วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม

พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

<< < (13/15) > >>

ฐิตา:


๕๙. พะหิทธา ธัมมา

    ในบทที่ ๕๙ นั้นมีพระบาลีว่า พะหิทธา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นภายนอก โดยเนื้อความว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม อันเป็นที่อาศัยของหมู่สัตว์ทั่วไป อันเป็นตะวันดวงพระอาทิตย์ก็ดี จะเรียกว่า เตโชธาตุก็ดี หรือพื้นแผ่นดิน เรียกว่า ปฐวีธาตุก็ดี หรือลมพัดทั่วไปให้ใบไม้ไหว แลลมพายุใหญ่พัดให้ต้นไม้หักล้มลง หรือลมพายุพัดให้น้ำฝนตกลงมาที่เรียกว่า วาโยธาตุก็ดี หรือน้ำทั่วไปซึ่งมีในบึงบางห้วยหนอง เป็นต้น ที่เรียกว่า อาโปธาตุก็ดี หรืออายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เหล่านี้ก็จัดเป็น พาหิระกะธรรม ทั้งสิ้น ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า พะหิทธา ธัมมา ฉะนี้ฯ

ต๊ะติ้งโหน่ง:
 :25: :25: :25:

รวมเป็นสาม กุศลาธรรมา อกุศลาธรรมา อัพยากตาธรรมา

ฐิตา:

                      

๖๐. อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา   

    ในบทที่ ๖๐ นั้นมีพระบาลีว่า อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันมีทั้งภายในและภายนอก โดยเนื้อความว่า ธรรมที่จัดเป็นภายในภายนอกนั้น ก็เป็นเหตุอาศัยซึ่งกันและกันไป ธรรมภายในก็เป็นเหตุให้ละกิเลสภายนอกได้ ธรรมภายนอกก็เป็นเหตุให้ละกิเลสภายในได้ เปรียบเหมือนหนึ่งพระปทุมกุมารได้ทัศนาการเห็นดอกปทุมชาติบัวหลวงแล้ว ก็บังเกิดโยนิโสมนสิการ พิจารณาเห็นโดยพระไตรลักษณญาณแล้ว ก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยอำนาจพระไตรลักษณญาณ แต่ต้องอาศัยธรรมภายนอก คือดอกปทุมชาติบัวหลวงเป็นเหตุก่อน จึงสำเร็จได้ เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา ดังนี้
 
    อีกประการหนึ่งความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็จัดเป็น พาหิระกะธรรม เพราะเป็นธรรมเกิดขึ้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องอาศัยเหตุภายนอกคือมารดาบิดาก่อน จึงจะบังเกิดขึ้นได้ วิญญาณนั้นไซร้เป็นธรรมภายใน มารดาบิดาเป็นธรรมภายนอก ความแก่นั้นก็มี ๒ ประการ คือ ปฏิจฉันนะชรา ความแก่ภายใน ๑ อัปปฏิจฉันนะชรา ความแก่ภายนอก ๑ พยาธิ ความเจ็บกายไม่สบายใจก็มีอยู่ ๒ คือ ความเจ็บปวดบังเกิดขึ้น ความไม่สบายในใจ เจ็บใจ แค้นใจ จัดเป็นอัชฌัตติกธรรมภายใน ความตายเป็นพาหิรกธรรมภายนอก ความตายก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ ตายด้วยโรคบังเกิดขึ้นภายในกาย เรียกว่า อัชฌัตตมรณธรรมภายใน ๑ ตายด้วยเครื่องศาสตราวุธ เป็นต้น อันเกิดขึ้นด้วยความเพียรของท่านผู้อื่น เรียกว่า พาหิรกมรณธรรมภายนอก ๑ เพราะเหตุนั้นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้นเหล่านี้ เมื่อจะกล่าวถึงโศกปริเทวทุกข์ต่าง ๆ นั้นแล้ว ก็มีนัยเช่นเดียวอย่างเดียวกัน บางทีบังเกิดแต่เหตุภายในอาศัยเหตุภายนอกก็มี บางทีบังเกิดแต่เหตุภายนอกอาศัยเหตุภายในก็มี เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา นี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๖๐ แต่โดยสังเขปเพียงเท่านี้ฯ

ฐิตา:



๖๑. อัชฌัตตารัมมะณา ธัมมา

    ในลำดับนี้จะได้วิสัชนาในติกมาติกาบทที่ ๖๑ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อัชฌัตตารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันมีอารมณ์เป็นภายใน โดยเนื้อความว่า พระโยคาวจรเจ้าผู้แสวงหาซึ่งความสุขสำราญใจ แลมาเจริญญาณสมาบัติให้บังเกิดขึ้นในตน เพราะฌาณสมาบัตินั้นเป็นธรรมบังเกิดขึ้นในภายใน ท่านทั้งหลายเหล่านี้ย่อมแสวงหาแต่ความระงับ เพ่งเอาแต่สมาบัติให้เป็นอารมณ์ เช่นเดียวกับสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตร เมื่อเวลาเขาจะเอาไปฆ่า พระสารีบุตรจึงไปเตือนให้สติ ก็ระลึกถึงฌาณที่ตนเคยได้เจริญนั้นได้ ก็เพ่งฌาณความระงับนั้นให้เป็นอารมณ์แล้ว ก็เหาะหนีรอดความตายไปได้

    โดยความอธิบายว่า ก็ได้แก่ธรรมที่เย็นใจ ความบริสุทธิ์ใจเย็นใจนี้แล เป็นธรรมภายในแผ่ซ่านออกไปให้เป็นอารมณ์ในภายนอก บุคคลจะได้ประสบซึ่งความสุขกายสบายจิตทั้งภายในแลภายนอกนั้น ก็ต้องอาศัยธรรมภายในดวงเดียว มีความบริสุทธิ์ใจแผ่ซ่านออกไปเป็นอารมณ์ภายนอก ธรรมภายนคือความบริสุทธิ์ภายในใจดวงเดียวนี้แล ย่อมสามารถจะยังสรรพทุกข์ภัยอุปัทวันตรายทั้งปวงให้เข้าไประงับดับเสียได้ สมดังนัยพระพุทธสุภาษิตว่าปะริตตัง พุทธมันตานัง ปะวะรัง สัพพะมันตานัง อัชฌัตติกะพาหิเรชาตัง อันตะยายัง วิสาสะนัง ปะริตตา นุภาเวนะ ละภันติ สัพพะมังคะลัง ดังนี้

    โดยความอธิบายว่า ธรรมภายในคือใจบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์นั้นเรียกว่าธรรมมีประมาณน้อย ปะริตตัง แปลว่า พระนิพพาน เป็นธรรมมีประมาณน้อย ธรรมน้อยดวงเดียวนี้แล พุทธะมันตานัง เป็นมนต์ของพระพุทธเจ้า ปะวะรัง สัพพะมันตานัง และเป็นมนต์อันประเสริฐกว่ามนต์ทั้งปวง อัชฌัตติกะพาหิเรชาตัง อันตะรายัง วิสาสะนัง อันตรายอันหนึ่งอันใดซึ่งบังเกิดมีภายในแลภายนอก ก็ย่อมเสื่อมสูญไปโดยอำนาจแห่งพระปริตต์ คือพระนิพพานเป็นธรรมมีประมาณน้อยนี่เอง ปะริตตา นุภาเวนะ ละภันติ สัพพะมังคะลัง สรรพสัตว์ทั้งหลายจะได้ประสบซึ่งความสุขสำราญใจก็ได้เพราะอานุภาพแห่งพระปริตต์อันเป็นธรรมมีอารมณ์ภายในอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า อัชฌัตตารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้ฯ

ฐิตา:


                     

๖๒. พะหิทธารัมมะณา ธัมมา

    ในบทที่ ๖๒ นั้นมีพระบาลีว่า พะหิทธารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันมีอารมณ์เป็นภายนอก โดยเนื้อความว่า บุคคลทั้งหลายเมื่อได้ประสบซึ่งเวทนาอันใดอันหนึ่งแล้ว ก็ย่อมเอารูปเป็นอารมณ์ เพราะรูปนั้นเป็นพาหิรกธรรมภายนอก ส่วนเวทนานั้นก็หาได้ระงับลงไม่ กลับได้เสวยซึ่งเวทนากล้ายิ่ง ๆ ยิ่งขึ้นไป เปรียบเหมือนจันทคหาบัณฑิต ที่ได้ประสบซึ่งความทุกขเวทนาแล้ว แลเพ่งเอารูปภายนอกเป็นอารมณ์ จนถึงแก่ความตายไปด้วยพวกโจรนั้น

    โดยความอธิบายว่า ความไม่สงบระงับใจ คือความเดือดร้อนขึ้นในใจ แต่ใจนั้นก็เป็นธรรมชาติดิ้นรนเดือดร้อนอยู่โดยปกติธรรมดาของตนแล้ว มิหนำซ้ำยังเอาธรรมภายนอก ซึ่งมิใช่ธรรมเครื่องระงับเข้ามาเป็นอารมณ์อีกเล่า ก็ยิ่งร้อนหนักทวีขึ้นไป เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้ทรงตรัสเทศนาสั่งสอนแก่พุทธบริษัททั่วไปว่า ธรรมภายนอกไม่ใช่ธรรมเครื่องระงับ และไม่ใช่ธรรมของเราตถาคต ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า พะหิทธารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version