเจ็บไข้ ก็เป็นความทุกข์ของจิตใจ คนเราตามปกตินั้น ไม่มีใครชอบความไข้ แต่ว่าความเจ็บไข้ก็ต้องเกิดขึ้น อันการเกิดขึ้นของโรคภัยไข้เจ็บนั้น โรคบางอย่างเกิดเพราะความประมาท แต่โรคบางอย่างนั้น มันเกิดของมันตามธรรมชาติ เราไม่รู้สาเหตุของมัน เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น เราไม่รู้สาเหตุว่ามันเกิดเพราะอะไร ทำอย่างไรจึงได้เกิดโรคนั้นขึ้น ไม่มีใครรู้ แม้วิชาการแพทย์สมัยใหม่จะเจริญก้าวหน้า ก็ยังค้นหาสมุฏฐานของโรคนี้ยังไม่ได้ว่ามันเกิดมาจากเรื่องอะไร ก็
พูดได้เพียงว่าธรรมชาติของร่างกาย บางคนมันอาจจะเป็นโรคนี้ขึ้นได้ เป็นโรคที่ตรงนั้นตรงนี้ หรือเป็นมะเร็งในเส้นโลหิต แล้วก็รักษาไม่ได้ ร่างกายก็ต้องเจ็บป่วย จนกระทั่งหมดลมหายใจ
แต่ว่าถ้าปกติโรคอันใดที่เกิดเพราะความประมาท เพราะไม่รักษาตัว อันนี้เราต้องป้องกันได้ การป้องกันก้คือว่าเรียนให้มันรู้ ว่าพาหะของโรคคืออะไร สมุฏฐานของโรคอยู่ที่ไหน มันจะเกิดได้โดยวิธีใด แล้วเมื่อเกิดแล้วเราควรจะรักษาอย่างไร เรื่องนี้มันต้องไปถามหมอ เขาก็จะแนะนำให้
คนเราบางทีก็ประมาท เป็นอะไรนิดหน่อย ร่างกายผิดปกติ ไม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่ไปหาหมอตี๋ตามร้านขายยา "ฉันเป็นหวัด กินยาอะไรดี" เจ้าตี๋ก็จัดยาให้ เอาไปเคี้ยวไปกินกันตามเรื่อง กินจนกระทั่งว่าหนัก พอหนักแล้วจึงไปหาหมอ อันนี้มันไม่ถูกเรื่อง
เรียกว่าอยู่ในวิสัยของความประมาท เมื่อเรารู้สึกว่าร่างกายผิดปกติ ควรรีบไปรักษาทันที ให้หมอตรวจเสียโดยเร็ว การรีบไปทันท่วงทีนั้น ประหยัดเวลา ประหยัดเงิน แล้วก็ไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากิน
เพราะเริ่มเป็นหมอตรวจรู้สมุฏฐาน ให้ยาสกัดโรคนั้นมันก็หายไว เราก็จะได้ทำงานทำการต่อไป เงินทองที่จะใช้จ่ายในการเยียวยาก็น้อย เพราะเรารีบรักษา พระพุทธเจ้าท่านสอน อย่าให้ประมาท แต่ถ้าเราประมาทไม่ไปรักษา โรคมันแรงแล้ว ต้องกินยามาก ต้องฉีด ต้องนอนโรงพยาบาล บางทีต้องนอนตั้งเดือนสองเดือน เสียเวลาทำมาหากิน เสียเงินเสียทองเข้าไปมากมาย อันนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่า ผิดอยู่ในชีวิดมนุษย์เราไม่ใช่น้อย
ในหลักธรรมะท่านจึงสอนไม่ให้ประมาท ถ้ารู้สึกว่าร่างกายผิดปกติรีบไปหาหมอเสีย ไม่ต้องเกรงใจหมอดอก หมอเขามีหน้าที่รักษาคนป่วย แต่ถ้าป่วยหนักแล้วไปหาหมอ นี่หมอรำคาญ รำคาญว่าทำไมไม่ให้ตายเสียก่อนแล้วเอาศพมาให้รักษา หมอนึกอย่างนั้น ถ้าหมอพูดได้แกคงพูดว่า "เอามาให้รักษาทำไม เอาศพมาดีกว่า" แต่หมอก็รักษามารยาทไม่พูดอย่างนั้น แต่ว่าเรานี้ไม่รู้จักรักษาตัวก็ลำบาก
ความเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้คนเป็นทุกข์ก็เพราะว่า เราไม่สบายใจในขณะที่มีความเจ็บเกิดขึ้น นอนเป็นทุกข์ นั่งเป็นทุกข์ กินก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะเรื่องโรคภัยไข้เจ็บอันนี้คือทุกข์ประการหนึ่ง ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ใครก็ได้ ทีนี้การแก้ไขปัญหาในเรื่องความทุกข์ อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าเรามีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น เราก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญา
พิจารณาว่าความเจ็บป่วยนี้
เป็นเรื่องของร่างกาย เป็นเรื่องที่เราจะต้องรักษา เวลานี้เราไม่กินยาอยู่แล้ว แต่ว่ายานี่ไม่ใช่ยาพิษ เหมือนเรื่องนิทานที่เขาเล่าไว้ พอกินยาปุ๊บโรคหายปั๊บ มันไม่มีอย่างนั้น มันต้องช้าๆ กินยาแล้วต้องคอยเวลา ให้ยามันออกฤทธิ์ไปแก้ไขในบางส่วนของร่างกายก่อน เราอย่าใจร้อน อย่าอยากให้หายเร็วเกินไป แต่บอกตัวเองว่าเวลานี้เราป่วย เราได้รับประทานยาแล้ว เราก็ต้องนอนทำใจเย็นๆ อย่าใจร้อน
อย่าคิดมาก อย่าวุ่นวาย ให้พิจารณาร่างกายนี้ว่า เป็นสิ่งเปราะ หักง่าย แตกง่าย อาจจะเจ็บจะไข้ลงไปเมื่อใดก็ได้ ถ้าว่าร่างกายป่วย ใจเราเป็นทุกข์เพราะร่างกาย ก็เรียกว่าป่วยทั้งกาย ทั้งใจ