แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
นิทานเซ็น :จากมุมสงบ Kitty's Home
ฐิตา:
ถูก-ผิด
สมัยก่อนในประเทศจีน มีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง มีระเบียบให้พระเณรต้องออกไปทำวัตรเช้าตอนตีสี่ทุกวัน มีพระรูปหนึ่งจะตื่นแต่เช้าก่อนทำวัตรทุกวัน ท่านจะเดินส่องไฟไปตามทางเดินก่อนใคร เพื่อจับหอยทากที่คลานอยู่ตามทางเดิน ไปปล่อยเสียให้ห่าง จะได้ไม่ถูกพระเณรเหยียบย่ำ ท่านทำทุกวันจนพระอีกรูปหนึ่งเห็น จึงสอบถามกันขึ้น พระรูปแรกตอบว่า
"นอกจากสวดมนต์ภาวนาแล้ว ผมก็ประกอบกรรมดี สร้างบารมีไปเรื่อยๆ น่ะแหละ เป็นการหาบุญกุศลเพิ่มเติมเป็นพิเศษ"
"ท่านทราบไหม ที่ท่านทำอย่างนี้ เป็นการก่อกรรมทำเข็ญให้กับชาวสวนชาวไร่ หอยทากที่ท่านช่วยไว้จะแพร่กระจายไปทำลายพืชผล และแพร่กระจายเชื้อโรค คนทั้งหลายจะได้รับความเดือดร้อนเพราะการกระทำของท่าน" พระอีกรูปหนึ่งแย้ง
"ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านรูปนั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เป็นภัยแก่คนทั้งหลาย ท่านกำลังบำเพ็ญหน้าที่ของพระโพธิ์สัตว์ ช่วยพวกเราให้บำเพ็ญศีลได้บริสุทธิ์ โดยไม่ต้องทำให้ชีวิตตกล่วงไป"
พระรูปที่สามแสดงความเห็นบ้าง เมื่อไม่เป็นที่สรุปได้ว่า ใครผิดใครถูก ทั้งหมดก็พากันไปหาหลวงพ่อโตกุซัน เจ้าอาวาส ท่านอาจารย์นั่งฟังการชี้แจงของพระแต่ละรูปด้วยความกรุณาและเห็นใจเป็นที่สุดพระรูปแรกชี้แจงว่า
"ผมอายุมากแล้ว บวชเรียนมาก็ตั้งใจสะสมความดีแม้จะเพียงเล็กน้อย ถ้าหมั่นทำ ก็อาจเต็มได้เหมือนน้ำที่หยดลงตุ่มทีละหยด"
"ถูก ถูก ถูกแล้ว" หลวงพ่อฟังแล้วก็ชอบใจ
พระรูปที่สองชี้แจงบ้าง
"ถ้าว่ากันแล้ว เจตนาเป็นตัวแสดงกรรม เวลาเดินไปทำวัตรตอนเช้ามืด หากบังเอิญไปเหยียบหอยทากเข้า ก็ไม่ใช่เจตนา เมื่อไม่มีเจตนา ก็ไม่มีกรรม นอกจากนี้ยังได้ช่วยกำจัดสัตว์แพร่เชื้อโรคอีกด้วย"
"ถูก ถูก ถูกแล้ว" หลวงพ่อได้ฟังก็ชอบใจอีก
พระรูปที่สามจึงชี้แจงบ้างว่า
"การบำเพ็ญธรรมถ้ามีผู้เสียสละรับภาระบางอย่างไปเสีย ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้ประกอบกิจกระทำความหลุดพ้นได้อย่างเต็มที่ อย่างนี้จะมิถูกต้องกว่าหรือ"
"ถูก ถูก ถูกแล้ว" หลวงพ่อตอบ แสดงความชอบใจอีก
ขณะนั้น มีเณรอุปฐากนั่งพัดอยู่ข้างๆ ได้ยินคำชี้แจงของพระทุกรูป และหลวงพ่อโตกุซันก็รับว่า ถูก ถูก ทุกรายทั้งนั้น อดรนทนไม่ได้ ก็แสดงความคิดเห็นบ้างว่า
"หลวงพ่อได้แต่ร้องว่า ถูก ถูก ถูก มันจะถูกไปหมดทุกฝ่ายได้อย่างไร มีอันหนึ่งถูก อันอื่นก็ต้องผิดซิครับ หลวงพ่อ"
" อ๊ะ ! เธอนี่ก็ถูกอีก ถูก ถูก ถูกแล้ว"
เรื่องถูก ผิด ถ้าจะเถียงกันจนตายก็คงหาข้อสรุปไม่ได้เพราะทัศนะของแต่ละคน ย่อมแตกต่างกัน สำหรับผู้ที่มีเซ็นแล้ว ไม่มีอะไรเป็นที่น่าสงสัยว่าจะผิดหรือถูก เพราะพ้นแล้วจาก เรื่องถูก เรื่องผิด สำหรับผู้ที่รู้แจ้งโลกแล้ว ย่อมเห็นว่าแต่ละฝ่ายถูกด้วยกันทั้งนั้น
ถูก ถูก ถูกแล้ว !
ฐิตา:
สิริมงคล
มีชายผู้หนึ่งอายุ 60 ปีแล้ว แกอุตสาหะประกอบอาชีพสร้างครอบครัวจนมีฐานะเป็นเศรษฐี มีบุตรหลานพร้อมหน้า ต่อมาแกเกิดไม่แน่ใจว่า เมื่อสิ้นแกแล้ว ลูกหลานจะสามารถรักษาครองความเป็นเศรษฐีเช่นนี้ได้ตลอดไปหรือไม่ แกใคร่ครวญเพื่อหาหลักประกันอยู่หลายปีก็คิดว่า ทางเดียวที่จะพึ่งได้ก็คือพระ เพื่ออาศัยทางด้านอภินิหาร แกจึงไปหาหลวงพ่อซินก่าย พระเซ็นซึ่งเป็นที่นับถือทั่วไปในเวลานั้น เล่าความในใจให้ฟังแล้วนิมนต์ท่านไปฉันอาหารที่บ้าน และขอให้ช่วยเขียนคำอวยพรเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย ในวันพิธี ท่านเศรษฐีได้เชิญแขกเหรื่อและญาติมิตรมามากมาย หลังฉันอาหารแล้ว ท่านเศรษฐีก็ส่งม้วนกระดาษแดงและพู่กันให้หลวงพ่อซินก่าย หลวงพ่อจุ่มหมึกป้ายพู่กันอย่างรวดเร็ว เป็นอักษรสามประโยค
"ให้พ่อตายก่อน แล้วลูกตาย และหลานตาย" ทุกคนตกตลึงไปหมด
โดยเฉพาะท่านเศรษฐี หลุดปากออกมา "โอย หลวงพ่อ !"
หลวงพ่อซินก่ายเห็นเป็นโอกาส จึงสอนว่า
"ลูกเอ๋ย พ่อไม่ได้เขียนเล่นๆ คำว่า 'ตาย' นั้น ทุกคนจะต้องพบมิใช่หรือ ฉะนั้นถ้าหากว่าต้องตายแล้ว ก็ขอให้ตายเรียงกันก่อนหลังจะมิดีกว่าหรือความทุกข์ที่คนเราต้องรับกันอยู่ทุกวันนี้ก็หนักพออยู่แล้ว พวกเจ้าจึงไม่ควรจะต้องมาเสียน้ำตาที่ลูกหลานต้องมาด่วนจากไปก่อนเจ้า พ่อจึงถือว่าเป็นพร และเป็นสิริมงคลของวงศ์ตระกูล"
แล้วหลวงพ่อก็ได้แสดงธรรมให้ทุกคนรู้จักว่า "เงิน" นั้นคืออะไร เราควรจะจัดการกับมันอย่างไร จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องไปเป็นทุกข์กับเงินนั้น คงเหมือนกับการรักษาโรคในปัจจุบัน ที่แพทย์ทางโรคจิตใช้วิธีการทำช๊อคให้แก่คนไข้ที่อาละวาด อาจารย์เซ็นก็มีวิธีการทำช๊อคให้แก่ผู้ที่เมาสมบัติเหมือนกัน
ท่านคิดจะนิมนต์หลวงพ่อซินก่าย ไปเจิมสิริมงคลที่บ้านหรือยัง ?
ฐิตา:
แม่ชีใจสิงห์
เรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2340 สาวน้อยวัย 17 คนหนึ่ง ชื่อว่าโยเน็น นอกจากเธอจะมีรูปร่างหน้าตาสะสวยแล้ว ยังเกิดในตระกูลสูงและได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี พระจักรพรรดินีรับสั่งเรียกตัวเข้าเฝ้าถวายงาน เป็นที่โปรดปรานยิ่งนักแต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน พระจักรพรรดินีประชวรและสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน อนาคตในวังของสาวน้อยโยเน็นก็ดับวูบลงทันที เธอได้พบกับฉากจริงของชีวิตซึ่งทำให้เธอฉงนใจว่า โลกนี้มันอะไรกันแน่ เมื่อเผชิญกับปัญหาเธอจึงแสวงหาทางกำจัด เธอเริ่มสนใจพระพุทธศาสนา จนหนักเข้าก็คิดออกบวช
ทางฝ่ายพ่อแม่พอทราบเรื่องก็ตกใจ ห้ามปรามโดยอ้างถึงประเพณี ผลสุดท้ายมีการต่อรอง คือให้เธอแต่งงานและมีลูกสืบสกุลอย่างน้อย 3 คนก่อน เธอจึงจำต้องยอม ก่อนอายุครบ 25 เธอก็หลุดพ้นจากสัญญา จึงโกนหัวออกธุดงค์ท่องเที่ยวศึกษาแสวงหาสัจธรรม แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะทุกวัดที่เธอขอให้รับเป็นศิษย์ พากันเมินเฉยโดยไม่ใส่ใจ ซึ่งเธอก็หาเหตุผลไม่ได้ จนมาถึงเมืองเอโดะ เธอได้ไปหาอาจารย์เทตสุยุซึ่งชอบพูดแบบขวานผ่าซาก พอเหลือบเห็นโยเน็นเข้าเท่านั้นก็ปฏิเสธโพล่งออกไปทันทีว่า รับเธอไว้ในสำนักไม่ได้เพราะว่าเธอสวยเกินไป จะไม่เป็นผลดีต่อพระเณรในสำนัก เธอพบความจริงอีกด้าน หนึ่งแล้วเกี่ยวกับความสวยงาม ที่คนธรรมดาอยากได้กันนัก
เธอจึงซมซานต่อไปจนถึงวัดใหญ่อีกแห่งหนึ่งมีเจ้าอาวาสเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายเซ็น ชื่อหลวงพ่อฮากูอิน เธอกลัวจะเป็นเหมือนกับวัดที่ผ่านๆ มา จึงยังไม่เข้าไปพบหลวงพ่อทันที คืนนั้นเธอจึงขอพักอยู่กับแม่ชี คิดถึงตัวปัญหาที่ทำให้เธอไม่เป็นที่ยอมรับจากสำนักต่างๆ เพียงติดขัดที่ความสวยงามบนใบหน้าเท่านั้น ความคิดโพล่งขึ้นมา เธอจึงใช้เหล็กเผาไฟจนแดงแล้วเอาไปนาบตามใบหน้า จนเกิดรอยแผลเป็นลบความสวยงามเสียสิ้น แล้วก็โล่งใจที่สามารถขจัดตัวปัญหาเสียได้ วันรุ่งขึ้นเธอก็เข้าไปกราบหลวงพ่อฮากูอิน ขอให้รับเป็นศิษย์ และเธอก็แทบไม่เชื่อหูตนเอง เธอพบว่าได้คิดผิดอีกครั้ง ผิดครั้งนี้ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อไม่ให้อยู่ ท่านได้สอบถามถึงสาเหตุการนาบใบหน้าตนเองให้เสียโฉม พอทราบเรื่อง หลวงพ่อได้กล่าวสอนว่า
"เธอทำอย่างนั้นไม่ถูก เพราะว่าเซ็นที่แท้นั้นไม่มีความเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ที่ตนคิดไปว่าเป็นเพศนั้นเพศนี้แท้จริงเป็นเพียงมายา สัตว์โลกถูกกักขังไปไหนไม่รอดก็ด้วยเรื่องนี้"
โยเน็น พอได้ฟังก็กระจ่างขึ้นทันที แม่ชีโยเน็น ได้อยู่ศึกษาธรรมกับหลวงพ่อฮากูอินเป็นเวลา 13 ปี ได้รับการยกย่องมาก ในบั้นปลายจึงได้หลีกเร้นไปหาความวิเวกตามป่าเขาแถบบันซู มีผู้ไปขอศึกษาธรรมอยู่ด้วยถึง 200 คน และได้ดับขันธ์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2406 ก่อนจบขอทิ้งปริศนาธรรมซึ่งแม่ชีโยเน็น ได้ร้อยกรองไว้อย่างไพเราะ เป็นที่ยกย่องของพวกเซ็นมาจนถึงทุกวันนี้
"ฉากการเลื่อนไหลแห่งฤดูใบไม้ร่วงปีแล้วปีเล่าเวียนผ่านประจักษ์ต่อตาถึง 66 ครั้งแล้ว
เราได้เพรียกพร่ำถึงประภัสสรแห่งเดือนเพ็ญมามากพอแล้ว พวกเธออย่าได้มาซักถามอีกเลย
เพียงให้เธอไปเฝ้า เงี่ยฟังให้ได้ยินเสียงใบไผ่และใบสีดา เมื่อยามไม่มีลมพัดดูที"
ฐิตา:
เรื่องของคนตาบอด
ท่านอาจารย์บันเกอิ เป็นพระเซ็นที่โด่งดังมากในญี่ปุ่น มีลูกศิษย์มากมายทุกระดับทุกประเภท รวมทั้งคนตาบอดในเรื่องนี้ด้วย คนตาบอดคนนี้ไปมาหาสู่ท่านอาจารย์เป็นประจำ คืนหนึ่งแกก็มาวัดตามปกติ และอยู่สนทนากับท่านอาจารย์จนดึก บังเอิญคืนนั้นเป็นคืนเดือนมืด ตอนลากลับบ้านท่านอาจารย์จึงให้คนหาเทียนไข จุดใส่โคมกระดาษแบบญี่ปุ่น ให้แกเดินถือกลับบ้าน
"ไม่ต้องหรอกครับ กลางคืนหรือกลางวัน สำหรับผมแล้วก็เหมือนกัน ผมกลับบ้านเองได้เพราะผมชินทางแล้ว" คนตาบอดบอกท่านอาจารย์
"เอาไปเถอะ ถือไปนี่ไม่ได้สำหรับตัวเธอ แต่เผื่อไว้ให้คนอื่นเห็น จะได้ไม่มาเดินชนเพราะมันมืดออกอย่างนี้" ท่านอาจารย์แนะ แล้วคนตาบอดก็ถือโคมเดินกลับบ้าน ค่อยๆ เดินคลำทางไปช้าๆ พอไปได้สักพักใหญ่ แกก็ตกใจ เพราะได้ยินเสียงคนกำลังวิ่งสวบๆ สวนทางมาจะชนแก แกจึงเอ็ดตะโรขึ้นว่า
"อะไรๆ จะรีบไปไหนกันล่ะพ่อคุณ ตามไฟส่องให้แล้วนะนี่ มองไม่เห็นเรอะ ?"
"อะไรได้ เทียนของท่านมอดไหม้ดับหมดแล้ว" เสียงตอบมา
ทันทีที่ได้ยินว่าหมดเชื้อไฟที่จะตามส่องได้อีกแล้ว ดวงตาภายในของแกก็สว่างโพลงขึ้นทันที ณ ที่แกยืนอยู่นั่นเอง ต่อจากนั้น แกก็เป็นคนตาบอดที่บอดแต่ดวงตาเท่านั้น ส่วนตาในของแกไม่ได้บอดไปด้วยอีกเลย
ระหว่างคนตาดีและคนตาบอด ในแง่ของการหลุดพ้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะรู้จักโลกนี้ได้กว้างไกลพิศดารกว่าแล้วจะจบก่อน แต่อยู่ที่ว่าสิ่งที่ตนว่ารู้นั้นรู้แจ้งหรือไม่ต่างหากขณะนี้ตาท่านดีไม่บอด แต่ใจท่านบอดอยู่หรือเปล่า ?
ฐิตา:
เซ็นทุกนาที
ในรัชสมัยเมจิ มีพระเซ็นองค์หนึ่งชื่อเท็นโน อยู่ในข่ายที่ท่านอาจารย์นันอิน อาจารย์ใหญ่ฝ่ายเซ็น จะส่งตัวออกไปเผยแพร่พระธรรม ท่านเท็นโนจึงหาโอกาสที่จะไปกราบลาท่านอาจารย์ผู้เฒ่า เย็นวันนั้น ฝนตกไม่ขาดระยะ ท่านเท็นโนเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงกางร่มสวมรองเท้าไม้ เดินฝ่าสายฝนตรงไปยังกุฏิท่านอาจารย์นันอิน แล้วกราบเรียนเรื่องนี้ต่อท่านอาจารย์ และฟังความคิดเห็นว่าควรหรือไม่ ท่านอาจารย์เห็นศิษย์เข้ามาหา ก็ปฏิสันถารเป็นอันดี สักพักท่านก็ถามว่า
“ที่เธอมานี่ สวมเกี๊ยะมาหรือเปล่า ?”
“สวมมาครับ” ท่านเท็นโนตอบ
“ร่มล่ะ เธอกางร่มมาหรือเปล่า ?” ท่านอาจารย์ถามอีก
“กางร่มมาด้วยครับ ผมวางไว้นอกประตู” ท่านเท็นโนตอบ
ท่านอาจารย์นันอิน จึงถามต่อไปเรื่อยๆ อีกว่า
“ที่เธอวางร่มอยู่นอกประตูน่ะ เธอวางอยู่ทางด้านซ้ายหรือทางด้านขวาของเกี๊ยะ?”
ท่านเท็นโนนิ่งอึ้ง เพราะจำไม่ได้ พร้อมกับทราบด้วยตนเองว่าตนยังไม่พร้อม ที่จะนำพระธรรมไปเผยแพร่ เพราะตนยังไม่มีเซ็นอยู่ ทุกลมหายใจ ตกลงต้องอยู่ศึกษากับท่านอาจารย์นันอินไปก่อน โดยที่ท่านอาจารย์ไม่จำเป็นต้องเอ่ยปากห้ามปรามชี้แจง
ท่านเท็นโนต้องอยู่ศึกษาต่ออีก 6 ปี รวมเวลาศึกษาถึง 16 ปี ท่านจึงมีสติสมบูรณ์เต็มที่
ในสมัยนี้ มีบางท่านพอได้ผลจากการปฏิบัติธรรมบ้างเล็กน้อย ก็ตั้งตนเป็นเกจิอาจารย์ตั้งสำนักโน้นสำนักนี้มากมายไปหมด ถ้าแนวสอนของผู้อื่นไม่ตรงกับของตนก็โจมตีกัน ทำไมไม่เฉลียวใจเลยว่าคำสอนที่ถูกต้องที่สุด ก็คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ผู้ที่เป็นเช่นนี้แม้จะศึกษาจนตลอดชีวิต ก็คงไม่มีเซ็นอยู่ในตัวเลย
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version