วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม

พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

<< < (3/15) > >>

ฐิตา:



๙. เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา

    ในลำดับนี้จักได้แสดงในบทที่ ๙ ว่า เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา นี้สืบต่อไป โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายมิใช่เหตุ มิใช่วิบาก แปลว่าธรรมไม่มีวิบาก ไม่มีเหตุปัจจัยดังนี้ โดยความอธิบายว่า ธรรมที่ไม่มีทั้งเหตุทั้งผล เปรียบเหมือนบุคคลที่นอนหลับฝันไปว่า ได้บริโภคอาหารอิ่มหนำสำราญใจ ครั้งตื่นขึ้นมาแล้วอาหารและความอิ่มในฝันก็หายไปหมด อาหารนั้นได้แก่เหตุ ความอิ่มในอาหารนั้นได้แก่ผล บุคคลที่นอนหลับฝันไปนั้นก็ได้แก่ธรรม คือ เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา ฉะนี้ เมื่อตราบใดธรรมนั้นแสดงให้ตรงกับธรรมชื่อว่า เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา ฉะนี้ก็คือพระนิพพานแล้ว เมื่อยังไม่ถึงพระนิพพานตราบใด ธรรมดวงนั้นก็ต้องอาศัยบุญและบาปที่สัตว์กระทำอยู่ ครั้นถึงพระนิพพานแล้ว บุญและบาปก็สูญไปหมด ดังมีพระบาลีปรากฏว่า เอสะ ธัมโม สะนันตะโน ธรรมดวงเดียวนี้แลเป็นธรรมของเก่า เป็นธรรมเครี่องยินดีของสัตตบุรุษทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน หรือแปลอีกนัยหนึ่งว่า เป็นธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านได้ข้ามไปแล้วจากกิเลส ฉะนี้ฯ

    พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า ธรรมดวงเดียวนี้เป็นธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ข้าพเจ้ามีความสนใจมานานแล้ว ข้าพเจ้าอยากจะเข้าใจโดยง่าย ๆ เพราะฉะนั้นขอความกรุณาให้ท่านปรวาทีฯ จงแสดงอุปมาอุปไมยเพื่อให้เกิดสันนิษฐาน ณ กาลบัดนี้ด้วยเถิด ขอรับ?

    พระปรวาทีฯ จึงแสดงอุปมาว่า ธรรมดวงนี้เปรียบเสมือนหนึ่งบุคคลย้อมผ้าด้วยสีต่าง ๆ มีสีเหลือง ดำ แดง เป็นต้น บุคคลที่ย้อมผ้านั้นก็ได้แก่สังขารนั้นเอง สีต่าง ๆ นั้นก็ได้แก่วิบากกรรม คือ ผลแห่งบุญและบาปนั้นเอง ผ้านั้นก็ได้แก่ธรรมชื่อว่า เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา นี้เอง เมื่อบุคคลย้อมผ้าและสีต่าง ๆ นั้นหายสูญจากไปจากผ้าแล้ว ผ้านั้นก็มีสีขาวบริสุทธิ์อย่างเดิม ปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณพึงสันนิษฐานเข้าใจตามนัยพระพุทธภาษิตอันวิจิตรพิศดาร ได้แสดงมาในติกมาติกาบทที่ ๙ แต่โดยสังขิตกถาไว้เพียงเท่านี้ฯ

ฐิตา:

                 

๑๐. อุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา

   ในลำดับนี้จักได้แสดงติกมาติกาบทที่ ๑๐ สืบต่อไป ตามนัยพระบาลีว่า ปาทินนุปาทานิยา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ทรงไว้ซึ่งธรรมชาติอันเป็นเครื่องกำหนดในอุปทาน คือความเข้าไปถือเอาซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของถาวรมั่นคง หลงว่าเป็นของดีงาม ถือว่าเป็นของตนจริง ๆ เพราะฉะนั้นจึงได้ถือว่าอุปาทานจักบังเกิดขึ้นได้ ก็อาศัยความไม่รู้จักว่าเป็นโทษ เห็นไปว่าเป็นคุณประโยชน์แก่ตน เพราะฉะนั้นจึงได้หลงรักใคร่พอใจ ชอบใจ แต่อันที่จริงนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ ย่อมให้โทษหลายอย่างหลายประการ โทษของรูปนั้นเป็นต้นว่า หนาวก็เป็นทุกข์ ร้อนก็เป็นทุกข์ อยากข้าวอยากน้ำก็เป็นทุกข์

    ถ้าจะอุปมาให้เห็นชัดแล้ว บุคคลที่ถือรูปว่าเป็นของของตนนั้น ย่อมหลงกระทำแต่บาปกรรม เพื่อนำมาบำรุงซึ่งรูปของตนและรูปของท่านผู้อื่น ครั้นตายไปแล้วก็ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาในอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น ก็เพราะเหตุที่เขาถือว่ารูปเป็นของของตนนี้เอง อุปมาเหมือนเวทนาบุคคลที่งูกัดตายฉะนั้น อีกประการหนึ่ง บุคคลที่ถือว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของของตนนั้น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มิใช่ของของตนเพราะเป็น วิปริณามะธรรม รู้ยักย้ายกลับกลายไปต่าง ๆ ก็ยังขืนยึดถือไว้ว่าเป็นของของตน เพราะฉะนั้น บุคคลที่ถือไว้ว่าเป็นของของตนนั้น ก็อยากให้มีแต่ความสุขสบาย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นกลับกลายร่ำไป แต่บุคคลก็ยังขืนยึดถือเอาไว้ว่าเป็นของของตน เพราะฉะนั้นจึงได้ประสบแต่ความทุกข์ยากลำบากใจหลายอย่างหลายประการ เพราะอุปทานเข้าไปยึดถือไว้ไม่วาง ฉะนี้ฯ

ฐิตา:


๑๑. อะนุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา

    จักได้แสดงในบทที่ ๑๑ สืบต่อไปว่า อะนุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกำหนดถือเอาซึ่งอารมณ์ที่ไม่พึงถือเอา ดังนี้ โดยความอธิบายว่า โลกธรรมทั้ง ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทั้ง ๔ เหล่านี้เป็นอิฏฐารมณ์ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และความทุกข์ ทั้ง ๔ เหล่านี้เป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ทั้ง ๘ เหล่านี้เรียกว่า โลกธรรม เพราะโลกธรรมทั้ง ๘ นี้กระทำใจให้ขุ่นมัววุ่นวายไป ไม่ใช่เครื่องระงับ และกระทำใจให้เดือดร้อนไปต่าง ๆ เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสไว้ว่า อะนุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันไม่ควรเข้าไปถือเอาเป็นอารมณ์ ดังนี้ เพราะเหตุว่าโลกธรรมทั้ง ๘ เหล่านี้เปรียบเหมือนกงจักรสำหรับดักสัตว์ให้หมุนเวียนไป ให้ได้เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ ดังเปรตที่ต้องกงจักรตัดศรีษะ แต่สัตว์ทั้งหลายเห็นว่าโลกธรรมทั้ง ๘ เหล่านี้เป็นความสุข ก็เช่นเดียวกันกับโลกธรรมทั้ง ๘ ที่กระทำสัตว์ให้วุ่นวายเดือดร้อนไป เสวยแต่ความทุกขเวทนา ดังนี้ฯ

ฐิตา:

                   

๑๒. อะนุปาทินนานุปาทานิยา ธัมมา

   ในบทที่ ๑๒ ว่า อะนุปาทินนานุปาทานิยา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกำหนดถึงธรรมที่ควรพึงถือเอาและธรรมที่ไม่ควรพึงถือเอา ดังนี้ โดยความอธิบายว่า ธรรมที่ควรจะพึงถือเอานั้นก็คือ พระอริยมรรคทั้ง ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นนี้เอง ส่วนธรรมที่ไม่ควรพึงถือเอานั้นคือโลกธรรมทั้ง ๘ นั้นเอง โดยเนื้อความในพระบาลีว่า ไม่ถือซึ่งโลกธรรมทั้ง ๘ และถือเอาพระอริยมรรค ๘ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า อะนุปาทินนานุปาทานิยา ธัมมา ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกา บทที่ ๑๒ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ

ฐิตา:

                   

๑๓. สังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา

   จักได้แสดงในติกมาติกาที่ ๑๓ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า สังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ดังนี้ โดยความอธิบายว่า บุคคลบางจำพวกได้วิตกคิดไปถึงบุคคลที่ได้ฆ่าคน ที่ได้ลักของของตนไป ที่ได้กระทำล่วงเกินลูกเมียของตน ที่ได้หลอกลวงตน ดังนี้ เหตุ ๔ ประการนี้ย่อมเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งสิ้น เปรียบเหมือนหนึ่งเหตุ ๔ ประการนี้ย่อมเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งสิ้น เปรียบเหมือนหนึ่งตั๊กแตนที่ยินดีในไฟ ถูกร้อนเข้าจึงได้รู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงได้สมกับพระบาลีว่า สังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา ฉะนี้ แต่เดิมทีนั้นจิตก็เศร้าหมองอยู่แล้ว ยังไปคิดเอาอารมณ์เศร้าหมองมาประสมกันด้วยจิตที่เศร้าหมองนั้นอีก จิตก็ยิ่งเศร้าหมองทวีขึ้นไปฉะนี้ แสดงติกมาติกาในบทที่ ๑๓ มาพอสมควรแล้ว จึงขอยุติไว้แต่เพียงนี้

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version