ขอโทษด้วยความสมัครใจ (ให้อภัยด้วยเมตตาธรรม)โดยพระราชวิจิตรปฏิภาณ ถ้าคุณเกิดเป็นลูกฝรั่ง พ่อแม่และสังคมก็จะสอนลูก ๆ ว่า เมื่อทำผิดต้องรีบสำนึกรู้ตัวว่าผิด แล้วต้องกล่าวต่อผู้ที่ตนเองล่วงเกิน .."ข้าพเจ้ามีความเสียใจ ที่ได้ทำผิดต่อคุณในสิ่งนี้" เมื่อผู้ทำผิดพูดดังนี้แล้ว ต้องพูดต่อไปว่า " กรุณายกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด"...
ฝ่ายที่ได้ฟัง
คำสำนึกผิดก็จะตอบด้วยเมตตาและความสุภาพว่า .."อย่าไปใส่ใจเลย หรือ อย่าไปพูดถึงเรื่องนั้นอีกเลย..และทั้งสองฝ่ายก็จะจับมือกัน ถ้าอายุรุ่นราวคราวเดียวกันก็จะกอดกัน เป็นเครื่องหมายแห่งความรัก ดี สามัคคีกัน ฝรั่งที่เขาสอนกันอย่างนี้เพราะเห็นโทษและภัยอันเกิดจากความผิดพลาด กระทบกระทั่ง วิวาทบาดหมาง
อันจะเป็นผลให้เกิดการอาฆาต พยาบาท ทำร้าย จองล้างจองผลาญกัน จึงเห็นว่าน้อยครั้งที่ฝรั่งจะชกต่อยกัน ดักยิงดักฆ่ากัน หรือหาทางทำลายกัน ฝรั่งถือว่า.."
ใครขอโทษก่อนคนนั้นเป็นผู้มีเกียรติ เป็นผู้ที่ควรคบหาสมาคมเพราะจะไม่เป็น
ผู้นำภัยสู่การคบกัน และผู้ที่ให้อภัยด้วยคำดั่งกล่าวข้างต้น
ก็ย่อมได้รับการนับถือ เคารพบูชา"...
คนไทยเรามีอะไรมากมายที่อวดดื้อถือดี มีทิฎฐิอติมานะ สังคมไทยส่งเสริมยศศักดิ์ มีข้าทาสบริวาร เมื่อการล่วงเกินกัน ทำผิดต่อกันและกัน จึงไม่มีทั้งคำขอโทษและการให้อภัย เพราะคนไทยเห็นว่า .. "
การขอโทษเป็นการเสียเกียรติ และการให้อภัยเป็นการขาดทุนที่ถูกล่วงเกิน" ..คนไทยจึงมีความคิดว่า ..."ต้องเอาคืน" กอปรกับคนไทยเรามีบริวาร ลิ้วล้อ พวกประจบสอพลอมาก ทั้งยุยุงส่งเสริม ยุแยงตะแคงแหย่ ยุให้รำตำให้รั่ว บางทีคนที่ทำผิดคิดจะขอโทษ ก็มีพวกยุยื้อให้ว่าไม่ต้องขอโทษ เป็นอะไรเป็นกัน บางทีคนที่ถูกล่วงเกินจะให้อภัย ก็มีพวกยุยงว่าอย่ายอม ความไม่สามัคคีจึงมีในคนไทย นับแต่ระดับบุคคล หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับชาติ
พระพุทธศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นสังคมที่ ...
ระวังความพลาดพลั้ง สำนึกรู้ในความพลาดพลั้ง ขอขมา ให้อภัย ... ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันเข้าพรรษา พระสงฆ์แห่งวัดนั้น ๆ จะต้องตระเตรียมเครื่องขอขมาพระเถระ แล้วจัดทำพิธีขอขมา อโหสิกรรม โดยพระที่มีพรรษา (อายุ) น้อย ประคองเครื่องขอขมาด้วยมือทั้งสองข้าง แล้วกล่าวว่า... "
ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินต่อท่านนานัปการ ขอท่านโปรดยกโทษแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่าน กรรมใดที่ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินด้วย กาย วาจา ใจ ขอท่านได้โปรดยกโทษแก่ข้าพเจ้า ....เมื่อพระเถระได้เห็นกิริยา คำพูด เครื่องสักการะ ก็กล่าวคำว่า... "
ข้าพเจ้าได้รับการขอขมาจากท่านแล้ว ก็ขอยกโทษนั้น " พระผู้มีพรรษา (อายุ) น้อยกว่าก็ก้มลงกราบ จากนั้นมาก็อยู่ด้วยความสามัคคีธรรม มีความสุข สงเคราะห์เกื้อกูลต่อกันและกัน ครั้นเมื่อขอขมาในวัดเสร็จแล้ว ก็นิยมใช้เวลา 7 วันแรกของการเข้าพรรษา ไปขอขมา หรือที่ภาษาพระเรียกว่า "ทำวัตร" ไปยังวัดต่าง ๆ ที่มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ระดับเจ้าคณะชั้นปกครอง
การขอขมาจึงเป็น " อโหสิกรรม" หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นพิธี " ตัดกรรม "การที่คนเราเกิดมาจะทำมาหากินด้วยความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร การทำมาหากินก็ฝืดเคืองยากแค้น ยากเข็ญอยู่แล้ว ถ้าเกิดมีการวิวาทบาดหมาง มีศัตรูหลายระดับจะทำมาหากินอย่างไร การทะเลาะกัน การเป็นศัตรูกันมิใช่เป็นผลเสียเฉพาะตนเท่านั้น ถ้าคนทะเลาะกันแบ่งเป็นสองฝ่าย พระที่เคยสามัคคีกันแตกเป็นสองฝ่าย เด็กก็แตกเป็นสองฝ่าย สัตว์ก็แตกเป็นสองฝ่าย ผีก็แตกเป็นสองฝ่าย เทวดาก็แตกเป็นสองฝ่าย เรียกว่าพวกใครพวกมัน จากนั้นก็จ้องจับผิดคิดล้างแค้นกัน ทำแต่เรื่องวุ่นวายไม่เว้นแต่ละวัน
ศิริมงคลความเจริญความสุขก็หดหายไปจากตัวเองและสังคม โบราณพูดเสมอว่า... "ที่ไหนทะเลาะกันที่นั่นห่าลง คือเรียกฝ่ายตรงกันข้ามว่า ไอ้ห่า อีห่า" แล้วจะทะเลาะกันเพื่ออะไร ?
แน่นอนละ ไม่มีใครที่จะไม่กระทบกัน แต่ใครจะทำเสียงกระทบนั้นให้เป็นเสียงเพลง หรือเสียงแห่งความแตกสลาย เรื่องเสียดสีก็เช่นเดียวกัน ใครจะทำสิ่งที่เสียดสีกันให้เป็นเสียงเพลงหรือเสียงร้องไห้แบบพะอืดพะอม
นั่นย่อมขึ้นอยู่กับศิลปในการครองตน ครองคน ครองงานการทะเลาะจะไม่จบลงอย่างแน่นอน ถ้าไม่มีการขอขมา ไม่มีการให้อภัย ไม่หยุดการยุยงและยื้อยุด ฝ่ายหนึ่งไม่ขอขมา ฝ่ายหนึ่งถือโทษไม่ให้อภัย
ผลคิอความหายนะอันยืดยาว, ฝ่ายหนึ่งไม่ขอขมา แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ถือโทษยินดียืนหยัดในการให้อภัย ฝ่ายแรกย่อยยับฝ่ายหลังเจริญ, ฝ่ายหนึ่งขอขมา อีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้อภัย ผลคือฝ่ายแรกเจริญ ฝ่ายหลังหายนะ, ฝ่ายหนึ่งขอขมาและอีกฝ่ายหนึ่งให้อภัย ผลคือเจริญทั้งสองฝ่าย,
แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่มีการขอขมาและไม่มีการให้อภัย อีกทั้งยังมีการยุยงและยื้อยุด หายนะในวงกว้าง, หรือฝ่ายหนึ่งไม่ขอมข้างฝ่ายหนึ่งให้อภัย แต่บริวารไม่ยินยอมเป็นการบีบบังคับผู้ให้อภัย
การที่จะบังคับด้วยกำลังให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมขอขมาโดยที่เขาไม่ยินยอม ถึงจับหัวกดลงกับพื้นก็ไม่จัดว่าเป็นการขอขมา เพราะเมื่อเงยหน้าขึ้นมาแล้วเราอาจจะเห็นลายลายกองอยู่ตรงนั้นก็ได้ เห็นได้จากหนังฝรั่งหนังจีนหนังไทย การขอขมาและการให้อภัยจึงต้องเกิดจากใจเท่านั้น เกิดโดยที่... "
ผู้น้อยสำนึกผิดคลานเข้าไปหา ผู้ใหญ่เมตตาอโหสิกรรม " นี่คือ...
วิธีการ...ตัดกรรม และเมื่อเรื่องจบแล้วต้องไม่นำไปพูดและวิจารณ์ลับหลัง.