คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ
ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)
ฐิตา:
สัมมาทิฏฐิว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง
สัมมาทิฏฐิประการแรกคือ กมฺมสกตา ได้แก่ ความเห็นที่ว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน กรรมในที่นี้รวมทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว เรามีทัศนคติในความเป็นเจ้าของและการควบคุมวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา กรรมจึงเป็นสิ่งเดียวในโลกนี้ที่เราเป็นเจ้าของได้จริง ๆ ผู้ปฏิบัติพึงทำความเข้าใจว่า ไม่ว่าการกระทำดี หรือไม่ดีจะติดตามเราไปตลอดในสังสารวัฏ ก่อให้เกิดวิบากที่ดีและชั่วสอดคล้องกัน นอกจากนี้กรรมยังให้ผลทันทีต่อจิตใจ คือก่อให้เกิดความสุข หรือความทุกข์ ขึ้นอยู่กับว่ากรรมนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะเดียวกัน กรรมก็ให้ผลในระยะยาวด้วย อกุศลกรรมจะนำไปเกิดในอบายภูมิ กุศลกรรมนำไปสู่การเกิดในสุคติภูมิ และกุศลกรรมที่สูงสุดทำให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง
การมองโลกในลักษณะนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติมีพลังในการเลือกแนวทางในการดำรงชีวิต ดังนั้น กมฺมสกตา สมฺมาทิฏฐิ จึงมีชื่อว่า “แสงสว่างของโลก” เพราะทำให้เรามองเห็นและประเมินผลทางเลือกของเราเองได้ การเข้าใจกรรมอย่างถูกต้องเปรียบเหมือนชุมทางรถไฟที่ซึ่งมีหลายทิศทางที่รถไฟสามารถวิ่งไป หรือเหมือนกับสนามบินนานาชาติที่เชื่อมโยงกับจุดหมายปลายทางมากมาย เนื่องจากเราก็เหมือนกับสัตว์ทั้งหลายที่ปรารถนาความสุข ความเข้าใจเรื่องกรรมจะทำให้เรามีแรงจูงใจอย่างแรงกล้าที่จะประกอบกรรมดีมากขึ้น ๆ รวมทั้งปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะนำมาซึ่งทุกข์ภัยในอนาคต
การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการให้ทาน และการรักษาศีลจะช่วยให้เราได้ไปเกิดในสภาพแวดล้อมที่ดี กุศลกรรมนี้ยังช่วยให้สัตว์โลกสามารถเดินทางไปสู่พระนิพพานด้วย
สัมมาทิฏฐิเกี่ยวกับฌาน
เพื่อก้าวข้าม กมฺมสกตาสมฺมาทิฏฐิ ไปอีกขั้นหนึ่ง ผู้ปฏิบัติพึงเจริญสมาธิ สมาธินี้ให้ผลทันที กล่าวคือ ทำให้ผู้ปฏิบัติอยู่อย่างเป็นสุข ดื่มด่ำอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ความเห็นชอบประเภทที่สองนี้ได้แก่ ฌานฺสมฺมาทิฏฐิ เป็นความเห็นชอบเกี่ยวกับฌานและสมาธิขั้นต่าง ๆ เป็นความรู้ที่เกิดในขณะที่ฌานทั้งแปดประเภทปรากฏ ประโยชน์ของความเห็นชอบเกี่ยวกับฌานมีสามประการ คือ หนึ่ง ขณะที่กำลังจะสิ้นชีวิต หากผู้ปฏิบัติสามารถรักษาสมาธิได้อย่างเข้มแข็ง ก็จะได้ไปเกิดในพรหมโลกและสามารถดำรงอยู่ในพรหมโลกได้เป็นเวลานาน ๆ หลายกัปหลายกัลป์ สอง ฌานยังเป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนาที่เข้มแข็ง สาม ฌานยังเป็นพื้นฐานของการเจริญอภิญญาอีกด้วย
การปูทางสำหรับญาณสูงสุด : การเจริญวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ
การที่ผู้ปฏิบัติทุ่มเทเวลาและความเพียรมากที่สุดให้กับการเจริญสัมมาทิฏฐิประเภทที่สามให้เกิดในตน คือ วิปสฺสนาสมฺมาทิฏฐิ เป็นความเห็นชอบที่เกิดจากวิปัสสนาญาณ เมื่อวิริยะ สติ หิริ และโอตตัปปะ มีอยู่พร้อม วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ พึงจำไว้ว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความคิดเห็นธรรมดา สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความคิดเห็นธรรมดา สัมมาทิฏฐิเป็นปัญญาญาณอันลึกซึ้งซึ่งเกิดขึ้นเองจากการที่ผู้ปฏิบัติมองสภาวะที่แท้จริงของสิ่งต่าง ๆ เข้าไปตรง ๆ
ปัจจุบันนี้เมื่อผู้นำประเทศจะออกจากที่พำนักต้องมีการเตรียมการณ์มากมายก่อนที่ขบวนรถจะเคลื่อนที่ออกไป กลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะตรวจสอบว่า หนทางโล่งและปลอดภัยหรือไม่ เจ้าหน้าที่บางคนตรวจดูระเบิด วางด่านกั้นฝูงชนตามข้างถนน มอบหมายให้เจ้าหน้าที่จราจรประจำที่และลากรถที่อาจจอดขวางทางออกไป เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ประมุขจึงจะออกจากที่พำนักมาขึ้นรถที่มีคนขับคอยท่าอยู่
ในทำนองเดียวกัน บนหนทางแห่งอริยมรรค วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ เปรียบเหมือนกับตำรวจลับ การประจักษ์ใน อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา จะแผ้วถางหนทางให้ปลอดโปร่งจากความยึดมั่นถือมั่นนานาประเภท รวมถึงความเห็นที่ผิด ๆ ทฤษฎีความเชื่อส่วนตัว ความเข้าใจผิดและอื่น ๆ การทำลายความยึดมั่นนี้เกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น เมื่อการเตรียมการเบื้องต้นพร้อมแล้ว การเห็นแจ้งอริยมรรคก็จะปรากฏและขุดรากถอนกิเลสให้สิ้นไป
กระบวนการดับทุกข์
ในหนทางสู่มรรคจิต วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะทำลายความเห็นผิดหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสภาพธรรมที่แท้จริงของธรรมชาติ วิปัสสนาญาณขั้นที่หนึ่งแสดงให้เห็นว่า รูปและนามมีสภาพธรรมที่แตกต่างกันและชีวิตก็มิใช่อะไรอื่น นอกจากกระแสของรูปและนามที่ไม่หยุดนิ่ง ณ จุดนี้ ผู้ปฏิบัติละสิ่งที่เป็นส่วนเกินของชีวิต ชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ขึ้นโดยถอดถอนการปรุงแต่งบางอย่างที่เคยมี เช่น ทัศนะเกี่ยวกับชีวิตว่าเที่ยงและมีตัวตน
ในญาณขั้นที่สอง ความเข้าใจเหตุและผล ลบล้างความสงสัยที่ว่าสิ่งต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ผู้ปฏิบัติรู้ว่าความจริงมิใช่เช่นนั้น นอกจากนี้ยังสามารถประจักษ์แจ้งโดยตรงว่า สภาวธรรมต่าง ๆ มิได้เกิดขึ้นจากเหตุภายนอก
ฐิตา:
เมื่อวิปัสสนาญาณมีความลุ่มลึกขึ้น ผู้ปฏิบัติเห็นความไม่เที่ยงของอารมณ์ต่าง ๆ และประจักษ์ว่าทุกอย่างที่เคยประสบพบมาและจะประสบต่อไปในอนาคต ก็เป็นอนิจจังเช่นกัน ความไม่เที่ยงของอารมณ์ต่าง ๆ และประจักษ์ว่าทุกอย่างที่เคยประสบพบมา และจะประสบต่อไปในอนาคต ก็เป็นอนิจจังเช่นกัน จากพื้นฐานความเข้าใจเรื่องความไม่เที่ยงถาวรและการแปรเปลี่ยนของสิ่งต่าง ๆ ผู้ปฏิบัติก็จะระลึกได้เองว่าไม่มีที่สำหรับหลบภัย ไม่สามารถพึ่งพาอะไรได้เลย ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงพ้นจากความคิดผิด ๆ ที่ว่าสามารถแสวงหาสันติสุขและเสถียรภาพอันถาวรได้จากวัตถุสิ่งใดในโลกนี้ การถูกกดดันบีบคั้นด้วยสภาวธรรมอันไม่เที่ยงต่าง ๆ นับว่าเป็นความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกเช่นนี้จากก้นบึ้งของหัวใจเมื่อถึงญาณขั้นที่สาม
ความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องและติดตามมาจากความรู้สึกกลัวและกดดันอย่างลึกซึ้งนี้ ก็คือ การระลึกรู้ว่าไม่มีใครที่สามารถป้องกันหรือควบคุมการเกิดขึ้นและดับไปของสิ่งต่าง ๆ ทำให้ผู้ปฏิบัติประจักษ์ชัดได้เองว่าไม่มีตัวตนในสิ่งใด ๆ ญาณทั้งสามลำดับหลังนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเชื่อมโยงกับอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาโดยตรง
การปรากฏของวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ
เมื่อวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิปรากฏขึ้น ราชรถก็พร้อมที่จะออกเดินทาง ราชรถจะเริ่มขยับและค่อย ๆ เคลื่อนไปบนหนทางที่จะนำไปสู่พระนิพพาน ถึงตอนนี้ผู้ปฏิบัติก็สามารถบังคับรถให้เคลื่อนไปได้ รถมีเกราะกำลังแล้ว พนักหลังมั่นคง และคนขับก็เข้าที่เรียบร้อย ผู้ปฏิบัติเพียงแต่ออกแรงบังคับล้อทั้งสองเบา ๆ แล้วราชรถก็จะทะยานออกไป
ครั้นผู้ปฏิบัติมีญาณหยั่งรู้อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาแล้ว ผู้ปฏิบัติจะเห็นสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นและดับไปเร็วขึ้นและชัดเจนมากขึ้น เห็นการดับจากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่งละเอียดยิบยิ่งกว่าเศษเสี้ยววินาที ยิ่งการปฏิบัติก้าวหน้าขึ้น ก็จะเห็นการเกิดดับเร็วขึ้นและในที่สุดผู้ปฏิบัติจะไม่สามารถมองเห็นการเกิดได้เลย ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะมองเห็นการดับไปอย่างรวดเร็ว ผู้ปฏิบัติจะมีความรู้สึกเหมือนกับมีคนกระชากพรมใต้ฝ่าเท้าให้หายไปในพริบตา การดับนี้มิใช่สิ่งเลื่อนลอย แต่จะครอบคลุมชีวิตจิตใจทั้งหมดในขณะนั้น
ผู้ปฏิบัติจะมีความก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ มุ่งเข้าใกล้จุดมุ่งหมายไปทุกขณะ หลังจากวิปัสสนาญาณชั้นต่าง ๆ ผ่านไปแล้ว มรรคญาณก็จะเข้าแทนที่ และนำผู้ปฏิบัติเข้าสู่สถานที่ที่ปลอดจากภัย คือพระนิพพาน
แม้เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว และกิเลสไม่อาจกำเริบขึ้นมาได้ กิเลสยังมิได้ถูกประหารไปโดยสิ้นเชิง กิเลสอาจถูกกดข่มเอาไว้ แต่ก็ยังรอคอยโอกาสที่จะกลับเข้ามากุมอำนาจอีกครั้ง
เครื่องหมายสุดท้าย : การทำกิเลสให้อ่อนแอและสิ้นไป
กิเลสนั้นจะถูกประหารโดยสิ้นเชิงในขณะที่อริยมรรคสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นเท่านั้น
ผู้ปฏิบัติอาจสงสัยว่าการประหารกิเลสหมายถึงอะไร กิเลสที่ได้เกิดขึ้นแล้วนั้นไม่สามารถถอดถอนได้ เพราะเป็นอดีตไปแล้ว เช่นเดียวกับกิเลสที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่สามารถทำลายได้ เนื่องจากยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ แม้ในปัจจุบันขณะ กิเลสเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วจะประหารกิเลสได้อย่างไร อนุสัยกิเลสหรือกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ต่างหากคือ สิ่งที่จะถูกกำจัดออกไป กิเลสมีสองประเภท ประเภทแรกสัมพันธ์กับอารมณ์ ส่วนอีกประเภทหนึ่งเกี่ยวกับความสืบเนื่องของขันธ์หรือของรูปนาม กิเลสประเภทแรก จะเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยเอื้ออำนวย กล่าวคือ มีความเกี่ยวโยงกับสภาวธรรมทางกายหรือทางจิตในขณะที่ไม่มีสติ หากมีอารมณ์ปรากฏขึ้นชัดและขาดสติในการกำหนดรู้การกระทบของอารมณ์และจิต ให้มีความสะอาดบริสุทธิ์แล้ว กิเลสซึ่งนอนเนื่องอยู่ก็จะปรากฏตัวออกมาให้เห็น แต่หากมีสติ สภาพธรรมขณะนั้นก็จะไม่เอื้ออำนวยให้กิเลสเกิดขึ้นต่อไป และกิเลสก็จะถูกกีดกันให้อยู่ห่างไกล
กิเลสประเภทที่สอง เป็นกิเลสที่นอนเนื่อง และก็จะถูกฝังอยู่ในกระแสความรู้สึกของเราตลอดการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ กิเลสประเภทนี้จะสามารถประหารได้ก็ด้วยมรรคญาณเท่านั้น
ในสมัยก่อนเวลามีคนป่วยเป็นไข้มาเลเรีย มีการรักษาด้วยยาสองขนาน คนไข้ที่เป็นมาเลเรียจะมีไข้ขึ้นสูงเป็นระยะ ๆ ประมาณทุก ๆ สองวันจะมีไข้สูงมากครั้งหนึ่ง และตามด้วยอาการหนาวสั่นอย่างฉับพลัน การรักษาขั้นแรกต้องทำให้อุณหภูมิที่สูงลดลงก่อน ทำให้คนไข้มีกำลังขึ้น และเชื้อโรคอ่อนแอลง ในที่สุดเมื่อวงจรของไข้สูงและอาการหนาวสั่นลดลงบ้างแล้ว หมอจะให้ยาอีกขนานหนึ่งที่ทำให้คนไข้หายขาด เมื่อคนไข้แข็งแรงขึ้นแล้ว และเชื้อโรคอ่อนแอลง เชื้อมาเลเรียก็ถูกกำจัดไปได้
วิธีรักษาขั้นแรก เปรียบได้กับวิปัสสนาญาณ ซึ่งทำให้กิเลสอ่อนกำลังลง ส่วนยาเผด็จศึกก็คือมรรคญาณที่ทำหน้าที่ประหารกิเลสอย่างเด็ดขาด
ฐิตา:
อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ กระบวนการรับรองเอกสารของทางราชการ ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนมากมาย กระบวนการนี้ต้องใช้เวลานานมาก เริ่มด้วยประชาชนต้องเข้าไปติดต่อประชาสัมพันธ์ที่ชั้นแรกของอาคาร จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะส่งบุคคลนั้นขึ้นไปที่ชั้นสองเพื่อรับเอกสาร และไปติดต่อขอลายเซ็นอนุมัติจากฝ่ายหนึ่งสู่อีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อไปยื่นเอกสารเจ้าหน้าที่อีกฝ่ายหนึ่งก็จะขอให้กรอกแบบฟอร์มแล้วรอจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบลงนาม ตลอดทั้งวันประชาชนคนนั้นต้องติดต่อผ่านหน่วยงานต่าง ๆ จากชั้นหนึ่งไปอีกชั้นหนึ่ง กรอกแบบฟอร์มและรอรับลายเซ็นกว่าจะได้เอกสารทั้งหมดครบถ้วนต้องใช้เวลานานมาก ในที่สุด บุคคลผู้นั้นก็ขึ้นไปหาเจ้าหน้าที่สูงสุด และใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นลงนามเอกสารได้รับการรับรองเป็นเอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่เขาผู้นั้นจำต้องผ่านขั้นตอนของราชการที่ยาวเหยียดเหล่านั้นก่อน
เช่นเดียวกับการปฏิบัติวิปัสสนา มีกระบวนการมากมาย แต่มรรคญาณเกิดเร็วกว่าเวลาที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้นั้นใช้ในการลงนามเสียอีก ถึงกระนั้นผู้ปฏิบัติต้องทำหน้าที่ของตนก่อน เมื่อทุกอย่างพร้อม มรรคญาณก็จะปรากฏและรับรองอย่างเป็นทางการว่า กิเลสได้ถูกประหารไปหมดสิ้นแล้ว
ช่วงแรกของวิปัสสนาญาณ อาจเรียกได้ว่าเป็น “หนทางของคนทำงาน” ผู้ปฏิบัติต้องทำงานให้เสร็จโดยสมบูรณ์โดยไม่หลบเลี่ยง มรรคญาณเปรียบเหมือนเจ้านายสูงสุดทำหน้าที่สั่งการ เจ้านายคงไม่อาจลงนามในกระดาษเปล่าที่ยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการทำงานเบื้องต้นอย่างสมบูรณ์ได้
อริยมรรคและผลญาณ : ดับไฟและชโลมน้ำลงบนเถ้าถ่านแห่งกิเลส
เมื่อวิปัสสนาญาณบริบูรณ์แล้ว มรรคญาณก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ติดตามด้วยผลญาณ ในภาษาบาลี สภาวจิตนี้เรียกว่า มรรค และผล องค์ประกอบของมรรคญาณและผลญาณก็คือสัมมาทิฏฐิประเภทที่สี่และห้า จากทั้งหมดหกประเภท
เมื่อเกิดมรรคญาณ อริยมรรคสัมมาทิฏฐิจะทำหน้าที่ประหารกิเลสที่จะนำเราไปเกิดในอบายภูมิ อันเป็นสภาวะที่ทุกข์ทรมาน ภพเหล่านี้ได้แก่ นรก เดรัจฉาน เปรต และอสุรกาย ต่อจากนั้นผลญาณก็จะตามมาทันที ซึ่งส่วนหนึ่งก็คืออริยผลสัมมาทิฏฐิ ผู้ปฏิบัติอาจสงสัยว่า ญาณนี้ทำหน้าที่อะไร เพราะอนุสัยกิเลสได้ถูกประหารไปแล้ว ผลญาณสัมมาทิฏฐิทำให้กิเลสเย็นลง กองไฟแห่งกิเลสอาจมอดไปแล้ว แต่ก็ยังมีเถ้าถ่านอุ่น ๆ เหลืออยู่ ผลญาณสัมมาทิฏฐินี้ ทำหน้าที่ชโลมน้ำลงบนเถ้าถ่านเหล่านั้น
ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ
ความเห็นชอบประเภทที่หก คือ ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ ทำหน้าที่ทบทวนความรู้ที่ติดตามมาจากผลญาณและประสบการณ์นิพพาน ญาณนี้จะทบทวนสิ่งห้าประการ คือ การเกิดมรรคญาณและผลญาณ นิพพานในฐานะที่เป็นอารมณ์ ๆ หนึ่ง กิเลสที่ได้ถูกทำลายไปและส่วนที่ยังเหลืออยู่ นอกจากนี้แล้ว ไม่มีหน้าที่สำคัญอื่นใด
สัมมาทิฏฐิประเภทแรก คือ กมฺมสกตาสมฺมาทิฏฺฐิ กล่าวว่าเป็นสิ่งถาวร กล่าวคือเป็นสิ่งที่จะไม่หายไปจากชีวิต โลกนี้อาจแตกสลายถูกทำลายไป แต่ยังคงมีสิ่งมีชีวิตซึ่งบางทีอาจจะอยู่ในอีกโลกหนึ่งก็ได้ ที่มีความเห็นถูกว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน
บุคคลที่ไม่พยายามแยกแยะความแตกต่างระหว่างกุศลกรรมและอกุศลกรรมย่อมตกอยู่ในที่มืด เปรียบเหมือนเด็กทารกที่เกิดมาตาบอด บอดมาตั้งแต่ในครรภ์ และมืดบอดเมื่อคลอดออกมาแล้ว หากทารกนี้โตขึ้น ก็ไม่มีทางมองเห็นพอที่จะช่วยเหลือตนเองได้ คนตาบอดและขาดผู้นำทาง ย่อมจะประสบกับอุบัติภัยมากมาย
ฌานสัมมาทิฏฐิ จะยังคงมีปรากฏอยู่เสมอ ตราบเท่าที่มีผู้ปฏิบัติธรรมและบรรลุฌาน แม้ในช่วงที่พระพุทธศาสนาไม่รุ่งเรือง ก็ยังจะมีผู้เจริญสมาธิ และเจริญฌานอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ความเห็นชอบในส่วนที่เหลือจะคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อพระพุทธศาสนายังตั้งมั่นอยู่เท่านั้น นับแต่ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์จนถึงปัจจุบัน คำสอนของพระพุทธองค์ยังรุ่งเรืองอยู่ ขณะนี้พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก แม้ในประเทศที่มิได้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ยังมีองค์กร หรือกลุ่มชนซึ่งมีหลักการที่มีรากฐานมาจากคำสอนของพระพุทธองค์ บุคคลที่พอใจเพียงความเห็นชอบในเรื่องของกรรมหรือฌานเท่านั้น ยังไม่อาจได้รับแสงแห่งพระธรรมได้ เขาอาจได้รับความสว่างจากแสงทางโลก แต่มิใช่แสงของพระพุทธองค์ ความเห็นชอบอีกสี่ประเภทที่เหลือจากวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิจนถึงปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ เท่านั้นที่ประกอบด้วยแสงแห่งพระพุทธธรรม
เมื่อผู้ปฏิบัติสามารถแยกรูปและนามออกจากกันได้ ก็จะหลุดพ้นจากทิฏฐิวิปลาสในเรื่องของตัวตน และม่านของความมืดชั้นที่หนึ่งก็จะถูกถอดออกไป กล่าวได้ว่าแสงแห่งธรรมะได้เริ่มส่องสว่างผ่านเข้ามาถึงจิตสำนึกของผู้ปฏิบัติแล้ว แต่ก็ยังมีม่านชั้นอื่น ๆ ที่ยังต้องถอดถอนออกไปอีก ม่านแห่งอวิชชาชั้นที่สองก็คือความเห็นที่ว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างไม่มีระเบียบและไม่มีเหตุผล ม่านนี้จะถูกยกออกไปเมื่อเกิดญาณหยั่งรู้ในเหตุและผล เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นเหตุและผลของสรรพสิ่ง แสงสว่างในจิตก็จะสว่างเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ผู้ปฏิบัติไม่พึงประมาทในชั้นนี้ เพราะว่าจิตยังมืดบอดด้วยอวิชชา ความไม่รู้ในอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เพื่อกำจัดความมืดนี้ ผู้ปฏิบัติพึงทำงานหนักอย่างไม่ย่อท้อ เฝ้าดูอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ลับสติให้แหลมคม ทำสมาธิให้ตั้งมั่น แล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ฐิตา:
ณ จุดนี้ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า ไม่มีที่ใดให้หลบภัยจากสภาวธรรมที่เป็นอนิจจังเช่นนี้ได้เลย ความเห็นนี้ทำให้เกิดความผิดหวังอย่างแรง แต่แสงภายในกลับสว่างเพิ่มขึ้นไปอีก ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ชัดเจนว่า สภาวธรรมทั้งหลายล้วนเป็นทุกข์และไม่มีตัวตน ขณะนั้นเอง มีเพียงม่านผืนเดียวที่เหลืออยู่ปิดบังไม่ให้เห็นพระนิพพาน และจะถูกกำจัดไปได้ก็ด้วยอริยมรรคญาณเท่านั้น ตรงนี้แหละที่แสงแห่งพุทธธรรมจะส่องสว่างเจิดจ้าอย่างแท้จริง
หากผู้ปฏิบัติสามารถเจริญสัมมาทิฏฐิได้ทั้งหกประการ จะมีความผ่องใส ผู้ปฏิบัติจะไม่พรากจากแสงของปัญญาอีกเลย ไม่ว่าจะเดินไปทางใดในอนาคต ในทางตรงข้าม ปัญญาจะส่องแสงสว่างเจิดจ้าในตัวผู้ปฏิบัติ ตลอดการท่องเที่ยวที่เหลืออยู่ในสังสารวัฏ ในที่สุดจะมีแสงสว่างไสวที่สุดปรากฏขึ้นเมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผลซึ่งเป็นการบรรลุธรรมขั้นสุดท้าย
การครอบครองราชรถ
“ใครก็ตาม ไม่ว่าชายหรือหญิงที่ครอบครองราชรถเช่นนี้ และสามารถขับขี่ไปด้วยดี ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะบรรลุถึงพระนิพพานโดยแน่แท้”
กล่าวกันว่าเมื่อเทพบุตรผู้เคยเป็นพระภิกษุมาก่อนองค์นั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับราชรถ ท่านเข้าใจสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสสอนและได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ทันที ท่านเข้าครอบครองราชรถอันบรรเจิดคืออริยมรรคมีองค์แปด ถึงแม้ว่าพุทธดำรัสมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่อรหัตตผล ท่านยังไม่พร้อมสำหรับการบรรลุธรรมขั้นสุดท้าย บารมีของท่านมีเพียงพอที่จะเป็นผู้ถึงกระแสแห่งโสดาปัตติผลเท่านั้น
ประโยชน์ของการเข้าถึงกระแส : การทำมหาสมุทรแห่งสังสารวัฏให้เหือดแห้งลง
ในการบรรลุธรรมขั้นที่หนึ่งนี้ ผู้ปฏิบัติจะพ้นจากอันตรายที่จะนำให้ตกไปสู่อบายภูมิ พระสูตรกล่าวไว้ว่า กิเลสสามอย่างถูกประหารไป คือ มิจฉาทิฏฐิ วิจิกิจฉา และการยึดมั่นในการปฏิบัติที่ผิด ในอรรถกถากล่าวว่า ความอิจฉาริษยาและความตระหนี่ก็ถูกทำลายไปด้วย
คงจะไม่เป็นไรที่จะสมมติว่า เทพบุตรองค์นี้เคยได้ญาณที่ประจักษ์ในลักษณะของรูปและนามมาล้างแล้วในชาติที่ท่านเป็นพระภิกษุ ในขณะได้ดวงตาเห็นธรรมนี้ ท่านก็ปราศจากความเห็นผิด ๆ ที่ว่า มีตัวตนภายในหรืออัตตา อย่างไรก็ตาม การละความเห็นที่ผิดนี้เป็นเพียงชั่วคราวจนกว่าจะได้เห็นพระนิพพานเป็นครั้งแรกเท่านั้น ที่ความเห็นจะเปลี่ยนไปอย่างถาวร ผู้ที่ได้บรรลุโสดาบันจะไม่เชื่อเรื่องของอัตตาอีกต่อไป
ฐิตา:
กิเลสประเภทที่สองที่ถูกประหารไปเกี่ยวข้องกับความเห็นผิดโดยตรง เมื่อผู้ปฏิบัติยังไม่เข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ก็ยากที่จะตัดสินได้อย่างมั่นใจว่าอะไรถูก อะไรผิด เหมือนกับคนยืนอยู่บนทางสองแพร่ง หรือเหมือนกับคนที่ระลึกได้ในทันทีทันใดว่า กำลังหลงทางก็ต้องมีความสงสัยว่าจะไปทางไหนดี ความสงสัยนี้อาจทำให้อ่อนเปลี้ยและหวั่นใจ
เมื่อผู้ปฏิบัติมองเห็นกระบวนการของเหตุและผลก็จะละทิ้งความสงสัยได้ชั่วคราว ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่าธรรมะเป็นของจริง จิตและกายเป็นสิ่งที่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งเหตุและผล และไม่มีอะไรเลยในโลกนี้ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความสิ้นสงสัยนี้จะตั้งอยู่นานเท่าที่สติและญาณยังคงอยู่ ความศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวในอานุภาพและความจริงแท้ของพระธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลได้เดินไปจนสุดทางของอริยมรรคมีองค์แปดคือพระนิพพานแล้วเท่านั้น ผู้ปฏิบัติที่ได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์จนสุดหนทางแล้วก็จะมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธองค์จนสุดหนทางแล้ว ก็จะมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธองค์และพระอริยบุคคลอื่น ๆ ที่ได้ไปสู่จุดหมายตามแนวทางเดียวกันนี้
กิเลสอย่างที่สามที่พระโสดาบันผู้ถึงกระแสละได้ก็คือ ความเชื่อในการปฏิบัติผิด ๆ ความเข้าใจนี้คงพอจะมองเห็นได้ชัดในกรณีทั่ว ๆ ไป และจะสามารถเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น หากพิจารณาจากอริยสัจสี่ เมื่อผู้ปฏิบัติที่มีโอกาสเข้าถึงกระแสพระนิพพาน เริ่มเจริญมรรคมีองค์แปดให้เกิดขึ้นในตนเอง บุคคลเหล่านั้นจะเรียนรู้ที่จะเข้าใจอริยสัจข้อแรก กล่าวคือทุกสิ่งทุกอย่างไม่น่าพึงพอใจ รูปและนามล้วนเป็นทุกข์ พัฒนาการเบื้องต้นของโยคีจะเริ่มจากการตามดูสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นทุกข์ เมื่อประจักษ์แจ้งอริยสัจสี่ที่เหลืออีกสามประการโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ การละตัณหาอันเป็นอริยสัจประการที่สอง การดับทุกข์เป็นอริยสัจประการที่สาม และการเจริญมรรคมีองค์แปดเป็นอริยสัจประการที่สี่
การเจริญมรรคในเบื้องต้นที่ยังเป็นโลกียมรรคจะเกิดขึ้นทุกขณะที่ผู้ปฏิบัติดำรงสติอยู่ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มรรคมีความแก่กล้าพอ ก็จะกลายเป็นโลกุตตรมรรค ดังนั้นเมื่อได้บรรลุนิพพาน เทพบุตรองค์นี้จึงระลึกรู้ได้ว่า การปฏิบัติของท่านเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะเข้าถึงพระนิพพาน ท่านประจักษ์ว่า ท่านได้ประสบกับการดับทุกข์ที่แท้จริง อันเป็นสภาวะที่ปราศจากสิ่งปรุงแต่ง และรู้ว่าไม่มีนิพพานอื่นนอกเหนือไปจากนี้ ผู้ปฏิบัติทุกคนจะมีความรู้สึกเหมือนกันเมื่อมาถึงจุดนี้
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version