คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ
ราชรถสู่พระนิพพาน (Sayadaw U Pandita)
ฐิตา:
หิริ : พนักพิงหลังของราชรถ
ส่วนประกอบอีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงบรรยายไว้ คือ พนักพิงหลังซึ่งก็คือหิรินั่นเอง ในสมัยนั้นราชรถมีพนักพิงหลังเพื่อค้ำยันผู้ขับ หากไม่มีพนักแล้ว สารถีหรือผู้โดยสารก็อาจตกลงจากรถได้เมื่อรถออกตัว หรือหยุดกะทันหัน นอกจากนี้พนักพิงก็อาจเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกได้ ทำให้ผู้นั่งสามารถเอนหลังสบาย ๆ ราวกับนั่งอยู่ในเก้าอี้นวมตัวโปรด แล้วเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมาย ในที่นี้จุดหมายปลายทางก็คือพระนิพพาน
หิริและโอตตัปปะ
ก่อนอื่นเราพึงเข้าใจหน้าที่ของพนักพิงหลังของราชรถแห่งวิปัสสนา โดยการวิเคราะห์เจาะลึกลงไปดูว่า หิริ หมายถึงอะไร พระพุทธองค์ทรงใช้คำภาษาบาลีว่า หิริ ส่วนโอตตัปปะนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยนัย แต่มิได้ตรัสไว้ในพระสูตร สองคำนี้มักจะแปลว่า “ความละอาย” และ “ความเกรงกลัว” ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม คำเหล่านี้ถูกนำมาใช้มีความหมายในทางลบ จึงทำให้ไม่ถูกต้องและหากมีเวลาก็จะพยายามขยายความคำว่าหิริ และโอตตัปปะ
พึงจำไว้ว่าทั้งหิริและโอตตัปปะมิได้มีความหมายที่สื่อถึงความโกรธหรือเกลียดชังตามนัยความหมายของคำว่า ความละอายและความเกรงกลัว เราอับอายและเกรงกลัวในเรื่องของอกุศลกรรมเพราะคุณธรรมทั้งสองนี้เท่านั้น เมื่อบุคคลประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะแล้ว ย่อมมีสำนึกในทางศีลธรรมที่แจ่มชัด บุคคลผู้เปี่ยมด้วยสำนึกในทางศีลธรรมย่อมไม่มีสิ่งใดที่จะต้องอับอายหรือเกรงกลัว
หิริ หรือ “ความละอาย” เป็นความรู้สึกขยะแขยงต่อกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติพยายามเจริญสติ จะพบว่ามีช่วงที่กิเลสสามารถแทรกซึมเข้ามา และทำให้ผู้ปฏิบัติตกเป็นเหยื่อของกิเลสได้ เมื่อกลับมีสติอีกครั้งก็จะรู้สึกเกลียดชังหรืออับอายที่เสียท่าให้กิเลสไป ทัศนคติแบบนี้ที่มีต่อกิเลสคือ หิริ
โอตตัปปะหรือ “ความเกรงกลัว” เป็นการเกรงกลัวต่อผลของอกุศลกรรม หากผู้ปฏิบัติปล่อยให้ตนเองตกอยู่ในความคิดอกุศลเป็นเวลานาน ๆ ระหว่างการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจะเป็นไปได้ช้า หากผู้ปฏิบัติประกอบอกุศลกรรมที่ครอบงำด้วยกิเลส ไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม ก็จะเฝ้ากังวลถึงผลกรรมนั้นด้วยความทุกข์ เมื่อกลัวผลของอกุศลกรรมก็จะระมัดระวังมากขึ้นในการตื่นตัวต่อกิเลส ซึ่งจะคอยแทรกซึมเข้ามาเสมอในระหว่างนั่งกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติก็จะมีความมุ่งมั่นอยู่กับอารมณ์หลักด้วยดี
หิริ เกิดจากคุณธรรมและความซื่อตรงส่วนบุคคลโดยตรง ในขณะที่โอตตัปปะมักจะเกี่ยวเนื่องกับคุณธรรม และชื่อเสียงของพ่อแม่ ครูอาจารย์ และญาติมิตร
หิริทำหน้าที่ได้หลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น ชายหรือหญิงที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาดี ไม่ว่าเขาจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะอย่างไร พ่อแม่ก็จะอบรมสั่งสอนถึงคุณธรรมของมนุษย์ บุคคลเช่นนี้ย่อมคิดหน้าคิดหลังให้ดี ก่อนที่จะประกอบอกุศลกรรมใด ๆ เช่น ปาณาติบาต พวกเขาจะคิดว่า “พ่อแม่สอนให้เรามีเมตตาและรักเพื่อนมนุษย์ เราจะทำลายความเคารพตนเองโดยการยอมพ่ายแพ้ต่อความคิดและความรู้สึกมุ่งทำลายอย่างนี้หรือ เราจะยอมฆ่าสัตว์อื่นในภาวะที่อ่อนแอโดยปราศจากความเมตตาและการไตร่ตรองเช่นนี้หรือ เราจะยอมละทิ้งคุณธรรมของเราแล้วหรือ” หากใคร่คิดทบทวนเช่นนี้ และตัดสินใจที่จะไม่ฆ่าได้ ก็นับว่าหิริทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
อานิสงส์ของปัญญาหรือการเรียนรู้ก็อาจจะช่วยให้บุคคลละเว้นอกุศลกรรมได้ หากบุคคลไดได้รับการศึกษาและการอบรมมาดีแล้ว เขาผู้นั้นย่อมจะมีมโนธรรมสูง เมื่อถูกยั่วยุให้กระทำสิ่งผิดศีลธรรม เขาจะเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นต่ำทรามเกินไป และเพิกเฉยต่อการยั่วยุนั้น หิริยังอาจเจริญได้เมื่ออายุมากขึ้น เมื่อมีอายุมากขึ้น บุคคลมักจะระลึกถึงศักดิ์ศรีของความเป็นผู้อาวุโสว่า “ฉันเป็นผู้ใหญ่แล้ว และรู้จักผิดชอบชั่วดี ฉันจะไม่ทำอะไรที่ไม่เหมาะสม เพราะฉันเคารพในเกียรติภูมิของตนเอง”
หิริยังอาจเกิดจากความเชื่อมั่นอย่างกล้าหาญ เราอาจไตร่ตรองว่า อกุศลกรรมเป็นการกระทำของคนที่อ่อนแอ ขลาด และขาดหลักการ คนที่มีความกล้าหาญและศรัทธาเชื่อมั่นจะยืนหยัดอยู่กับหลักการเสมอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นี่เป็นคุณธรรมของวีรบุรุษที่ไม่ยอมให้ศักดิ์ศรีของตนต้องมัวหมอง
โอตตัปปะ หรือความเกรงกลัวในเชิงมโนธรรม จะเกิดขึ้นเมื่อเราพิจารณาว่า พ่อแม่ เพื่อนฝูง และสมาชิกในครอบครัวจะต้องอับอายขายหน้าจากการทำชั่วของเรา คุณธรรมข้อนี้ยังเป็นการตั้งความปรารถนาที่จะไม่ทำลายคุณค่าสูงสุดของความเป็นมนุษย์ด้วย
กรรมชั่วไม่อาจปิดบังได้ หากได้กระทำไปแล้ว บุคคลย่อมรู้อยู่แก่ใจ และยังมีผู้ที่สามารถอ่านใจและสามารถมองเห็นและได้ยินสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้อื่นได้ หากเรารู้ว่ามีผู้เป็นเช่นนี้อยู่จริง ๆ ก็อาจลังเลที่จะก่อกรรมชั่วด้วยเกรงว่าผู้อื่นจะล่วงรู้ได้
หิริและโอตตัปปะมีบทบาทที่สำคัญมากในชีวิตครอบครัว ด้วยคุณธรรมข้อนี้เองที่ทำให้พ่อแม่ พี่น้องชายหญิงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างบริสุทธิ์ หากมนุษย์ปราศจากมโนธรรมดังกล่าว ก็คงมีความสัมพันธ์ที่ไม่นับญาติกัน ซึ่งไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉาน
ฐิตา:
-http://www.cpdesigntrading.com/art/index.html
โลกปัจจุบันนี้มีปัญหามากมายที่เกิดจากการขาดคุณธรรมสองข้อนี้ ความจริงแล้ว หิริ โอตตัปปะ มีชื่อว่าเป็น “ธรรมคุ้มครองโลก” ลองคิดถึงโลกที่ทุกคนเปี่ยมด้วยคุณธรรมสองข้อนี้เอาเถิด
นอกจากนี้ หิริและโอตตัปปะยังได้ชื่อว่าเป็นสุกฺกธรรม หรือธรรมที่บริสุทธิ์ เพราะเป็นคุณธรรมที่จำเป็นในการรักษาความประพฤติที่บริสุทธิ์ของคนในโลกนี้ สุกฺกธรรม ยังอาจหมายถึงสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ในทางตรงข้าม ความไร้ยางอายและความไม่เกรงกลัวผลของอกุศลกรรมมีชื่อว่า กณฺหธรรม หรือธรรมดำ สีดำดูดซับความร้อน ขณะที่สีขาวสะท้อนความร้อน ธรรมดำของความไร้ยางอายและไม่เกรงกลัวคำครหาเป็นตัวดูดซับตัวกิเลสได้ดีที่สุด เมื่อสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ ก็แน่ใจได้เลยว่า กิเลสจะถูกซึมซับอย่างชุ่มโชกเข้าสู่จิตใจ ในขณะที่หากเมื่อธรรมขาวปรากฏอยู่ กิเลสก็จะถูกสะท้อนออกไป
มีการยกตัวอย่างในพระคัมภีร์ถึงลูกเหล็กสองลูก ลูกหนึ่งเคลือบด้วยมูลคูตร และอีกลูกหนึ่งร้อนแดง เมื่อมีคนให้ลูกเหล็กทั้งสองนี้แก่บุคคลใด เขาก็จะปฏิเสธลูกแรก เพราะมันน่าขยะแขยง และปฏิเสธลูกที่สองเพราะกลัวไหม้มือ การไม่ยอมรับลูกเหล็กที่เคลือบด้วยอุจจาระ เปรียบเหมือนคุณสมบัติของหิริ หรือจิตที่มีความละอาย การไร้คุณธรรมเป็นสิ่งน่าขยะแขยงเมื่อเทียบกับการมีคุณธรรม (ความซื่อสัตย์) การไม่ยอมรับลูกเหล็กร้อนเปรียบเหมือนโอตตัปปะ ได้แก่ ความกลัวการกระทำชั่ว เพราะเกรงกลัวผลกรรมที่จะตามมา บุคคลย่อมรู้ว่าจะต้องตกนรก หรืออยู่ในสภาวะทุกข์ยากลำบาก ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงอกุศลกรรมบถทั้งสิบ ราวกับว่าพวกมันคือลูกเหล็กทั้งสอง
ความอายและความกลัวที่ไร้ประโยชน์
ความละอายและความเกรงกลัวบางชนิดไม่มีประโยชน์ อาตมาเรียกว่า ความอายและความกลัวจอมปลอม บางคนอาจรู้สึกอับอายหรือขวยเขินที่จะรักษาศีลห้า ฟังธรรม สนทนา หรือทำความเคารพบุคคลซึ่งควรค่าแก่การเคารพ บางคนอาจอายที่จะอ่านหนังสือเสียงดัง หรือพูดในที่สาธารณะ บางคนกลัวการตำหนิจากผู้อื่น แต่ถ้าการตำหนินั้นมิได้เกี่ยวข้องกับการทำผิด มโนธรรมก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรอาย
มีการกระทำ ๔ อย่าง อันก่อให้เกิดประโยชน์ และบุคคลไม่พึงอายที่จะทำ สิ่งเหล่านี้มิได้ระบุไว้ในพระไตรปิฎก แต่เป็นเรื่องทางโลกที่สามารถนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติได้
ประการแรก บุคคลไม่พึงอายในการประกอบการงานตามหน้าที่หรือทำงานเพื่อเลี้ยงชีวิต ประการที่สอง ไม่พึงอายในการเข้าไปหาครูอาจารย์เพื่อขอความรู้หรือศึกษาวิชาชีพ หากอายที่จะกระทำแบบนี้เมื่อไรจะได้เรียนรู้ ประการที่สาม ไม่พึงอายที่จะรับประทานอาหาร หากไม่สามารถทานอาหารได้ก็จะอดตาย ประการสุดท้าย สามีและภรรยาไม่พึงอายในการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดต่อกัน
ยังมีสิ่งที่ไม่ควรกลัวอย่างอื่นอีก เช่น กลัวที่จะพบปะบุคคลสำคัญ เนื่องจากการพบนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต เป็นต้น
ฐิตา:
ชาวบ้านมักกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว เมื่อเดินทางโดยรถไฟ รถประจำทาง หรือทางเรือ ในที่นี้อาตมาหมายถึงชาวบ้านที่อยู่ชนบทจริง ๆ ผู้ซึ่งไม่เคยขึ้นรถหรือลงเรือโดยสารประจำทางเลย บุคคลที่ขาดประสบการณ์เหล่านี้ กลัวแม้กระทั่งการใช้ห้องน้ำในระหว่างเดินทาง นี่คือความกลัวที่ไร้ประโยชน์ บางคนอาจกลัวสัตว์ เช่น สุนัข งู แมลง หรือกลัวการไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน บางคนกลัวเพศตรงข้าม หรือเกรงกลัวพ่อแม่ และครูอาจารย์มากเสียจนพูดไม่ออกหรือไม่กล้าเดินผ่านหน้าท่าน ผู้ปฏิบัติบางคนกลัวการส่งอารมณ์กับวิปัสสนาจารย์ พวกเขารออยู่นอกประตู รู้สึกพรั่นพรึงราวกับกำลังรอพบหมอฟัน
เหล่านี้มิใช่หิริโอตตัปปะที่แท้จริงเลย องค์ธรรมทั้งสองเกี่ยวเนื่องกับอกุศลกรรมเท่านั้น บุคคลพึงกลัวเกรงกรรมชั่วและกิเลส เพราะหากถูกมันครอบงำแล้ว จะไม่มีโอกาสรู้เลยว่ามันจะนำพาให้เราก่อกรรมชั่วที่เลวร้ายเพียงใด
การระลึกถึงหิริและโอตตัปปะเป็นสิ่งที่ดีมาก ยิ่งคุณธรรมสองข้อนี้เข้มแข็งเพียงใด ผู้ปฏิบัติจะกระตุ้นความเพียรในการเจริญสติง่ายขึ้นเท่านั้น ผู้ปฏิบัติที่กลัวว่าจะปฏิบัติได้ไม่ต่อเนื่องก็จะพยายามมากขึ้นไปในการสร้างความตื่นตัว
ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสกับเทพบุตรว่า “ราชรถแห่งอริยมรรคอันงดงามนี้ มีหิริเป็นพนักพิง” หากผู้ปฏิบัติมีหิริและโอตตัปปะเป็นพนักพิง ก็จะมีที่พึ่ง ที่ยึด ที่นั่งพิงอย่างสบาย ในขณะที่เรากำลังดำเนินไปสู่พระนิพพาน เช่นเดียวกับการที่ผู้โดยสารเสี่ยงกับอุบัติเหตุในการเดินทาง โยคีในราชรถแห่งอริยมรรคก็มีความเสี่ยงจากการปฏิบัติเช่นกัน หากคุณธรรม (หิริโอตตัปปะ) นี้อ่อนแอ ผู้ปฏิบัติก็เสี่ยงภัยที่เกิดจากการขาดสติและเผชิญกับอันตรายต่าง ๆ ที่จะพึงตามมา
อาตมาขอให้ผู้ปฏิบัติจงเปี่ยมด้วยหิริและโอตตัปปะ สามารถกระตุ้นความเพียรอย่างอาจหาญจนสามารถเจริญสติได้อย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้ปฏิบัติจงก้าวหน้าอย่างราบรื่นและรวดเร็วในอริยมรรค ตราบจนบรรลุถึงพระนิพพาน
สติเป็นเกราะหุ้มกำบังราชรถ
เพื่อให้การเดินทางสายธรรมะนี้ปลอดภัย ราชรถย่อมต้องมีตัวถัง ในสมัยพุทธกาล ราชรถทำด้วยไม้หรือวัสดุแข็งเพื่อป้องกันหอกและธนู ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ต่างทุ่มเททรัพยากรมากมายในการพัฒนาหุ้มเกราะเพื่อใช้ในสนามรบ รถยนต์เองก็ใช้โลหะเป็นตัวถังเพื่อความปลอดภัย ทุกวันนี้เราสามารถขับรถไปไหนมาไหนได้ราวกับอยู่ในห้องที่สะดวกสบาย ปราศจากลม ความร้อน ความหนาว และแสงแดด เมื่อตัวถังรถคุ้มครองเราจากธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เราก็สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ไม่ว่าฝนหรือหิมะจะตกอยู่ภายนอกรถหรือไม่ ตัวอย่างทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นหน้าที่ของสติในการคุ้มครองผู้ปกิบัติจากการโจมตีอันดุเดือดของกิเลส สติเป็นเกราะปกป้องจิตให้ปลอดภัย เป็นสุขและสงบเย็น ตราบเท่าที่สติยังคงตั้งมั่นอยู่ กิเลสก็จะไม่อาจย่างกรายเข้ามาได้เลย
ฐิตา:
ไม่มีผู้ใดเดินทางได้อย่างปลอดภัยในราชรถแห่งอริยมรรคมีองค์แปด หากปราศจากเกราะป้องกันของสติ เมื่อราชรถเข้าสู่สงคราม การเจริญวิปัสสนาเป็นการทำสงครามกับกิเลส
การเข้าใจว่ากิเลสเกิดขึ้นได้อย่างไร จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเอาชนะมันได้ง่ายขึ้น กิเลสจะเกิดขึ้นโดยอาศัยอารมณ์ทางอายตนะทั้งหก เมื่อใดขาดสติควบคุมที่ใดที่หนึ่งในหกทวารนี้ ผู้ปฏิบัติก็สามารถตกเป็นเหยื่อของความโลภ ความโกรธ ความหลง และกิเลสอื่น ๆ ได้ง่าย
เช่น เมื่อเกิดอาการเห็น รูปเข้ามากระทบกับประสาทตา หากรูปนั้นน่าพึงพอใจ และผู้ปฏิบัติขาดสติ ตัณหาก็จะเกิดขึ้น หากรูปนั้นไม่น่าปรารถนา ความรังเกียจจะเข้าจู่โจม หากอารมณ์นั้นจืดชืดและเป็นกลาง ก็จะถูกกระแสของความหลงพัดพาไป แต่เมื่อสติดำรงอยู่ กิเลสจะไม่อาจเข้ามาในจิตสำนึกได้ เมื่อกำหนดรู้อาการเห็น สติให้โอกาสจิตทำความเข้าใจกับลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
ประโยชน์ที่เห็นได้ทันทีของสติก็คือ ความบริสุทธิ์แจ่มใสของจิตและความสุข ผู้ปฏิบัติสามารถประสบกับสิ่งเหล่านี้ได้ทันทีที่สติปรากฏขึ้น การปราศจากกิเลสคือความบริสุทธิ์ เมื่อมีความบริสุทธิ์ ความแจ่มใสและความสุขก็ตามมา จิตที่มีความบริสุทธิ์และสะอาดสามารถนำไปใช้งานได้ดี
ในการปรากฏของสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากความระลึกรู้ อกุศลจิตมักเกิดขึ้นบ่อยกว่ากุศลจิต ทันทีที่ความโลภ ความโกรธ และความหลงเข้ามาสู่จิตสำนึก บุคคลก็เริ่มก่อกรรมชั่ว ซึ่งจะให้ผลทั้งชาตินี้และในชาติต่อไป การเกิดเป็นผลของกรรมประการหนึ่ง เมื่อมีเกิดก็ต้องมีตาย ระหว่างการเกิดและการตาย สัตว์โลกย่อมก่อกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ทำสังสารวัฏให้ดำเนินต่อไป ดังนั้น ความประมาทจึงนำไปสู่ความตาย เป็นสาเหตุของการตายทั้งในชาตินี้และในชาติหน้า
ดังนั้น สติจึงเหมือนกับอากาศบริสุทธิ์ที่จำเป็นต่อชีวิต ทุกชีวิตที่หายใจต้องการอากาศบริสุทธิ์ หากต้องสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปเป็นประจำ ไม่ช้าก็จะเกิดโรค และอาจตายได้ สติจึงมีความสำคัญพอ ๆ กัน จิตที่ปราศจากอากาศบริสุทธิ์ของสติ ไม่ช้าก็จะเฉา หายใจแผ่วลง และสำลักกิเลสจนหายใจไม่ออก
คนที่หายใจเอาอากาศสกปรกเข้าไปอาจป่วยกะทันหัน และทุกข์ทรมานมากก่อนเสียชีวิต เมื่อขาดสติ เราก็หายใจเอาอากาศที่มีพิษแห่งกองกิเลสเข้าไป แล้วก็เป็นทุกข์ เมื่อพบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาก็ถูกเสียดแทงด้วยความอยาก หากประสบอารมณ์ไม่น่าปรารถนาก็รู้สึกหมองไหม้ด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์ หากพบว่าอารมณ์นั้นน่าอับอายก็จะรู้สึกว่าถูกเชือดเฉือนด้วยความทรนงในศักดิ์ศรี กิเลสมีหลายรูปแบบ แต่เมื่อมันเข้าจู่โจมเราแล้วให้ผลเหมือนกันคือความทุกข์ ความสบาย ความสงบ และความเป็นสุขอย่างบริสุทธิ์ของจิตจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติสามารถสกัดกั้นกิเลสมิให้เข้ามาได้เท่านั้น
ฐิตา:
มลพิษบางประเภททำให้สิ่งมีชีวิตที่หายใจเข้าไปมีอาการมึนงง และเสียการทรงตัว บางประเภททำให้ตาย กิเลสก็เช่นเดียวกัน การจู่โจมของกิเลสบางครั้งไม่รุนแรง แต่บางครั้งอาจถึงตาย บางคนอาจมีอาการเคลิบเคลิ้มจากความสุขทางผัสสะ หรืออาจถึงตายด้วยเส้นเลือดในสมองแตกเพราะความโกรธ ความมัวเมาในกามอย่างรุนแรงสามารถประหารคนได้ การปล่อยตัวทำความโลภเป็นเวลานาน ๆ หลายปี ก็อาจทำให้เกิดโรคร้าย การโกรธหรือการกลัวมาก ๆ ก็อาจทำให้ถึงตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคหัวใจ นอกจากนี้กิเลสยังเป็นสาเหตุของโรคประสาทและจิตวิปลาสด้วย
ความจริงกิเลสมีอันตรายมากกว่าสารพิษที่อยู่ในอากาศ หากมีคนตายเพราะหายใจเอาอากาศที่มีสารพิษเจือปนเข้าไป สารพิษก็จะถูกทิ้งอยู่ในร่างที่ไร้วิญญาณนั้น แต่มลทินของกิเลสแปดเปื้อนไปถึงภพหน้า ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงผลลบที่เกิดขึ้นแก่สรรพชีวิตอื่นด้วย เมื่อจิตหายใจเอากิเลสเข้าไป เป็นผลให้ก่อกรรมซึ่งจะส่งผลในอนาคต
เมื่อจิตมีสติอยู่ทุก ๆ ขณะ จิตจะค่อย ๆ สะอาดขึ้น เช่นเดียวกับปอดของคนที่หยุดสูบบุหรี่ ที่ค่อย ๆ ขับขี้เถ้าและสารนิโคตินที่ติดอยู่ในปอดออกมา จิตที่บริสุทธิ์สามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย จากนั้นปัญญาก็มีโอกาสเกิดขึ้น กระบวนการบำบัดรักษานี้เริ่มต้นด้วยสติ เมื่อการปฏิบัติมีรากฐานมาจากสติและสมาธิที่ตั้งมั่น ผู้ปฏิบัติก็จะผ่านญาณระดับต่าง ๆ มีปัญญาสูงขึ้นตามลำดับ ในที่สุดอาจบรรลุถึงพระนิพพานที่ซึ่งกิเลสจะถูกขุดรากถอนโคน ไม่มีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออีก
คุณค่าของสติจะเข้าใจได้ก็โดยผู้ที่ได้เคยรับประโยชน์จากสติมาแล้วในการปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น เมื่อบุคคลออกแรงพยายามสูดหายใจเอาอากาศที่บริสุทธิ์เข้าไป สุขภาพดีที่เกิดขึ้นตามมาจะเป็นสิ่งพิสูจน์คุณค่าของความพยายามนี้ หรืออาจถึงขั้นพระนิพพาน จะรู้ได้อย่างแท้จริงว่าสติมีประโยชน์เพียงใด
สัมมาทิฏฐิเป็นสารถี
ไม่ว่าราชรถดีเลอเลิศสักเพียงไร หากปราศจากสารถีแล้ว ราชรถนั้นก็คงไปไหนไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน พระพุทธองค์ตรัสอธิบายว่า สัมมาทิฏฐิจะเป็นแรงผลักดัน รวมทั้งกำหนดแนวทางการพัฒนาของจิต พระไตรปิฎกแจกแจงสัมมาทิฏฐิ ๖ ประเภท ซึ่งในพระธรรมเทศนาครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงหมายเฉพาะการเห็นชอบที่เกิดขึ้นในขณะแห่งมรรคจิต การระลึกรู้มรรคญาณนี้เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ญาณที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version