วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม
พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ฐิตา:
๒๐. สุขะสะหะคะตา ธัมมา
ในบทที่ ๒๐ ว่า สุขะสะหะคะตา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันร่วมมาแล้วด้วยความสุข ความสุขนั้นมี ๔ ประการ คือ ความสุขกาย ๑ ความสุขที่ไม่มีโรคเบียดเบียน ๑ ความสุขใจที่ไม่เศร้าหมอง ๑ ความสุขที่สมเหตุที่คิด สมกิจที่กระทำ ๑ ยังมีความสุขอีกประเภทหนึ่งมีอยู่ ๔ ประการเช่นกัน คือ สุขมีอายุยืน ๑ สุขมีรูปงาม ๑ สุขมีกำลังกาย มีกำลังทรัพย์ มีกำลังปัญญา ๑ สุขในความหมดเวรหมดกรรม ๑ เมื่อจะว่าย่อ ๆ ก็มีอยู่ ๒ ประการคือ โลกียสุข ๑ โลกุตรสุข ๑
โดยความอธิบายว่า ความที่ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนเรียกว่าความสบาย ความสบายเรียกว่า ความสุข สุขที่ประกอบไปด้วยกิเลสนั้นเรียกว่า โลกียสุข ความสุขที่ไม่มีกิเลสนั้นเรียกว่า โลกุตรสุข ความสุขทั้ง ๒ ประการนี้เมื่อจะอ้างบุคคลก็ได้แก่ สุขสามเณร เมื่อเดิมทีนั้นก็เป็นคนยากจนเข็ญใจ ได้ถวายอาหารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว แต่นั้นก็เป็นสุข สุขมาจนกระทั่งถึงศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสมณโคดม นี้เป็นเขตโลกียสุข ตั้งแต่วันได้บรรลุอาสวักขัยเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานนั้น เป็นเขตโลกุตรสุข สุโข วิเวโก ความเงียบสงัดจากกิเลส ก็เป็นสุขประการหนึ่ง สุโข พุทธานะมุปาโท ความบังเกิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในโลกนี้ก็เป็นสุขประการหนึ่ง สุขา สัทธัมมะเทศนา การที่ได้ฟังพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นสุขประการหนึ่ง สุขา สังฆัสสะ สามัคคี การที่พร้อมเพรียงกันแห่งสงฆ์ก็เป็นสุขประการหนึ่ง สมัคคานัง ตโป สุดข การกระทำกิเลสให้เร่าร้อน คือผ่อนผันบรรเทาให้เบาบางพ้นจากสันดานไปได้ก็เป็นสุขประการหนึ่ง ความปฏิบัติความประพฤติเป็นไปในกายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก วิเวกทั้ง ๓ นี้แลเรียกชื่อว่าความสุข เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า สุขะสะหะคะตา ธัมมา
ฐิตา:
๒๑. อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา
ในบทที่ ๒๑ ว่า อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา นั้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอารมณ์แห่งจิตที่เป็นอุเบกขา อุเบกขานั้นคือหมดปีติแลหมดสุข จึงจัดเป็นอุเบกขาไว้ที่นี้ อุเบกขานี้ก็บังเกิดขึ้นแต่สุข สุขนั้นก็บังเกิดขึ้นแต่ปีติ ต่อเมื่อหมดปีติแลหมดสุขแล้ว อุเบกขาจึงจะบังเกิดขึ้น โดยความอธิบายว่า หมดปีติแลหมดสุขแล้วจึงจะเป็นอุเบกขา ถ้าปีติและสุขยังมีอยู่แล้ว อุเบกขาก็ไม่บังเกิดขึ้นได้ อุเบกขาในทีนี้ประสงค์ความว่า ปีติกับสุขทั้งสองบังเกิดขึ้นแล้วแลหายไป ถ้าปีติและสุขทั้งสองยังมีอยู่ตราบใด ก็ไม่จัดเป็นอุเบกขาได้ ถ้าปีติและสุขทั้งสองไม่มีแต่เดิมมา อุเบกขาก็ไม่มีเหมือนกัน เพราะเหตุว่าไม่อาจมีอุเบกขาได้เอง เปรียบเหมือนหนึ่งแสงสว่างอันบังเกิดแต่เปลวไฟ ไฟจะบังเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยแก่เชื้อฟาง ฟางก็ได้แก่ปีติ เปลวไฟก็ได้แก่ความสุข แสงสว่างก็ได้แก่อุเบกขา
เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะจึงได้ทรงประทานเทศนาว่า ปีติสุข อุเบกขา เป็นลำดับกันมา เหมือนอย่างสุขทั้ง ๓ ประการ สุขในมนุษย์ สุขในสวรรค์ และสุขในพระนิพพาน
สุขในมนุษย์ไม่เท่าสุขในสวรรค์ สุขในสวรรค์ไม่เท่าสุขในพระนิพพาน เช่นนี้ ดังมีในเรื่องราวท้าวมหาชมพูเป็นตัวอย่างว่า เมื่อเดิมทีท้าวมหาชนพูนั้นได้เสวยสุขในสิริราชสมบัติในมนุษย์ แล้วไปยินดีในสวรรค์ว่าสุขยิ่งกว่าในมนุษย์ ครั้นได้เห็นสุขในพระนิพพานอันเป็นบรมสุขยิ่งกว่าสุขทั้งสองนั้นแล้ว ก็ทิ้งสุขทั้งสองนั้นเสีย
ความสุขทั้ง ๓ นั้น คือ มนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพานนี้ ก็มีนัยเดียวกันกับธรรมทั้ง ๓ คือ ปีติ สุข อุเบกขา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกา บทที่ ๒๑ ก็ยุติลงเพียงนี้ฯ
ฐิตา:
๒๒. ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา
ในลำดับนี้จะได้แสดงติกมาติกาในบบที่ ๒๒ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะละกิเลสได้เพราะเหตุที่ได้เห็น ดังนี้ โดยความอธิบายว่า จิตที่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่าง ๆ นั้น ครั้นได้เห็นเข้าแล้ว ก็บังเกิดสังเวชสลดใจ จึงละกิเลสได้ เหมือนหนึ่งบัณฑิตสามเณร เมื่อได้เห็นผมของตัวแล้วก็บังเกิดปัญญาพิจารณาเป็นอสุภะ ว่าผมของเราไม่งาม ผมของผู้อื่นก็ไม่งามเหมือนกัน อรหัตตผลก็บังเกิดปรากฏขึ้น ดังนี้
พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ละกิเลสได้เพราะได้เห็นนั้น ก็เห็นอยู่ด้วยกันโดยมาก เหตุไฉนจึงละกิเลสไม่ได้ หรือการที่เห็นนั้นจะมีนัยต่างกันอย่างไร?
พระปรวาทีฯ จึงวิสัชนาว่า การเห็นนั้นมีนัยต่างกัน ที่เห็นให้เกิดกิเลสก็มี ที่เห็นให้ละกิเลสก็มี สุดแต่เหตุที่ได้เห็น ถ้าเห็นของที่งาม ที่ชอบใจ ก็ให้บังเกิดกิเลสได้ดังนี้ เพราะเหตุนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะจึงได้ทรงตรัสสั่งสอนพุทธบริษัทว่า อสุภานุปัสสี วิหะระติ ดังนี้ ก็เพื่อพระพุทธประสงค์จะให้อยู่ด้วยความเห็นซึ่งอารมณ์อันไม่งาม เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา ฉะนี้ฯ
ฐิตา:
๒๓. ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา
ในบทที่ ๒๓ ว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา นั้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะพึงละกิเลสได้เพราะการที่ภาวนานั้น ภาวนาก็มีอยู่ ๓ ประการ คือ บริกรรมภาวนาละกิเลสอย่างหยาบได้ ๑ อุปจารภาวนาละกิเลสอย่างกลางได้ ๑ อัปปนาภาวนาละกิเลสอย่างละเอียดได้ ๑ เมื่อจะชี้บุคคลที่ท่านละกิเลสให้หมดไปและยังธรรมวิเศษได้ ด้วยอำนาจแห่งภาวนา ๓ ประการนี้ ก็มีเป็นอเนกประการ เช่น ภิกษุที่ได้เห็นฟันของสตรี หรือนางรูปนันทาที่ได้เห็นนิมิตที่งามยิ่งกว่ารูปของตนหรือพระปัจเจกโพธิ์ทั้ง ๕๐๐ องค์ที่ได้เห็นดอกบัวร่วงลงฉะนี้ เรียกว่าภาวนา โดยความอธิบายว่า ปัญญาที่หยาบก็ละกิเลสอย่างหยาบได้ ปัญญาอย่างกลางก็ละกิเลสอย่างกลางได้ ปัญญาอย่างละเอียดก็ละกิเลสอย่างละเอียดได้ ภาวนานั้นไซร้ประสงค์ความว่า ให้รู้จักดีชั่ว ละความชั่วให้หมดไป และกระทำคุณความดีให้บังเกิดขึ้นในตน ดังนี้ เรียกชื่อว่า ภาวนา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา ฉะนี้ฯ
ฐิตา:
๒๔. เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา
ในบทที่ ๒๔ ว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะพึงกิเลสได้ด้วยเหตุที่ไม่ได้เห็นและไม่ใช่หนทางภาวนานั้น โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่ละกิเลสได้ด้วยนิสัยเปรียบเหมือนทุกุลบัณฑิต เห็นก็ไม่ได้เห็น ภาวนาก็ไม่ได้เจริญ เป็นแต่กระทำความในใจไม่ยินดีในกามคุณ ดุจบุคคลผู้มีอารมณ์อันดี ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นแต่อยู่เฉย ๆ อยู่ เพราะฉะนั้นจึงว่าเป็นไปตามนิสัย บุคคลที่จะละกิเลสได้ด้วยเหตุที่ไม่ได้เห็นและไม่ได้ภาวนา เป็นแต่กระทำความไม่ยินดีในกามคุณเช่นกับทุกุลบัณฑิตนั้น ก็หาได้โดยยากยิ่งนัก เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา ฉะนี้ ได้แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๒๔ ก็ยุติลงแต่เพียงเท่านี้ฯ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version