วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม
พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ฐิตา:
๔. สุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา
ในลำดับนี้จักได้แสดงติกมาติกาบทที่ ๔ สืบต่อไป โดยพระบาลีว่า สุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา แปลว่าธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นอารมณ์แห่งจิตอันสัมปยุตแล้วด้วยเวทนา เวทนาแปลว่าเสวยอารมณ์ สุขายะ แปลว่าสุข โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยความเสวยอารมณ์เป็นสุขนั้น คือ จักขุโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่ได้สัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ล้วนแต่เป็นที่รักที่เจริญใจ คือว่าไม่ยังใจให้เดือดร้อน มีแต่ความโสมนัสยินดีในเมื่อสัมผัสมาถูกต้องกับทวาร มีจักขุทวารเป็นต้น เพราะฉะนั้นธรรมดวงนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสว่ สุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา ฉะนี้
พระสกวาทีอาจารย์จึงขอความอุปมาอุปไมยต่อไปว่า ข้าแต่ท่านปรวาทีอาจารย์ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงให้พิศดารอีกสักหน่อยเถิดพระเจ้าข้า
พระปรวาทีอาจารย์จึงวิสัชนาว่า คนหนาวได้ห่มผ้า คนร้อนได้อาบน้ำ คนหิวอาหารได้รับประทานอาหารบรรเทาเวทนาเก่าลงได้ และห้ามเวทนาใหม่ไม่ให้กำเริบขึ้นมาได้ ฉะนี้ ก็จักได้ชื่อว่าสัมผัสถูกต้องเวทนาที่เป็นสุข ถ้ามิฉะนั้น เปรียบเหมือนหนึ่งคนยากจนเข็ญใจ เมื่อได้ลาภ ยศ ฐานนันดรอันใดอันหนึ่งแล้ว ก็ย่อมมีความชื่นชมยินดีเป็นกำลัง ดังนายควาญช้าง เดิมทีก็เป็นคนยากจนอนาถา ครั้นได้รับจ้างเขาเลี้ยงช้าง แล้วก็ได้รับประทานอาหารเช้าเย็น ครั้นอยู่มาภายหลัง ก็ได้เสวยราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์ เสวยแต่เวทนาที่เป็นสุขฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นก็เปรียบเหมือนหนึ่งพระเจ้าสักกมันธาตุราชกุมาร เมื่อเดิมทีนั้นก็เป็นคนยากจนเข็ญใจ จะแสวงหาอาหารบริโภคแต่ละมื้อนั้นก็ทั้งยาก จนที่สุดแม้แต่ผ้าจะนุ่งจะห่มก็ไม่มี มีแต่นุ่งใบไม้ ครั้นภายหลังก็ได้เป็นบรมจักรพรรดิ แสนที่จะมีความสุขสบายดังนี้
ฐิตา:
๕. ทุกขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา
ในลำดับนี้จักได้วิสัชนาแก้ไขในบทที่ ๕ สืบต่อไป โดยพระบาลีว่ ทุกขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยทุกขายะ เวทนายะ นามธรรมที่ได้เสวยอารมณ์เป็นทุกข์ โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่ทรงไว้ซึ่งจิตของบุคคลที่มีความลำบากนั้นก็ได้แก่คนที่ยากจนเข็ญใจและคนที่มีโรคาพยาธิเบียดเบียนต่าง ๆ และคนที่ต้องราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย เป็นต้น เหล่านี้แลชื่อว่า ทุกขายะ เวทนายะ เป็นทุกขเวทนาอีกอย่างหนึ่ง คือทุกข์ของสัตว์ในนรก ทุกข์ของเปรต อสุรกาย ทุกข์ของสัตว์ดิรัจฉานกำเนิด ทุกข์ของสัตว์ที่จักเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ดังนี้แลชื่อว่า ทุกขเวทนา
ท่านสกวาทีอาจารย์จึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างที่ได้แสดงมานี้คือใคร ผู้ใดเป็นตัวอย่างขอรับ โปรดได้อัตตาธิบายให้แจ่มแจ้ง ขอรับ?
ท่านปรวาทีอาจารย์จึงนำบุคคลยกขึ้นมาแสดงให้เห็นเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า ยังมีสตรีผู้หนึ่งชื่อว่า นางสุปวาสา เป็นมารดาของพระสีวลีที่ทรงพระครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ครั้นภายหลัง นางสุปวาสา ผู้เป็นมารดานั้นจึงได้ชี้แจงแสดงเหตุให้ปรากฏว่า ตนประกอบไปด้วยความทุกข์เหลือที่จะอดทนพ้นที่จักพรรณนาเป็นต้นว่า ครรภ์นั้นได้ใหญ่เกินประมาณ จะนั่งก็เป็นทุกข์ จะนอนก็เป็นทุกข์ จะยืนก็เป็นทุกข์ จะเดินก็เป็นทุกข์ ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า ทุกขเวทนา ทุกข์นั้นแปลว่าลำบาก ลำบากนั้นแปลว่าความชั่ว ก็มาจากความชั่วที่ตนเองกระทำไว้ไม่ดี เพราะเหตุนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสเทศนาว่า สัพพะปาปัสสะอะกะระณัง ดังนี้ ก็เพื่อพระพุทธประสงค์ไม่ให้สัตว์กระทำบาป เพราะทรงพระกรุณาแก่สัตว์ จักไม่ให้ได้เสวยทุกขเวทนา ด้วยทรงหวังพระหฤทัยว่าจักให้สัตว์ได้เสวยแต่สุขเวทนายิ่ง ๆ ขึ้นไปฉะนี้ฯ
ฐิตา:
๖. อะทุกขะมะสุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา
เบื้องหน้าแต่นี้จักได้แสดงในบทที่ ๖ อะทุกขะมะสุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา นี้ต่อไป ข้อนี้แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยเวทนาที่ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ โดยความอธิบายว่า ทุกข์ก็อาศัยแก่เบญจขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อได้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา วิจารณญาณเห็นเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน หรือเห็นว่าเป็นอย่างอื่น มิใช่เราและตัวตนของเราแล้ว อุปาทานก็ไม่เข้าไปใกล้ไปยึดถือปล่อยวางเฉย เพราะฉะนั้นจึงว่า สุขทุกข์ไม่มีดังนี้ ส่วนอารมณ์นั้นเล่าก็มีอุเบกขา อุเบกขานั้นแปลว่า เข้าไปเห็นเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เบญจขันธ์ทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับสูญไปสิ้นไป ส่วนความรู้ความเห็นนั้นก็ไม่เจือปนอยู่ด้วยเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เพราะเหตุนั้นจึงว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข ฉะนี้ฯ
ท่านพระสกวาทีอาจาจารย์จึงถามสืบต่อไปว่า อารมณ์ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนั้นเป็นอย่างไร เป็นโลกีย์หรือเป็นโลกุตระ หรือเป็นประการใด?
ท่านพระปรวาทีอาจารย์จึงได้เฉลยวินิจฉัยว่า ความที่ว่าไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนั้น ที่เป็นโลกีย์ก็มี ที่เป็นโลกุตรก็มี เปรียบเหมือนหนึ่งอารมณ์ที่ร้อนแล้ว แลมีความปรารถนาจักให้พ้นร้อนไปหาเย็น แต่ยังไปไม่ทันจะถึงความเย็นฉะนั้น
แล้วท่านปรวาทีอาจารย์จึงย้อนถามท่านสกวาทีอาจารย์กลับคืนมาอีกว่า ท่านสกวาทีอาจารย์จักมีความเห็นเป็นอย่างไร เมื่อได้ออกจากความร้อนแต่ยังไม่ทันถึงความเย็น?
ท่านสกวาทีฯ ตอบว่า อารมณ์นั้นร้อน
ท่านปรวาทีอาจารย์จึงถามอีกว่า อารมณ์นั้นจักร้อนอย่างไร เมื่อได้หนีพ้นร้อนมากแล้ว?
พระสกวาทีฯ จึงตอบว่า ถ้าพ้นอารมณ์ร้อนมาแล้ว อารมณ์นั้นก็เย็น
พระปรวาทีฯ จึงว่า จะเย็นได้อย่างไรเพราะยังไม่ถึงความเย็น?
พระสกวาทีฯ จึงว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว อารมณ์นั้นก็ไม่เย็นไม่ร้อน
พระปรวาทีฯ จึงอนุโลมคล้อยตามว่า นั้นแลธรรมที่สัมปยุตแล้วด้วยเวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข
ท่านสกวาทีอาจารย์ยังมีความวิมุติกังขา คือ มีความสงสัย จึงไถ่ถามอีกว่า ธรรมที่เป็นโลกีย์นั้นคือใคร ผู้ใดกระทำได้แล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าชี้บอกบุคคลที่เป็นโลกีย์มาแสดงในทีนี้ เพื่อให้เห็นเป็นแบบอย่างสักเรื่องหนึ่ง พอเป็นเครื่องเตือนสติให้สิ้นความสงสัย?
ท่านปรวาทีฯ จึงนำบุคคลมาแสดงเพื่อให้เป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า เอโกเถโร ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่ง ไปเจริญสมณธรรมอยู่ในอรัญราวป่า ท่านได้นั่งเจริญวิปัสสนา พิจารณาซึ่งสังขารธรรม คืออนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความทนทุกข์ยากลำบาก อนัตตา ความมิใช่ตัวเราและของเรา หรือตัวตนของเรา จนอารมณ์นั้นไม่มีทุกข์ไม่มีสุข แต่เฉย ๆ อยู่ตลอดกาล ขณะนั้นยังมีเสือโคร่งใหญ่ตัวหนึ่ง เข้ามาคาบเอาพระมหาเถระองค์นั้นไปบริโภคเป็นภักษาหาร เมื่อเดิมทีนั้นก็บริโภคตั้งแต่เท้าขึ้นไปจนถึงโคนเข่า พระผู้เป็นเจ้าก็ไม่สุขไม่ทุกข์ จิตของพระผู้เป็นเจ้านั้นก็ยังเป็นโลกีย์อยู่ คือท่านยังเป็นปุถุชน ยังไม่ได้สำเร็จอะไร เมื่อเสือโคร่งใหญ่นั้นบริโภคถึงจะเอวและท้องน้อย ท่านก็ยังไม่สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษอันใด อารมณ์ของท่านนั้นก็ยังเฉย ๆ อยู่ ไม่ได้เดือดร้อนหวั่นไหว ครั้นบริโภคถึงดวงหฤทัยของท่านแล้ว ท่านก็ได้สำเร็จอรหันต์พ้นกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในปากเสือโคร่งใหญ่นั้น ฉะนี้ฯ
อนึ่ง นักปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณพึงสันนิษฐานเข้าในตามนัยพระพุทธภาษิตอันวิจิตรพิศดาร อาตมารับประทานวิสัชนามาในติกมาติกาบทที่ ๖ แต่ขอสังขิตนัยโดยย่นย่อพอสมควรแก่กาลเวลาเพียงเท่านี้ฯ
ฐิตา:
๗. วิปากา ธัมมา
ณ บัดนี้จักได้แก้ไขในติกมาติกาที่ ๗ ตามลำดับสืบไป โดยนัยพระบาลีว่า วิปากา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นสุขและทุกข์ต่าง ๆ กัน คือกรรมวิบากที่เป็นส่วนบุญนั้นเรียกว่า กุศลวิบาก ๑ กรรมวิบากที่เป็นส่วนบาปนั้นเรียกว่า อกุศลวิบาก ๑ ขันธวิบาก ๑ และปัญญาวิบาก ๑
กรรมวิบากนั้นเป็นผลจาก ๒ ประการ คือ อกุศลวิบาก ได้แก่ผลทุจริต ๓ คือ กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑ ทุจริตทั้ง ๓ เหล่านี้เป็นฝ่ายอกุศลวิบาก กุศลวิบาก ได้แก่ผลสุจริต ๓ คือ กายสุจริต ๑ วจีสุจริต ๑ มโนสุจริต ๑ สุจริตทั้ง ๓ เหล่านี้ เป็นฝ่ายกุศลวิบาก เมื่อเสวยแล้วก็มีผลต่าง ๆ กัน
ทุจริตทั้ง ๓ นั้นได้แก่สัตว์ที่เสวยทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่าให้โรคาพยาธิเบียดเบียนมาก และให้เป็นคนยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์อับปัญญาและยังสัตว์ให้ตกไปในอบายภูมิทั้ง ๔ ฉะนี้ ชื่อว่าอกุศลวิบากทั้ง ๔
ผลกรรมที่ ๒ คือ สุจริตทั้ง ๓ นั้นได้แก่สัตว์ที่เสวยความสุขสนุกสบายต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่าให้ปราศจากโรคาพยาธิและให้มั่งมีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์บริบูรณ์มาก และยังสัตว์ให้เสวยสมบัติในฉกามาพจรสวรรค์เป็นต้นฉะนี้ ชื่อว่า กุศลวิบาก
ขันธวิบากนั้นคือยังร่างกายของสัตว์ให้ได้โทษ ลดน้อยถอยกำลังลงไป และให้ฟันหัก ผมหงอก เนื้อหนังเหี่ยวแห้ง หูตึง ตามืดมัวไป ทั้งสรีระร่างกายนั้นไซร้ก็คดค้อมน้อมโค้งไปเบื้องหน้า ให้ทรมานทรกรรมด้วยโรคาพยาธิต่าง ๆ ฉะนี้ จึงชื่อว่า ขันธวิบาก
ปัญญาวิบากนั้นยังสัตว์ให้รู้จักบาปรู้จักบุญ รู้จักคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ทั้งปวงตามความเป็นจริงได้ และให้มีปัญญาสามารถรู้จัก สัพพเญยยธรรม ที่เป็นโลกีย์และเป็นโลกุตรได้ฉะนั้น จึงชื่อว่า ปัญญาวิบาก
ท่านพระสกวาทีฯ ได้เสวนาการฟังธรรมบรรยายแล้วก็ชอบใจชื่นชมยินดียิ่งนัก จึงขอให้ท่านปรวาทีฯ ยกเอาบุคคลตัวอย่างต่อ เพื่อเป็นนิทัศนนัยอีก ๔ คนว่า อกุศลวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด กุศลวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด ขันธวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด และปัญญาวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด ขอรับ?
ท่านพระปรวาทีฯ จึงได้เฉลยตอบต่อไปว่า อกุศลวิบากนั้นได้แก่อุบาสกที่ถูกตัดคอนั้นเอง กุศลวิบากนั้นก็ได้แก่ท้าวมหาชมพูบดีนั่นเอง ขันธวิบากนั้นก็ได้แก่พระปูติกติสสะเถระนั้นเอง ปัญญาวิบากนั้นได้แก่พระจุฬบันถกนั้นเองฯ แก้ไขในติกมาติกาบทที่ ๗ โดยสังเขปก็ยุติไว้แต่เพียงนี้ฯ
ฐิตา:
๘. วิปากะธัมมะ ธัมมา
ในลำดับนี้จักได้แสดงติกมาติกาในบทที่ ๘ ว่าด้วย วิปากะธัมมะ ธัมมา สืบไปต่อไป โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายอันเกิดแห่งวิบาก ได้แก่ เหตุและปัจจัย เปรียบเหมือนหนึ่งผลมะพร้าวห้าว (แห้ง) ที่ควรจะงอกออกมาจากผลมะพร้าวได้ และมีบุคคลนำเอาไปปลูกไว้ในแผ่นดิน ต้นมะพร้าวนั้นก็งอกงาม เจริญใหญ่โตขึ้นมาจนถึงแก่ตกจั่น แล้วก็กลายเป็นมะพร้าวอ่อนและมะพร้าวห้าว ต้นมะพร้าวที่งอกงามเจริญขึ้นนั้นได้แก่เหตุ บุคคลที่นำไปปลูกลงไว้นั้นได้แก่ปัจจัย ผลมะพร้าวอ่อนและผลมะพร้าวห้าวที่ควรจะบริโภคนั้นได้แก่วิบาก
อีกนัยหนึ่งว่า อกุศลกรรมนั้นเปรียบเหมือนหนึ่งต้นไม้ที่มีพิษสง เมื่อมีผลสุกแล้วก็ให้โทษแก่บุคคลผู้บริโภคฉะนั้น กุศลวิบากนั้นเปรียบดุจหนึ่งต้นไม้ที่ไม่มีพิษสง เมื่อมีผลอันสุกแล้ว ก็ย่อมนำประโยชน์ให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั่วไป โดยเหตุนี้จึงว่า บาปเป็นเหตุ ทุกข์เป็นผล บุญเป็นเหตุ สุขเป็นผล ดังนี้
เพราะเหตุนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสเทศนาไว้ว่า วิปากะธัมมะ ธัมมา ฉะนี้ โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นเครื่องอุดหนุนของความสุขพิเศษ เปรียบเหมือนเครื่องบ่มผลไม้ทั้งปวง มีผลมะม่วงและกล้วยเป็นต้น อีกประการหนึ่ง ด้วยอวิชชานี้แลเป็นวิบากธรรม เพราะสังขาร วิญญาณ นามรูป จะบังเกิดได้ ก็ต้องอาศัยอวิชชาเป็นเดิมเหตุ ถ้ามิฉะนั้นก็ต้องอาศัยแก่มูล ๖ คือ กุศลมูล ๓ และอกุศลมูล ๓ มูลทั้ง ๖ นี้เป็นเหตุให้บังเกิดบุญ เกิดบาป เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า วิปากะธัมมะ ธัมมา ฉะนี้ฯ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version