คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ
พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
mind:
เนื้อหานำมาจากหนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
เห็นว่ามีประโยชน์ จึงนำมาทำการเผยแผ่ สู่พุทธศาสนิกชน และผู้สนใจ
อ่านหนังสือออนไลน์
สารบัญ 001-605 พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
โดย รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม
:45: - http://www.84000.org/true/index.html
แก้วจ๋าหน้าร้อน:
:13: อนุโมทนาครับ
ฐิตา:
พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
คัดลอกบางส่วนจาก
:พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ (ฉบับสมบูรณ์)
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โพสท์ในลานธรรมเสวนา
กระทู้ที่ 004051 –
โดยคุณ : mayrin [ 10 ม.ค. 2545 ]
เนื้อความ : **********************
พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
ตอนที่ ๑
**********************
สมาธิเพื่อดับอาสวะ
ปัญหา จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาแบบไหน อย่างไรจึงจะทำให้อาสวะดับได้
พุทธดำรัสตอบ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปทานขันธ์ห้าอยู่เป็นประจำว่า
"รูป"... เป็นดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้
"เวทนา...ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา... ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้
"สัญญา... ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา... ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้
"สังขาร...ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร... ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้
"วิญญาณ... ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ... ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้... ย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ..."
สมาธิสูตร
กิเลสหนากับการบรรลุธรรม
ปัญหา ผู้รู้บางท่านแสดงไว้ว่าคนที่มีอุปนิสัยหยาบ มีราคะ โทสะ โมหะกล้า มีโอกาสจะบรรลุมรรคผลช้าคนที่มีอุปนิสัยละเอียด มีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง มีหวังได้บรรลุมรรคผลเร็ว จริงหรือไม่
พุทธดำรัสตอบ "...บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปกติเป็นผู้มีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนือง ๆ บ้าง
เป็นผู้มีโทสะกล้าย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง
เป็นผู้มีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง
(แต่)อินทรีย์ ๕ ประการ...คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญาของเขาปรากฏว่าแก่กล้า เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษ เพื่อความสิ้นอาสวะเร็วพลัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า...
"...บุคคลบางคนในโลกนี้โดยปกติไม่เป็นคนมีราคะกล้า... ไม่เป็นคนมีโทสะกล้า... ไม่เป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ ราคะ... โทสะ... โมหะเนือง ๆ
(แต่) อินทรีย์ ๕ ประการ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาของเขา ปรากฏว่าอ่อน เขาย่อมได้บรรลุคุณวิเศษเพื่อสิ้นอาสวะช้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน...
ปฏิปทาวรรคที่ ๒
สมถะหรือวิปัสสนาก่อน
ปัญหา การเจริญกรรมฐานมี๒อย่างคือ สมถะ และวิปัสสนา ใน ๒ อย่างนี้ จะเจริญสมถะก่อนหรือวิปัสสนาก่อน ?จะเจริญควบคู่กันไปจะได้หรือไม่
พระอานนท์ตอบว่า "...ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า (หรือ)... เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า(หรือ)...เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป...มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพเจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด..."
ปฏิปทาวรรคที่ ๒
ประโยชน์ของการเดินจงกรม
ปัญหา วิธีการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน เพื่อทำจิตให้สงบระงับนั้น มีอยู่หลายวิธี การเดินจงกรมก็เป็นวิธีหนึ่ง อยากทราบว่าพระพุทธองค์ ทรงเห็นประโยชน์อย่างไร จึงแนะนำให้ภิกษุเดินจงกรม ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเดินจงกรมมี ๕ ประการเป็นไฉนคือภิกษุผู้เดินจงกรม
ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑
ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร ๑
ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย ๑
อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี ๑
สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเดินจงกรมมี ๕ ประการฉะนี้แล ฯ"
จังกมสูตร
การตรัสรู้โดยฉับพลันมีได้หรือไม่
ปัญหา มีพระพุทธศาสนาบางนิกายถือว่า การบรรลุมรรคผลอาจเกิดขึ้นได้โดยฉับพลัน เช่นเดียวกับแสงสว่างวาบขึ้นทันทีทันใด ขับไล่ความมืดให้หมดสิ้นไป การบรรลุมรรคผลโดยฉับพลันดังกล่าวจะมีได้หรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ "...ดูกรปหาราทะ มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปโดยลำดับไม่โกรกชันเหมือนเหวฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตตผลโดยตรง...ฯ"
มหาปราทสูตร
สมาธิกับฌาน
ปัญหา การบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน จะเป็นเหตุละอาสวะได้หรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง ฯลฯ เพราะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง...
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาหาร เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้วเธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุ นั่นสงบ นั้นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคือ อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย..."
ฌานสูตร
ศีลกับอรหัตตผล
ปัญหา การรักษาศีล จะสามารถนำไปสู่การบรรลุมรรคผลได้หรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ "...ดูก่อนอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสาร (ความไม่เดือดร้อน) เป็นผล... อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล... ปราโมทย์มีปีติเป็นผล... ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล... ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล... สุขมีสมาธิเป็นผล... สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล... ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาวิราคะเป็นผล... นิพพิทาวิราคะมีวิมุติญาณทัสสนะเป็นผล ด้วยประการดังนี้ ดูก่อนอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหัตตผลโดยลำดับด้วยประการดังนี้แล ฯ"
กิมัตถิยสูตร
ฐิตา:
ตอน ๒
เหตุให้พระพุทธเจ้าอุบัติ
ปัญหา อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๓ ประการนี้ ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้แล้ว ไม่พึงรุ่งเรืองในโลกธรรม ๓ ประการเป็นไฉน
คือ ชาติ ๑ ชรา ๑ มรณะ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก...ฯ"
อภัพพสูตร
เหตุให้ขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์
ปัญหา ทำไมขันธ์ ๕เป็นไตรลักษณ์
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ไม่เที่ยง... เป็นทุกข์...เป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยที่ให้รูป (เป็นต้นนั้น) เกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง... เป็นทุกข์...เป็นอนัตตา รูป(เป็นต้น) ที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง...เป็นทุกข์...เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเที่ยง...เป็นสุข...เป็นอัตตาเล่า ?"
อนิจจเหตุสูตรฯ
คนที่เหมาะสมต่อการสิ้นทุกข์
ปัญหา บุคคลควรปฏิบัติต่อขันธ์ ๕ อย่างไร จึงจะสิ้นทุกข์ได้ ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบุคคลที่ไม่รู้จริง ไม่รู้ทั่วถึง ไม่เบื่อหน่าย ไม่สละเสียซึ่ง รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ จัดเป็นคนอาภัพต่อการสิ้นทุกข์
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่รู้จริง รู้ทั่วถึง เบื่อหน่ายและสละเสียซึ่ง รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณจึงเป็นผู้เหมาะสมต่อความสิ้นทุกข์"
ปริชานสูตร
วิธีดับขันธ์ ๕
ปัญหา บุคคลจะดับขันธ์ ๕ ได้อย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความใคร่ ความพอใจ ในรูป... ในเวทนา... ในสัญญา... ในสังขาร... ในวิญญาณเสีย เมื่อเป็นเช่นนี้รูป (เป็นต้นนั้น) ก็จะเป็นอันถูกละ ถูกตัดราก เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ถูกทำให้เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ไม่มีการเกิดขึ้นอีกเป็นธรรมดา..."
ฉันทราคสูตร
คิดถึงอะไร เป็นสิ่งนั้น
ปัญหา ภิกษุรูปหนึ่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดโดยย่อ เพื่อจักได้นำไปปฏิบัติต่อไป พระโอวาทย่อว่าอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุบุคคลย่อมครุ่นคิดในสิ่งใด ย่อมเข้าไปมีส่วนเป็นสิ่งนั้น บุคคลย่อมไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่เข้าไปมีส่วนในสิ่งนั้น...
ถ้าบุคคลครุ่นคิดถึงรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ย่อมเข้าไปมีส่วน เป็นรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนั้น ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงรูป (เป็นต้น) นั้น ก็ไม่เข้าไปมีส่วนเป็นรูป (เป็นต้นนั้น)"
ภิกขุสูตรที่ ๑
ขันธ์ตนกับขันธ์คนอื่น
ปัญหา บุคคลควรพิจารณาเปรียบเทียบขันธ์ ๕ ของตนกับขันธ์๕ ของคนอื่นหรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนโสณะก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมพิจารณาเห็นว่า เราประเสริฐกว่าเขา...เราเท่าเทียมกับเขา...เราเลวกว่าเขา โดยรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง
"ดูก่อนโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่พิจารณาเห็นว่า เราประเสริฐกว่าเขา...เราเท่าเทียมกับเขา...เราเลวกว่าเขา โดยรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการเห็นธรรมตามความเป็นจริง..."
โสณสูตรที่ ๑
พระอรหันต์กับพระพุทธเจ้า
ปัญหา พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกเหมือนกันและแตกต่างกันในแง่ไหนบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย...คลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะความไม่ถือมั่นในรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ คนจึงเรียกว่า 'สัมมาสัมพุทธะ'
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายแม้ภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา หลุดพ้นแล้วเพราะเบื่อหน่าย...คลายกำหนัดเพราะความดับเพราะความไม่ถือมั่นในรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ คนจึงเรียกว่า 'ปัญญาวิมุต'
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้ จะมีอะไรเป็นข้อแปลกกัน มีอะไรเป็นลักษณะเฉพาะ มีอะไรเป็นเหตุแตกต่างกัน ระหว่างพระตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะกับภิกษุผู้เป็นปัญญาวิมุต
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้นำทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำทางที่ยังไม่มีใครรู้ให้รู้ บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้แจ้งหนทาง เข้าใจทางฉลาดในทาง
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสาวกทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้เดินตามทาง เป็นผู้มาภายหลัง อันนี้แลเป็นข้อแปลกกัน..."
พุทธสูตร
ความหมายของอนัตตา
ปัญหา คำว่า 'อนัตตา' มีความหมายว่าอย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตนอันเป็นอมตภาพตามทัศนะของฮินดู) ถ้าหากว่า...จักเป็นอัตตาไซร้ รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ นี้คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ว่า ขอรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่ รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น...จึงเป็นเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา..."
ปัญจวัคคิยสูตร
พระพุทธเป็นหนึ่งกับพระธรรม
ปัญหา มีผู้กล่าวว่าพระพุทธเจ้ากับพระธรรม (โลกุตรธรรม) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าเห็นอย่างหนึ่ง ก็เห็นอีกอย่างหนึ่ง จริงหรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนวักกลิผู้ใดแลเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม
วักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม..."
วักกลิสูตร
วิธีคิดเมื่อเสวยสุข-ทุกข์
ปัญหา เมื่อได้เสวยสุขเวทนาทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกกลางๆไม่สุขไม่ทุกข์) ควรจะกระทำจิตใจอย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอัสสชิ...อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วได้เสวยสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่าสุขเวทนานั้นไม่เที่ยงไม่น่าพอใจไม่น่าเพลิดเพลิน หากว่าเสวยทุกขเวทนาก็ทราบชัดว่าทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยงไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน หากว่าเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจไม่น่าเพลิดเพลิน
"หากว่าเสวยสุขเวทนา...ทุกขเวทนา...อทุกขมสุขเวทนา ก็ปราศจากความยินดียินร้ายหากว่าเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งกำลังกายก็ทราบชัดว่าเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งกำลังกาย ถ้าเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งชีวิต ก็ทราบชัดว่าเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งชีวิต...ก่อนแต่จะสิ้นชีวิตเพราะกายแตกทำลาย ความเสวยอารมณ์ทั้งมวลในโลกนี้ไม่น่ายินดี จักเป็นของเย็น...อุปมาเหมือนประทีปน้ำมันจะพึงติดอยู่ได้เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ ประทีปน้ำมันไม่มีเชื้อ เพราะหมดน้ำมันและไส้ก็พึงดับไป..."
อัสสชิสูตร
อุปทานขันธ์กับ 'เรา'
ปัญหา 'เรา' กับอุปทานขันธ์ทั้ง ๕ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
พระเขมกะตอบ "ดูก่อนท่านผู้มีอายุ...ผมไม่กล่าวรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณว่าเป็นเราทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณแต่ผมเข้าใจว่าเรามีในอุปทานขันธ์ ๕แต่ผมไม่ถือว่าเราเป็น (ขันธ์ ๕) นี้...เปรียบเหมือนกลิ่นดอกอุบลก็ดี กลิ่นดอกปทุมก็ดี กลิ่นดอกบุณฑริกก็ดี ผู้ใดหนอจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่ากลิ่นใบ กลิ่นสีหรือว่ากลิ่นเกสร...
"ดูก่อนท่านผู้มีอายุ...สังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยังถอนมานะฉันทะอนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า 'เรามีอยู่' ไม่ได้ ในสมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปทานขันธ์ ๕...มานะ ฉันทะ อนุสัยที่ว่า "เรามีอยู่" นั้น ที่ยังถอนไม่ได้ ก็ย่อมถึงการเพิกถอนได้ ...เปรียบเหมือนผ้าเปื้อนเปรอะด้วยมลทิน เจ้าของมอบผ้านั้นให้แก่ช่างซักฟอก ช่างซักฟอกขยี้ผ้านั้นในน้ำด่างขี้เถ้า ในน้ำด่างเกลือหรือในโคมัย แล้วเอาซักในน้ำใสสะอาด ผ้านั้นเป็นของสะอาดขาวผ่องก็จริง...แต่ยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า...กลิ่นน้ำด่างเกลือหรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด ช่างซักฟอกมอบผ้านั้นให้แก่เจ้าของ เจ้าของเก็บผ้านั้นใส่ไว้ในหีบอบกลิ่น...แม้กลิ่นนั้นก็หายไป"
เขมกสูตร
อุปมาของขันธ์ ๕
ปัญหา เราจะอธิบายขันธ์ทั้ง ๕ โดยเปรียบเทียบกับอะไร จึงจะเป็นการเข้าใจที่แจ่มแจ้ง
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้พึงนำกลุ่มฟองน้ำใหญ่มา บุรุษผู้มีจักษุ...พึงพิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้นโดยแยบคาย...เมื่อบุรุษนั้น...พิจารณาอยู่...กลุ่มฟองน้ำนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย...แม้ฉันนั้นเหมือนกัน
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงในฤดูใบไม้ร่วง (สารทสมัย) ฟองน้ำในน้ำย่อมบังเกิดขึ้นและดับไป บุรุษผู้มีจักษุ...พึงพิจารณาฟองน้ำนั้นโดยแยบคาย...เมื่อบุรุษนั้นพิจารณาอยู่ฟองน้ำนั้นพึงเป็นของว่างเปล่า...แม้ฉันใด เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง...เมื่อภิกษุพิจารณาอยู่โดยแยบคาย...ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า...แม้ฉันนั้น
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดดย่อมเต้นระยิบระยับในเวลาเที่ยง...เมื่อบุรุษพิจารณาโดยแยบคาย พยับแดดนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า...ฉันนั้นเหมือนกันแล
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบุรุษผู้มีความต้องการไม้แก่น...ถือเอาจอบอันคมพึงไปสู่ป่า...พึงเห็นต้นกล้วยขนาดใหญ่ลำต้นตรง ยังอ่อน ยังไม่เกิดแกน...พึงตัดโคน..ตัดปลาย...ปอกกาบใบออก...ไม่พึงได้แม้แต่กระพี้ในต้นกล้วยนั้น...เมื่อบุรุษพิจารณาอยู่โดยแยบคาย ต้นกล้วยนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่าง...แม้ฉันใด สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง...ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายนักเล่นกล...พึงเล่นกลที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง...เมื่อบุรุษพิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลนั้นพึงปรากฏเป็นของว่าง...แม้ฉันใด วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง...ย่อมปรากฏเป็นของว่างฉันนั้นเหมือนกันแล"
เผณปิณฑสูตร
ฐิตา:
ตอน ๓
จิตสร้างความวิจิตร
ปัญหา เพราะเหตุใดขันธ์ ๕ ของคน และของดิรัจฉานจึงมีความวิจิตรแตกต่างกันออกไปใครเป็นผู้สร้างความวิจิตรเหล่านี้ ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภาพวิจิตรที่ชื่อว่าจรณะ เธอทั้งหลายเห็นแล้วหรือ ? ...ภาพวิจิตรชื่อจรณะแม้นั้นแล จิตเป็นผู้คิดขึ้นเพราะเหตุนั้น จิตนั้นแหละจึงวิจิตรกว่าภาพวิจิตรชื่อจรณะนั้น...
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราย่อมไม่พิจารณาเห็นหมู่สัตว์อื่นแม้หมู่หนึ่ง ซึ่งวิจิตรเหมือนสัตว์ในกำเนิดดิรัจฉาน...แม้สัตว์ในกำเนิดดิรัจฉานเหล่านั้นก็เป็นผู้ถูกจิตคิดขึ้นแล้วเพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย จิตนั้นเองจึงวิจิตรกว่าสัตว์ในกำเนิดดิรัจฉาน...
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายช่างย้อมหรือช่างเขียนเมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี ทั้งเขียนรูปสตรี หรือ รูปบุรุษมีอวัยวะใหญ่น้อย ครบทุกส่วนลงที่แผ่นกระดาษเกลี้ยงเกลาหรือที่ฝาหรือที่แผ่นผ้าแม้ฉันใด...ปุถุชนผู้ไม่ได้เรียนรู้ย่อมสร้างรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนั้นแหละให้เกิดขึ้น"
คัททูลสูตรที่ ๒
ประโยชน์ของจิตที่ใสสะอาด
ปัญหา จิตที่ใสสะอาดก่อให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนห้วงน้ำใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนฝั่งพึงเห็นหอยโข่ง และหอยกาบบ้าง ก้อนกรวดและกระเบื้องบ้าง ถ้วยบ้าง ฝูงปลาบ้าง ซึ่งเที่ยวไปบ้าง ตั้งอยู่บ้าง ในห้วงน้ำนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะน้ำไม่ขุ่นฉันใดภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักรู้จักประโยชน์ทั้งสองบ้าง กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษคือ อุตริมนุสธรรมอันเป็นความรู้ความเห็นอย่างประเสริฐ อันเป็นของพระอริยะได้ด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว ข้อนี้เป็นเรื่องที่จะเป็นไปได้ เพราะเหตุใด เพราะจิตไม่ขุ่นมัว..."
บาลีแห่งเอกธรรม
จิตเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด
ปัญหา อะไรเป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วที่สุด
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้แต่อย่างเดียวที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลายแม้จะเปรียบเทียบให้เห็นว่าจิตเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเพียงใดนั้นก็กระทำไม่ได้ง่าย..."
บาลีแห่งเอกธรรม
จิตเดิมใสสะอาด
ปัญหามีหลักฐานอะไรบ้างแสดงว่าจิตเป็นธรรมชาติใสสะอาดอยู่เดิม สกปรกภายหลัง ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองแล้วด้วยอุปกิเลสที่จรมา ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่รู้ข้อนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่าปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ย่อมไม่มีการอบรมจิต...ส่วนอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วย่อมทราบข้อนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมมีการอบรมจิต..."
บาลีแห่งเอกธรรม
ตำแหน่งที่สตรีครองไม่ได้
ปัญหา ตำแหน่งอะไรบ้างที่สตรีไม่สามารถจะเข้าดำรงได้
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายข้อที่สตรีจะพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า...จะพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ...จะพึงเป็นมาร... จะพึงเป็นพรหมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้..."
อัฏฐานบาลี
คนที่มีจิตเหมือนแผลเก่า
ปัญหา บุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่าเหมือนฟ้าแลบ เหมือนเพชรคืออย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่าเป็นอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธมากด้วยความแค้นใจถูกเขาว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดใจโกรธเคืองพยาบาทขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏเปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมให้สิ่งหมักหมมกระจัดกระจายมากมาย...บุคคลนี้เรียกว่ามีจิตเหมือนแผลเก่า
"บุคคลผู้มีจิตเหมือนฟ้าแลบคืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์นี้ทุกขสมุทัยนี้ทุกขนิโรธนี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหมือนบุรุษผู้มีดวงตาเห็นรูปในขณะฟ้าแลบในเวลากลางคืนอันมืดมิด...บุคคลนี้เรียกว่ามีจิตเหมือนฟ้าแลบ...
"บุคคลมีจิตเหมือนเพชรคืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้...เปรียบเหมือนแก้วมณีหรือหินชนิดใดชนิดหนึ่งที่เพชรจะทำลายไม่ได้ไม่มี...บุคคลผู้นี้เรียกว่ามีจิตเหมือนเพชร..."
วชิรสูตร
โทษของการคบคนเลว
ปัญหา การคบคนเลวทรามก่อให้เกิดโทษอย่างไรบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีธรรมอันเลวทรามไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจมีการงานลึกลับ ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีบุคคล แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีบุคคลเน่าในภายในเยิ้มด้วยราคะเป็นเหมืองขยะบุคคลเช่นนี้ควรรังเกียจไม่ควรคบ...เพราะเหตุไร เพราะแม้จะไม่เจริญรอยตามบุคคลเช่นนั้นก็จริงแต่กิตติศัพท์ที่เสียหายของเขาย่อมระบือไปว่า เขามีคนชั่วเป็นมิตร มีคนชั่วเป็นสหายมีคนชั่วเป็นเพื่อน เปรียบเหมือนงูที่จมอยู่ในอุจจาระ ถึงแม้จะไม่กัดก็ทำให้เปื้อนได้"
ชิคุจฉสูตร
การเลือกคบคน
ปัญหา ในการคบคนนั้นเราควรจะเลือกคบคนเช่นใด ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...บุคคลที่ไม่ควรคบเป็นอย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนเลว (กว่าเรา) โดย ศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเช่นนี้ ไม่ควรคบ ไม่ควรเสพ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากจะเอ็นดูอนุเคราะห์กัน
"บุคคลที่ควรคบ...คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเสมอกับตนด้วยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเช่นนี้ควรคบ...เพราะเหตุไร เพราะเราผู้เสมอกันด้วยศีล...สมาธิ...ปัญญา จักมีการสนทนากัน เรื่องศีล...สมาธิ...ปัญญา การสนทนานั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความผาสุกแก่พวกเรา
"บุคคลที่ควรสักการะเคารพแล้วคบ...คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยิ่งกว่าเราโดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา บุคคลเช่นนี้ควรสักการะ เคารพแล้วจึงคบ...เพราะเหตุไร เพราะอาจหวังได้ว่า จักบำเพ็ญศีลขันธ์...สมาธิขันธ์...ปัญญาขันธ์ ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักสนับสนุน ศีลขันธ์...สมาธิขันธ์...ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์แล้วด้วยปัญญาในที่นั้น ๆ...
"บุคคลคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนเสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลใด ๆ คบคนที่สูงกว่าย่อมพลันเด่นขึ้น ฉะนั้นจึงควรคบคนที่สูงกว่าตน..."
เสวิสูตร
คนที่ควรเฉยเมย
ปัญหา คนชนิดไหนเป็นคนที่เราควรเฉยเสียไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนเจ้าโทสะ มากด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท...แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมให้สิ่งหมักหมมกระจัดกระจายมากมาย...เปรียบเหมือนถ่านไม้มะพลับ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมแตกเสียงดังจิจิ...เปรียบเหมือนหลุมอุจจาระ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งขึ้น...บุคคลเช่นนี้ ควรวางเฉย ไม่ควรคบ เพราะเหตุไร ? เพราะเขาพึงด่าบ้าง บริภาษบ้าง ทำความเสียหายให้เราบ้าง..."
ชิคุจฉสูตร
คนปากเสีย และปากดี
ปัญหา คนเช่นใด"ปากอุจจาระ""ปากดอกไม้”และ "ปากน้ำผึ้ง" คืออย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล 'ปากอุจจาระ'คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในที่ประชุมก็ดี ในฝูงชนก็ดี ไปในท่ามกลางเหล่าญาติก็ดี ไปในท่ามกลางเสนาก็ดี ไปในท่ามกลางราชสกุลก็ดี ถูกเขาอ้างเป็นพยาน...เขาไม่รู้ ก็กล่าวว่ารู้ หรือรู้ก็ว่าไม่รู้ ไม่เห็นก็ว่าเห็น หรือไม่เห็นก็ว่าเห็น กล่าวแกล้งเท็จทั้งที่รู้ เพราะเห็นแก่ตนเอง เพราะเห็นแก่คนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย...นี้เรียกว่าคน'ปากอุจจาระ'
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน 'ปากดอกไม้'คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในที่ประชุม...ถูกเขาอ้างเป็นพยาน...เมื่อเขาไม่รู้กล่าวว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าเห็น ย่อมไม่แกล้งกล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเห็นแก่ตน เพราะเห็นแก่คนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย...นี้เรียกว่าคน 'ปากดอกไม้'
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน 'ปากน้ำผึ้ง' คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ พูดแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสตเป็นที่รักจับหัวใจ เป็นวาจาของชาวเมือง เป็นที่รักที่ชอบใจของคนมาก...นี้เรียกว่าคน 'ปากน้ำผึ้ง'...."
คูถภาณิสูตร
ยอดของมิตร
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) อะไรหนอเป็นมิตรของคนเดินทางอะไรหนอเป็นมิตรในเรือนของตนอะไรเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้น อะไรเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ?
พุทธดำรัสตอบ "พวกเกวียน พวกโคต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของผู้มีธุระเกิดขึ้นเนือง ๆ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า"
มิตตสูตรที่ ๓
อันตรายของสมาธิ
ปัญหา ในการเจริญสมาธิ บางครั้งเกิดนิมิตเห็นรูปแล้ว หรือเกิดโอภาสแสงสว่างแล้ว แต่ในไม่ช้าก็หายไป ทั้งนี้เพราะเหตุใร ?
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอนุรุธ...เมื่อก่อนตรัสรู้ยังไม่รู้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ เราย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูปเหมือนกัน แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้ เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยได้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า วิจิกิจฉา (ความสงสัยลังเล) แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็วิจิกิจฉาเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้วิจิกิจฉา ไม่เกิดขึ้นแก่เราได้อีก
"ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้อย่างนี้ว่า อมนสิการ (การไม่ใส่ใจ) แล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็อมนสิการเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
ถีนมิทธะ (ความง่วงงุน) แล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ความหวาดเสียวแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ความตื่นเต้นแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ความชั่วหยาบแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ความเพียรที่ปรารภเกินไปแล เกิดขึ้นแก่เรา...สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ตัณหาที่คอยกระซิบแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา...สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ความสำคัญสภาวะว่าต่างกันแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา...สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไป เราจักทำไม่ให้เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน และลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปนั้น เกิดขึ้นแก่เราได้อีก..."
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version