ผู้เขียน หัวข้อ: ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)  (อ่าน 7578 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: พฤศจิกายน 22, 2011, 07:15:21 pm »


                     

   หิริ : พนักพิงหลังของราชรถ
   ส่วนประกอบอีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงบรรยายไว้ คือ พนักพิงหลังซึ่งก็คือหิรินั่นเอง ในสมัยนั้นราชรถมีพนักพิงหลังเพื่อค้ำยันผู้ขับ หากไม่มีพนักแล้ว สารถีหรือผู้โดยสารก็อาจตกลงจากรถได้เมื่อรถออกตัว หรือหยุดกะทันหัน นอกจากนี้พนักพิงก็อาจเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกได้ ทำให้ผู้นั่งสามารถเอนหลังสบาย ๆ ราวกับนั่งอยู่ในเก้าอี้นวมตัวโปรด แล้วเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมาย ในที่นี้จุดหมายปลายทางก็คือพระนิพพาน

   หิริและโอตตัปปะ
   ก่อนอื่นเราพึงเข้าใจหน้าที่ของพนักพิงหลังของราชรถแห่งวิปัสสนา โดยการวิเคราะห์เจาะลึกลงไปดูว่า หิริ หมายถึงอะไร พระพุทธองค์ทรงใช้คำภาษาบาลีว่า หิริ ส่วนโอตตัปปะนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยนัย แต่มิได้ตรัสไว้ในพระสูตร สองคำนี้มักจะแปลว่า “ความละอาย” และ “ความเกรงกลัว” ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม คำเหล่านี้ถูกนำมาใช้มีความหมายในทางลบ จึงทำให้ไม่ถูกต้องและหากมีเวลาก็จะพยายามขยายความคำว่าหิริ และโอตตัปปะ
   พึงจำไว้ว่าทั้งหิริและโอตตัปปะมิได้มีความหมายที่สื่อถึงความโกรธหรือเกลียดชังตามนัยความหมายของคำว่า ความละอายและความเกรงกลัว เราอับอายและเกรงกลัวในเรื่องของอกุศลกรรมเพราะคุณธรรมทั้งสองนี้เท่านั้น เมื่อบุคคลประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะแล้ว ย่อมมีสำนึกในทางศีลธรรมที่แจ่มชัด บุคคลผู้เปี่ยมด้วยสำนึกในทางศีลธรรมย่อมไม่มีสิ่งใดที่จะต้องอับอายหรือเกรงกลัว

   หิริ หรือ “ความละอาย” เป็นความรู้สึกขยะแขยงต่อกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติพยายามเจริญสติ จะพบว่ามีช่วงที่กิเลสสามารถแทรกซึมเข้ามา และทำให้ผู้ปฏิบัติตกเป็นเหยื่อของกิเลสได้ เมื่อกลับมีสติอีกครั้งก็จะรู้สึกเกลียดชังหรืออับอายที่เสียท่าให้กิเลสไป ทัศนคติแบบนี้ที่มีต่อกิเลสคือ หิริ

   โอตตัปปะหรือ “ความเกรงกลัว” เป็นการเกรงกลัวต่อผลของอกุศลกรรม หากผู้ปฏิบัติปล่อยให้ตนเองตกอยู่ในความคิดอกุศลเป็นเวลานาน ๆ ระหว่างการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจะเป็นไปได้ช้า หากผู้ปฏิบัติประกอบอกุศลกรรมที่ครอบงำด้วยกิเลส ไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม ก็จะเฝ้ากังวลถึงผลกรรมนั้นด้วยความทุกข์ เมื่อกลัวผลของอกุศลกรรมก็จะระมัดระวังมากขึ้นในการตื่นตัวต่อกิเลส ซึ่งจะคอยแทรกซึมเข้ามาเสมอในระหว่างนั่งกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติก็จะมีความมุ่งมั่นอยู่กับอารมณ์หลักด้วยดี
  หิริ เกิดจากคุณธรรมและความซื่อตรงส่วนบุคคลโดยตรง ในขณะที่โอตตัปปะมักจะเกี่ยวเนื่องกับคุณธรรม และชื่อเสียงของพ่อแม่ ครูอาจารย์ และญาติมิตร

   หิริทำหน้าที่ได้หลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น ชายหรือหญิงที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาดี ไม่ว่าเขาจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะอย่างไร พ่อแม่ก็จะอบรมสั่งสอนถึงคุณธรรมของมนุษย์ บุคคลเช่นนี้ย่อมคิดหน้าคิดหลังให้ดี ก่อนที่จะประกอบอกุศลกรรมใด ๆ เช่น ปาณาติบาต พวกเขาจะคิดว่า “พ่อแม่สอนให้เรามีเมตตาและรักเพื่อนมนุษย์ เราจะทำลายความเคารพตนเองโดยการยอมพ่ายแพ้ต่อความคิดและความรู้สึกมุ่งทำลายอย่างนี้หรือ เราจะยอมฆ่าสัตว์อื่นในภาวะที่อ่อนแอโดยปราศจากความเมตตาและการไตร่ตรองเช่นนี้หรือ เราจะยอมละทิ้งคุณธรรมของเราแล้วหรือ” หากใคร่คิดทบทวนเช่นนี้ และตัดสินใจที่จะไม่ฆ่าได้ ก็นับว่าหิริทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
   อานิสงส์ของปัญญาหรือการเรียนรู้ก็อาจจะช่วยให้บุคคลละเว้นอกุศลกรรมได้ หากบุคคลไดได้รับการศึกษาและการอบรมมาดีแล้ว เขาผู้นั้นย่อมจะมีมโนธรรมสูง เมื่อถูกยั่วยุให้กระทำสิ่งผิดศีลธรรม เขาจะเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นต่ำทรามเกินไป และเพิกเฉยต่อการยั่วยุนั้น หิริยังอาจเจริญได้เมื่ออายุมากขึ้น เมื่อมีอายุมากขึ้น บุคคลมักจะระลึกถึงศักดิ์ศรีของความเป็นผู้อาวุโสว่า “ฉันเป็นผู้ใหญ่แล้ว และรู้จักผิดชอบชั่วดี ฉันจะไม่ทำอะไรที่ไม่เหมาะสม เพราะฉันเคารพในเกียรติภูมิของตนเอง”

   หิริยังอาจเกิดจากความเชื่อมั่นอย่างกล้าหาญ เราอาจไตร่ตรองว่า อกุศลกรรมเป็นการกระทำของคนที่อ่อนแอ ขลาด และขาดหลักการ คนที่มีความกล้าหาญและศรัทธาเชื่อมั่นจะยืนหยัดอยู่กับหลักการเสมอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นี่เป็นคุณธรรมของวีรบุรุษที่ไม่ยอมให้ศักดิ์ศรีของตนต้องมัวหมอง
   โอตตัปปะ หรือความเกรงกลัวในเชิงมโนธรรม จะเกิดขึ้นเมื่อเราพิจารณาว่า พ่อแม่ เพื่อนฝูง และสมาชิกในครอบครัวจะต้องอับอายขายหน้าจากการทำชั่วของเรา คุณธรรมข้อนี้ยังเป็นการตั้งความปรารถนาที่จะไม่ทำลายคุณค่าสูงสุดของความเป็นมนุษย์ด้วย

   กรรมชั่วไม่อาจปิดบังได้ หากได้กระทำไปแล้ว บุคคลย่อมรู้อยู่แก่ใจ และยังมีผู้ที่สามารถอ่านใจและสามารถมองเห็นและได้ยินสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้อื่นได้ หากเรารู้ว่ามีผู้เป็นเช่นนี้อยู่จริง ๆ ก็อาจลังเลที่จะก่อกรรมชั่วด้วยเกรงว่าผู้อื่นจะล่วงรู้ได้
   หิริและโอตตัปปะมีบทบาทที่สำคัญมากในชีวิตครอบครัว ด้วยคุณธรรมข้อนี้เองที่ทำให้พ่อแม่ พี่น้องชายหญิงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างบริสุทธิ์ หากมนุษย์ปราศจากมโนธรรมดังกล่าว ก็คงมีความสัมพันธ์ที่ไม่นับญาติกัน ซึ่งไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉาน


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 09, 2012, 01:59:29 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: พฤศจิกายน 25, 2011, 02:26:48 pm »
                       
                                      -http://www.cpdesigntrading.com/art/index.html

   โลกปัจจุบันนี้มีปัญหามากมายที่เกิดจากการขาดคุณธรรมสองข้อนี้ ความจริงแล้ว หิริ โอตตัปปะ มีชื่อว่าเป็น “ธรรมคุ้มครองโลก” ลองคิดถึงโลกที่ทุกคนเปี่ยมด้วยคุณธรรมสองข้อนี้เอาเถิด
   นอกจากนี้ หิริและโอตตัปปะยังได้ชื่อว่าเป็นสุกฺกธรรม หรือธรรมที่บริสุทธิ์ เพราะเป็นคุณธรรมที่จำเป็นในการรักษาความประพฤติที่บริสุทธิ์ของคนในโลกนี้ สุกฺกธรรม ยังอาจหมายถึงสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ในทางตรงข้าม ความไร้ยางอายและความไม่เกรงกลัวผลของอกุศลกรรมมีชื่อว่า กณฺหธรรม หรือธรรมดำ สีดำดูดซับความร้อน ขณะที่สีขาวสะท้อนความร้อน ธรรมดำของความไร้ยางอายและไม่เกรงกลัวคำครหาเป็นตัวดูดซับตัวกิเลสได้ดีที่สุด เมื่อสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ ก็แน่ใจได้เลยว่า กิเลสจะถูกซึมซับอย่างชุ่มโชกเข้าสู่จิตใจ ในขณะที่หากเมื่อธรรมขาวปรากฏอยู่ กิเลสก็จะถูกสะท้อนออกไป

   มีการยกตัวอย่างในพระคัมภีร์ถึงลูกเหล็กสองลูก ลูกหนึ่งเคลือบด้วยมูลคูตร และอีกลูกหนึ่งร้อนแดง เมื่อมีคนให้ลูกเหล็กทั้งสองนี้แก่บุคคลใด เขาก็จะปฏิเสธลูกแรก เพราะมันน่าขยะแขยง และปฏิเสธลูกที่สองเพราะกลัวไหม้มือ การไม่ยอมรับลูกเหล็กที่เคลือบด้วยอุจจาระ เปรียบเหมือนคุณสมบัติของหิริ หรือจิตที่มีความละอาย การไร้คุณธรรมเป็นสิ่งน่าขยะแขยงเมื่อเทียบกับการมีคุณธรรม (ความซื่อสัตย์) การไม่ยอมรับลูกเหล็กร้อนเปรียบเหมือนโอตตัปปะ ได้แก่ ความกลัวการกระทำชั่ว เพราะเกรงกลัวผลกรรมที่จะตามมา บุคคลย่อมรู้ว่าจะต้องตกนรก หรืออยู่ในสภาวะทุกข์ยากลำบาก ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงอกุศลกรรมบถทั้งสิบ ราวกับว่าพวกมันคือลูกเหล็กทั้งสอง

   ความอายและความกลัวที่ไร้ประโยชน์
   ความละอายและความเกรงกลัวบางชนิดไม่มีประโยชน์ อาตมาเรียกว่า ความอายและความกลัวจอมปลอม บางคนอาจรู้สึกอับอายหรือขวยเขินที่จะรักษาศีลห้า ฟังธรรม สนทนา หรือทำความเคารพบุคคลซึ่งควรค่าแก่การเคารพ บางคนอาจอายที่จะอ่านหนังสือเสียงดัง หรือพูดในที่สาธารณะ บางคนกลัวการตำหนิจากผู้อื่น แต่ถ้าการตำหนินั้นมิได้เกี่ยวข้องกับการทำผิด มโนธรรมก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรอาย

   มีการกระทำ ๔ อย่าง อันก่อให้เกิดประโยชน์ และบุคคลไม่พึงอายที่จะทำ สิ่งเหล่านี้มิได้ระบุไว้ในพระไตรปิฎก แต่เป็นเรื่องทางโลกที่สามารถนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติได้
   ประการแรก บุคคลไม่พึงอายในการประกอบการงานตามหน้าที่หรือทำงานเพื่อเลี้ยงชีวิต ประการที่สอง ไม่พึงอายในการเข้าไปหาครูอาจารย์เพื่อขอความรู้หรือศึกษาวิชาชีพ หากอายที่จะกระทำแบบนี้เมื่อไรจะได้เรียนรู้ ประการที่สาม ไม่พึงอายที่จะรับประทานอาหาร หากไม่สามารถทานอาหารได้ก็จะอดตาย ประการสุดท้าย สามีและภรรยาไม่พึงอายในการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดต่อกัน
   ยังมีสิ่งที่ไม่ควรกลัวอย่างอื่นอีก เช่น กลัวที่จะพบปะบุคคลสำคัญ เนื่องจากการพบนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต เป็นต้น

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 2016, 10:32:07 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: พฤศจิกายน 25, 2011, 02:51:26 pm »



   ชาวบ้านมักกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว เมื่อเดินทางโดยรถไฟ รถประจำทาง หรือทางเรือ ในที่นี้อาตมาหมายถึงชาวบ้านที่อยู่ชนบทจริง ๆ ผู้ซึ่งไม่เคยขึ้นรถหรือลงเรือโดยสารประจำทางเลย บุคคลที่ขาดประสบการณ์เหล่านี้ กลัวแม้กระทั่งการใช้ห้องน้ำในระหว่างเดินทาง นี่คือความกลัวที่ไร้ประโยชน์ บางคนอาจกลัวสัตว์ เช่น สุนัข งู แมลง หรือกลัวการไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน บางคนกลัวเพศตรงข้าม หรือเกรงกลัวพ่อแม่ และครูอาจารย์มากเสียจนพูดไม่ออกหรือไม่กล้าเดินผ่านหน้าท่าน ผู้ปฏิบัติบางคนกลัวการส่งอารมณ์กับวิปัสสนาจารย์ พวกเขารออยู่นอกประตู รู้สึกพรั่นพรึงราวกับกำลังรอพบหมอฟัน

                 

   เหล่านี้มิใช่หิริโอตตัปปะที่แท้จริงเลย องค์ธรรมทั้งสองเกี่ยวเนื่องกับอกุศลกรรมเท่านั้น บุคคลพึงกลัวเกรงกรรมชั่วและกิเลส เพราะหากถูกมันครอบงำแล้ว จะไม่มีโอกาสรู้เลยว่ามันจะนำพาให้เราก่อกรรมชั่วที่เลวร้ายเพียงใด
   การระลึกถึงหิริและโอตตัปปะเป็นสิ่งที่ดีมาก ยิ่งคุณธรรมสองข้อนี้เข้มแข็งเพียงใด ผู้ปฏิบัติจะกระตุ้นความเพียรในการเจริญสติง่ายขึ้นเท่านั้น ผู้ปฏิบัติที่กลัวว่าจะปฏิบัติได้ไม่ต่อเนื่องก็จะพยายามมากขึ้นไปในการสร้างความตื่นตัว

   ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสกับเทพบุตรว่า “ราชรถแห่งอริยมรรคอันงดงามนี้ มีหิริเป็นพนักพิง” หากผู้ปฏิบัติมีหิริและโอตตัปปะเป็นพนักพิง ก็จะมีที่พึ่ง ที่ยึด ที่นั่งพิงอย่างสบาย ในขณะที่เรากำลังดำเนินไปสู่พระนิพพาน เช่นเดียวกับการที่ผู้โดยสารเสี่ยงกับอุบัติเหตุในการเดินทาง โยคีในราชรถแห่งอริยมรรคก็มีความเสี่ยงจากการปฏิบัติเช่นกัน หากคุณธรรม (หิริโอตตัปปะ) นี้อ่อนแอ ผู้ปฏิบัติก็เสี่ยงภัยที่เกิดจากการขาดสติและเผชิญกับอันตรายต่าง ๆ ที่จะพึงตามมา
   อาตมาขอให้ผู้ปฏิบัติจงเปี่ยมด้วยหิริและโอตตัปปะ สามารถกระตุ้นความเพียรอย่างอาจหาญจนสามารถเจริญสติได้อย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้ปฏิบัติจงก้าวหน้าอย่างราบรื่นและรวดเร็วในอริยมรรค ตราบจนบรรลุถึงพระนิพพาน

   สติเป็นเกราะหุ้มกำบังราชรถ
   เพื่อให้การเดินทางสายธรรมะนี้ปลอดภัย ราชรถย่อมต้องมีตัวถัง ในสมัยพุทธกาล ราชรถทำด้วยไม้หรือวัสดุแข็งเพื่อป้องกันหอกและธนู ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ต่างทุ่มเททรัพยากรมากมายในการพัฒนาหุ้มเกราะเพื่อใช้ในสนามรบ รถยนต์เองก็ใช้โลหะเป็นตัวถังเพื่อความปลอดภัย ทุกวันนี้เราสามารถขับรถไปไหนมาไหนได้ราวกับอยู่ในห้องที่สะดวกสบาย ปราศจากลม ความร้อน ความหนาว และแสงแดด เมื่อตัวถังรถคุ้มครองเราจากธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เราก็สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ไม่ว่าฝนหรือหิมะจะตกอยู่ภายนอกรถหรือไม่ ตัวอย่างทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นหน้าที่ของสติในการคุ้มครองผู้ปกิบัติจากการโจมตีอันดุเดือดของกิเลส สติเป็นเกราะปกป้องจิตให้ปลอดภัย เป็นสุขและสงบเย็น ตราบเท่าที่สติยังคงตั้งมั่นอยู่ กิเลสก็จะไม่อาจย่างกรายเข้ามาได้เลย


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 09, 2012, 03:02:07 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: พฤศจิกายน 25, 2011, 03:16:15 pm »

                     

   ไม่มีผู้ใดเดินทางได้อย่างปลอดภัยในราชรถแห่งอริยมรรคมีองค์แปด หากปราศจากเกราะป้องกันของสติ เมื่อราชรถเข้าสู่สงคราม การเจริญวิปัสสนาเป็นการทำสงครามกับกิเลส
   การเข้าใจว่ากิเลสเกิดขึ้นได้อย่างไร จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเอาชนะมันได้ง่ายขึ้น กิเลสจะเกิดขึ้นโดยอาศัยอารมณ์ทางอายตนะทั้งหก เมื่อใดขาดสติควบคุมที่ใดที่หนึ่งในหกทวารนี้ ผู้ปฏิบัติก็สามารถตกเป็นเหยื่อของความโลภ ความโกรธ ความหลง และกิเลสอื่น ๆ ได้ง่าย
   เช่น เมื่อเกิดอาการเห็น รูปเข้ามากระทบกับประสาทตา หากรูปนั้นน่าพึงพอใจ และผู้ปฏิบัติขาดสติ ตัณหาก็จะเกิดขึ้น หากรูปนั้นไม่น่าปรารถนา ความรังเกียจจะเข้าจู่โจม หากอารมณ์นั้นจืดชืดและเป็นกลาง ก็จะถูกกระแสของความหลงพัดพาไป แต่เมื่อสติดำรงอยู่ กิเลสจะไม่อาจเข้ามาในจิตสำนึกได้ เมื่อกำหนดรู้อาการเห็น สติให้โอกาสจิตทำความเข้าใจกับลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

   ประโยชน์ที่เห็นได้ทันทีของสติก็คือ ความบริสุทธิ์แจ่มใสของจิตและความสุข ผู้ปฏิบัติสามารถประสบกับสิ่งเหล่านี้ได้ทันทีที่สติปรากฏขึ้น การปราศจากกิเลสคือความบริสุทธิ์ เมื่อมีความบริสุทธิ์ ความแจ่มใสและความสุขก็ตามมา จิตที่มีความบริสุทธิ์และสะอาดสามารถนำไปใช้งานได้ดี

   ในการปรากฏของสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากความระลึกรู้ อกุศลจิตมักเกิดขึ้นบ่อยกว่ากุศลจิต ทันทีที่ความโลภ ความโกรธ และความหลงเข้ามาสู่จิตสำนึก บุคคลก็เริ่มก่อกรรมชั่ว ซึ่งจะให้ผลทั้งชาตินี้และในชาติต่อไป การเกิดเป็นผลของกรรมประการหนึ่ง เมื่อมีเกิดก็ต้องมีตาย ระหว่างการเกิดและการตาย สัตว์โลกย่อมก่อกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ทำสังสารวัฏให้ดำเนินต่อไป ดังนั้น ความประมาทจึงนำไปสู่ความตาย เป็นสาเหตุของการตายทั้งในชาตินี้และในชาติหน้า
   ดังนั้น สติจึงเหมือนกับอากาศบริสุทธิ์ที่จำเป็นต่อชีวิต ทุกชีวิตที่หายใจต้องการอากาศบริสุทธิ์ หากต้องสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปเป็นประจำ ไม่ช้าก็จะเกิดโรค และอาจตายได้ สติจึงมีความสำคัญพอ ๆ กัน จิตที่ปราศจากอากาศบริสุทธิ์ของสติ ไม่ช้าก็จะเฉา หายใจแผ่วลง และสำลักกิเลสจนหายใจไม่ออก

   คนที่หายใจเอาอากาศสกปรกเข้าไปอาจป่วยกะทันหัน และทุกข์ทรมานมากก่อนเสียชีวิต เมื่อขาดสติ เราก็หายใจเอาอากาศที่มีพิษแห่งกองกิเลสเข้าไป แล้วก็เป็นทุกข์ เมื่อพบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาก็ถูกเสียดแทงด้วยความอยาก หากประสบอารมณ์ไม่น่าปรารถนาก็รู้สึกหมองไหม้ด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์ หากพบว่าอารมณ์นั้นน่าอับอายก็จะรู้สึกว่าถูกเชือดเฉือนด้วยความทรนงในศักดิ์ศรี กิเลสมีหลายรูปแบบ แต่เมื่อมันเข้าจู่โจมเราแล้วให้ผลเหมือนกันคือความทุกข์ ความสบาย ความสงบ และความเป็นสุขอย่างบริสุทธิ์ของจิตจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติสามารถสกัดกั้นกิเลสมิให้เข้ามาได้เท่านั้น

                                                                   

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 2016, 09:33:44 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2011, 08:55:38 am »
                       

   มลพิษบางประเภททำให้สิ่งมีชีวิตที่หายใจเข้าไปมีอาการมึนงง และเสียการทรงตัว บางประเภททำให้ตาย กิเลสก็เช่นเดียวกัน การจู่โจมของกิเลสบางครั้งไม่รุนแรง แต่บางครั้งอาจถึงตาย บางคนอาจมีอาการเคลิบเคลิ้มจากความสุขทางผัสสะ หรืออาจถึงตายด้วยเส้นเลือดในสมองแตกเพราะความโกรธ ความมัวเมาในกามอย่างรุนแรงสามารถประหารคนได้ การปล่อยตัวทำความโลภเป็นเวลานาน ๆ หลายปี ก็อาจทำให้เกิดโรคร้าย การโกรธหรือการกลัวมาก ๆ ก็อาจทำให้ถึงตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคหัวใจ นอกจากนี้กิเลสยังเป็นสาเหตุของโรคประสาทและจิตวิปลาสด้วย
   ความจริงกิเลสมีอันตรายมากกว่าสารพิษที่อยู่ในอากาศ หากมีคนตายเพราะหายใจเอาอากาศที่มีสารพิษเจือปนเข้าไป สารพิษก็จะถูกทิ้งอยู่ในร่างที่ไร้วิญญาณนั้น แต่มลทินของกิเลสแปดเปื้อนไปถึงภพหน้า ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงผลลบที่เกิดขึ้นแก่สรรพชีวิตอื่นด้วย เมื่อจิตหายใจเอากิเลสเข้าไป เป็นผลให้ก่อกรรมซึ่งจะส่งผลในอนาคต

   เมื่อจิตมีสติอยู่ทุก ๆ ขณะ จิตจะค่อย ๆ สะอาดขึ้น เช่นเดียวกับปอดของคนที่หยุดสูบบุหรี่ ที่ค่อย ๆ ขับขี้เถ้าและสารนิโคตินที่ติดอยู่ในปอดออกมา จิตที่บริสุทธิ์สามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย จากนั้นปัญญาก็มีโอกาสเกิดขึ้น กระบวนการบำบัดรักษานี้เริ่มต้นด้วยสติ เมื่อการปฏิบัติมีรากฐานมาจากสติและสมาธิที่ตั้งมั่น ผู้ปฏิบัติก็จะผ่านญาณระดับต่าง ๆ มีปัญญาสูงขึ้นตามลำดับ ในที่สุดอาจบรรลุถึงพระนิพพานที่ซึ่งกิเลสจะถูกขุดรากถอนโคน ไม่มีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออีก
   คุณค่าของสติจะเข้าใจได้ก็โดยผู้ที่ได้เคยรับประโยชน์จากสติมาแล้วในการปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น เมื่อบุคคลออกแรงพยายามสูดหายใจเอาอากาศที่บริสุทธิ์เข้าไป สุขภาพดีที่เกิดขึ้นตามมาจะเป็นสิ่งพิสูจน์คุณค่าของความพยายามนี้ หรืออาจถึงขั้นพระนิพพาน จะรู้ได้อย่างแท้จริงว่าสติมีประโยชน์เพียงใด

   สัมมาทิฏฐิเป็นสารถี 
   ไม่ว่าราชรถดีเลอเลิศสักเพียงไร หากปราศจากสารถีแล้ว ราชรถนั้นก็คงไปไหนไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน พระพุทธองค์ตรัสอธิบายว่า สัมมาทิฏฐิจะเป็นแรงผลักดัน รวมทั้งกำหนดแนวทางการพัฒนาของจิต พระไตรปิฎกแจกแจงสัมมาทิฏฐิ ๖ ประเภท ซึ่งในพระธรรมเทศนาครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงหมายเฉพาะการเห็นชอบที่เกิดขึ้นในขณะแห่งมรรคจิต การระลึกรู้มรรคญาณนี้เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ญาณที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 2016, 09:35:27 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สัมมาทิฏฐิเกี่ยวกับฌาน
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: มีนาคม 08, 2012, 05:56:27 pm »

                     

   สัมมาทิฏฐิว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง

   สัมมาทิฏฐิประการแรกคือ กมฺมสกตา ได้แก่ ความเห็นที่ว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน กรรมในที่นี้รวมทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว เรามีทัศนคติในความเป็นเจ้าของและการควบคุมวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา กรรมจึงเป็นสิ่งเดียวในโลกนี้ที่เราเป็นเจ้าของได้จริง ๆ ผู้ปฏิบัติพึงทำความเข้าใจว่า ไม่ว่าการกระทำดี หรือไม่ดีจะติดตามเราไปตลอดในสังสารวัฏ ก่อให้เกิดวิบากที่ดีและชั่วสอดคล้องกัน นอกจากนี้กรรมยังให้ผลทันทีต่อจิตใจ คือก่อให้เกิดความสุข หรือความทุกข์ ขึ้นอยู่กับว่ากรรมนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะเดียวกัน กรรมก็ให้ผลในระยะยาวด้วย อกุศลกรรมจะนำไปเกิดในอบายภูมิ กุศลกรรมนำไปสู่การเกิดในสุคติภูมิ และกุศลกรรมที่สูงสุดทำให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง

   การมองโลกในลักษณะนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติมีพลังในการเลือกแนวทางในการดำรงชีวิต ดังนั้น กมฺมสกตา สมฺมาทิฏฐิ จึงมีชื่อว่า “แสงสว่างของโลก” เพราะทำให้เรามองเห็นและประเมินผลทางเลือกของเราเองได้ การเข้าใจกรรมอย่างถูกต้องเปรียบเหมือนชุมทางรถไฟที่ซึ่งมีหลายทิศทางที่รถไฟสามารถวิ่งไป หรือเหมือนกับสนามบินนานาชาติที่เชื่อมโยงกับจุดหมายปลายทางมากมาย เนื่องจากเราก็เหมือนกับสัตว์ทั้งหลายที่ปรารถนาความสุข ความเข้าใจเรื่องกรรมจะทำให้เรามีแรงจูงใจอย่างแรงกล้าที่จะประกอบกรรมดีมากขึ้น ๆ รวมทั้งปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะนำมาซึ่งทุกข์ภัยในอนาคต

   การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการให้ทาน และการรักษาศีลจะช่วยให้เราได้ไปเกิดในสภาพแวดล้อมที่ดี กุศลกรรมนี้ยังช่วยให้สัตว์โลกสามารถเดินทางไปสู่พระนิพพานด้วย

   สัมมาทิฏฐิเกี่ยวกับฌาน

   เพื่อก้าวข้าม กมฺมสกตาสมฺมาทิฏฐิ ไปอีกขั้นหนึ่ง ผู้ปฏิบัติพึงเจริญสมาธิ สมาธินี้ให้ผลทันที กล่าวคือ ทำให้ผู้ปฏิบัติอยู่อย่างเป็นสุข ดื่มด่ำอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ความเห็นชอบประเภทที่สองนี้ได้แก่ ฌานฺสมฺมาทิฏฐิ เป็นความเห็นชอบเกี่ยวกับฌานและสมาธิขั้นต่าง ๆ เป็นความรู้ที่เกิดในขณะที่ฌานทั้งแปดประเภทปรากฏ ประโยชน์ของความเห็นชอบเกี่ยวกับฌานมีสามประการ คือ หนึ่ง ขณะที่กำลังจะสิ้นชีวิต หากผู้ปฏิบัติสามารถรักษาสมาธิได้อย่างเข้มแข็ง ก็จะได้ไปเกิดในพรหมโลกและสามารถดำรงอยู่ในพรหมโลกได้เป็นเวลานาน ๆ หลายกัปหลายกัลป์ สอง ฌานยังเป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนาที่เข้มแข็ง สาม ฌานยังเป็นพื้นฐานของการเจริญอภิญญาอีกด้วย

   การปูทางสำหรับญาณสูงสุด : การเจริญวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ

   การที่ผู้ปฏิบัติทุ่มเทเวลาและความเพียรมากที่สุดให้กับการเจริญสัมมาทิฏฐิประเภทที่สามให้เกิดในตน คือ วิปสฺสนาสมฺมาทิฏฐิ เป็นความเห็นชอบที่เกิดจากวิปัสสนาญาณ เมื่อวิริยะ สติ หิริ และโอตตัปปะ มีอยู่พร้อม วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ พึงจำไว้ว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความคิดเห็นธรรมดา สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความคิดเห็นธรรมดา สัมมาทิฏฐิเป็นปัญญาญาณอันลึกซึ้งซึ่งเกิดขึ้นเองจากการที่ผู้ปฏิบัติมองสภาวะที่แท้จริงของสิ่งต่าง ๆ เข้าไปตรง ๆ

   ปัจจุบันนี้เมื่อผู้นำประเทศจะออกจากที่พำนักต้องมีการเตรียมการณ์มากมายก่อนที่ขบวนรถจะเคลื่อนที่ออกไป กลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะตรวจสอบว่า หนทางโล่งและปลอดภัยหรือไม่ เจ้าหน้าที่บางคนตรวจดูระเบิด วางด่านกั้นฝูงชนตามข้างถนน มอบหมายให้เจ้าหน้าที่จราจรประจำที่และลากรถที่อาจจอดขวางทางออกไป เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ประมุขจึงจะออกจากที่พำนักมาขึ้นรถที่มีคนขับคอยท่าอยู่

   ในทำนองเดียวกัน บนหนทางแห่งอริยมรรค วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ เปรียบเหมือนกับตำรวจลับ การประจักษ์ใน อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา จะแผ้วถางหนทางให้ปลอดโปร่งจากความยึดมั่นถือมั่นนานาประเภท รวมถึงความเห็นที่ผิด ๆ ทฤษฎีความเชื่อส่วนตัว ความเข้าใจผิดและอื่น ๆ การทำลายความยึดมั่นนี้เกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น เมื่อการเตรียมการเบื้องต้นพร้อมแล้ว การเห็นแจ้งอริยมรรคก็จะปรากฏและขุดรากถอนกิเลสให้สิ้นไป

   กระบวนการดับทุกข์

   ในหนทางสู่มรรคจิต วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะทำลายความเห็นผิดหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสภาพธรรมที่แท้จริงของธรรมชาติ วิปัสสนาญาณขั้นที่หนึ่งแสดงให้เห็นว่า รูปและนามมีสภาพธรรมที่แตกต่างกันและชีวิตก็มิใช่อะไรอื่น นอกจากกระแสของรูปและนามที่ไม่หยุดนิ่ง ณ จุดนี้ ผู้ปฏิบัติละสิ่งที่เป็นส่วนเกินของชีวิต ชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ขึ้นโดยถอดถอนการปรุงแต่งบางอย่างที่เคยมี เช่น ทัศนะเกี่ยวกับชีวิตว่าเที่ยงและมีตัวตน

   ในญาณขั้นที่สอง ความเข้าใจเหตุและผล ลบล้างความสงสัยที่ว่าสิ่งต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ผู้ปฏิบัติรู้ว่าความจริงมิใช่เช่นนั้น นอกจากนี้ยังสามารถประจักษ์แจ้งโดยตรงว่า สภาวธรรมต่าง ๆ มิได้เกิดขึ้นจากเหตุภายนอก


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 09, 2012, 04:02:00 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ
« ตอบกลับ #16 เมื่อ: มีนาคม 08, 2012, 06:30:16 pm »

                       

   เมื่อวิปัสสนาญาณมีความลุ่มลึกขึ้น ผู้ปฏิบัติเห็นความไม่เที่ยงของอารมณ์ต่าง ๆ และประจักษ์ว่าทุกอย่างที่เคยประสบพบมาและจะประสบต่อไปในอนาคต ก็เป็นอนิจจังเช่นกัน ความไม่เที่ยงของอารมณ์ต่าง ๆ และประจักษ์ว่าทุกอย่างที่เคยประสบพบมา และจะประสบต่อไปในอนาคต ก็เป็นอนิจจังเช่นกัน จากพื้นฐานความเข้าใจเรื่องความไม่เที่ยงถาวรและการแปรเปลี่ยนของสิ่งต่าง ๆ ผู้ปฏิบัติก็จะระลึกได้เองว่าไม่มีที่สำหรับหลบภัย ไม่สามารถพึ่งพาอะไรได้เลย ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงพ้นจากความคิดผิด ๆ ที่ว่าสามารถแสวงหาสันติสุขและเสถียรภาพอันถาวรได้จากวัตถุสิ่งใดในโลกนี้ การถูกกดดันบีบคั้นด้วยสภาวธรรมอันไม่เที่ยงต่าง ๆ นับว่าเป็นความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกเช่นนี้จากก้นบึ้งของหัวใจเมื่อถึงญาณขั้นที่สาม

   ความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องและติดตามมาจากความรู้สึกกลัวและกดดันอย่างลึกซึ้งนี้ ก็คือ การระลึกรู้ว่าไม่มีใครที่สามารถป้องกันหรือควบคุมการเกิดขึ้นและดับไปของสิ่งต่าง ๆ ทำให้ผู้ปฏิบัติประจักษ์ชัดได้เองว่าไม่มีตัวตนในสิ่งใด ๆ ญาณทั้งสามลำดับหลังนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเชื่อมโยงกับอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาโดยตรง

   การปรากฏของวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ

   เมื่อวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิปรากฏขึ้น ราชรถก็พร้อมที่จะออกเดินทาง ราชรถจะเริ่มขยับและค่อย ๆ เคลื่อนไปบนหนทางที่จะนำไปสู่พระนิพพาน ถึงตอนนี้ผู้ปฏิบัติก็สามารถบังคับรถให้เคลื่อนไปได้ รถมีเกราะกำลังแล้ว พนักหลังมั่นคง และคนขับก็เข้าที่เรียบร้อย ผู้ปฏิบัติเพียงแต่ออกแรงบังคับล้อทั้งสองเบา ๆ แล้วราชรถก็จะทะยานออกไป

   ครั้นผู้ปฏิบัติมีญาณหยั่งรู้อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาแล้ว ผู้ปฏิบัติจะเห็นสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นและดับไปเร็วขึ้นและชัดเจนมากขึ้น เห็นการดับจากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่งละเอียดยิบยิ่งกว่าเศษเสี้ยววินาที ยิ่งการปฏิบัติก้าวหน้าขึ้น ก็จะเห็นการเกิดดับเร็วขึ้นและในที่สุดผู้ปฏิบัติจะไม่สามารถมองเห็นการเกิดได้เลย ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะมองเห็นการดับไปอย่างรวดเร็ว ผู้ปฏิบัติจะมีความรู้สึกเหมือนกับมีคนกระชากพรมใต้ฝ่าเท้าให้หายไปในพริบตา การดับนี้มิใช่สิ่งเลื่อนลอย แต่จะครอบคลุมชีวิตจิตใจทั้งหมดในขณะนั้น

   ผู้ปฏิบัติจะมีความก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ มุ่งเข้าใกล้จุดมุ่งหมายไปทุกขณะ หลังจากวิปัสสนาญาณชั้นต่าง ๆ ผ่านไปแล้ว มรรคญาณก็จะเข้าแทนที่ และนำผู้ปฏิบัติเข้าสู่สถานที่ที่ปลอดจากภัย คือพระนิพพาน

   แม้เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว และกิเลสไม่อาจกำเริบขึ้นมาได้ กิเลสยังมิได้ถูกประหารไปโดยสิ้นเชิง กิเลสอาจถูกกดข่มเอาไว้ แต่ก็ยังรอคอยโอกาสที่จะกลับเข้ามากุมอำนาจอีกครั้ง

   
   เครื่องหมายสุดท้าย : การทำกิเลสให้อ่อนแอและสิ้นไป
   กิเลสนั้นจะถูกประหารโดยสิ้นเชิงในขณะที่อริยมรรคสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นเท่านั้น

   ผู้ปฏิบัติอาจสงสัยว่าการประหารกิเลสหมายถึงอะไร กิเลสที่ได้เกิดขึ้นแล้วนั้นไม่สามารถถอดถอนได้ เพราะเป็นอดีตไปแล้ว เช่นเดียวกับกิเลสที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่สามารถทำลายได้ เนื่องจากยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ แม้ในปัจจุบันขณะ กิเลสเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วจะประหารกิเลสได้อย่างไร อนุสัยกิเลสหรือกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ต่างหากคือ สิ่งที่จะถูกกำจัดออกไป กิเลสมีสองประเภท ประเภทแรกสัมพันธ์กับอารมณ์ ส่วนอีกประเภทหนึ่งเกี่ยวกับความสืบเนื่องของขันธ์หรือของรูปนาม กิเลสประเภทแรก จะเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยเอื้ออำนวย กล่าวคือ มีความเกี่ยวโยงกับสภาวธรรมทางกายหรือทางจิตในขณะที่ไม่มีสติ หากมีอารมณ์ปรากฏขึ้นชัดและขาดสติในการกำหนดรู้การกระทบของอารมณ์และจิต ให้มีความสะอาดบริสุทธิ์แล้ว กิเลสซึ่งนอนเนื่องอยู่ก็จะปรากฏตัวออกมาให้เห็น แต่หากมีสติ สภาพธรรมขณะนั้นก็จะไม่เอื้ออำนวยให้กิเลสเกิดขึ้นต่อไป และกิเลสก็จะถูกกีดกันให้อยู่ห่างไกล

   กิเลสประเภทที่สอง เป็นกิเลสที่นอนเนื่อง และก็จะถูกฝังอยู่ในกระแสความรู้สึกของเราตลอดการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ กิเลสประเภทนี้จะสามารถประหารได้ก็ด้วยมรรคญาณเท่านั้น

   ในสมัยก่อนเวลามีคนป่วยเป็นไข้มาเลเรีย มีการรักษาด้วยยาสองขนาน คนไข้ที่เป็นมาเลเรียจะมีไข้ขึ้นสูงเป็นระยะ ๆ ประมาณทุก ๆ สองวันจะมีไข้สูงมากครั้งหนึ่ง และตามด้วยอาการหนาวสั่นอย่างฉับพลัน การรักษาขั้นแรกต้องทำให้อุณหภูมิที่สูงลดลงก่อน ทำให้คนไข้มีกำลังขึ้น และเชื้อโรคอ่อนแอลง ในที่สุดเมื่อวงจรของไข้สูงและอาการหนาวสั่นลดลงบ้างแล้ว หมอจะให้ยาอีกขนานหนึ่งที่ทำให้คนไข้หายขาด เมื่อคนไข้แข็งแรงขึ้นแล้ว และเชื้อโรคอ่อนแอลง เชื้อมาเลเรียก็ถูกกำจัดไปได้

   วิธีรักษาขั้นแรก เปรียบได้กับวิปัสสนาญาณ ซึ่งทำให้กิเลสอ่อนกำลังลง ส่วนยาเผด็จศึกก็คือมรรคญาณที่ทำหน้าที่ประหารกิเลสอย่างเด็ดขาด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 2016, 09:41:36 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                         
   อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ กระบวนการรับรองเอกสารของทางราชการ ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนมากมาย กระบวนการนี้ต้องใช้เวลานานมาก เริ่มด้วยประชาชนต้องเข้าไปติดต่อประชาสัมพันธ์ที่ชั้นแรกของอาคาร จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะส่งบุคคลนั้นขึ้นไปที่ชั้นสองเพื่อรับเอกสาร และไปติดต่อขอลายเซ็นอนุมัติจากฝ่ายหนึ่งสู่อีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อไปยื่นเอกสารเจ้าหน้าที่อีกฝ่ายหนึ่งก็จะขอให้กรอกแบบฟอร์มแล้วรอจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบลงนาม ตลอดทั้งวันประชาชนคนนั้นต้องติดต่อผ่านหน่วยงานต่าง ๆ จากชั้นหนึ่งไปอีกชั้นหนึ่ง กรอกแบบฟอร์มและรอรับลายเซ็นกว่าจะได้เอกสารทั้งหมดครบถ้วนต้องใช้เวลานานมาก ในที่สุด บุคคลผู้นั้นก็ขึ้นไปหาเจ้าหน้าที่สูงสุด และใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นลงนามเอกสารได้รับการรับรองเป็นเอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่เขาผู้นั้นจำต้องผ่านขั้นตอนของราชการที่ยาวเหยียดเหล่านั้นก่อน

   เช่นเดียวกับการปฏิบัติวิปัสสนา มีกระบวนการมากมาย แต่มรรคญาณเกิดเร็วกว่าเวลาที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้นั้นใช้ในการลงนามเสียอีก ถึงกระนั้นผู้ปฏิบัติต้องทำหน้าที่ของตนก่อน เมื่อทุกอย่างพร้อม มรรคญาณก็จะปรากฏและรับรองอย่างเป็นทางการว่า กิเลสได้ถูกประหารไปหมดสิ้นแล้ว

   ช่วงแรกของวิปัสสนาญาณ อาจเรียกได้ว่าเป็น “หนทางของคนทำงาน” ผู้ปฏิบัติต้องทำงานให้เสร็จโดยสมบูรณ์โดยไม่หลบเลี่ยง มรรคญาณเปรียบเหมือนเจ้านายสูงสุดทำหน้าที่สั่งการ เจ้านายคงไม่อาจลงนามในกระดาษเปล่าที่ยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการทำงานเบื้องต้นอย่างสมบูรณ์ได้

   อริยมรรคและผลญาณ : ดับไฟและชโลมน้ำลงบนเถ้าถ่านแห่งกิเลส

   เมื่อวิปัสสนาญาณบริบูรณ์แล้ว มรรคญาณก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ติดตามด้วยผลญาณ ในภาษาบาลี สภาวจิตนี้เรียกว่า มรรค และผล องค์ประกอบของมรรคญาณและผลญาณก็คือสัมมาทิฏฐิประเภทที่สี่และห้า จากทั้งหมดหกประเภท

   เมื่อเกิดมรรคญาณ อริยมรรคสัมมาทิฏฐิจะทำหน้าที่ประหารกิเลสที่จะนำเราไปเกิดในอบายภูมิ อันเป็นสภาวะที่ทุกข์ทรมาน ภพเหล่านี้ได้แก่ นรก เดรัจฉาน เปรต และอสุรกาย ต่อจากนั้นผลญาณก็จะตามมาทันที ซึ่งส่วนหนึ่งก็คืออริยผลสัมมาทิฏฐิ ผู้ปฏิบัติอาจสงสัยว่า ญาณนี้ทำหน้าที่อะไร เพราะอนุสัยกิเลสได้ถูกประหารไปแล้ว ผลญาณสัมมาทิฏฐิทำให้กิเลสเย็นลง กองไฟแห่งกิเลสอาจมอดไปแล้ว แต่ก็ยังมีเถ้าถ่านอุ่น ๆ เหลืออยู่ ผลญาณสัมมาทิฏฐินี้ ทำหน้าที่ชโลมน้ำลงบนเถ้าถ่านเหล่านั้น

   ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ

   ความเห็นชอบประเภทที่หก คือ ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ ทำหน้าที่ทบทวนความรู้ที่ติดตามมาจากผลญาณและประสบการณ์นิพพาน ญาณนี้จะทบทวนสิ่งห้าประการ คือ การเกิดมรรคญาณและผลญาณ นิพพานในฐานะที่เป็นอารมณ์ ๆ หนึ่ง กิเลสที่ได้ถูกทำลายไปและส่วนที่ยังเหลืออยู่ นอกจากนี้แล้ว ไม่มีหน้าที่สำคัญอื่นใด

   สัมมาทิฏฐิประเภทแรก คือ กมฺมสกตาสมฺมาทิฏฺฐิ กล่าวว่าเป็นสิ่งถาวร กล่าวคือเป็นสิ่งที่จะไม่หายไปจากชีวิต โลกนี้อาจแตกสลายถูกทำลายไป แต่ยังคงมีสิ่งมีชีวิตซึ่งบางทีอาจจะอยู่ในอีกโลกหนึ่งก็ได้ ที่มีความเห็นถูกว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน

   บุคคลที่ไม่พยายามแยกแยะความแตกต่างระหว่างกุศลกรรมและอกุศลกรรมย่อมตกอยู่ในที่มืด เปรียบเหมือนเด็กทารกที่เกิดมาตาบอด บอดมาตั้งแต่ในครรภ์ และมืดบอดเมื่อคลอดออกมาแล้ว หากทารกนี้โตขึ้น ก็ไม่มีทางมองเห็นพอที่จะช่วยเหลือตนเองได้ คนตาบอดและขาดผู้นำทาง ย่อมจะประสบกับอุบัติภัยมากมาย

   ฌานสัมมาทิฏฐิ จะยังคงมีปรากฏอยู่เสมอ ตราบเท่าที่มีผู้ปฏิบัติธรรมและบรรลุฌาน แม้ในช่วงที่พระพุทธศาสนาไม่รุ่งเรือง ก็ยังจะมีผู้เจริญสมาธิ และเจริญฌานอยู่เสมอ

   อย่างไรก็ตาม ความเห็นชอบในส่วนที่เหลือจะคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อพระพุทธศาสนายังตั้งมั่นอยู่เท่านั้น นับแต่ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์จนถึงปัจจุบัน คำสอนของพระพุทธองค์ยังรุ่งเรืองอยู่ ขณะนี้พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก แม้ในประเทศที่มิได้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ยังมีองค์กร หรือกลุ่มชนซึ่งมีหลักการที่มีรากฐานมาจากคำสอนของพระพุทธองค์ บุคคลที่พอใจเพียงความเห็นชอบในเรื่องของกรรมหรือฌานเท่านั้น ยังไม่อาจได้รับแสงแห่งพระธรรมได้ เขาอาจได้รับความสว่างจากแสงทางโลก แต่มิใช่แสงของพระพุทธองค์ ความเห็นชอบอีกสี่ประเภทที่เหลือจากวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิจนถึงปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ เท่านั้นที่ประกอบด้วยแสงแห่งพระพุทธธรรม

   เมื่อผู้ปฏิบัติสามารถแยกรูปและนามออกจากกันได้ ก็จะหลุดพ้นจากทิฏฐิวิปลาสในเรื่องของตัวตน และม่านของความมืดชั้นที่หนึ่งก็จะถูกถอดออกไป กล่าวได้ว่าแสงแห่งธรรมะได้เริ่มส่องสว่างผ่านเข้ามาถึงจิตสำนึกของผู้ปฏิบัติแล้ว แต่ก็ยังมีม่านชั้นอื่น ๆ ที่ยังต้องถอดถอนออกไปอีก ม่านแห่งอวิชชาชั้นที่สองก็คือความเห็นที่ว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างไม่มีระเบียบและไม่มีเหตุผล ม่านนี้จะถูกยกออกไปเมื่อเกิดญาณหยั่งรู้ในเหตุและผล เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นเหตุและผลของสรรพสิ่ง แสงสว่างในจิตก็จะสว่างเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ผู้ปฏิบัติไม่พึงประมาทในชั้นนี้ เพราะว่าจิตยังมืดบอดด้วยอวิชชา ความไม่รู้ในอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เพื่อกำจัดความมืดนี้ ผู้ปฏิบัติพึงทำงานหนักอย่างไม่ย่อท้อ เฝ้าดูอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ลับสติให้แหลมคม ทำสมาธิให้ตั้งมั่น แล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 10, 2012, 12:35:16 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สภาวธรรมที่เป็นอนิจจัง (Sayadaw U Pandita)
« ตอบกลับ #18 เมื่อ: เมษายน 25, 2012, 09:57:00 am »



  ณ จุดนี้ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า ไม่มีที่ใดให้หลบภัยจากสภาวธรรมที่เป็นอนิจจังเช่นนี้ได้เลย ความเห็นนี้ทำให้เกิดความผิดหวังอย่างแรง แต่แสงภายในกลับสว่างเพิ่มขึ้นไปอีก ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ชัดเจนว่า สภาวธรรมทั้งหลายล้วนเป็นทุกข์และไม่มีตัวตน ขณะนั้นเอง มีเพียงม่านผืนเดียวที่เหลืออยู่ปิดบังไม่ให้เห็นพระนิพพาน และจะถูกกำจัดไปได้ก็ด้วยอริยมรรคญาณเท่านั้น ตรงนี้แหละที่แสงแห่งพุทธธรรมจะส่องสว่างเจิดจ้าอย่างแท้จริง

   หากผู้ปฏิบัติสามารถเจริญสัมมาทิฏฐิได้ทั้งหกประการ จะมีความผ่องใส ผู้ปฏิบัติจะไม่พรากจากแสงของปัญญาอีกเลย ไม่ว่าจะเดินไปทางใดในอนาคต ในทางตรงข้าม ปัญญาจะส่องแสงสว่างเจิดจ้าในตัวผู้ปฏิบัติ ตลอดการท่องเที่ยวที่เหลืออยู่ในสังสารวัฏ ในที่สุดจะมีแสงสว่างไสวที่สุดปรากฏขึ้นเมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผลซึ่งเป็นการบรรลุธรรมขั้นสุดท้าย

   การครอบครองราชรถ
   “ใครก็ตาม ไม่ว่าชายหรือหญิงที่ครอบครองราชรถเช่นนี้ และสามารถขับขี่ไปด้วยดี ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะบรรลุถึงพระนิพพานโดยแน่แท้”

   กล่าวกันว่าเมื่อเทพบุตรผู้เคยเป็นพระภิกษุมาก่อนองค์นั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับราชรถ ท่านเข้าใจสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสสอนและได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ทันที ท่านเข้าครอบครองราชรถอันบรรเจิดคืออริยมรรคมีองค์แปด ถึงแม้ว่าพุทธดำรัสมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่อรหัตตผล ท่านยังไม่พร้อมสำหรับการบรรลุธรรมขั้นสุดท้าย บารมีของท่านมีเพียงพอที่จะเป็นผู้ถึงกระแสแห่งโสดาปัตติผลเท่านั้น

   ประโยชน์ของการเข้าถึงกระแส : การทำมหาสมุทรแห่งสังสารวัฏให้เหือดแห้งลง
   ในการบรรลุธรรมขั้นที่หนึ่งนี้ ผู้ปฏิบัติจะพ้นจากอันตรายที่จะนำให้ตกไปสู่อบายภูมิ พระสูตรกล่าวไว้ว่า กิเลสสามอย่างถูกประหารไป คือ มิจฉาทิฏฐิ วิจิกิจฉา และการยึดมั่นในการปฏิบัติที่ผิด ในอรรถกถากล่าวว่า ความอิจฉาริษยาและความตระหนี่ก็ถูกทำลายไปด้วย

   คงจะไม่เป็นไรที่จะสมมติว่า เทพบุตรองค์นี้เคยได้ญาณที่ประจักษ์ในลักษณะของรูปและนามมาล้างแล้วในชาติที่ท่านเป็นพระภิกษุ ในขณะได้ดวงตาเห็นธรรมนี้ ท่านก็ปราศจากความเห็นผิด ๆ ที่ว่า มีตัวตนภายในหรืออัตตา อย่างไรก็ตาม การละความเห็นที่ผิดนี้เป็นเพียงชั่วคราวจนกว่าจะได้เห็นพระนิพพานเป็นครั้งแรกเท่านั้น ที่ความเห็นจะเปลี่ยนไปอย่างถาวร ผู้ที่ได้บรรลุโสดาบันจะไม่เชื่อเรื่องของอัตตาอีกต่อไป


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 07, 2012, 02:13:52 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)
« ตอบกลับ #19 เมื่อ: เมษายน 26, 2012, 03:43:07 pm »



   กิเลสประเภทที่สองที่ถูกประหารไปเกี่ยวข้องกับความเห็นผิดโดยตรง เมื่อผู้ปฏิบัติยังไม่เข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ก็ยากที่จะตัดสินได้อย่างมั่นใจว่าอะไรถูก อะไรผิด เหมือนกับคนยืนอยู่บนทางสองแพร่ง หรือเหมือนกับคนที่ระลึกได้ในทันทีทันใดว่า กำลังหลงทางก็ต้องมีความสงสัยว่าจะไปทางไหนดี ความสงสัยนี้อาจทำให้อ่อนเปลี้ยและหวั่นใจ

   เมื่อผู้ปฏิบัติมองเห็นกระบวนการของเหตุและผลก็จะละทิ้งความสงสัยได้ชั่วคราว ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่าธรรมะเป็นของจริง จิตและกายเป็นสิ่งที่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งเหตุและผล และไม่มีอะไรเลยในโลกนี้ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความสิ้นสงสัยนี้จะตั้งอยู่นานเท่าที่สติและญาณยังคงอยู่ ความศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวในอานุภาพและความจริงแท้ของพระธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลได้เดินไปจนสุดทางของอริยมรรคมีองค์แปดคือพระนิพพานแล้วเท่านั้น ผู้ปฏิบัติที่ได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์จนสุดหนทางแล้วก็จะมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธองค์จนสุดหนทางแล้ว ก็จะมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธองค์และพระอริยบุคคลอื่น ๆ ที่ได้ไปสู่จุดหมายตามแนวทางเดียวกันนี้

                     

   กิเลสอย่างที่สามที่พระโสดาบันผู้ถึงกระแสละได้ก็คือ ความเชื่อในการปฏิบัติผิด ๆ ความเข้าใจนี้คงพอจะมองเห็นได้ชัดในกรณีทั่ว ๆ ไป และจะสามารถเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น หากพิจารณาจากอริยสัจสี่ เมื่อผู้ปฏิบัติที่มีโอกาสเข้าถึงกระแสพระนิพพาน เริ่มเจริญมรรคมีองค์แปดให้เกิดขึ้นในตนเอง บุคคลเหล่านั้นจะเรียนรู้ที่จะเข้าใจอริยสัจข้อแรก กล่าวคือทุกสิ่งทุกอย่างไม่น่าพึงพอใจ รูปและนามล้วนเป็นทุกข์ พัฒนาการเบื้องต้นของโยคีจะเริ่มจากการตามดูสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นทุกข์ เมื่อประจักษ์แจ้งอริยสัจสี่ที่เหลืออีกสามประการโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ การละตัณหาอันเป็นอริยสัจประการที่สอง การดับทุกข์เป็นอริยสัจประการที่สาม และการเจริญมรรคมีองค์แปดเป็นอริยสัจประการที่สี่

   การเจริญมรรคในเบื้องต้นที่ยังเป็นโลกียมรรคจะเกิดขึ้นทุกขณะที่ผู้ปฏิบัติดำรงสติอยู่ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มรรคมีความแก่กล้าพอ ก็จะกลายเป็นโลกุตตรมรรค ดังนั้นเมื่อได้บรรลุนิพพาน เทพบุตรองค์นี้จึงระลึกรู้ได้ว่า การปฏิบัติของท่านเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะเข้าถึงพระนิพพาน ท่านประจักษ์ว่า ท่านได้ประสบกับการดับทุกข์ที่แท้จริง อันเป็นสภาวะที่ปราศจากสิ่งปรุงแต่ง และรู้ว่าไม่มีนิพพานอื่นนอกเหนือไปจากนี้ ผู้ปฏิบัติทุกคนจะมีความรู้สึกเหมือนกันเมื่อมาถึงจุดนี้


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 07, 2012, 02:28:42 pm โดย ฐิตา »