ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง
รวบรวมเรื่อง "เงิน" กับ "ทอง"
sithiphong:
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ( 9 ธ.ค.2555 ) ผมไปทานอาหารเย็นกับพี่ท่านนึง พี่ท่านนี้ได้ให้ผมช่วยดูการซื้อกองทุน RMF
วันนี้ผมก็เลยซื้อกองทุน RMF ในกองที่ลงทุนในทองคำ
ราคาทองคำวันนี้ ค่อนข้างต่ำในความเห็นผมครับ
.
sithiphong:
ทองคำ....ปีมะเส็งยังขึ้นต่อ ภาพรวมผันผวน-เงินเฟ้อหนุนราคา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
29 ธันวาคม 2555 08:45 น.
-http://www.manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9550000157832-
ทิศทางทองคำปีมะเส็ง คนในวงการเชื่อมีความผันผวนสูงแต่อยู่ในช่วงขาขึ้น ย้ำการแก้ปัญหาหน้าผาการคลังสหรัฐฯ เป็นตัวชี้วัดต่อแนวโน้มของราคาช่วงไตรมาส 1 ส่วนระยะยาวเชื่อปัจจัยจากฟากเอเชียจะหนุนราคาทองปรับตัวเพิ่ม โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่ทั่วโลกหนีไม่พ้น คาดทั้งปีลุ้นสูงสุดเท่าเป้าหมายเดิม 1,800 เหรียญ/ออนซ์
นายสัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก จำกัด กล่าวถึงทิศทางราคาทองคำในปี 2556 ว่า นักลงทุนควรพิจารณาในเรื่องปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาทองคำเป็นลำดับแรก นั่นคือ สถานการณ์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะเป็นเช่นไร ปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) จะเป็นเช่นไร จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ถ้าเศรษบกิจของสหรัฐฯ ชะงักจากปัญหาดังกล่าว จะส่งผลให้ทองคำกลับมาเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่น่าสนใจอีกครั้ง
ส่วนในช่วงปลายปี 2555 ที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงนั้น ประเมินว่า เป็นการโยกย้ายสินทรัพย์การลงทุนจากทองคำไปเป็นหุ้นเพื่อทำกำไรระยะสั้นมากกว่า ไม่ใช่เกิดจากความน่ากังวลว่าราคาทองคำมาสู่แนวโน้มปรับตัวลงอย่างถาวร เพราะหากดูปริมาณการเข้าลงทุนทองคำของกองทุนขนาดใหญ่อย่าง SPDR และธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ ยังพบว่า มีความต้องการเข้าสะสมทองคำอย่างต่อเนื่อง
“ปี 2555 ทั้งปีราคาทองคำวิ่งอยู่ที่ 1,520-1,800 เหรียญ/ออนซ์ หรือประมาณ 22,400-26,000 บาท ภาพรวมเรายังเชื่อว่าราคาทองยังมีโอกาสปรับตัวขึ้น แต่ถ้าหากหลุดแนวรับที่ 22,500 บาท เราก็เชื่อว่านั่นจะเป็นขาลงของทองคำอย่างแท้จริง”
สำหรับราคาเป้าหมายของทองคำในปี 2556 นายสัญญา กล่าวว่า ยังคงเป็นสถิติเดิมที่ราคาทองคำเคยปรับตัวขึ้นไปถึง นั่นคือ 1,800 เหรียญ/ออนซ์ ซึ่งปัจจัยที่จะช่วยผลักดันให้ราคาทองคำไปถึงจุดดังกล่าวได้ มากจากปริมาณเงินในระบบ เพราะที่ผ่านมา มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินของสหรัฐฯ ในรอบนี้ เน้นเพิ่มสภาพคล่อง และไม่ต้องการให้เงินปัญหาเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นแรง จึงใช้วิธีแบบทยอยอัดฉีด อย่างไรก็ตาม การการอัดฉีดเม็ดเข้าย่อมทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัว และย่อมมีผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น
หน้าผาการคลังมีผลต่อทองคำQ1
นายพิชญา พิสุทธิกุล เลขาธิการสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยถึงทิศทางราคาทองคำว่า ภาพรวมในปีที่ผ่านมา ราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวรุนแรงเหมือนเช่นปีก่อนๆ โดยการปรับตัวขึ้นที่ชัดเจนในรอบปี 2555 นั้น เกิดขึ้นในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการใช้มาตรการ QE3 ซึ่งทำให้ราคาในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 26,000 บาท แต่ก็เป็นการปรับขึ้นมาไม่มากเท่าใด เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่เริ่มจากกรีซ และเริ่มส่อเค้าลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆ ได้แก่ สเปน และอิตาลี อีกทั้งที่ผ่านมา ราคาทองคำก็ถูกกดดันจากการเทขายทำกำไรของบรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2556 ประเมินว่า ราคาทองคำยังไม่อยู่ในทิศทางขาลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน และมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และจีน
“ไตรมาส 1 นักลงทุนต้องติดตามปัญหาหน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ ว่าจะออกมาในทิศทางใด ประธานาธิบดีโอบามาจะจัดการกับเรื่องนี้ได้หรือเปล่า เพราะจะมีผลต่อตลาดหุ้น และทองคำ รวมถึงมาตรการขึ้นภาษีคนรวย และการตัดงบประมาณภาครัฐ ทำให้กรอบการเคลื่อนไหวของราคาอยู่ที่ประมาณ 1,600-1,800 เหรียญ/ออนซ์”
สำหรับภาพรวมการซื้อขายทองคำในประเทศ นายพิชญา กล่าวว่า แม้ราคาทองคำไม่อยู่ในระดับที่สูงมากนัก แต่ปริมาณการซื้อขายทองคำก็ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เช่น ช่วงปลายปีเป็นช่วงที่หลายคนนิยมจัดงานแต่งงาน แต่ความต้องการในทองรูปพรรณกลับไม่ได้มีเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับปริมาณการซื้อทองคำแท่ง แม้ราคาจะอยู่ในช่วงทรงตัวก็ยังไม่พบปริมาณการซื้อสะสม หรือเพื่อลงทุนในจำนวนที่มาก
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมทองคำในประเทศ ยังต้องเผชิญหน้ากับพวกมิจฉาชีพ นั่นคือ ทองคำปลอม ที่มีกลวิธีโกงในรูปแบบต่างๆ เช่น นำทองคำน้ำหนักมาตรฐานมาผสมปนกับทองคำปลอมในบางส่วนเพื่อตบตาร้านค้าทองคำ ซึ่งเท่าที่จับกุม และดำเนินคดีพบว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากช่างทำทองที่ทุจริตต่อวิชาชีพของตนเองนำทองปลอมมาต่อตัวเรือนร่วมกับทองคำมาตรฐานเพื่อใช้ตบตา
ส่วนการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มตัวในอนาคต ประเมินว่า ผู้ประกอบการไทยจะมีคู่แข่งขันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากทางมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ใช้เครื่องจักรในการผลิต ทำให้มีปริมาณทองคำในจำนวนที่มาก และราคาที่ต่ำกว่า แม้ไทยยังได้เปรียบในน้ำหนักมาตรฐาน แต่ภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อเรื่องภาษีในการจัดเก็บเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินธุรกิจของตนเองได้
ปัจจัยฝั่งเอเชียเป็นผลบวกต่อราคาทอง
ด้านฝ่ายวิจัย บริษัท ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด (AFC Research) ได้จัดทำบทวิเคราะห์ประเมินภาพรวมการลงทุนทองคำ ปี 2556 ว่า 1.เอเชียโดยรวมน่าจะส่งผลบวกต่อราคาทองคำ ซึ่งจากภาพเศรษฐกิจ และการเงินที่ย่ำแย่ของญี่ปุ่น ทำให้มีการคาดหวังในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงผ่อนคลายของเอเชีย ที่มีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งปริมาณเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบ อันเป็นผลบวกต่อการคาดหวังราคาทองคำได้อย่างดี และล่าสุด การประกาศรายงานประชุมของธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่นที่ได้คงอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่ไม่เกิน 0.10% และได้ขยายวงเงินอัดฉีด หรือผ่อนคลายเชิงปริมาณจาก 66 ล้านล้านเยนเป็น 76 ล้านล้านเยน และน่าจะมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไปในปี 2556 ขณะที่ ด้านจีน เศรษฐกิจโดยรวมได้เริ่มกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง
นอกจากนี้ ปัจจัยทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงผู้นำในประเทศที่สำคัญในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ จีนยุคใหม่ ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า น่าจะส่งเสริมและสนับสนุนให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมดีขึ้น โดยเฉพาะผลบวกต่อสกุลเงินในเอเชีย และทองคำในปี 2556
2.ยุโรปยังน่าเป็นห่วง และกดดันราคาทองคำ โดยประเทศในกลุ่มยุโรปโดยรวม มีแนวโน้มที่จะสร้างความกดดันต่อราคาทองคำอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเรื่องของแนวทางการจัดการหนี้สินภาคยุโรปในระดับมหภาค เพราะจากภาพของการประชุม Eurogroup หรือ Ecofin ที่ผ่านมาในรอบปี 2555 โดยรวมได้สะท้อนภาพของการพยายามหาทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งได้ปรากฏออกมาในแผนงานในการช่วยเหลือกรีซ สเปน และอีกหลายประเทศ ประกอบกับแรงกดดันจากการต่อต้านนโยบายการเงินแบบรัดกุมของประเทศกลุ่มยูโร ได้สร้างความผันผวนเชิงลบต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม และราคาทองคำ ทำให้ฝ่ายวิจัย คาดว่า ปัญหาหนี้สาธารณะ สถานการณ์การเมืองในกลุ่มยุโรปโดยรวมยังคงมีอยู่ และดูเหมือนจะค่อยๆ คลายปัญหาออกมาเรื่อยๆ จนถึงปลายปี 2555 และปี 2556
3.ผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่ 2 กับบทบาทที่ท้าท้าย จากการที่ นายโอบามา ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ได้ส่งผลบวกเชิงจิตวิทยาต่อหลายๆ โครงการ และมาตรการที่ดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ก็น่าจะเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี จากผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดไม่เกินร้อยละ 0.25 และการสร้างความคาดหวังในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเข้าซื้อพันธบัตรในวงเงินถึง 45,000 ล้านเหรียญต่อเดือนจนกว่าระดับของอัตราการว่างงานนอกภาคการเกษตรจะลดลงเหลือที่ระดับไม่เกินร้อยละ 6.5 และอัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 2.5 ได้สร้างความผันผวนเชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุน แต่อาจเป็นปัจจัยเชิงลบต่อราคาทองคำได้จากการที่ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามความมั่นใจในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ และนาย Boehner โดยเนื้อหาหลักๆ ได้มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มภาษีผู้มีรายได้ $1 ล้านต่อปี แทนที่ข้อเสนอของนายโอบามาที่ $4 แสนต่อปี เพื่อเป็นการกดดันนายโอบามาให้มีการลดค่าใช้จ่ายมากขึ้น นับเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ
ฝ่ายวิจัยมองว่า ต้องจับตาดูถึงสัญญาณแห่งการฟื้นตัว โดยสังเกตจากตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญหลายตัว เพราะมองว่า จากความต่อเนื่องของการพยายามหามาตรการต่างๆ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มจะทำให้สหรัฐฯ เริ่มกลับมาฟื้นตัว และอาจส่งผลลบต่อราคาทองคำได้
http://www.manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9550000157832
sithiphong:
ข้อมูลควรรู้ เกี่ยวกับ เครดิตบูโร
-http://hilight.kapook.com/view/80943-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "เครดิตบูโร" (Credit Bureau) ในยามที่เราจะทำธุรกรรมด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการขอสินเชื่อ บางคนบอกว่า "ติดเครดิตบูโร" บ้างก็บอกว่า "ติด Black List" แล้ว 2 อย่างนี้ คืออะไร ใช่อันเดียวกันหรือไม่ ในวันนี้ กระปุกดอทคอม จึงนำข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับ เครดิตบูโร ที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ถือบัตรเครดิตอยู่ รวมไปถึงผู้ที่ต้องการจะมีบัตรเครดิตในวันข้างหน้า มาฝากกันค่ะ เรามาทำความรู้จักกับธุรกิจข้อมูลเครดิต หรือ Credit Bureau กันเลย...
เครดิตบูโร คืออะไร
เครดิตบูโร นั้นมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลประวัติการชำระสินเชื่อ และการชำระบัตรเครดิตของบุคคลจากสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่ง เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต โดยเมื่อลูกค้าให้ความยินยอมให้สถาบันการเงินตรวจสอบข้อมูลการชำระสินเชื่อ และการชำระบัตรเครดิตของตนในขณะที่ยื่นขอสินเชื่อแล้วนั้น สถาบันการเงินก็สามารถจะเรียกดูข้อมูลดังกล่าวจาก เครดิตบูโร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้
รายงานข้อมูลเครดิตเก็บข้อมูลใดไว้บ้าง
เครดิตบูโรจะเก็บรวบรวมเฉพาะข้อมูลของการชำระสินเชื่อหรือบัตรเครดิต ซึ่งข้อมูลนี้จะประกอบไปด้วย ข้อมูลส่วนที่บ่งชี้ตัวบุคคล เช่น ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน และอีกส่วนหนึ่งเป็นประวัติการชำระสินเชื่อ และการชำระบัตรเครดิต รวมเรียกว่า "รายงานข้อมูลเครดิต" รายงานข้อมูลเครดิตจะมีการบันทึกและจัดเก็บวงเงินยอดหนี้คงค้าง รวมถึงประวัติการผิดนัดชำระในแต่ละสิ้นเดือนย้อนหลังไม่เกิน 36 เดือน ด้วยเหตุนี้แล้ว การชำระสินเชื่อทุกครั้งให้ตรงเวลาจึงเป็นการรักษาเครดิตที่ดีที่สุด
ใครมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาดูรายงานข้อมูลเครดิต
นอกจากสถาบันการเงินที่ผู้ขอสินเชื่อได้ให้ความยินยอม จะสามารถเรียกดูรายงานข้อมูลเครดิตเพื่อการวิเคราะห์สินเชื่อได้แล้ว ผู้ขอสินเชื่อเองก็ยังมีสิทธิ์ที่จะมาขอดูรายงานข้อมูลเครดิตของตนได้ด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการยื่นคำขอได้ที่ส่วนบริหารข้อมูลผู้บริโภค บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ และบริษัทยังได้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น โดยให้ยื่นคำขอผ่านธนาคารนครหลวงไทยทุกแห่งทั่วประเทศก็ได้ มีค่าธรรมเนียม 100 บาท ทั้งนี้ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติมีหน้าที่เก็บรักษารายงานดังกล่าวเป็นความลับ และไม่สามารถเปิดเผยให้แก่ผู้อื่นใด เว้นแต่ที่กฎหมายกำหนดไว้
การตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง
ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 มาตรา 25 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าของข้อมูลให้เจ้าของข้อมูล มีสิทธิที่จะตรวจสอบข้อมูลของตน โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด มีความยินดีที่ให้ท่านตรวจสอบข้อมูล ดังนี้
ณ ที่ทำการบริษัท (ศูนย์บริการตรวจสอบเครดิตบูโร) มีขั้นตอนดังนี้
1. เจ้าของข้อมูลมาติดต่อด้วยตนเอง แสดงเอกสารหลักฐาน ดังนี้
กรณีบุคคลธรรมดา
บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าวตัวจริงนำมาแสดง
กรณีนิติบุคคล
สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน และลงนามรับรองความถูกต้องโดยกรรมดารผู้มีอำนาจ
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของกรรมการผู้มีอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงนำมาแสดง
ตราประทับของนิติบุคคล (ถ้ามี) เพื่อใช้ประกอบการยื่นขอคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต
2. เจ้าของข้อมูลมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาดำเนินการแทน แสดงเอกสารหลักฐาน ดังนี้
กรณีบุคคลธรรมดา
หนังสือมอบอำนาจบุคคลธรรมดา กรอกรายละเอียดและลงนามให้สมบูรณ์ครบถ้วน
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงมาแสดง
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงมาแสดง
กรณีนิติบุคคล
หนังสือมอบอำนาจนิติบุคคล กรอกรายละเอียดและลงนามให้สมบูรณ์ครบถ้วน
สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม้เกิน 3 เดือน และลงนามรับรองความถูกต้องโดยกรรมการผู้มีอำนาจประทับตราของนิติบุคคล (ถ้ามี)
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และลงนามรับรองความถูกต้องพร้อมตัวจริงนำมาแสดง
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงนำมาแสดง
ยื่นเอกสารในข้อ 1 และชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลเครติดต่อเจ้าหน้าที่ของบริษัท
เจ้าของข้อมูลสามารถขอรับรายงานภายในวันยื่นคำขอ หรือยื่นความจำนงให้จัดส่งรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (กรณีให้จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ฉบับละ 20 บาท)
สถานที่ตรวจสอบข้อมูลเครดิต ศูนย์บริการตรวจสอบบูโร 3 แห่ง ดังนี้
1. ส่วนบริหารเจ้าของข้อมูล บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
อาคาร 2 ชั้น 2 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (สำนักงานใหญ่)
เลขที่ 63 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320
โทรศัพท์ : (66) 02-643-1250
โทรสาร : (66) 02-612-5895
เวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 น. - 16.30 น.
2. สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ด้านในสถานี)
เวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 น. - 18.00 น.
(*ตรวจสอบเครดิตบูโรเฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น)
3. ห้างเจเวนิว (นวนคร) ติดโรงพยาบาลนวนคร
เปิดทำการทุกวัน เวลา 10.00 น. - 19.00 น. หยุดนักขัตฤกษ์
(*ตรวจสอบเครดิตบูโรเฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น)
การตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเองผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการตรวจสอบเครดิตบูโร
เคาน์เตอร์ธนาคาร ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทุกสาขาทั่วประเทศ
ทำรายการผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ (ต้องมีบัตรเอทีเอ็ม)
ทำรายการผ่านระบบธนาคารบนโทรศัพท์มือถือของธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ต้องมีบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตของธนาคารนั้น ๆ
ทำรายการผ่านธนาคารออนไลน์ ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ต้องมีบัญชีธนาคาร (ให้บริการเฉพาะบุคคลธรรมดา)
กรณีทำรายการผ่านเครื่อง ATM สามารถทำรายการขอข้อมูลได้ทันที โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลหรือแบบฟอร์มคำขอ ส่วนในกรณียื่นผ่านสาขา ลูกค้าสามารถเลือกการรับข้อมูลเครดิตได้หลายแบบ ทั้งแบบปีละ 1 ครั้ง 2 ครั้ง 4 ครั้ง หรือ 6 ครั้ง โดยยื่นความจำนงเพียงครั้งเดียว ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายอย่างมากให้กับลูกค้าและประชาชน จากนั้นศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติจะส่งข้อมูลเครดิตบูโรให้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ภายใน 7 วัน คิดค่าบริการ 150 บาท ต่อ 1 รายการ
การติดแบล็กลิสต์ (Black List) หรือ การติดเครดิตบูโร
ท่านคงจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า ไม่ได้รับสินเชื่อเพราะติดแบล็กลิสต์จากเครดิตบูโร แต่ความจริงแล้ว เครดิตบูโรไม่มีสิทธิ์ในการจัดแบล็กลิสต์ผู้ขอสินเชื่อ เพราะเครดิตบูโรจะทำหน้าที่รวบรวมประวัติการชำระสินเชื่อหรือบัตรเครดิตของสินเชื่อทุกบัญชีจากสถาบันการเงินตามข้อเท็จจริง ซึ่งสถาบันการเงินใช้ข้อมูลเครดิตเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อเพราะการตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้สินเชื่อนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น รายได้ของผู้สมัครสินเชื่อ หลักประกัน บุคคลผู้ค้ำประกัน เป็นต้น ในทางกลับกัน หากผู้ขอสินเชื่อมีประวัติการชำระสินเชื่อตรงเวลา ข้อมูลเครดิตก็จะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
จะขอสินเชื่อแต่ติดเครดิตบูโรจะทําอย่างไร
มีหลายท่านที่ต้องการจะขอกู้เงิน ไม่ว่าจะนำไปซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือจะขอกู้เงินไปทำอะไรก็ตาม แต่ต้องมาประสบปัญหาติดแบ็กลิสต์เครดิตบูโร เพราะทุกธนาคาร ทุกสถาบันการเงิน ต้องมีหน้าที่คอยส่งข้อมูลเครดิตของเราให้กับ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ดังนั้นถ้าหากเรามีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ก็จะทราบข้อมูลของเราทั้งหมด ทำให้ขอสินเชื่อไม่ผ่าน ซื่งถ้าหากประวัติของเราเสีย หรือติด Black List โดยที่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อ แต่เกิดจากความผิดพลาดของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ที่ไม่ตรวจสอบรายงานก่อนทำการส่งข้อมูลเครดิตให้ดีก่อน เช่น
กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้หมดแล้ว แต่การปฏิบัติการส่งข้อมูลเครดิตผิดพลาด
กรณีถูกปลอมเอกสารเพื่อขอสินเชื่อ
กรณีถูกปลอมเอกสารในการสมัครบัตรเครดิต
กรณีถูกขโมยข้อมูลของบัตรเครดิต
ทั้งนี้ ถ้าเกิดปัญหาดังกล่าว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายป้องกันทุจริตของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ที่จะต้องประสานงานเพื่อยับยั้งการส่งข้อมูลเครดิตที่ไม่ถูกต้อง หรือที่เรียกกันในวงการธนาคารว่า Dispute Transaction คือ มีการตั้งยอดมูลหนี้ที่เกิดจากการทุจริต เพื่อการตรวจสอบจนกว่าจะตรวจสอบเสร็จสิ้น ตามธรรมเนียมปฏิบัติจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย และไม่นำยอดดังกล่าวมาลดจำนวนวงเงินเครดิตลูกค้า
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากท่านตรวจสอบแล้วเห็นว่าท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการส่งข้อมูลเครดิตของธนาคารหรือสถาบันการเงิน เราสามารถโต้แย้งได้โดยตรงและสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ทั้งทางแพ่งและอาญา แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีผู้บริโภคคนใดขอฟ้องร้องดำเนินคดีกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพราะคนไทยชอบคิดไปเองว่าเค้าใหญ่กว่าเราสู้ไม่ได้หรอก นั่นเป็นเหตุผลที่คนไทยมักอยู่ในมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่ต่ำมาก เพราะทุกคนไม่รู้สิทธิ์ของตนเอง หรือรู้สิทธิ์ของตัวเองดีแต่ไม่กล้าดำเนินการใด ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก -http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20110714/400265/%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%88-%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%A2.html-
, บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด -https://www.ncb.co.th/Default.htm-
, consumerthai.org -http://www.consumerthai.org/debt/index.php?option=com_fireboard&func=view&catid=2&id=7893-
.
sithiphong:
ถาม-ตอบ ให้หายสงสัย เรื่อง..กองทุนเงินทดแทน
-http://hilight.kapook.com/view/81843-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ในชีวิตคนเราที่ต้องทำงานในแต่ละวันนั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันในขณะที่ทำงานได้เสมอ และจุดนี้เองที่รัฐบาลได้เล็งเห็น จึงนำไปสู่การจัดตั้ง "กองทุนเงินทดแทน" (workmen's compensation fund) เพื่อเป็นทุนให้มีการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างเจ็บป่วย หรือประสบอันตราย อันเนื่องจากการทำงาน และวันนี้ กระปุกดอทคอม ขอพาทุกท่านไปเจาะลึกถึงรายละเอียดเรื่อง กองทุนเงินทดแทน ที่คนทำงานอย่างเราควรรู้ไว้นะคะ
กองทุนเงินทดแทน คืออะไร (workmen's compensation fund)
กองทุนเงินทดแทน เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เพื่อเป็นทุนในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย หรือสูญเสียเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง
ใครเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบ และผู้ได้รับประโยชน์
นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพียงฝ่ายเดียว เพียงปีละ 1 ครั้ง มีลักษณะเหมือนเบี้ยประกัน และเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างเล้วเกิดประสบอันตราย ลูกจ้างก็จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งประกอบด้วยค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนรายเดือน ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ
เงินสมทบ คืออะไร
เงินสมทบ คือเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะทำการเรียกเก็บจากนายจ้างเป็นรายปี โดยแจ้งจำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ทราบตามใบแจ้งเงินสมทบ เงินสมทบนี้จะคิดจากค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างทั้งปีรวมกัน คูณกับอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการนั้นซึ่งนายจ้างแต่ละประเภทจะจ่ายในอัตราเงินสมทบหลักที่ไม่เท่ากัน ระหว่างอัตรา 0.2 เปอร์เซ็นต์ - 1.0 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเสี่ยงภัยตามลักษณะงานของกิจการของนายจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบตามอัตราหลัก 4 ปี ติดต่อกันและในปีที่ 5 เป็นต้นไป จะมีการคำนวฯอัตราส่วนการสูญเสียเพิ่มลด -เพิ่ม อัตราเงินสมทบให้นายจ้าง
ขอบข่ายความคุ้มครอง
ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 บังคับใช้กับสถานประกอบการธุรกิจเอกชนทุกประเภท ที่แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ทั่วราชอาณาจักร ยกเว้น
1. ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
2. รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
3. นายจ้าง ซึ่งประกอบธุรกิจโรงเรียนเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยว กับครู หรือครูใหญ่
4. นายจ้างซึ่งดำเนินกิจการ ที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ
5. นายจ้างอื่น ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
นายจ้างในกิจการใดบ้าง มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ
นายจ้างในทุกประเภทกิจการและทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน และนายจ้างผู้ใดมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบกองทุนแล้วยังคงมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบต่อไป แม้ว่าภายหลังจะมีลูกจ้างไม่ถึง 10 คนก็ตาม
กำหนดเวลายื่นแบบขึ้นทะเบียน
นายจ้างจะต้องมีหน้าที่ยื่นแบบขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้างครบ 10 คน
สถานที่ยื่นแบบขึ้นทะเบียน
กำหนดให้นายจ้างยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ ณ ท้องที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นได้ที่ สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 1 (ดินแดง) เขตพื้นที่ 2 (เขตบางขุนเทียน) เขตพื้นที่ 3 (รามอินทรา) เขตพื้นที่ 4 (คลองเตย) เขตพื้นที่ 5 (ประชาชื่น) เขตพื้นที่ 6 (ธนบุรี) และเขตพื้นที่ 7 (พระนคร) ในเขตต่างจังหวัด ยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด
เอกสารอะไรบ้างที่ต้องนำมาในวันยื่นแบบ
เอกสารที่นายจ้างจะต้องนำมาในวันยื่นแบบขึ้นทะเบียน ได้แก่
- แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (แบบ สปส.1-01) ใช้ชุดเดียวกับการขึ้นทะเบียนกองทุนประกันสังคม
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือสำเนาใบทะเบียนพาณิชย์
- สำเนาใบทะเบียนภาษีมุลค่าเพิ่ม (แบบ ภพ.20) หรือสำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (แบบ รง.4)
- แผนผังแสดงที่ตั้งของสำนักงาน หรือโรงงานของนายจ้าง
เมื่อนายจ้างยื่นแบบขึ้นทะเบียนแล้ว จะได้รับอะไรเป็นหลักฐาน
- เลขที่บัญชี ซึ่งจะเป็นเลขเดียวกับกองทุนประกันสังคม เพื่อใช้อ้างอิงในการติดต่อ
- ใบแจ้งเงินสมทบ เพื่อแจ้งให้นายจ้างทราบถึงจำนวนเงินสมทบที่จะต้องจ่ายเข้ากองทุน พร้อมทั้งกำหนดวันที่ซึ่งนายจ้างจะต้องนำเงินมาจ่าย
นายจ้างจะต้องจ่าย เงินสมทบประจำปีเมื่อใด
กองทุนเงินทดแทนจะเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างเป็นรายปี (ปีละ 1 ครั้ง) โดยในปีแรก นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้างครบ 10 คน สำหรับปีต่อ ๆ ไป จ่ายภายในเดือน มกราคมของทุกปี เงินสมทบที่เรียกเก็บเมื่อต้นปีนั้น คิดมาจากจำนวนเงินค่าจ้างที่ได้ประมาณการไว้ล่วงหน้าซึ่งอาจไม่เท่ากับค่าจ้างจริงที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากในระหว่างปี นายจ้างอาจมีการเพิ่มหรือลดจำนวนลูกจ้างปรับอัตราค่าจ้างเป็นต้น ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปีจึงให้นายจ้างแจ้งจำนวนค่าจ้างรวมทั้งปี มายังสำนักงานอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้นำไปเปรียบเทียบกับเงินสมทบที่เก็บไว้เมื่อต้นปี หากเงินสมทบที่เก็บไว้เดิมน้อยกว่าก็จะเรียกเก็บเพิ่ม ภายใน 31 มีนาคม หากจำนวนเงินค่าจ้างรวมทั้งปีต่ำกว่าเดิมนายจ้างจะได้รับเงินสมทบส่วนที่จ่ายเกินไว้คืนไป
วิธีการจ่ายเงินสมทบ
นายจ้างจะชำระเงินสมทบด้วยเงินสด เช็ค ดร๊าฟ หรือ ธนาณัติ หรือชำระผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด ทุกสาขา
เมื่อใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง
สิทธิจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อนายจ้างมีลูกจ้างครบ 10 คน ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่จะต้องขึ้นทะเบียน ภายใน 30 วัน ตามกฎหมายกำหนด
ทำอย่างไรเมื่อลูกจ้างเจ็บป่วย หรือประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน
1. นายจ้างต้องให้การรักษาพยาบาลแก่ลูกจ้างโดยทันที
2. แจ้งให้เจ้าหน้าที่กองทุนเงินทดแทนทราบภายใน 15 วัน นับจากวันที่นายจ้างทราบการเจ็บป่วย หรือประสบอันตราย หรือสูญหาย ตามแบบ กท.16
3. ลูกจ้างสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลใดก็ได้ โดยทดลองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้วนำใบเสร็จรับเงิน ไปเบิกคืนภายใน 90 วัน หรือ
4. ใช้แบบ กท.44 ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล หากสถานพยาบาลนั้นอยู่ในความตกลงกับกองทุนเงินทดแทน ทางสถานพยาบาลจะเรียกเก็บ ค่ารักษาพยาบาล จากกองทุนเงินทดแทนเอง
กรณีแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว จะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
ได้รับค่ารักษาพยาบาล และค่าทดแทนจำนวน 60 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้างรายเดือน หากต้องหยุดพักรักษาตัวติดต่อกันเกิน 3 วัน ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 ปี
กรณีสูญเสียอวัยวะจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
ได้รับค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนจำนวน 60 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้างรายเดือนในการหยุดพักรักษาตัว และค่าทดแทน 60 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้างรายเดือน ในการสูญเสียอวัยวะ ไม่เกิน 10 ปี กรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู จะได้รับค่าฟื้นฟูค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูด้านการแพทย์ และอาชีพเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 20,000 บาท
กรณีทุพพลภาพจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
ได้รับค่ารักษาพยาบาลและค่าทดแทน 60 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้างรายเดือนเป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี
กรณีถึงแก่ความตาย หรือสูญหายจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
ได้รับค่าทำศพเป็นเงิน 100 เท่า ของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันและค่าทดแทน 60 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้างรายเดือนเป็นเวลา 8 ปี
ค่าทดแทนจะได้รับเมื่อไรและอย่างไร
ค่าทดแทน กรณีหยุดงาน สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตาย หรือสูญหาย จะได้รับในอัตราที่ต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท และไม่เกิน 9,000 บาท ต่อเดือน
จะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้อย่างไร
ให้นำใบเสร็จรับเงินมาเบิกคืนได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่จ่ายแต่ถ้าทำการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับกองทุน สถานพยาบาลนั้นจะเรียกเก็บเงินจากกองทุนโดยตรง
เมื่อมารับเงินใช้หลักฐานอะไรบ้าง
บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ ซึ่งมีรูปถ่ายด้วย หากไม่ได้มารับด้วยตนเองจะต้องมีใบมอบฉันทะพร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบมาแสดงด้วย
นายจ้างที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 10 คน ต้องปฏิบัติตนอย่างไร
ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ แต่เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่กองทุนเงินทดแทน เพื่อออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามสิทธิ เช่นเดียวกับที่กองทุนเงินทดแทนจ่าย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
siamhrm.com , srkhosp.com , md.kku.ac.th
sithiphong:
เทคนิคการซื้อขายที่ไม่ใช่กราฟ ......... บล.โกลเบล็ก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 มีนาคม 2556 15:58 น.
-http://www.manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9560000032047-
ปกตินักลงทุนและนักเก็งกำไรมักจะชอบไปฟังสัมมนาให้ความรู้เรื่องการ วิเคราะห์เรื่องกราฟที่เรียกว่าการวิเคราะห์ทางเทคนิค แต่น้อยแห่งนักที่จะสอนถึงแนวคิดการลงทุนการเก็งกำไรที่ดี หากจะได้ฟังก็มักจะต้องไปฟังผู้ที่เป็นนักเก็งกำไรหรือนักลงทุนที่มีการเทรด จริงมาก่อนแล้วยังประสบความสำเร็จ เพราะบุคคลเหล่านี้เรียกว่าผ่านสนามรบจริงมาแล้วเอาตัวรอดมาได้ จากที่เคยคุยกับเทรดเดอร์และนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ จะมีแนวคิดบางอย่างที่คล้ายๆกันซึ่งวันนี้จะขอเอามาสรุปให้ฟัง
ทำการบ้านให้หนักเพื่อค้นพบตัวเอง
ทหารบางคนรบเก่งในป่า บางคนเก่งในทะเลทราย บางคนเก่งในน้ำ นักลงทุนหรือนักเก็งกำไรก็เช่นกัน ต้องหาสินค้าหรือสินทรัพย์ที่เหมาะกับสไตล์ที่เราถนัดให้ได้ จะเป็นหุ้น ทองคำ ฟิวเจอร์ส ที่ดิน นาฬิกา พระ ฯลฯ อะไรก็ได้ที่เรารู้จริงรู้ดี ได้เปรียบ บางคนซื้อขายอินเตอร์เน็ทเก่ง แต่บางคนซื้อขายอินเตอร์เน็ทกลับคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้จนขาดทุนมากมายก็มี บางคนกลัวความเสี่ยง เจอราคาผันผวนนิดหน่อยก็อยู่ไม่เป็นสุข แต่บางคนกลับทำได้ดีเมื่อเจอราคาผันผวน เพราะฉะนั้นต้องมั่นใจว่า สิ่งที่เรากำลังไปลงทุน เรามีข้อได้เปรียบกว่าคนส่วนใหญ่ในตลาด และเราเหมาะกับการลงทุนประเภทนั้น เหมาะกับความเสี่ยงระดับนั้น
พยายามขาดทุนให้น้อยที่สุด
การลงทุนมีความเสี่ยง เรามักจะได้ยินคำนี้เสมอ แสดงว่าการลงทุนแทบจะทุกชนิดมีโอกาสขาดทุน แต่คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะพยายามลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนให้ได้มาก ที่สุด กระทำได้โดยหลายวิธีเช่น ศึกษาข้อมูลจนรู้ถึงแก่นแท้ในสินทรัพย์ตัวนั้นๆเมื่อและเลือกเข้าลงทุนเมื่อ โอกาสชนะมากกว่าแพ้มากๆ ซึ่งจะยอมขาดทุนก็ต่อเมื่อสิ่งที่วิเคราะห์มาอย่างดีแล้วนั้นมันเปลี่ยนไป อย่างมีนัยยะเท่านั้น ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ไม่ประสบความสำเร็จมักจะให้ความสำคัญกับฝั่งกำไรโดย มองข้ามฝั่งขาดทุนไป
ใช้สติ อย่าใช้อารมณ์
ราคาที่ผันผวนในตลาดมักจะทำให้คนที่เฝ้าติดตามนั้นเกิดอารมณ์ร่วม ซึ่งอารมณ์จะมีอยู่ 2 ชนิดคือ ความกลัว และความโลภ โดยความกลัวจะทำให้คนมองเห็นแต่คำว่า “ความเสี่ยง” ส่วนความโลภจะทำให้คนมองเห็นแต่คำว่า “กำไร” ทำให้หลายๆครั้งเวลาราคาสินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งต่ำมากๆแต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ กล้าซื้อเพราะความกลัวครอบงำ ตรงกันข้ามกับเมื่อราคาสินทรัพย์ตัวเดียวกันแพงมากๆเกินความเหมาะสมแต่คน ส่วนใหญ่กลับกล้าซื้อเพราะความโลภมันบังตา
ถ้าพื้นฐานยังไม่เปลี่ยน แนวโน้มยังคงเดิม อย่าเดาว่ามันจะเปลี่ยน
การทำนายอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่มีความไม่แน่นอนสูง เพราะฉะนั้นตราบใดที่ปัจจัยหลักหรือแนวโน้มของราคา วัฏจักรของราคา มันยังไม่เปลี่ยน ก็พยายามอย่าไปคิดว่ามันจะเปลี่ยน ก่อนจะเข้าไปลงทุนต้องตอบให้ได้ก่อนว่าเหตุผลในการซื้อคืออะไร เช่นเดียวกับการขายก่อนขายต้องตอบให้ได้ก่อนว่าทำไมถึงขาย เพราะเราเดาเอาเองหรือเปล่าว่ามันจะขึ้นหรือมันจะลง
แนวคิดหลักๆที่ฟังดูเหมือนสิ่งง่ายๆเหล่านี้ทุกคนอาจเคย ได้ยิน แต่เฉพาะคนที่ทำได้เท่านั้นถึงจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ลองทบทวนสิ่งที่ทำในอดีตว่าที่เราไม่ประสบความสำเร็จเพราะเรามองข้ามหลักคิด พื้นๆพวกนี้ไปหรือเปล่า
สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
http://www.manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9560000032047
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version